ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.940/2564
แดง อ.657/2565

ผู้กล่าวหา
  • ศรายุทธ สังวาลย์ทอง (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.940/2564
แดง อ.657/2565
ผู้กล่าวหา
  • ศรายุทธ สังวาลย์ทอง

ความสำคัญของคดี

สมบัติ ทองย้อย อายุ 52 ปี อดีตการ์ดเสื้อแดง และการ์ดผู้ชุมนุมกลุ่ม "ราษฎร" ถูกดำเนินคดี "หมิ่นประมาทกษัตริย์" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(3) โดยถูกศรายุทธ สังวาลย์ทอง ประชาชนเข้าแจ้งความกล่าวหาว่า ข้อความในเฟซบุ๊ก "สมบัติ ทองย้อย" ที่โพสต์ในเดือน ต.ค. และ พ.ย. 2563 รวม 3 ข้อความ เป็นการล้อเลียนและใส่ความรัชกาลที่ 10 ข้อความหนึ่งที่ถูกนำมาแจ้งความคือ “#กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ” ซึ่งเป็นข้อความที่ ร.10 กล่าวขอบใจชายที่ชูพระบรมฉายาลักษณ์ ร.9 ในการชุมนุมของกลุ่ม "ราษฎร"

คดีนี้เป็นหนึ่งในหลายคดีที่ประชาชนซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหายเข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีผู้อื่นในฐานความผิดที่เกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งมีอัตราโทษสูง อันเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญของมาตรา 112 จนประชาชนเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายดังกล่าว

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

ประสงค์ กิ่งพุทธพงษ์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 3 บรรยายฟ้องว่า

ขณะเกิดเหตุ ประเทศไทยมีการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถูกระบุไว้ในมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 โดยมีกษัตริย์รัชกาลที่ 10 เป็นพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน และมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญฯ บัญญัติว่า ผู้ใดจะละเมิด กล่าวหา หรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ ทั้งนี้ จำเลยได้กระทำความผิดต่อกฎหมายรวม 2 กรรม กล่าวคือ

1. เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2563 เวลากลางวัน จําเลยได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ด้วยการโพสต์ข้อความทั้งหมด 2 ข้อความ ได้แก่ “ฝ่ายความมั่นคงเข้าคุยกับนักศึกษา มธ. เผยมีบัณฑิต 1 คณะ ไม่ขอรับปริญญาทั้งคณะ” และ “#กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ” ผ่านทางเฟซบุ๊ก ชื่อบัญชี “สมบัติ ทองย้อย” ซึ่งมีการตั้งค่าการเข้าถึงเป็นสาธารณะ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ โดยจําเลยซึ่งเป็นเจ้าของบัญชีต้องการที่จะให้ประชาชนหรือบุคคลทั่วไปที่พบเห็นข้อความ เข้าใจว่ามีเจตนาพาดพิงเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นการจงใจเสียดสีพระมหากษัตริย์ จาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือกระทําให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท

ทั้งนี้ เนื่องจากถ้อยคําหรือข้อความว่า #กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าเป็นถ้อยคำที่รัชกาลที่ 10 ทรงตรัสขอบใจในความกล้าของนายฐิติวัฒน์ ชนการุณย์ ซึ่งเป็นผู้ที่ถือภาพพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 9 ที่ใส่ในกรอบขนาดใหญ่ ยกไว้เหนือศีรษะ หันไปทางด้านกลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อต่อต้านกลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ชุมนุมบริเวณห้างสรรพสินค้าเซนทรัล ปิ่นเกล้า เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563

2. เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 เวลากลางวัน จําเลยได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ด้วยการโพสต์ข้อความว่า “เขาให้ลดงบประมาณที่เอาไปใช้จ่าย ไม่ใช่ลดตัวลงมาใกล้ชิดประชาชน เข้าใจอะไรผิดไหม เรื่องการลดตัวลงมาแนบสนิทชิดใกล้ประชาชนแบบที่เห็น แสดงให้เห็นว่ารู้ตัวสินะว่าคนเขาไม่เอาเลยต้องลงมาทําขนาดนี้ ถ้าจริงใจต้องทํามานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาทําเพื่อเรียกคะแนนนิยมกลับคืนมา แต่น่าจะช้าไปแล้วจริง ๆ ละครหลังข่าวชัด ๆ” และข้อความว่า “มีแจกลายเซ็นต์ด้วยเซเลปชัด ๆ” ลงในเฟซบุ๊ก ชื่อบัญชี “สมบัติ ทองย้อย” ซึ่งมีการตั้งค่าเป็นสาธารณะ

การโพสต์ดังกล่าวของจำเลยเป็นไปโดยมุ่งหมายให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่า สถาบันกษัตริย์ใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินมากเกินความจำเป็น และการใกลชิดกับประชาชนก็เป็นการเสแสร้ง ไม่จริงใจต่อประชาชน เป็นการแสดงละครเพื่อให้ประชาชนรักสถาบันกษัตริย์ อันเป็นความเท็จและเป็นการใส่ความพระมหากษัตริย์

การโพสต์ข้อความทั้งหมดถือเป็นการล้อเลียนหรือใส่ความพระมหากษัตริย์ต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทําให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ ทั้งเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ โดยมีเจตนาทําลายสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทย ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาและเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง ทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดความเข้าใจผิดและต่อต้านสถาบันกษัตริย์

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.940/2564 ลงวันที่ 19 พ.ค. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลา 10.00 น. ที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ สมบัติ ทองย้อย อดีตการ์ดเสื้อแดง และการ์ดของผู้ชุมนุมคณะราษฎร เดินทางเข้ารับทราบ 2 ข้อกล่าวหา ตามหมายเรียกที่เขาเพิ่งได้รับก่อนหน้านี้ 1 วัน ข้อหา “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์” หรือมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และข้อหาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 กรณีโพสต์ข้อความ 3 ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ซึ่งมีผู้ตีความว่า ล้อเลียนพระราชดำรัสและการเสด็จเยี่ยมประชาชนของรัชกาลที่ 10

    คดีนี้มีผู้กล่าวหา คือ ศรายุทธ สังวาลย์ทอง ซึ่งเป็นผู้กล่าวหาเอกชัย หงส์กังวาน, “ฟรานซิส” บุญเกื้อหนุน เป้าทอง และ “ตัน” สุรนาถ แป้นประเสริฐ ในคดีมาตรา 110 “ร่วมกันพยายามกระทำการประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชินี” ด้วย

    พ.ต.ท.ประจํา หนุนนาค รองผู้กํากับการ (สอบสวน) สน.ทุ่งมหาเมฆ และ พ.ต.ต.คณศร นักเรียน สารวัตร (สอบสวน) สน.ทุ่งมหาเมฆ ซึ่งเป็นคณะพนักงานสอบสวนตามคําสั่งกองบังคับการตำรวจนครบาล 5 ลงวันที่ 2 ธ.ค. 2563 ได้เป็นผู้ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาต่อสมบัติ โดยบรรยายพฤติการณ์คดีโดยสรุป ดังนี้

    เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2563 ขณะที่ศรายุทธ สังวาลย์ทอง กำลังนั่งรับประทานก๋วยเตี๋ยวที่ร้านอาหารละแวกสาธรได้เปิดเฟซบุ๊กของตนเองและเข้าไปดูบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “สมบัติ ทองย้อย” ซึ่งเปิดเป็นสาธารณะ และพบว่าโพสต์ข้อความเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ ได้แก่

    1. วันที่ 30 ต.ค. 2563 โพสต์ว่า “#กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ” ซึ่งข้อความดังกล่าวนั้น ในหลวงทรงตรัสกับผู้ที่ไปรอรับเสด็จ เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2563 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ศรายุทธเห็นว่า การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการจงใจล้อเลียนพระมหากษัตริย์
    2. วันที่ 2 พ.ย. 2563 โพสต์ว่า “เขาให้ลดงบประมาณที่เอาไปใช้จ่ายไม่ใช่ลดตัวลงมาใกล้ชิดประชาชน เข้าใจอะไรผิดไหม เรื่องการลดตัวลงมาแนบสนิท ชิดใกล้ประชาชนแบบที่เห็น แสดงให้เห็นว่า รู้ตัวสินะว่าคนเขาไม่เอา เลยต้องลงมาทําขนาดนี้ ถ้าจริงใจต้องทํามานานแล้วไม่ใช่เพิ่งมาทํา เพื่อเรียกคะแนนนิยมกลับคืนมา แต่น่าจะช้าไปแล้วจริง ๆ ละครหลังข่าวชัดๆ” ซึ่งศรายุทธเห็นว่า ผู้โพสต์ตั้งใจสื่อถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะว่าในการเสด็จพระราชดําเนินนั้นประชาชนสามารถเข้าไปใกล้ชิดและขอฉายพระรูปกับพระองค์ท่านได้
    3. วันที่ 2 พ.ย. 2563 โพสต์ว่า “มีแจกลายเซ็นด้วย เซเลปชัดๆ” ศรายุทธเห็นว่า เป็นข้อความจงใจหมายถึงพระมหากษัตริย์ เนื่องจากเวลาที่พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินนั้น ประชาชนจะนำพระบรมฉายาลักษณ์ไปให้พระองค์ทรงลงลายพระหัตถ์

    ศรายุทธเห็นว่าข้อความทั้งสามเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงและเป็นการใส่ร้ายใส่ความต่อพระมหากษัตริย์ ทําให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดต่อพระมหากษัตริย์ ทําให้เกิดความไม่สบายใจ

    ประกอบกับศรายุทธเป็นประชาชนผู้เทิดทูนและเคารพรักสถาบันพระมหากษัตริย์จึงไม่สามารถทนต่อการกระทําของสมบัติ ทองย้อย ได้ และคิดว่าเป็นหน้าที่ของประชาชนผู้จงรักภักดีและเทิดทูนต่อสถาบัน จึงมาร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดําเนินคดีในข้อหามาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เพื่อให้ได้รับโทษตามกฎหมายจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

    นอกจากนี้ บันทึกแจ้งข้อกล่าวหายังได้ระบุอีกว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 1 มาตรา 2 และมาตรา 6

    ดังนั้น พสกนิกรและปวงชนชาวไทยจึงมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และต้องไม่กระทําการใดที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคม ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 50 (1) และ (6)

    เมื่อพิจารณาตามพฤติการณ์คดีดังกล่าวแล้ว พนักงานสอบสวนจึงแจ้ง 2 ข้อหาแก่สมบัติ ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

    สมบัติให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมภายใน 30 วัน พร้อมทั้งปฏิเสธลงลายมือชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา เนื่องจากข้อเท็จจริงบางประการไม่ตรงกับความเป็นจริง

    หลังรับทราบข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนไม่ได้ควบคุมตัวไว้ เนื่องจากมาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก และนัดส่งสำนวนให้อัยการวันที่ 22 ม.ค. 2564 เวลา 10.00 น.

    ++มาตรา 112 มีช่องโหว่ให้ผู้ที่ไม่ใช่ผู้เสียหายแจ้งความเอาผิดได้++

    สมบัติให้สัมภาษณ์หลังรับทราบข้อกล่าวหา ว่าไม่เคยคาดฝันมาก่อนว่าจะถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ตนเพิ่งได้รับหมายเรียกเย็นวานนี้ รู้สึกตกใจเล็กน้อยหลังได้รับหมายเรียก แต่เนื่องจากเคยถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองมาแล้ว จึงคิดไว้ว่าวันหนึ่งอาจถูกดำเนินคดีในลักษณะนี้เช่นกัน

    เมื่อถามถึงความเห็นของการนำกฎหมายมาตรา 112 มาใช้อย่างกว้างขวาง หลังไม่มีการดำเนินคดีมาตรา 112 มาเป็นระยะเวลาเกือบ 2 ปี สมบัติให้ความเห็นว่าการใช้กฎหมายมาตรา 112 เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม เพราะคนถูกดำเนินคดีนี้มักถูกกล่าวหาจากผู้ที่ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง แต่กลับมาแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหา ดังนั้นจึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ควรรณรงค์ยกเลิกกฎหมายมาตรานี้

    นอกจากคดีนี้ หลังการชุมนุมเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 63 สมบัติ ทองย้อย ถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องทางการเมืองก่อนหน้านี้ 2 คดี โดยเป็นคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุม #15ตุลาไปราชประสงค์ และการชุมนุม #ม็อบ18ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สน.ทุ่งมหาเมฆ ลงวันที่ 15 ธ.ค. 2563 และ https://tlhr2014.com/archives/24016)
  • พนักงานสอบสวนส่งหนังสือเลื่อนนัดหมายส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมสำนวนการสอบสวนต่อพนักงานอัยการไปเป็นวันที่ 4 ก.พ. 2564 เวลา 09.30 น.
  • พนักงานสอบสวนขอเลื่อนส่งตัวอัยการไปเป็นวันที่ 15 ก.พ. 2564
  • คณะพนักงานสอบสวนสรุปสำนวนการสอบสวน โดยมีความเห็น ควรสั่งฟ้อง และส่งตัว สมบัติ ทองย้อย ผู้ต้องหาพร้อมสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 พนักงานอัยการนัดฟังคำสั่งวันที่ 15 มี.ค. 2564 เวลา 10.00 น.
  • อัยการเลื่อนนัดฟังคำสั่งไปเป็นวันที่ 22 เม.ย. 2564 เวลา 10.00น.
  • อัยการเลื่อนนัดฟังคำสั่งไปเป็นวันที่ 19 พ.ค. 2564 เวลา 10.00น.
  • เวลา 10.00 น. พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง สมบัติ ทองย้อย อดีตการ์ดเสื้อแดงวัย 52 ปี ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ กล่าวหาว่ากระทำผิด 2 ข้อหา ได้แก่ หมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มาตรา 14

    หลังศาลรับฟ้องคดี สมบัติถูกส่งตัวต่อไปยังห้องเวรชี้ระหว่างรอให้ทนายยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยวางหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 200,000 บาท ทั้งนี้ ท้ายคำฟ้องที่ยื่นต่อศาล อัยการไม่ได้คัดค้านการประกันตัวแต่อย่างใด

    ต่อมาในเวลาราวบ่ายสามโมง อาคม นิตยากรณ์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยระหว่างพิจารณาคดี ตีราคาประกัน 200,000 บาท โดยกำหนดเงื่อนไข ห้ามจำเลยกระทำหรือเข้าร่วมกิจกรรมที่จะกระทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกฟ้องในคดีนี้ ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากศาล และให้มาตามกำหนดนัดของศาลหรือคำสั่งศาลโดยเคร่งครัด และได้กำหนดนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานสำหรับคดีนี้ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 เวลา 9.00 น.

    สำหรับคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวสมบัติ ระบุเหตุผลว่า พฤติการณ์ในคดีนับแต่ที่จำเลยถูกกล่าวหา จำเลยได้เดินทางมาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกโดยตลอด ไม่เคยหลบหนี ทั้งยังได้เดินทางมาพบพนักงานอัยการตามกำหนดนัดหมาย และนับแต่ที่จำเลยถูกดำเนินคดี ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยไปก่อเหตุลักษณะเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องเป็นคดี แสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยประสงค์ยืนยันในความบริสุทธิ์ พร้อมจะต่อสู้คดีตามกฎหมาย ไม่คิดจะหลบหนี

    ปัจจุบัน จำเลยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งในจังหวัดสมุทรปราการและประกอบอาชีพสุจริต ไม่ได้มีอิทธิพลหรือความสามารถที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้ และพยานหลักฐานในคดีล้วนอยู่ในความครอบครองของโจทก์แล้วทั้งสิ้น หากจำเลยได้รับการปล่อยชั่วคราวย่อมไม่อาจก่ออุปสรรคหรือก่อความเสียหายต่อการดำเนินคดีในศาล หรือจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นได้อย่างแน่นอน

    จำเลยยืนยันในคำร้องว่า หากได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จะไม่ทำกิจกรรมที่จะกระทำความเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ หรือหากศาลเห็นสมควรกำหนดเงื่อนไขใดที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี จำเลยยินดีจะปฏิบัติตามคำสั่งของศาลทุกประการ โดยมีบุคคลที่จะให้การกำกับดูแลให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งของศาลได้แก่ มารดาของจำเลย และนายแพทย์ ทศพร เสรีรักษ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจักษุวิทยา

    จำเลยยังอ้างถึงแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการคดีในสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกา โดยขยายโอกาสในการเข้าถึงสิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว รวมทั้งอ้างถึงเสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเรือนจำทั่วประเทศ ซึ่งมียอดผู้ติดเชื้อขณะปัจจุบันทั้งสิ้น 9,783 คน และเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มีจำนวนผู้ป่วย ทั้งสิ้น 1,960 คน จากผู้ต้องขังทั้งหมด 3,023 คน

    ทั้งนี้ หากจำเลยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะทำให้จำเลยมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับเชื้อโควิด-19 จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่แพร่ระบาดและมีจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก

    (อ้างอิง: คำฟ้องและคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.940/2564 ลงวันที่ 19 พ.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/29855)
  • ศาลแจ้งก่อนวันนัดเลื่อนนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานไปเป็นวันที่ 27 ก.ย. 2564 เวลา 9.00 น. เนื่องจากสถานการณ์โควิด
  • เวลาประมาณ 11.00 น. ศาลออกนั่งพิจารณาคดีและสอบถามจำเลยเรื่องคำให้การ สมบัติแถลงต่อศาลว่าได้โพสต์ข้อความตามที่ถูกฟ้องจริง แต่การกระทำดังกล่าวไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ขอต่อสู้คดีนี้

    ฝ่ายอัยการโจทก์แถลงต่อศาล ว่าจะนำสืบพยานบุคคลทั้งหมด 18 ปาก พร้อมส่งพยานเอกสาร 25 ฉบับ และพยานวัตถุที่เป็นวีดีทัศน์ 1 แผ่น ทั้งนี้มีพยานบุคคลที่เป็นนักวิชาการ ได้แก่ เจษฎ์ โทณะวนิก, สฤษดิ์ ธัญกิจจานุกิจ, ผศ.กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์

    ฝ่ายจำเลยได้แถลงรับข้อเท็จจริงจากพยานลำดับที่ 8 และ 9 ซึ่งจะเข้าเบิกความเกี่ยวกับการยืนยันตัวตนผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กที่ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความตามฟ้อง เนื่องจากจำเลยให้การยอมรับว่าใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวจริง จึงไม่ติดใจสืบพยานสองปากนี้

    ส่วนพยานลำดับที่ 14 ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวน สน.พญาไท ที่เป็นผู้ส่งหมายเรียกถึงจำเลย และจะเบิกความยืนยันถึงตัวตนของจำเลยด้วย จำเลยแถลงไม่รับข้อเท็จจริงจากพยานปากนี้

    ทำให้ทางฝ่ายโจทก์เหลือสืบพยานอีกทั้งหมด 16 ปาก อัยการได้แถลงขอนัดสืบพยานทั้งหมด 4 นัด

    ด้านฝ่ายจำเลยแถลงว่า จะนำสืบพยานบุคคลทั้งหมด 5 ปาก โดยมีพยานนักวิชาการที่ศึกษาข้อมูลด้านสถาบันพระมหากษัตริย์, นักวิชาการอิสระที่ศึกษาข้อมูลด้านเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และนักกิจกรรมที่เก็บรวบรวมสถิติคดีด้านการบังคับใช้มาตรา 112 โดยขอนัดสืบทั้งหมด 2 นัด

    ศาลได้อนุญาตกำหนดวันนัดสืบพยานตามคำขอทั้งสองฝ่าย คู่ความจึงได้ตกลงวันนัดที่ศูนย์นัดความ เป็นนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 8-11 มี.ค. 65 และนัดสืบพยานจำเลยวันที่ 15-16 มี.ค. 65 ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไปของแต่ละวัน

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.940/2564 ลงวันที่ 27 ก.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/35664)
  • เวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณา 502 ก่อนการเริ่มพิจารณาคดี ผู้รับมอบอำนาจจากทนายความได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนวันนัดสืบพยานในคดีนี้ออกไป สืบเนื่องจากทนายจำเลยได้สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งบุคคลดังกล่าวทราบถึงการติดเชื้อในวันที่ 3 มี.ค. 2565 ซึ่งต่อมา เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2565 ทนายจำเลยมีอาการไอและปวดศีรษะ จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อโควิด-19 และจำเป็นต้องกักตัว โดยผู้รับมอบฉันทะได้ส่งผลตรวจ ATK ของทนายจำเลย เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2565 ต่อศาล และขอให้ศาลเลื่อนการพิจารณาคดีออกไปก่อน

    อย่างไรก็ตาม ศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนการสืบพยาน โดยระบุเหตุผลว่า ผลตรวจ ATK ดังกล่าวนั้นเป็นลบ ทนายจำเลยจึงไม่ใช่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ตามที่กล่าวอ้าง นอกจากนี้ อาการไอและอาการปวดศีรษะของทนายจำเลยนั้น ไม่ได้มีการแสดงหลักฐานต่อศาลอย่างชัดเจน ถือว่าเป็นการกล่าวอ้างเลื่อนลอย ส่วนกรณีที่อ้างว่าเป็นผู้มีความเสี่ยงสูง เหตุเพราะสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อนั้น จำเลยได้ทราบข่าวเกี่ยวกับการติดเชื้อตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค. 2565 แต่ทนายจำเลยไม่ได้แจ้งล่วงหน้าต่อศาลว่าจะต้องกักตัวในวันนี้ ทั้งๆ ที่อยู่ในวิสัยที่พอจะทำได้

    ศาลเห็นว่าพยานโจทก์ได้เดินทางมาพร้อมสืบแล้ว รวมถึงจะต้องสืบพยานติดต่อกัน 6 วัน โดยศาลมีการขอเรียกพยานหลายปากมาในแต่ละวัน เพื่อไม่ให้กระบวนพิจารณาคดีต้องล่าช้า ศาลจึงไม่มีเหตุที่จะให้เลื่อนคดี โดยให้ฝ่ายโจทก์นำพยานที่มาศาลเบิกความและตอบคำซักถามของโจทก์ไปก่อน พร้อมกันนี้ศาลได้ระบุว่า จำเลยจะไม่เสียความยุติธรรม เพราะศาลจะไม่ตัดสิทธิทนายความในการถามค้าน และให้ทนายจำเลยได้ถามค้านพยานโจทก์ในวันนัดสืบพยานพรุ่งนี้ (9 มี.ค. 2565) รวมถึงอนุญาตให้คัดถ่ายคำเบิกความได้

    อย่างไรก็ตาม ทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ไปว่าความในคดีอื่น ได้ชี้แจงต่อศาลว่า ขอให้ทนายจำเลยได้กักตัวครบ 14 วัน และตรวจโควิด-19 อีกครั้ง เพื่อยืนยันว่าผลตรวจเป็นลบ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยต่อทุกฝ่ายในห้องพิจารณา นอกจากนี้ในการสืบพยาน หากให้พยานโจทก์เบิกความโดยไม่มีทนายจำเลย ทนายจำเลยจะไม่สามารถเห็นอากัปกิริยาของพยานโจทก์ขณะขึ้นเบิกความได้ ซึ่งอาจทำให้เสียเปรียบต่อการต่อสู้คดี หรือจะให้ตนแต่งเป็นทนายความ แทนทนายความผู้รับผิดชอบคดีของสมบัติ โดยจะขอให้ศาลเลื่อนการสืบพยานออกไปเป็นวันที่ 10 มี.ค. 2565 เพื่อให้ตนได้มีโอกาสเตรียมตัวในการซักค้านพยานโจทก์

    อย่างไรก็ตาม ศาลไม่อนุญาต โดยยืนยันให้เริ่มสืบพยานโจทก์ 2 ปากภายในวันนี้ ได้แก่ ศรายุทธ สังวาลย์ทอง ผู้กล่าวหาในคดีนี้ และ เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ที่จะมาให้ความเห็นเรื่องมาตรา 112 ก่อนจะนัดหมายให้ทนายจำเลยถามค้านพยานโจทก์ทั้ง 2 ปากดังกล่าวต่อไปในวันที่ 9 มี.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

    ทั้งนี้ การสืบพยานนัดนี้ทั้งภาคเช้าและภาคบ่าย สมบัติไม่มีทนายอยู่ร่วมในกระบวนการพิจารณาคดีด้วย มีเพียงผู้รับมอบอำนาจจากทนายความ ผู้สังเกตการณ์จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และ iLaw

    คดีนี้อัยการโจทก์นำพยานเข้าเบิกความจำนวน 7 ปาก ประกอบด้วย ศรายุทธ สังวาลย์ทอง ผู้กล่าวหา, เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการกฎหมาย, ฐิติวัฒน์ ธนการุณย์ และ ภูกาญจน์ บุญชูกาญจน์ ประชาชนทั่วไปที่พบเห็นข้อความ, พ.ต.ท.เกรียงไกร ใจสุทธิ์ เจ้าหน้าที่สืบหาข่าวเกี่ยวกับผู้ชุมุนม, พ.ต.ท.ประจำ หนุนนาค และ พ.ต.ท.อดิศร แก้วโหมดตาด พนักงานสอบสวนในคดีนี้

    ส่วนฝ่ายจำเลย นำพยานขึ้นเบิกความ 3 ปาก คือ ตัวจำเลยเอง, ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw และพิมพ์สิริ เพรชน้ำรอบ เจ้าหน้าที่ฝ่ายประเทศไทยของ ARTICLE 19

    ทั้งนี้อัยการนำสืบว่า แม้ข้อความทั้งสามของจำเลยไม่ได้มีการระบุอย่างเฉพาะเจาะจงว่าพาดพิงถึงบุคคลใด แต่มีนัยสื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งถือเป็นการล้อเลียน ดูหมิ่น หรือด้อยค่าพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทําให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ

    ขณะที่ข้อต่อสู้ของจำเลยคือ ข้อความดังกล่าวตนเพียงสื่อถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเท่านั้น และการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลนั้น เป็นสิ่งที่สามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.940/2564 ลงวันที่ 8 มี.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/41130)
  • เนื่องจากทนายจำเลยที่สมบัติแต่งตั้งไว้ มีประวัติใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด-19 จึงไม่สามารถมาศาลได้ จึงมีการแต่งตั้งทนายความคนใหม่ พร้อมกันนี้จำเลยได้ยื่นคำร้องขอคัดค้านกระบวนพิจารณาที่เกิดขึ้นในวันที่ 8 มี.ค. 2565 ซึ่งจำเลยไม่มีทนายความอยู่ร่วมในกระบวนพิจารณาด้วย เกี่ยวกับประเด็นนี้ ศาลชี้แจงว่า หากประสงค์จะยื่นคัดค้านกระบวนพิจารณาก็สามารถทำได้ แต่ศาลวินิจฉัยแล้วเห็นว่ากระบวนพิจารณาที่เกิดขึ้นชอบแล้ว เพราะไม่ใช่ว่าจำเลยไม่มีทนายความ แต่ทนายความไม่มาปฎิบัติหน้าที่ และศาลก็ไม่ได้ตัดสิทธิในการซักค้านของฝ่ายจำเลย

    นอกจากนี้ ศาลได้เรียกผู้สังเกตการณ์ iLaw มาตักเตือนว่า หากจะเผยแพร่กระบวนการพิจารณาต้องขออนุญาตศาลและให้ศาลตรวจดูก่อน สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 8 มี.ค.2565 ทาง iLaw ได้เผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาดังกล่าวบนเฟซบุ๊ก โดยมีการใช้คำทำนองว่า “สืบพยานโดยไม่มีทนายความ” ซึ่งศาลระบุว่าเป็นการเขียนข่าวที่คลาดเคลื่อน มีการชี้นำให้คนอ่านเข้าใจผิด ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้ว ศาลไม่ได้ให้สืบพยานโดยไม่มีทนายความ เพียงแต่ทนายไม่มาเข้าร่วมกระบวนการ พร้อมกันนี้ศาลแสดงความกังวลว่าหากเผยแพร่ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนอาจส่งผลเสียต่อการพิจารณาคดีได้

    ต่อมา ศาลได้ขอให้ทาง iLaw ลบข่าวดังกล่าวออก หากไม่ลบจะไม่อนุญาตให้การเข้าฟังการพิจารณาคดี โดยผู้สังเกตการณ์ iLaw ได้ออกจากห้องพิจารณาไปโทรศัพท์ปรึกษากับทีมงานครู่หนึ่ง แล้วเข้ามาแถลงว่าได้มีการลบโพสต์ดังกล่าวออกแล้ว ศาลจึงอนุญาตให้เข้าสังเกตการณ์ต่อไปได้

    รายละเอียดคำเบิกความพยานโจทก์ทั้ง 7 ปาก มีดังนี้

    ++พยานโจทก์ปากที่ 1 ศรายุทธ สังวาลย์ทอง ผู้กล่าวหา++

    ศรายุทธ สังวาลย์ทอง ผู้กล่าวหาในคดีนี้เบิกความว่า เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2563 เวลาประมาณช่วงเย็น ขณะที่กำลังนั่งรับประทานก๋วยเตี๋ยวในร้านอาหาร พยานได้เปิดเฟซบุ๊กของตนเองและเข้าไปดูบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “สมบัติ ทองย้อย” ซึ่งมีการตั้งค่าเป็นสาธารณะ โดยสาเหตุที่เข้าไปดูบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว เพราะพยานต้องการทราบการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฏร และเท่าที่พยานทราบ จำเลยเป็นผู้ที่ดูแลความเรียบร้อยเวลามีการชุมนุม จำเลยจะมีทีมการ์ด พร้อมวิทยุสื่อสาร นอกจากนี้ เวลาชุมนุมจำเลยจะถ่ายทอดไลฟ์สดภาพตนเอง รวมถึงแจ้งวันเวลา สถานที่ชุมนุม และความคิดเห็นส่วนตัวลงเฟซบุ๊ก

    เมื่อไล่ตรวจข้อความไปเรื่อยๆ พยานจึงเห็นข้อความของจำเลยที่โพสต์ว่า “#กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ” เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2563 และอีกสองข้อความ ที่โพสต์ต่อเนื่องกันในวันที่ 2 พ.ย. 2563 หลังพยานได้อ่านข้อความทั้งสามแล้ว เข้าใจว่าจำเลยสื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 และพระราชินี

    อัยการถามศรายุทธว่า ทำไมถึงเข้าใจว่า 3 ข้อความดังกล่าวสื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 ศรายุทธเบิกความว่า ข้อความแรกเป็นวลีที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 ตรัสกับ ฐิติวัฒน์ ธนการุณย์ ที่ไปชูรูปในหลวงที่หน้าห้างเซ็นทรัลปิ่นเกล้า ระหว่างการชุมนุมคณะราษฏร โดยเหตุการณ์นี้ได้เผยแพร่ทั้งในสื่อกระแสหลักทีวีและโลกออนไลน์

