ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • การชุมนุม
  • พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ 2558
ดำ อ. 713/2563
แดง อ. 520/2564

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.จีรุฏฐ์ พิมพา รอง ผกก.สืบสวน สภ.เมืองนครพนม (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • การชุมนุม
  • พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ 2558

หมายเลขคดี

ดำ อ. 713/2563
แดง อ. 520/2564
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.จีรุฏฐ์ พิมพา รอง ผกก.สืบสวน สภ.เมืองนครพนม

ความสำคัญของคดี

พิศาล บุพศิริ อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ จ.นครพนม ซึ่งเป็นผู้โพสต์เชิญชวนคนเข้าร่วมกิจกรรม "วิ่งไล่ลุง" ใน จ.นครพนม และเข้าร่วมวิ่งด้วย ถูกดำเนินคดีในข้อหา จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 10, 14 พิศาลให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยยืนยันว่า กิจกรรมดังกล่าวเป็นเพียงการออกกำลังกาย ไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ในระหว่างการสืบพยานในชั้นศาลพิศาลยังได้ยื่นคำร้องขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรามาตรา 10, 14 และ 28 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

หลังการต่อสู้คดีเกือบ 2 ปี แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 10, 14 และ 28 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่ศาลจังหวัดนครพนมพิพากษายกฟ้องคดีนี้ ระบุว่าพิศาลเพียงแต่โพสต์เชิญชวน ไม่มีพฤติการณ์ใดๆ ที่ทำให้เห็นว่าเป็นผู้จัดการชุมนุมครั้งดังกล่าว

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

พนักงานอัยการจังหวัดนครพนมยื่นฟ้องพิศาลโดยระบุพฤติการณ์ว่า เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2563 จำเลยได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันชุมนุมว่า “วิ่งไล่ลุง 12 มกราคม 2020 นครพนมกะแลนนำเดียว เวลา 06.00 น. ณ ลานพญาศรีสัตตนาคราช #มาพ้อกันเด้อ” ต่อมา เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2563 จำเลยได้จัดการชุมนุมสาธารณะที่ลานพญาศรีสัตตนาคราช ต.ในเมือง อ.เมืองนครพนม อันเป็นที่สาธารณะที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน และมีการแสดงออกทางการเมืองโดยเรียกร้องให้มีการดำเนินการตามข้อเรียกร้อง อันเป็นการแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป และบุคคลอื่นสามารถเข้าร่วมในการชุมนุมได้ จึงเป็นการชุมนุมสาธารณะและจำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อหัวหน้าสถานีตำรวจท้องที่ก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง จึงเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ได้รับการยกเว้นใดๆ ตามกฎหมาย

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดนครพนม คดีหมายเลขดำที่ อ.713/2563 ลงวันที่ 20 ก.พ. 2563)

ความคืบหน้าของคดี

  • พิศาล บุพศิริ อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เขต 4 จ.นครพนม เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.เมืองนครพนม หลังพนักงานสอบสวนออกหมายเรียกผู้ต้องหา ลงวันที่ 16 ม.ค. 2563 จากเหตุที่ พ.ต.ท.จีรุฏฐ์ พิมพา กล่าวหาว่า พิศาลจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุม

    จากนั้น พ.ต.ท.คำดี เฮียงบุญ รอง ผกก.(สอบสวน) สภ.เมืองนครพนม ได้แจ้งข้อกล่าวหาพิศาลว่า จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 โดยพิศาลให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และนัดหมายจะส่งคำให้การโดยละเอียดเป็นเอกสารในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ทั้งนี้ พ.ต.ท. คำดี ระบุว่า คณะพนักงานสอบสวนจะสรุปสำนวนการสอบสวนส่งให้อัยการภายในวันที่ 5 ก.พ. 2563

    พิศาลกล่าวในภายหลังว่า การที่เขายืนยันปฏิเสธ เท่ากับเป็นการต่อสู้ในหลักการ เนื่องจากกิจกรรมดังกล่าวไม่ใช่การชุมนุมเป็นเพียงการออกกำลังกาย แม้ในวันดังกล่าวมีการอ่านแถลงการณ์แต่ก็เป็นไปโดยสงบ ถือเป็นเสรีภาพในการแสดงออกโดยสันติ ซึ่งเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ

    (อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=15603)
  • พิศาลเข้ายื่นคำให้การโดยละเอียดเป็นเอกสารต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองนครพนม โดยยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และให้การเพิ่มเติมในประเด็นดังต่อไปนี้

    1. ข้าพเจ้าไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุมตามที่กล่าวหาแต่อย่างใด โพสต์ของข้าพเจ้าในเฟซบุ๊กนั้นเป็นการบอกว่าข้าพเจ้าประสงค์ไปวิ่งออกกำลังกาย มิใช่การเชิญชวนให้มาชุมนุมทางการเมือง และเมื่อถึงวันที่ 12 มกราคม 2563 ตามข้อกล่าวหา ข้าพเจ้าก็ออกไปวิ่งออกกำลังกาย ทั้งการออกไปวิ่งข้าพเจ้าก็วิ่งในบริเวณสวนสาธารณะ ที่มีประชาชนบุคคลทั่วไปมาออกกำลังกายกันเป็นปกติอยู่แล้ว ไม่ได้กีดขวางการจราจร ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ใด

