ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
- พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
- Line
- อั้งยี่ (มาตรา 209)
- ยุยงปลุกปั่น (มาตรา 116)
ดำ อ.2537/2562
ผู้กล่าวหา
- ร.ต.อ.ปัญญา ศรีวิชัย และทหาร 1 นาย (ไม่ปรากฏชื่อ) (ทหาร)
ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
- พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
- Line
- ยุยงปลุกปั่น (มาตรา 116)
- อั้งยี่ (มาตรา 209)
หมายเลขคดี
ดำ อ.2537/2562
ผู้กล่าวหา
- ร.ต.อ.ปัญญา ศรีวิชัย และทหาร 1 นาย (ไม่ปรากฏชื่อ)
ความสำคัญของคดี
กาญจนา ถูกดำเนินคดีจากการสวมเสื้อสีดำพร้อมชูธงสีขาวเเดง เเละถ่ายรูปดังกล่าวจากบริเวณห้างเซ็นทรัลพลาซ่าในจังหวัดอุบลราชธานี ก่อนส่งเข้าแชทไลน์ เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2561 ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเเละทหารสืบทราบ เเละนำตัวกาญจนาไปสอบปากคำและควบคุมตัวในค่ายทหารรวม 7 วัน ต่อมาภายหลังจึงดำเนินคดีฐานยุยงปลุกปั่นเเละเป็นอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 เเละ 209 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 โดยกล่าวหาว่า กาญจนาเป็นสมาชิกของ “องค์การสหพันธรัฐไท” ที่มีความมุ่งหมายที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบปกครองแบบสหพันธรัฐมีประธานาธิบดีเป็นประมุข และการถ่ายรูปส่งในไลน์เป็นการยุยงปลุกปั่น และนำเข้าหรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงฯ
พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี
พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 6 เป็นโจทก์ฟ้องกาญจนา กล่าวหาว่ากระทำความผิดในระหว่างวันที่ 4-5 ธ.ค. 2561 รวม 3 กรรม ดังนี้
1.จำเลยกับพวกอีกหลายคนที่ยังไม่ได้นำตัวมาฟ้อง เป็นสมาชิกของ “องค์การสหพันธรัฐไท” อันเป็นคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการ มีความมุ่งหมายเพื่อต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย จากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไปสู่ระบอบปกครองแบบสหพันธรัฐมีประธานาธิบดีเป็นประมุข
2.จำเลยกับพวกได้ร่วมกันกระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ โดยการเคลื่อนไหวปลุกระดมสมาชิกกลุ่ม และประชาชนทั่วไปผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ได้แก่ เฟซบุ๊ก ไลน์ ยูทูบ และการแจกเอกสารแผ่นปลิว ชักชวนให้สมาชิกกลุ่มและประชาชนทั่วไป บริเวณห้างสรรพสินค้าเซ็ลทรัลอุบลราชธานี ให้ต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐบาล และ คสช. อันมิใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญและมิใช่เพื่อแสดงความเห็นหรือติชมโดยสุจริต
3.เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2561 จำเลยซึ่งเป็นสมาชิกไลน์ได้โพสต์ภาพถ่ายที่บันทึกเหตุการณ์การเคลื่อนไหวปลุกระดมสมาชิกกลุ่มและประชาชนทั่วไปตามฟ้องข้อ 2 แล้วส่งต่อข้อความภาพถ่ายดังกล่าวไปยังไลน์ของบุคคลอื่นที่ติดต่อกับจำเลย อันเป็นการนำเข้า เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา อันเป็นการยุยงปลุกปั่นประชาชนให้ออกมาต่อต้านรัฐบาลและเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง
ท้ายคำฟ้อง อัยการขอให้ศาลริบของกลาง ได้แก่ ธงสีขาวแดงจำนวน 15 ผืน และโทรศัพท์วีโว่สีขาว 1 เครื่อง
(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2537/2562 ลงวันที่ 23 กันยายน 2562)
1.จำเลยกับพวกอีกหลายคนที่ยังไม่ได้นำตัวมาฟ้อง เป็นสมาชิกของ “องค์การสหพันธรัฐไท” อันเป็นคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการ มีความมุ่งหมายเพื่อต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย จากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไปสู่ระบอบปกครองแบบสหพันธรัฐมีประธานาธิบดีเป็นประมุข
2.จำเลยกับพวกได้ร่วมกันกระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ โดยการเคลื่อนไหวปลุกระดมสมาชิกกลุ่ม และประชาชนทั่วไปผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ได้แก่ เฟซบุ๊ก ไลน์ ยูทูบ และการแจกเอกสารแผ่นปลิว ชักชวนให้สมาชิกกลุ่มและประชาชนทั่วไป บริเวณห้างสรรพสินค้าเซ็ลทรัลอุบลราชธานี ให้ต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐบาล และ คสช. อันมิใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญและมิใช่เพื่อแสดงความเห็นหรือติชมโดยสุจริต
3.เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2561 จำเลยซึ่งเป็นสมาชิกไลน์ได้โพสต์ภาพถ่ายที่บันทึกเหตุการณ์การเคลื่อนไหวปลุกระดมสมาชิกกลุ่มและประชาชนทั่วไปตามฟ้องข้อ 2 แล้วส่งต่อข้อความภาพถ่ายดังกล่าวไปยังไลน์ของบุคคลอื่นที่ติดต่อกับจำเลย อันเป็นการนำเข้า เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา อันเป็นการยุยงปลุกปั่นประชาชนให้ออกมาต่อต้านรัฐบาลและเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง
ท้ายคำฟ้อง อัยการขอให้ศาลริบของกลาง ได้แก่ ธงสีขาวแดงจำนวน 15 ผืน และโทรศัพท์วีโว่สีขาว 1 เครื่อง
(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2537/2562 ลงวันที่ 23 กันยายน 2562)
ความคืบหน้าของคดี
-
วันที่: 16-01-2019นัด: แจ้งข้อกล่าวหาครั้งที่ 1 (สภ.เมืองอุบลราชธานี)กาญจนา พร้อมทนายความเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกที่ออกโดย พ.ต.ท.เฉลิมยศ พรหมสุวรรณ สารวัตร (สอบสวน) สภ.เมืองอุบลราชธานี พ.ต.ท.เฉลิมยศ แจ้งข้อกล่าวหากาญจนาในความผิดฐาน ยุยงปลุกปั่น เป็นอั้งยี่ เเละนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, มาตรา 209 เเละพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (3) ซึ่งกาญจนาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยจะให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมในภายหลัง หลังสอบปากคำ พนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวกาญจนาโดยไม่เรียกประกันหรือหลักประกัน โดยกาญจนาจะต้องมาตามกำหนดนัดของพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการสอบสวนต่อไป
ทั้งนี้ ในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาระบุถึงพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาโดยสรุปว่า กาญจนากับพวกร่วมกันเป็นสมาชิกคณะบุคคลซึ่งปกปิดการดำเนินการ และมีความมุ่งหมายเพื่อการมิชอบด้วยกฎหมาย โดยกาญจนาเข้าอินเตอร์เน็ตดูยูทูบ (YouTube) ช่องของลุงสนามหลวงแล้วได้ออกมาเคลื่อนไหว ตามขบวนการสหพันธรัฐไท เเละตามคำสั่งการของลุงสนามหลวงกับพวก โดยแสดงสัญลักษณ์สวมเสื้อสีดำในวันที่ 5 ธันวาคม 2561 และด้วยการชูธงขาวแดงซึ่งกาญจนาตัดเย็บเอง แสดงสัญลักษณ์ของกลุ่มเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย และใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพที่ห้างเซ็นทรัลพลาซ่าอุบลราชธานี ต.แจระแม อ.เมืองอุบลราชธานี แล้วกาญจนาส่งภาพนั้นไปทางไลน์รวมถึงเฟซบุ๊กซึ่งมีสมาชิกกลุ่มสหพันธรัฐไท ซึ่งผู้กล่าวหากับพวกได้สืบสวนการกระทำของกาญจนากับพวกเห็นว่าได้กระทำความผิดจริง จึงมาร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับกาญจนาจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
พนักงานสอบสวนระบุว่า พฤติการณ์และการกระทำของกาญจนาเป็นความผิดฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชน ด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน เป็นอั้งยี่ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย
ในการเเจ้งข้อกล่าวหาในครั้งนี้ มีทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมด้วย
ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนแจ้งกาญจนาด้วยว่า หลังสรุปสำนวนจะนัดหมายกาญจนาเพื่อส่งตัวกาญจนาพร้อมสำนวนคดีให้พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา สำนักงานอัยการสูงสุด โดยคดีที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มสหพันธรัฐไททั้งหมดจะอยู่ในความรับผิดชอบของกองบังคับการปราบปราม และถูกส่งฟ้องที่ศาลอาญารัชดา
(อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สภ.เมืองอุบลฯ ลงวันที่ 16 ม.ค. 2562 และ https://www.tlhr2014.com/?p=10497) -
วันที่: 22-01-2019นัด: แจ้งข้อกล่าวหา ครั้งที่ 2 (กองปราบ)กองบังคับการปราบปรามนัดกาญจนาเข้ารับทราบข้อกล่าวหาอีกเป็นครั้งที่ 2 หลังกาญจนาเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.เมืองอุบลฯ แล้ว โดยอ้างว่า เนื่องจากคดีเสื้อดำสหพันธรัฐไทอยู่ในความรับผิดชอบของกองบังคับการปราบปราม จึงต้องให้กาญจนามาให้ปากคำและแจ้งข้อกล่าวหาอีกครั้งกับพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม
พ.ต.ท.นิติธร เดชระพีร์ แจ้งข้อหากาญจนาฐาน ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ เป็นอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 และนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาบรรยายพฤติการณ์ที่เป็นความผิด ใจความโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2561 ผู้ต้องหาสวมเสื้อสีดำ ชูธงสีขาว-แดง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มที่ต้องการให้ปกครองประเทศในรูปแบบสหพันธรัฐหรือมลรัฐ ที่หน้าห้างเซ็นทรัลพลาซ่าอุบลราชธานี แล้วถ่ายภาพส่งเข้ากลุ่มเฟซบุ๊กและไลน์สหพันธรัฐไท รวมถึงมีประวัติดูช่องยูทูบลุงสนามหลวง องค์กรสหพันธรัฐไท และเป็นผู้ตัดเย็บธงสีขาว-แดงที่ใช้แสดงสัญลักษณ์ในที่เกิดเหตุด้วย แต่ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ยืนยันบันทึกคำให้การ 4 แผ่น ที่ได้ให้การไว้ในวันที่ 8 และ 10 ธันวาคม 2561 ขณะถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร
ในการเเจ้งข้อกล่าวหาในครั้งนี้ มีทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมด้วย
(อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา กก.1 บก.ป. ลงวันที่ 22 ม.ค. 2562 และ https://www.tlhr2014.com/?p=10589) -
วันที่: 04-02-2019นัด: ส่งตัวให้อัยการหลังจากรวบรวมพยานหลักฐานทั้งจากคำให้การเป็นหนังสือของกาญจนาเเละพยานหลักฐานอื่นเป็นระยะเวลาประมาณ 2 เดือน พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามจึงสรุปสำนวนเเละมีความเห็นว่าควรสั่งฟ้องกาญจนาในความผิดฐานยุยงปลุกปั่น เป็นอั้งยี่ เเละนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, มาตรา 209 เเละ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยพนักงานสอบสวนได้ส่งตัวกาญจนาพร้อมสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 6 สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาทำคำสั่งในคดีนี้ต่อไป
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาดังกล่าวกาญจนา ซึ่งเข้ารายงานตัวตามหมายเรียกของพนักงานสอบสวน สภ.เมืองอุบลราชธานี ไม่ถูกนำตัวไปฝากขังในระหว่างการสอบสวนเเต่อย่างใด เเต่มีอุปสรรคในการเดินทางมารายงานตัวต่อพนักงานอัยการก่อนจะมีคำสั่งในคดีของตน โดยในนัดนี้ พนักงานอัยการกำหนดวันให้มารับฟังคำสั่งในวันที่ 21 ก.พ. 2562 -
วันที่: 21-02-2019นัด: ฟังคำสั่งอัยการ ครั้งที่ 1กาญจนาไม่สามารถเดินทางมารับฟังคำสั่งของพนักงานอัยการด้วยตนเอง เเต่มอบอำนาจให้ทนายความมารับทราบคำสั่ง เนื่องจากพนักงานอัยการเเจ้งว่าจะยังไม่มีคำสั่งว่าจะสั่งฟ้องคดีหรือไม่ อัยการเลื่อนฟังคำสั่งไปเป็นวันที่ 25 เม.ย. 2562
-
วันที่: 25-04-2019นัด: ฟังคำสั่งอัยการ ครั้งที่ 2กาญจนามอบอำนาจให้ทนายความรับทราบคำสั่งในนัดนี้ เนื่องจากพนักงานอัยการเเจ้งว่าจะยังไม่มีคำสั่งว่าจะสั่งฟ้องคดีหรือไม่ อัยการเลื่อนฟังคำสั่งไปวันที่ 13 มิ.ย. 2562
-
วันที่: 13-06-2019นัด: ฟังคำสั่งอัยการ ครั้งที่ 3เจ้าหน้าที่แจ้งว่า อัยการเจ้าของสำนวนเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักรจึงมีคำสั่งคืนสำนวนให้พนักงานสอบสวนรวบรวมสำนวนใหม่ให้ถูกต้อง ผู้ต้องหาจึงไม่ต้องเข้ารายงานตัวในนัดนี้
-
วันที่: 15-07-2019นัด: ส่งตัวให้อัยการ (ครั้งที่ 2)หลังอัยการเจ้าของสำนวนเห็นว่าเป็นคดีนอกราชอาณาจักร และส่งสำนวนกลับให้พนักงานสอบสวนรวบรวมสำนวนใหม่ให้ถูกต้อง แต่ปรากฏว่าอัยการสูงสุดชี้ว่าเป็นคดีภายในราชอาณาจักร พนักงานสอบสวนจึงนัดส่งตัวกาญจนาพร้อมสำนวนการสอบสวนให้อัยการอีกเป็นครั้งที่ 2 อัยการนัดฟังคำสั่งในวันที่ 23 ก.ย. 2562
(อ้างอิง: https://tlhr2014.com/?p=13016) -
วันที่: 23-09-2019นัด: ยื่นฟ้องอัยการแจ้งล่วงหน้าว่าจะยื่นฟ้องต่อศาลอาญาในนัดฟังคำสั่งอัยการนี้เลย
ที่ศาลอาญา ถ.รัชดา พนักงานอัยการ สำนักอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 6 ยื่นฟ้องกาญจนา ในข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, เป็นอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อันเป็นเท็จ คำฟ้องของอัยการกล่าวหาว่า กาญจนากระทำความผิดในระหว่างวันที่ 4-5 ธ.ค. 2561 รวม 3 กรรม
กาญจนาให้การเบื้องต้นปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว จากนั้น ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี โดยให้วางหลักทรัพย์จำนวน 600,000 บาท กาญจนาใช้โฉนดที่ดินและเงินสดวางเป็นหลักประกัน ก่อนได้รับการปล่อยตัว
นัดสอบคำให้การ และตรวจพยานหลักฐาน วันที่ 11 พ.ย. 62 เวลา 13.30 น.
(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2537/2562 ลงวันที่ 23 กันยายน 2562 และ https://tlhr2014.com/?p=13883) -
วันที่: 11-11-2019นัด: นัดพร้อมศาลอาญา รัชดา นัดพร้อมสอบคำให้การ ตรวจพยานหลักฐาน และกำหนดวันนัดสืบพยาน หลังศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้ฟัง กาญจนาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ตามคำให้การเป็นเอกสารที่ยื่นในวันนี้ เนื่องจากไม่ได้กระทำผิดตามฟ้องของโจทก์ โจทก์แถลงจะนำพยานเข้าเบิกความรวม 11 ปาก ด้านจำเลยอ้างตนเองเป็นพยานเข้าเบิกความเพียงปากเดียว ศาลนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยในวันที่ 3-4, 8-10 ก.ย. 2563 โดยก่อนหน้าการสืบพยาน นัดตรวจความพร้อมของคู่ความในวันที่ 25 พ.ค. 63
(อ้างอิง: บัญชีพยานโจทก์ ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2537/2562 ลงวันที่ 1 พ.ย. 2562, คำให้การจำเลยและบัญชีพยานจำเลย ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2537/2562 ลงวันที่ 11 พ.ย. 2562) -
