สรุปความสำคัญ

22 ส.ค. 2563 "คณะอุบลปลดแอก" จัดการชุมนุม #เด็กพูดผู้ใหญ่ฟัง เพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออก, ยกเลิก สว. และให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ภายหลังการชุมนุมตำรวจได้ดำเนินคดี ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องรวม 4 ราย ได้แก่ ฉัตรชัย แก้วคำปอด ผู้แจ้งการชุมนุม, วิศรุต สวัสดิ์วร พิธีกร, "เพนกวิน" พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ "โตโต้" ปิยรัฐ จงเทพ ผู้ปราศรัย ในข้อหา ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14

ต่อมา เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศดำเนินการบังคับใช้กฎหมายทุกมาตรากับผู้ชุมนุม พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อกล่าวหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์" ตามมาตรา 112 เพิ่มเติมกับพริษฐ์ ซึ่งปราศรัยเรื่อง “กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” ในการชุมนุมดังกล่าว รวมทั้งเมื่อสำนวนคดีส่งถึงอัยการ อัยการก็มีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาตามมาตรา 112 เพิ่มเติมกับปิยรัฐซึ่งปราศรัยประเด็น "พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์กับบทบาทของกองทัพไทย" ด้วย

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • ฉัตรชัย แก้วคำปอด
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพในการชุมนุม
    • สิทธิในชีวิตและร่างกาย
    • สิทธิในความมั่นคงปลอดภัย
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • พริษฐ์ ชิวารักษ์
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพในการชุมนุม
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • วิศรุต สวัสดิ์วร
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพในการชุมนุม
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • ปิยรัฐ จงเทพ
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพในการชุมนุม
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

22 ส.ค. 2563 "คณะอุบลปลดแอก" จัดการชุมนุม #เด็กพูดผู้ใหญ่ฟัง ที่ศาลหลักเมืองอุบลฯ เพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออก, ยกเลิก สว. และให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีนักเรียน นักกิจกรรมในพื้นที่ขึ้นปราศรัยในประเด็นต่างๆ รวมทั้งมีพริษฐ์ ชิวารักษ์ และปิยรัฐ จงเทพ มาร่วมปราศรัย โดยพริษฐ์ได้ปราศรัยถึงข้อเสนอในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ และปิยรัฐปราศรัยเรื่อง พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์กับบทบาทของกองทัพไทย

30 ก.ย. 2563 ฉัตรชัย แก้วคำปอด และวิศรุต สวัสดิ์วร ผู้จัดชุมนุม เดินทางไปแสดงตัวที่ สภ.เมืองอุบลฯ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ หลัง "โตโต้" ปิยรัฐโพสต์ว่ามีข่าวการขอศาลออกหมายจับข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 รวม 4 คน จากการชุมนุมดังกล่าว ตำรวจปฏิเสธว่า ยังไม่มีการแจ้งความ เป็นเพียงสำนวนการสืบสวน แต่ขณะเดียวกันก็รับว่า มีการไปขอออกหมายจับหลายครั้งแล้ว ศาลยังไม่อนุญาต และนัดไต่สวนวันที่ 15 ต.ค. 2563 เป็นหมายจับข้อหา มาตรา 116 รวม 4 คน คือ ฉัตรชัย, วิศรุต, พริษฐ์ และปิยรัฐ ฉัตรชัยและวิศรุตจึงขอให้ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานว่า มาพบตำรวจในวันนี้เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ โดยหากมีการออกหมายทั้งสองก็พร้อมมาพบตำรวจโดยไม่หลบหนี

ต่อมา วันที่ 15 ต.ค. 2563 มีรายงานข่าวว่า ศาลจังหวัดอุบลฯ อนุมัติหมายจับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมดังกล่าวรวม 3 ราย ได้แก่ ฉัตรชัย แก้วคำปอด ผู้แจ้งการชุมนุม, พริษฐ์ ชิวารักษ์ และปิยรัฐ จงเทพ ผู้ปราศรัย

17 ต.ค. 2563 เวลาประมาณ 20.00 น. มีรายงานว่า ฉัตรชัย แก้วคำปอด ถูกจับกุมที่บริเวณวงเวียนใหญ่ เป็นการจับกุมตามหมายจับของศาลจังหวัดอุบลฯ ในข้อหาตามประมาลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ภายหลังการจับกุมไม่ทราบแน่ชัดว่าเขาถูกนำตัวไปที่ใด และคนรู้จักไม่สามารถติดต่อเขาได้

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับการติดต่อจากฉัตรชัยในเวลาเกือบ 01.00 น. ของวันที่ 18 ต.ค. 2563 แจ้งว่า ตำรวจจะควบคุมตัวเขาส่งไปอุบลฯ ในคืนนี้ โดยหลังถูกจับกุมเขาถูกนำตัวไปทำบันทึกจับกุมที่กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บก.สส.บช.น.) เพียงผู้เดียว ไม่มีทนายความอยู่ด้วย ซึ่งเขาไม่ยินยอมลงชื่อในบันทึกจับกุมดังกล่าว

ฉัตรชัยแจ้งด้วยว่า เขามีอาการเจ็บบริเวณคอ ซึ่งมีสาเหตุมาจากถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจล็อกคอขณะเข้าจับกุม โดยเขาต้องการรับการตรวจรักษาอาการบาดเจ็บก่อนที่จะถูกควบคุมตัวไปอุบลฯ อย่างไรก็ตาม ตำรวจรีบควบคุมตัวเขาขึ้นรถตู้และออกเดินทางทันที โดยไม่อนุญาตให้ผู้ที่ฉัตรชัยไว้วางใจซึ่งตามไปรออยู่ด้านหน้า บก.สส.บช.น. นั่งรถไปด้วย

