ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.3526/2557
แดง อ.506/2558

ผู้กล่าวหา
  • กลุ่มเครือข่ายเฝ้าระวังพิทักษ์และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ (ประชาชน)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.3526/2557
แดง อ.506/2558

ผู้กล่าวหา
  • กลุ่มเครือข่ายเฝ้าระวังพิทักษ์และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.3526/2557
แดง อ.506/2558
ผู้กล่าวหา
  • กลุ่มเครือข่ายเฝ้าระวังพิทักษ์และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์

ข้อหา

  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.3526/2557
แดง อ.506/2558
ผู้กล่าวหา
  • กลุ่มเครือข่ายเฝ้าระวังพิทักษ์และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์

ความสำคัญของคดี

ปติวัฒน์ หรือแบงค์ (สงวนนามสกุล) และภรณ์ทิพย์ หรือกอล์ฟ (สงวนนามสกุล) นักศึกษา/นักกิจกรรม ถูกจับกุมและดำเนินคดีในเดือนสิงหาคม 2557 ตามหมายจับศาลอาญาในข้อหา หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีมีส่วนร่วมในละครเวทีเรื่อง "เจ้าสาวหมาป่า" ซึ่งกลุ่มประกายไฟการละครจัดแสดงในงานรำลึก 40 ปี 14 ตุลาฯ ในปี 2556 ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

กรณีนี้นับเป็นการนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาใช้ดำเนินคดีหลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 57 กับการแสดงออกผ่านงานศิลปะ ซึ่งสามารถตีความได้หลากหลาย และเป็นเพียงการใช้เสรีภาพในการแสดงออก อันถือเป็นการปิดกั้นการแสดงออกของประชาชน และละเมิดสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ทั้งการไม่ได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว แม้จะยื่นประกันหลายครั้ง และยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกัน ซึ่งทำให้ทั้งคู่ตัดสินใจรับสารภาพในที่สุด, การที่เจ้าหน้าที่หลายฝ่ายเข้าสอบสวนเพิ่มเติมในเรือนจำโดยไม่มีทนายความเข้าร่วม รวมทั้งการพิจารณาคดีเป็นการลับในนัดไต่สวนคำร้องบางนัด

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องปติวัฒน์ เป็นจำเลยที่ 1 และภรณ์ทิพย์ เป็นจำเลยที่ 2 ในความผิดฐาน ร่วมกันดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2556 จำเลยทั้งสองกับพวกที่ยังหลบหนีได้ร่วมกันแสดงละครเวทีเรื่อง เจ้าสาวหมาป่า ซึ่งในบทละครดังกล่าวมีข้อความอันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท รวม 9 ข้อความ ซึ่งทำให้ผู้ได้รับฟังเข้าใจความหมายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ไปในทางที่ไม่ดี รวมถึงล้อเลียนโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เช่น โครงการแก้มลิง โครงการเศรษฐกิจพอเพียง

เหตุเกิดที่แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.3526/2557 ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2557)

ความคืบหน้าของคดี

  • หลังถูกจับกุมตามหมายจับศาลอาญาที่ จ. 988/2557 ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2557 และถูกนำตัวไปทำบันทึกจับกุมที่ สภ.เมืองขอนแก่น ปติวัฒน์ถูกตำรวจชุดจับกุมจาก สน.ชนะสงคราม ควบคุมตัวส่งให้พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม กรุงเทพฯ ในเวลาประมาณ 02.00 น. จากนั้น พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยกล่าวหาว่า "เมื่อวันที่ 6 และ 13 ต.ค. 2556 ผู้ต้องหาได้ร่วมแสดงละครเวทีของกลุ่มประกายไฟ เรื่อง "เจ้าสาวหมาป่า" ในลักษณะเป็นการล้อเลียน ในเชิงดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ที่มีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในงานรำลึก 37 ปี 6 ตุลาฯ ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)"

    ชั้นสอบสวนซึ่งมีทนายความและผู้ไว้ใจเข้าร่วม นายปติวัฒน์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา แต่รับว่าได้ไปร่วมแสดงละครเรื่องดังกล่าวจริง จากนั้นพนักงานสอบสวนได้ควบคุมตัวปติวัฒน์ไว้ในห้องขัง ก่อนนำตัวส่งศาลอาญา รัชดาฯ เพื่อขออำนาจฝากขังในช่วงบ่ายวันเดียวกัน โดยพนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหา ครั้งที่ 1 มีกำหนด 12 วันนับตั้งแต่วันที่ 15 – 26 สิงหาคม 2557 เนื่องจากยังต้องสอบสวนพยานบุคคลอีก 4 ปาก รอผลการตรวจสอบประวัติจากลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหา

    หลังศาลอนุญาตให้ฝากขัง ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้หลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 300,000 บาท และระบุเหตุผลว่า ผู้ร้องเป็นนักศึกษา หากถูกควบคุมตัวจะเสียอนาคตทางการศึกษา แต่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาต มีรายละเอียดว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีอัตราโทษสูง เมื่อพิจารณาการกระทำตามคำร้องฝากขังและพยานหลักฐาน ประกอบการร้องขอออกหมายจับแล้ว เห็นว่าผู้ต้องหา ร่วมแสดงละครมีเนื้อหาล้อเลียนในลักษณะจาบจ้วง ดูหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์ในหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต่อหน้าผู้ชมเป็นจำนวนมาก ทั้งมีการเผยแพร่ออกไปยังสื่อออนไลน์สาธารณะเป็นวงกว้าง พฤติการณ์จึงเป็นเรื่องร้ายแรง ทั้งผู้ต้องหาถูกจับตัวตามหมายจับของศาล ดังนั้น หากปล่อยชั่วคราวแล้วอาจหลบหนีได้ ประกอบกับผู้ร้องคัดค้านการประกันตัว จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง” ปติวัฒน์จึงถูกควบคุมตัวไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ที่ พ.1832/2557 ศาลอาญา ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2557)
  • หลัง น.ส.ภรณ์ทิพย์ ถูกจับกุมที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานหาดใหญ่ จ.สงขลา และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม ควบคุมตัวเดินทางด้วยเครื่องบินเข้ากรุงเทพฯ ถึง สน.ชนะสงคราม ในเวลาประมาณ 02.30 น. พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาภรณ์ทิพย์ในความผิดฐาน หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยกล่าวหาว่า "เมื่อวันที่ 6 และ 13 ต.ค. 2556 ผู้ต้องหาซึ่งร่วมอยู่ในกลุ่มประกายไฟ ได้เขียนบทการแสดง กำกับเวที และจัดให้มีการแสดงละครเวที เรื่อง "เจ้าสาวหมาป่า" ในลักษณะเป็นการล้อเลียน ในเชิงดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ที่มีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในงานรำลึก 37 ปี 6 ตุลาฯ ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)" (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลอาญา ลงวันที่ 16 ส.ค. 57)

