ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
- การชุมนุม
- พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ 2558
ดำ อ.1839/2563
แดง อ.1966/2564
ผู้กล่าวหา
- พ.ต.อ.สัมภาษณ์ ศรีจันทึก ผกก.สภ.สตึก (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
- การชุมนุม
- พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ 2558
หมายเลขคดี
ดำ อ.1839/2563
แดง อ.1966/2564
ผู้กล่าวหา
- พ.ต.อ.สัมภาษณ์ ศรีจันทึก ผกก.สภ.สตึก
ความสำคัญของคดี
อิสรีย์ อภิสิริรุจิภาส อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งโพสต์ว่าจะไปร่วมกิจกรรม "วิ่งไล่ลุง" อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ และในวันที่ 12 ม.ค. 63 ได้ไปร่วมวิ่งพร้อมไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถูกดำเนินคดี ไม่แจ้งการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 อิสรีย์ให้การปฏิเสธ โดยยืนยันว่า ตนเป็นเพียงผู้เข้าร่วมกิจกรรมวิ่งเท่านั้น ไม่ได้เป็นผู้จัด อีกทั้งกิจกรรมวิ่งไล่ลุงในวันดังกล่าวก็เหมือนกับกิจกรรมวิ่งเพื่อสุขภาพทั่วไป ไม่เข้าข่ายการชุมนุม
ภายหลังสืบพยาน ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ระบุว่าต้องตีความ กม.โดยเคร่งครัด แม้จำเลยไลฟ์ชวนผู้อื่น แต่ไม่ปรากฏพฤติการณ์เป็นผู้จัดชุมนุม
ภายหลังสืบพยาน ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ระบุว่าต้องตีความ กม.โดยเคร่งครัด แม้จำเลยไลฟ์ชวนผู้อื่น แต่ไม่ปรากฏพฤติการณ์เป็นผู้จัดชุมนุม
พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี
พนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นโจทก์ฟ้องอิสรีย์ อภิสิริรุจิภาส รายละเอียดคำฟ้อง ดังนี้
เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2563 เวลากลางวันจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการชุมนุมได้จัดการชุมนุมในที่สาธารณะ โดยจัดการชุมนุมและเชิญชวนแก่บุคคลทั่วไปให้เข้าร่วมชุมนุมในกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” อันเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อคัดค้านการบริหารประเทศของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ ตำบลสตึก อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ อันเป็นที่สาธารณะ ทั้งนี้ โดยจำเลยไม่ได้แจ้งแก่หัวหน้าสถานีตำรวจภูธรสตึก ซึ่งเป็นผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะ หรือบุคคลอื่นตามกำหนดเวลาและตามที่กฎหมายกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ หมายเลขคดีดำที่ /2563 ลงวันที่ 21 ส.ค. 2563)
เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2563 เวลากลางวันจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการชุมนุมได้จัดการชุมนุมในที่สาธารณะ โดยจัดการชุมนุมและเชิญชวนแก่บุคคลทั่วไปให้เข้าร่วมชุมนุมในกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” อันเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อคัดค้านการบริหารประเทศของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ ตำบลสตึก อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ อันเป็นที่สาธารณะ ทั้งนี้ โดยจำเลยไม่ได้แจ้งแก่หัวหน้าสถานีตำรวจภูธรสตึก ซึ่งเป็นผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะ หรือบุคคลอื่นตามกำหนดเวลาและตามที่กฎหมายกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ หมายเลขคดีดำที่ /2563 ลงวันที่ 21 ส.ค. 2563)
ความคืบหน้าของคดี
-
วันที่: 23-01-2020นัด: แจ้งข้อกล่าวหาที่สถานีตำรวจภูธรสตึก จ.บุรีรัมย์ น.ส.อิสรีย์ อภิสิริรุจิภาส อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ เขต 2 จ.บุรีรัมย์ พร้อมทนายความ ก็เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน จากกรณีกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 63 หลังได้รับหมายเรียกผู้ต้องหา ซึ่งมี พ.ต.อ.สัมภาษณ์ ศรีจันทึก เป็นผู้กล่าวหาว่า น.ส.อิสรีย์ จัดให้มีการชุมนุมในที่สาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุม
พ.ต.ท.ยศวัฒน์ มณีชัยวงษ์กิจ พนักงานสอบสวน ได้แจ้งข้อกล่าวหา น.ส.อิสรีย์ว่า เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมโดยไม่แจ้งให้หัวหน้าสถานีตำรวจท้องที่ทราบภายใน 24 ชั่วโมง โดย น.ส.อิสรีย์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การในรายละเอียดเป็นลายลักษณ์อักษรภายในวันที่ 7 ก.พ. 2563
ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่ตำรวจจะออกเป็นหมายเรียก ได้โทรศัพท์มาบอกตนให้ไปเสียค่าปรับ เนื่องจากชุมนุมโดยไม่แจ้ง ผิด พ.ร.บ.ชุมนุมฯ แต่อิสรีย์ยืนยันกับตำรวจว่า ไม่ได้ทำผิดและไม่ไปเสียค่าปรับ
(อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=15615) -
วันที่: 07-02-2020นัด: ยื่นคำให้การเป็นหนังสืออิสรีย์เข้ายื่นคำให้การโดยละเอียดเป็นเอกสารต่อพนักงานสอบสวน สภ.สตึก โดยยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และให้การเพิ่มเติมในประเด็นดังต่อไปนี้
1. ข้าพเจ้าไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุมตามที่กล่าวหาแต่อย่างใด ข้าพเจ้าเพียงแสดงออกว่าจะไปร่วมวิ่งออกกำลังกาย มิใช่การเชิญชวนให้มาชุมนุมทางการเมือง และเมื่อถึงวันเกิดเหตุ ข้าพเจ้าก็ออกไปวิ่งออกกำลังกายในบริเวณสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเป็นสถานที่มีประชาชนบุคคลทั่วไปมาออกกำลังกายกันเป็นปกติอยู่แล้ว ไม่ได้กีดขวางการจราจร ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ใด โดยข้าพเจ้ามิได้มีการอ่านแถลงการณ์ ปราศรัย หรือชูป้าย และเมื่อวิ่งเสร็จก็กลับบ้านตามปกติ
2. กิจกรรมวิ่งไล่ลุงเป็นการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการแสดงออกโดยสุจริต และเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายตามพันธกรณีระหว่างประเทศ และตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงไม่เป็นความผิดต่อกฎหมายตามที่ถูกกล่าวหา
3. การแจ้งความดำเนินคดีและการสอบสวนในคดีนี้จึงเป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมและกระบวนการทางกฎหมายเป็นเครื่องมือในการขจัดหรือยับยั้งฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็นหรือตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล
(อ้างอิง: คำให้การเพิ่มเติม สภ.สตึก ลงวันที่ 7 ก.พ. 2563) -
วันที่: 19-02-2020นัด: ส่งตัวให้อัยการที่สำนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์ พนักงานสอบสวน สภ.สตึก นัดหมาย น.ส.อิสรีย์ เพื่อส่งตัวให้อัยการ หลังพนักงานสอบสวนสรุปสำนวนการสอบสวน โดยมีความเห็นควรสั่งฟ้อง น.ส.อิสรีย์ ในข้อหาดังกล่าว ทั้งนี้ พนักงานอัยการนัดหมาย น.ส.อิสรีย์ มารายงานตัวเพื่อฟังคำสั่งว่าจะฟ้องคดีหรือไม่ในวันที่ 21 ก.พ. 63
(อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=16051)
-
วันที่: 21-02-2020นัด: ฟังคำสั่งอัยการอิสรีย์เข้ารายงานตัวกับอัยการตามหมายนัด เพื่อฟังคำสั่ง แต่อัยการแจ้งว่า ได้ส่งสำนวนคืนให้ตำรวจสอบคำให้การผู้ต้องหาเพิ่มเติม ในประเด็นยืนยันว่า ผู้ต้องหาได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนเป็นลายลักษณ์อักษร จึงยังไม่มีผลการพิจารณาสั่งคดี ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนนัดหมายอิสรีย์เพื่อสอบปากคำเพิ่มเติมและส่งสำนวนให้อัยการอีกครั้งในวันที่ 24 ก.พ. 2563
(อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=16113) -
วันที่: 24-02-2020นัด: ส่งตัวให้อัยการพนักงานสอบสวนนัดหมายอิสรีย์เพื่อสอบปากคำเพิ่มเติม โดยอิสรีย์ยืนยันคำให้การที่ให้ไปแล้วในชั้นสอบสวน จากนั้นพนักงานสอบสวนส่งตัวอิสรีย์ให้อัยการอีกครั้ง พร้อมสำนวนการสอบสวน อัยการรับสำนวนแล้วเลื่อนไปฟังคำสั่งฟ้องคดีวันที่ 24 มี.ค. 63 เวลา 10.00 น.
