ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.1245/2564
แดง อ.2187/2565

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.1245/2564
แดง อ.2187/2565
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม

ความสำคัญของคดี

“พอร์ท ไฟเย็น” หรือปริญญา ชีวินกุลปฐม นักดนตรี ถูกจับกุมตามหมายจับศาลทหารกรุงเทพที่ออกในปี 2559 และถูกควบคุมตัวไป บก.ปอท. แจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากโพสต์เนื้อเพลงและข้อความในเฟซบุ๊กเมื่อเดือน เม.ย.- ก.ค. 2559 รวม 3 โพสต์ หลังพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลอาญา ปริญญาไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวน แม้มีการยื่นประกันอีกในเวลาต่อมา ก่อนที่ศาลจะอนุญาตให้ประกันในการยื่นประกันครั้งที่ 4 โดยกำหนดเงื่อนไข ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่จะทําความเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์และก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง หลังถูกขังระหว่างสอบสวน 68 วัน และติดเชื้อโควิดจากในเรือนจำ

ปริญญาเป็นประชาชนรายที่ 2 ซึ่งถูกจับกุมจากหมายจับปี 2559 และเป็นรายที่ 2 ที่ไม่ได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวน ภายหลังจากที่มีนโยบายนำประมวลกฎหมายมาตรา 112 กลับมาดำเนินคดีอีกครั้ง

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

อานนท์ ปราการรัตน์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 บรรยายเนื้อหาคำฟ้อง ระบุว่า

ปัจจุบันประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยรัชกาลที่ 10 เป็นพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 2 บัญญัติว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” และมาตรา 6 บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดไม่ได้”

จําเลยได้กระทําความผิดต่อกฎหมายรวม 3 กรรม ดังต่อไปนี้

1. เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2559 จําเลยได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ ด้วยการโพสต์ข้อความลงในบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “Rishadan Port ” ของจำเลย ซึ่งเปิดเป็นสาธารณะ ว่า “สถาบันกษัตริย์ (ที่มีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่มีบทลงโทษรุนแรงคุ้มครอง) คือสิ่งงมงายอย่างหนึ่ง ใครก็ตามที่อ้างตนว่าต่อต้านสิ่งงมงาย แต่แจ้งจับคนเห็นต่างด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คน ๆ นั้น คือ คนตอแหลและจิตใจโหดเหี้ยม”

ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่า สถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งงมงาย ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะสําหรับประเทศไทย สถาบันกษัตริย์อยู่คู่กับสังคมไทยและคนไทยมาอย่างยาวนาน โดยฐานะของพระมหากษัตริย์ไทยตามรัฐธรรมนูญ คือ ทรงเป็นประมุข และประชาชนต้องเคารพเทิดทูน ที่สําคัญพระมหากษัตริย์ไทยยังทรงมีบทบาทในการใช้พระราชอํานาจผ่านสถาบันนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ จึงไม่ใช่สิ่งงมงาย

2. เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2559 จําเลยได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ ด้วยการโพสต์ข้อความลงในบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “Rishadan Port ” ของจำเลย ซึ่งเปิดเป็นสาธารณะ ว่า “เพลง สถาบันกากสัส สถาบันกากสัส สถาบันกากสัส สถาบันกากสัส สถาบันๆๆ สถาบันอะไร กดหัวผู้คน สั่งฆ่าประชาชน หนุนรัฐประหาร สถาบันอะไรห้ามคนวิจารณ์ ใช้อํานาจเผด็จการ ครอบงําสังคม มันใช้งานผ่านศาล ทหาร ตํารวจ ไอ้สัสกะหมาๆๆ สถาบันกากสัส สถาบันกากสัส สถาบันกากสัส สถาบันระยําๆๆ สถาบันอะไร ผูกขาดความดี แดกห่าภาษี ย่ํายีคนจน สถาบันอะไร ร่ํารวยสุดล้น ทั้งโกงทั้งปล้น เสือกสอนให้คนพอเพียง มันไม่เคยจะพอ โลภหลงอํานาจ ไอ้สัสกะหมาๆๆ สถาบันกากสัส สถาบันกากสัส สถาบันกากสัสสถาบันระยําๆๆ

แต่งทํานองและท่อนฮุคไว้หลายเดือนแล้ว แต่เพิ่งแต่งเสร็จทั้งเพลงเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา บันทึกเสียงในส่วนของกีตาร์ไว้แล้ว หากโชคดีภายในปีนี้คงได้ฟังกันครับ (โชคไม่ดีก็ภายในปีหน้า) ปล. สถาบันอะไรก็ไม่รู้นะครับ มีสถาบันตั้งหลายสถาบัน ตีความกันได้กว้างๆ ครับ 55555”

ข้อความกล่าวทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่า สถาบันกษัตริย์ของไทยเป็นสถาบันที่ไม่ดี กดหัวผู้คน หนุนรัฐประหาร ใช้อํานาจเผด็จการครอบงําสังคม ย่ำยีคนจน โลภหลงอํานาจ เพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสถาบันกษัตริย์

3. เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2559 เวลากลางวัน จําเลยได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ ด้วยการโพสต์ข้อความลงในบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “Rishadan Port ” ของจำเลย ซึ่งเปิดเป็นสาธารณะ ว่า “ไม่มีกษัตริย์เซ็นรับรองการรัฐประหารก็งี้แหละ #ตุรกี #รัฐประหารตุรกี”

ข้อความดังกล่าวทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่า พระมหากษัตริย์ของไทยทรงลงพระปรมาภิไธยเพื่อรับรองการทํารัฐประหารในประเทศไทย ทั้งที่ในระบอบการปกครองของประเทศไทย สถาบันกษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง จึงไม่อยู่ในสถานะที่จะทรงให้ความเห็นชอบใดๆ กับการทํารัฐประหาร

นอกจากนี้ ข้อความทั้งสามยังเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงและปลุกปั่นทําให้ประชาชน และบุคคลทั่วไปเกิดความตระหนก ตกใจ เกิดความเข้าใจผิด และถูกชักจูงให้ต่อต้านสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันหลักและเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ จนอาจนํามาซึ่งความเกลียดชัง หรือความแตกแยกในสังคม ถึงขั้นออกมากระทําความผิดต่อกฎหมาย ก่อความเดือดร้อน หรือก่อให้เกิดความไม่สงบของประชาชนภายในประเทศไทย อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

และจําเลยได้เผยแพร่หรือส่งต่อข้อความดังกล่าวข้างต้น โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และเป็นการกระทํามิบังควร จาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือกระทําให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทต่อพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทําให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง โดยจําเลยมีเจตนาทําลายพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเคารพบูชาของประชาชนชาวไทย ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1245/2564 ลงวันที่ 28 พ.ค. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • หลังปริญญาถูกจับกุมตามหมายจับศาลทหารกรุงเทพ ที่ 41/2559 ลงวันที่ 1 ส.ค. 2559 บริเวณบ้านพักย่านอุดมสุข และเจ้าหน้าที่นำหมายค้นที่ออกโดยศาลอาญาพระโขนง ลงวันที่ 5 มี.ค. 2564 เข้าตรวจค้นที่พักของเขา ตรวจยึดคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ พร้อมทั้งขอเข้าถึงรหัสเพื่อผ่านอุปกรณ์ทั้งสอง โดยไม่ได้แสดงคำสั่งศาลตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ชุดจับกุมจากกองบังคับการตำรวจสันติบาล 2 ได้นำตัวปริญญาไปที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.)

    หลังทำบันทึกจับกุมเสร็จ พอร์ทจึงสามารถโทรติดต่อทนายความ เมื่อทนายเดินทางมาถึง บก.ปอท. พนักงานสอบสวน บก.ปอท. ได้แจ้งข้อกล่าวหาและพฤติการณ์ในคดีให้ปริญญาทราบ โดยระบุว่า มาจากการโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวจำนวน 3 โพสต์ ได้แก่

    1. วันที่ 27 เม.ย. 2559 “สถาบันกษัตริย์ (ที่มีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่มีบทลงโทษรุนแรงคุ้มครอง) คือสิ่งงมงายอย่างหนึ่ง ใครก็ตามที่อ้างตนว่าต่อต้านสิ่งงมงาย แต่แจ้งจับคนเห็นต่างด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 คนๆ นั้นคือคนตอแหลและจิตใจโหดเหี้ยม”

    2. วันที่ 16 ก.ค. 2559 “ไม่มีกษัตริย์เซ็นรับรองการทำรัฐประหารก็งี้แหละ #ตุรกี #รัฐประหารตุรกี” โดยเป็นการโพสต์ประกอบลิงก์ข่าวออนไลน์เรื่องความล้มเหลวในการทำรัฐประหารของนายทหารในประเทศตุรกีในช่วงดังกล่าว