ประมาณ 09.00 น. ฉัตรชัยถูกควบคุมตัวถึง สภ.เมืองอุบลฯ ก่อนพนักงานสอบสวนเริ่มกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาในช่วงเที่ยง โดยกล่าวหาว่าฉัตรชัยกระทำความผิดในข้อหา ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการปราศรัยในการชุมนุม #เด็กพูดผู้ใหญ่ฟัง ที่ศาลหลักเมืองอุบลฯ เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2563 และมีการนำคลิปการปราศรัยเผยแพร่ในโซเชียล ฉัตรชัยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

จากนั้น ส.ส.จ.อุบลฯ พรรคเพื่อไทย ได้ใช้ตำแหน่ง ส.ส. ขอประกันตัวฉัตรชัยในชั้นพนักงานสอบสวน แต่ ผกก.สภ.เมืองอุบลฯ ไม่อนุญาต ก่อนที่ศาลจะอนุญาตให้ประกัน หลังพนักงานสอบสวนขอฝากขังต่อศาลในวันรุ่งขึ้น (อ้างอิง: https://web.facebook.com/lawyercenter2014/posts/3348553845194446)

21 ต.ค. 2563 พนักงานสอบสวนจาก สภ.เมืองอุบลฯ เข้าแจ้งข้อกล่าวหาต่อพริษฐ์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ขณะพริษฐ์ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ บก.ตชด.ภาค 1 หลังจากพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม เข้าอายัดตัวจากเรือนจำอำเภอธัญบุรี แม้จะได้รับการประกันตัวในคดีการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 พริษฐ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม จะควบคุมตัวพร้อมปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ออกจาก บก.ตชด.ภาค 1 เพื่อไปขอศาลอาญาฝากขัง ในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร (อ้างอิง: https://web.facebook.com/lawyercenter2014/posts/3354599241256573)

6 พ.ย. 2563 วิศรุต สวัสดิ์วร นักกิจกรรม #คณะอุบลปลดแอก พร้อมทนายความเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนหลังได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 5 พ.ย. 2563 โดยก่อนหน้านั้น ผกก.สภ.เมืองอุบลฯ ได้โทรศัพท์แจ้งให้วิศรุตเข้าไปให้ปากคำโดยไม่มีหมายเรียก แต่ทนายความขอให้ออกเป็นหมายเรียกผู้ต้องหาตามกระบวนการของกฎหมาย

พ.ต.ท.สมอาจ แคนเภาว์ สว.(สอบสวน) สภ.เมืองอุบลฯ แจ้งข้อกล่าวหาวิศรุต 2 ข้อหา เช่นเดียวกับฉัตรชัยและพริษฐ์วิศรุตให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา จากนั้นพนักงานสอบสวนไม่ได้ควบคุมตัว กรณีของวิศรุตซึ่งไม่ได้ถูกออกหมายจับ คาดว่า พนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนการสอบสวนของฉัตรชัยและพริษฐ์ส่งให้พนักงานอัยการจังหวัดอุบลฯ แล้ว แต่อัยการส่งสำนวนกลับโดยให้ดำเนินคดีกับวิศรุต ผู้ดำเนินรายการในการชุมนุมดังกล่าวเพิ่มอีกราย (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/?p=22963)

24 พ.ย. 2563 เวลาประมาณ 14.39 น. ปิยรัฐ จงเทพ หรือ “โตโต้” แกนนำการ์ดอาสาคณะราษฎร ได้ถูกชุดเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ นำโดย ร.ต.ต.อัศวิน มะลัยสิทธิ์ รองสารวัตร (สส.) กก.สส.1 บก.สส.บช.น. เข้าจับกุมตัวบริเวณย่านเขตทวีวัฒนา โดยมีการแสดงหมายจับซึ่งออกโดยศาลจังหวัดอุบลฯ ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ปิยรัฐได้ขอขับรถเดินทางไป สน.ศาลาแดง ด้วยตนเอง

จากนั้นตำรวจได้ทำบันทึกการจับกุม ก่อนนำตัวปิยรัฐขึ้นรถตู้เดินทางไปถึง สภ.เมืองอุบลฯ ในเวลาประมาณ 23.30 น.
วันต่อมา ปิยรัฐจึงถูกนำตัวจากห้องควบคุมผู้ต้องหา ไปสอบปากคำ โดยมีทนายความและบุคคลที่ไว้วางใจเข้าร่วม ปิยรัฐให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนปฏิเสธให้ประกันในชั้นสอบสวน และควบคุมตัวไว้ที่ สภ.เมืองอุบลฯ ต่อตามที่มีอำนาจไม่เกิน 48 ชั่วโมง ก่อนส่งศาลขอฝากขังในเช้าวันที่ 26 พ.ย. 2563 ซึ่งศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวน ทำให้ปิยรัฐได้รับการปล่อยตัว โดยไม่ต้องยื่นประกันตัว (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/?p=23578)

ภูมิหลัง

  • พริษฐ์ ชิวารักษ์
    อดีตเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท
  • ฉัตรชัย แก้วคำปอด
    อาชีพทนายความ เป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคต จ.อุบลฯ ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 ภายหลังไม่ได้รับการเลือกตั้ง ได้ทำกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตยร่วมกับนักกิจกรรมใน จ.อุบลฯ ในชื่อกลุ่ม "วิ่งไล่ลุงอุบลฯ" และ "คณะอุบลปลดแอก"
  • วิศรุต สวัสดิ์วร
    ประกอบธุรกิจส่วนตัว ร่วมทำกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตยกับนักกิจกรรมใน จ.อุบลฯ ในชื่อกลุ่ม "วิ่งไล่ลุงอุบลฯ" และ "คณะอุบลปลดแอก"

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์