-
วันที่: 24-03-2020นัด: ฟังคำสั่งอัยการเนื่องจากอัยการยังไม่มีผลการพิจารณาสั่งคดี และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อัยการจึงเลื่อนนัดให้ น.ส.อิสรีย์ ไปฟังคำสั่งฟ้องคดีในวันที่ 28 เม.ย. 2563
-
วันที่: 28-04-2020นัด: ฟังคำสั่งอัยการเนื่องจากอัยการยังไม่มีผลการพิจารณาสั่งคดี และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อัยการจึงยกเลิกนัดเดิม และเลื่อนนัดให้ น.ส.อิสรีย์ ไปฟังคำสั่งฟ้องคดีในวันที่ 27 พ.ค. 2563 เวลา 10.00 น.
-
วันที่: 27-05-2020นัด: ฟังคำสั่งอัยการจากการโทรศัพท์เช็คในวันที่ 26 พ.ค. 2563 ได้รับแจ้งว่า เนื่องจากอัยการยังไม่มีผลการพิจารณาสั่งคดี อัยการจึงเลื่อนนัดให้ น.ส.อิสรีย์ ไปฟังคำสั่งฟ้องคดีในวันที่ 26 มิ.ย. 2563 เวลา 10.00 น.
-
วันที่: 26-06-2020นัด: ฟังคำสั่งอัยการจากการโทรศัพท์เช็คในวันที่ 25 มิ.ย. 2563 ได้รับแจ้งว่าอัยการเลื่อนนัดฟังคำสั่งไปวันที่ 24 ก.ค. 2563 เวลา 09.00 น. โดยผู้ต้องหาไม่ต้องไปรายงานตัวด้วยตัวเองอีก ถือว่าทราบนัดแล้ว
-
วันที่: 24-07-2020นัด: ฟังคำสั่งอัยการอัยการยังไม่มีผลการพิจารณาสั่งคดี จึงเลื่อนนัดฟังคำสั่งไปวันที่ 21 ส.ค. 2563 เวลา 10.00 น.
-
วันที่: 21-08-2020นัด: ฟังคำสั่งอัยการอัยการมีคำสั่งฟ้อง และยื่นฟ้องอิสรีย์ต่อศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ในข้อหา เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมในที่สาธารณะโดยไม่แจ้งต่อเจ้าพนักงานก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชม. ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 10
หลังเจ้าหน้าที่ศาลรับคำฟ้อง อิสรีย์ถูกควบคุมตัวเข้าห้องขังใต้ถุนศาล ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกัน ต่อมา เมื่อศาลพิจารณาคำร้องจึงมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวในวงเงินประกัน 5,000 บาท แต่ไม่ต้องวางหลักประกัน และอิสรีย์ได้รับการปล่อยตัวในเวลาประมาณ 15.30 น. โดยนัดคุ้มครองสิทธิวันที่ 20 ต.ค. 2563 และนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 23 พ.ย. 2563
คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกัน ระบุเหตุผลว่า ข้อหา เป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะไม่แจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุมตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ที่โจทก์ฟ้องจำเลยนั้น มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท อันเป็นความผิดลหุโทษที่มีโทษปรับสถานเดียว ซึ่งศาลสามารถใช้ดุลพินิจปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยโดยไม่มีหลักประกัน ให้เป็นไปตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาได้
(อ้างอิง: คำฟ้อง และคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกัน ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ คดีหมายเลขดำที่ อ.1839/2563 ลงวันที่ 21 ส.ค. 2563) -
วันที่: 20-10-2020นัด: คุ้มครองสิทธิศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟัง พร้อมทั้งถามคำให้การเบื้องต้น อิสรีย์ยืนยันให้การปฏิเสธ ศาลจึงนัดสอบคำให้การ ตรวจพยานหลักฐานและกำหนดวันนัดสืบพยานในวันที่ 23 พ.ย. 2563 ตามที่ได้นัดไว้แล้ว
-
วันที่: 23-11-2020นัด: สอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานศาลจังหวัดบุรีรัมย์นัดสอบคําให้การ ตรวจพยานหลักฐาน และกําหนดวันนัดสืบพยาน ในคดี “วิ่งไล่ลุง” จ.บุรีรัมย์ ซึ่งพนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นโจทก์ฟ้อง อิสรีย์ อภิสิริรุจิภาส อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ เขต 2 จ.บุรีรัมย์ ในความผิดฐาน เป็นผู้จัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 10 จากกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2563 ซึ่งมีการจัดขึ้นที่สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ พร้อมกับอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศ
หลังศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟัง โดยจําเลยให้การปฏิเสธตามคําให้การเป็นเอกสารที่ได้ยื่นต่อศาลในวันนี้แล้ว ศาลได้สอบถามโจทก์และจำเลยถึงแนวทางการสืบพยาน อัยการแถลงว่า จะนำพยานบุคคลเข้าเบิกความเป็นพยานโจทก์รวม 3 ปาก ได้แก่ ผู้กํากับการสถานีตํารวจภูธรสตึก ซึ่งเป็นผู้รับแจ้งการชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ, ตํารวจที่สืบสวนการนัดชุมนุมตามที่โจทก์กล่าวหา และพนักงานสอบสวน
จําเลยและทนายจําเลยแถลงแนวทางการต่อสู้คดีว่าไม่ได้เป็นผู้จัดหรือนัดให้มีการชุมนุมตามที่ถูกกล่าวหา เพียงแต่แสดงออกว่าจะไปร่วมวิ่งออกกำลังกาย ซึ่งเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ตามที่พันธกรณีระหว่างประเทศ และรัฐธรรมนูญให้การรับรอง โดยที่ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ การกระทําของจําเลยจึงไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย โดยอิสรีย์อ้างตนเองเป็นพยานเข้าสืบพยานจําเลยเพียงปากเดียว โดยอ้างส่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองเป็นพยานเอกสารของฝ่ายจำเลยด้วย
กำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยรวม 4 ปาก ในวันที่ 4 มี.ค. 2564
วันเดียวกันนี้จําเลยยังได้ยื่นคําร้องขอให้ศาลส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 10 วรรคสอง และมาตรา 28 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 26 ประกอบมาตรา 34 และมาตรา 44 หรือไม่ โดยอัยการแถลงไม่คัดค้านและไม่ประสงค์ที่จะยื่นคําคัดค้านคําร้องดังกล่าว ศาลจึงเห็นควรให้ส่งคำร้องดังกล่าวไปยังสํานักงานศาลยุติธรรมเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยต่อไป และในระหว่างนี้ให้ดําเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานของคู่ความไป แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
กรณีการยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 10 วรรคสอง และมาตรา 28 รวมทั้งมาตรา 14 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่นั้น ก่อนหน้านี้ พิศาล บุพศิริ จำเลยคดีวิ่งไล่ลุง จ.นครพนม และประเสริฐ กาหรีมการ จำเลยคดีวิ่งไล่ลุง จ.พังงา ได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดนครพนมและศาลจังหวัดตะกั่วป่าตามลำดับเช่นเดียวกัน โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว แต่ยังไม่มีคำวินิจฉัย