    2. กิจกรรมวิ่งไล่ลุงเป็นการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการแสดงออกโดยสุจริต และเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายตามพันธกรณีระหว่างประเทศ และตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงไม่เป็นความผิดต่อกฎหมายตามที่ถูกกล่าวหา

    3. การแจ้งความดำเนินคดีและการสอบสวนในคดีนี้จึงเป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมและกระบวนการทางกฎหมายเป็นเครื่องมือในการขจัดหรือยับยั้งฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็นหรือตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล

    (อ้างอิง: คำให้การเพิ่มเติม ลงวันที่ 3 ก.พ. 2563)

  • พ.ต.ท.คำดี เฮียงบุญ รอง ผกก.(สอบสวน) สภ.เมืองนครพนม นัดหมายพิศาล บุพศิริ อดีตผู้สมัคร ส.ส. จ.นครพนม พรรคอนาคตใหม่ เข้ารายงานตัว เพื่อส่งตัวพร้อมสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการจังหวัดนครพนม หลังคณะพนักงานสอบสวนสรุปสำนวนและมีความเห็นควรสั่งฟ้องพิศาลในข้อหา จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่ก่อนเริ่มการชุมนุม ตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558

    หลังพนักงานอัยการได้รับสำนวนการสอบสวน ได้นัดหมายพิศาลให้มาฟังผลการพิจารณาของอัยการว่าจะมีคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 14 ก.พ. ที่จะถึงนี้ ซึ่งหากอัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง ก็จะยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดนครพนมในวันเดียวกันนั้นเลย 

    "ผมมองว่า ตำรวจในพื้นที่ไม่อยากจะสั่งฟ้อง แต่ก็มีความลำบากใจ หากอัยการจะสั่งฟ้องอีก ผมก็ไม่แปลกใจ เพราะตามความเห็นของผม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เป็นเครื่องมือของเผด็จการ ที่จะทำให้ประชาชนหวาดกลัว จำยอม ไม่กล้าลุกมาแสดงความเห็นหรือแสดงออก ทั้งที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน การที่มีคนหลายคนถูกดำเนินคดีทั้งที่แค่ออกมาวิ่งและแสดงความอึดอัดใจต่อรัฐบาล ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ดี อนาคตทุกฝ่ายต้องผลักดันกฏหมายที่รับรองสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ด้วยกันอย่างเท่าเทียม" พิศาลให้ความเห็นหลังออกจากสำนักงานอัยการ

    พิศาลจึงเป็นผู้ต้องหาคนแรกที่พนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้อง และส่งตัวให้อัยการ ในจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหา “ไม่แจ้งการชุมนุม” จากกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” 6 ราย ใน 6 จังหวัด ที่ให้การปฏิเสธ ยืนยันต่อสู้คดี

    ทั้งนี้ ผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาเดียวกันนี้ จากกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” อีก 5 ราย ใน 5 จังหวัด คือ พิษณุโลก ลำพูน สุรินทร์ ยโสธร และตรัง ให้การรับสารภาพ โดยถูกเปรียบเทียบปรับในชั้นตำรวจ 4 ราย และศาลมีคำพิพากษาให้ปรับ 1 ราย ขณะที่มีผู้ถูกออกหมายเรียกที่จังหวัดเชียงรายและกาฬสินธุ์อีก 6 ราย ที่ยังไม่ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งหากรวมแล้วจะมีผู้ถูกดำเนินคดีในฐานะเป็นผู้จัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุม รวม 17 ราย ใน 13 จังหวัด

    อย่างไรก็ตาม ข้อหาไม่แจ้งการชุมนุม หากถูกตำรวจและอัยการสั่งฟ้อง และถูกศาลตัดสินว่า กิจกรรมวิ่งไล่ลุง เป็นการชุมนุมสาธารณะที่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ โดยที่จำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุมตามที่ถูกกล่าวหาจริง มาตรา 28 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กำหนดโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ไม่มีอัตราโทษจำคุกแต่อย่างใด และในคดีที่ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนเคยให้ความช่วยเหลือทางคดี ศาลเคยสั่งปรับในอัตรา 1,000 - 3,000 บาท 

    (อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=15988)
  • พิศาลเข้ารายงานตัวและฟังคำสั่งอัยการ แต่อัยการยังไม่มีผลการพิจารณาคดีว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ และนัดหมายอีกครั้งในวันที่ 20 ก.พ. 63
  • พนักงานอัยการจังหวัดนครพนมมีความเห็นสั่งฟ้องพิศาล บุพศิริ อดีตผู้สมัคร ส.ส. จ.นครพนม พรรคอนาคตใหม่ ในข้อหา จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่ก่อนเริ่มการชุมนุม ตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 จากกรณีที่พิศาลโพสต์เฟซบุ๊กว่า “วิ่งไล่ลุง 12 ม.ค. 2020 นครพนมกะแล่นนำเดียว เวลา 06.00 น. ณ ลานพญาศรีสัตตนาคราช #มาพ้อกันเด้อ” และเข้าร่วมวิ่งในวันดังกล่าวพร้อมกับจังหวัดอื่นๆ ที่มีการจัดกิจกรรมในลักษณะเดียวกัน