    3. วันที่ 30 ก.ค. 2559 “เพลงสถาบันกากสัส สถาบันกากสัส สถาบันกากสัส สถาบันกากสัส สถาบันระยำๆๆ สถาบันอะไร กดหัวผู้คน สั่งฆ่าประชาชน หนุนรัฐประหาร สถาบันอะไร ห้ามคนวิจารณ์ ใช้อำนาจเผด็จการ ครอบงำสังคม มันใช้งานผ่านศาล ทหาร ตำรวจ ไอ้สัสกะหมาๆๆ สถาบันกากสัส สถาบันกากสัส สถาบันกากสัส สถาบันระยำๆๆ สถาบันอะไรผูกขาดความดี แดกห่าภาษี ย่ำยีคนจน สถาบันอะไร ร่ำรวยสุดล้น ทั้งโกงทั้งปล้น เสือกสอนให้คนพอเพียง มันไม่เคยจะพอ โลภหลงอำนาจ ไอ้สัสกากหมาๆ"

    “แต่งทำนองและท่อนฮุคไว้หลายเดือนแล้ว แต่เพิ่งแต่งเสร็จทั้งเพลงเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา บันทึกเสียงในส่วนของกีต้าร์ไว้แล้ว หากโชคดีภายในปีนี้คงได้ฟังกันครับ (โชคไม่ดีก็ภายในปีหน้า)”

    จากนั้นได้แจ้งข้อกล่าวหาว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐาน “หมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท, นําเข้าและส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” โดยปริญญาให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

    จากนั้นพนักงานสอบสวนนำตัวปริญญาไปคุมขังที่ สน.ทุ่งสองห้อง เตรียมนำตัวไปขอฝากขังต่อศาลอาญา ในวันรุ่งขึ้น

    (อ้างอิง: บันทึกการจับกุม กก.3 บก.ปอท. ลงวันที่ 5 มี.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/26612)
  • เวลาประมาณ 11.00 น. ปริญญาถูกพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง ควบคุมตัวไปที่ศาลอาญา รัชดาฯ เพื่อยื่นคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 ในระหว่างการสอบสวน เป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 6-17 มี.ค. 2564 เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น

    หลังศาลพิจารณาคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวนแล้ว ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง จากนั้น ทนายความผู้ต้องหาได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวระหว่างสอบสวน โดยใช้เงินสดจำนวน 200,000 บาท เป็นหลักประกัน และมีมารดาของผู้ต้องหาเป็นนายประกัน

    คำร้องขอประกันตัวระบุเหตุผลว่า คดีนี้ผู้ต้องหาได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ประกอบกับพฤติการณ์แห่งคดีเป็นการกล่าวหาของเจ้าหน้าที่ฝ่ายเดียว ยังไม่ผ่านการพิสูจน์โดยศาล ทั้งพฤติการณ์ไม่ได้มีลักษณะเป็นอาชญากรรมร้ายแรง ผู้ต้องหาไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนีมาตั้งแต่ต้น แต่ไม่ทราบว่าถูกดําเนินคดีนี้มาก่อน และก่อนถูกจับได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลสิรินธรมาโดยตลอด เนื่องจากผู้ต้องหาป่วยเป็นโรคปลายประสาทอักเสบ โรคตับอ่อนอักเสบ และโรคเบาหวานที่สืบเนื่องจากตับอ่อนอักเสบ ทําให้ผู้ต้องหามีอาการเหน็บและชาตามมือและเท้า มีอาการแสบหรือแปลบบริเวณมือและเท้า กล้ามเนื้ออ่อนแรงโดยเฉพาะที่เท้า เสียการทรงตัวและการประสานงานของอวัยวะในร่างกาย หากไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว จะทําให้ผู้ต้องหาได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้ต้องหายังต้องพบแพทย์ตามกําหนดนัดเพื่อติดตามอาการป่วยและรับยาจากแพทย์ รวมถึงการกายภาพบําบัดและพักฟื้น (แนบประวัติการรักษา และใบนัดผู้ป่วย)

    ผู้ต้องหายังพักอาศัยอยู่กับมารดาในบ้านที่เปิดเป็นร้านขายรองเท้าในย่านชุมชน ผู้ต้องหาไม่ได้ปกปิด อําพรางตน เพื่อนบ้านข้างเคียงก็พบเห็นผู้ต้องหาได้ปกติ ตามบันทึกจับกุมซึ่งบรรยายว่าผู้ต้องหาได้หลบหนีการจับกุมของไปพํานักอยู่ใน สปป.ลาว นั้นไม่เป็นความจริง ทั้งนี้ ผู้ต้องหายังคงเป็นเพียงผู้ถูกฟ้องคดี ต้องได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิจนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด ตามปฎิญญาสากล และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

    จนกระทั่งเวลา 13.33 น. ชนาธิป เหมือนพะวงศ์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยระบุในคำสั่งว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง เจ้าพนักงานจับกุมผู้ต้องหาได้หลังออกหมายจับ 4 ปีเศษ ปรากฎจากประวัติผู้ป่วยเพื่อรับการรักษาตัวของผู้ร้อง หลังเกิดเหตุผู้ต้องหาไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลหนองคาย อันเป็นจังหวัดที่อยู่ติดกับ สปป.ลาว ซึ่งสอดคล้องกับบันทึกการจับกุมตัวที่ระบุว่า หลังเกิดเหตุผู้ต้องหาได้หลบหนีไปพำนักอยู่ใน สปป.ลาว เชื่อว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์หลบหนี และไม่ได้คิดจะเข้ามอบตัวต่อเจ้าพนักงาน หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จึงมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี หรือจะไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาอีก ให้ยกคำร้อง”

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญา ลงวันที่ 6 มี.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/26637)
  • ทนายความและครอบครัวเข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวปริญญา โดยมีมารดาเป็นนายประกัน และวางเงินสดจำนวน 200,000 บาท เป็นหลักประกัน

    คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระบุเหตุผลว่า ผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนี อีกทั้งมีความจำเป็นที่จะต้องร้องขอสิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวให้โดยเร่งด่วนเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและร่างกาย เนื่องจากผู้ต้องหามีร่างกายอ่อนแอและมีความเจ็บป่วยร้ายแรงที่ต้องได้รับการรักษาต่อเนื่องอันเนื่องมาจากอาการปลายประสาทอักเสบ โรคตับอ่อนอักเสบ และโรคเบาหวานที่สืบเนื่องจากตับอ่อนอักเสบ โดยผู้ต้องหาต้องอาศัยการพบแพทย์เพื่อติดตามรักษาอาการประกอบกับการทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง และต้องเดินทางไปตรวจติดตามและพบแพทย์ตามกำหนดนัด

    นอกจากนี้ ก่อนถูกดำเนินคดี ผู้ต้องหาประกอบสัมมาอาชีพเป็นศิลปินนักร้องอิสระ ขณะที่ปัจจุบันไม่ได้ประกอบอาชีพแล้วเนื่องจากต้องพักรักษาตัวจากอาการเจ็บป่วย ผู้ต้องหาจึงไม่มีอิทธิพลหรือความสามารถที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหรือกระบวนการตรวจสอบลายนิ้วมือได้ กระบวนการอันเนิ่นช้าเกินกว่าเหตุของพนักงานสอบสวนที่ยังคงตรวจสอบลายนิ้วมือไม่เสร็จและสอบพยานได้เพียง 1 ปากหลังจากการฝากขังครั้งที่ 2 ผ่านไป ก็ยิ่งทำให้ผู้ต้องหาจะต้องถูกคุมขังต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่มีเหตุจำเป็น โดยที่ผู้ต้องหาก็ไม่เคยมีประวัติเกี่ยวกับการกระทำความผิดอาชญากรรมใดๆ และไม่เคยต้องโทษในคดีอาญาใดๆ มาก่อน

    อย่างไรก็ตาม พิศิษฐ์ วิริยะพาณิชย์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งยกคำร้องปล่อยตัวชั่วคราว ระบุในคำสั่งว่า พิเคราะห์ว่า ศาลอาญาเคยไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยระบุเหตุผลไว้ชัดเจนแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญา ลงวันที่ 5 เม.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/27975)
  • เวลา 13.00 น. ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ทนายความได้เข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวปริญญา พร้อมทั้งแกนนำ "ราษฎร" รวม 7 ราย ซึ่งถูกคุมขังจากคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยกรณีของปริญญา มีมารดาเป็นนายประกัน วางหลักประกันเป็นเงินสด 200,000 บาท นับเป็นการยื่นประกันในคดีนี้เป็นครั้งที่ 3 โดยปริญญาถูกขังมาแล้ว 55 วัน

    บรรยากาศการยื่นประกันตัว มีกลุ่มนักศึกษาและประชาชนมาติดตามสถานการณ์เป็นจำนวนมาก มีการปราศรัยเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง และพยายามยื่นรายชื่อผู้ลงชื่อถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขัง กว่า 11,035 รายชื่อ ขณะที่มีการนำกำลังเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนอย่างน้อย 2 คันรถเข้ามาที่ศาลอาญา