    ชั้นสอบสวน ภรณ์ทิพย์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา จากนั้น พนักงานสอบสวนได้ควบคุมตัวภรณ์ทิพย์ไว้ในห้องขัง ก่อนนำตัวส่งศาลอาญา รัชดาฯ เพื่อขออำนาจฝากขังในเช้าวันเดียวกัน โดยพนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 เป็นเวลา 12 วัน นับแต่วันที่ 16 - 27 สิงหาคม 2557 โดยอ้างเหตุผลว่า การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น มีความจำเป็นจะต้องสอบสวนพยานบุคคลอีก 4 ปาก และรอผลตรวจสอบประวัติจากลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ต้องหา

    ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง จากนั้นทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวภรณ์ทิพย์ โดยวางหลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 500,000 บาท และให้เหตุผลในการขอปล่อยตัวชั่วคราวไว้ดังนี้

    (1) ผู้ร้องขอปฏิเสธข้อกล่าวหาและยืนยันความบริสุทธิ์
    (2) ผู้ร้องไม่ทราบว่าผู้ร้องถูกออกหมายจับมาก่อน และผู้ร้องไม่มีเจตนาจะหลบหนี เนื่องจากกำลังจะเดินทางไปต่างประเทศ เนื่องจากผู้ร้องได้รับอนุญาตให้ทำงานในต่างประเทศจากโครงการ work and holidays
    (3) ผู้ร้องมีสัญชาติไทยและมีที่อยู่อาศัยแน่นอน และเป็นบุคคลธรรมดาไม่สามารถไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้
    (4) การปล่อยตัวผู้ร้องจะไม่เป็นอุปสรรค์ในการสอบสวนของเจ้าพนักงาน
    (5) เหตุผลที่ว่าฐานความผิดในหมวดการกระทำผิดมีโทษสูง อาจจะกระทบต่อความรู้สึกของประชาชน ไม่สามารถนำมาเป็นเหตุผลในการไม่อนุญาให้ประกันตัวชั่วคราวได้ เนื่องจากไม่มีข้อกฎหมายรองรับ

    แต่นายรุ่งศักดิ์ วงษ์กระสันต์ รองอธิบดีศาลอาญา มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยระบุว่า "พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีและลักษณะการกระทำความผิดของผู้ต้องหากับพวกตามคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 เห็นว่าการกระทำความผิดของผู้ต้องหากับพวกเป็นการนำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เทิดทูนและเคารพสักการะ กระทบกระเทือนจิตใจของประชาชนที่จงรักภักดี ประกอบกับผู้ต้องหาถูกจับกุมตามหมายจับ และผู้ร้องคัดค้านการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา เชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแล้วจะหลบหนี เหตุผลตามคำร้องประกอบการปล่อยชั่วคราวยังไม่เพียงพอจะอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาในชั้นนี้ จึงให้ยกคำร้อง"

    ภรณ์ทิพย์จึงถูกควบคุมตัวไปขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพ

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 และคำร้องประกอบการขอปล่อยตัวชั่วคราว คดีหมายเลขดำ พ.1844/2557 ศาลอาญา ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2557 และ https://prachatai.com/journal/2014/08/55090)
  • หลังพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงครามยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 57 ขอฝากขังนายปติวัฒน์ ครั้งที่ 2 มีกำหนด 12 วันนับตั้งแต่วันที่ 27 ส.ค. - 7 ก.ย. 57 โดยอ้างเหตุว่าพนักงานสอบสวนยังสอบสวนไม่เสร็จสิ้น มีความจำเป็นที่จะต้องสอบปากคำพยานบุคคลอีก 3 ปาก และรอผลตรวจการสอบประวัติอาชญากรรมของผู้ต้องหา ขณะที่นายปติวัฒน์ได้ยื่นคำร้องลงวันที่ 25 ส.ค. 57 คัดค้านการขอฝากขังครั้งที่ 2 และขอให้ศาลไต่สวนพนักงานสอบสวน โดยระบุเหตุผลว่า ไม่มีเหตุจำเป็นในการควบคุมตัวผู้ต้องหาอีกต่อไปและหากอนุญาตให้ควบคุมตัวผู้ต้องต่อไปจะกระทบต่อการศึกษาของผู้ต้องหา รายละเอียด ดังนี้

    (1) พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวน รวมถึงรวบรวมพยานหลักฐานจนครบถ้วนแล้ว
    (2) ผู้ร้องไม่ได้มีเจตนาจะหลบหนี เนื่องจากผู้ร้องได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีกับเจ้าหน้าที่ ขณะถูกจับกุม
    (3) ผู้ร้องเป็นบุคคลธรรมดาไม่สามารถไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้
    (4) ผู้ร้องได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาไปแล้ว พนักงานสอบสวนจึงไม่มีความจำเป็นจะต้องควบคุมตัวผู้ร้องไว้ ในส่วนการดำเนินการสอบสวนพยานแวดล้อมเป็นเรื่องที่พนักงานสวนกับบุคคลอื่น ไม่เกี่ยวกับผู้ร้อง

    ศาลจึงนัดไต่สวนคำร้องคัดค้านการขอฝากขัง โดยเบิกตัวปติวัฒน์มาจากเรือนจำ ปติวัฒน์แถลงยืนยันคัดค้านการฝากขังตามคำร้อง และแถลงเพิ่มเติมว่า การสอบสวนเสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม และเจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้ตามไปสอบสวนตนระหว่างถูกคุมขังอีก