    วันเดียวกันนี้ พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องพิศาลในข้อหาดังกล่าว ต่อศาลจังหวัดนครพนม โดยคำฟ้องระบุพฤติการณ์ที่เป็นเหตุแห่งการดำเนินคดีว่า "เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2563 เวลากลางวัน จำเลยได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันชุมนุมว่า “วิ่งไล่ลุง 12 มกราคม 2020 นครพนมกะแลนนำเดียว เวลา 06.00 น. ณ ลานพญาศรีสัตตนาคราช #มาพ้อกันเด้อ” ต่อมา เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2563 เวลากลางวัน จำเลยได้จัดการชุมนุมสาธารณะที่ลานพญาศรีสัตตนาคราช ต.ในเมือง อ.เมืองนครพนม อันเป็นที่สาธารณะ และมีการแสดงออกทางการเมืองโดยเรียกร้องให้มีการดำเนินการตามข้อเรียกร้อง อันเป็นการแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป และบุคคลอื่นสามารถเข้าร่วมในการชุมนุมได้ จึงเป็นการชุมนุมสาธารณะและจำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อหัวหน้าสถานีตำรวจท้องที่ก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง จึงเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ได้รับการยกเว้นใดๆ ตามกฎหมาย"

    10.35 น. หลังศาลประทับรับฟ้อง พิศาลถูกควบคุมตัวเข้าห้องขังใต้ถุนศาล ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกัน ระบุเหตุผลว่า ข้อหา เป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะไม่แจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุมตามมาตรา 10 พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ที่โจทก์ฟ้องจำเลยนั้น มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท อันเป็นความผิดลหุโทษที่มีโทษปรับสถานเดียว ซึ่งศาลสามารถใช้ดุลพินิจปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยโดยไม่มีหลักประกัน ให้เป็นไปตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการเรียกประกันหรือหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2548 ข้อ 5.1 ได้ โดยจำเลยยินดีปฏิญาณตนว่าจะมาตามนัดหรือคำสั่งของศาล และปฏิบัติตามคำสั่งศาลอย่างเคร่งครัด

    ต่อมา ศาลเบิกตัวจำเลยมายังห้องพิจารณาคดี อ่านฟ้องให้ฟัง แจ้งสิทธิของจำเลย และประโยชน์ทางคดีหากให้การถูกต้อง เช่น หากทำจริงตามฟ้อง และให้การรับสารภาพ ก็จะได้ลดโทษ รวมทั้งได้รับอภัยโทษตามวาระต่างๆ จากนั้น ศาลถามคำให้การเบื้องต้น ซึ่งพิศาลยืนยันให้การปฏิเสธว่า ไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุมตามฟ้อง อย่างไรก็ตาม ศาลนัดสอบคำให้การอย่างเป็นทางการอีกครั้ง และตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 9 มี.ค. 2563 เวลา 9.00 น.

    เวลา 13.50 น. ศาลจังหวัดนครพนมมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวพิศาลโดยไม่มีหลักประกันตามที่ทนายจำเลยยื่นคำร้อง แต่ให้พิศาลสาบานตนว่าจะมารายงานตัวต่อศาลตามนัด จากนั้น พิศาลได้รับการปล่อยตัวในเวลา 14.30 น. รวมถูกควบคุมตัวเป็นเวลา 4 ชม. โดยเจ้าหน้าที่ศาลนำไปสาบานตัวที่หน้าโต๊ะหมู่บูชาประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ ร.10 บริเวณประตูทางเข้าอาคารศาล

    ล่าสุด ตัวเลขผู้ถูกกล่าวหา “ไม่แจ้งการชุมนุม” จากกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” พุ่งเป็น 18 ราย รวม 14 คดี ทั้งนี้ มี 13 ราย ที่ยืนยันขอต่อสู้คดี และพิศาลเป็นรายแรกที่อัยการยื่นฟ้องต่อศาล มีข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ผู้ร่วมกิจกรรมวิ่งไล่ลุงที่นครพนมอีกรายก็ได้รับหมายเรียกให้ไปพิมพ์ลายนิ้วมือแล้ว แต่ยังไม่ชัดเจนว่าตำรวจจะดำเนินคดีหรือไม่

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดนครพนม คดีหมายเลขดำที่ อ.713/2563 ลงวันที่ 20 ก.พ. 2563 และ https://www.tlhr2014.com/?p=16090)
  • นัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐาน หลังศาลอ่านคำฟ้องและถามคำให้การ พิศาลยืนยันให้การปฏิเสธ เนื่องจากไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง โดยได้ยื่นคำให้การเป็นเอกสารต่อศาลด้วย

    จากนั้นโจทก์ได้แถลงขอนำพยานเข้าสืบรวม 6 ปาก ประกอบด้วย ตำรวจผู้กล่าวหา 1 ปาก พนักงานสอบสวน 2 ปาก ตำรวจผู้ตรวจสอบเฟซบุ๊กของจำเลย 1 ปาก และผู้เข้าร่วมกิจกรรม 2 ปาก ใช้เวลาสืบพยาน 1 นัด พร้อมกันนี้อัยการยังนำส่งพยานเอกสารอีก 4 ฉบับ