    คำร้องขอปล่อยตัวขั่วคราวปริญญาระบุเหตุผลว่า
    1. ศาลนี้ได้เคยอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม, สมยศ พฤกษาเกษมสุข และจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในฐานความผิดเดียวกันกับจำเลยในคดีนี้ โดยศาลกำหนดเงื่อนไขประกอบการปล่อยชั่วคราว อนึ่ง หากศาลเห็นสมควรกำหนดเงื่อนไขใดที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีของผู้ต้องหาและเพื่ออนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา ผู้ต้องหายินดีจะปฏิบัติตามคำสั่งของศาลทุกประการ ทั้งนี้หากศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาและเพื่อให้ผู้ต้องหาปฏิบัติตามเงื่อนไขตามที่ศาลกำหนด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อดิศร จันทรสุข รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมารดาของผู้ต้องหา จะเป็นผู้รับรองและดูแลให้ผู้ต้องหาปฏิบัติตามคำสั่งของศาลตามที่ศาลกำหนด
    2. เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้มีแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการคดีในสถานการณ์แพร่ระบาด ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกา โดยกำหนดให้ขยายโอกาสในการเข้าถึงสิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และเพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มความแออัดในเรือนจำ ผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งไม่เคยถูกคุมขังมาก่อน หรือจำเลยที่เคยได้รับการปล่อยชั่วคราวมาก่อน หรือจำเลยซึ่งมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี แม้ยังไม่มีการยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา หรือยังไม่ได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์หรือฎีกา ศาลอาจพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว
    3. ในขณะนี้มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งผู้ต้องขังหลายคนกติดเชื้อ ทำให้จำเลยมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ เนื่องจากต้องถูกคุมขังในสถานที่แออัด จึงขอให้ศาลใช้ดุลยพินิจปล่อยตัวชั่วคราวตามแนวปฏิบัติข้างต้น

    เวลา 16.00 น. ศาลแจ้งว่าจะยังไม่อ่านคำสั่งเรื่องการขอปล่อยตัวชั่วคราวในวันนี้ หากยังมีการชุมนุมรวมตัวอยู่ในพื้นที่ศาล โดยจะอ่านคำสั่งผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์หรืออีเมลในวันรุ่งขึ้น แต่ครอบครัวของผู้ต้องขังและประชาชนที่มารวมตัว ยังคงยืนยันว่าจะปักหลักรอคำสั่งศาลต่อไป

    จนเวลา 18.00 น. เทวัญ รอดเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องขังในคดีการเมืองทั้ง 7 คน รวมทั้งปริญญา โดยระบุเหตุผลว่า ศาลอาญาเคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญา ลงวันที่ 29 เม.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/29035)
  • ทนายความเข้ายื่นคำร้องขอประกันตัวปริญญาเป็นครั้งที่ 4 มีมารดาเป็นนายประกัน วางหลักประกันเป็นเงินสด 200,000 บาท และขอให้ศาลเบิกตัวผู้ต้องหามาไต่สวนประกอบการใช้ดุลพินิจ ระบุเหตุผลว่า ในขณะนี้มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นที่คุมขังผู้ต้องหา โดยมีนายชูเกียรติ แสนวงค์ ผู้ต้องหาในคดีการเมืองอีกรายหนึ่ง ติดเชื้อโรคโควิด-19 และผู้ต้องขังอีกจำนวนหลายคนก็ติดเชื้อ ทำให้ผู้ต้องหามีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับภยันตรายติดเชื้อจากโรคระบาดดังกล่าว เนื่องจากต้องถูกคุมขังในสถานที่แออัด หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะช่วยทำให้ลดความแอดอัดในสถานที่ดังกล่าวได้ ทำให้การบริหารจัดการเรื่องสถานการณ์โควิดได้ดีขึ้น และช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

    นอกจากนี้ คำร้องยังระบุว่า หากผู้ต้องหาได้รับการอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาจะไม่ทำกิจกรรมที่จะกระทำความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือหากศาลเห็นสมควรกำหนดเงื่อนไขใดที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี และเพื่ออนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา ขอให้ศาลกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวนั้นด้วย

    ต่อมา มุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีค้ามนุษย์ มีคำสั่งให้ไต่สวนคำร้องขอประกันตัวในวันที่ 12 พ.ค. 2564 เวลา 10.00 น.

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญา ลงวันที่ 8 พ.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/29437)
  • ที่ศาลอาญาเช้านี้ พบว่าการไต่สวนจะดำเนินผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เนื่องจากช่วงบ่ายวานนี้ ทางเรือนจำพบว่าปริญญาติดเชื้อโควิด และได้ถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ตั้งแต่ช่วงค่ำ จึงไม่สามารถเบิกตัวมาศาลได้ ศาลจึงได้สั่งให้ไต่สวนผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์แทน

    ในการไต่สวนคำร้องขอประกันครั้งนี้ประกอบไปด้วยพยานทั้งหมด 2 ปาก ได้แก่ ปริญญา และมารดา

    ปริญญาเบิกความว่าปัจจุบันอาศัยอยู่กับบิดาและมารดา ในวันที่ถูกจับกุมตามหมายจับของศาลทหารที่ 41/2559 ลงวันที่ 1 ส.ค. 2559 ขณะนั้นตนอาศัยอยู่ที่บ้านพักของตนเองตามทะเบียนราษฎร์ไม่ได้เป็นที่พักอีกแหล่งตามที่บันทึกจับกุมลงไว้แต่อย่างใด ตนยืนยันว่าเลขที่บ้านในทะเบียนราษฎร์และเลขที่บ้านในบันทึกจับกุมคือบ้านหลังเดียวกัน แต่ถูกสำนักงานเขตเปลี่ยนแปลงเลขที่บ้านในภายหลังเมื่อไม่นานมานี้

    อีกทั้งก่อนหน้านี้ ตนยังไม่ทราบมาก่อนว่ามีหมายจับในการกระทำผิดข้างต้น ทราบครั้งแรกเมื่อตนถูกจับในวันที่ 5 มี.ค. 2564 ตนจึงไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี และยังมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งตลอดมา

    กรณีการถูกกล่าวหาว่าหลบหนีไปยังประเทศลาวนั้น ปริญญาแถลงว่า หลังเกิดการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557 ตนได้เดินทางไปยังประเทศลาวจริง โดยเดินทางไปอยู่กับเพื่อนหลายคนที่นครเวียงจันทร์ สาเหตุนั้นเกิดจากความไม่วางใจในความปลอดภัยของตนเอง เพราะขณะนั้น คสช. ออกหมายเรียกนักกิจกรรมทางการเมืองจำนวนมาก เพราะตนเองก็เคยเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองด้วยเช่นกัน แต่ขณะเดินไปทางไปยังประเทศลาว ตนไม่ได้ถูกหมายเรียกจาก คสช. แต่อย่างใด ในช่วงปี 2557 จนถึง 2559 นั้น ปริญญาเดินทางไปมาระหว่างประเทศไทยและลาวหลายครั้ง ผ่านช่องทางการเข้าออกเดิมทุกครั้ง คือเส้นทางสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ยืนยันข้อมูลตามสำนักงานตรวจค้นคนเข้าเมือง

    ปริญญาได้แถลงต่อศาล ยอมรับเงื่อนไขว่าจะไม่ทำหรือเข้าร่วมกิจกรรมที่กระทบต่อสถาบันกษัตริย์ และจะไม่กระทำความผิดข้อหาเดิมซ้ำอีก จะปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลที่กำหนด

    ปริญญายังเบิกความว่าตนยังมีโรคประจำตัว รวมทั้งสิ้น 3 โรค ได้แก่ โรคตับอ่อนอักเสบ โรคเบาหวาน และโรคปลายประสาทอักเสบ ซึ่งจะต้องเข้าทำการรักษาตัวที่โรงพยาบาล อีกทั้งจากการเข้าตรวจโรคโควิด ตนได้รับแจ้งผลการตรวจเมื่อวาน (11 พ.ค. 64) พบเชื้อไวรัสโควิด จึงถูกนำตัวมายังโรงพยาบาลราชทัณฑ์ในช่วงค่ำวานนี้ โดยปริญญากล่าวอีกว่า แดน 6 ที่ตนถูกคุมขังอยู่นั้น มีผู้ที่ตรวจพบเชื้อโควิดแล้วมากกว่าครึ่ง และการควบคุมโรคโควิดของเรือนจำมีปัญหาอย่างมาก

    ต่อมา มารดาของปริญญาได้ขึ้นเบิกความตามลำดับในทำนองเดียวกันว่า จำเลยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งโดยอาศัยอยู่ด้วยกันที่บ้าน หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะสามารถควบคุมให้จำเลยปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลได้

    ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนคดีไม่ได้คัดค้านการประกันตัว

    หลังจากการไต่สวนคำร้องขอประกันเสร็จสิ้น เวลา 13.30 น. ศาลอาญาได้อ่านคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวปริญญา

    ศาลพิเคราะห์เห็นว่าข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่าผู้ต้องหาถูกจับกุมที่บ้านซึ่งเป็นภูมิลำเนา ไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหาหลีกเลี่ยงไม่ไปพบพนักงานสอบสวนหรือพยายามหลบหนี ส่วนพยานหลักฐานในคดีนี้ ซึ่งพนักงานสอบสวนรวบรวมแล้วเสร็จ ผู้ต้องหาไม่สามารถจะไปยุ่งเกี่ยวได้