    ต่อมา ข้อความที่สอง “เขาให้ลดงบประมาณที่เอาไปใช้จ่าย ไม่ใช่ลดตัวลงมาใกล้ชิดประชาชน เข้าใจอะไรผิดไหม” ที่เข้าใจว่ากล่าวถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 และพระราชินี เพราะการต่อสู้ของกลุ่มคณะราษฎร มีการปราศรัยให้ลดงบประมาณสถาบันกษัตริย์ และประโยคที่ว่า “ถ้าจริงใจต้องทำนานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาทำ” ข้อความนี้เป็นการด้อยค่าในหลวงรัชกาลที่ 10 ว่าเสแสร้ง ไม่จริงใจกับประชาชน เป็นการเสแสร้งให้ประชาชนยอมรับ

    ส่วนข้อความสุดท้าย “มีแจกลายเซ็นต์ด้วย เซเลปชัดๆ” พยานทราบว่าสื่อถึงรัชกาลที่ 10 เพราะว่า เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2563 ซึ่งตรงกับวันปิยมหาราช ประชาชนได้ไปรับเสด็จที่พระบรมมหาราชวังและลานพระบรมรูปทรงม้า โดยปกติประชาชนทั่วไปจะไม่สามารถเข้าถึงพระองค์ได้ แต่ในวันที่รับเสด็จดังกล่าว ในหลวงรัชกาลที่ 10 และพระราชินีได้นั่งรถกอล์ฟพบปะประชาชน รวมถึงอนุญาตให้ประชาชนถ่ายรูปคู่เซลฟี่ และมีการลงลายพระหัตถ์บนพระบรมฉายาลักษณ์ให้กับประชาชนที่มารับเสด็จ

    ภายหลังจากที่อ่านข้อความทั้งหมดของจำเลยแล้ว ศรายุทธเบิกความว่าตนรู้สึกไม่สบายใจ เพราะข้อความดังกล่าวเป็นการด้อยค่าและดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ พยานจึงได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลย ที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2563

    ทั้งนี้ ศรายุทธเบิกความว่า ตนไม่ได้รู้จักสมบัติเป็นการส่วนตัว อย่างไรก็ตาม ศรายุทธเคยเห็นสมบัติมาก่อน ที่บริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ ถนนราชดำเนิน ตอนนั้นมีการชุมนุมกลุ่มราษฎรประมาณวันที่ 13 ต.ค. 2563 พยานเห็นว่าสมบัติทำกำลังทำหน้าที่เป็นการ์ดดูแลผู้ชุมนุม พยานจึงได้บันทึกวิดีโอการชุมนุมดังกล่าวเอาไว้ สาเหตุที่ไปสถานที่ชุมนุม เพราะพยานอยากทราบว่าการชุมนุมเป็นอย่างไร รวมถึงพยานอาศัยอยู่แถวนั้นพอดี โดยพยานยืนยันว่าไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย

    ช่วงตอบทนายจำเลยถามค้าน ศรายุทธเบิกความโดยสรุปได้ว่า พยานไม่ได้เป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่ม ศปปส. แต่อย่างใด เพียงแต่เคยไปร่วมการชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. และพยานทราบว่าสมบัติเคยเป็นการ์ดกลุ่ม นปช. มาก่อน ซึ่งทั้งสองกลุ่มมีความคิดเห็นทางการเมืองที่ไม่ตรงกัน

    ทนายจำเลยถามค้านว่า สำหรับ 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่มคณะราษฎร พยานเห็นด้วยหรือไม่ ศรายุทธตอบว่าไม่เห็นด้วยแค่ข้อ 3 ที่เรียกร้องให้มีการปฎิรูปสถาบันกษัตริย์

    ทนายจำเลยถามค้านต่อว่า พยานเคยไปให้การที่ศาลทหารกรุงเทพฯ ในคดี 112 ของ “แม่จ่านิว” กรณีตอบเฟซบุ๊กว่า “จ้า” ด้วยใช่หรือไม่ คำว่า “จ้า” ผิดมาตรา 112 หรือไม่ และพยานได้ติดตามคำพิพากษาของคดีนี้หรือไม่ ศรายุทธตอบว่า ตนเคยไปเป็นพยานเมื่อประมาณปี 2562 แต่พยานไม่รู้จักแม่จ่านิว ส่วนคำว่า “จ้า” ถือเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เพราะต้องดูถึงบริบทโดยรวม ส่วนศาลจะมีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้วหรือไม่ พยานไม่ทราบ เพราะไม่ได้ไปติดตามผลคดีทุกคดี

    ทนายจำเลยถามค้านต่อว่า คำว่า “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจนะ” ทราบหรือไม่ว่า มีคนเคยพูดก่อนในหลวงรัชกาลที่ 10 และใครก็ตามที่พูดสามคำนี้ถือว่าเข้าข่ายความผิดมาตรา 112 หรือไม่ ศรายุทธตอบว่า ตนไม่ทราบว่าก่อนหน้าในหลวงรัชกาลที่ 10 มีคนเคยพูดประโยคนี้มาก่อนหรือไม่ ส่วนคำว่า “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” จะเป็นความผิดหรือไม่ จำเป็นต้องดูบริบทว่ากำลังพูดเรื่องอะไร และคนพูดกำลังทำอะไรอยู่ รวมถึงทัศนคติทางการเมืองด้วย ทั้งนี้ พยานยืนยันว่าทุกคนมีสิทธิพูดคำดังกล่าว แต่ต้องมีเจตนาบริสุทธิ์

    ทนายจำเลยถามค้านต่อว่า พยานทราบหรือไม่ว่า ฐิติวัฒน์ ธนการุณย์ มีรอยสักที่แขนว่า “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” พยานตอบว่าทราบ

    ต่อมา ทนายจำเลยถามค้านว่า เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2563 ที่มีการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร ทำไมพยานถึงเข้าไปอยู่ในที่ชุมนุม ศรายุทธตอบว่า ช่วงที่มีการชุมนุมดังกล่าว เป็นช่วงเวลาที่พยานไปรอรับเสด็จฯ ที่ถนนราชดำเนินพอดี ซึ่งเป็นที่สาธารณะ โดยเขาได้สวมเสื้อสีเหลืองไปรับเสด็จฯ ไม่ได้ไปรวมตัวหรือชุมนุมแต่อย่างใด

    ++พยานโจทก์ปากที่ 2 เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการกฎหมาย++

    เจษฎ์ โทณะวณิก อาจารย์ด้านนิติศาสตร์ที่วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย จังหวัดขอนแก่น เบิกความว่าตนเป็นอาจารย์สอนกฎหมายมา 23 ปีแล้ว วิชาที่สอนได้แก่ กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายอาญาและกฎหมายแพ่งทั่วไป กฎหมายรัฐธรรมนูญ ฯลฯ และด้านประวัติการศึกษา

    เกี่ยวกับคดีนี้ เมื่อช่วงประมาณ พ.ย. 2563 พนักงานสอบสวน สน.ทุ่งมหาเมฆ ได้เรียกตนมาเป็นพยานเพื่อขอความเห็นเชิงวิชาการว่า 3 ข้อความดังกล่าวเข้าข่ายผิดกฎหมายมาตรา 112 หรือไม่ โดยหลังจากอ่านข้อความแล้ว พยานเข้าใจว่าจำเลยสื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 เนื่องจากช่วงเวลาการโพสต์ข้อความดังกล่าวอยู่ประมาณปลายเดือน ต.ค. และ พ.ย. ปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 พบปะและมีปฏิสันถารกับประชาชน รวมถึงพระราชทานรูปพระราชหัตถเลขาแก่ประชาชน ที่รอรับเสด็จฯ ในวันปิยมหาราช นอกจากนี้ยังตรัสขอบคุณประชาชนคนหนึ่ง ที่ไปชูรูปพระบรมฉายาลักษณ์ในระหว่างการชุมนุมราษฎรว่า “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” ซึ่งเป็นข้อความเดียวกันกับที่จำเลยลงในสื่อสาธารณะ

    เจษฎ์เบิกความต่อว่า ข้อความดังกล่าวทำให้เกิดความเสื่อมเสียพระเกียรติยศของในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยการที่บอกว่าพระองค์เสแสร้งลงมาพบปะประชาชน เพราะทรงเห็นว่าประชาชนไม่ได้ต้องการพระองค์แล้ว ถือเป็นการดูถูก ดูหมิ่น และเหยียดหยามในหลวงรัชกาลที่ 10 ตนเห็นว่าเป็นความผิดตามมาตรา 112

    ช่วงตอบทนายจำเลยถามค้าน เจษฏ์เบิกความว่าในการศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก เขาทำวิทยานิพนธ์ในประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ได้ทำประเด็นประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และไม่ได้เขียนบทความวิชาการเกี่ยวกับมาตรา 112 หรือเผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับชาติ แต่เขาเคยได้รับเชิญให้ไปบรรยายเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ของประเทศไทย ในเวทีวิชาการนานาชาติที่ฮ่องกง รวมถึงเขียนเรื่องนี้ลงในคอลัมน์หนังสือพิมพ์

    เกี่ยวกับคดีมาตรา 112 เจษฏ์เบิกความว่าเขาเคยไปให้การกับตำรวจในชั้นสอบสวน และขึ้นเบิกความเป็นพยานอยู่หลายสิบคดีในชั้นศาล แม้เจษฎ์จะยืนยันว่าตัวเขาเองไม่ได้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอาญา รวมถึงเคยแจ้งพนักงานสอบสวนไปแล้วว่า มีนักวิชาการนิติศาสตร์และอาจารย์สอนกฎหมายอาญาที่เชี่ยวชาญกฎหมายอาญามากกว่าเขาอยู่ แต่ไม่ทราบว่าเพราะเหตุใดเขาถึงถูกเชิญไปเป็นพยานในคดีมาตรา 112

    ในประเด็นเกี่ยวกับข้อความตามฟ้อง เจษฏ์เบิกความว่า คำว่า “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” เพียงลำพังอาจไม่เข้าข่ายความผิด แต่ข้อความที่ว่า “มีแจกลายเซ็นด้วย เซเลปชัดๆ” มีลักษณะดูหมิ่น เสียดสี และด้อยค่าในหลวงรัชกาลที่ 10 ทำนองว่า ทรงอยากแสดงพระองค์เลียนแบบคนดังหรือบุคคลมีชื่อเสียง

    นอกจากนี้ เจษฎ์เบิกความว่าแม้ทั้ง 3 ข้อความจะโพสต์ต่างวันต่างเวลากัน แต่เนื้อหามีความเชื่อมโยงถึงกันและมาจากเหตุการณ์เดียวกัน คือวันปิยมหาราชที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 เสด็จพระราชดำเนินพบปะประชาชน อย่างไรก็ตาม พยานไม่เคยรู้จักกับจำเลยมาก่อน ไม่ทราบว่าจำเลยมีแนวคิดทางการเมืองเป็นอย่างไร และไม่ทราบว่าจำเลยอยู่ในกลุ่มคณะราษฎร

    ทนายจำเลยถามค้านเจษฎ์เกี่ยวกับ 3 ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมคณะราษฎรว่าเห็นด้วยหรือไม่ เจษฏ์ตอบว่าข้อที่เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก และขอให้แก้รัฐธรรมนูญ เขาเห็นด้วยในระดับหนึ่ง แต่ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เขาไม่เห็นด้วย

    (อ้างอิง: คำให้การพยานโจทก์ ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.940/2564 ลงวันที่ 9 มี.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/42934)
  • ++พยานโจทก์ปากที่ 3 ฐิติวัฒน์ ธนการุณย์ ชายที่ชูพระบรมฉายาลักษณ์ จนในหลวงตรัสชมว่า “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ”++

    ฐิติวัฒน์ ธนการุณย์ ผู้จัดการร้านอาหาร อายุ 50 ปี เบิกความว่า เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2563 ช่วงเย็น ขณะที่เขากำลังทำงานอยู่ที่ร้านอาหารบริเวณเซ็นทรัลปิ่นเกล้า มีเยาวชนผูกสีโบว์ขาวจำนวนหนึ่งมารวมตัวกันชุมนุมเรียกร้องเรื่องการปฎิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์และยกเลิกมาตรา 112 บริเวณหน้าห้างดังกล่าว

    พยานออกมาสังเกตการณ์อยู่ครู่หนึ่ง เมื่อพบว่ากลุ่มเยาวชนที่มาร่วมชุมนุมยังมาไม่เยอะ ตนจึงปล่อยวาง ก่อนจะเดินกลับไปทำงานต่อ แต่ต่อมาตนได้ยินแม่ค้าที่อยู่บริเวณหน้าร้านตะโกนว่า ‘มากันเต็มเลย’ พยานรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ถูกต้อง และคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่าง จึงนำภาพพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชินีในรัชกาลที่ 9 ไปยืนชูท่ามกลางผู้ชุมนุม พร้อมกับพยักหน้าให้กลุ่มผู้ชุมนุมด้วยความเมตตา เพื่อเป็นการแสดงออกว่า ในประเทศนี้ยังมีคนอีกมากมายที่มีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์

    ฐิติวัฒน์เบิกความต่อว่า หลังจากที่ชูพระบรมฉายาลักษณ์ได้ครู่หนึ่ง ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาขอความร่วมมือให้ออกจากพื้นที่และเดินมาส่งเขาที่หน้าร้านอาหารที่เขาทำงานอยู่ ไม่ได้มีเหตุการณ์ความรุนแรงใดๆ เกิดขึ้น หลังจากนั้นเขาก็รู้สึกเสียใจเป็นอย่างมากที่เห็นเยาวชนออกมาชุมุนมในลักษณะนี้ จึงนั่งร้องไห้อยู่กับภรรยาสองคน

    จากการกระทำดังกล่าวของฐิติวัฒน์ ทำให้เฟซบุ๊กของร้านที่เขาทำงานอยู่ถูกกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเข้าไปโจมตี ภรรยาของเขาจึงให้เขาหยุดทำงานไป 7 วันเพื่อพักผ่อน ต่อมาเมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2563 ซึ่งตรงกับวันปิยมหาราช ฐิติวัฒน์จึงใช้เวลาว่างไปสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ในวันดังกล่าว ในหลวงรัชกาลที่ 10 ได้เสด็จมาเพื่อประกอบพระราชกรณียกิจ จึงอยู่เฝ้ารอรับเสด็จ

    ต่อมา เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 10 และพระราชินีเสด็จผ่านประชาชนที่รอรับเสด็จ ฐิติวัฒน์ได้เปล่งสุดเสียงว่า “ทรงพระเจริญ” หลายหน กระทั่งพระราชินีเห็นเขาแล้วจำได้ จึงได้กราบบังคมทูลให้ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทราบว่า เขาเป็นประชาชนที่ไปชูรูปพระบรมฉายาลักษณ์ท่ามกลางกลุ่มผู้ชุมนุม เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2563

    ในหลวงรัชกาลที่ 10 จึงตรัสชมเขาว่า “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” พร้อมกับตบบ่าเขาสองครั้ง ทั้งนี้ ฐิติวัฒน์เบิกความว่า จำรายละเอียดขณะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ค่อยได้แล้ว เพราะตอนนั้นเขารู้สึกตื้นตันมากจนเหมือนกับ “วิญญาณหลุดออกจากร่าง” โดยเหตุการณ์ดังกล่าวได้เผยแพร่ไปทั่วโลกออนไลน์ มีสำนักข่าว ได้แก่ อมรินทร์ รอยเตอร์ เป็นต้น โทรมาขอสัมภาษณ์เขา