    ฝ่ายจำเลยแถลงถึงแนวทางในการต่อสู้คดีว่า การกระทำของจำเลยไม่ได้อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ตามฟ้องโจทก์ และแถลงจะนำพยานเข้าสืบ 2 ปาก คือ ตัวจำเลย และ ผศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายชุมนุมสาธารณะ ใช้เวลาสืบครึ่งนัด และได้ยื่นพยานเอกสารรวม 4 ฉบับ ได้แก่ ข่าวเว็บไซต์ประชาสัมพันธ์การวิ่ง, ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน, กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และความเห็นทั่วไปหมายเลข 34 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

    กำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยในวันที่ 7-8 พ.ค. 2563

    ทั้งนี้ เดิมอัยการได้ยื่นบัญชีระบุพยานบุคคลรวม 10 ปาก แต่หลังจากโจทก์และฝ่ายจำเลยตรวจพยานหลักฐานที่แต่ละฝ่ายยื่นต่อศาลแล้ว ฝ่ายจำเลยรับคำให้การของพยานโจทก์รวม 4 ปาก ที่เกี่ยวกับการแจ้งการชุมนุม เนื่องจากจำเลยไม่ได้ต่อสู้ในประเด็นว่า มีการแจ้งการชุมนุมหรือไม่ โดย 3 ปาก เป็นตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในช่วงก่อนการจัดกิจกรรมที่ให้การยืนยันว่า ไม่มีการแจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชม. และอีกปากเป็นพนักงานสอบสวนที่สอบสวนตำรวจทั้งสามปากดังกล่าว ทำให้อัยการไม่ต้องนำพยานทั้ง 4 ปาก มาเบิกความต่อศาล

    กิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” จ.นครพนม ที่เป็นเหตุในการดำเนินคดีนั้น จัดขึ้นในวันที่ 12 ม.ค. 2563 เวลาประมาณ 6.00 น. มีผู้เข้าร่วมประมาณ 15 คน ออกวิ่งจากบริเวณลานพญาศรีสัตตนาคราชไปตามทางสำหรับเดิน-วิ่งออกกำลังกายเลียบริมแม่น้ำโขง โดยมีเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้าสังเกตการณ์และถ่ายรูปกิจกรรมร่วมร้อยนาย ก่อนวิ่งมีการอ่านแถลงการณ์ถึงรัฐบาล แต่ขณะจะเริ่มวิ่ง ตำรวจ สภ.เมืองนครพนม ได้นำประกาศให้เลิกการชุมนุมภายใน 08.00 น. มาให้ ระบุว่า เป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่แจ้งชุมนุม

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดนครพนม คดีหมายเลขดำที่ อ.713/2563 ลงวันที่ 9 มี.ค. 2563 และ https://www.tlhr2014.com/?p=16396)

  • เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ศาลจึงให้เลื่อนนัดสืบพยานไปเป็นวันที่ 11-12 มิ.ย. 2563
  • 11-12 มิ.ย. 2563 ศาลจังหวัดนครพนมนัดสืบพยาน โดยก่อนเริ่มสืบพยาน จำเลยอาศัยอำนาจตามมาตรา 212 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 10 วรรคสอง, 14, 28 ซึ่งเป็นกฎหมายที่จะใช้บังคับกับจำเลยในคดีนี้ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26, มาตรา 34 และมาตรา 44 หรือไม่ และให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

    อัยการโจทก์นำพยานเข้าสืบรวม 5 ปาก ได้แก่ ประกอบ วงศ์พันธ์ เกษตรกรอำเภอโพนสวรรค์ ผู้เข้าร่วมกิจกรรม, พ.ต.ท.นราธิป ชัยคำภา สวป.ผู้ตรวจสอบเฟซบุ๊กของจำเลย, พ.ต.ท.จีรุฏฐ์ พิมพา รอง ผกก.สืบสวน สภ.เมืองนครพนม ผู้กล่าวหา, พ.ต.ท.คําดี เฮียงบุญ และ ร.ต.อ.ชม ชูรัตน์ พนักงานสอบสวน มีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้

    ++พยานโจทก์รับว่า จำเลยไม่มีพฤติการณ์อื่นที่แสดงว่าเป็นผู้จัดชุมนุม++

    พ.ต.ท.จีรุฏฐ์ และ พ.ต.ท.คำดี เบิกความสอดคล้องกันว่า ที่แจ้งความและดำเนินคดีจำเลย เนื่องจากจำเลยโพสต์เชิญชวนให้ผู้อื่นมาร่วมวิ่งในกิจกรรมนี้ แม้จำเลยไม่ได้ระบุในโพสต์ว่าเป็นผู้จัด รวมทั้งไม่มีกําหนดการหรือคําแถลงการณ์