คำร้องดังกล่าวที่ระบุว่า พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 10 วรรคสอง และมาตรา 28 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2560 อ้างถึงเหตุผลโดยสรุปดังนี้
1. พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 10 วรรคสอง ซึ่งกำหนดให้ถือว่าผู้เชิญชวนหรือนัดผู้อื่นมาชุมนุมเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะที่ต้องแจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ด้วย ทั้งที่นิยามในมาตรา 4 ไว้ชัดเจนแล้วว่า “ผู้จัดการชุมนุม หมายถึง ผู้ซึ่งเชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมการชุมนุมสาธารณะโดยแสดงออกหรือมีพฤติการณ์ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดให้มีการชุมนุมนั้น” ซึ่งผู้จัดการชุมนุมจะต้องมีการแสดงออกอย่างชัดแจ้ง เช่น ขอใช้สถานที่ ขอใช้เครื่องเสียง ฯลฯ การกำหนดให้ผู้ที่เพียงเชิญชวนหรือนัดผู้อื่นต้องแจ้งการชุมนุมด้วยตามมาตรา 10 วรรคสอง จึงเพิ่มภาระและจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ อันเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ทั้งยังส่งผลให้เกิดการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอันถูกรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 34 ด้วย เนื่องจากทำให้ประชาชนทั่วไปไม่กล้าที่จะใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เพราะอาจถูกตีความว่าเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมที่มีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุมด้วย
2. มาตรา 28 ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ซึ่งกำหนดโทษทางอาญาให้กับผู้จัดการชุมนุมสาธารณะที่ไม่แจ้งการชุมนุมหรือที่แจ้งการชุมนุมไม่ครบกำหนด 24 ชั่วโมงก่อนการชุมนุม ขัดกับหลักความได้สัดส่วน และทำให้ประชาชนไม่กล้าที่จะใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ซึ่งได้รับการรับรองไว้ในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ จึงขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ประกอบมาตรา 44
(อ้างอิง: คำให้การจำเลย, รายงานกระบวนพิจารณา, คำร้องขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย, คำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ คดีหมายเลขดำที่ อ.1839/2563 ลงวันที่ 23 พ.ย. 2563 และ https://tlhr2014.com/?p=23422)
-
วันที่: 04-03-2021นัด: สืบพยานโจทก์-จำเลยสมประสงค์ พัตจาลจุล ผู้พิพากษาออกพิจารณาคดี ก่อนเริ่มสืบพยาน ศาลกล่าวกับจำเลยว่า เนื่องจากฝ่ายจำเลยยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากสืบพยานไปศาลก็ยังมีคำพิพากษาไม่ได้ และหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ขัดรัฐธรรมนูญ ศาลก็ต้องยกฟ้อง ไม่ว่าจำเลยจะรับสารภาพหรือปฏิเสธ
อย่างไรก็ตาม จำเลยยืนยันให้การปฏิเสธ ระบุว่า จำเลยไปวิ่งออกกำลังกายเท่านั้น และยืนยันให้มีการสืบพยานในวันนี้
++พยานโจทก์ปากที่ 1++
ร.ต.ต.สุทัศน์ หาญชนะ รองสารวัตรสืบสวน สภ.สตึก เข้าเบิกความว่า ช่วงนั้นมีข่าวทั่วไปว่าจะมีกิจกรรมวิ่งไล่ลุงในวันที่ 12 ม.ค. 2563 พยานได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้สืบสวนหาข่าว พยานจึงทำการสืบสวน ตามการสืบสวน ขออนุญาตไม่เปิดเผยตัวผู้ให้ข่าว เป็นกิจกรรมของพรรคอนาคตใหม่ เป็นกิจกรรมแสดงสัญลักษณ์ทางการเมือง ผู้ร่วมกิจกรรมคือผู้ที่ไม่พอใจหรือต่อต้านรัฐบาล
จากการสืบสวน “ลุง” หมายถึง พลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี กิจกรรมดังกล่าวจะมีรูปแบบเชิญชวนออกมาวิ่งออกกำลังกายในพื้นที่ต่างๆ เช่น สวนสาธารณะทั่วประเทศ
พยานได้รับมอบหมายจาก พ.ต.ต.สัมภาษณ์ ศรีจันทึก ผู้กำกับการ สภ.สตึก ให้สืบสวนหาข่าวว่า จะมีการจัดการชุมนุมดังกล่าวในเขตพื้นที่รับผิดชอบของ สภ.สตึก หรือไม่ พยานสืบสวนจากการโพสต์ในเฟซบุ๊ก เบื้องต้นทราบว่าผู้ใช้ เฟซบุ๊กชื่อ Jame Nattapong โพสต์เชิญชวนผู้สนใจและประชาชนทั่วไปให้มาวิ่งในวันที่ 12 ม.ค. 2563 ในกิจกรรมวิ่งไล่ลุงที่สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติริมแม่น้ำมูล ตำบลสตึก อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ พยานสืบจนทราบชื่อจริงของเจมส์ว่า ณัฐพงษ์ เป็นวัยรุ่นรูปร่างสูงใหญ่ อยู่บ้านดงยายเภา หมู่ 3 ตำบลนิคม อำเภอสตึก
หลังสืบทราบได้เข้าพูดคุยที่บ้านณัฐพงษ์ว่า ในการจัดกิจกรรมตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ต้องแจ้งการชุมนุมกับหัวหน้าสถานีตำรวจภายใน 12 ชั่วโมง (อัยการถามว่า 12 ชั่วโมงหรือ 24 ชั่วโมง พยานแก้เป็น 24 ชั่วโมง) ณัฐพงษ์ทราบและเข้าใจดีตอนแรกณัฐพงษ์รับปากว่าจะเดินทางมาแจ้งการชุมนุมที่ สภ.สตึก แต่อีก 1-2 วันต่อมา ณัฐพงษ์พาแม่มาพบตำรวจที่ สภ.สตึก และปรากฏเป็นข่าวว่าณัฐพงษ์งดจัดกิจกรรมดังกล่าวแล้วเนื่องจากยุ่งยาก
ต่อมา พยานพบเฟซบุ๊กของ อิสรีย์ อภิสิริรุจิภาส โพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2563 ว่าจะไปร่วมวิ่งในกิจกรรมที่เจมส์จัด ต่อมา ได้โพสต์เชิญชวนให้ประชาชนไปวิ่ง จากนั้นมีการโพสต์ป้ายที่จะติดเสื้อเป็นสัญลักษณ์และข้อความว่า “วิ่งไล่ลุง 0001”
จากการสืบสวนเจ้าของเฟซบุ๊กดังกล่าวคือ จำเลย ซึ่งทราบจากการสืบสวนว่าเป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส.เขต 2 จังหวัดบุรีรัมย์สังกัดพรรคอนาคตใหม่ ประกอบกับเฟซบุ๊กมีการลงภาพโปรไฟล์ โดยเฟซบุ๊กของจำเลยโพสต์เป็นสาธารณะบุคคลทั่วไปสามารถดูได้
วันที่ 9 ม.ค. 2563 พยานเปิดดูเฟซบุ๊กของจำเลยพบการไลฟ์สดพูดว่า ก่อนอื่นเสียใจที่เจมส์งดจัดกิจกรรม ดิฉันขอเชิญชวนประชาชนมาร่วมจัดวิ่งต่อจากเจมส์ในวันที่ 12 ม.ค. และดิฉันเข้าร่วมแน่นอน
พยานเบิกความต่อว่าวันที่ 12 ม.ค. 2563 เวลา 06.00 น. พยานได้ร่วมตรวจสอบและติดตามดูที่สวนสาธารณะ พบว่าจำเลยกับพวกรวม 7 คนมาในวันดังกล่าวจริง ศาลถามว่า 7 คนแต่งกายยังไง พยานตอบว่า จำเลยใส่เสื้อยืดสีดำ ส่วนคนอื่นใส่เสื้อหลากสี เสื้อของจำเลยมีข้อความว่า “วิ่งไล่ลุง 0001” คนอื่นทั้งชายและหญิงมีตัวเลขเรียงกันตั้งแต่ 0002 ถึง 0007