    นอกจากนี้ ฐิติวัฒน์เบิกความว่า ข้อความ “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจนะ” ที่ในหลวงตรัสกับเขาถือว่าเป็นศิริมงคลมาก รวมถึงยังมีการนำข้อความดังกล่าวไปสกรีนเป็นข้อความบนเสื้อผ้าและกระเป๋า และเคยมีคนจะนำไปทำเป็นสติกเกอร์ไลน์ แต่ทางไลน์เจแปนไม่อนุมัติ

    ต่อมา พนักงานสอบสวนได้เรียกเขาไปสอบปากคำในคดีนี้ พร้อมแสดงทั้งสามข้อความดังกล่าวให้ดู เมื่อฐิติวัฒน์อ่านแล้วเข้าใจว่าทันทีว่า ข้อความ “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” จำเลยสื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 เพราะเป็นถ้อยคำที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 ตรัสกับเขา พร้อมกับมีการแชร์ภาพข่าวจากมติชน เกี่ยวกับที่นักศึกษาไม่มารับปริญญา

    ส่วนข้อความที่กล่าวว่า “เขาให้ลดงบประมาณที่เอาไปใช้จ่าย ไม่ใช่ให้ลดตัวลงมาใกล้ชิดกับประชาชน…” นั้นก็เป็นการกล่าวถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 เพราะในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้ชุมนุมคณะราษฎรเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์และให้ลดงบประมาณของสถาบันฯ ส่วนข้อความที่พูดถึงการแจกลายเซ็นนั้น มาจากวันที่ 1 พ.ย. 2563 ที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 เสด็จไปพระบรมมหาราชวังเพื่อเปลี่ยนเครื่องทรงแก้วพระมรกต รวมถึงมีการแจกลายเซ็นบนพระบรมฉายาลักษณ์ที่มีประชาชนนนำมาถือระหว่างรอรับเสด็จ

    ช่วงตอบคำถามทนายจำเลยถามค้าน ฐิติวัฒน์เบิกความว่า ตนได้สักคำว่า “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” ไว้ที่แขนข้างขวา นอกจากนี้ พยานเชื่อว่าถ้อยคำ “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” ที่เรียงติดกันนี้ มีในหลวงรัชกาลที่ 10 ตรัสเป็นคนแรกของโลก โดยประชาชนทั่วไปมีสิทธิใช้ถ้อยคำดังกล่าวได้ แต่ต้องดูด้วยว่าพูดในเจตนาใด ไม่ได้หมายความว่า ใครก็ตามที่พูดถ้อยคำนี้ จะต้องถูกแจ้งข้อหามาตรา 112

    ทนายจำเลยถามค้านว่า ในระหว่างที่จำเลยโพสต์ทั้ง 3 ข้อความดังกล่าว เมื่อวันที่ 30 ต.ค. และ 2 พ.ย. 2563 พยานทราบหรือไม่ว่าจำเลยทำอะไรอยู่ โพสต์ข้อความอะไรก่อนหน้า และกำลังติดตามข่าวสารเรื่องอะไร พยานตอบว่าไม่ทราบ เนื่องจากไม่ได้เป็นเพื่อนกับจำเลยในเฟซบุ๊ก

    ทั้งนี้ แม้พยานจะทราบว่า ระหว่างวันที่ 23 ต.ค. ถึง 2 พ.ย. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้ลงพื้นที่พบประประชาชน แต่ข้อความที่จำเลยโพสต์เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2563 ที่ขอให้มีการลดงบประมาณนั้น พยานเชื่อว่าจำเลยไม่ได้กล่าวถึงบุคคลทั้งสอง แต่กล่าวถึงในหลวงรัชกาลที่ 10

    ต่อมา ทนายจำเลยถามค้านเกี่ยวกับข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ว่า คำว่า “ปฏิรูป” หมายถึงทำให้ดีขึ้นใช่หรือไม่ ฐิติวัฒน์ตอบว่าในความเห็นของเขา คำว่า “ปฏิรูป” ของผู้ชุมนุมคณะราษฎรหมายถึง “การล้มล้าง”

    ทนายจำเลยถามพยานต่อว่า ถ้าเช่นนั้นคำว่า ปฎิรูปการศึกษา หรือปฎิรูปกองทัพ หมายถึงล้มล้างด้วยหรือไม่ ในประเด็นนี้พยานขอไม่ตอบ

    ++พยานโจทก์ปากที่ 4 ภูกาญจน์ บุญชูกาญจน์ ประชาชนทั่วไปที่ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อความ++

    ภูกาญจน์ บุญชูกาญจน์ อายุ 51 ปี ประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว เบิกความว่า เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2563 พนักงานสอบสวน สน.ทุ่งมหาเมฆ ได้เรียกให้ตนไปเป็นพยาน โดยให้ดูโพสต์ข้อความทั้งสามของจำเลยและเข้าใจว่าสื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 10

    ภูกาญจน์เบิกความอย่างละเอียดว่า สำหรับข้อความแรก “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจนะ” จำเลยได้พิมพ์ตกไป ก ไปจึงกลายเป็นคำว่า “กล้ามา” รวมถึงมีการแนบลิงค์ข่าวมติชนเรื่องที่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมตัวกันไม่รับปริญญาทั้งคณะอีกด้วย ซึ่งเห็นได้ชัดว่าจำเลยสื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 เพราะถ้อยคำดังกล่าวในหลวงรัชกาลที่ 10 เป็นผู้ตรัส รวมถึงเป็นผู้พระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณทิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกด้วย หลังอ่านข้อความดังกล่าว ตนรู้สึกหดหู่ใจมากและทำใจไม่ได้ที่มีการโพสต์ข้อความและแชร์ลิงค์ข่าว เพราะถือเป็นการหมิ่นเกียรติและทำให้ประชาชนเข้าใจในหลวงในทางที่ไม่ดี

    ข้อความที่สองที่กล่าวว่า “เขาให้ลดงบประมาณ ไม่ได้ลดตัวลงมาใกล้ชิดกับประชาชน” พยานเห็นว่าเป็นการดูหมิ่นและโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะคำว่า ‘ลดตัว’ ใช้กับบุคคลที่มีสถานะสูงกว่า ซึ่งไม่น่าจะหมายถึงนายกรัฐมนตรี

    ส่วนข้อความเรื่องการแจกลายเซ็น ที่โพสต์เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2563 พยานทราบว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 ได้เสด็จไปเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต และแจกลายพระหัตถ์ ในวันที่ 1 พ.ย. 2563 ซึ่งห่างจากวันที่จำเลยโพสต์ข้อความเพียงหนึ่งวัน ซึ่งจะสื่อถึงใครไม่ได้ นอกจากในหลวงรัชกาลที่ 10

    ทั้งนี้ พยานเบิกความว่าตนไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อน และไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคือง

    อย่างไรก็ตาม ภูกาญจน์เบิกความเพิ่มเติมภายหลังว่า เนื่องจากเมื่อก่อนตนเคยเป็นผู้สื่อข่าว จึงพอทราบใบหน้ารูปพรรณสัณฐานของสมบัติอยู่บ้าง และทราบว่าสมบัติเป็นการ์ดของผู้ชุมนุม โดยเมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2563 พยานไปที่พระบรมมหาราชวังเพื่อไว้อาลัยในวันครบรอบการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 ระหว่างเดินทางแถวถนนราชดำเนินบริเวณใกล้ร้านแม็คโดนัลด์ เขาเห็นว่ามีการชุมนุมของกลุ่มราษฎร จึงเดินเข้าไปถ่ายภาพในพื้นที่ดังกล่าว ก่อนเห็นสมบัติกำลังปฐมพยาบาลการ์ดผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บ

    ก่อนช่วงตอบคำถามทนายจำเลยถามค้าน ทนายจำเลยสอบถามภูกาญจน์ว่า รู้จักชายสูงอายุสวมเสื้อเชิ้ตสีม่วงที่นั่งอยู่ในห้องพิจารณาคดีด้วยหรือไม่ พร้อมกับแถลงเชิงตั้งคำถามว่าชายคนดังกล่าวได้เข้ามาสังเกตการณ์การสืบพยานโจทก์ก่อนหน้านี้หลายปากตั้งแต่ช่วงเช้าเพื่อซักซ้อมพยานหรือไม่ โดยในช่วงเวลาพักกลางวัน ภูกาญจน์กับชายคนดังกล่าวได้นั่งอยู่ในห้องพักของพนักงานอัยการด้วยกัน ซึ่งในห้องมีกล้องโทรทัศน์วงจรปิดสามารถตรวจสอบดูได้

    ศาลได้เรียกมาสอบถามและทราบความว่า ชายคนดังกล่าวไม่เคยรู้จักกับภูกาญจน์มาก่อน พร้อมแถลงต่อศาลว่าตนเป็นเพียงประชาชนทั่วไปที่สนใจคดีนี้จึงมาร่วมฟังการพิจารณาด้วยเท่านั้น และขณะที่นั่งในห้องพักอัยการด้วยกันนั้น พวกเขาไม่ได้พูดคุยเรื่องคดีแต่อย่างใด เพียงแต่สนทนากันเรื่องทั่วไป

    ทนายจำเลยถามค้านว่า พยานทราบหรือไม่ว่า เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2563 จำเลยเคยโพสต์ข้อความทำนองว่า เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องที่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก ส่วนอีกสองข้อที่ขอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเรียกร้องการปฎิรูปสถาบันกษัตริย์นั้นเอาไว้ทีหลัง พยานตอบว่าไม่ทราบ

    ทนายจำเลยถามค้านต่อว่า ระหว่างวันที่ 23 ต.ค. ถึง 2 พ.ย. 2563 นอกจากโพสต์ทั้งสามที่เป็นเหตุแห่งคดีแล้ว พยานได้ติดตามตรวจสอบโพสต์อื่นๆ ของจำเลยด้วยหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ได้ตามดูเองทุกโพสต์ แต่เขาจะมีกลุ่มไลน์ระหว่างเขากับเพื่อนๆ และรุ่นน้องที่ใช้สื่อสารกัน หากมีใครเห็นข้อความที่โพสต์ในลักษณะหมิ่นเหม่ หรือดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็จะบันทึกภาพหน้าจอไว้และส่งแชร์กันในกลุ่มไลน์ แต่หากเป็นโพสต์ที่จำเลยกล่าวถึงรัฐบาล เขาก็จะปล่อยผ่านไป ไม่สนใจ

    ทนายจำเลยถามค้านว่า คำว่า “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” ประชาชนทั่วไปมีสิทธิพูดได้หรือไม่ พยานตอบว่า มีสิทธิพูด แต่ต้องดูบริบทแวดล้อมด้วย หากเป็นกรณีของจำเลยคือมีเจตนาต้องการโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์

    (อ้างอิง: คำให้การพยานโจทก์ ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.940/2564 ลงวันที่ 10 มี.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/42934)
  • ++พยานโจทก์ปากที่ 5 พ.ต.ท.เกรียงไกร ใจสุทธิ์ ตำรวจผู้สืบหาข่าวผู้ชุมนุมกลุ่มคณะราษฎร++

    พ.ต.ท.เกรียงไกร ใจสุทธิ์ พนักงานสืบสวน กองบัญชาการสืบสวนตํารวจภูธรภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ เบิกความว่า ปี 2563 พยานรับราชการอยู่ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล 1 ซึ่งมีเขตอำนาจครอบคลุมสถานีตำรวจนครบาลดุสิต นางเลิ้ง ชนะสงคราม และสถานีตำรวจอื่นๆ ในบริเวณใกล้เขตพระราชฐาน รวม 9 สถานี ยกเว้น สน.ทุ่งมหาเมฆ ไม่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ

    เนื่องจากพื้นที่บริเวณดังกล่าวมีการจัดชุมนุมอยู่บ่อยครั้ง พยานจึงได้รับมอบหมายให้รวบรวมข้อมูลของกลุ่มผู้ชุมนุม บทบาทหน้าที่ของแต่ละคนคืออะไร มาชุมนุมกี่ครั้ง เป็นต้น อย่างไรก็ตามภายหลังกลุ่มผู้ชุมุนุมได้มีการจัดทีมการ์ดคอยดูแลรักษาความปลอดภัยและมีการคัดแยกผู้คน ทําให้ตํารวจไม่สามารถเข้าไปเก็บข้อมูลเกี่ยวกับผู้ชุมนุมได้

    หลังจากการรวบรวมข้อมูล พยานจึงทราบว่าจำเลยเป็นหนึ่งในการ์ดของผู้ชุมนุม ซึ่งในช่วงเดือน ก.ค. ถึง พ.ย. 2563 ได้เข้ามาชุมนุมในพื้นที่เขตของกองบังคับการตํารวจนครบาล 1 จํานวน 5 ครั้ง ในแต่ละครั้งจะมีการถ่ายภาพไว้ นอกจากนี้ พยานได้เข้าไปตรวจดูเฟซบุ๊กของจำเลย ซึ่งจำเลยได้โพสต์ในลักษณะเชิญชวนให้ประชาชนเข้ามาสมัครเป็นการ์ดอาสา รวมถึงจะระบุวันเวลาและสถานที่ในการชุมนุม

    ช่วงตอบทนายจำเลยถามค้าน พ.ต.ท.เกรียงไกร เบิกความว่า เท่าที่รวบรวมข้อมูลมา ไม่พบว่าจําเลยเป็นแกนนําและขึ้นปราศรัยเกี่ยวกับข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ นอกจากจําเลยจะเป็นการ์ดให้กลุ่มคณะราษฎรแล้ว จําเลยยังเป็นการ์ดให้กลุ่มอื่นๆ ด้วย เช่น กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก ที่เรียกร้องเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ และกลุ่มนักเรียนเลวที่เรียกร้องปฏิรูปการศึกษา

    ++สืบพยานจำเลยปากที่ 6 พ.ต.ท.ประจำ หนุนนาค อดีตพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งมหาเมฆ++

    พ.ต.ท.ประจำ หนุนนาค พนักงานสอบสวน สน.ท่าเรือ เบิกความว่า ก่อนหน้านี้ตนเคยเป็นพนักงานสอบสวน ที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ เมื่อเดือน ธ.ค. 2563 ในช่วงเวลาดังกล่าวมีศรายุทธ สังวาลย์ทอง มาแจ้งความร้องทุกข์ว่า สมบัติ ทองย้อย ได้โพสต์ข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ลงในเฟซบุ๊ก โดยมีข้อความว่า “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจนะ” พยานจึงได้ลงบันทึกประจำวันไว้

    นอกจากนี้ ศรายุทธได้มอบภาพบันทึกหน้าจอจากโทรศัพท์มือถือที่ปรากฏสามข้อความดังกล่าว รวมถึงภาพของจำเลยที่ไปเข้าร่วมการชุมนุมกลุ่มคณะราษฎร เพื่อให้พนักงานสอบสวนตรวจสอบยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวหรือไม่

    ต่อมา มีคำสั่งให้แต่งตั้งพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับคดีนี้ ตามคำสั่งกองบังคับการตำรวจนครบาล โดย พ.ต.ท.ประจำ ได้เรียกพยานหลายคนมาสอบปากคำ โดยมีปากพยานผู้เชี่ยวชาญคือ เจษฎ์ โทณะวณิก และประชาชนทั่วไป เพื่อสอบถามว่าคำพูดของผู้ต้องหาถือเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์หรือไม่ ซึ่งในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ฐิติวัฒน์รู้สึกว่าเป็นการด้อยค่าพระมหากษัตริย์ โดยหลังทำการสอบสวนแล้ว พยานเห็นว่าผู้ต้องหากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พยานจึงได้ออกหมายเรียกสมบัติมาแจ้งข้อกล่าวหา

    ต่อมา เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2563 พยานต้องย้ายไปรับราชการที่อื่น จึงได้ส่งสำนวนการสอบสวนต่อให้ พ.ต.ท.อดิศร แก้วโหมดตาด