    ทั้งนี้ พยานตำรวจทั้งสองรวมทั้งผู้ร่วมกิจกรรมต่างรับว่า จำเลยไม่มีพฤติการณ์อื่นใดที่แสดงว่าเป็นผู้จัดกิจกรรมดังกล่าว เพียงแต่ร่วมวิ่งและถ่ายรูป แม้ในกิจกรรมจะมีการอ่านแถลงการณ์ ซึ่งประกอบ ผู้ร่วมกิจกรรมไม่ทราบมาก่อนว่าจะมีการอ่านแถลงการณ์ แต่จำเลยก็เพียงแต่ยืนอยู่ในแถว ไม่ได้เป็นผู้อ่านแถลงการณ์ ไม่ได้เป็นผู้ที่พูดคุยและรับหนังสือแจ้งให้เลิกการชุมนุมจาก ผกก.สภ.เมืองนครพนม อีกทั้งไม่พบว่าจําเลยได้ปราศรัย รวมทั้งในขณะที่วิ่งจำเลยก็ไม่ได้เป็นผู้จัดแจงขบวนวิ่งว่าจะวิ่งไปทางไหน

    โดย พ.ต.ท.จีรุฏฐ์ รับว่า ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ นิยามคําว่า “ผู้จัดการชุมนุม” ซึ่งมีหน้าที่แจ้งการชุมนุม หมายถึง ผู้ประสงค์จัดกิจกรรมชุมนุม ถ้าไม่มีผู้แจ้งการชุมนุม จะถือว่าผู้โพสต์เชิญชวนเป็นผู้จัดการชุมนุมได้ก็ต่อเมื่อมีพฤติการณ์ที่ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าเป็นผู้จัดการชุมนุมประกอบด้วย แต่ พ.ต.ท.คำดี พนักงานสอบสวน เบิกความยืนยันว่า การที่จําเลยโพสต์เชิญชวน ถือว่ามีพฤติการณ์เป็นผู้จัดการชุมนุมแล้ว และผู้ที่แชร์ข้อความที่จําเลยโพสต์ก็ถือว่าเป็นการชักชวนให้ร่วมชุมนุมด้วยเช่นกัน

    ++ผู้ร่วมกิจกรรมไปร่วมเพราะเห็นจากสื่อและเฟซบุ๊กซึ่งโพสต์กันทั่วไปว่า จะมี “วิ่งไล่ลุง”++

    อย่างไรก็ตาม แม้จำเลยจะมีการโพสต์เชิญชวนให้คนไปวิ่ง แต่ประกอบ พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมกิจกรรม เบิกความว่า ที่ไปร่วมกิจกรรมเนื่องจากปกติพยานก็วิ่งเป็นประจำอยู่แล้ว อีกทั้งเห็นในเฟซบุ๊กซึ่งมีการโพสต์กันทั่วไปว่า วันที่ 12 ม.ค. 2563 จะมีกิจกรรมวิ่งไล่ลุง พยานมีเพื่อนในเฟซบุ๊กกว่า 5,000 คน จึงจำไม่ได้ว่าใครเป็นคนโพสต์เชิญชวน และคนที่ไปร่วมวิ่งในวันนั้นก็ไม่ได้มีการนัดแนะกัน ต่างฝ่ายต่างไปวิ่ง

    สอดคล้องกับคำเบิกความของ พ.ต.ท.จีรุฏฐ์ ผู้กล่าวหา ซึ่งระบุว่า พยานทราบว่า มีการนัดหมายทั่วประเทศว่าจะมีกิจกรรมการวิ่งในวันดังกล่าว โดยเริ่มจากที่กรุงเทพฯ และใช้ชื่อกิจกรรมว่า วิ่งไล่ลุง คล้ายๆ กัน เช่นเดียวกับที่นครพนม และพนักงานสอบสวน ระบุว่า จากการสอบคําให้การของผู้ร่วมกิจกรรม 2 คน ต่างให้การว่า ไม่ได้ทราบข้อความชักชวนจากเฟซบุ๊กของจําเลย แต่ทราบจากสื่อทั่วไป

    ขณะที่ พ.ต.ท.นราธิป ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบเฟซบุ๊กของจำเลย เบิกความว่า จำเลยโพสต์เชิญชวนให้คนไปวิ่งอย่างต่อเนื่องในช่วงก่อนวันที่ 12 ม.ค. 2563 โดยมีการแชร์ถึง 85 ครั้งและมีคนมาแสดงความเห็น 16 ข้อความ แต่รับว่า พยานไม่ทราบว่าจะมีคนอื่นโพสต์ชักชวนก่อนที่จําเลยจะโพสต์หรือไม่

    ประกอบยังเบิกความว่า พยานตั้งใจว่าจะไปวิ่งในวันดังกล่าว และมีความคิดว่าจะไปแจ้งการชุมนุม โดยที่พยานกับจำเลยไม่ได้มีการนัดหมายหรือพูดคุยกัน แต่ในวันที่ 9 ม.ค. 2563 ได้มีเจ้าหน้าที่มาสอบถามและบอกให้พยานไม่ให้ไปร่วมวิ่ง พยานจึงได้นำเอา พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ที่พยานเสิร์ชจากกูเกิ้ลมาให้เจ้าหน้าที่ดูและแจ้งว่า จะไปแจ้งการชุมนุม แต่เจ้าหน้าที่บอกพยานว่าไม่ต้องไป

    ++เป็นเพียงกิจกรรมออกกำลังกาย จึงไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ที่จะต้องไปแจ้งการชุมนุม++