ก่อนเริ่มวิ่งขณะวอร์ม จำเลยได้ไลฟ์สด ศาลถามว่าได้ยินเขาพูดอะไรบ้าง พยานตอบว่า ลักษณะเชิญชวนว่า ขณะนี้จำเลยได้มาวิ่งไล่ลุงแล้ว และชวนให้คนอื่นออกมาด้วย นอกจากกลุ่มจำเลยมีประชาชนกลุ่มอื่น จากการสืบสอบทราบว่าเป็นกลุ่มเชียร์ลุง โดยในวันดังกล่าวเทศบาลตำบลสตึกได้จัดกิจกรรมทำบุญตักบาตรเสริมบารมีแม่น้ำมูล มีคนเข้าร่วมประมาณ 300 คน กลุ่มเชียร์ได้พูดจาเสียดสีกลุ่มจำเลย โดยที่กลุ่มจำเลยไม่ได้ตอบโต้ และไม่มีเหตุการณ์รุนแรง
พยานเบิกความต่อว่า เฟซบุ๊กของจำเลยมีการไลฟ์สด 2 ครั้ง ซึ่งพยานได้บันทึกลงซีดีและถอดเป็นข้อความ ในการสืบสวนหาผู้กระทำผิดพยานได้จัดทำรายงานการสืบสวนพร้อมรูปถ่ายเสนอผู้บังคับบัญชา พยานเบิกความด้วยว่า ตั้งแต่ได้รับมอบหมายให้ติดตาม ไม่พบจำเลยมาแจ้งการชุมนุมทั้งก่อนและกิจกรรม
ต่อมา พยานตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานเรียนจบปริญญาตรีรัฐศาสตร์สาขาการปกครอง ไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุม พยานทราบว่า ในการชุมนุมต้องขออนุญาตก่อนการชุมนุม 24 ชั่วโมง ทราบว่า พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ไม่ได้ใช้กับกิจกรรมบางประเภท เช่น มหรสพ กีฬา การท่องเที่ยว
ทนายจำเลยให้พยานดูเอกสาร แล้วถามว่า ผู้ริเริ่มกิจกรรมวิ่งไล่ลุงคือนายธนวัฒน์ อดีตนิสิตจุฬาฯ ไม่ใช่พรรคอนาคตใหม่ ที่พยานเบิกความว่าเป็นกิจกรรมของพรรคอนาคตใหม่เป็นความเข้าใจของพยานเองใช่หรือไม่ พยานพยายามบอกว่าอันนั้นเป็นกิจกรรมส่วนกลางจัดขึ้นที่สวนรถไฟ แต่รับว่า หลังจากส่วนกลางประกาศจัด จังหวัดอื่นก็ประกาศจะจัดกิจกรรมด้วย โดยที่จังหวัดบุรีรัมย์ประชาสัมพันธ์ว่าจะมีการจัดกิจกรรมใน 2 พื้นที่ คือ ที่อำเภอบ้านกรวดและอำเภอสตึก ที่อำเภอบ้านกรวดผู้ริเริ่มคือนายอดิศร หรือ เอก ฉลวย ส่วนที่อำเภอสตึกคือ นายณัฐพงศ์ โดยนายณัฐพงษ์ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุสถานที่ เวลา และเส้นทางการวิ่ง โดยเริ่มจากหน้าอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 5
พยานตอบทนายจำเลยอีกว่า ทราบว่านายณัฐพงษ์เป็นวัยรุ่น ชอบวิ่งออกกำลังกาย ชอบไปลงรายการวิ่งต่างๆ จึงอยากจัดวิ่ง ณัฐพงษ์ไม่ใช่อดีตผู้สมัคร ส.ส. แต่ไม่ทราบว่าเป็นสมาชิกของพรรคอนาคตใหม่หรือไม่
ทนายจำเลยให้พยานดูเอกสารซึ่งเป็นโพสต์ของนายณัฐพงษ์ซึ่งระบุว่าอยู่กับจำเลยและโพสต์ข้อความว่า ชวนพี่มิ้งมาวิ่งไล่ลุงกับผม พยานโจทก์บอกว่า ไม่ทราบว่ามิ้งเป็นชื่อเล่นของใครหรือเป็นชื่อเล่นของจำเลยหรือไม่ และไม่ทราบว่าณัฐพงษ์ได้ชวนจำเลยวิ่งหรือไม่
พยานยอมรับข้อความตามที่ระบุในรายงานการสืบสวนว่า เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2563 พยานไปหาณัฐพงษ์ และต่อมาเมื่อวันที่ 5 ม.ค. ได้เชิญตัวมาที่ สภ.สตึก ไม่ใช่กรณีที่ณัฐพงษ์มาที่ สภ.สตึก เอง โดยพยานได้พูดกับณัฐพงษ์ว่า เป็นการกระทำที่อาจผิดกฎหมายจึงขอให้ระงับกิจกรรม
ทนายจำเลยถามว่าพยานได้ไปพบกลุ่มเชียร์ลุงก่อนและชี้แจงว่าอาจผิดกฎหมายและให้ระงับกิจกรรมเช่นเดียวกับที่พยานไปพบณัฐพงษ์หรือไม่ พยานตอบว่าไม่ได้ไป ทนายความทนายจำเลยย้ำว่าตามรายงานการสืบสวนก็ไม่มีใช่หรือไม่ พยานรับว่าไม่มี
พยานดูเอกสารที่ทนายจำเลยให้ดู ซึ่งเป็นโพสต์ของณัฐพงษ์โพสต์ว่า ยังไม่ทันวิ่งก็มีเจ้าหน้าที่มาดูแลแล้วจ้า แล้วยอมรับว่า ณัฐพงษ์น่าจะโพสต์หลังมีเจ้าหน้าที่ไปที่บ้าน ทนายจำเลยให้พยานโพสต์ของณัฐพงษ์ว่า "ขอบคุณทุกคนที่สนใจ ที่ผมไม่จัดกิจกรรมก็เพราะหวั่นเกรงหน้าที่การงาน ส่วนกิจกรรมยังเหมือนเดิม ถนนเป็นของทุกคน" แล้วถามว่า เพราะอะไรณัฐพงษ์ถึงหวั่นเกรงหน้าที่การงาน พยานตอบว่า ไม่ทราบ
ทนายจำเลยถามว่าป้าย 0001 เป็นป้ายสำหรับคนวิ่ง ซึ่งในงานอื่นก็มีใช่หรือไม่ พยานรับว่าใช่ จากนั้นทนายจำเลยให้พยานดูเอกสารแล้วกล่าวว่า ผู้วิ่งได้แปะป้ายว่า "วิ่งไล่ยุง" แผ่นป้ายดังกล่าวเรียกว่า bib ซึ่งจะมีหมายเลขผู้วิ่ง โดยภาพที่ให้พยานดูเป็นกิจกรรมเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2563 ที่นครปฐมซึ่งไม่เกี่ยวกับกิจกรรมนี้ ส่วนภาพบนเสื้อจำเลยมีข้อความ "วิ่งไล่ลุง" ซึ่งจัดงานเมื่อ 12 ม.ค. 2563 ลักษณะเหมือนป้ายวิ่งไล่ยุง
ทนายจำเลยให้พยานดูอีกว่า วันที่ 7 ม.ค. จำเลยโพสต์ว่า "วิ่งไล่ลุงลดพุงจริงนะ ในปีใหม่นี้มีเป้าหมายที่ต้องทำให้บรรลุให้ได้ คือลดน้ำหนักจาก 54 กก. ให้เหลือ 50 กก. พูดแล้วรับผิดชอบตนเอง วันที่ 12 ม.ค. 2563 เวลา 6.00 น. ที่สวนสาธารณะอำเภอสตึก" ทนายจำเลยให้พยานดูรายงานการสืบสวน ซึ่งระบุว่า วันที่ 9 ม.ค. จำเลยไลฟ์ว่า เจมส์ชวนดิฉันมาที่เฟซบุ๊ก ให้ไปร่วมวิ่งดิฉันตอบกลับไปว่า ไปร่วมวิ่งแน่นอน ไปร่วมวิ่งออกกำลังกายกับน้องเจมส์ แต่วันนี้ได้ทราบว่าน้องเจมส์ประกาศหยุดเป็นผู้จัดกิจกรรม ดิฉันยังไปวิ่งตามความตั้งใจเดิม ใครอยากวิ่งออกกำลังกายยังไปได้เป็นสิทธิของทุกคน และไม่เห็นด้วยที่จะมีการสกัดกั้นการจัดกิจกรรม" ทนายจำเลยถามพยานว่า ตามรายงานนี้ ไม่มีข้อความว่าเขาจะจัดกิจกรรมต่อจากเจมส์ ไม่มีการชี้แจงเส้นทาง บอกแค่ว่าไปตามสถานที่ที่เจมส์เคยชวนใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่
วันที่ 12 ม.ค. 2563 จำเลยไลฟ์เพราะเกรงจะเกิดเหตุคุกคามจากกลุ่มเชียร์ลุงพยานทราบหรือไม่ พยานตอบว่าผู้กำกับมีการจัดกำลังดูแลอยู่ทุกส่วน ทนายจำเลยถามว่าแต่ก็มีการมาตะโกนเสียดสีกัน ตามภาพถ่าย จำเลยอยู่คนเดียวใส่เสื้อสีดำ มีกลุ่มเชียร์ลุงใส่เสื้อสีขาวอยู่รอบๆ พยานโจทก์ตอบระบุว่าเหตุการณ์ตาม CD
ทนายจำเลยถามต่อว่า ที่จำเลยพูดว่า “ต่างคนต่างวิ่ง ใครอยากวิ่งก็วิ่งนะคะ คุณป้าเสื้อสวยจังเลย” จำเลยพูดกับกลุ่มเชียร์ลุงใช่หรือไม่ พยานตอบว่า จำเลยพูดคนเดียว ชวนคนมาวิ่ง
ทนายจำเลยถามอีกว่า ตามรายงานของพยาน จำเลยไปวิ่งเวลา 07.00 - 07.45 น. เนื่องจากในเวลา 06.00 น. ยังมีพิธีกรรมตักบาตรอยู่ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าเห็นจำเลยมาที่สวนสาธารณะเวลาประมาณ 06.00 น. แต่ที่รายงานเขียน 07.00 - 07.45 น. พยานไม่ยืนยันว่า กิจกรรมเริ่มกี่โมง และขณะนั้นจะยังมีกิจกรรมตักบาตรหรือไม่
ทนายจำเลยถามอีกว่า พยานเบิกความว่าจำเลยเชิญชวน แต่จากการถอดข้อความจากไลฟ์เป็นเพียงจำเลยพูดถึงการออกมาวิ่งของจำเลย และพูดว่าเศรษฐกิจแย่ พยานตอบเพียงว่า ยืนยันตามบันทึกถอดเทป ศาลบอกว่า ศาลดูข้อความตามบันทึกถอดเทป จะไม่บันทึกที่ทนายจำเลยถาม ทนายจำเลยยืนยันให้บันทึกว่า จะเชิญชวนหรือไม่ พยานไม่ยืนยัน เป็นไปตามบันทึกถอดเทป ศาลปฏิเสธไม่บันทึก และกล่าวว่า ถ้าทนายจำเลยไม่พอใจก็ให้คัดค้านมา