    ผู้ต้องหาแถลงด้วยความสมัครใจว่าจะไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สถาบันพระมหากษัตริย์และจะปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาล ประกอบกับพนักงานสอบสวนไม่คัดค้านการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว จึงไม่มีข้อเท็จจริงว่าการปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีของศาลหรือจะไปก่อเหตุร้ายประการอื่น

    ผู้ขอปล่อยตัวชั่วคราวเป็นมารดาของผู้ต้องหา และมีหลักทรัพย์เป็นเงินสดถึง 200,000 บาท พอสมควรแก่พฤติการณ์คดี ข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนดังกล่าวถือว่าพฤติการณ์ในคดีได้เปลี่ยนแปลงไป จึงมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาระหว่างการสอบสวนตีราคาหลักประกัน 200,000 บาท โดยมีเงื่อนไขห้ามมิให้ผู้ต้องหาทำกิจกรรมหรือใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ในทางที่จะเกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมใดที่อาจก่อความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล และให้มาศาลตามกำหนดนัด

    ศาลนัดรายงานตัวในวันที่ 17 พ.ค. 2564

    ทั้งนี้ ปริญญาถูกจับกุมเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2564 ก่อนที่วันที่ 6 มี.ค. 2564 ศาลอาญาจะไม่อนุญาตให้ประกันตัว และเขาถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาแล้วทั้งสิ้น 68 วัน และเป็นผู้ต้องหาคดีการเมืองรายล่าสุดที่ติดโรคโควิดจากการถูกคุมขังในเรือนจำ ทำให้เขายังต้องเข้ารับการรักษาตัวหลังถูกปล่อยตัวแล้ว ในขณะที่ยังมีโรคประจำตัวอื่นๆ อยู่แล้วด้วยดังที่ปริญญาแถลงต่อศาล

    จนถึงขณะนี้มีรายงานผู้ต้องขังในคดีทางการเมืองติดโควิด 7 รายแล้ว ได้แก่ อานนท์ นำภา, ชูเกียรติ แสงวงค์, ธวัช สุขประเสริฐ, ศักดิ์ชัย ตั้งจิตสดุดี, สมคิด โตสอย และฉลวย เอกศักดิ์ และปริญญา ชีวินปฐมกุล รวมทั้งยังมีผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว แต่ตรวจพบว่าติดโควิดจากเรือนจำอีก 2 ราย ได้แก่ รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และพรชัย

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/29604)
  • ทนายความเข้าเซ็นรับทราบคำสั่งแทนปริญญา ซึ่งยังพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ศาลกำหนดนัดรายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 31 พ.ค. 2564
  • พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องปริญญาในฐานความผิด หมิ่นประมาทกษัตริย์, นำเข้าและส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14

    ท้ายคำฟ้องอัยการคัดค้านการให้ประกันตัว โดยอ้างว่าเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง และเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ อัยการยังขอให้ศาลสั่งริบของกลางที่ตรวจยึดมาได้ ซึ่งเป็นโทรศัพท์มือถือ จำนวน 1 เครื่อง และคอมพิวเตอร์แบบพกพา จำนวน 1 เครื่อง

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1245/2564 ลงวันที่ 28 พ.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/30320)
  • เวลา 09.00 น. ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ปริญญา เดินทางมาตามนัดรายงานตัวต่อศาล หลังถูกปล่อยตัวปริญญาถูกส่งตัวไปรักษาอาการติดเชื้อโควิดที่โรงพยาบาล ซึ่งปัจจุบันปริญญาอาการหายเป็นปกติแล้ว เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2564 โรงพยาบาลจึงอนุญาตให้เขากลับบ้านได้ แต่ยังคงต้องทำการกักตัวที่บ้านเพื่อเฝ้าดูอาการเป็นเวลาอีก 14 วัน

    หลังศาลอ่านคำฟ้องให้จำเลยฟัง ได้นัดสอบคำให้การในวันที่ 28 มิ.ย. 2564 เวลา 09.00 น. และอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยไป โดยใช้หลักทรัพย์ประกันเดิมในชั้นสอบสวน

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1245/2564 ลงวันที่ 28 พ.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/30320)
  • เวลา 09.00 น. ปริญญาเดินทางมาตามนัดสอบคำให้การของศาล ศาลได้อ่านและอธิบายคําฟ้องให้ฟัง ปริญญาให้การปฏิเสธตามคำให้การเป็นหนังสือที่ยื่นต่อศาล โดยแถลงรับว่าตนเองเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กที่ชื่อ “Rishadan Port” จริง และยอมรับว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความทั้ง 3 โพสต์ตามที่ถูกโจทก์ฟ้องจริง แต่ปฏิเสธว่าไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ตามข้อกล่าวหาของโจทก์

    ต่อมาพนักงานอัยการนำส่งพยานเอกสาร จํานวน 12 ฉบับ ตามที่ได้ยื่นบัญชีต่อศาล ให้จำเลยและทนายจำเลยตรวจสอบ ทางด้านจําเลยและทนายจําเลยแถลงว่าในชั้นนี้ยังไม่มีพยานเอกสารและพยานวัตถุที่จะอ้างเป็นพยาน หากมีพยานเอกสารและพยานวัตถุเพิ่มเติม จะขอนำส่งต่อศาลในวันก่อน หรือวันนัดสืบพยานต่อไป

    อัยการโจทก์ยังแถลงแสดงความประสงค์จะนำสืบพยานบุคคลรวม 8 ปาก ได้แก่ เจ้าพนักงาน บก.ปอท. ผู้ตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโพสต์ตรมข้อกล่าวหา, เจ้าพนักงานกองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับการทางเทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊ก, พยานคนกลางผู้อ่านข้อความที่จําเลยได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก, เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้จับกุมจําเลย และพนักงานสอบสวน

    อัยการยังแถลงว่าหากจำเลยแถลงรับว่าเป็นผู้ใช้งานเฟซบุ๊กและโพสต์ข้อความตามฟ้องจริง และสามารถรับข้อเท็จจริงเรื่องการตรวจสอบบัญชีเฟซบุ๊กของเจ้าพนักงานจากกระทรวงดิจิทัลฯ ได้ โจทก์ก็ไม่ติดใจนำสืบพยานปากนี้

    จําเลยและทนายจําเลยจึงได้แถลงรับว่า พงศธร วรรณสุคนธ์ เจ้าหน้าที่จากกระทรวงดิจิทัลฯ ได้ตรวจพบเฟซบุ๊กตามข้อกล่าวหาจริง และได้ให้การไว้กับพนักงานสอบสวนตามเอกสารในคดี

    อัยการโจทก์จึงแถลงไม่ติดใจสืบพยานปากดังกล่าวอีก แต่ขอใช้พยานเอกสารแทนการสืบพยานบุคคล และสรุปยังเหลือพยานที่ประสงค์นำสืบอีก 7 ปาก โดยขอใช้เวลาสืบพยานโจทก์ 1 นัดครึ่ง

    ทางด้านจําเลยและทนายจําเลยแถลงแนวทางการต่อสู้คดีว่า ไม่ได้กระทําผิดตามฟ้องโจทก์ ประสงค์จะนำสืบพยานรวม 2 ปาก โดยขอใช้เวลาสืบพยานจําเลยครึ่งนัด

    ศาลจึงเห็นควรให้กําหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ 1 นัดครึ่ง และพยานจําเลยครึ่งนัด ตามที่คู่ความแถลง ก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะตกลงวันนัดสืบพยานรวม 2 นัด เป็นวันที่ 8 และ 9 มี.ค. 2565 ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไปของแต่ละวัน

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1245/2564 ลงวันที่ 28 มิ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/31355)
  • คดีนี้โจทก์นำพยานเข้าสืบรวม 7 ปาก ได้แก่ ผู้กล่าวหา 1 ปาก พนักงานสอบสวน 2 ปาก ผู้จับกุม 1 ปาก ผู้ตรวจสอบบัญชีเฟซบุ๊ก 1 ปาก และประชาชนทั่วไปที่มาให้ความเห็นในคดี 2 ปาก ด้านทนายจำเลยไม่ประสงค์นำพยานจำเลยเข้าสืบ

    พยานโจทก์แทบทุกปากเบิกความไปในทิศทางเดียวกันว่า ทั้ง 3 ข้อความตามฟ้องในคดีนี้ไม่ได้มีคำหยาบคาย ไม่มีการระบุชื่อของกษัตริย์พระองค์ใด หรือบุคคลใดที่ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    อีกทั้งพยานโจทก์ส่วนใหญ่ตีความว่า บางข้อความหรือทั้ง 3 ข้อความตามฟ้อง หมายถึงรัชกาลที่ 10 ทั้งที่ข้อความตามฟ้องทั้งหมดถูกโพสต์ในช่วงเวลาที่เป็นรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 และแนวทางคำพิพากษาในหลายศาล เช่น ศาลจังหวัดจันทบุรี ศาลจังหวัดสมุทรปราการ ตีความว่า มาตรา 112 คุ้มครองเฉพาะกษัตริย์ที่ทรงครองราชย์อยู่ในขณะเกิดเหตุเท่านั้น

