สรุปความสำคัญ

5 ธ.ค. 61 มีประชาชนประมาณ 20 คน ร่วมกันถือป้ายที่เป็นธงสัญลักษณ์ลายขาว-แดง มีข้อความ “Thai Federation” บริเวณสกายวอล์คหน้าเอ็มบีเคเซ็นเตอร์ จากนั้นตำรวจประมาณ 10 นาย เข้าจับกุมประชาชนในบริเวณนั้นรวม 5 คน และเด็กอายุ 11 ขวบอีก 1 คน นำตัวไป สน.ปทุมวัน ต่อมา ติดตามจับกุมในภายหลังอีก 1 คน หลังการจับกุมเจ้าหน้าที่ได้นำผู้ถูกจับกุม 2 คน ไป มทบ. 11 ควบคุมตัวไว้ 7 วัน โดยอ้างคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558

ต่อมา มีการดำเนินคดีบุคคลทั้ง 6 คน (ยกเว้นเด็ก) ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558, เป็นอั้งยี่ และยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 และมาตรา 116, ไม่แจ้งการชุมนุม และชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตร จากวังสระปทุม ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ แม้ว่าทั้งหมดจะยืนยันว่า ไม่ได้มีเจตนามาทำกิจกรรมดังกล่าว เพียงแต่มาทำธุระบริเวณนั้นและถูกขอให้ช่วยถือป้ายเพื่อถ่ายรูป รวมทั้งไม่รู้ความหมายของป้ายดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ 1 ใน 6 คน ยังถูกแจ้งข้อหากล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 อีก 1 ข้อหา จากการเผยแพร่ภาพถ่ายกิจกรรมลงในเฟซบุ๊ก

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • สมชัย
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในความมั่นคงปลอดภัย
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ทหาร
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • ธนชาต
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในความมั่นคงปลอดภัย
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • สมชัย
    • อมรเทพ
    • ธีณพันธ์
    • สมหมาย
    • คม
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
    • บุกค้น / ยึดทรัพย์สิน
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • ธนชาต
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในความมั่นคงปลอดภัย
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ทหาร
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • ธนชาต
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

5 ธันวาคม 2561 เวลาประมาณ 16.30 น. ประชาชนประมาณ 20 คน บางคนสวมเสื้อสีดำซึ่งมีเครื่องหมายคล้ายธงชาติสีขาวแดงติดอยู่บริเวณหน้าอก ร่วมกันชูธงสีขาวแดงเช่นเดียวกับเสื้อ บริเวณตรงกลางมีอักษร THAI FEDERATION หลังถ่ายรูปและถือป้ายเดินรอบราวกั้นวงกลมกลางสกายวอล์ค เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบราว 10 นาย ได้กรูเข้าจับกุมประชาชนในบริเวณนั้นไปรวมทั้งสิ้น 6 คน เป็นเด็ก 1 คน ขึ้นรถตำรวจไปยัง สน.ปทุมวัน

นายสมชัยให้ข้อมูลว่า ตนไม่ได้เจตนาจะเข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าว และไม่ได้ทราบถึงความหมายของการแสดงสัญลักษณ์และการชุมนุม หลังถูกจับกุมเขาถูกใส่กุญแจมือเข้ากับผู้ถูกจับกุมอีกคน (ธีรพันธ์) และถูกนำตัวขึ้นรถตำรวจไปยัง สน.ปทุมวัน เมื่อถึง สน. เขาถูกค้นตัวและตรวจสอบสิ่งของที่นำติดตัวมาด้วย ตำรวจสอบปากคำและให้เขาลงชื่อยินยอมให้สืบค้นข้อมูลในโทรศัพท์มือถือ ก่อนนำตัวไปทำบันทึกจับกุมพร้อมกันทั้ง 5 คน โดยแจ้งข้อกล่าวหาว่า ทั้งหมดกระทำความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 ชุมนุมทางการเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันชุมนุมสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตร จากวัง ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 10 และมาตรา 7 และร่วมกันยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 สมชัยไม่ลงชื่อในบันทึกการจับกุมนี้ โดยให้พนักงานสอบสวนเขียนข้อความลงในบันทึกว่า ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง จึงไม่อาจลงชื่อได้

หลังทำบันทึกจับกุมเสร็จในเวลาประมาณ 23.50 น. สมชัยถูกทหารมานำตัวไปควบคุมที่มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) โดยในช่วง 3 วันแรก มีเจ้าหน้าที่เข้ามาสอบปากคำและพยายามถามถึงความเชื่อมโยงระหว่างตนกับบุคคลอื่นที่ถูกดำเนินคดีและเครือข่ายสหพันธรัฐไท อย่างไรก็ตาม นายสมชัยตอบว่าตนไม่รู้จักกับบุคคลใดมาก่อน แต่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ไปค้นที่บ้านเพื่อหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้

สมชัยถูกควบคุมตัวจนถึงวันที่ 11 ธันวาคม 2561 จึงถูกนำตัวกลับไปที่ สน.ปทุมวัน ก่อนออกจาก มทบ.11 ทหารนำเอกสารหลายแผ่นมาให้เขาลงชื่อ ถึง สน.ปทุมวัน ประมาณ 10.00 น. จากนั้น พนักงานสอบสวนนำตัวเขาไปศาลอาญากรุงเทพใต้เพื่อขอฝากขังในช่วงบ่าย โดยสมชัยได้ติดต่อภรรยาให้มาทำเรื่องประกันตัว ศาลมีคำสั่งให้ประกันตัว และสมชัยได้รับการปล่อยตัวในเย็นวันเดียวกัน