    ประกอบยืนยันว่า กิจกรรมวิ่งไล่ลุงมีการจัดในพื้นที่อื่นๆ เยอะแยะ เป็นเพียงกิจกรรมออกกำลังกาย ในขณะที่ตนวิ่งก็ไม่พบว่ามีป้ายข้อความ เครื่องขยายเสียง หรือเสื้อแสดงสัญลักษณ์ และไม่มีลักษณะที่จำเลยจะมาจัดการชุมนุม ในขณะที่เจ้าหน้าที่มาหาตนที่บ้านและห้ามไม่ให้ไปร่วมวิ่ง ตนก็ยืนยันว่าแค่จะไปวิ่งออกกำลังกาย และได้โพสต์ในเวลาต่อมาว่า การไปวิ่งออกกำลังกายเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ที่ตำรวจมาห้ามไม่ให้พยานไปวิ่งนั้นเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งได้แนบ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ที่มีการขีดเส้นใต้ที่มาตรา 3 ว่า การวิ่งออกกำลังกายไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ที่จะต้องไปแจ้งการชุมนุม

    ขณะที่ พ.ต.ท.จีรุฏฐ์ ผู้แจ้งความ เบิกความว่า จำไม่ได้ว่า พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 3 ได้บัญญัติว่า การกีฬาไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ หรือไม่ นอกจากนั้น โพสต์ของจำเลยที่พยานระบุว่าเป็นการเชิญชวนนั้น พยานไม่ได้ดูโดยละเอียดว่าเป็นการเชิญชวนไปวิ่งออกกำลังกายหรือไม่ เมื่อทนายจำเลยให้พยานดูโพสต์ของจำเลยอีกครั้ง พ.ต.ท.จีรุฏฐ์ รับว่า มีข้อความเชิญชวนให้มาร่วมวิ่งออกกำลังกายแสดงพลังบริสุทธิ์เท่านั้น และในการวิ่งซึ่งพยานได้รับมอบหมายให้ไปตรวจสอบ พยานก็ไม่พบป้ายข้อความ เครื่องขยายเสียง หรือสัญลักษณ์ใดๆ

    นอกจากนี้ พยานตำรวจยังรับว่า หลัง ผกก.สภ.เมืองนครพนม แจ้งให้ยุติกิจกรรมในเวลา 08.00 น. กิจกรรมก็ยุติลงก่อน 08.00 น. โดยเป็นไปด้วยความสงบ ปราศจากอาวุธ ไม่มีความวุ่นวาย หรือใช้ความรุนแรง เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ และเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ

    ++ตำรวจไม่ได้สืบหาผู้จัดเตรียมแถลงการณ์ และไม่ได้ตรวจสอบเฟซบุ๊กคนอื่นว่ามีการโพสต์เชิญชวนด้วยหรือไม่++

    ในวันเกิดเหตุ มีการแถลงการณ์ถึงรัฐบาลก่อนการวิ่ง ซึ่ง พ.ต.ท.จีรุฏฐ์ เบิกความว่า เป็นแถลงการณ์ของเครือข่ายพลเมืองนครพนมเพื่อประชาธิปไตย แต่พยานรับว่า ไม่ทราบว่า เครือข่ายดังกล่าวจะเป็นผู้จัดการชุมนุมหรือไม่ รวมทั้งไม่ได้มีการสืบหา เช่นเดียวกับพนักงานสอบสวน ซึ่งเบิกความด้วยว่า จากการรวบรวมพยานหลักฐานไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้จัดเตรียมคําแถลงการณ์ และไม่ทราบกลุ่มดังกล่าวนี้จะเป็นผู้จัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงในวันเกิดเหตุหรือไม่

    ด้านประกอบ ผู้เข้าร่วมการวิ่งก็เบิกความว่า ไม่รู้มาก่อนว่าในพื้นที่จังหวัดนครพนมมีเครือข่ายพลเมืองนครพนมเพื่อประชาธิปไตยตามที่ระบุในแถลงการณ์ และไม่ทราบด้วยว่าเครือข่ายนี้จะเป็นผู้จัดการวิ่งหรือไม่

    พ.ต.ท.นราธิป ผู้ตรวจสอบการโพสต์เฟซบุ๊กเชิญชวน เบิกความว่า พยานตรวจสอบเฟซบุ๊กของจำเลยเพียงคนเดียว ภายหลังจากที่มีการแจ้งความให้ดำเนินคดีจำเลย โดยพยานไม่ได้ตรวจสอบเฟซบุ๊กของกลุ่มคนที่ร่วมวิ่งด้วย รวมทั้งไม่ได้ตรวจสอบว่า คนที่ร่วมวิ่งจะเป็นผู้ที่แชร์ข้อความของจำเลยหรือไม่ สอดคล้องกับคำเบิกความของพนักงานสอบสวน ซึ่งระบุว่า พยานไม่ทราบว่านอกจากจําเลยแล้วจะมีบุคคลอื่นโพสต์ข้อความชักชวนให้มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้หรือไม่