    ส่วนการต่อสู้ของจำเลยในคดีนี้ ส่วนหนึ่งเป็นการต่อสู้เรื่องความหมายและการตีความถ้อยคำ เช่น คำว่า ‘สถาบัน’ ฝ่ายจำเลยสู้ว่า คำนี้สามารถใช้ได้หลากหลายบริบท เช่น สถาบันการเงิน สถาบันการศึกษา สถาบันครอบครัว เป็นต้น ไม่ได้ถูกบัญญัติไว้ว่าให้ใช้กับบริบท ‘สถาบันกษัตริย์’ อย่างเดียวเท่านั้น ตามที่พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถานได้ให้ความหมายไว้

    หรือคำว่า ‘กากสัส’ ซึ่งเป็นหนึ่งในถ้อยคำตามฟ้อง จำเลยสู้ว่าเป็นคำที่วัยรุ่นใช้พูดหยอกล้อกัน แม้จะออกเสียงคล้ายคำว่า ‘กษัตริย์’ แต่ก็เป็นคนละคำโดยสิ้นเชิง ไม่ได้มีความหมายอย่างเดียวกัน แต่พยานโจทก์ส่วนใหญ่ต่างก็เบิกความว่า คำนี้สามารถตีความได้ว่าหมายถึง ‘กษัตริย์’ แทบทุกปาก

    ++ผู้กล่าวหา เข้าใจว่า ‘กษัตริย์’ ตาม ม.112 คือกษัตริย์ทุกพระองค์ในราชวงศ์จักรี แต่ยอมรับ 3 ข้อความตามฟ้องไม่ระบุชื่อ 4 บุคคลที่ ม.112 คุ้มครอง

    พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม ขณะเกิดเหตุเป็นผู้กำกับการกองกำกับการ 3 บก.ปอท. มีหน้าที่ปราบปรามคดีอาชญากรรมเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี

    เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2559 พยานได้รับรายงานว่า พบบัญชีเฟซบุ๊กลงข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ จำนวน 3 โพสต์ เมื่อพิจารณาจากรายงานที่ได้รับแล้วเห็นว่า โพสต์ดังกล่าวมีเนื้อหาในทำนองหมิ่นประมาทกษัตริย์จริง จึงได้ไปกล่าวโทษร้องทุกข์ไว้กับพนักงานสอบสวนใต้บังคับบัญชาด้วยตัวเอง ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) และ (5)

    พ.ต.อ.โอฬาร ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานเป็นผู้กล่าวโทษร้องทุกข์ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาหลายคดีแล้ว ทราบว่ามาตรา 112 ให้ความคุ้มครองเฉพาะ 4 บุคคล แต่ไม่ทราบว่า ‘สถาบันกษัตริย์’ ประกอบด้วยหลายส่วนด้วยกัน อาทิ องค์กษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร เป็นต้น

    ขณะเกิดเหตุในคดีนี้ ซึ่งเป็นเวลาในช่วงเดือน เม.ย.- ก.ค. ปี 2559 พยานไม่ทราบว่ารัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคตแล้วหรือไม่

    ทนายจำเลยถามว่า “รู้หรือไม่ว่า มาตรา 112 ไม่คุ้มครองถึงอดีตกษัตริย์” พยานตอบว่า ที่ผ่านมามีการดำเนินคดีที่กระทำผิดต่ออดีตกษัตริย์อยู่หลายกรณีด้วยกัน ในความเข้าใจของพยาน คำว่า ‘กษัตริย์’ ตามมาตรา 112 หมายถึง “กษัตริย์ที่อยู่ในราชวงศ์จักรีทุกพระองค์” เนื่องจากมีการสืบทอดกันมาตามสายโลหิต ดังนั้นหากเป็นกษัตริย์นอกราชวงศ์จักรี มาตรา 112 จะไม่คุ้มครอง

    ข้อความตามฟ้องทั้ง 3 โพสต์ พยานยอมรับว่าไม่มีการกล่าวถึงชื่อของกษัตริย์หรือบุคคลที่กฎหมายมาตรา 112 ให้ความคุ้มครอง แต่กระนั้นพยานก็ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า แต่เป็นประโยคที่แปลเป็นอื่นไม่ได้ เช่นข้อความที่ 1 มีการใช้คำว่า ‘สถาบัน’ ตามด้วยประโยคว่า “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่มีบทลงโทษรุนแรง” ซึ่งพยานแปลได้ว่าคือ “กฎหมายมาตรา 112” ชี้นำให้เข้าใจได้ว่าคำว่า “สถาบัน” ในโพสต์ดังกล่าว หมายถึง “สถาบันกษัตริย์” ทั้งนี้พยานยอมรับว่าเป็นการตีความของตนเองแต่เพียงผู้เดียว

    ข้อความตามฟ้องทั้ง 3 โพสต์ พยานยืนยันว่าไม่มีถ้อยคำลักษณะหยาบคาย รุนแรง และด่าทอ แต่พยานอธิบายเพิ่มเติมว่า ความผิดตามมาตรา 112 ไม่จำเป็นจะต้องมีถ้อยคำหยาบคายก็เป็นความผิดได้เช่นกัน

    จากนั้นทนายจำเลยได้ให้พยานอ่านความหมายของคำว่า ‘งมงาย’ ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ปี 2554 โดยพยานเห็นด้วยตามนั้น ส่วนข้อความที่ 1 ตามฟ้องที่มีข้อความส่วนหนึ่งว่า “ใครก็ตามที่ต่อต้านเรื่องงมงาย”, “ใคร” ในที่นี้ พยานเห็นว่าหมายถึง “ผู้ที่กล่าวโทษร้องทุกข์ผู้อื่นด้วย ม.112”

    ++พยานความเห็น ในฐานะประชาชนทั่วไป ชี้ ‘กากสัส’ หมายถึง ‘กษัตริย์’ แต่ยอมรับว่า ข้อความทั้ง 3 ตามฟ้องไม่มีระบุถึง 4 บุคคลที่ 112 คุ้มครอง

    อรญา เชิดชุติพงศ์ ประชาชน เบิกความว่า เมื่อปี 2559 ได้เดินทางไปแจ้งความร้องทุกข์ที่ บก.ปอท. ในคดีส่วนตัว เนื่องจากมีผู้ส่งข้อความไม่สุภาพมาให้ ในวันเดียวกันได้พบกับพนักงานสอบสวนในคดีนี้ เข้ามาสอบถามเพื่อขอความเห็นกับ คำว่า ‘สถาบันกากสัส’ พยานจึงได้ให้ความเห็นไป

    อรญาตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ตนมีความรักและเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่ออ่านข้อความที่จำเลยถูกฟ้องในคดีนี้แล้วก็ยังคงมีความรักและเคารพต่อสถาบันฯ เช่นเดิม แต่เพียงรู้สึกโกรธและไม่พอใจที่จำเลยโพสต์ข้อความในลักษณะเช่นนี้

    ทนายถามว่า ข้อความทั้ง 3 ตามฟ้อง เมื่ออ่านแล้วไม่ได้มีการระบุชื่อของกษัตริย์หรือชื่อ 4 บุคคลที่มาตรา 112 ให้ความคุ้มครองตามกฎหมายเลยใช่หรือไม่ พยานตอบว่า “ใช่”

    ทนายถามว่า “ที่พยานให้ความเห็นกับพนักงานสอบสวนในคดีนี้ไปว่า คำว่า ‘กากสัส’ มีความหมายว่า ‘สถาบันกษัตริย์’ นั้นเป็นการตีความของพยานเองใช่หรือไม่” พยานตอบว่า “ใช่” ทนายถามว่า “คำว่า ‘สถาบัน’ ตามพจนานุกรม ใช้กับองค์กรอีกหลากหลายและเป็นคำที่ใช้กันอยู่ทั่วไปใช่หรือไม่” พยานตอบว่า “ใช่”

    พยานตอบทนายจำเลยถามค้านอีกว่า ที่ให้ความเห็นกับพนักงานสอบสวนว่า “ข้อความที่ 2 และ 3 ตามฟ้องเป็นการกล่าวหาพระมหากษัตริย์" นั้นเป็นการตีความของพยานเอง

    (อ้างอิง: คำให้การพยานโจทก์ ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1245/2564 ลงวันที่ 8 มี.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/47160)
  • ++พยานความเห็นประชาชนทั่วไปอีกปากชี้ ข้อความรัฐประหารในตุรกีไม่สำเร็จเพราะกษัตริย์ไม่เซ็นรับรอง เข้าใจได้ว่า ‘โยนความผิดให้กษัตริย์ไทย’

    กำธร ตรีรัตนาพิทักษ์ ทนายความ เบิกความว่า เมื่อปี 2560 ลูกความของตนถูกกล่าวหาในหลายข้อหา โดยมีข้อหาหลักเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทฯ ทางเฟซบุ๊ก ซึ่งผู้เสียหายได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ไว้ที่ บก.ปอท. พยานจึงต้องเดินทางไปพร้อมกับลูกความที่ บก.ปอท.