ด้วยนางคมและนายสมหมาย (สงวนนามสกุล) สองสามีภรรยา ให้ข้อมูลว่า ในวันดังกล่าว มีผู้หญิงสองคนนำป้ายแผ่นใหญ่มาให้นายสมหมายช่วยถือถ่ายภาพ โดยเขาไม่ได้ทราบความหมาย หลังจากนั้นมีตำรวจเข้ามาจับตนใส่กุญแจมือ เขาตกใจและขัดขืน ขณะที่คมวิ่งเข้าไปถามว่าจับแฟนทำไม ตำรวจจึงถามกลับว่ามาด้วยกันใช่มั้ย และจับคม รวมทั้งลูกชายอายุ 11 ขวบไปด้วย

หลังสมชัยถูกนำตัวไป มทบ.11 ผู้ถูกจับกุมที่เหลือ 4 คน ถูกควบคุมตัวที่ สน.ปทุมวัน อีก 2 คืน ระหว่างนั้นลูกชายของสมหมาย ถ่ายคลิปตอนพ่อถูกควบคุมตัว แต่ถูกตำรวจตบโทรศัพท์ตกพื้นและขู่ว่าไม่ให้ถ่ายคลิป

7 ธ.ค. 2561 พนักงานสอบสวนนำตัวทั้งสี่ไปศาลอาญากรุงเทพใต้เพื่อขอฝากขัง โดยคมและสมหมายมีน้องชายมายื่นประกันตัว ศาลอนุญาตให้ประกันโดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสดคนละ 40,000 บาท พร้อมทั้งติด EM ที่ข้อเท้า ทั้งสองได้รับการปล่อยตัวในตอนเย็น

หลังได้รับการประกันตัว สมชัยและสมหมายให้ข้อมูลว่า พวกเขายังถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ สมชัยถูกตามไปหาและขอถ่ายรูปในที่ทำงาน ส่วนสมชัยถูกตำรวจนอกเครื่องแบบตามไปถ่ายรูปที่บ้าน รวมทั้งให้เขาไปที่วินมอเตอร์ไซค์ซึ่งเขาประจำอยู่เพื่อถ่ายรูปอีกด้วย แต่เขาปฏิเสธ

26 ธ.ค. 2561 เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามจับกุมธนชาตได้ นำตัวไป สน.ปทุมวัน สอบปากคำ ก่อนที่จะมีทหารมานำตัวไป มทบ.11 ธนชาตถูกเจ้าหน้าที่สอบปากคำอีกถึง 5 วันติดกัน จนกระทั่งวันที่ 1 ม.ค. 62 ซึ่งเป็นวันที่ 7 ของการควบคุมตัว เขาก็ถูกนำตัวขึ้นรถกลับไปที่ สน.ปทุมวัน เมื่อถึง สน.ปทุมวัน ตำรวจได้แสดงหมายจับศาลอาญากรุงเทพใต้ ลงวันที่ 31 ธ.ค. 2561 จากนั้นได้แจ้งข้อกล่าวหาธนชาตว่า เป็นอั้งยี่และยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 และมาตรา 116, ชุมนุมสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 ธนชาตให้การรับสารภาพ โดยไม่มีทนายความที่ไว้ใจเข้าร่วม มีเพียงทนายความที่ตำรวจจัดหาไว้ให้

สถานะของเรื่อง

วันที่ : 24-01-2019
ที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 6 พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมสมชัย, สมหมาย, คม, ธีณพันธ์ และอมรเทพ ในข้อหา เป็นอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 จากนั้นพนักงานอัยการ ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้ถูกกล่าวหาทั้งหกต่อศาลอาญา ในความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, เป็นอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209, ชุมนุมสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตและชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตร จากวังของพระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 7 และ 10 โดยธนชาต จำเลยที่ 6 ถูกฟ้องในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มาตรา 14(​3) อีกข้อหาหนึ่งด้วย

จากนั้น จำเลยทั้งหกได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดีในชั้นศาล ศาลมีคำสั่งอนุญาตและนัดถามคำให้การในวันที่ 20 ก.พ. 2562
 
วันที่ : 19-10-2020
ศาลอาญาพิพากษาว่า จำเลยทั้งหกกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ฐานชุมนุมในระยะ 150 เมตร จากวัง ให้ปรับคนละ 5,000 บาท ฐานไม่แจ้งการชุมนุมภายใน 24 ชม. ให้ปรับคนละ 5,000 บาท รวมโทษปรับจำเลยทั้งหกคนละ 10,000 บาท และยึดของกลาง

ภูมิหลัง

  • ธีณพันธ์
    อาชีพรับจ้าง
  • สมหมาย
    ขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง เคยเข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดง
  • คม
    แม่ค้าขายข้าวแกง ไม่เคยร่วมชุมนุมทางการเมือง
  • อมรเทพ
    อาชีพรับจ้าง
  • ธนชาต
    รับจ้าง
  • สมชัย
    อาชีพรับจ้าง ไม่ได้เล่นโซเชียล ไม่ได้สนใจติดตามการเมือง

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์