    พนักงานสอบสวนแถลงว่า การสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ ยังมีพยานรอการสอบปากคำอีก 3 ปาก คือ สายสืบและนักข่าว ต้องตรวจสอบประวัติอาชญากรรมของผู้ต้องหา ทั้งต้องทำรายงานส่งผู้บังคับบัญชาด้วย ทนายผู้ต้องหาแถลงว่า การทำงานดังกล่าวเป็นเรื่องภายในของตำรวจ ซึ่งผู้ต้องหาคงไม่อาจเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงได้ การควบคุมตัวผู้ต้องหาจึงไม่มีความจำเป็น ศาลชี้แจงว่า การขออำนาจฝากขังเป็นเรื่องของพนักงานสอบสวนว่า รวบรวมพยานหลักฐานให้เเล้วเสร็จครบถ้วนเเล้วหรือไม่ ซึ่งเเม้ศาลจะอนุญาตฝากขังตามคำสั่งของพนักงานก็ตาม ตัวผู้ต้องขังก็ยังมีสิทธิที่จะขอปล่อยตัวชั่วคราวอยู่

    พนักงานสอบสวนแถลงอีกว่า มีการขออนุมัติหมายจับเพิ่มเติม หากปล่อยตัวผู้ต้องหาไป อาจกระทบต่อการสืบสวนผู้ต้องหาตามหมายจับรายอื่น พนักงานสอบสวนยังยอมรับว่าในวันที่ 20 สิงหาคม ที่ผ่านมาตนได้เข้าไปสอบสวนปติวัฒน์ในเรือนจำจริง ปติวัฒน์แถลงชี้แจงว่า ตนไม่มีเจตนายุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน เพราะหากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ตนก็ต้องกลับไปเรียนหนังสือไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่น

    อย่างไรก็ตาม ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังนายปติวัฒน์ ต่อเป็นครั้งที่ 2 เป็นเวลา 12 วัน ตามคำร้องของพนักงานสอบสวน โดยเห็นว่า พนักงานสอบสวนยังมีความจำเป็นจะต้องรวบรวมพยานหลักฐานแห่งคดีเพิ่มเติมอยู่ ข้อคัดค้านของผู้ต้องหาจึงฟังไม่ขึ้น แต่กำชับให้พนักงานสอบสวนเร่งรัดการสอบสวนคดีโดยเร็ว

    (อ้างอิง: คำร้องคัดค้านการขอฝากขังครั้งที่ 2 และขอให้ศาลไต่สวนพนักงานสอบสวน ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2557 และรายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา ที่ พ.1832/2557ลงวันที่ 27 สิงหาคม 2557)

    จากนั้น ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยวางหลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 300,000 บาท และให้เหตุผลยืนยันว่า พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวน รวมถึงรวบรวมพยานหลักฐานจนครบถ้วนแล้ว และยังได้เข้าไปสอบผู้ร้องเพิ่มเติมในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2557 อีกครั้ง โดยผู้ร้องได้ให้ความอย่างเต็มที่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นอันใดจะควบคุมตัวผู้ร้องอีกต่อไป อีกทั้งผู้ร้องไม่เคยกระทำผิดมาก่อน ทั้งต้องทำงานหาเลี้ยงชีพตัวเองและเสียค่าเล่าเรียน หากขังผู้ร้องไว้โดยไม่จำเป็นจะกระทบต่อการศึกษาของผู้ร้อง

    (อ้างอิง: คำร้องประกอบคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญา ลงวันที่ 27 สิงหาคม 2557)

    วันเดียวกัน ศาลได้ไต่สวนคำร้องคัดค้านการขอฝากขังภรณ์ทิพย์ หลังพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหา ครั้งที่ 2 มีกำหนด 12 วันนับตั้งแต่วันที่ 28 ส.ค. - 8 ก.ย. 57 โดยอ้างเหตุว่าพนักงานสอบสวนยังสอบสวนไม่เสร็จสิ้น ขณะที่ภรณ์ทิพย์ยื่นได้คำร้องลงวันที่ 26 ส.ค. 57 คัดค้านการขอฝากขังครั้งที่ 2 และขอให้ศาลไต่สวนพนักงานสอบสวน โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีเหตุจำเป็นในการควบคุมตัวผู้ต้องหาอีกไป หากอนุญาตให้ควบคุมตัวผู้ต้องต่อไปจะกระทบต่อผู้ต้องหาอย่างมาก มีรายละเอียด ดังนี้

    (1) พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวน รวมถึงรวบรวมพยานหลักฐานจนครบถ้วนแล้ว
    (2) ผู้ร้องไม่ได้มีเจตนาจะหลบหนี เนื่องจากกำลังจะเดินทางไปต่างประเทศอยู่แล้ว เพราะได้ใบอนุญาตทำงานจากโครงการ work and holidays
    (3) ผู้ร้องเป็นบุคคลธรรมดาไม่สามารถไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้
    (4) เหตุผลข้อหาหมิ่นสถาบันกษัตริย์ ที่มีอัตราโทษสูงหาใช่เหตุผลที่จะใช้ในการขอฝากขังได้ไม่
    (5) ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ขอให้ศาลยึดมั่นในกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนเพื่อนำไปสู่การคลี่คลายสถานการณ์สังคมไปในทางที่ดีขึ้น

    อย่างไรก็ตาม ศาลได้ไต่สวนถามเหตุผลของผู้ต้องหาและพนักงานสอบสวน เฉพาะในประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องกับความจำเป็นที่จะต้องขอฝากขังผู้ต้องหาต่อไปเพื่อสอบสวนหรือไม่ โดยไม่พิจารณาในประเด็นอื่นที่ผู้ต้องหาระบุในคำร้อง

    จากนั้น ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังครั้งที่ 2 ตามที่พนักงานสอบสวนร้องขอ โดยศาลพิเคราะห์ว่า ยังมีความจำเป็นที่พนักงานสอบสวนจะต้องรวบรวมพยานหลักฐานแห่งคดีเพิ่มเติมอยู่ แต่ได้กำชับพนักงานสอบสวนให้เร่งรัดการสอบสวนคดีนี้โดยเร็ว และศาลจะพิจารณาคำร้องฝากขังครั้งต่อไปอย่างเคร่งครัด