พยานรับว่า จำเลยไม่ได้ปราศรัย ไม่มีเวที เครื่องขยายเสียง ไม่มีชูป้าย ไม่มีจุดสตาร์ทและเส้นชัย เป็นการวิ่งในสวนสาธารณะธรรมดา ทนายจำเลยถามต่อว่า พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ไม่ได้กำหนดไว้เฉพาะเรื่องการชุมนุมทางการเมืองใช่หรือไม่ ศาลไม่บันทึกบอกว่าเป็นข้อกฎหมาย ทนายยืนยันให้บันทึก ศาลกล่าวว่า ทนายจะถามต่อหรือไม่ ถ้าไม่ถามจะให้อัยการถามติง ทนายจำเลยถามต่อว่าการแสดงออกทางการเมืองจะเป็นการชุมนุมสาธารณะหรือไม่ก็ได้ พยานตอบว่าใช่
พยานยังรับว่า สวนสาธารณะปกติมีคนวิ่งออกกำลังกายเช้าเย็น รวมทั้งพักผ่อน คนที่ไปวิ่งก็ไม่เคยต้องแจ้งการชุมนุมสาธารณะ และไม่เคยมีการดำเนินคดีเพราะเป็นการวิ่งออกกำลังกายตามปกติ
จากนั้น ร.ต.ต.สุทัศน์ ตอบโจทก์ถามติงว่า ตำรวจก็ได้ดำเนินคดีกับกลุ่มเชียร์ลุง โดยกลุ่มเชียร์ลุงได้รับสารภาพ และตำรวจเปรียบเทียบปรับตามกฎหมาย
++พยานโจทก์ปากที่ 2++
พ.ต.อ.สัมภาษณ์ ศรีจันทึก รับราชการตําแหน่ง รองผู้บังคับการตํารวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์ เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุ พยานเป็นผู้กํากับการ สภ.สตึก ก่อนเกิดเหตุพยานได้รับคําสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ทําการสืบสวนหาข่าวกิจกรรมวิ่งไล่ลุง ซึ่งมีการจัด ทั่วประเทศ
คําว่า “ลุง” หมายถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กิจกรรมวิ่งไล่ลุงนั้นเป็นกิจกรรมรวมตัวกันวิ่งแสดงเจตจำนงให้นายกฯ ลาออก
หลังพยานได้รับมอบหมายได้สั่งการให้ชุดสืบสวน คือ ร.ต.ต.สุทัศน์ หาญชนะ สืบสวนหาข่าวและรายงานให้พยานทราบเป็นระยะ
เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2563 ร.ต.ต.สุทัศน์ได้รายงานให้พยานทราบเป็นหนังสือว่า นายเจมส์ได้โพสต์ชักชวนให้ประชาชนออกมาวิ่งไล่ลุงในวันที่ 12 ม.ค. 2563 โดยโพสต์ในเฟซบุ๊กบัญชีชื่อว่าอะไร พยานจำไม่ได้ (ศาลบันทึกว่าเฟซบุ๊กของนายเจมส์) ต่อมาภายหลังนายเจมส์แจ้งยกเลิกการเป็นผู้จัดงานวิ่งไล่ลุงดังกล่าว และขอไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
ต่อมา จำเลยได้โพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 7 และ 9 ม.ค. 2563 เชิญชวนให้ประชาชนออกมาวิ่งไล่ลุงใน วันที่ 12 ม.ค. 2563 ที่สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ ต.สตึก ในเวลา 06.00 น. โดย ร.ต.ต.สุทัศน์ได้จัดทำรายงานไว้โดยตลอด
ต่อมาวันที่ 9 ม.ค. 2563 ร้อยตํารวจตรีสุทัศน์ได้รายงานการสืบสวนให้พยานทราบ มีการถอดข้อความจากเฟซบุ๊กของอิสรีย์ ซึ่งมีลักษณะเชิญชวนคนมาวิ่ง ศาลถามว่า มีข้อความอย่างเดียวหรือมีคลิปด้วย พยานตอบว่า มีข้อความ คลิป พร้อมทั้งถอดข้อความจากคลิป
ในวันที่ 12 ม.ค. 2563 พยานกับผู้ใต้บังคับบัญชาได้เดินทางไปยังสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ ต.สตึก โดยจัดวางกําลังไว้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย เนื่องจากหากมีประชาชนมาร่วมกิจกรรมวิ่งในวันดังกล่าว เกรงจะเกิดความไม่สงบ ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว ในบริเวณสวนสาธารณะฯ มีการจัดกิจกรรมทำบุญตักบาตรของทางเทศบาลตําบลสตึก และมีประชาชนที่เชียร์รัฐบาลซึ่งสวมใส่เสื้อสีขาวว่า “ลุงตู่สู้ๆ” มาด้วย
พยานเห็นจําเลยเดินทางมากับพวกประมาณ 7 คน มาถึงสวนสาธารณะฯ เวลาประมาณ 6 โมงเศษ จำไม่ได้ว่าใส่เสื้ออย่างไร โจทก์ให้ดูภาพ พยานเบิกความต่อว่า จําเลยใส่เสื้อสีดําและบริเวณหน้าอกติดป้ายวิ่งมีข้อความว่า “วิ่งไล่ลุง 0001” พวกของจําเลยที่เดินทางมาด้วยกันก็ติดป้ายวิ่งตรงหน้าอกด้วย จากนั้นจําเลยกับพวกได้เดินสลับวิ่งรอบสวนสาธารณะฯ และพยานเห็นจําเลยถือกล้องไลฟ์สดด้วย แต่พยานไม่ได้ยินข้อความที่จําเลยพูดชัดๆ เพราะพยานยืนอยู่ห่างจากจำเลย เนื่องจากต้องดูภาพรวมเหตุการณ์
ในวันเกิดเหตุไม่มีเหตุการณ์รุนแรงมีเพียงแต่เสียงโห่ฮาของชาวบ้านที่มารวมตัว ฝ่ายจําเลยและกลุ่มเชียร์ลุงไม่มีใครมาแจ้งการชุมนุมกับพยานก่อนที่จะมีการชุมนุม หลังเกิดเหตุ ร้อยตํารวจตรีสุทัศน์ได้จัดทํารายงานกิจกรรม ต่อมาวันที่ 13 ม.ค. 2563 พยานจึงแจ้งความร้องทุกข์เพื่อให้ดําเนินคดีกับจําเลย และนายมนตรี แสงศศิธร กลุ่มเชียร์ลุง ว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ
พยานทราบว่าจําเลยเป็นภรรยาของนายกเทศบาลตําบลหนองใหญ่ อําเภอสตึก และเคยเป็นผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต 2 จังหวัดบุรีรัมย์ สังกัดพรรคอนาคตใหม่ พยานไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจําเลยมาก่อน
ต่อมา พ.ต.อ.สัมภาษณ์ ตอบทนายจําเลยถามค้านว่า พยานเป็นเจ้าพนักงานผู้รับแจ้งและเป็นผู้ดูแลการชุมนุมตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฯ หากผู้ใดจะจัดการชุมนุมสาธารณะจะต้องแจ้งให้กับหัวหน้าสถานีตํารวจแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง แต่ถ้าหากเป็นการชุมนุมที่เกี่ยวกับงานมหรสพ การกีฬา การท่องเที่ยว ประเพณีทางศาสนา ไม่อยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ
ผู้บังคับบัญชาได้สั่งการให้พยานสืบสวนหาข่าวเกี่ยวกับการจัดทํากิจกรรมเคลื่อนไหวของมวลชนทั้งหมดในพื้นที่รับผิดชอบของพยาน ทั้งฝ่ายที่เชียร์และคัดค้านรัฐบาล เพื่อเสนอให้ผู้บังคับบัญชาทราบ แต่พยานรับว่า ในรายงานการสืบสวนเมื่อวันที่ 7, 9 และ 12 ม.ค. 2563 ที่พยานได้รับจากร้อยตํารวจตรีสุทัศน์ ไม่มีการรายงานกิจกรรมของกลุ่มที่เชียร์รัฐบาล นอกจากกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” และเฟซบุ๊กของจำเลยเกี่ยวกับกิจกรรมดังกล่าวเท่านั้น
ตามกระดานสถานการณ์ “วิ่งไล่ลุง” แผ่นที่ 1 นั้น ณัฐพงษ์ ธรรมโชติหรือเจมส์ เป็นผู้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเพื่อเชิญชวนประชาชนทั่วไปไปวิ่งไล่ลุง ในเวลา 06.00 น. ที่สวนเฉลิมพระเกียรติอําเภอสตึก แต่พยานไม่ได้เห็นโพสต์ของเจมส์เอง และไม่เห็นว่า เจมส์ได้โพสต์เชิญชวนจำเลยไปวิ่งด้วย
หลังจากที่พยานได้รับรายงานว่ามีคนโพสต์เชิญชวนไปวิ่งไล่ลุง พยานได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตํารวจไปตรวจสอบว่าบุคคลดังกล่าวเป็นใคร ทำให้มีเจ้าหน้าที่ไปพบเจมส์ที่บ้าน ต่อมาพยานได้รับรายงานว่า ผู้โพสต์เป็นวัยรุ่นชายคนหนึ่งที่ชอบวิ่งออกกําลังกาย แต่พยานไม่ทราบว่าจะเป็นสมาชิกพรรคอนาคตใหม่หรือไม่