วันที่: 25-05-2020นัด: ตรวจความพร้อมเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 63 เจ้าหน้าที่ศาลอาญาได้แจ้งเลื่อนนัดตรวจความพร้อมจากวันที่ 25 พ.ค. 63 เป็นวันที่ 8 มิ.ย. 63 เวลา 9.00 น.
-
วันที่: 08-06-2020นัด: นัดพร้อมศาลอาญา รัชดา นัดตรวจความพร้อมของคู่ความก่อนการสืบพยานคดี 'กาญจนา' ในระหว่างวันที่ 3-4, 8-10 ก.ย. 63 ซึ่งศาลนัดสืบพยานตามวันที่ได้กำหนดนัดไว้ก่อนหน้านี้แล้ว โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง
-
วันที่: 03-09-2020นัด: สืบพยานโจทก์โจทก์นำพยานเข้าเบิกความรวม 11 ปาก ระหว่างวันที่ 3-4, 8-9 ก.ย. 2563 มีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้
พยานโจทก์ซึ่งเป็นตำรวจทหารชุดสืบสวน-จับกุม ผู้กล่าวหา ตลอดจนพนักงานสอบสวนให้การสอดคล้องกันว่า
ปลายเดือน พ.ย. 61 สันติบาลสืบทราบข่าวว่า กลุ่มสหพันธรัฐไทจะมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในวันที่ 5 ธ.ค. 61 มีการเชิญชวนประชาชนทั่วไปผ่านช่อง ลุงสนามหลวง ให้สวมเสื้อดำ หรือติดสัญลักษณ์ ไปชูธงขาวแดง ต่อมา เย็นวันที่ 5 ธ.ค. 61 สันติบาลส่วนกลางได้ส่งภาพหญิงอายุประมาณ 60 ปี แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการชูธงขาวแดง ให้สันติบาล จ.อุบลฯ ตรวจสอบหาตัวบุคคล พ.ต.ท.ประสพ รัตนารามิก จึงให้ลูกน้องไปตรวจสอบดูกล้องวงจรปิดห้างเซ็นทรัลอุบลฯ พบว่า มีการแสดงสัญลักษณ์ดังกล่าวในเวลา 14.05 น. วันที่ 5 ธ.ค. 61 และตรวจสอบจนทราบชื่อของหญิงคนดังกล่าว จึงแจ้งไปยัง พ.ท. ภราดร นนท์ตุลา รองหัวหน้าชุดฝ่ายยุทธการ กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.อุบลฯ
เช้าวันที่ 8 ธ.ค. 61 พ.ท.ภราดร ได้ประสานฝ่ายสืบสวนกองบังคับการตำรวจภูธร จ.อุบลฯ, สภ.เมืองอุบลฯ และสันติบาล จ.อุบลฯ เข้าตรวจสอบและตรวจค้นบ้านของจำเลย เมื่อเจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าวไปถึงได้พบจำเลยจึงสอบถามว่า จำเลยเป็นผู้ไปชูธงขาวแดงที่ห้างเซ็นทรัลในวันที่ 5 ธ.ค.หรือไม่ กาญจนารับว่า ใช่ หลังจากเจ้าหน้าที่สอบถามถึงธงดังกล่าว กาญจนาได้นำธงขาวแดง 1 ผืนมามอบให้
จากการสอบปากคำที่ สภ.เมืองอุบลฯ กาญจนารับว่า ดูคลิปจากยูทูบ รายการลุงสนามหลวง ซึ่งมีการนัดแนะกันให้ออกมาชูธงขาวแดงตามห้างสรรพสินค้าในวันที่ 5 ธ.ค. แล้วรู้สึกอินเหมือนดูหนัง จึงออกมาถือธงในวันเกิดเหตุ ไม่ได้คิดว่าผิดกฎหมาย กาญจนายังให้การว่า มีธงอีก 14 ผืนในบ้าน เจ้าหน้าที่จึงกลับไปค้นบ้านจำเลย โดยให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าตรวจค้น ไม่ได้ขอหมายค้นจากศาล เพราะเกรงว่าหากไปขอหมายค้น พยานหลักฐานอาจจะถูกเคลื่อนย้าย
จากการตรวจค้นบ้านจำเลยพบธงขาวแดง 14 ผืน วางอยู่ใต้โต๊ะชั้นล่างของบ้าน โดยกาญจนาให้การว่า ใช้จักรเย็บผ้าที่บ้านตัดเย็บเอง เจ้าหน้าที่จึงทำการตรวจยึด นอกจากนี้ยังตรวจยึดรองเท้าคัตชูสีขาว 1 คู่ ที่จำเลยสวมใส่ไปในวันเกิดเหตุ และโทรศัพท์เคลื่อนที่สีขาว 1 เครื่อง ภายหลังจากเจ้าหน้าที่ขอตรวจดูโทรศัพท์แล้วพบว่ามีภาพจำเลยยืนชูธงแสดงสัญลักษณ์ในห้างดังกล่าว
จากนั้น เจ้าหน้าที่ได้นำตัวกาญจนาไปควบคุมที่ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลฯ โดยใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2559 มีการสอบปากคำในค่ายทหาร และให้กาญจนาเปิดโทรศัพท์ให้ พ.ท.ภราดร และ พ.ต.ท.ปราโมทย์ ชื่นตา รอง ผกก.(สอบสวน) สภ.เมืองอุบลฯ ที่เป็นผู้สอบดู กาญจนาได้เปิดช่องยูทูบของลุงสนามหลวง และกลุ่มไลน์ SSS112112 ที่ส่งภาพชูธงในเซ็นทรัลเข้าไป เจ้าหน้าที่ได้จัดทำบันทึกการให้ถ้อยคำไว้ด้วย
จากการสืบทราบของเจ้าหน้าที่พบว่า จำเลยอยู่ในกลุ่มไลน์ SSS112112 มีชูชีพ ชีวสุทธิ์ และปรีชา มหาชัย เป็นแอดมินกลุ่ม มีสมาชิก 60-70 คน กลุ่มนี้มีการพูดคุยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และเป็นกลุ่มไลน์เปิดซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถเข้าร่วมได้
ต่อมา วันที่ 11 ธ.ค. 61 มีคำสั่งให้นำตัวกาญจนาไปที่กองพันทหารราบ มณฑลทหารบกที่ 11 พ.ท.ภราดรจึงนำตัวกาญจนาไปส่ง และไปรับตัวกลับในวันที่ 14 ธ.ค. 61
ภายหลังพนักงานสอบสวน สภ.เมืองอุบลฯ จึงออกหมายเรียกกาญจนาให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ต่อมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีการตั้งวอร์รูมในคดีที่เกี่ยวกับสหพันธรัฐไท เนื่องจากเป็นการกระทำเชื่อมโยงหลายท้องที่และเป็นเรื่องความมั่นคง มี พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. เป็นหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน จึงมีการโอนคดีกาญจนาให้กองบังคับการปราบปรามเป็นผู้รับผิดชอบ