    (อ้างอิง: คำให้การพยานโจทก์ ศาลจังหวัดนครพนม คดีหมายเลขดำที่ อ.713/2563 ลงวันที่ 10-11 มิ.ย. 2563, https://www.tlhr2014.com/?p=18519 และ https://tlhr2014.com/archives/36115)
  • นัดสืบพยานจำเลย พิศาลเบิกความเป็นพยานให้ตนเองเพียงปากเดียว ระบุว่า พยานเป็นอดีตผู้ลงสมัครรับเรื่องตั้งของพรรคอนาคตใหม่ เขต 4 นครพนม เกี่ยวกับคดีนี้ พยานรู้จักกิจกรรมวิ่งไล่ลุงจากสื่อโซเชียลมีเดีย เช่น ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก ว่าจะมีการจัดกิจกรรมที่กรุงเทพฯ พยานไม่รู้จักผู้จัดกิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนตัว แต่พอจะทราบเป็นกลุ่มนักศึกษาที่จัดกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย การจัดกิจกรรมดังกล่าวเป็นการออกกําลังกาย เพื่อแสดงสัญลักษณ์ทางการเมือง แต่ถูกห้ามจัด เช่นเดียวกับในหลายพื้นที่ แม้แต่ที่อุบลฯ ซึ่งมีการขออนุญาตจัด ก็ถูกห้ามเช่นกัน

    ทําให้พยานเกิดความคับข้องใจ จึงโพสต์เฟซบุ๊กระบายความรู้สึกว่า ประชาชนทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการใช้ประโยชน์ในที่สาธารณะ ไม่มีใครสามารถมาจํากัดสิทธิขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยได้ การออกกําลังกายก็ไม่ควรถูกจํากัดสิทธิ ส่วนรูปโปสเตอร์ที่โพสต์ พยานได้มาจากกลุ่มไลน์ จําไม่ได้ว่ากลุ่มใด เนื่องจากมีอยู่หลายกลุ่ม

    พยานไม่ทราบมาก่อนว่าในจังหวัดนครพนมมีการจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง มาพบในภายหลังจากข้อความที่ส่งต่อกันทางไลน์และสื่อโซเชียลว่าจะมีการจัดกิจกรรมบริเวณลานศรีสัตนาคราช แต่ไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้จัด พยานไปร่วมวิ่ง เนื่องจากความคับข้องใจดังกล่าว ทนไม่ไหวที่ถูกห้ามแม้แต่การวิ่งออกกำลังกาย

    วันเกิดเหตุ พยานไปวิ่งโดยไม่ได้นําป้ายหรือเอกสารใดไปด้วย มีเพียงโทรศัพท์มือถือ ขณะที่ผู้วิ่งรวมตัวกันอยู่นั้น ได้มีการอ่านแถลงการณ์ของพลเมืองนครพนมเพื่อประชาธิปไตย โดยพยานยืนอยู่ใกล้ๆ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวถูกกระชับพื้นที่ด้วยตํารวจและทหาร พยานไม่ทราบมาก่อนว่าจะมีการอ่านคําแถลงการณ์ในกิจกรรมนี้ และไม่ทราบว่าใครเป็นผู้นํากลุ่มดังกล่าว

    หลังเสร็จการสืบพยาน ศาลได้อ่านรายงานกระบวนพิจารณาใจความว่า ตามที่จำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า บทบัญญัติที่ใช้บังคับกับจำเลยในคดีนี้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลเห็นควรให้ส่งคำร้องของจำเลยต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย จึงให้เลื่อนไปฟังคำพิพากษาในวันที่ 17 ก.ย. 2563 เพื่อรอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดนครพนม คดีหมายเลขดำที่ อ.713/2563 ลงวันที่ 12 มิ.ย. 2563, https://www.tlhr2014.com/?p=18519 และ https://tlhr2014.com/archives/36115)
  • ศาลจังหวัดนครพนมนัดฟังคำพิพากษา อย่างไรก็ตาม ศาลแจ้งว่า เนื่องจากศาลยังไม่ได้รับแจ้งจากศาลรัฐธรรมนูญว่า ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายตามที่จำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยข้อกฎหมายที่ใช้บังคับจำเลยว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ คดีจึงยังไม่อาจทำคำพิพากษาได้ ให้เลื่อนไปฟังคำพิพากษาในวันที่ 17 มี.ค. 2564
  • เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำวินิจฉัยตามที่จำเลยได้ยื่นคำร้อง คดีจึงยังไม่อาจทำคำพิพากษาได้ ศาลจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกสารบบเป็นการชั่วคราว
  • หลังเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 10, มาตรา 14 และมาตรา 28 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26, มาตรา 34 และมาตรา 44 ศาลจังหวัดนครพนมจึงได้นัดพิศาลฟังคำพิพากษาในวันนี้

    ธีระยุทธ ผาฮุย ผู้พิพากษาศาลจังหวัดนครพนมอ่านคำพิพากษายกฟ้อง ใจความว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 4 บัญญัติว่านิยามคำว่า “ผู้จัดการชุมนุม” หมายถึง ผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะ และให้หมายความรวมถึงผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ และผู้ซึ่งเชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมการชุมนุมสาธารณะ โดยแสดงออกหรือมีพฤติการณ์ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้จัด หรือร่วมจัดให้มีการชุมนุมนั้น