    (อ้างอิง : คำร้องคัดค้านการขอฝากขังครั้งที่ 2 และการขอให้ไต่สวนพนักงานสอบสวน ศาลอาญา ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2557 และรายงานกระบวนพิจารณา คดีหมายเลขคำที่ พ.1844/2557 ศาลอาญา ลงวันที่ 27 สิงหาคม 2557)

    ต่อมา ภรณ์ทิพย์ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยวางหลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 300,000 บาท และให้เหตุผลในคำร้องดังต่อไปนี้
    (1) พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวน รวมถึงรวบรวมพยานหลักฐานจนครบถ้วนแล้ว และยังได้เข้าไปสอบผู้ร้องเพิ่มเติมในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2557 อีกครั้งผู้ร้องได้ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นอันใดจะควบคุมตัวผู้ร้องอีกต่อไป
    (2) ผู้ร้องเป็นบุคคลธรรมดาไม่สามารถไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้, ไม่มีเจตนาจะหลบหนี
    (4) ผู้ร้องเป็นเสาหลักของครอบครัว และมีภาระจะต้องส่งเสียเลี้ยงดูครอบครัว, ผู้ร้องมีพฤติกรรมดี เคยเป็นประธานนักเรียนมาก่อน

    (อ้างอิง : คำร้องประกอบคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว คดีหมายเลขดำ พ.1844/2557 ศาลอาญา ลงวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2557)

    ทั้งนี้ ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันปติวัฒน์และภรณ์ทิพย์ ระบุว่า “พิเคราะห์แล้ว ศาลอาญาเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตแล้ว โดยระบุเหตุผลไว้ชัดเจน กรณีนี้ไม่มีเหตุเพิ่มเติม ยกคำร้อง”

    ต่อมา ร.ต.ท.รัฐกานต์ ทองไทย พนักงานสอบสวน เจ้าของสำนวน ได้เข้าแจ้งข้อหาเพิ่มเติมทั้งปติวัฒน์และภรณ์ทิพย์ว่า “ร่วมกัน" หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 83 ปติวัฒน์และภรณ์ทิพย์ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ลงวันที่ 27 สิงหาคม 2557)
  • ศาลนัดไต่สวนคำร้องคัดค้านการฝากขัง หลังเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 57 พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังปติวัฒน์ครั้งที่ 3 มีกำหนด 12 วันนับตั้งแต่วันที่ 8-19 ก.ย. 57 และปติวัฒน์ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการขอฝากขังครั้งที่ 3 อีกทั้งในวันนี้พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังภรณ์ทิพย์เป็นครั้งที่ 3 มีกำหนด 12 วัน นับตั้งแต่วันที่ 9-20 ก.ย. 57 และภรณ์ทิพย์ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการขอฝากขังเช่นเดียวกัน

    ภรณ์ทิพย์และปติวัฒน์ถูกเบิกตัวจากเรือนจำมาศาล พนักงานสอบสวนแถลงความคืบหน้าคดีของทั้งสองว่า ได้สืบพยาน ทำสำนวนการสอบสวน และตรวจสอบประวัติอาชญากรรมของผู้ต้องหาเสร็จสิ้นแล้ว แต่ยังอยู่ในระหว่างเสนอสำนวนต่อผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยต้องผ่านการพิจารณาของที่ประชุมตำรวจนครบาลและคณะกรรมการของ สตช. ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน และอาจต้องขอฝากขังผู้ต้องหาอีก 3 ผัด ด้าน น.ส.ภาวิณี ชุมศรี ทนายความของผู้ต้องหาทั้งสองแถลงว่า การสอบสวนผู้ต้องหาและพยานทั้งหลายแล้วเสร็จแล้ว ประกอบกับเหตุผลด้านภาระครอบครัวและภาระด้านการศึกษาของผู้ต้องหาทั้งสอง จึงไม่สมควรที่จะฝากขังต่อในผลัดที่ 3

    อย่างไรก็ตาม ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังครั้งที่ 3 ผู้ต้องหาทั้งสอง ตามที่พนักงานสอบสวนยื่นคำร้อง โดยระบุว่า เห็นว่า พนักงานสอบสวนยังมีความจำเป็นจะต้องนำสำนวนเข้าสู่การพิจารณาของผู้บังคับบัญชาอยู่ ข้อคัดค้านของผู้ต้องหาจึงฟังไม่ขึ้น

    ในการไต่สวนคำร้องครั้งนี้ ศาลไม่อนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์คดีเข้าไปในห้องพิจารณาคดีด้วย เว้นแต่ทนายและญาติจำเลยรวม 4 คนเท่านั้น โดยให้เหตุผลว่าห้องพิจารณาคดีเล็กและคับแคบ ทำให้เพื่อนจำเลยและผู้สังเกตการณ์ราว 15 คนต้องรออยู่ภายนอก ภายหลังการฟังคำสั่งบรรยากาศเป็นไปด้วยความเศร้าสร้อย มารดาของภรณ์ทิพย์ที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดถึงกับร่ำไห้ เจ้าหน้าที่นำตัวทั้งสองไปขังยังห้องขังศาลอาญาก่อนที่จะนำตัวไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ และทัณฑสถานหญิงกลางต่อไป

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขที่ พ.1832/2557 และ พ.1844/2557 ลงวันที่ 8 กันยายน 2557 และ https://prachatai.com/journal/2014/09/55421)


  • ศาลนัดไต่สวนคำร้องคัดค้านการฝากขัง หลังพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังปติวัฒน์ครั้งที่ 4 มีกำหนด 12 วัน นับตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย. - 1 ต.ค. 57 และขอฝากขังภรณ์ทิพย์เป็นครั้งที่ 4 นับตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย. - 2 ต.ค. 57 โดยระบุเหตุผลว่า มีความจำเป็นจะต้องเสนอสำนวนการสอบสวนให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณา ซึ่งปติวัฒน์และภรณ์ทิพย์ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการขอฝากขังเช่นเคย มีรายละเอียดดังนี้