จากการรวบรวมพยานหลักฐาน คณะพนักงานสอบสวนมีความเห็นว่า จำเลยได้กระทำผิดในข้อหายุยงปลุกปั่น, เป็นอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, 209 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
"ตรวจโทรศัพท์หาข้อมูลโซเชียลมีเดีย"
โจทก์นำ พ.ต.ท.หญิง สมร ดีแสง หน่วยพิสูจน์หลักฐาน เข้าเบิกความถึงผลการตรวจพิสูจน์โทรศัพท์ของจำเลย เพื่อหาข้อมูลโซเชียลมีเดีย ซึ่งพบว่า จำเลยได้ลงทะเบียนไลน์บัญชีชื่อ Assasins พูดคุยกับบัญชี “พิศาล สิงขรานันท์”, “อุดมการณ์ไม่เปลี่ยน” และ “SSS112112” พบด้วยว่าในวันที่ 5 ธ.ค. 61 จำเลยได้สนทนากับ SSS112112 โดยส่งภาพจำเลยยืนถือธงสีขาวแดงเข้าไป พร้อมทั้งข้อความว่า “เซ็นทรัลอุบลฯ เหตุการณ์ปกติ คนใส่ดำเยอะมาก แต่ไม่มีกิจกรรมร่วมกัน” รวมทั้งส่งข้อความไปหา “อุดมการณ์ไม่เปลี่ยน” ว่า “อยู่เซ็นทรัลแล้วค่ะ” โดยมีข้อความตอบกลับมาว่า “ผมพาคนขึ้นปิ๊กอัพมาจาก อ.ตระการ มา 20 คน ใส่เสื้อดำแต่เข้าเมืองไม่ได้ ต้องตีกลับ” อีกข้อความเขียนว่า “น่าจะใส่เสื้อลายมาก่อนค่อยมาเปลี่ยนที่นี่”
นอกจากไลน์ เจ้าหน้าที่หน่วยพิสูจน์หลักฐานพบประวัติการดูยูทูบชื่อ “สหพันธรัฐไทกับ 3 ทหารเสือ” พบแฟ้มข้อมูลภาพ 373 รายการ และเสียง 8 รายการ ไม่พบข้อมูลวันที่เริ่มใช้งาน แต่มีข้อมูลวันที่ 2 ม.ค. 61 เป็นข้อมูลเก่าที่สุดในเครื่อง
“องค์การสหพันธรัฐไท” ปลุกระดมสวมเสื้อสีดำมีธงขาวแดงไปตามห้าง
โจทก์ยังนำ พ.ต.ท. แทน ไชยแสง กองบังคับการสันติบาล และ พ.ต.ท.เสวก บุญจันทร์ กองบังคับการปราบปราม พนักงานสอบสวนคดีสหพันธรัฐไทที่กรุงเทพฯ ซึ่งไม่เกี่ยวกับคดีนี้ มาเป็นพยานเบิกความเกี่ยวกับกลุ่มสหพันธรัฐไทตามที่ได้สืบสวนหาข่าวและดำเนินคดีมาก่อนหน้านี้ว่า
กลุ่มบุคคลที่หลบหนีไปต่างประเทศ ได้แก่ ชูชีพ ชีวสุทธิ์ หรือลุงสนามหลวง, วุฒิพงษ์ กชธรรมคุณ, สยาม ธีรวุฒิ, วัฒน์ วรรลยางกูร, กฤษณะ ทัพไทย และบุคคลอื่น ได้จัดตั้งกลุ่ม “องค์การสหพันธรัฐไท” มีแนวคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข เป็นระบอบสหพันธรัฐที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข มีการเผยแพร่แนวคิดผ่านทางยูทูบ “ลุงสนามหลวง”, เฟซบุ๊ก “ลุงสมชาย ป้าสมจิตร” และไลน์ “SSS112112”, “ปรีชา มหาชัย”
กลุ่มไลน์ SSS112112 ชูชีพจะคัดเลือกสมาชิกเข้ากลุ่มโดยการสอบถามแนวคิดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ จากนั้นมีการตั้งกลุ่มแยกเป็นมลรัฐ และจังหวัด 10 กลุ่ม ผู้เข้าเป็นสมาชิกจะได้เลขสมาชิก 8 หลัก หลักที่ 1-2 คือรหัสมลรัฐ, หลักที่ 3-4 คือรหัสจังหวัด และหลักที่ 5-8 คือรหัสสมาชิก
จากนั้น สมาชิกกลุ่มสหพันธรัฐไทได้เคลื่อนไหวเผยแพร่แนวความคิด โดยนำใบปลิวไปแจกตามมหาวิทยาลัย, ออกแบบเสื้อดำมีธงสัญลักษณ์ขาวแดงที่อกด้ายซ้ายเพื่อจำหน่าย รวมทั้งเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่ขอนแก่น
เดือน พ.ย. 61 มีการปลุกระดมสมาชิกให้สวมเสื้อสีดำมีธงขาวแดงไปในพื้นที่ที่มีคนจำนวนมาก เช่น ห้างสรรพสินค้า สถานีขนส่ง ในวันที่ 5 ธ.ค. เพื่อแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านสถาบันกษัตริย์
พยานสรุปว่า สมาชิกกลุ่มสหพันธรัฐแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม 1.ผู้ชี้นำทางความคิด 2.กลุ่มปฏิบัติการ-ใช้กำลัง ก่อให้เกิดความวุ่นวาย 3.กลุ่มสนับสนุน-แจกใบปลิว จัดทำเสื้อ สติ๊กเกอร์
ในคดีที่เกี่ยวกับสหพันธรัฐไทก่อนหน้านี้ ซึ่งมีนายกฤษณะ ทัพไทย กับพวกรวม 10 คน เป็นจำเลย จำเลย 4 ราย ที่ทำเสื้อ แจกใบปลิวและสติ๊กเกอร์ ศาลพิพากษายกฟ้องข้อหายุยงปลุกปั่น แต่ลงโทษจำคุก 3 ปี ในข้อหาอั้งยี่ โดยจำเลย 2 ราย ที่รับสารภาพในชั้นสอบสวน ได้รับการลดโทษเหลือจำคุก 2 ปี
"ไม่พบหลักฐานจำเลยร่วมประชุมกับแกนนำ"
อย่างไรก็ตาม แม้พยานเจ้าหน้าที่ฝ่ายโจทก์ชี้ว่า จำเลยจัดเป็นสมาชิกองค์การสหพันธรัฐไทกลุ่มที่ 3 คือกลุ่มผู้สนับสนุน โดยการ แจกใบปลิว ทำเสื้อหรือสติ๊กเกอร์ แต่ในการตอบถามค้านของทนายจำเลย พยานเจ้าหน้าที่รับว่า ไม่พบพยานหลักฐานว่า จำเลยได้ไปร่วมวางแผนกับบุคคลอื่น หรือร่วมดำเนินรายการลุงสนามหลวง หรือมีส่วนร่วมเคลื่อนไหวกับสมาชิกคนอื่นในการแจกสติ๊กเกอร์ ใบปลิว ขายเสื้อ หรือลักษณะอื่น ก่อนหน้าวันที่ 5 ธ.ค. 61 จำเลยก็ไม่เคยเคลื่อนไหวในลักษณะเดียวกับคดีนี้มาก่อน
เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานก็ตอบทนายจำเลยว่า ข้อมูลการสนทนาในไลน์ที่พยานตรวจสอบทั้งหมด ไม่ใช่การสนทนาในกลุ่มไลน์เลย รวมทั้งตามที่สันติบาลระบุว่า สมาชิกองค์การสหพันธรัฐไทจะต้องมีรหัสสมาชิกเป็นเลข 8 หลัก จากการตรวจพิสูจน์โทรศัพท์หาข้อมูลโซเชียลมีเดียวก็ไม่พบว่า จำเลยมีรหัสสมาชิกเป็นเลข 8 หลักดังล่าว และไม่ปรากฎข้อมูลการใช้เฟซบุ๊กของจำเลย