    จากคำนิยามดังกล่าว การจะถือว่าเป็นผู้ประสงค์จัดการชุมนุมสาธารณะ จะต้องแสดงออกให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าเป็นผู้ประสงค์จัดการชุมนุม หรือหากไม่แสดงออกชัดแจ้งว่าเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุม จะต้องมีพฤติการณ์ที่ทำให้คนอื่นเข้าใจว่าเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดการชุมนุม แต่ตามภาพถ่ายหมาย จ.3 ซึ่งเป็นภาพถ่ายผู้เข้าร่วมกิจกรรมวิ่งทุกคน จำเลยสวมใส่เสื้อผ้าและรองเท้าสำหรับวิ่ง จากนั้นจำเลยออกวิ่งพร้อมกับผู้ร่วมกิจกรรมคนอื่นๆ หลังจากวิ่งก็ยืนถ่ายรูปกับผู้ร่วมกิจกรรมเท่านั้น ไม่มีอุปกรณ์หรือสิ่งของใดที่จะชี้ชัดได้ว่า จำเลยเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดการชุมนุม ทั้งจำเลยมิได้แสดงพฤติการณ์ใดที่ทำให้เห็นว่า เป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุม

    แม้ขณะรวมตัวถ่ายรูป มีนายณพจน์ศกร ทรัพย์สิทธิ์ อ่านคำแถลงการณ์เครือข่ายพลเมืองนครพนมเพื่อประชาธิปไตย จำเลยจะยืนอยู่ด้วย แต่ก็เป็นการยืนรวมกันกับผู้ร่วมวิ่งคนอื่นๆ มิได้แสดงพฤติการณ์หรืออากัปกิริยาใดเป็นพิเศษที่ทำให้เห็นว่าเป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุม ประกอบกับพยานโจทก์ก็เบิกความในข้อเท็จจริงส่วนนี้ว่า พยานไม่ทราบว่าจำเลยมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการวิ่งดังกล่าวอย่างไร และเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานไม่ทราบก่อนที่จะวิ่งว่าจะมีการอ่านคำแถลงการณ์ พยานพบการอ่านคำแถลงการณ์ขณะที่ร่วมกิจกรรมแล้ว พยานไม่ทราบว่า ผู้ใดเป็นผู้จัดเตรียมคำแถลงการณ์ ขณะอ่านคำแถลงการณ์พยานและจำเลยยืนฟังเฉยๆ จำเลยไม่ได้ร่วมอ่านคำแถลงการณ์หรือคำปราศรัยใดๆ จากข้อเท็จจริงดังกล่าว พยานหลักฐานของโจทก์จึงยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่า จำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุมหรือผู้ร่วมจัดการชุมนุม

    ส่วนการที่จำเลยโพสต์ชักชวนให้มาร่วมวิ่ง อันจะถือว่าเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุม ซึ่งมีหน้าที่แจ้งการชุมนุม ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติแล้วว่า จำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กของจำเลยชักชวนให้ผู้อื่นมาร่วมวิ่งไล่ลุง แม้ตามพระราชบัญญัติการชุมนุม พ.ศ. 2558 มาตรา 10 วรรคสอง ให้ถือว่าผู้เชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมในวันเวลาและสถานที่ที่กำหนด ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆ รวมทั้งผู้ขออนุญาตใช้สถานที่หรือเครื่องขยายเสียงหรือขอให้ทางราชการอำนวยความสะดวกในการชุมนุม เป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะตามวรรคหนึ่ง

    แต่คำนิยามความหมายของผู้จัดการชุมนุมได้บัญญัติว่า ผู้เชิญชวนหรือนัดหมายผู้อื่นที่จะถือว่าเป็นผู้ประสงค์จัดการชุมนุมจะต้องโดยแสดงออกหรือมีพฤติการณ์ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดให้มีการชุมนุมนั้น ซึ่งตามข้อความที่จำเลยโพสต์ว่า “วิ่ง-ไล่-ลุง 12 มกราคม 2020 นครพนม กะแลนนำเดียว เวลา 6 น.ณ ลานพญาศรีสัตตนาคราช #มาพ้อกันเด้อ” ไม่มีข้อความที่แสดงออกหรือพฤติกรรมใดนอกจากนี้ ที่ทำให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมหรือร่วมจัดการชุมนุม ทั้งขณะร่วมวิ่ง จำเลยก็มิได้มีพฤติการณ์ใดๆ ที่ทำให้เห็นว่า จำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุมหรือเป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุมดั่งที่วินิจฉัยแล้วข้างต้น พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมายังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานของจำเลยอีก พิพากษายกฟ้อง

    นับเป็นคดี “วิ่งไล่ลุง” คดีแรกที่ศาลพิพากษายกฟ้อง ในจำนวนที่มีการดำเนินคดีกับผู้จัดหรือผู้ที่เจ้าหน้าที่คิดว่าเป็นผู้จัดกิจกรรมในหลายพื้นที่รวมอย่างน้อย 16 คดี ปัจจุบันยังมีคดีที่ยังอยู่ในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น 6 คดี และศาลอุทธรณ์ 1 คดี แม้กิจกรรมวิ่งไล่ลุงจะผ่านไปแล้วเกือบ 2 ปี

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลจังหวัดนครพนม คดีหมายเลขดำที่ อ.713/2563 หมายเลขแดงที่ อ.520/2564 ลงวันที่ 6 ต.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/36115)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายพิศาล บุพศิริ

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายพิศาล บุพศิริ

ผลการพิพากษา
ยกฟ้อง
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 06-10-2021

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์