    ช่วงตอบทนายจำเลยถามค้าน ทนายจำเลยถามค้านว่า ช่วงที่พยานรับราชการที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ นอกจากคดีนี้แล้ว มีการแจ้งความมาตรา 112 คดีอื่นอีกหรือไม่ และได้เชิญเจษฎ์มาสอบในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญหรือไม่ พ.ต.ท.ประจำ เบิกความว่ามีคดี 112 กรณีชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมัน แต่พยานจำไม่ได้ว่าคดีดังกล่าว ได้เรียกเจษฏ์มาสอบปากคำด้วยหรือไม่

    ในประเด็นเดียวกัน ทนายจำเลยถามค้านต่อว่า ทำไมถึงเชิญเจษฎ์มาสอบเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญ พ.ต.ท.ประจำ เบิกความว่า สาเหตุที่เรียกมาสอบ เพราะผู้บังคับบัญชาแนะนำมา พร้อมกับทราบว่าเจษฎ์เคยไปเป็นพยานเกี่ยวกับความผิดตามมาตรา 112 หลายคดี พยานไม่ได้รู้จักเจษฎ์เป็นการส่วนตัวมาก่อน รวมถึงเมื่อมีการประชุมกันแล้ว ได้ตกลงกันว่าให้เรียกเจษฎ์มาสอบปากคำ

    ทนายจำเลยถามค้านต่อว่า จากประวัติอาชญากร จำเลยเคยถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา 112 หรือไม่ พยานตอบว่าไม่ทราบ ต้องดูผลจากผลการตรวจสอบประวัติอาชญากร

    ทนายจำเลยถามค้านว่า จากการสอบสวน จำเลยในคดีนี้ไม่ได้เป็นแกนนำการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าไม่ทราบ

    ++พยานโจทก์ปากที่ 7 พ.ต.ท.อดิศร แก้วโหมดตาด พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี++

    พ.ต.ท.อดิศร แก้วโหมดตาด กองกำกับการหมู่ 1 กองกับคับการตำรวจปราบปราม เบิกความว่า ขณะที่ทําการสอบสวนคดีนี้ ตนรับราชการเป็นรองผู้กํากับการที่ สน.คลองตัน และได้รับคําสั่งกองบังคับการตํารวจนครบาล 5 ให้เป็นคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีนี้

    พยานได้สอบปากคำ พ.ต.ต.เกรียงไกร ใจสุทธิ์ และ พ.ต.ต.อิสรพงศ์ ทิพย์อาภากุล โดย พ.ต.ต.เกรียงไกร ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้สืบสวนเกี่ยวกับการ์ดของกลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฎรที่ชุมนุมในปี 2563 และเป็นผู้มอบรายงานการสืบสวนให้ตน ส่วน พ.ต.ต.อิสรพงศ์ นั้นเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีเฟซบุ๊กของจําเลย และได้มอบรายงานการตรวจสอบให้ตนเช่นกัน

    เกี่ยวกับข้อความ “กล้ามา เก่งมาก ขอบใจนะ” ที่จำเลยโพสต์นั้นเมื่อดูประกอบกับข้อความด้านล่างที่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะไม่เข้ารับปริญญาทั้งคณะ ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 10 จะเป็นผู้พระราชทานปริญญาบัตร จึงทําให้เข้าใจได้ว่าเป็นการโพสต์ถึงพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ถ้อยคําที่จําเลยโพสต์ ยังมีที่มาจากการที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 ตรัสกับประชาชนที่มารับเสด็จในวันที่ 13 ต.ค. 2563 การที่จําเลยโพสต์ข้อความดังกล่าว จึงเป็นการเสียดสีและเปรียบเปรยกับในหลวงรัชกาลที่ 10

    สำหรับข้อความเรื่องปรับลดงบประมาณ กับข้อความเรื่องแจกลายเซ็น พยานเห็นว่าเป็นโพสต์ต่อเนื่องในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ จำเลยเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มที่มีข้อเรียกร้องให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 6, ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และปรับลดงบประมาณเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ จุดนี้แสดงให้เห็นว่าข้อความดังกล่าวมุ่งตรงถึงในหลวงรัชกาลที่ 10

    นอกจากนี้ ข้อความดังกล่าวจำเลยต้องการด้อยค่าว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 ไม่มีคนรัก จึงต้องลดตัวลงมาพบปะประชาชน เสแสร้งแกล้งทำให้ประชาชนรัก และเปรียบเปรยพระองค์ท่านว่าเป็นดาราดัง จึงถือว่าเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท พยานและคณะทํางานจึงมีความเห็นว่าจําเลยกระทําความผิดมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

    ช่วงตอบทนายจำเลยถามค้าน พ.ต.ท.อดิศร เบิกความว่า จากรายงานการสืบสวนที่ไ้ด้รับมา ไม่ได้ระบุว่าจำเลยเป็นการ์ดชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม แต่ในช่วงเวลาดังกล่าว มีการชุมนุมของบุคคลหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มเยาวชนปลดแอก และกลุ่มคณะราษฎร 2563 ซึ่งมีการเรียกร้องในลักษณะเดียวกัน

    ทนายจำเลยถามค้านว่าพยานทราบแนวคิดทางการเมืองของจำเลยหรือไม่ พยานเบิกความว่า ตนไม่ได้เป็นเพื่อนในเฟซบุ๊กกับจําเลย ไม่เคยติดตามเฟซบุ๊กของจําเลย จึงไม่ทราบว่าจําเลยเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมเรื่องขอให้ประยุทธ์ลาออกและแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่

    ทนายจําเลยถามพยานว่าจากรายงานการสืบสวน ไม่ปรากฏว่าจําเลยมีแนวคิด-อุดมการณ์ เรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์และปรับลดงบประมาณสถาบันกษัตริย์ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าในความเห็นส่วนตัว คนเราถ้าไม่มีแนวความคิดอันเดียวกัน อุดมการณ์เดียวกัน ไม่สามารถอยู่หรือไปด้วยกันได้ แต่จากการตรวจสอบประวัติอาชญากร ไม่พบว่า จำเลยเคยมีประวัติถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112

    ทนายจําเลยถามค้านว่า พยานเคยมีประสบการณ์การทําคดีตามมาตรา 112 มากี่คดี พยานเบิกความว่า ตนเป็นพนักงานสอบสวน ต้องทําหน้าที่ทุกคดี คําถามของทนายจําเลยจึงไม่เกี่ยวกับการทําหน้าที่ของตน

    ทนายจำเลยถามค้านต่อว่า พยานได้สอบปากคําที่พยานจําเลยเคยอ้างไว้หรือไม่ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์และกฎหมาย พยานตอบว่าไม่ได้สอบ เพราะจําเลยอ้างเพียงให้สอบผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์เท่านั้น ไม่ได้ระบุตัวบุคคล ซึ่งในสํานวนการสอบสวนก็มีการสอบผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวไว้แล้ว

    (อ้างอิง: คำให้การพยานโจทก์ ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.940/2564 ลงวันที่ 11 มี.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/42934)
  • ++พยานจำเลยปากที่ 1 สมบัติ ทองย้อย จำเลย++

    สมบัติเบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้เขาไม่เคยถูกดำเนินคดีมาตรา 112 มาก่อน เกี่ยวกับประวัติการเคลื่อนไหวทางการเมือง ตัวเขาเคยร่วมชุมนุมกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) และเคยร่วมชุมนุมกับกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, กลุ่มเรียกร้องความเท่าเทียม, กลุ่มนักเรียนเลว และทุกกลุ่มที่เรียกร้องให้มีประชาธิปไตย

    พยานเบิกความว่าเกี่ยวกับ 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่มคณะราษฎร พยานเห็นด้วยแค่ข้อที่เรียกร้องให้ประยุทธ์ลาออก และแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยพยานเคยได้แสดงความเห็นในลักษณะดังกล่าวบนเฟซบุ๊กว่า ขอให้ไล่ประยุทธ์ออกก่อนเป็นอันดับแรก ส่วนข้อเรียกร้องอื่นๆ ค่อยว่ากันในเวลาที่เหมาะสม

    เกี่ยวกับข้อความที่เป็นเหตุแห่งคดีคือ “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจนะ” สมบัติเบิกความว่าไม่ทราบว่าเป็นถ้อยคําที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงตรัสกับฐิติวัฒน์ โดยตนเพิ่งมาทราบเอาภายหลัง เขาเพียงแต่เห็นว่าถ้อยคำดังกล่าวกำลังเป็นไวรัลในโลกออนไลน์ จึงโพสต์ไปโดยไม่ได้มีเจตนาจะกล่าวถึงบุคคลใด

    ส่วนข้อความที่ขอให้ปรับลดงบประมาณ สมบัติเบิกความว่าข้อความดังกล่าวหมายถึงรัฐบาลประยุทธ์ที่กู้เงินและนำงบประมาณมาใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย ส่วนข้อความเรื่องการลดตัวลงมาอยู่ใกล้ชิดกับประชาชน หมายถึงว่าประชาชนจำนวนมากไม่พอใจที่รัฐบาลอยู่มา 7-8 ปี มีการออกมาชุมนุมประท้วงเพราะการบริหารประเทศที่ล้มเหลว รัฐบาลจึงจำเป็นต้องลงพื้นที่เพื่อดึงคะแนนเสียงกลับมา ให้ประชาชนรู้สึกว่ารัฐบาลใส่ใจประชาชน ซึ่งเป็นการเสแสร้งแกล้งทำ เพราะหากเอาใจใส่ประชาชนจริง ควรทำนานแล้ว

    สำหรับข้อความเรื่องแจกลายเซ็น สมบัติรับว่าเป็นคนโพสต์จริง แต่ไม่ได้กล่าวถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยตัวโพสต์เองก็ไม่ได้ระบุชื่อว่าเอ่ยถึงบุคคลใด

    เกี่ยวกับพยานโจทก์ที่มาเบิกความปรักปรำการกระทำของเขาว่าเข้าข่ายมาตรา 112 นั้น สมบัติเบิกความว่า พยานโจทก์ทั้งสามคน ได้แก่ ภูกาญจน์, ศรายุทธ และฐิติวัฒน์ น่าจะมีสาเหตุโกรธเคืองกับเขามาก่อน เพราะทั้งสามคนมีความคิดทางการเมืองที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับเขา และคาดว่าทั้งสามคนน่าจะเป็นสมาชิกกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) อย่างกรณีที่พวกเขาแฝงตัวเข้าไปในกลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฎรเพื่อแอบถ่ายรูปตน โดยที่ไม่รู้ตัวตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ พฤติกรรมดังกล่าวถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงความจงเกลียดจงชัง และเป็นการกลั่นแกล้งผู้เห็นต่างทางการเมือง

    ช่วงตอบอัยการโจทก์ถามค้าน อัยการถามค้านสมบัติว่าตัวเขามีหลักฐานว่าฐิติวัฒน์และภูกาญจน์เป็นสมาชิกกลุ่ม กปปส. หรือไม่ จำเลยตอบว่าไม่มีหลักฐาน เป็นเพียงการคาดเดาจากการแต่งกายของอีกฝ่ายที่สวมเสื้อสีเหลือง

    เกี่ยวกับข้อความ “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจนะ” พยานได้แนบภาพข่าวประกอบโพสต์ไว้ ซึ่งเป็นภาพข่าวนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประกาศไม่เข้ารับปริญญา อัยการถามจำเลยว่าจากโพสต์ดังกล่าว เจตนาที่ต้องการสื่อคืออะไร สมบัติเบิกความว่าภาพข่าวนั้น เป็นภาพที่เขาเอามาจากบุคคลอื่น ไม่ใช่ลิงค์ข่าวที่สามารถเปิดเข้าไปอ่านได้ โดยเขาโพสต์ภาพดังกล่าวไป โดยที่มีเจตนาให้คนอ่านภาพและข้อความไปด้วยกัน แต่เขาไม่ได้มีเจตนาอะไร รวมถึงเขาไม่ใช่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงไม่ทราบว่าใครเป็นผู้พระราชทานปริญญาบัตร

    อัยการถามค้านต่อว่า หลังจากที่จำเลยถูกดำเนินคดีแล้วได้ลบข้อความทั้งสามดังกล่าวออกไปหรือไม่ สมบัติเบิกความว่า ตนไม่แน่ใจว่าจะมีการลบข้อความทั้งสามออกไปหรือไม่ เพราะหลังเกิดเหตุตํารวจยึดโทรศัพท์มือถือไป และไม่ทราบว่าตำรวจได้ทําอะไรกับเฟซบุ๊กบ้าง ส่วนเฟซบุ๊กที่ใช้ต่อมานั้น เป็นเฟซบุ๊กที่เปิดใหม่

    แม้ว่าตามบันทึกคำให้การจะปรากฏข้อความว่า จำเลยไม่ยินยอมให้เจ้าหน้าที่ยึดโทรศัพท์ไปตรวจ แต่ในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่ยึดไปตรวจสอบ โดยระหว่างที่เจ้าหน้าที่นำโทรศัพท์ไปตรวจสอบ มีทนายความอยู่ในห้องสอบสวนด้วย สมบัติไม่ได้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่เรื่องการนำโทรศัพท์ไปตรวจสอบโดยปราศจากความยินยอม เพื่อเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจและให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่

    ++สืบพยานจำเลยปากที่ 2 ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้รวบรวมสถิติการใช้มาตรา 112++

    ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายและประชาชน หรือ iLaw เบิกความว่า ตนจบการศึกษาปริญญาตรีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเนติบัณฑิต และปัจจุบันเป็นผู้จัดการโครงการที่ iLaw ซึ่งทําหน้าที่เกี่ยวกับการติดตามและบันทึกข้อมูลการดําเนินคดีและการใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น รวมถึงมาตรา 112 ด้วย

    ยิ่งชีพเบิกความว่า ตั้งแต่ทํางานที่ iLaw มาจนถึงปัจจุบัน พบว่าสถานการณ์การบังคับใช้มาตรา 112 จะมีจํานวนคดีเพิ่มขึ้นหรือลดลง เป็นไปตามสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ถ้าสถานการณ์ความขัดแย้งมีมาก การดําเนินคดีตามมาตรา 112 ก็จะมีมาก เช่น ในช่วงปี 2557-2558 หลังการรัฐประหาร มีการดำเนินคดีตามมาตรา 112 เพิ่มมากขึ้น และในช่วงปี 2563-2564 ที่มีการชุมนุมทางการเมืองจํานวนมาก ก็มีการบังคับใช้มาตรา 112 มากที่สุดในประวัติศาสตร์

    ในช่วงปลายปี 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกคําแถลงการณ์เป็นหนังสือว่าจะบังคับใช้กฎหมายทุกมาตรา โดยหลังจากออกแถลงการณ์ดังกล่าวว่าก็มีการดําเนินคดีตามมาตรา 112 สถิติการบังคับใช้ข้อหานี้ก็เพิ่มมากขึ้น

    เกี่ยวกับข้อความที่เป็นเหตุแห่งคดี “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจนะ” ยิ่งชีพเบิกความว่า ไม่เข้าใจว่าจำเลยกล่าวถึงบุคคลใด หรือเป็นการกล่าวชื่นชมใคร และไม่ได้เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาทแต่อย่างใด

    ส่วนข้อความขอให้ลดงบประมาณนั้น หากดูตามถ้อยคำแล้วจะเห็นว่า จำเลยไม่ได้กล่าวถึงบุคคลใด แต่น่าจะกล่าวถึงบุคคลที่เอางบประมาณไปใช้จ่าย และเกี่ยวข้องกับความนิยมของประชาชน ไม่ได้มีลักษณะดูหมิ่น หมิ่นประมาทแต่อย่างใด ส่วนข้อความเรื่องแจกลายเซ็นต์ พยานอ่านแล้วไม่เข้าใจว่าหมายถึงบุคคลใด และไม่ได้เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาทบุคคลใดเช่นกัน