ตามรายงานการสืบสวนซึ่งระบุว่า วันที่ 5 ม.ค. 2563 เจ้าหน้าที่ตํารวจได้เชิญตัวเจมส์มานั้น พยานไม่ได้สั่งการ ทราบว่านายเจมส์มาพบตำรวจเอง ซึ่งอาจจะเป็นลูกน้องของพยานเชิญมา โดยปกติจะเชิญมาทำประวัติ ถ่ายรูป
พยานรับตามรายงานการสืบสวนว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งเจมส์ว่า การจัดวิ่งไล่ลุงอาจจะผิดกฎหมาย และขอให้ระงับการจัดกิจกรรม ซึ่งเจมส์ยอมยกเลิกกิจกรรมดังกล่าว เมื่อทนายจำเลยถามว่า กรณีดังกล่าวเจ้าหน้าที่สามารถแจ้งให้เจมส์ไปแจ้งการชุมนุมได้ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ได้มอบหมายให้รอง ผกก.แจ้งข้อกฎหมายให้เจมส์ทราบและแจ้งว่าผู้จัดการชุมนุมต้องควบคุมรับผิดชอบกิจกรรมทั้งหมดแล้ว
ทนายจำเลยกล่าวต่ออีกว่า แต่เจมส์ได้โพสต์ข้อความในเวลาต่อมาว่าผมจะไม่เป็นผู้จัดงานครั้งนี้ เนื่องจากหวั่นเกรงในหน้าที่การงานของผม พยานตอบว่า เมื่อเขารู้ข้อกฎหมายแล้วอาจจะไม่อยากรับผิดชอบ
พยานรับตามรายงานการสืบสวนว่า เจมส์ได้โพสต์ด้วยว่า "ส่วนเรื่องวิ่งก็มาได้ปกตินะครับ ถนนเป็นของประชาชน" ซึ่งจําเลยได้โพสต์ตอบในเฟซบุ๊กของตนเองว่า ไปแน่นอน (มีรูปสติ๊กเกอร์) โดยพยานรับว่าที่จำเลยโพสต์เช่นนั้นเป็นการยืนยันว่าจำเลยจะไปร่วมวิ่งออกกำลังกาย
ตามบันทึกการถอดเทปการไลฟ์สดของจำเลยในวันที่ 9 ม.ค. 2563 จําเลยได้พูดด้วยว่า ไม่เห็นด้วยที่มีการสกัดกั้นกิจกรรม เพราะเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกคนที่จะสามารถแสดงออกทางการเมืองได้ พยานรับด้วยว่าในไลฟ์สดของจําเลยดังกล่าวนั้น จําเลยไม่ได้ประกาศว่าตนเองรับเป็นผู้จัด งานวิ่งไล่ลุงต่อจากนายเจมส์ แต่จําเลยพูดว่า "ยังไงก็มาเจอกันนะคะ" ซึ่งพยานเห็นว่า เป็นการเชิญชวนให้ประชาชนออกมาวิ่งในวันดังกล่าว
พยานรับว่า สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรตินั้นเป็นสถานที่ที่ประชาชนออกไปวิ่งออกกําลังกายเป็นปกติอยู่แล้ว หากเป็นการชักชวนออกไปวิ่งกันตามปกติก็ไม่ต้องแจ้งการชุมนุม เพราะไม่ใช่เป็นการชุมนุม
ที่พยานเบิกความว่าในวันเกิดเหตุจําเลยเดินและวิ่งรอบสวนสาธารณะ พยานไม่เห็นว่าจำเลยได้กล่าวปราศรัย อีกทั้งไม่มีเวที เครื่องขยายเสียง ไม่มีการแจกใบปลิว ชูป้าย หรือลงทะเบียน รวมทั้งไม่มีการกําหนดจุดสตาร์ทและเส้นชัย เป็นการวิ่งในสวนสาธารณะตามปกติทั่วไป
พยานรับว่า ป้ายวิ่งที่จําเลยใช้ติดบริเวณหน้าอกเสื้อนั้น มีลักษณะคล้ายกับป้ายวิ่งไล่ยุงนครปฐม ตามที่ทนายจำเลยให้ดูภาพ และคล้ายป้ายตามงานวิ่งทั่วไป แต่กิจกรรมดังกล่าวก็เป็นกิจกรรมวิ่งทั่วไป ไม่ใช่การวิ่งไล่ลุง
พยานยังรับด้วยว่า พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ไม่ได้ใช้เฉพาะการชุมนุมทางการเมือง แต่ใช้กับการชุมนุมสาธารณะทั่วไป (ศาลไม่บันทึก)
ตามภาพถ่ายกระดานสถานการณ์วิ่ง ผู้หญิงที่สวมใส่เสื้อและกางเกงสีดําคือตัวจําเลย และประชาชนที่สวมใส่เสื้อสีขาวยืนล้อมจำเลย เป็นประชาชนที่เชียร์ฝ่ายรัฐบาล
ทนายจำเลยถามว่า ในวันเกิดเหตุ ที่จำเลยไลฟ์และพูดว่า “ต่างคนต่างวิ่งเลยเด้อ ใครอยากวิ่งก็วิ่ง” เพราะกลัวถูกคุกคาม เนื่องจากมีประชาชนซึ่งเป็นฝ่ายเชียร์รัฐบาลเข้ามาโห่ไล่จําเลยกับพวกใช่หรือไม่ พยานตอบว่า คุณทำอะไรคุณรู้อยู่แก่ใจ พยานกลัวแค่เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ไม่อยากให้ประชาชนปะทะกัน
พยานตอบทนายจำเลยรับว่า การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองสามารถทําได้หลายรูปแบบไม่จําเป็นต้องเป็นการชุมนุมสาธารณะก็ได้ รวมทั้งการวิ่งเพื่อรณรงค์ประเด็นอื่นๆ ก็สามารถทำได้
โจทก์ไม่ถามติง
++พยานโจทก์ปากที่ 3++
พ.ต.ท.ยศวัฒน์ มณีวงษ์ชัยกิจ พนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนคดี อัยการถามทนายจำเลยว่า จำเป็นต้องสืบมั้ย หรือจำเลยจะรับข้อเท็จจริงตามคำให้การพยานในชั้นสอบสวน ทนายจำเลยดูคำให้การพยานแล้วแถลงยอมรับข้อเท็จจริง ทำให้ไม่ต้องนำพยานโจทก์ปากที่ 3 เข้าเบิกความ และโจทก์แถลงหมดพยาน
ศาลแจ้งว่า ถ้าสืบพยานจำเลยเลย จะเป็นปัญหา เพราะศาลจะย้าย ผู้พิพากษาที่จะมารับสำนวนใหม่จะมีปัญหาในการทำคำพิพากษา เนื่องจากไม่ได้นั่งเป็นองค์คณะ จึงให้เลื่อนการสืบพยานจำเลยออกไปเป็นวันที่ 6 ก.ค. 2564
(อ้างอิง: คำให้การพยานโจทก์, รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ คดีหมายเลขดำที่ อ.1839/2563 ลงวันที่ 4 มี.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/38064)
-
วันที่: 06-07-2021นัด: สืบพยานจำเลยชันยธร กริชชาญชัย ผู้พิพากษา ออกพิจารณาคดีในนัดสืบพยานจำเลย อิสรีย์ เข้าเบิกความเป็นพยานให้ตนเอง ใจความว่า
เมื่อปี 2562 ซึ่งมีการเลือกตั้งทั่วประเทศ พยานได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคอนาคตใหม่ เขต 2 จังหวัดบุรีรัมย์ หลังเลือกตั้งพยานได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
สําหรับกิจกรรมวิ่งไล่ลุง พยานจําได้ว่าเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2563 โดยพยานทราบถึงการจัดกิจกรรมดังกล่าวผ่านสื่อ และทราบว่าผู้จัดชื่อธนวัฒน์ จํานามสกุลไม่ได้ ชื่อเล่นว่าบอล ซึ่งเป็นอดีตประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะจัดที่สวนรถไฟ ซึ่งเป็นสวนสาธารณะในกรุงเทพฯ มีวัตถุประสงค์เป็นการแสดงออกทางการเมือง เศรษฐกิจ และเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมกันออกกําลังกาย ทั้งยังอยากให้รัฐบาลฟังเสียงของประชาชน
ต่อมาพยานพบเฟซบุ๊กของ อดิศร ฉลวย ชื่อเล่นว่าเอก ว่าจะมีการจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงที่อําเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ โดยนายอดิศรเป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคไทยรักษาชาติ และเป็นเพื่อนทางเฟซบุ๊กกับพยาน
นอกจากนี้พยานยังเห็น เจมส์ ณัฐพงษ์ โพสต์เฟซบุ๊กประมาณวันที่ 3 ม.ค. 2563 โดยติดแท็กถึงพยาน ระบุว่า “ชวนพี่มิ้งมาวิ่งไล่ลุงกับผมครับ” ซึ่งหมายถึงพยานที่มีชื่อเล่นว่ามิ้ง และโพสต์เส้นทางที่จะใช้วิ่งว่าเป็นถนนริมแม่น้ำมูลในอําเภอสตึก ซึ่งใช้จัดกิจกรรมแข่งขันการวิ่งเป็นประจํา ทั้งนี้เจมส์เป็นคนรุ่นใหม่ในอำเภอสตึก และเป็นนักวิ่ง ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคอนาคตใหม่ พยานจึงเข้าใจว่า จะมีการจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงที่อําเภอสตึก