    ต่อมาพยานได้พบกับพนักงานสอบสวน และได้ขอให้ตนเป็นพยานความเห็นในคดีนี้ โดยได้เอาข้อความตามฟ้องให้พยานได้อ่าน

    ข้อความที่ 1 – ข้อความนี้พยานจำไม่ได้แล้ว เนื่องจากเวลาผ่านมานาน และเคยให้ความเห็นไว้กับพนักงานสอบสวนตามเอกสารแล้ว

    ข้อความที่ 2 – พยานมีความเห็นว่า ข้อความนี้สามารถเชื่อมโยงได้กับประเทศไทยที่ทำรัฐประหารสำเร็จได้เพราะมีกษัตริย์เซ็นรับรอง พยานเห็นว่า เหมือนว่าเป็นการโยนความผิดในการทำรัฐประหารให้กับกษัตริย์

    ข้อความที่ 3 – พยานเห็นว่า คำว่า “กากสัส” เป็นคำพ้องเสียงเช่นเดียวกับคำว่า “กษัตริย์” โดยในโพสต์มีการพูดถึง กากสัสเป็นสถาบันกษัตริย์ที่สั่งฆ่าประชาชน ซึ่งพยานเห็นว่าไม่เป็นความจริง

    กำธรตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พนักงานสอบสวนได้ให้พยานอ่านทั้ง 3 ข้อความตามฟ้อง แต่ไม่ได้เล่าให้ฟังว่าจำเลยในคดีนี้เป็นผู้ใด พยานเคารพรักและนับถือสถาบันกษัตริย์ เมื่ออ่านข้อความทั้ง 3 ตามฟ้องแล้วก็ยังคงรู้สึกเคารพและนับถือสถาบันกษัตริย์ต่อไป ไม่ได้รู้สึกว่าอยากจะกระทำไม่ดีต่อสถาบันกษัตริย์ แต่คิดว่าผู้โพสต์ข้อความตามฟ้องมีเจตนาไม่ดีต่อสถาบันกษัตริย์

    ข้อความที่ 1 – พยานเห็นด้วยว่า ข้อความดังกล่าวไม่มีการระบุถึง 4 บุคคลที่มาตรา 112 ให้ความคุ้มครองตามกฎหมาย แต่พยานเห็นว่า การกล่าวว่าสถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งงมงายนั้นไม่ถูกต้อง เพราะสถาบันกษัตริย์ถูกบัญญัติอย่างถูกต้องในรัฐธรรมนูญและอยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน อีกทั้งมีการพูดถึงกฎหมายมาตรา 112 ซึ่งเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์อีกด้วย

    ทนายจำเลยกล่าวว่า ‘สถาบันกษัตริย์’ ประกอบขึ้นมาด้วยหลายส่วนด้วยกัน เช่น ข้าราชบริพาร พระบรมวงศานุวงศ์ พระมหากษัตริย์ เป็นต้น พยานตอบว่า “เห็นด้วย” ทนายถามอีกว่า นอกจากคดีนี้แล้ว พยานยังได้ไปเป็นพยานความเห็นในคดีมาตรา 112 อีก 1 คดีอีกด้วย ซึ่งศาลได้พิพากษายกฟ้องไปแล้ว แต่พยานตอบว่า “ไม่ทราบว่าศาลยกฟ้องไปแล้ว”

    จากนั้นทนายให้พยานดูความหมายของคำว่า “งมงาย” ตามพจนานุกรม และถามพยานว่า “ดังนั้นข้อความที่ 1 ตามฟ้องที่กล่าวถึง ‘คนที่ต่อต้านสิ่งงมงาย’ นั้นหมายถึง คนที่ไปกล่าวโทษร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับผู้อื่นในข้อหามาตรา 112 ใช่หรือไม่” พยานตอบว่า “ใช่”

    ทนายถามอีกว่า การวิจารณ์นั้นเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ตามกฎหมาย พยานตอบว่า “ใช่ แต่ไม่ใช่กับสถาบันกษัตริย์”

    ข้อความที่ 2 – พยานเห็นว่า แม้จะไม่มีการกล่าวถึง 4 บุคคลที่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 112 หรือชื่อของกษัตริย์พระองค์ใดเลย แต่พยานเห็นว่าเมื่ออ่านแล้วสามารถสื่อความหมายได้ถึงการรัฐประหารในไทยด้วย ซึ่งพยานยอมรับว่าเป็นเพียงการตีความของพยานเอง

    ข้อความที่ 3 – พยานเห็นว่า คำว่า ‘กากสัส’ หมายถึง ‘กษัตริย์’ ทนายถามค้านว่า ทั้งสองคำอ่านขึ้นต้นด้วยเสียง ‘กะ’ กับ ‘กาก’ ซึ่งเป็นการออกเสียงที่ต่างกัน แต่คล้ายคลึงกัน จากนั้นทนายจำเลยได้ให้พยานได้ดูความหมายของคำว่า “สถาบัน” ตามพจนานุกรม

    ทนายถามค้านอีกว่า คำว่า ‘สถาบัน’ ถูกใช้อยู่โดยทั่วไปอยู่แล้ว อาทิ สถาบันการเงิน สถาบันการศึกษา สถาบันภาษา ฯลฯ ซึ่งพยานเห็นด้วย ทนายถามอีกว่า “เหตุการณ์ 6 ตุลา ปี 2519 มีประชาชนและนักศึกษาเสียชีวิตมากกว่า 100 คน เพราะถูกตำรวจและทหารสังหารใช่หรือไม่” พยานตอบว่า “ทราบมาจากหนังสือ แต่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์จริง”

    ทนายจำเลยถามว่า ที่พยานให้ความเห็นไว้กับพนักงานสอบสวนว่า ข้อความที่ 3 ตามฟ้องสื่อให้ผู้อ่านเข้าใจว่า กษัตริย์สั่งฆ่าประชาชนและสั่งให้มีการรัฐประหารนั้นเป็นความเห็นของพยานเองใช่หรือไม่ พยานตอบว่า “ใช่” เพราะคำว่าสถาบัน ‘กากสัส’ เป็นการเลียนแบบเสียงของคำว่า ‘กษัตริย์’ แต่พยานยอมรับว่า ข้อความที่ 3 ตามฟ้องไม่ปรากฏรายชื่อ 4 บุคคลที่ได้รับความคุ้มครองจากมาตรา 112 และไม่ปรากฏว่าคำว่า ‘สถาบันกษัตริย์’ อีกด้วย

    ทนายถามอีกว่า คำว่า ‘กากสัส’ เป็นคำที่วัยรุ่นใช้กล่าวเพื่อหยอกล้อกันในเชิงขำขันใช่หรือไม่ พยานตอบว่า “เคยได้ยินมาบ้าง”

    สุดท้ายทนายถามว่า ข้อความที่ 3 ตามฟ้อง ส่วนท้ายข้อความระบุว่า “ปล.สถาบันอะไรก็ไม่รู้นะครับ มีสถาบันตั้งหลายสถาบัน ตีความกันได้กว้างๆ ครับ 55555” ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า เห็นและรับทราบแล้วว่ามีการระบุส่วนนี้อยู่ด้วย แต่ผู้ที่ได้อ่านข้อความนี้ก็ยังตีความได้ว่าหมายถึงสถาบันกษัตริย์อยู่ดี

    (อ้างอิง: คำให้การพยานโจทก์ ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1245/2564 ลงวันที่ 9 มี.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/47160)
  • ++ผู้ตรวจสอบบัญชีเฟซบุ๊กจำเลย เห็นว่าผิด 112 ทั้ง 3 โพสต์ แม้ไม่ระบุถึงชื่อกษัตริย์หรือ 4 บุคคลที่ 112 คุ้มครอง ยืนกรานกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง มีพระราชกรณียกิจมากมาย

    พ.ต.ท.สุรชัจ สีมุเทศ ผู้กำกับการกองกำกับการ 4 กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ เบิกความว่า ในคดีนี้ ขณะเกิดเหตุเป็นสารวัตรสืบสวนของ บก.ปอท. มาตั้งแต่ปี 2550 จนถึง 2554 มีหน้าที่สืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

    คดีนี้พยานได้รับคำสั่งให้สืบสวนข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีเฟซบุ๊กหนึ่ง ซึ่งมีการโพสต์วิพากษ์วิจารณ์ในทำนองหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ โดยพยานพบว่าเป็นบัญชีเฟซบุ๊กที่มีการเปิดเผยภาพถ่ายใบหน้าผู้ใช้งานชัดเจน และพบข้อความตามฟ้องทั้ง 3 โพสต์

    ข้อความที่ 1 – พยานเห็นว่าไม่เป็นความจริง เป็นการใส่ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากเป็นสถาบันที่อยู่อยู่ไทยมายาวนาน ประชาชนคนไทยให้ความเคารพนับถือ สถาบันกษัตริย์ช่วยเหลือประชาชนมานาน ไม่เคยใช้กฎหมายรังแกคนที่ไม่ชอบ สถาบันกษัตริย์ใช้อำนาจผ่านตุลาการ ไม่ได้ใช้กฎหมายด้วยตัวเอง ไม่ใช่สิ่งงมงาย ถูกตราไว้ในรัฐธรรมนูญ พยานเห็นว่า ข้อความข้างต้นที่จำเลยโพสต์มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