    ช่วงตอบคำถามค้านอัยการโจทก์ ยิ่งชีพเบิกความตนเคยมาเป็นพยานจำเลยให้การในชั้นศาล เกี่ยวกับคดีมาตรา 112 มาแล้ว ไม่ต่ำกว่า 3 คดี

    อัยการถามค้านว่า พยานทราบหรือไม่ว่าใครเป็นผู้พระราชทานปริญญาบัตรแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พยานตอบว่า ตนจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปี 2551 ซึ่งได้รับปริญญาบัตรกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ พยานคาดว่าปัจจุบัน ในหลวงรัชกาลที่ 10 เป็นผู้พระราชทานปริญญาบัตร

    อัยการถามว่าในฐานะผู้จัดการ iLaw มองกฎหมายมาตรา 112 อย่างไร ยิ่งชีพเบิกความว่ามาตรา 112 นั้นมีโทษสูงเกินไป มีปัญหาเกี่ยวกับการตีความว่าข้อความใดบ้างจะเป็นความผิด และการบังคับใช้ขึ้นอยู่กับบรรยากาศทางการเมือง ไม่ได้มีการดําเนินคดีกับผู้กระทําความผิดทุกรายเสมอไป รวมทั้งใครจะเป็นผู้แจ้งความเริ่มต้นคดีก็ได้ ทําให้มีการกลั่นแกล้งกันทางการเมืองหรือทางส่วนตัว

    อัยการถามค้านต่อว่า การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์โดยสุจริตนั้นสามารถทําได้ใช่หรือไม่ และหากมีการแสดงเจตนาล้อเลียนหรือด้อยค่าสถาบัน พยานมีความคิดเห็นว่าอย่างไร ยิ่งชีพตอบว่า การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์โดยสุจริตนั้นสามารถทำได้ สําหรับการล้อเลียนต้องดูเป็นรายกรณี ถ้าไม่เกินเลยไป ก็สามารถทําได้ แต่ถ้าเกินเลยไป ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรทํา แต่หากเกินเลยไปก็ควรมีโทษที่เหมาะสม นอกจากนี้ ยิ่งชีพเบิกความว่า การล้อเลียนถือเป็นธรรมชาติการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ โดยทั่วไปก็จะมีการล้อเลียนครูบาอาจารย์หรือพ่อแม่ซึ่งสามารถทำได้

    อัยการถามค้านว่า เกี่ยวกับมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่า สถาบันกษัตริย์นั้นล่วงละเมิดไม่ได้ รวมทั้งดำรงอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะ พยานเห็นด้วยหรือไม่ พยานตอบว่าเห็นด้วย

    เกี่ยวกับข้อความ “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” พยานทราบว่าเป็นพระราชดํารัสที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 ตรัสกับประชาชน เพราะทราบจากการดูข่าว อย่างไรก็ตาม พยานไม่เคยเห็นข่าวที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 ลงพระนามในรูปถ่ายที่ประชาชนนํามาให้พระองค์ลงลายพระหัตถ์

    ทนายจำเลยถามติงว่า การล้อเลียนบุคคลที่นำเงินภาษีประชาชนไปใช้ สามารถทำได้หรือไม่ ในประเด็นนี้ศาลได้ถามแทรกว่า บุคคลที่ใช้เงินภาษีดังกล่าว ทนายจำเลยหมายถึงใคร เพราะมีหลายคนที่ใช้เงินภาษีประชาชาชน ทนายจำเลยจึงชี้แจงเพิ่มเติมว่า บุคคลดังกล่าวหมายถึงคณะรัฐบาล

    ด้านยิ่งชีพเบิกความว่า การล้อเลียนบุคคลใดก็ตามสามารถทำได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าถึงขนาดทำให้เกิดความเสียหายเป็นจริงเป็นจังก็ทำไม่ได้ ส่วนการนำเอาความจริงมาพูดถือเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ใช่ล้อเลียน นอกจากนี้ การนำคำพูดของในหลวงมาพูดก็สามารถทำได้ ไม่ได้เป็นการหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นแต่อย่างใด

    ++พยานจำเลยปากที่ 3 พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ ที่ปรึกษาประจำประเทศไทยองค์กร ARTICLE 19++

    พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ เบิกความความว่า ตนจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยเพื่อสันติภาพแห่งสหประชาชาติ ประเทศคอสตาริกา สาขากฎหมายระหว่างประเทศและสิทธิมนุษยชน และเริ่มทํางานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและสิทธิทางการเมืองมาตั้งแต่ปี 2553 ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาประจําประเทศไทยขององค์กร ARTICLE 19 ซึ่งมีสํานักงานใหญ่อยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ องค์กรดังกล่าวทํางานเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออกตั้งแต่ปี 2529 โดยองค์กรที่พยานทํางานให้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย

    ในปี 2564 ทางองค์กรได้มีการออกรายงานเกี่ยวกับการบังคับใช้ตามมาตรา 112 หลังจากที่มีการชุมนุมทางการเมืองในปี 2563 จากการเก็บรวบรวมข้อมูลในรายงานดังกล่าว พบว่ามีการบังคับใช้มาตรา 112 ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสําคัญ เช่นเดียวกับในช่วงที่มีการชุมนุมการเมือง เช่น 6 ตุลาคม 2519, ปี 2549 และปี 2557 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังการทํารัฐประหาร และในช่วงปี 2563 ตั้งแต่เดือนธันวาคมก็มีการบังคับใช้มาตรา 112 ที่เพิ่มขึ้น ชี้ให้เห็นว่าการใช้กฎหมายนี้สัมพันธ์ไปกับสถานการณ์ทางการเมือง

    หลังจากสืบพยานจำเลยเสร็จสิ้น ศาลได้กำหนดนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 28 เม.ย. 2565 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: คำให้การพยานจำเลย ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.940/2564 ลงวันที่ 16 มี.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/42934)
  • ที่ห้องพิจารณา 502 เวลา 09.20 น. สมบัติได้เดินทางมาถึงศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยในนัดนี้มีผู้สังเกตการณ์จาก iLaw เจ้าหน้าที่จากสถานทูตลักเซมเบิร์ก และนักศึกษาจำนวนหนึ่งมาร่วมสังเกตการณ์ด้วย

    ก่อนศาลออกพิจารณา เจ้าหน้าที่ศาลได้แจ้งว่า เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของของโควิด-19 ขอให้ผู้ที่ไม่ใช่คู่ความออกไปรอหน้าห้องพิจารณา แต่ถ้าหากประสงค์จะเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดี ก็ขอให้แสดงผลตรวจ ATK ที่ตรวจภายใน 3 วันก่อนเข้าห้องพิจารณาคดี ถ้าหากไม่มีผลตรวจสามารถติดต่อขอซื้อชุดตรวจ ATK กับศาลได้ ภายหลังจากที่แสดงผลตรวจกับเจ้าหน้าที่ศาลแล้ว ผู้สังเกตการณ์คดีจึงสามารถเข้าห้องพิจารณาได้

    ประมาณ 10.00 น. พัฒนา วงษ์เมตตา และชญานิษฐ์ อภิชาตบุตร ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีออกนั่งอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ โดยเริ่มจากบรรยายคำฟ้องของอัยการโจทก์ ก่อนจะสรุปว่า สำหรับข้อความ “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” ซึ่งเป็นพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2563 ที่ตรัสชม ฐิติวัฒน์ ธนการุนย์ ชายผู้ชูพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 9 และพระราชินีในรัชกาลที่ 9 ท่ามกลางกลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฎรนั้น โดยเนื้อแท้ข้อความเป็นการกล่าวชื่นชม ไม่ได้เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาทแต่อย่างใด ศาลจึงต้องพิจารณาจากเจตนา

    เนื่องจากจำเลยโพสต์ข้อความ “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” ประกอบกับภาพบันทึกหน้าจอข่าวมติชนที่ระบุทำนองว่า “ฝ่ายความมั่นคงเข้าพบนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ไม่รับปริญญาทั้งคณะ” ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 เป็นผู้พระราชทานปริญญาบัตรแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมกันนี้ ในสังคมไทยมองว่าการรับปริญญาถือว่าเป็นเกียรติและศิริมงคล การที่จำเลยโพสต์ในลักษณะนี้จึงถือว่า มีเจตนาชื่นชมบัณทิตที่ไม่เข้ารับพิธีรับปริญญา โดยการเอาพระราชดำรัสในหลวงรัชกาลที่ 10 มาโพสต์

    การกระทำของจำเลยจึงถือเป็นการล้อเลียน เสียดสี เป็นการกระทำที่ไม่บังควร จาบจ้วง และเข้าลักษณะดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ การที่จำเลยกล่าวอ้างว่าโพสต์ข้อความตามกระแสไวรัลในสังคมออนไลน์ โดยไม่ทราบว่าเป็นพระราชดำรัสรัชกาลที่ 10 นั้น ฟังไม่ขึ้น เพราะในระหว่างการสืบพยาน ทั้งพยานฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยต่างเบิกความในทำนองเดียวกันว่า ถ้อยคำ “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” เป็นพระราชดำรัสที่รัชกาลที่ 10 ตรัสกับฐิติวัฒน์ ซึ่งมีการเผยแพร่ในสื่ออย่างแพร่หลายและเป็นที่ทราบโดยทั่วกัน

    สำหรับข้อความที่สองซึ่งระบุว่า “เขาให้ลดงบประมาณที่เอาไปใช้จ่าย ไม่ใช่ลดตัวลงมาใกล้ชิดประชาชน เข้าใจอะไรผิดไหม เรื่องการลดตัวลงมาแนบสนิทชิดใกล้ประชาชนแบบที่เห็น แสดงให้เห็นว่ารู้ตัวสินะว่าคนเขาไม่เอาเลยต้องลงมาทําขนาดนี้ ถ้าจริงใจต้องทํามานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาทําเพื่อเรียกคะแนนนิยมกลับคืนมา แต่น่าจะช้าไปแล้วจริงๆ ละครหลังข่าวชัดๆ” นั้น จำเลยได้โพสต์เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2563 หลังรัชกาลที่ 10 เสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพระราชพิธีในวันปิยมหาราชในวันที่ 23 ต.ค. 2563

    แม้จำเลยจะอ้างว่า โพสต์ดังกล่าวเป็นการตำหนิรัฐบาลประยุทธ์ที่ใช้จ่ายงบประมาณอย่างสุรุ่ยสุร่ายและบริหารอย่างไม่มีประสิทธิภาพ คะแนนนิยมตกต่ำลงจนถึงกับต้องส่ง ส.ส.และรัฐมนตรีไปลงพื้นที่หาคะแนนเสียง พบปะกับประชาชนเพื่อเรียกคะแนนนิยมกลับคืน แต่ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในช่วงเวลาที่จำเลยโพสต์ข้อความดังกล่าว ไม่ปรากฏหลักฐานว่า มีนายกรัฐมนตรีหรือ ส.ส. คนไหนไปลงพื้นที่พบปะประชาชน

    นอกจากนี้ จำเลยได้ใช้คำว่า “ลดตัว” ซึ่งอ้างอิงตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง ถ่อมตัว ไว้ตัว ซึ่งไม่ได้ใช้กับ ส.ส. หรือนายกรัฐมนตรี พร้อมกันนี้กลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฎรก็มีการปราศรัยข้อเรียกร้องให้ปรับลดงบประมาณสถาบันกษัตริย์อีกด้วย การโพสต์ข้อความดังกล่าวจึงสื่อว่า สถาบันกษัตริย์ใช้งบประมาณมากเกินไป ซึ่งเป็นข้อความเท็จ ไม่ได้เป็นการติชมโดยสุจริต แต่เป็นการดูถูก ด้อยค่า และหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์

    ส่วนข้อความ “มีแจกลายเซ็นต์ด้วยเซเลปชัดๆ” ที่จำเลยโพสต์เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2563 ศาลเชื่อว่าจำเลยน่าจะสื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 เพราะเป็นการโพสต์หลังรัชกาลที่ 10 เสด็จไปเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต และแจกลายพระหัตถ์ ในวันที่ 1 พ.ย. 2563 ซึ่งห่างจากวันที่จำเลยโพสต์ข้อความเพียง 1 วัน การที่จำเลยเบิกความว่า ถ้อยคำไม่ได้ระบุเจาะจงถึงใคร รวมถึงจำไม่ได้แล้วว่ากล่าวถึงใคร ศาลเห็นว่า เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ และฟังไม่ขึ้น

    พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) (3) ให้ลงโทษทุกกระทงความผิด รวม 2 กระทง ให้จำคุกกระทงละ 3 ปี รวมจำคุก 6 ปี

    หลังศาลอ่านคำพิพากษาจบ ตำรวจศาลได้ใส่กุญแจมือสมบัติ และพาลงไปที่ห้องขังใต้ถุนศาล ก่อนที่นายประกันจะยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ พร้อมวางหลักทรัพย์เป็นเงิน 300,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ระบุเหตุผลว่า ตั้งแต่จําเลยถูกร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีนี้ได้ให้ความร่วมมือมาตลอด ไม่มีพฤติการณ์หลบหนีแต่อย่างใด อีกทั้งคดีนี้ศาลชั้นต้นเคยอนุญาตปล่อยชั่วคราวจำเลยโดยกำหนดเงื่อนไข “ห้ามจําเลยกระทําหรือเข้าร่วมกิจกรรมที่จะกระทําให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์หรือในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกฟ้องในคดีนี้ ห้ามเดินทางออกออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากศาล และมาตามกําหนดนัดของศาลหรือคําสั่งศาลโดยเคร่งครัด” ซึ่งหลังจากจําเลยได้รับอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวทุกประการ

    นอกจากนี้ จําเลยประสงค์ที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์คําพิพากษาของศาลชั้นต้นทั้งในประเด็นข้อเท็จจริงและประเด็นข้อกฎหมายเพื่อยืนยันความบริสุทธิของตัวจําเลยดังที่ได้แสดงความประสงค์ไว้ในคดีนี้

    ต่อมา ราว 12.00 น. เนตรดาว มโนธรรมกิจ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งให้ส่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวสมบัติให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาว่าจะให้ประกันหรือไม่ ซึ่งโดยปกติศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งภายใน 1-3 วัน ทำให้วันนี้สมบัติต้องถูกควบคุมตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

    มีข้อสังเกตว่า อัยการฟ้องสมบัติในฐานความผิด หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งเป็นฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) แต่ศาลพิพากษาว่า สมบัติมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) ด้วย จึงเป็นการพิพากษานอกคำฟ้องของอัยการ ซึ่งคาดว่าทนายจำเลยจะยื่นอุทธรณ์ในประเด็นนี้ต่อไปด้วย

    (อ้างอิง: คำร้องประกอบขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.940/2564 ลงวันที่ 28 เม.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/42995)
  • หลังเจ้าหน้าที่ศาลอาญากรุงเทพใต้แจ้งให้ทนายความไปฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ในช่วง 16.00 น. วันที่ 29 เม.ย. 2565 แต่ขณะที่ทนายเดินทางไปเจ้าหน้าที่ได้โทรแจ้งเปลี่ยนให้ไปฟังในวันรุ่งขึ้น ระบุว่า ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้อ่านวันที่ 30 เม.ย. 2565 เวลา 09.00 น.