ต่อมา เจมส์ได้โพสต์ข้อความในลักษณะที่ว่า ยังไม่ทันวิ่ง ก็มีเจ้าหน้าที่มาหาที่บ้าน หลังจากนั้น ประมาณวันที่ 5 ม.ค. 2563 เจมส์ได้ประกาศยกเลิกการจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง เพราะกระทบกับงาน เมื่อพยานโทรไปสอบถาม เจมส์แจ้งว่าที่ยกเลิกเนื่องจากกลัวกระทบต่อการประกอบอาชีพ ทั้งนี้เจมส์ได้โพสต์ด้วยว่า ถึงเขาไม่ได้จัดแล้ว แต่ประชาชนก็มาวิ่งได้ปกติ ถนนเป็นของประชาชน
วันที่ 9 ม.ค. 2563 พยานได้ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นกรณีที่เจมส์ยกเลิกการจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง เนื่องจากพยานเห็นว่าไม่เป็นธรรม พยานยังพูดด้วยว่าจะไปวิ่งที่สวนสาธารณะตามที่ตั้งใจไว้ ซึ่งปกติพยานก็ไปวิ่งกับพี่สาวอยู่แล้ว ที่พยานยืนยันว่าจะไปวิ่ง เพราะเป็นความตั้งใจตั้งแต่แรกที่จะไปวิ่งออกกำลังกายและลดน้ำหนักด้วย ตามที่พยานโพสต์ว่า วิ่งไล่ลุงลดพุงจริงนะ ทั้งนี้ สถานที่ที่จะไปวิ่งคือสวนสาธารณะซึ่งเป็นสถานที่วิ่งเป็นประจำของประชาชนในอำเภอสตึก ไม่ใช่เส้นทางวิ่งที่เจมส์เคยโพสต์ไว้ ซึ่งภายหลังเจมส์ได้ลบโพสต์ดังกล่าวไปแล้ว
นอกจากที่พยานไลฟ์สดและโพสต์ข้อความตามที่เบิกความมาแล้ว พยานก็ไม่ได้ดําเนินการอื่น ๆ เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงอีก และในวันที่ 12 ม.ค. 2563 พยานก็ไปวิ่งที่สวนสาธารณะโดยไม่ได้มีใบปลิว เครื่องเสียง หรืออุปกรณ์อื่นใดที่ใช้สำหรับจัดกิจกรรมติดตัวไปด้วย เนื่องจากพยานไม่ได้ตั้งใจไปจัดกิจกรรม มีเพียงอุปกรณ์ที่จะใช้ออกกำลังกายเท่านั้น
ตามภาพถ่ายซึ่งเป็นหลักฐานของโจทก์ แผ่นป้ายที่ติดบริเวณเสื้อของพยานขณะที่พยานวิ่งที่สวนสาธารณะในวันที่ 12 ม.ค. 2563 พยานได้มาจากนายอดิศรซึ่งจัดงานวิ่งไล่ลุงที่อําเภอบ้านกรวด และงานดังกล่าวไม่ได้ถูกยกเลิก โดยได้มาก่อนวันที่พยานไปวิ่ง แผ่นป้ายดังกล่าวมีข้อความว่า “วิ่งไล่ลุง บุรีรัมย์” ในส่วนของอำเภอสตึกไม่ได้มีการจัดทำเสื้อใด ๆ เกี่ยวกับกิจกรรมวิ่งไล่ลุง อีกทั้งในอำเภอสตึกไม่มีการจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงด้วย พยานนำแผ่นป้ายดังกล่าวมาติดเพื่อเป็นการแสดงออกของพยานเอง
พยานทราบว่าในวันที่ 12 ม.ค. 2563 มีการจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงที่จังหวัดต่าง ๆ ของประเทศไทยทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2563 ขณะที่พยานกําลังวิ่งอยู่ในสวนสาธารณะ ได้มีตํารวจมาเรียกให้พยานไปยืนรวมกับคนอื่นที่วิ่งอยู่ในสวนสาธารณะรวมทั้งหมดประมาณ 7 คน แล้วถ่ายภาพ โดยพยานเห็นว่าหนึ่งในนั้นติดแผ่นป้ายที่เสื้อลักษณะคล้ายกับที่พยานติด แต่พยานไม่ทราบว่า บุคคลดังกล่าวได้ป้ายนั้นมาจากที่ใด จากนั้นแต่ละคนก็ได้แยกย้ายกันไปวิ่งในสวนสาธารณะ โดยไม่มีการปราศรัย อ่ายแถลงการณ์ หรือแสดงออกทางการเมืองใดๆ
ระหว่างที่พยานกําลังวิ่งอยู่ โดยมีบุคคลทั่วไปวิ่งอยู่ในสวนสาธารณะตามปกติด้วย ได้มีกลุ่มคนใส่เสื้อที่มีข้อความว่า “ลุงตู่สู้ ๆ” ได้มาโห่ไล่และตะโกนให้พยานออกไป บอกว่า ไม่อยากให้มาสร้างความวุ่นวายในสตึก พยานจึงได้ไลฟ์สดเฟซบุ๊ก เพื่อเป็นการป้องกันตัวเอง และถ่ายภาพเป็นพยานหลักฐานหากมีเหตุอันตรายใด ๆ เกิดขึ้น
พยานเข้าใจว่าทุกคนแสดงออกได้ ไม่ว่าจะเชียร์ประยุทธ์หรือไม่เชียร์ ส่วนพยานก็ยืนยันการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเช่นกัน
พยานทราบว่าสิทธิในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อ 19 รวมถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองข้อ 19
สําหรับแผ่นป้ายที่พยานใช้ติดเสื้อในวันที่ 12 ม.ค. 2563 เป็นแผ่นป้ายเช่นเดียวกับในงานวิ่งโดยทั่วไป ซึ่งผู้จัดงานจะมอบให้ผู้ที่จะเข้าร่วมวิ่งติดที่เสื้อ เรียกว่า “บิบ” ตามที่ปรากฏในข่าวการจัดกิจกรรมการวิ่ง แต่ในวันที่ 12 ม.ค. 2563 ไม่ได้มีการแจกแผ่นป้ายลักษณะดังกล่าวนี้ให้กับคนที่มาวิ่งในสวนสาธารณะ
การโพสต์ข้อความและไลฟ์สดในเฟซบุ๊ก พยานไม่เคยแสดงตัวว่าเป็นผู้จัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง และในวันที่ 12 ม.ค. 2563 พยานไปวิ่งคนเดียว และหลังจากวิ่งเสร็จพยานก็กลับบ้านคนเดียว ชั้นสอบสวนพยานได้ยื่นคําให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือ ซึ่งพยานให้การปฏิเสธว่า ไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรม
หลังอิสรีย์เบิกความเสร็จ โดยโจทก์ไม่ถามค้าน ทนายจำเลยแถลงหมดพยาน
เนื่องจากพยานยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ที่ใช้บังคับกับจำเลยในคดีนี้ ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ศาลยังไม่ได้รับคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญต่อคำร้องของจำเลย จึงยังไม่อาจมีคำพิพากษาได้ อีกทั้งยังไม่แน่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยเมื่อใด ศาลจึงเห็นควรว่ายังไม่กำหนดนัดฟังคำพิพากษา หากได้รับคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญเมื่อใด จะมีหมายแจ้งไปยังคู่ความ
(อ้างอิง: คำให้การพยานจำเลย, รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ คดีหมายเลขดำที่ อ.1839/2563 ลงวันที่ 6 ก.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/38064)
-
วันที่: 22-11-2021นัด: ฟังคำพิพากษาประมาณ 10.30 น. ชันยธร กริชชาญชัย ผู้พิพากษาออกนั่งอ่านคำพิพากษายกฟ้อง ใจความโดยสรุปดังนี้
การที่จำเลยและบุคคลอื่นร่วมกันทำกิจกรรมสาธารณะในวันเกิดเหตุ โดยมีการนัดหมายวันเวลาไว้ล่วงหน้า มีการติดหมายเลข และป้ายข้อความว่า “วิ่งไล่ลุง” อันมีลักษณะเป็นการแสดงออกทางความคิดเห็นในเรื่องเดียวกันและทิศทางเดียวกัน ทั้งเมื่อจำเลยถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กขณะกำลังวิ่ง จำเลยใช้คำสรรพนามแทนตัวเองว่า “เรา” หลายช่วงหลายตอน แตกต่างจากการพูดตอนถ่ายทอดสดส่วนตัวที่จำเลยจะใช้คำสรรพนามว่า “ดิฉัน” อันส่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นหมู่เป็นพวก
นอกจากนี้ก่อนเกิดเหตุ แม้ณัฐพงษ์โพสต์เฟซบุ๊กยกเลิกกิจกรรมวิ่งไล่ลุงในอำเภอสตึกแล้ว แต่เมื่อพิจารณาถึงการตรา พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงของชาติ ความปลอดภัยสาธารณะ ป้องกันผลกระทบต่อการชุมนุมที่อาจกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นอย่างเกินสมควร ประกอบนิยามการชุมนุมสาธารณะตามมาตรา 4 ที่กำหนดขอบเขตการชุมนุมค่อนข้างกว้าง ย่อมจะเห็นได้ว่า การชุมนุมไม่ได้จำกัดเพียงการชุมนุมที่เป็นกิจลักษณะเท่านั้น