    (1) เหตุผลการขอฝากขังของพนักงานสอบสวน ที่อ้างว่ามีความจำเป็นจะต้องเสนอสำนวนการสอบสวนให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณา ฟังไม่ขึ้น เนื่องจากการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว และเหตุผลของพนักงานสอบสวนล้วนเป็นขั้นตอนการสอบสวนให้เสร็จสิ้นโดยไม่มีเหตุจำเป็นที่พนักงานสอบสวนต้องขอฝากขังเพื่อรอการดำเนินการดังกล่าวอีก
    (2) การอนุญาตให้ฝากขังต่อไปในชั้นสอบสวนจะทำให้ผู้ต้องหาไม่ได้รับความเป็นธรรมและเสียโอกาสในการศึกษา
    (3) การพิจารณาอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหา ศาลจะต้องพิจารณาว่าการฝากขังมีประโยชน์ต่อการสอบสวนเพียงใด โดยให้คำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายและการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลยในกระบวนการยุติธรรม
    (4) การสอบสวนได้เสร็จสิ้นลงแล้ว และผู้ร้องได้ถูกควบคุมตัวมาเป็นเวลา 36 วันแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะฝากขังผู้ร้องไว้อีกต่อไป

    ทั้งนี้ ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองเป็นครั้งที่ 4 มีกำหนด 6 วัน โดยศาลพิเคราะห์ว่า คดียังอยู่ระหว่างพนักงานสอบสวนเสนอความเห็นให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาว่า ควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาหรือไม่ การสอบสวนจึงยังไม่เสร็จสิ้น แต่เนื่องจากพนักงานสอบสวนเคยอ้างเหตุของการฝากขังเพราะอยู่ระหว่างการเสนอสำนวนการสอบสวนให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาตั้งแต่การยื่นคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 3 จนถึงวันนี้เป็นเวลานานพอสมควรแล้ว แต่ยังไม่มีการพิจารณา สมควรให้พนักงานสอบสวนผู้ร้องเร่งรัดสรุปสำนวนและมีความเห็นสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องผู้ต้องหาโดยเร็ว

    (อ้างอิง: คำร้องคัดค้านการขอฝากขังครั้งที่ 4 ศาลอาญา คดีหมายเลขที่ พ.1832/2557 และ พ.1844/2557 ลงวันที่ 18 กันยายน 2557 และรายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขที่ พ.1832/2557 และ พ.1844/2557 ลงวันที่ 19 กันยายน 2557)

    จากนั้น ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวภรณ์ทิพย์เป็นครั้งที่ 3 โดยวางหลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 300,000 บาท และให้เหตุผลในการขอปล่อยตัวชั่วคราวว่า พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวน รวมถึงรวบรวมพยานหลักฐานจนเสร็จสิ้นแล้ว การอ้างเหตุว่ายังเหลือขั้นตอนการเสนอสำนวนคดีให้แก่ผู้บังคับบัญชาลงนาม ไม่ใช่เหตุผลที่เหมาะสมที่จะขังผู้ต้องหาไว้ ผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนี อีกทั้งยังเป็นเสาหลักของครอบครัว และมีภาระจะต้องส่งเสียเลี้ยงดูครอบครัว โดยในวันนี้ไม่ได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวปฏิวัฒน์ด้วย เนื่องจากเอกสารไม่ครบ

    ศาลยังคงไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวภรณ์ทิพย์เป็นครั้งที่ 3 โดยอ้างเหตุเช่นเดิมว่า พฤติการณ์แห่งคดีมีความร้ายแรง เมื่อพิจารณาถึงเหตุผลที่ศาลยังอนุญาตให้ฝากขัง ประกอบกับคำร้องของผู้ต้องหาแล้ว เห็นว่ายังไม่มีเหตุเพียงพอให้เห็นว่า พฤติการณ์แห่งคดีเปลี่ยนแปลงไปให้มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญา คดีหมายเลขที่ พ.1844/2557 ลงวันที่ 19 กันยายน 2557)
  • ศาลเบิกตัวนายปติวัฒน์มาศาล เนื่องจากพนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังผัดที่ 5 ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย. - 7 ต.ค. 57 ระบุเหตุผลว่า มีความจำเป็นจะต้องเสนอการสอบสวนให้ผู้บังคับบัญชาสั่งการ และรอผลการตรวจพิสูจน์แผ่นซีดีบันทึกการแสดงละครเจ้าสาวหมาป่าของกลาง ขณะที่ปติวัฒน์ได้ยื่นคัดค้านคำร้องขอฝากขัง เนื่องจากกระบวนการสอบสวนได้เสร็จสิ้นแล้ว เหลือเพียงการอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนว่าเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาหรือไม่ ซึ่งกระบวนการนี้ไม่เกี่ยวกับผู้ต้องหาแล้ว นอกจากนี้ การฝากขังที่เกินสมควร ประกอบกับผู้ต้องหาไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ทำให้กระทบต่อโอกาสในการศึกษาเล่าเรียน และอาจจะกระทบต่ออาการป่วยของผู้ต้องหา ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด

    หลังการไต่สวนผู้ต้องหาและพนักงานสอบสวน ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังปติวัฒน์ต่ออีก 6 วัน โดยศาลเห็นว่า คดียังอยู่ระหว่างเสนอสำนวนการสอบสวนให้ผู้บังคับบัญชาสั่งการ อีกทั้งพนักงานสอบสวนยังมีความจำเป็นต้องรอผลการตรวจพิสูจน์แผ่นซีดีของกลางอันเป็นพยานหลักฐานสำคัญในคดี อันเป็นขั้นตอนหนึ่งของการสอบสวน กระบวนการสอบสวนจึงยังไม่เสร็จสิ้น ข้อคัดค้านของผู้ต้องหาจึงฟังไม่ขึ้น เห็นควรให้ยกคำร้องคัดค้านการขอฝากขังครั้งที่ 5 ของผู้ต้องหาเสีย แต่เนื่องจากศาลได้ให้เวลาแก่พนักงานสอบสวนมาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว เพื่อเป็นการเร่งรัดให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสรุปสำนวนโดยเร็วจึงอนุญาตให้ฝากขังอีก 6 วัน กำชับให้พนักงานสอบสวนเร่งรัดการสอบสวนคดีนี้โดยเร็ว และศาลจะพิจารณาคำร้องขอฝากขังครั้งต่อไปอย่างเคร่งครัด