    วันนี้ศาลอาญากรุงเทพใต้อ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ลงวันที่ 29 เม.ย. 2565 ไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวสมบัติในระหว่างอุทธรณ์ ระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง ลักษณะการกระทําความผิดของจําเลยนํามาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์ กระทบกระเทือนจิตใจของประชาชน ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจําคุก หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อว่าจําเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นหรืออาจจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจําเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคําร้อง”

    ทำให้สมบัติถูกขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไป ในระหว่างการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น

    (อ้างอิง: คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ อ.940/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.657/2565 ลงวันที่ 29 เม.ย. 2565)
  • ทนายความได้เข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวสมบัติระหว่างอุทธรณ์เป็นครั้งที่ 2 ระบุโดยสรุปว่า ขอวางหลักประกันเป็นเงิน 300,000 บาท, ยินยอมให้ติดอุปกรณ์ EM หรือการกำหนดเงื่อนไขอื่นๆ ของศาล พร้อมยืนยันต่อศาลว่า จำเลยมารายงานตัวตามนัดทุกครั้ง ไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี ทั้งก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นยังกำหนดเงื่อนไขการประกันตัว โดยที่จำเลยเองก็ประสงค์ที่จะอุทธรณ์ต่อสู้คดีต่อไป เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ นอกจากนั้นจำเลยยังเป็นเสาหลักในการดูแลครอบครัว ต้องดูแลมารดาที่อายุมาก หากจำเลยถูกคุมขังจะส่งผลกระทบต่อครอบครัวอย่างมาก ทั้งนี้ ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งให้ส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา

    ต่อมา ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งลงวันที่ 7 พ.ค. 2565 ไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวสมบัติ ระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ศาลอุทธรณ์เคยไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง”

    (อ้างอิง: คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ อ.940/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.657/2565 ลงวันที่ 7 พ.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/43430)
  • ทนายความเข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวสมบัติระหว่างอุทธรณ์อีกเป็นครั้งที่ 3 ระบุโดยสรุปว่า จำเลยขอวางหลักประกันเป็นเงิน 300,000 บาท หรือให้ศาลการกำหนดเงื่อนไขอื่นๆ เพื่อเป็นหลักประกันอันน่าเชื่อถือว่า จำเลยจะไม่หลบหนี ยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น

    กรณีที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอ้างว่า คดีนี้มีอัตราโทษสูง หากปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยอาจหลบหนีหรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น ในประเด็นนี้จำเลยยืนยันว่า ตั้งแต่ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีนี้ จำเลยได้ให้ความร่วมมือเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก มาพบพนักงานอัยการ ตามกําหนดนัด ตลอดจนการมาเข้าร่วมการพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นในทุกนัด เพื่อพิสูจน์ถึงความบริสุทธิ์และความประสงค์จะสู้คดี จำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนี และไม่ปรากฏว่าจําเลยได้เคยไปก่อเหตุลักษณะเดียวกันกับคดีนี้ซ้ำอีกแต่อย่างใด และตลอดการพิจารณาคดี จำเลยปฏิบัติตามเงื่อนไขปล่อยตัวชั่วคราวที่ศาลชั้นต้นเคยกำหนดไว้ทุกประการ

    ที่สำคัญจําเลยประสงค์ที่จะ ใช้สิทธิอุทธรณ์คําพิพากษาของศาลชั้นต้น ทั้งในประเด็นข้อเท็จจริงและประเด็นข้อกฎหมายเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ จึงขอให้ศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ เพื่อให้จําเลยสามารถออกไปต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่เป็นธรรม

    ยิ่งไปกว่านั้น จำเลยยังเป็นเสาหลักในการดูแลครอบครัว มีภาระงาน ภาระหนี้สิน ต้องรับผิดชอบในการทํางานหาเลี้ยงมารดา บุตร และภรรยา มารดาของจําเลยแก่ชราอายุกว่า 74 ปีแล้ว ต้องมีผู้คอยดูแลอย่างใกล้ชิด อีกทั้งบุตรของจําเลยกําลังอยู่ระหว่างศึกษา จําเลยจึงต้องส่งเสียค่าเทอมการศึกษาของบุตรด้วย หากจําเลยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวก็จะส่งผลกระทบต่อครอบครัวอย่างมาก ทั้งรายได้ของครอบครัวที่ต้องสูญเสียไป และกระทบต่อสิทธิทางการศึกษาของบุตร

    จำเลยยังประสงค์จะแถลงต่อศาลว่า หากได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จําเลยจะไม่ทํากิจกรรมที่จะกระทําความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และยินยอมติดอุปกรณ์ EM รวมถึงกําหนดเงื่อนไขอื่นๆ ที่ศาลเห็นสมควร โดยจําเลยยินดีจะปฏิบัติตามคําสั่งของศาลทุกประการ

    เช่นเดียวกับ 2 ครั้งที่ผ่านมา ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งให้ส่งคำร้องไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งลงวันที่ 21 พ.ค. 2565 ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวสมบัติเช่นเดิม ระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ศาลอุทธรณ์เคยไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์มาแล้วสองครั้ง และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง”

    (อ้างอิง: คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ อ.940/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.657/2565 ลงวันที่ 21 พ.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/44001)
  • ทนายความเข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวสมบัติระหว่างอุทธรณ์อีกเป็นครั้งที่ 4 โดยคำร้องได้ระบุเพิ่มเติมจากครั้งก่อนว่า นอกจากยินยอมให้ศาลกำหนดเงื่อนไขประกันตัว รวมทั้งติด EM แล้ว ยังขอให้ศาลแต่งตั้งแม่ และ นพ.ทศพร เสรีรักษ์ อดีต ส.ส. เป็นผู้กำกับดูแลให้จำเลยปฏิบัติตามเงื่อนไขประกันที่ศาลกำหนด

    ศาลอาญากรุงเทพใต้ยังคงส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งในวันเดียวกันไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวสมบัติเช่นเดิม ระบุว่า "พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหา พฤติการณ์แห่งคดี และโทษที่ศาลชั้นต้นลงแก่จําเลย ประกอบกับศาลอุทธรณ์เคยมีคําสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจําเลยในระหว่างอุทธรณ์ อันเนื่องจากเกรงว่าจําเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นหรืออาจจะหลบหนีมาแล้วหลายครั้ง และตามพฤติการณ์ยังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคําสั่งเดิม จึงให้ยกคําร้อง"

    (อ้างอิง: คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ อ.940/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.657/2565 ลงวันที่ 30 พ.ค. 2565)
  • ทนายความเข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวสมบัติระหว่างอุทธรณ์อีกเป็นครั้งที่ 5

    ศาลอาญากรุงเทพใต้ยังคงส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งในวันที่ 16 ก.ย. 2565 ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวสมบัติเช่นเดิม ระบุว่า "พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี ศาลอุทธรณ์เคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจําเลยในระหว่างอุทธรณ์มาแล้วหลายครั้ง และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคําสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคําร้อง"

    (อ้างอิง: คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ อ.940/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.657/2565 ลงวันที่ 16 ก.ย. 2565)
  • ทนายความเข้ายื่นอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้น พร้อมทั้งยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวสมบัติระหว่างอุทธรณ์อีกเป็นครั้งที่ 6

    อุทธรณ์ของจำเลยซึ่งขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลต้นโดยยกฟ้องจำเลย หรือลงโทษสถานเบา มีเนื้อโดยสรุปดังนี้

    1. จําเลยเห็นว่าคําฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายทําให้จําเลยหลงข้อต่อสู้ว่า แท้จริงแล้วฟ้องโจทก์ประสงค์จะกล่าวหาว่าจําเลย ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์กันแน่ เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

    2. ข้อความและตัวอักษรว่า “ฝ่ายความมั่นคงเข้าคุยกับนักศึกษา มธ. เผยมีบัณฑิต 1 คณะ ไม่ขอรับปริญญาทั้งคณะ” “#กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ” ไม่ใช่ข้อความที่มีลักษณะเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ฯ แต่อย่างใด และมิได้เป็นเรื่องการล่วงละเมิดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 เพราะตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 มุ่งหมายจัดวางสถานะของพระมหากษัตริย์และการให้เอกสิทธิ์ความคุ้มครองในฐานะประมุขของรัฐในระบอบประชาธิปไตยให้อยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ จึงมีการระบุไว้ไม่ให้มีการฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางแพ่งหรืออาญาเท่านั้น มิได้หมายความถึงการอยู่เหนือการพูดถึงกล่าวถึงในทางใดๆ ดังที่เข้าใจผิด ๆ กัน

    ทั้งนี้ การกระทําอันจะเป็นความผิดทางอาญานั้นต้องมีบทบัญญัติกฎหมายกําหนดให้การกระทํานั้นเป็นความผิด ดังนั้น การกระทําใดจะเป็นความผิดฐาน ดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ จําต้องพิจารณาจากองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เท่านั้น ไม่อาจนํารัฐธรรมนูญ มาตรา 6 มาใช้ขยายความได้ เมื่อนิยามของคําว่า ดูหมิ่น หมายถึง การดูถูก เหยียดหยาม ทําให้อับอาย จึงไม่อาจหมายความรวมถึงการล้อเลียนเสียดสี ตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย และเมื่อข้อความที่จําเลยโพสต์เป็นคําที่มีลักษณะเป็นการกล่าวชื่นชมและขอบใจบุคคล ไม่มีความหมายส่อไปในทางใส่ความให้บุคคลใดเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ย่อมไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(3) ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย

    นอกจากนี้โพสต์ข้อความและภาพของจําเลยไม่ได้มีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงใดและไม่ได้ระบุถึงบุคคลใดเป็นการเฉพาะ เป็นเพียงการบันทึกภาพหัวข้อข่าวของสํานักข่าวมติชนแล้วนํามาโพสต์โดยมิได้แนบ URL ที่จะสามารถกดเข้าไปอ่านรายละเอียดของข่าวได้ ดังนั้น เมื่อบุคคลทั่วไปรับทราบข้อความที่ระบุเพียงสั้น ๆ ว่า “ฝ่ายความมั่นคงเข้าคุยกับนักศึกษา มธ. เผยมีบัณฑิต 1 คณะ ไม่ขอรับปริญญาทั้งคณะ” “กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ” ย่อมไม่อาจทราบได้โดยทันทีว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการกล่าวถึงรัชกาลที่ 10 บุคคลทั่วไปที่เห็นข้อความดังกล่าวสามารถมีความเห็นที่แตกต่างกันได้ขึ้นอยู่กับการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่แตกต่างกัน

    การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าพยานโจทก์เบิกความในทํานองเดียวกันว่า เมื่อได้อ่านข้อความที่จําเลยโพสต์แล้วทราบว่าเป็นการกล่าวถึงรัชกาลที่ 10 และนํามาวินิจฉัยว่าบุคคลทั่วไปที่เห็นข้อความดังกล่าวย่อมทราบเช่นว่านั้นด้วยจึงคลาดเคลื่อนกับข้อเท็จจริงเป็นอย่างมาก การเอาพยานที่ทราบถึงความเกี่ยวข้องของคดีกับมาตรา 112 ไปเบิกความในคดี ย่อมมีมูลอันจูงใจให้คิดถึงแต่บุคคลที่มาตรา 112 คุ้มครอง อีกทั้งพยานโจทก์ทั้งหมดล้วนเบิกความด้วยอคติและมีเหตุให้เชื่อว่าเบิกความโดยมีเหตุจูงใจให้ศาลลงโทษจําเลย ไม่ได้เบิกความด้วยความเป็นกลางหรือในฐานะที่วิญญูชนทั่วไปเข้าใจ คําเบิกความของพยานโจทก์ทั้งหมดจึงหามีน้ำหนักรับฟังได้ไม่

    อีกทั้งจําเลยโพสต์ข้อความดังกล่าวห่างจากวันที่รัชกาลที่ 10 ตรัสเป็นเวลาถึง 7 วัน และจําเลยเบิกความยืนยันว่าไม่ได้ระบุถึงบุคคลใด และมีนายยิ่งชีพเบิกความสนับสนุนว่า ข้อความดังกล่าวอ่านแล้วไม่เข้าใจว่าหมายถึงใคร และไม่ได้มีลักษณะเป็นการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทบุคคลใด

    จําเลยไม่ทราบว่าการรับปริญญาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นการรับจากในหลวงรัชกาลที่ 10 เนื่องจากจําเลยไม่ได้เรียนจบจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จําเลยรวมถึงบุคคลทั่วไปที่เห็นโพสต์ย่อมไม่
    อาจทราบได้ว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 เป็นผู้พระราชทานปริญญาบัตรให้แก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เหตุที่นายยิ่งชีพเบิกความตอบโจทก์ถามค้านว่าเมื่ออ่านโพสต์แล้วก็เข้าใจว่า การไม่รับปริญญานั้นคือการไม่รับจากในหลวงรัชกาลที่ 10 เพราะนายยิ่งชีพจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    ทั้งนี้ การไม่เข้ารับปริญญาขึ้นอยู่กับความสมัครใจและความสะดวกของแต่ละบุคคล มหาวิทยาลัยไม่มีการบังคับให้ต้องเข้าร่วมทุกคน จึงไม่อาจถือได้ว่าข่าวการไม่รับปริญญาของบัณฑิต 1 คณะ เป็นข่าวการต่อต้านพระมหากษัตริย์ คําวินิจฉัยของศาลชั้นต้นจึงคลาดเคลื่อนกับข้อเท็จจริงเป็นอย่างมาก

    การที่จําเลยโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กด้วยข้อความว่า “เก่งมาก กล้ามาก ขอบใจ” และข่าวจากสื่อสารมวลชน เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นโดยทั่วไป ไม่ได้มีเจตนาเป็นการดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด การตีความโดยขยายความจนเลยเถิดของพยานและศาลชั้นต้นไม่เป็นธรรมแก่จําเลย และเป็นการตีความจนเกินกว่าที่กฎหมายบัญญัติเป็นความผิด

    3. สําหรับการโพสต์ข้อความว่า “เขาให้ลดงบประมาณที่เอาไปใช้จ่ายไม่ใช่ลดตัวลงมาใกล้ชิดประชาชน เข้าใจอะไรผิดไหม เรื่องการลดตัวลงมาแนบสนิทชิดใกล้ประชาชนแบบที่เห็น แสดงให้เห็นว่ารู้ตัวสินะว่าคนเขาไม่เอาเลยต้องลงมาทําขนาดนี้ ถ้าจริงใจต้องทํามานานแล้วไม่ใช่เพิ่งมาทําเพื่อเรียกคะแนนนิยมกลับคืนมา แต่น่าจะช้าไปแล้วจริง ๆ ละครหลังข่าวชัด ๆ” และข้อความว่า “มีแจกลายเซ็นต์ด้วยเซเลปชัดๆ” ที่ศาลชั้นต้นรับฟังคําเบิกความพยานโจทก์ และเห็นว่าข้อความดังกล่าวเป็นการกล่าวถึงรัชกาลที่ 10 ที่เสด็จพระราชดําเนินไปในการพระราชพิธีวันปิยมหาราชในวันที่ 23 ต.ค. 2563 และเสด็จพระราชดําเนินไปทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต ในวันที่ 1 พ.ย. 2563 ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม นั้น