พนักงานสอบสวนในคดีตอบทนายจำเลยด้วยว่า จากการสอบปากคำจำเลย จำเลยให้การว่า เกษียณแล้ว มีเวลาว่างจึงเปิดยูทูบฟัง เคยติดตามฟังการปราศรัยของแกนนำทางการเมืองหลายกลุ่ม แต่ไม่ได้สนับสนุนกลุ่มการเมืองใด ที่สนใจฟังช่องลุงสนามหลวง เนื่องจากมีการพูดคุยถึงนโยบายการเรียนฟรี รักษาพยาบาลฟรี มีการบริหารจัดการงบประมาณและภาษีของตนเอง โดยพนักงานสอบสวนระบุว่า บุคคลทั่วไปสามารถเข้าไปดูยูทูบช่องลุงสนามหลวงได้ ไม่ได้เป็นความผิด และสหพันธรัฐเป็นรูปแบบการปกครองหนึ่ง โดยมีผู้นำเป็นประธานาธิบดีก็ได้ มีกษัตริย์เป็นประมุขก็ได้
"พยานไม่ทราบความหมายของธงมาก่อน และไม่พบความวุ่นวายหลังจากจำเลยชูธงขาวแดงที่ห้าง"
ร.ต.อ.ปัญญา ศรีวิสัย นายตำรวจซึ่งเป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้รับว่า ก่อนวันที่ 8 ธ.ค. 61 ตนไม่รู้เรื่องกลุ่มสหพันธรัฐไท และเพิ่งรู้ความหมายของธงขาวแดงเมื่อทหารมาแจ้ง และแม้พยานโจทก์จะให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ธงสีขาวแดง ไม่มีสีน้ำเงิน มีความหมายว่าไม่เอากษัตริย์ เป็นการแสดงเจตนาล้มล้างสถาบันฯ เป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร แต่ยอมรับกับทนายจำเลยว่า กาญจนาไปแสดงสัญลักษณ์ที่ห้างเซ็นทรัลเพียงคนเดียว ใช้เวลาเพียง 1 นาที ซึ่งบุคคลทั่วไปที่ผ่านไปมาในห้างคงไม่ทราบว่าธงขาวแดงที่จำเลยถือถ่ายรูปเป็นสัญลักษณ์ของอะไร และหลังจากจำเลยชูธงก็ไม่ได้ปรากฎเหตุการณ์วุ่นวายหรือเกิดความรุนแรงแต่อย่างใด
(https://tlhr2014.com/?p=22956)
-
วันที่: 09-09-2020นัด: สืบพยานโจทก์และพยานจำเลยหลังจากโจทก์นำพยานโจทก์เข้าเบิกความจนเสร็จสิ้น และแถลงหมดพยาน จำเลยเบิกความเป็นพยานให้ตนเองว่า เมื่อก่อนรับราชการครู ปัจจุบันเป็นข้าราชการบำนาญ โดยเกษียณมาแล้ว 10 ปี ปกติสนใจความเป็นไปของบ้านเมือง ติดตามการเมืองมาตลอด โดยการฟังวิทยุขณะทำงานบ้าน จำเลยจำไม่ได้ว่าได้ยินเรื่องสหพันธรัฐไทตั้งแต่เมื่อไหร่ เนื้อหาของกลุ่มบอกว่าอยากปกครองแบบสหพันธรัฐ ซึ่งจะมีการบริหารจัดการได้ดีกว่าที่เป็นอยู่
จำเลยได้โทรศัพท์มาจากหลาน จึงใช้ฟังยูทูบ และหัดเล่นไลน์ โดยให้ร้านสมัครให้ เพื่อใช้ติดต่อเพื่อน ชื่อไลน์ Assassin เป็นชื่อหนังที่หลานชอบ ร้านเห็นมีภาพอยู่ในเครื่อง จึงถามจำเลยว่าใช้ชื่อนี้ได้หรือไม่
จำเลยไปที่ห้างเซ็นทรัลอุบลฯ เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 61 เนื่องจากอยากรู้อยากเห็นว่า เขาไปทำอะไรกัน ที่เอาธงไปด้วยเนื่องจากในยูทูบบอกว่าให้ทำธงไป ไปถึงเซ็นทรัลก่อนเที่ยง ไม่เจอใครจึงไปกินข้าว เมื่อเดินไปเจอต้นคริสมาสต์จึงนำธงออกมาถ่ายรูป โดยให้คนที่เดินอยู่แถวนั้นถ่ายให้และไม่ได้พูดจากับคนอื่นอีก แล้วส่งรูปให้เพื่อนทางไลน์ มีพิศาล สิงขรานันท์, อุดมการณ์ไม่เปลี่ยน และ SSS112112
พิศาลเป็นเพื่อนของจำเลยสมัยเรียนประถม พบกันที่งานเลี้ยงศิษย์เก่าจึงชวนพิศาลไปดูที่เซ็นทรัลในวันที่ 5 ธ.ค. 61 พิศาลบอกว่าไปแล้วไม่เจอใครจึงกลับ จำเลยจึงบอกพิศาลว่าไปมาแล้วเช่นกันและส่งรูปให้ดู ส่วนคนชื่อ อุดมการณ์ไม่เปลี่ยน บอกว่าเป็นคนอุบลฯ แต่จำเลยไม่เคยรู้ว่าเป็นใคร เพราะวันดังกล่าวเขาไม่ได้มา จำเลยจึงส่งรูปให้เขาไป ในส่วน SSS112112 เป็นไลน์ ID ที่ขึ้นอยู่ในช่องยูทูบ โดยบอกว่าหากอยากคุยกับคนกลุ่มนี้ให้แอดไป จำเลยจึงแอดไป แต่ไม่มีการตอบกลับมา จำเลยจึงไปส่งภาพไปให้บอกว่าไปมาแล้ว แต่ไม่ทราบว่าไอดีดังกล่าวอ่านหรือไม่ เพราะโทรศัพท์ถูกยึดไปตอนถูกจับกุม
ในวันเกิดเหตุจำเลยใส่เสื้อลายเขียวเหลือง มีแจคเกตกันแดดสีดำสวมเมื่อขับขี่มอเตอร์ไซต์ เป็นเสื้อที่ได้รับแจกมาจากศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงมหาดไทย ซึ่งจำเลยเป็นวิทยากรโครงการของศูนย์ฯ
จำเลยฟังยูทูบของลุงสนามหลวงเพื่อติดตามการเมือง แต่ถ้าถามว่าชอบหรือคล้อยตามหรือไม่ จำเลยรู้สึกเฉยๆ เนื่องจากเห็นว่า การปกครองแบบไหนก็มีข้อบกพร่องเหมือนกัน
จำเลยยังเบิกความว่า ถูกพาตัวไปซักถามที่โรงพัก ก่อนถูกพาตัวเข้าค่ายทหาร 2 รอบ ระบุว่า วันที่ 8 ธ.ค. 61 มีชายฉกรรจ์เกือบ 30 คน มาหาที่บ้าน โดยเอาภาพจำเลยแต่ไม่ใช่ภาพชูธงที่เซ็นทรัลมาให้ดู – ถามว่าใช่ตนหรือไม่ เมื่อรับว่าใช่ก็ถูกนำตัวไป สภ.เมืองอุบลฯ ทันที ตำรวจให้เล่าว่าทำกิจกรรมนี้อย่างไร จากนั้นพาจำเลยกลับไปเอาธงที่บ้าน แล้วควบคุมตัวกลับไปสอบสวนที่ สภ.เมืองอุบลฯ อีกจนถึง 4 โมงเย็น ก่อนจำเลยถูกนำตัวไปค่ายสรรพสิทธิ์ประสงค์ โดยมีทหารสองนายมาพูดคุยด้วย ทั้งที่ สภ.และในค่ายทหาร เจ้าหน้าที่เอาเอกสารมาให้เซ็น แต่จำเลยไม่ได้อ่านข้อความ เซ็นไปตามที่ทนายบอกเพราะกำลังตกใจ และไม่ได้กินข้าว
ตลอดการควบคุมตัวในค่ายทหาร มีทหารมาคุยด้วยตลอด จนถึงวันที่ 11 ธ.ค. 61 ทหารก็พามาส่งที่บ้าน แต่วันที่ 12 ธ.ค. พ.ท.ภราดร ก็มานำตัวจำเลยไป มทบ.11 โดยมีทหารมาสอบปากคำ แต่ไม่ได้บอกว่าจะดำเนินคดีหรือไม่ จนเช้าวันที่ 14 ธ.ค. 61 พ.ท.ภราดรมารับไปที่ส่งบ้าน พร้อมบอกว่า ไม่เป็นไรแล้วนะ