    จากนั้น ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยวางหลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 600,000 บาท โดยอ้างเหตุเพิ่มเติมด้วยว่า ผู้ต้องหามีเนื้องอกที่ไหล่และมีอาการปวดอย่างหนักเมื่ออยู่ในเรือนจำ ควรได้รับการผ่าตัด ต่อมา ศาลยกคำร้องขอปล่อยชั่วคราว โดยระบุเหตุผลว่า “พิเคราะห์แล้ว ศาลเคยสั่งไม่อนุญาตโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว”

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขที่ พ.1832/2557 ลงวันที่ 25 กันยายน 2557 และ https://prachatai.com/journal/2014/09/55721)
  • ศาลนัดไต่สวนคำร้องคัดค้านฝากขัง เนื่องจากพนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังภรณ์ทิพย์ผัดที่ 5 ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย. - 8 ต.ค. 57 ระบุเหตุผลว่า มีความจำเป็นจะต้องเสนอการสอบสวนให้ผู้บังคับบัญชาสั่งการ และรอผลการตรวจพิสูจน์แผ่นซีดีของกลางจากกองพิสูจน์หลักฐาน ขณะที่ภรณ์ทิพย์ได้ยื่นคัดค้านคำร้องขอฝากขัง เนื่องจากกระบวนการสอบสวนได้เสร็จสิ้นแล้ว เหลือเพียงการอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนว่าเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาหรือไม่ ซึ่งกระบวนการนี้ไม่เกี่ยวกับผู้ต้องหาแล้ว นอกจากนี้ ผู้ต้องหามีภาระต้องรับผิดชอบหนี้สินของครอบครัว ประกอบกับผู้ต้องหาไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว หากอนุญาตให้ฝากขังต่อไป ย่อมกระทบต่อเสรีภาพของผู้ต้องหาเกินควร ทำให้ผู้ต้องหาเสียโอกาสในการประกอบอาชีพ และทำให้ครอบครัวของผู้ต้องหาเดือดร้อนอย่างมาก

    ศาลพิจารณาทั้งคำร้องของผู้ต้องหาและพนักงานสอบสวนแล้ว เห็นว่า คดีนี้ยังอยู่ระหว่างสอบสวน พนักงานสอบสวนมีความจำเป็นต้องรอผลการตรวจพิสูจน์แผ่นซีดีของกลางอันเป็นพยานหลักฐานสำคัญในคดี ส่วนข้อคัดค้านของผู้ต้องหาเพียงคัดค้านการฝากขังซึ่งเป็นขั้นตอนที่พนักงานสอบสวนมีอำนาจตามกฎหมาย เมื่อการสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จจึงฟังไม่ขึ้น เห็นควรให้ยกคำร้องคัดค้านการขอฝากขังครั้งที่ 5 ของผู้ต้องหาเสีย อย่างไรก็ตาม ศาลได้ให้เวลาแก่พนักงานสอบสวนมาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว เพื่อเป็นการเร่งรัดให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสรุปสำนวนโดยเร็ว จึงอนุญาตให้ฝากขังอีก 5 วัน (ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย. - 1 ต.ค.57) กำชับพนักงานสอบสวนให้เร่งรัดการสอบสวนคดีนี้โดยเร็ว

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ 1844/2557 ลงวันที่ 26 กันยายน 2557)
  • พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอฝากขังภรณ์ทิพย์และปติวัฒน์ครั้งที่ 6 ต่อศาลอาญา โดยให้เหตุผลว่า พนักงานอัยการเพิ่งได้รับสำนวนการสอบสวนเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2557 แต่การพิจารณาสั่งคดีของพนักงานอัยการยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากสำนวนคดีมีเอกสารประกอบเป็นจำนวนมาก ทั้งเป็นคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อความรอบคอบในการพิจารณาสั่งคดี จึงต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณาหลักฐานต่าง ๆ ทำให้ไม่อาจฟ้องคดีได้ทันภายในกำหนดฝากขัง จึงขออนุญาตฝากขังผู้ต้องหาอีกครั้งมีกำหนด 12 วัน นับแต่วันที่ 2-13 ตุลาคม 2557

    (อ้างอิง : คำร้องขอฝากขังครั้งที่ 6 ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ พ.1832/2557 และ พ.1844/2557 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2557)
  • หลังจากพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการฝากขังภรณ์ทิพย์และปติวัฒน์รวม 7 ผัด กว่า 70 วัน พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องปติวัฒน์ เป็นจำเลยที่ 1 และภรณ์ทิพย์ เป็นจำเลยที่ 2 ต่อศาลอาญา ในความผิดฐาน ร่วมกันดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2556 จำเลยทั้งสองกับพวกที่ยังหลบหนีได้ร่วมกันแสดงละครเจ้าสาวหมาป่า ซึ่งในบทละครดังกล่าวมีข้อความอันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท รวมทั้งหมด 9 ข้อความ

    ในคำฟ้องโจทก์ไม่ได้ระบุว่า คัดค้านการให้ประกันตัว โดยหากจำเลยยื่นคำร้องขอประกันตัว ขอให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล

    ทั้งนี้ ศาลไม่ได้เบิกตัวจำเลยทั้งสองมาศาลในวันนี้ แต่นัดสอบคำให้การในวันที่ 27 ต.ค. 57

    ทนายความกล่าวว่า โดยปกติเวลาฟ้องคดี จะต้องนำตัวผู้ต้องหามายื่นฟ้องต่อศาลด้วยแต่หากผู้ต้องหาถูกขังอยู่ในเรือนจำ อาจไม่ต้องนำตัวมาก็ได้ และศาลมาสามารถเบิกตัวมาสอบถามคำให้การได้ในภายหลัง กรณีนี้คาดว่าศาลอาจอ่านคำฟ้องให้ผู้ต้องหาฟังทางเทเลคอนเฟอเรนซ์แล้ว