ส่วนที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยเดินทางมาวิ่งที่สวนสาธารณะคนเดียว บุคคลที่ติดหมายเลขและป้ายข้อความก็ต่างคนต่างมาวิ่ง และเมื่อเสร็จสิ้นจำเลยก็กลับบ้านคนเดียวนั้น เนื่องจากตามสภาพของการชุมนุมไม่จำเป็นที่ผู้ร่วมชุมนุมจะเดินทางมาและกลับพร้อมกัน และไม่จำเป็นว่าผู้ชุมนุมจะต้องทำกิจกรรมร่วมกัน ข้ออ้างของจำเลยในส่วนนี้จึงฟังไม่ขึ้น และสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติเป็นที่สาธารณะที่ประชาชนทั่วไปใช้ประโยชน์ร่วมกัน กิจกรรมที่จำเลยทำจึงเป็นการชุมนุมสาธารณะ
ในส่วนที่จำเลยโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กและถ่ายทอดสด หากพิจารณาข้อความ คำพูด และพฤติกรรมของจำเลย จะเห็นได้ว่ามีลักษณะการเชิญชวนและนัดให้ผู้อื่นมาร่วม โดยมีการระบุเวลาและสถานที่นัดหมาย ซึ่ง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 10(2) ให้ถือว่าผู้ที่กระทำเช่นนั้น เป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุม และมีหน้าที่ต้องแจ้งชุมนุมต่อผู้รับแจ้งตามมาตรา 10(1)
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการใช้และการตีความกฎหมายจะต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ที่แท้จริง เมื่อพิจารณา พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 10(1) ที่กำหนดหน้าที่ให้แก่ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมว่าต้องแจ้งการชุมนุม ซึ่งมีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐาน และมีบทกำหนดโทษของผู้ฝ่าฝืน ส่งผลให้การตีความต้องกระทำโดยเคร่งครัด ประกอบกับคำนิยามของคำว่า “ผู้จัดการชุมนุม” ตามมาตรา 4 ที่หมายความว่า ผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะ และให้หมายความรวมถึงผู้ประสงค์จะจัดชุมนุมสาธารณะ และผู้ซึ่งเชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมกันชุมนุม โดยแสดงออกหรือมีพฤติการณ์ให้บุคคลอื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดให้มีการชุมนุมนั้น
นอกจากนี้ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ก็ได้บัญญัติหน้าที่ของผู้จัดการชุมนุมและผู้ร่วมชุมนุมไว้แยกต่างหากจากกัน ในมาตรา 15 และมาตรา 16 ซึ่งหากจะแปลความว่า ผู้เชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาชุมนุมในวันเวลาและสถานที่ที่กำหนดทุกคนเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมเสียทั้งหมด ผู้ที่เพียงแต่ชักชวนเป็นการส่วนตัวในระหว่างเพื่อนฝูงให้ไปร่วมชุมนุมกัน โดยระบุวันเวลาและสถานที่ ก็มีหน้าที่ที่จะต้องไปแจ้งการชุมนุมตามมาตรา 10 ทั้งที่บุคคลดังกล่าวต้องการเข้าร่วมการชุมนุมเท่านั้น จึงขัดต่อเหตุผลและเป็นการกำหนดหน้าที่ให้บุคคลดังกล่าวเกินสมควร
กรณีจึงต้องถือว่า ผู้เชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมในวันเวลาและสถานที่ที่กำหนด ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆ จะถือว่าเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมหรือผู้จัดการชุมนุม ก็ต่อเมื่อบุคคลดังกล่าวได้แสดงออกหรือมีพฤติการณ์ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดให้มีการชุมนุม ตามมาตรา 4 ด้วย
เมื่อพิจารณาข้อความที่จำเลยโพสต์ในเฟซบุ๊ก กับทั้งพฤติการณ์และคำพูดของจำเลยในการถ่ายทอดสด ส่อแสดงให้เห็นว่า จำเลยเป็นผู้ที่เดิมจะไปร่วมกิจกรรมวิ่งไล่ลุงที่จะมีการจัดขึ้นอย่างเป็นกิจจะลักษณะ และจะยังคงไปทำกิจกรรม แม้ไม่ได้มีการจัดกิจกรรมดังกล่าวอย่างเป็นกิจจะลักษณะ โดยเชิญชวนให้บุคคลอื่นไปร่วมทำกิจกรรมดังกล่าวด้วยเท่านั้น รวมทั้งแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่ากิจกรรมดังกล่าวสามารถกระทำได้ และไม่เห็นด้วยกับการห้ามจัดกิจกรรม
การกระทำของจำเลยในส่วนนี้จึงไม่ได้มีลักษณะที่ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าจำเลยเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงแต่อย่างใด เมื่อประกอบกับจำเลยนำสืบว่า ก่อนเกิดเหตุณัฐพงษ์ได้โพสต์ข้อความชักชวนจำเลยมาทำกิจกรรมวิ่งไล่ลุงจริง และจากการนำสืบพยานโจทก์ไม่ปรากฏพฤติการณ์อื่นของจำเลย ทั้งก่อนเกิดเหตุ ระหว่างเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ ที่ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าจำเลยเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง จึงรับฟังได้ว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
.
ภายหลังออกจากห้องพิจารณา อิสรีย์ ซึ่งปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วย ส.ส. เปิดเผยว่า ค่อนข้างยินดีกับผลคำพิพากษาที่ออกมา เพราะคิดว่าตนไม่ได้ทำผิด พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ตั้งแต่แรก เนื่องจากตั้งใจจะไปวิ่งในเช้าวันที่ 12 ม.ค. 2563 อยู่แล้ว ส่วนคนอื่นเขาก็อยากไปร่วมจึงได้วิ่งพร้อมกันในวันนั้น นอกจากนี้ก่อนวันวิ่งไล่ลุงตนยังโพสต์ย้ำทางเฟซบุ๊กอยู่บ่อยๆ ว่า จะยังไปวิ่ง แม้กิจกรรมที่ณัฐพงษ์จะจัดขึ้นนั้นถูกยกเลิกแล้ว
สาเหตุที่ตนตัดสินใจไม่เป็นผู้จัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงและไปแจ้งการชุมนุม เพราะคิดว่าหากตนไปแจ้ง ตำรวจก็คงจะมากดดันให้งดจัดกิจกรรมอยู่ดี อีกอย่างเนื่องจากตนเป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล หากตนไปแจ้งเป็นผู้จัดชุมนุมอาจมีกลุ่มคนอื่นมาสร้างสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรงในพื้นที่ และอาจมีการดำเนินคดีในข้อหาที่รุนแรงกว่านี้ได้
นับเป็นคดีวิ่งไล่ลุงคดีที่ 2 ที่ศาลพิพากษายกฟ้อง ด้วยเหตุผลเช่นเดียวกันว่า จำเลยเป็นเพียงผู้ที่เชิญชวนคนอื่นให้มาร่วมกิจกรรมวิ่งไล่ลุง ซึ่งถือเป็นการชุมนุมสาธารณะ แต่ไม่มีพฤติการณ์อื่นที่ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่า จำเลยเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดกิจกรรม
(อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/38064)
สถานะ การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว หรือ ผลการพิพากษา
ชั้นสอบสวน
ผู้ถูกดำเนินคดี :
น.ส.อิสรีย์ อภิสิริรุจิภาส
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
ศาลชั้นต้น
ผู้ถูกดำเนินคดี :
น.ส.อิสรีย์ อภิสิริรุจิภาส
ผลการพิพากษา
ยกฟ้อง
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ :
22-11-2021
คำฟ้อง/คำพิพากษา
แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์