ในเวลาต่อมามีหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งจำเลยปฎิเสธเพราะคิดว่าไม่ได้ทำอะไรผิด การไปชูธงถ่ายรูปสวยๆ ส่งให้เพื่อนดูไม่น่าจะผิดอะไร จำเลยเห็นว่าธงขาวแดง มีความหมายดี สีแดงคือชาติประชาชน สีขาวคือความยุติธรรมที่ประคับประคองประชาชน
ทั้งนี้ จำเลยได้ตอบคำถามของอัยการว่า ที่ตนให้ถ้อยคำไว้กับตำรวจว่า เป็นสมาชิกกลุ่มไลน์ SSS112112 แต่ออกไปแล้วนั้น เป็นการสรุปเองของตำรวจว่าจำเลยเป็นสมาชิก ซึ่งไม่ถูกต้อง
บรรยากาศระหว่างการสืบพยาน: หากมีการเผยแพร่เรื่องการพิจารณา และเป็นความผิดต้องรับผิดชอบเอง
ในวันแรกของการสืบพยาน ศาลเรียกผู้สังเกตการณ์จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยืนขึ้นและสอบถาม ว่าเป็นใคร มาทำอะไร และกล่าวเตือนว่า ให้สังเกตการณ์อย่างเดียว อย่าแอบอัดเสียง พร้อมทั้งกล่าวว่า หากไม่ใช่คู่ความ ปกติไม่อนุญาตให้เข้าฟังการพิจารณา โดยเฉพาะคดีนี้เป็นคดีอ่อนไหว ศาลจะสั่งพิจารณาลับก็ได้ แต่ไม่สั่ง ผู้สังเกตการณ์จึงถามศาลเพื่อความชัดเจนว่า ให้จดบันทึกได้หรือไม่ ผู้พิพากษาตอบว่า จดได้ แต่ห้ามเผยแพร่ ภายหลังจึงกล่าวว่า หากมีการเผยแพร่ และเป็นความผิดก็ต้องรับผิดชอบเอง
ตลอดการพิจารณา ศาลคัดค้านการถามค้านของทนายจำเลยหลายครั้ง โดยเฉพาะในช่วงที่ทนายจำเลยพยายามถามเกี่ยวกับแรงจูงใจและการหายไปของกลุ่มผู้จัดรายการสหพันธรัฐไท โดยระบุว่า ไม่เกี่ยวกับจำเลย และไม่บันทึกบางคำถามของทนายจำเลย เช่น คำถามเกี่ยวกับการใส่เสื้อสีดำ ในวันที่ 5 ธ.ค.
(https://tlhr2014.com/?p=22956)
-
วันที่: 05-11-2020นัด: ฟังคำพิพากษาหลังการจับกุมดำเนินคดีกาญจนาเกือบ 2 ปี ศาลจึงมีคำพิพากษาในคดีนี้ คำพิพากษามีเนื้อหาโดยสรุปว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานเป็นอั้งยี่หรือไม่ แม้พยานหลักฐานของโจทก์จะปรากฏว่า จำเลยเป็นสมาชิกกลุ่มไลน์ของกลุ่มสหพันธรัฐไท แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยเป็นแกนนำหรือสมาชิกของกลุ่มสหพันธรัฐไท ทั้งยังไม่ปรากฏว่าจำเลยมีรหัสสมาชิกกลุ่มดังกล่าว อีกทั้งกลุ่มไลน์ดังกล่าวนอกจากจำเลยยังมีสมาชิกอื่นอีก 60-70 คน ไม่ปรากฏว่า ตำรวจได้จับกุมคนอื่น แสดงว่าตำรวจไม่ได้มองว่าการเป็นสมาชิกกลุ่มไลน์เป็นความผิด
การที่จำเลยไปชูธงสีขาวแดงในห้างเซ็นทรัล จ.อุบลฯ พฤติการณ์เป็นเพียงคล้อยตามการชักจูงของแกนนำ โดยจำเลยไปทำเพียงคนเดียว ซึ่งคนอื่นๆ ก็ไปทำในลักษณะเดียวกันได้ การไปชูธงในห้างเซ็นทรัลจึงไม่อาจยืนยันว่าเป็นสมาชิกของกลุ่มสหพันธรัฐไท แม้การสืบสวนของสันติบาลจะระบุว่า สมาชิกของกลุ่มสหพันธรัฐไทแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้เสนอความคิด 2.ฝ่ายปฏิบัติการณ์ 3.ผู้สนับสนุน จัดหาอุปกรณ์ เช่น การทำสติ๊กเกอร์ หรือธง หรือเอกสาร โดยลักษณะของจำเลยจัดเป็นกลุ่มที่ 3 แต่ในวันเกิดเหตุจำเลยไปชูธงที่ห้างเซ็นทรัลโดยไม่ปรากฏว่าทำอย่างอื่นตามหน้าที่ของสมาชิกกลุ่มที่ 3 และไม่ปรากฏว่าจำเลยนำธงไปจ่ายแจกสมาชิกคนอื่น การที่จำเลยมีธง 15 ผืน ไม่ได้เพียงพอจะบ่งชี้ว่า จำเลยจะนำไปจำหน่ายจ่ายแจก ศาลไม่อาจตีความให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยได้ ต้องฟังพยานหลักฐานอื่นประกอบให้แน่ชัด เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมานำสืบ จึงไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยมีความผิดฐานเป็นอั้งยี่
ในส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 โจทก์นำสืบเพียงว่า เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 61 จำเลยใส่เสื้อดำไปที่ห้างเซ็นทรัลอุบลฯ ชูธงสีขาวแดง และบันทึกภาพส่งไปในกลุ่มไลน์ ไม่ปรากฏว่าจำเลยใช้กำลังข่มขืนใจผู้อื่น ประทุษร้าย หรือยุยงปลุกปั่นประชาชนให้กระด้างกระเดื่องจนถึงขั้นก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยมีความผิดฐาน ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116
สำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 ต้องเป็นการนำเข้า เผยแพร่ หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา เมื่อการกระทำของจำเลยที่ใส่เสื้อดำไปที่ห้างเซ็นทรัลอุบลฯ ชูธงสีขาวแดง และบันทึกภาพส่งไปในกลุ่มไลน์ ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 จึงไม่อาจถือว่า การโพสต์ภาพขณะจำเลยชูธงขาวแดงเข้าไปในกลุ่มไลน์และส่งต่อ เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
พิพากษายกฟ้อง
(อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2537/2562 คดีหมายเลขแดงที่ อ.2459/2563 ลงวันที่ 15 ก.พ. 2564 และ https://tlhr2014.com/?p=22956) -