    ข้อความที่ 2 – พยานเห็นว่า ในประเทศไทยกษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมืองอยู่แล้ว ไม่ลงมายุ่งเกี่ยวกับการเมืองอย่างแน่นอน

    ข้อความที่ 3 – มีคำว่า ‘กากสัส’ ซึ่งคำว่า ‘กาก’ พยานเห็นว่าเป็นคำที่ไม่ดี ถือเป็นการหมิ่นสถาบันกษัตริย์ ไม่สมควรโพสต์ แม้จะเป็นความเห็นส่วนตัว แต่ประชาชนคนอื่นทั่วไปไม่ได้มีความเห็นเช่นนี้ เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

    พยานเห็นว่า ข้อความทั้ง 3 โพสต์ในความเห็นส่วนตัว เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นการนำข้อความอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เป็นความผิดทางความมั่นคง

    พ.ต.ท.สุรชัจ ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า “ไม่ว่าใครก็สามารถสมัครเฟซบุ๊กได้ จะตั้งชื่อบัญชีว่าอะไรก็ได้ และสามารถโพสต์อะไรก็ได้ตามใจ ใช่หรือไม่” พยานตอบว่า “แต่ละคนมีเฟซบุ๊กของตัวเอง ตำรวจมีเครื่องมือตรวจสอบว่า เฟซบุ๊กแต่ละบัญชีมีผู้ใดเป็นเจ้าของ ผู้ตรวจสอบคือ ‘เจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ’ พยานไม่สามารถบอกวิธีการสืบสวนได้ เพราะเป็นความลับทางราชการ หากบอกไปผู้ต้องหาอื่นจะรู้ตัวและรู้ช่องว่างของเฟซบุ๊ก และจะนำไปใช้ก่อเหตุในอนาคตได้”

    ข้อความที่ 1 – พยานเห็นว่าเมื่ออ่านข้อความแล้วก็ยังคงรู้สึกเลื่อมใสศรัทธาในสถาบันกษัตริย์อยู่ดี เพราะท่านเป็นคนดีและทรงมีพระราชกรณียกิจเยอะมาก

    ทนายถามว่า ผู้เขียนมีเจตนาสื่อถึง ‘ผู้แจ้งความด้วยมาตรา 112’ ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า “ใช่” ทนายถามว่า ข้อความตามฟ้องดังกล่าวไม่ได้ปรากฏคำว่า ‘สถาบันกษัตริย์’ หรือ ‘พระบรมวงศานุวงศ์’ ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า “ใช่” แต่พยานเห็นว่าคำว่า ‘สถาบัน’ สื่อถึงรัชกาลที่ 10 เพราะขณะนั้นมีเหตุการณ์ความขัดแย้งของกลุ่มคนเสื้อแดงกับรัฐบาลจนลุกลามไปถึงการต่อต้านสถาบันกษัตริย์

    จากนั้นทนายให้พยานดูความหมายของคำว่า ‘งมงาย’ ตามพจนานุกรม และถามว่าข้อความที่ 1 ไม่มีคำหยาบคายใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ต้องดูตามบทกฎหมายด้วย เพราะข้อความที่ 1 ตามฟ้องเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 ไปแล้ว ไม่ใช่ดูตามพจนานุกรม พยานเห็นว่าข้อความที่ 1 ตามฟ้องเป็นการด่าทอ ประชดประชัน มีคำด่าทอ แต่ไม่ได้หยาบคาย

    ข้อความที่ 2 – พยานเห็นว่าข้อความนี้เป็นการพูดเปรียบเทียบประเทศตุรกีกับประเทศไทย แต่สถาบันกษัตริย์ไทยไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ แม้ไม่ได้เขียนระบุชื่อ 4 บุคคลที่มาตรา 112 ให้ความคุ้มครองตามกฎหมาย แต่พยานบอกว่า ข้อความนี้สามารถตีความได้ว่าเป็นการพาดพิงกษัตริย์ พยานอ้างว่า “ที่ทราบเพราะว่าเรียนหนังสือมา”

    ข้อความที่ 3 – ทนายถามว่า ในตอนท้ายของข้อความระบุว่า “สถาบันอะไรก็ไม่รู้นะครับ ตีความได้กว้างๆ” ส่วนคำว่า ‘สถาบัน’ ก็ถูกใช้กันทั่วไป เช่น สถาบันการเงิน สถาบันครอบครัว ฯลฯ ปรากฏตามความหมายในพจนานุกรม ส่วนคำว่า ‘กากสัส’ เป็นคำพูดที่วัยรุ่นใช้พูดหยอกล้อกันทั่วไปใช่หรือไม่ พยานตอบว่า “ไม่เคยได้ยิน”

    สุดท้ายทนายถามว่า ข้อความทั้ง 3 โพสต์ ถูกโพสต์ในรัชสมัยของกษัตริย์ รัชกาลที่ 9 ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า “ใช่”

    ต่อมา พ.ต.ท.สุรชัจ ตอบอัยการถามติงว่า ข้อความที่ 2 ตามฟ้อง แม้จะไม่ได้ระบุถึงสถาบันกษัตริย์โดยตรง แต่เมื่ออ่านแล้วทำให้เข้าใจได้ว่า หมายถึงสถาบันกษัตริย์

    ++ตำรวจผู้จับกุม ยืนยันขณะจับกุมจำเลยเมื่อต้นปี 64 จำเลย-แม่ ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

    พ.ต.ท.แทน ไชยแสง รองผู้กำกับการ กองกำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 2 เบิกความว่า ในคดีนี้พยานได้ร่วมจับกุมจำเลยด้วย พฤติการณ์ในการขอออกหมายจับเมื่อเดือน มี.ค. 2563 พยานได้ขอสืบสวนตามหมายจับค้างเก่าของศาลทหารกรุงเทพฯ หลังผู้บังคับบัญชาอนุมัติให้สืบสวนได้ พยานได้ทำการสืบสวนจนรู้ว่า จำเลยพักอาศัยอยู่กับแม่ที่บ้านพัก

    ต่อมา เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2564 พยานขอให้ศาลอาญาพระโขนงออกหมายค้นบ้านหลังดังกล่าวของจำเลยและศาลอนุญาต ในวันเดียวกันพยานจึงได้นำกำลังไปค้นบ้านของจำเลยและพบว่าจำเลยกำลังกินข้าวอยู่ที่ชั้นล่างของบ้าน ตำรวจจึงได้แสดงหมายค้นและหมายจับ พร้อมกับตรวจยึดอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือและโน๊ตบุ๊ค

    หลังจับกุมได้ควบคุมตัวจำเลยไปยัง บก.ปอท. กองกำกับการ 3 พร้อมจัดทำบันทึกการตรวจค้นและบันทึกการจับกุม นอกจากนี้พยานยังเป็นผู้จัดทำรายงานการสืบสวนก่อนการจับกุมจำเลยในคดีนี้ให้กับ บก.ปอท. กองกำกับการ 3 อีกด้วย

    พ.ต.ท.แทน ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ในวันที่เข้าจับกุมจำเลยและตรวจยึดเครื่องมือสื่อสาร จำเลยและแม่ของจำเลยให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ไม่มีการขัดขืนใดๆ

    พยานยังบอกอีกว่า รายงานการสอบสวนเฟซบุ๊กส่วนตัวของจำเลย คณะทำงานเป็นผู้จัดทำ พยานไม่ได้เป็นผู้จัดทำ แต่เป็นผู้ตรวจสอบและกลั่นกรองความถูกต้อง

    ++พนักงานสอบสวนเห็นด้วยว่า 3 ข้อความตามฟ้องไม่หยาบคาย ไม่ระบุถึง 4 บุคคลที่ 112 คุ้มครอง ไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น

    พ.ต.อ.สัณห์เพ็ชร หนูทอง พนักงานสอบสวน เบิกความว่า ได้รับแจ้งความร้องทุกข์จาก พ.ต.อ.โอฬาร ผกก.กก 3 บก.ปอท. โดย พ.ต.อ.โอฬาร แจ้งว่า ได้รับข้อมูลจากฝ่ายสืบสวนว่า เฟซบุ๊กของจำเลยได้โพสต์ข้อความในลักษณะหมิ่นประมาทกษัตริย์ จำนวน 3 โพสต์

    ขณะรับแจ้งความร้องทุกข์ พ.ต.อ.โอฬาร ได้มอบรายงานสืบสวนให้ด้วย พยานจึงได้แจ้งข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กับจำเลย จากนั้นในวันรุ่งขึ้น ได้ยื่นขอออกหมายจับต่อศาลทหารกรุงเทพ เพราะขณะนั้นคดี ม.112 เป็นอำนาจของศาลทหาร

    จากนั้นได้สอบถามไปยังกระทรวงไอซีที (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน) ถึงผู้ใช้งานบัญชีเฟซบุ๊กที่ถูกกล่าวหา และได้สอบปากคำพยานไว้ 1 ปาก คือ พงศธร วรรณสุคนธ์ เจ้าหน้าที่กองป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ของกระทรวงไอซีที และได้สอบปากคำพยานในคดีนี้ไว้อีก 1 ปาก คือ อรญา เชิดชุติพงศ์ ซึ่งเป็นประชาชนทั่วไป จากนั้นได้สรุปสำนวนเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง

    ขณะที่ทำสำนวนคดีนี้ โครงสร้างคดีมาตรา 112 จะมีด้วยกัน 3 ชั้น พิจารณาและส่งความเห็นไปให้กันตามลำดับ ดังนี้
    1.คณะกรรมการของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
    2.กองคดีอาญา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
    3.คณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

    เมื่อส่งสำนวนให้คณะกรรมการคดีหมิ่นฯ แล้ว คณะกรรมการตีกลับมาให้สอบพยานเพิ่มเติม แต่พยานไม่ได้ดำเนินการต่อ เนื่องจากได้ย้ายไปรับราชการที่กองปราบปราม ในตำแหน่งรองผู้กำกับการกองปราบปราม พยานได้ส่งมอบสำนวนให้ กก.ปอท.3 รับช่วงดูแลสำนวนคดีนี้ต่อ

    พ.ต.อ.สัณห์เพ็ชร ตอบทนายถามค้านว่า รับราชการในตำแหน่ง รอง ผกก. (สอบสวน) ที่ บก.ปอท. มาตั้งแต่ปี 2553 – 2560 ก่อนจะย้ายไปรับราชการในตำแหน่ง รอง ผกก. (สอบสวน) ที่กองบังคับการปราบปราม และย้ายกลับมารับราชการที่ บก.ปอท. ดังเดิมในปี 2564 จนถึงปัจจุบัน

    พยานรับแจ้งความร้องทุกข์ในคดีมาตรา 112 หลายคดี พยานทราบดีว่า มาตรานี้ครอบคลุมเฉพาะ 4 บุคคลเท่านั้น ซึ่งข้อความทั้ง 3 โพสต์ตามฟ้องของจำเลยไม่ได้มีการเขียนระบุถึงสถาบันกษัตริย์เลย

    หลังรับแจ้งความร้องทุกข์ พยานได้ตรวจดูข้อความทั้ง 3 โพสต์ตามที่ได้รับการร้องทุกข์ พบว่าไม่มีคำหยาบคาย ส่วนคำว่า ‘งมงาย’ เป็นคำที่ใช้กันอยู่ทั่วไปอยู่แล้ว ไม่ได้มีการพาดพิง ยืนยันถึง 4 บุคคลที่มาตรา 112 ให้ความคุ้มครอง

    ข้อความที่ 1 – พยานเห็นว่า หมายถึง คนที่ไปแจ้ง 112 กับผู้อื่น

    ข้อความที่ 2 – พยานเห็นว่า ไม่มีคำหยาบคาย เป็นประโยคบอกเล่าไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริงอะไร

    ข้อความที่ 3 – พยานเห็นว่าไม่ได้ระบุถึง 4 บุคคลที่มาตรา 112 ให้ความคุ้มครอง หรือบุคคลอื่น มีเพียงคำว่า ‘สถาบันกากสัส’ และไม่ได้ระบุว่าหมายถึงอะไรกันแน่

    พยานไม่ทราบว่า คำสั่งสุดท้ายของคณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นอย่างไร เพราะขณะนั้นได้ย้ายไปรับราชการที่อื่นแล้ว

    ++พนักงานสอบสวนอีกนาย ทราบว่า ศาลนครพนมเคยพิพากษา สถาบันกษัตริย์ไม่ใช่องค์ประกอบ ม.112

    ร.ต.อ.ฐานันดร สาสูงเนิน กองกำกับการ 3 บก.ปอท. เบิกความว่า ในคดีนี้พยานได้รับหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนต่อจาก พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชร หนูทอง

    คดีนี้โอนคดีมาจากศาลทหารมายังศาลอาญา และพยานเป็นผู้ยื่นขอฝากขังจำเลยต่อศาลอาญา อีกทั้งเป็นผู้สรุปสำนวนตามความเห็นเดิมที่คณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีความเห็นไว้ จากนั้นพยานจึงได้มีความเห็นสั่งฟ้องสำนวนคดีนี้ต่อพนักงานอัยการ

    ร.ต.อ.ฐานันดร ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า หลังรับช่วงต่อมาจาก พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชร พยานได้สอบปากคำพยานในคดีเพิ่มเติมอีก 1 ปาก คือ พ.ต.ท.แทน ไชยแสง ซึ่งเป็นผู้จับกุมจำเลยในคดีนี้ และมอบคำเบิกความของพยานในคดีปากดังกล่าวให้อัยการไปแล้ว

    พยานทราบว่า ศาลจังหวัดนครพนมเคยมีคำพิพากษาว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ก็มิใช่องค์ประกอบความผิดของ มาตรา 112 แต่พยานไม่ทราบรายละเอียด ในคดีนี้แม้โจทก์จะบรรยายว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์ทั้ง 3 ข้อความ เมื่อประชาชนอ่านแล้ว จะทำให้ประชาชนไม่เคารพรักและไม่ศรัทธาในสถาบันกษัตริย์ แต่ในฐานะที่พยานเป็นประชาชนทั่วไปคนหนึ่ง เมื่ออ่านข้อความตามฟ้องแล้วก็ยังคงมีความรักและเทิดทูนสถาบันกษัตริย์อยู่
    .
    หลังสืบพยานแล้วเสร็จ ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 15 ส.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: คำให้การพยานโจทก์ ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1245/2564 ลงวันที่ 2 มิ.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/47160)
  • ศาลมีคำพิพากษา โดยสรุปว่า ทั้ง 3 ข้อความตามฟ้อง เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (2) (3) (5) ซึ่งเป็นกฎหมายเดิมขณะจำเลยกระทำความผิด ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีโทษบทหนักสุด จำคุกกระทงละ 3 ปี แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์อยู่บ้าง จึงลดโทษให้กระทงละ 1 ใน 3 คงจำคุกรวม 6 ปี

    และให้ยกคำร้องขอริบของกลาง ซึ่งเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง และคอมพิวเตอร์แบบพกพา 1 เครื่อง ที่ตำรวจตรวจยึดมาได้ขณะเข้าจับกุมจำเลยที่บ้านพัก เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2564 เนื่องจากศาลเห็นว่า โจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า จำเลยใช้อุปกรณ์ที่ตรวจมาได้ในการโพสต์ข้อความตามฟ้อง

    ข้อความที่ 1 เรื่องต่อต้านสิ่งงมงาย

    โดยสรุป ศาลเห็นว่าข้อความไม่เป็นความจริง เนื่องจากสถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันที่มีความสำคัญของประเทศไทย เป็นที่เคารพของประชาชนชาวไทย มีบทบาทในการใช้อำนาจผ่านฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการอย่างถูกต้อง ซึ่งไม่ใช่สิ่งงมงาย

    ข้อความที่ 2 เรื่องนายทหารตุรกีรัฐประหารไม่สำเร็จ เพราะกษัตริย์ไม่เซ็นรับรอง

    โดยสรุป ศาลเห็นว่าเป็นการกระทำที่มิบังควร จาบจ้วง เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพสถาบันพระมหากษัตริย์ และหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทน ตามประมวลกฎหมายมาตรา 112

    ข้อความที่ 3 เนื้อเพลง “สถาบันกากสัส”

    โดยสรุป ศาลเห็นว่า ผู้แต่งใช้คำว่า “กากสัส” ซึ่งสื่อออกมาโจมตีชัดเจนว่าเป็นการใส่ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้เข้าใจว่าสถาบันกษัตริย์ไทยเป็นสถาบันที่ไม่ดี กดหัวผู้คน หนุนรัฐประหาร ใช้อำนาจเผด็จการ ครอบงำสังคม ย่ำยีคนจน โลภอำนาจ ซึ่งไม่เป็นความจริง

    หลังจากนั้น พอร์ทได้ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปยังห้องควบคุมของศาล

    เวลา 11.10 น. ทนายความยื่นขอประกันตัวพอร์ทในชั้นอุทธรณ์ ด้วยวงเงินประกัน 300,000 บาท โดยเป็นการวางเพิ่มจากเดิมอีก 100,000 บาท จากที่เคยใช้หลักประกันในศาลชั้นต้นจำนวน 200,000 บาท

    เวลา 14.30 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ โดยให้วางหลักทรัพย์ 300,000 บาท และกำหนดเงื่อนไข “ห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร” โดยศาลให้เหตุผลว่า จำเลยเคยได้รับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นและไม่มีพฤติการณ์หลบหนี

    ทำให้ปริญญาจะได้รับอิสรภาพชั่วคราวไปจนกว่าศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษาในคดีนี้อีกครั้ง

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1245/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.2187/2565 ลงวันที่ 15 ส.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/47214)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ปริญญา ชีวินกุลปฐม

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ปริญญา ชีวินกุลปฐม

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. วิทวัส ทีปประพันธ์ณี
  2. พัสณณัฐ จันทรวิบูลย์

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 15-08-2022

ศาลอุทธรณ์

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ปริญญา ชีวินกุลปฐม

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์