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.3526/2557 ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2557 และ https://prachatai.com/journal/2014/10/56178)
  • ศาลเบิกตัวภรณ์ทิพย์และปติวัฒน์มาศาล หลังศาลอ่านและอธิบายคำฟ้องเฉพาะในส่วนข้อหาให้ฟัง โดยไม่ได้อ่านข้อความที่ถูกกล่าวหา จำเลยทั้งสองปฏิเสธที่จะให้การในนัดนี้ และขอเลื่อนนัดสอบคำให้การออกไปก่อน เพราะต้องการปรึกษาแนวทางคดีกับทนายความหลังจากทนายความเพิ่งได้รับสำเนาคำฟ้องในวันนี้ ศาลอนุญาตตามคำขอของจำเลยทั้งสอง และนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การ และตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 29 ธันวาคม 2557

    หลังออกจากห้องพิจารณา ญาติของปติวัฒน์ และมารดาของภรณ์ทิพย์ รวมทั้งเพื่อนของทั้งสองเดินทางมาเยี่ยมจำเลยที่ห้องขังศาลอาญานับสิบคน โดยมารดาของภรณ์ทิพย์ร่ำไห้ขณะพูดคุยกับลูกสาว

    (อ้างอิง: https://prachatai.com/journal/2014/10/56212)
  • ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวปติวัฒน์และภรณ์ทิพย์ โดยอาจารย์จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 3 คน ใช้ตำแหน่งวิชาการเป็นหลักทรัพย์ประกัน โดยระบุเหตุผลประกอบว่า

    1) ผู้ร้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน และเป็นบุคคลธรรมดา ไม่ได้มีอิทธิพลหรือความสามารถที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้ ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี นอกจากนั้นผู้ร้องยังไม่ได้ลงทะเบียนเรียน หากไม่ได้ลงทะเบียนเรียนและเข้าเรียนในภาคเรียนนี้ จะส่งผลให้ไม่จบการศึกษาภายในภาคเรียนนี้ ทำให้จบการศึกษาล่าช้า และส่งผลต่ออนาคตของผู้ร้องอย่างมาก ผู้ร้องยังเคยใช้ทักษะการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านช่วยเหลือกิจกรรมของมหาวิทยาลัย และยังเป็นสมาชิกองค์การนักศึกษาของมหาวิทยาลัย การทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคมของผู้ร้อง ทำให้นักวิชาการ เจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคคลทั่วไปให้การยอมรับ อาจารย์มหาวิทยาลัยจึงได้นำตำแหน่งมาเป็นหลักประกันผู้ร้องด้วย

    2) แม้ฐานความผิดตามฟ้องจะเป็นความผิดในหมวดการกระทำที่มีโทษสูง อาจจะกระทบต่อความรู้สึกของประชาชน แต่หลักกฎหมายได้กำหนดให้การสั่งไม่ปล่อยตัวชั่วคราวจะกระทำได้เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ได้แก่
    1. ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี
    2. ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
    3. ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น
    4. ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ
    5. การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล

    ทั้งนี้ ผู้ร้องไม่ได้มีพฤติการณ์ที่เป็นเหตุอันควรเชื่อดังกล่าวแต่อย่างใด หากกลไกในกระบวนการยุติธรรมยังคงยึดหลักการของกฎหมายและสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธิของผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญาในการที่จะได้รับการประกันและได้ต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ ย่อมจะมีผลทำให้สังคมเห็นได้ว่ากระบวนการยุติธรรมและสถาบันตุลาการยังอำนวยความยุติธรรมให้กับทุกฝ่ายได้อย่างแท้จริงโดยปราศจากอคติ และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพเป็นสำคัญ อันจะทำให้สังคมมีความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมและมีส่วนช่วยในการคลี่คลายสถานการณ์สังคมที่มีความขัดแย้งอย่างเช่นปัจจุบันให้ดีขึ้น

    อาจารย์จากสถาบันสิทธิฯ ให้สัมภาษณ์ว่า เหตุที่มาประกันตัวจำเลยทั้งสองเพราะมองว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่จำเลยควรได้รับในการสู้คดี โดยเฉพาะจำเลยที่ยังเป็นเยาวชน ส่วนการบังคับใช้มาตรานี้ก็ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันได้ว่าเหมาะสมกับสภาพสังคมหรือไม่ เพียงไร ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองจัดการผู้เห็นต่างหรือไม่ การลงโทษในคดีนี้สมเหตุสมผลเพียงไหน ที่สำคัญ การสร้างการถกเถียงนี้ไม่ควรถูกเหมารวมว่าเป็นการกระทำความผิดด้วยดังที่ปรากฏอยู่ในสังคมออนไลน์ ซึ่งสร้างบรรยากาศความกลัวให้ผู้คน เป็นการกล่าวหาโดยไม่แยกแยะ ทั้งนี้ อาจารย์บางส่วนยอมรับว่ามีความกังวลใจอยู่บ้างเหมือนกันที่ปรากฏการณ์กล่าวหาลักษณะนี้ในเพจบางเพจ จากการยื่นประกันตัวครั้งนี้

    เวลา 17.00 น. ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวจำเลยทั้งสอง โดยระบุเหตุผลว่า พิเคราะห์แล้ว ศาลอาญาเคยสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

    (อ้างอิง: คำร้องประกอบคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญา คดีหมายเลขที่ อ.3526/2557 ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2557 และ https://prachatai.com/journal/2014/10/56235)
  • ปติวัฒน์ จำเลยที่ 1 และภรณ์ทิพย์ จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวต่อศาลอุทธรณ์ ด้วยเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2557 ศาลมีคำสั่งว่า “พิเคราะห์แล้ว ศาลอาญาเคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยระบุเหตุผลไว้ชัดเจนแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราว ” จำเลยไม่เห็นพ้องด้วยกับคำสั่งดังกล่าว จึงอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น ขอให้ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณา

    (อ้างอิง : คำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.3526/2557 ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2557)
  • ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 1 ในระหว่างพิจารณา โดยระบุว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่าพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชนและความมั่นคงของสถาบันหลักของประเทศจึงถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยที่ 1 ถูกจับกุมที่มหาวิทยาลัยที่เรียนอยู่ก็ไม่เป็นการแน่นอนว่าจำเลยที่ 1 จะไม่หลบหนี ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 1 ในระหว่างพิจารณานั้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง”

    เช่นเดียวกันศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 2 ในระหว่างพิจารณา โดยระบุว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่าพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชน และความมั่นคงของสถาบันหลักของประเทศจึงถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง ประกอบกับจำเลยที่ 2 ถูกจับกุมขณะกำลังจะเดินทางออกนอกประเทศ หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเกรงว่าจำเลยอาจหลบหนี ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 2 ในระหว่างพิจารณานั้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง”

    (อ้างอิง: คำร้องที่ 8253/2557 และ 8254/2557 ศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ อ.3526/2557 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2557)
  • ศาลนัดสอบคำให้การ และตรวจพยานหลักฐาน โดยในวันนี้มีผู้ให้ความสนใจเข้าฟังคดีกว่า 50 คนจนต้องนั่งกับพื้นห้องพิจารณาคดี ในจำนวนนี้มีตัวแทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) สหภาพยุโรป และแอมนาสตี้ เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย

    จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ โดยยื่นคำร้องประกอบคำรับสารภาพ ระบุว่า ขอให้ศาลพิจารณาลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ เนื่องจากจำเลยไม่เคยกระทำผิดมาก่อน อายุยังน้อย และอยู่ระหว่างศึกษา การลงโทษด้วยการจำคุกนอกจากจะสร้างความเสียหายแล้วยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ จำเลยจึงขอให้ศาลให้โอกาสในการปรับตัวอยู่ในสภาพแวดล้อมของสถาบันการศึกษาอีกครั้ง ศาลจึงมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลย เพื่อหาเหตุลดโทษมารายงานต่อศาลภายใน 15 วัน และศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 13.30 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำ ที่ 3526/2557 ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2557 และ https://prachatai.com/journal/2014/12/57181)
  • ศาลอ่านคำพิพากษา โดยพิพากษาให้จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ลงโทษจำคุกคนละ 5 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 2 ปี 6 เดือน พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะและพินิจของของจำเลยทั้งสอง ตลอดจนพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว แม้จำเลยทั้งสองจะไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน แต่จำเลยทั้งสองร่วมแสดงละครมีเนื้อหาล้อเลียนในลักษณะจาบจ้วง ดูหมิ่น หมิ่นประมาทองค์พระมหากษัตริย์ในหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อหน้าผู้ชมเป็นจำนวนมาก ทั้งมีการเผยแพร่ออกไปยังเว็บไซต์สาธารณะเป็นวงกว้าง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพของปวงชนชาวไทย พฤติการณ์แห่งคดีถือว่าร้ายแรง จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษจำคุก

    ทั้งนี้ ศาลไม่ได้อ่านคำบรรยายฟ้องซึ่งเป็นพฤติการณ์แห่งคดีก่อนเช่นเดียวกับในคดีทั่วไป โดยอ่านเพียงโทษเท่านั้น ในวันนี้มีประชาชนที่สนใจ เพื่อน และญาติของจำเลยร่วมฟังคำพิพากษากว่า 50 คน จนล้นห้องพิจารณาคดี โดยมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ สถานทูตประเทศต่างๆ อาทิ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป เข้าร่วมฟังด้วย

    นอกจากนี้ ศาลยังได้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาขึ้นมาเป็นเวลา 9.00 น. จากเดิมที่นัดไว้เวลา 13.30 น. โดยไม่ได้แจ้งให้ทนายจำเลยหรือญาติทราบล่วงหน้า ทำให้พ่อของปติวัฒน์ซึ่งเดินทางมาจาก จ.ฉะเชิงเทรา มาฟังคำพิพากษาไม่ทัน

    หลังจากศาลอ่านคำพิพากษา ตำรวจศาลได้นำปติวัฒน์และภรณ์ทิพย์ลงมาที่ห้องขังใต้ถุนศาล เพื่อนๆ หลายสิบคนตาทมาร้องเพลงให้กำลังใจ ก่อนที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะนำทั้งสองกลับเรือนจำทันที ทั้งที่ตามปกติจะมีการนำผู้ต้องขังกลับเรือนจำพร้อมกันในตอนเย็น กลุ่มเพื่อนจึงรวมตัวกันร้องเพลงอีกครั้งที่หน้าป้ายศาลอาญา

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.3526/2557 คดีหมายเลขแดงที่ อ.506/2558 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558 และ https://prachatai.com/journal/2015/02/58052)
  • โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น คดีจึงถึงที่สุด ศาลอาญาออกใบคดีถึงที่สุดให้ปติวัฒน์และภรณ์ทิพย์

    (อ้างอิง: ใบสำคัญคดีถึงที่สุด ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.3526/2557 คดีหมายเลขแดงที่ อ.506/2558 ลงวันที่ 27 มีนาคน 2558)
  • ปติวัฒน์ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ หลังจากมีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2558 และ 2559 ทำให้เขาได้รับการปล่อยตัวก่อนครบกำหนดโทษ รวมเวลาถูกคุมขัง 1 ปี 11 เดือน 27 วัน

    (อ้างอิง: https://prachatai.com/journal/2016/08/67423)
  • ภรณ์ทิพย์ได้รับการปล่อยตัวจากทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพฯ หลังจากมีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2558 และ 2559 ทำให้ภรณ์ทิพย์ได้รับการปล่อยตัวก่อนครบกำหนดโทษ รวมเวลาถูกคุมขัง 2 ปี 12 วัน

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
ไม่อนุญาต
ผู้ถูกดำเนินคดี :
ภรณ์ทิพย์

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
ไม่อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. นายสมภพ บัวยั่งยืน
  2. นางสาวพัฒนา ชูสอน

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
ไม่อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 23-02-2015
ผู้ถูกดำเนินคดี :
ภรณ์ทิพย์

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. นายสมภพ บัวยั่งยืน
  2. นางสาวพัฒนา ชูสอน

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
ไม่อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 23-02-2015

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์