วันที่: 15-02-2021นัด: อัยการยื่นอุทธรณ์ศิษฐา วงศ์สุเมธ พนักงานอัยการอาวุโส สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลสูง 1 ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ระบุว่า
“โจทก์เห็นพ้องด้วยกับคําพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษายกฟ้องจําเลย ไม่ติดใจอุทธรณ์ในส่วนนี้ แต่ที่ศาลชั้นต้นไม่ได้วินิจฉัยในเรื่องของกลางว่าจะริบหรือไม่ประการใด โจทก์ขออุทธรณ์คัดค้านว่าเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186(9) จึงขอศาลอุทธรณ์ได้โปรดพิจารณาและพิพากษาแก้คําพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นให้สั่งริบของกลางตามคําขอท้ายฟ้องโจทก์ด้วย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 นอกนั้นให้เป็นไปตามคําพิพากษาของศาลชั้นต้น”
(อ้างอิง: อุทธรณ์ของโจทก์ ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2537/2562 คดีหมายเลขแดงที่ อ.2459/2563 ลงวันที่ 15 ก.พ. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/40141) -
วันที่: 08-04-2021นัด: จำเลยยื่นแก้อุทธรณ์ทนายความของกาญจนาได้ยื่นแก้อุทธรณ์ของพนักงานอัยการ 2 ประเด็น โดยระบุว่า
โจทก์ขอให้ศาลสั่ง “ริบธงสีขาวแดงจำนวน 15 ผืน และโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้อวีโว่ สีขาว จำนวน 1 เครื่อง ของกลางด้วย” จำเลยเห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ไม่ได้พิพากษาริบของกลางทั้งสองรายการเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยทุกข้อหา และโจทก์ไม่ได้ติดใจอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าว คดีจึงสิ้นสุดแล้วว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 เป็นอั้งยี่ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
ดังนั้น ทรัพย์ของกลางทั้งสองรายการที่โจทก์ขอให้ริบตามคำขอท้ายฟ้อง จึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือทรัพย์สินที่ได้มาโดยได้กระทำความผิดแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ของกลางที่โจทก์อุทธรณ์ให้ศาลมีคำสั่งริบนั้น โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือยี่ห้อวีโว่สีขาวของจำเลย เป็นทรัพย์สินที่จำเลยมีความจำเป็นต้องใช้ติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวัน อีกทั้งตามมาตรา 19 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ ยังกำหนดว่า “…พนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งยึดหรืออายัดไว้เกินสามสิบวันมิได้” ดังนั้นการยึดโทรศัพท์มือถือซึ่งมีกฎหมายเฉพาะกำหนดไว้ จึงต้องบังคับตามกฎหมายเฉพาะ กล่าวคือเมื่อสำเนาข้อมูลในโทรศัพท์มือถือแล้วให้คืนแก่เจ้าของภายใน 30 วัน
(อ้างอิง: คำแก้อุทธรณ์ของจำเลย ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2537/2562 คดีหมายเลขแดงที่ อ.2459/2563 ลงวันที่ 8 เม.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/40141) -
วันที่: 02-02-2022นัด: ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เวลา 09.15 น. ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ยกฟ้องอุทธรณ์ของอัยการโจทก์ โดยวินิจฉัยว่า เนื่องจากคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องในฐานความผิดตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 116, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 เป็นอั้งยี่ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 ของกลางโทรศัพท์มือถือและธงที่ถูกยึดจึงไม่ใช่ของที่ใช้ในการกระทำความผิด ไม่สามารถริบไว้ได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ให้คืนของกลางแก่จำเลย
(อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/40141)
สถานะ การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว หรือ ผลการพิพากษา
ชั้นสอบสวน
ผู้ถูกดำเนินคดี :
กาญจนา
พฤติการณ์ของบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับตำรวจหรือผู้ต้องหาระหว่างการสอบสวน :
นางกาญนา เคยถูกควบคุมตัวที่มณฑลทหารบกที่ 22 จ.อุบลฯ และมณฑลทหารบกที่ 11 ในระหว่างถูกควบคุมหลายวันดังกล่าวนั้น เธอถูกเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจสอบปากคำหลายครั้ง โดยในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนได้นำบันทึกคำให้การ 4 แผ่น ที่จัดทำขณะถูกควบคุมตัวในค่ายทหารมาให้เธอลงชื่อยืนยันเป็นคำให้การในชั้นสอบสวน แต่เธอไม่ยืนยัน
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
ศาลชั้นต้น
ผู้ถูกดำเนินคดี :
กาญจนา
ผลการพิพากษา
ยกฟ้อง
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ :
05-11-2020
แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์