    เมื่อพิจารณาคําให้การพยานโจทก์ที่ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า หลังจากที่ได้อ่านข้อความดังกล่าวประกอบกับการที่จําเลยเป็นหัวหน้าผู้ดูแลความเรียบร้อยของกลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฎร ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมได้มีข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และการรับเสด็จพระราชดําเนินในปัจจุบันสามารถให้ประชาชนใกล้ชิดกับพระองค์ได้ จึงเข้าใจได้ว่า ข้อความดังกล่าวมุ่งหมายถึงพระมหากษัตริย์ แต่พยานกลับไม่ให้การหรืออ้างส่งหลักฐานเพิ่มเติมว่า การเสด็จพระราชดําเนินดังที่ให้การเป็นการเสด็จพระราชดําเนินในวัน เดือน ปี ใด ก่อนหรือหลังจากวันที่จําเลยโพสต์ ทางนําสืบของโจทก์ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า พยานกล่าวถึงการเสด็จพระราชดําเนินของพระมหากษัตริย์ในช่วงเวลาก่อนที่จําเลยจะโพสต์ข้อความดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊ก

    ส่วนที่ศาลชั้นต้นเห็นว่า จําเลยได้โพสต์ข้อความดังกล่าวในเวลาที่กระชั้นชิดต่อเนื่องกัน โดยไม่ปรากฏว่าได้มีการโพสต์ข้อความอื่นใดแทรกระหว่างข้อความทั้งสอง และเป็นการโพสต์ภายหลังเหตุการณ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดําเนินไปพระราชพิธีวันปิยมหาราชเพียง 10 วัน และหลังเสด็จเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกตเพียงวันเดียว แต่จําเลยมีพยานเอกสารสนับสนุนว่า ช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 28 ต.ค. - 2 พ.ย. 2563 นอกจากการโพสต์ข้อความตามฟ้องแล้ว จําเลยยังมีการโพสต์เกี่ยวกับเรื่องชีวิตประจําวัน ข่าวสารทั่วไป และการวิพากษ์การทํางานของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์

    ประกอบกับในชั้นพิจารณานายธิติวัฒน์ได้ เบิกความตอบทนายจําเลยถามค้านว่า “พยานทราบว่าในช่วงวันที่ 23 ต.ค. - 2 พ.ย. 2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ลงพื้นที่พบปะประชาชน...” ดังนั้นจึงไม่อาจตีความได้ว่าเจตนาของจําเลยต้องการกล่าวถึงเหตุการณ์เสด็จพระราชดําเนินของพระมหากษัตริย์แต่เพียงเหตุการณ์เดียว พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่เพียงพอที่จะฟังได้ว่าจําเลยมุ่งหมายที่จะยืนยันข้อเท็จจริงถึงบุคคลใดแน่ชัด

    แม้ฝ่ายโจทก์จะนําสืบถึงมูลเหตุจูงใจที่จําเลยโพสต์ข้อความดังกล่าวอันเนื่องมาจากการที่จําเลยเป็นหัวหน้าการ์ดของกลุ่มคณะราษฎร แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ซึ่งมีการปราศรัยเรื่องการลดงบประมาณค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ตามรายงานการสืบสวนระบุว่า จําเลยมิได้เป็นการ์ดสังกัดเฉพาะกลุ่มคณะราษฎร หรือแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเท่านั้น จําเลยยังเป็นการ์ดในการชุมนุมอีกหลายกลุ่ม ทั้งไม่ได้ระบุว่า การชุมนุมแต่ละครั้งที่จำเลยไปเป็นการ์ดมีข้อเรียกร้องเกี่ยวกับเรื่องใด ประกอบกับพยานโจทก์ปากพันตํารวจโทอดิศร ตอบทนายจําเลยถามค้านว่า “จากรายงานการสืบสวน ไม่ปรากฏว่าจําเลยมีแนวคิด อุดมการณ์ ในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์และปรับลดงบประมาณสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่...” พยานหลักฐานโจทก์จึงมิอาจรับฟังว่าจําเลยมีทัศนคติหรืออุดมการณ์ทางการเมืองอันเป็นปฏิปักษ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์ตามฟ้องโจทก์

    สําหรับประเด็นที่ศาลชั้นต้นพิจารณาว่าคําว่า “ลดตัว” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 มีความหมายว่า ถ่อมตัว ไม่ถือตัว ไม่ไว้ตัว ซึ่งโดยทั่วไปแล้วย่อมไม่ใช้ระหว่างนายกรัฐมนตรีกับประชาชน และบุคคลที่จําเลยอ้างว่าลงพื้นที่เพื่อพบปะกับประชาชนก็เป็นเพียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและรัฐมนตรีเท่านั้น ยิ่งไม่มีเหตุที่จําเลยจะใช้คําว่า “ลดตัว” กับบุคคลดังกล่าว นั้น ตามพจนานุกรมฯ คําว่า ลดตัว มิได้เป็นคําราชาศัพท์ ดังนั้น จึงไม่จํากัดการใช้เฉพาะพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งต้องใช้คําราชาศัพท์ว่า “ลดพระองค์” ไม่ใช่ “ลดตัว” ที่ใช้ได้กับประชาชนทั่วไป จึงไม่สามารถตีความว่า จําเลยใช้คําดังกล่าวเพื่อกล่าวถึงการเสด็จพระราชดําเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

    สุดท้ายการที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าโพสต์ดังกล่าวของจําเลยเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) นั้น การกระทําที่จะเป็นความผิดตามกฎหมายมาตรานี้ได้ต้องปรากฏว่าผู้กระทํามีเจตนาโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง ซึ่งตามเจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการนําไปบังคับใช้กับการการปลอมแปลงหรือฉ้อโกงเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์หรือฟิชชิ่ง (Phishing) โดยมีวัตถุประสงค์ให้บุคคลที่พบเห็นหลงเชื่อและให้ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อนําไปใช้ประโยชน์ต่อไป เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีนี้ย่อมเห็นได้ว่าการกระทำของจําเลยไม่ได้กระทําไปโดยมีเจตนาทุจริตหรือโดยหลอกลวง จําเลยจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1)

    ปัจจุบันนี้มีการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยหวังผลทางการเมือง ใช้เพื่อเล่นงานคนที่เห็นต่างทางการเมือง จนทําให้การบังคับใช้และการตีความเลยเถิดเกิดปัญหา เสมือนว่าประชาชนคนไทยไม่สามารถกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ในทางหนึ่งทางใดได้เลย รวมทั้งตีขลุมขยายความให้กว้างขวางเกินกว่าขอบเขตของบทบัญญัติที่กฎหมายกําหนด ตลอดจนมีความเข้าใจผิดในรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ว่ามีความหมายว่าจะกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ ไม่ได้เลย ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาและเกิดการวิพากษ์วิจารณ์การบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างกว้างขวางไปทั่วโลก ทําให้ประเทศไทยถูกจัดสถานะอยู่ในกลุ่มประเทศที่ไร้ซึ่งสิทธิเสรีภาพ กระทบต่อพระเกียรติของพระราชวงศ์

    โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีนี้จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าการกระทําของจําเลยไม่เข้าองค์ประกอบของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่อย่างใด จําเลยยืนยันว่าจําเลยมีความเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ไม่เคยกระทําการใดอันเป็นการทําให้เสื่อมเสียพระเกียรติ เหตุที่จําเลยถูกดําเนินคดีเพียงเพราะจําเลยออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองและถูกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยใช้กฎหมายเล่นงาน อันเป็นการใช้กฎหมายเล่นงานคนเห็นต่างทางการเมืองเท่านั้น ขอศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจําเลย วางหลักการตีความกฎหมายอาญาเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อมิให้ใครใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือทางการเมืองต่อไป

    ในส่วนคำร้องขอประกันนั้นได้ชี้แจงต่อศาลในประเด็นสำคัญ 2 ประการ ดังนี้

    1. นับแต่จำเลยถูกร้องทุกข์กล่าวโทษก็ได้ให้ความร่วมมือเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก มาพบพนักงานอัยการตามกำหนดนัดหมาย ตลอดจนการมาเข้าร่วมการพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นทุกนัด เพื่อพิสูจน์ถึงความบริสุทธิ์และความประสงค์จะสู้คดีของจำเลย แสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนีแต่อย่างใด

    2. ในคดีนี้ ศาลชั้นต้นก็เคยอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย โดยมีเงื่อนไขว่า “ห้ามจำเลยกระทำหรือเข้าร่วมกิจกรรมที่จะกระทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์หรือในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกฟ้องในคดีนี้ ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากศาล และมาตามกำหนดนัดของศาลหรือคำสั่งศาลโดยเคร่งครัด…” ซึ่งก็ไม่เคยปรากฎว่าจำเลยได้กระทำผิดเงื่อนไขดังกล่าว หรือเคยถูกร้องถอนประกันในคดีนี้มาก่อน

    นอกจากนี้ จำเลยยังวางหลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 300,000 บาท อันเป็นหลักประกันที่เชื่อถือได้ว่าหากจำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะไม่หลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่น

    อย่างไรก็ตาม ศาลอาญากรุงเทพใต้ยังคงส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวสมบัติเช่นเดิม ระบุว่า "พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหา พฤติการณ์แห่งคดี และโทษที่ศาลชั้นต้นลงแก่จําเลย ประกอบกับศาลอุทธรณ์เคยมีคําสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจําเลยในระหว่างอุทธรณ์ อันเนื่องจากเกรงว่าจําเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นหรืออาจจะหลบหนีมาแล้วหลายครั้ง และตามพฤติการณ์ยังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคําสั่งเดิม จึงให้ยกคําร้อง"

    (อ้างอิง: อุทธรณ์ของจำเลย ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.940/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.657/2565 ลงวันที่ 23 ก.ย. 2565, คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ ลงวันที่ 25 ก.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/48803)
  • ทนายความเข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวสมบัติระหว่างอุทธรณ์อีกเป็นครั้งที่ 7

    ศาลอาญากรุงเทพใต้ยังคงส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งในวันที่ 28 ก.ย. 2565 ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวสมบัติเช่นเดิม ระบุว่า "พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกแก่จําเลย มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ประกอบกับศาลอุทธรณ์เคยมีคําสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจําเลยในระหว่างอุทธรณ์มาแล้วหลายครั้ง และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคําสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคําร้อง"

    (อ้างอิง: คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ อ.940/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.657/2565 ลงวันที่ 28 ก.ย. 2565)
  • ทนายความเข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวสมบัติระหว่างอุทธรณ์อีกเป็นครั้งที่ 8

    ศาลอาญากรุงเทพใต้ยังคงส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งในวันเดียวกันไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวสมบัติเช่นเดิม ระบุว่า "พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหา พฤติการณ์แห่งคดี ศาลอุทธรณ์เคยมีคําสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจําเลยในระหว่างอุทธรณ์มาแล้วหลายครั้ง และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคําสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคําร้อง"

    (อ้างอิง: คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ อ.940/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.657/2565 ลงวันที่ 18 ต.ค. 2565)
  • ทนายความเข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวสมบัติระหว่างอุทธรณ์อีกเป็นครั้งที่ 9 โดยชี้แจงต่อศาลในประเด็นสำคัญ 2 ประการ ดังนี้

    1. นับแต่จำเลยถูกร้องทุกข์กล่าวโทษก็ได้ให้ความร่วมมือเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก มาพบพนักงานอัยการตามกำหนดนัดหมาย ตลอดจนการมาเข้าร่วมการพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นทุกนัด เพื่อพิสูจน์ถึงความบริสุทธิ์และความประสงค์จะสู้คดีของจำเลย แสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนีแต่อย่างใดและไม่เคยปรากฎว่าจำเลยได้กระทำผิดเงื่อนไขดังกล่าว หรือเคยถูกร้องถอนประกันในคดีนี้มาก่อน

    2. จำเลยมีอาชีพขายเครื่องกรองน้ำ เป็นหัวหน้าครอบครัวซึ่งต้องดูแลบุตรที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นอุดมศึกษาและมารดาอายุ 75 ปี ทั้งนี้จำเลยประกอบอาชีพดังกล่าวมากว่า 20 ปี มีลูกค้าประจำที่จะต้องไปดูแลซ่อมแซมบำรุงเครื่องกรองน้ำ การถูกคุมขังมาแล้ว 6 เดือน ทำให้ครอบครัวขาดรายได้หลัก

    นอกจากนี้ จำเลยยังวางหลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 400,000 บาท อันเป็นหลักประกันที่เชื่อถือได้ว่าหากจำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะไม่หลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่นและยินยอมมารายงานตัวต่อศาลทุก 30 วัน และติดอุปการณ์ติดตามตัวอิเลคทรอนิกส์ (EM)

    อย่างไรก็ตาม ศาลอาญากรุงเทพใต้ยังคงส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวสมบัติเช่นเดิม ระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี ศาลอุทธรณ์เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์มาแล้วหลายครั้ง และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง”

    (อ้างอิง: คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ อ.940/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.657/2565 ลงวันที่ 23 ต.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/49903)
  • ทนายความเข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวสมบัติระหว่างอุทธรณ์อีกเป็นครั้งที่ 10

    ศาลอาญากรุงเทพใต้ยังคงส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวสมบัติเช่นเดิม ระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี ศาลอุทธรณ์เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์มาแล้วหลายครั้ง และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง”

    (อ้างอิง: คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ อ.940/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.657/2565 ลงวันที่ 7 พ.ย. 2565)
  • ทนายความเข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวสมบัติระหว่างอุทธรณ์อีกเป็นครั้งที่ 11

    ศาลอาญากรุงเทพใต้ยังคงส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวสมบัติเช่นเดิม ระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี ศาลอุทธรณ์เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์มาแล้วหลายครั้ง และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง”

    (อ้างอิง: คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ อ.940/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.657/2565 ลงวันที่ 26 ม.ค. 2566)
  • ทนายความเข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวสมบัติระหว่างอุทธรณ์อีกเป็นครั้งที่ 12

    ศาลอาญากรุงเทพใต้ยังคงส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวสมบัติเช่นเดิม ระบุว่า "พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหา พฤติการณ์แห่งคดี และโทษที่ศาลชั้นต้นลงแก่จำเลย ประกอบกับศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์มาแล้วหลายครั้ง และเหตุตามคำร้องไม่ปรากฎเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง"

    (อ้างอิง: คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ อ.940/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.657/2565 ลงวันที่ 30 ม.ค. 2566)
  • ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ทนายความเข้ายื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันของศาลอุทธรณ์ ลงวันที่ 30 ม.ค. 25655 ต่อศาลฎีกา โดยยืนยันว่าจำเลยในคดีนี้ไม่เคยถูกยื่นคำร้องขอเพิกถอนการประกันตัวมาก่อน และได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดให้เป็นอย่างดี ตลอดที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว

    นอกจากนี้ ยังชี้ว่าในคดีมาตรา 112 ของศาลจังหวัดนราธิวาส ได้มีคำพิพากษาของ ‘ภัคภิญญา’ ในข้อกล่าวหาที่คล้ายคลึงกับคดีนี้ โดยลงโทษจำคุก 9 ปี และศาลจังหวัดเชียงราย ก็ได้มีคำพิพากษาคดีของ “บัสบาส มงคล” ให้ลงโทษจำคุก 28 ปี โดยทั้งสองคดีดังกล่าว ศาลก็ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์ ทั้งที่มีโทษสูงกว่าคดีของสมบัติ

    สมบัติเองยังประสงค์ที่จะต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ต่อ และคดีของจำเลยก็มีน้ำหนักเพียงพอที่จะให้ศาลอุทธรณ์พิจารณากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ตลอดทั้งในคดีนี้สมบัติได้ถูกคุมขังมาเป็นระยะเวลานานกว่า 9 เดือนแล้ว ซึ่งเป็นผลเสียทำให้จำเลยในฐานะเสาหลักของครอบครัว ไม่สามารถดูแลครอบครัวได้

    ต่อมา วันที่ 8 ก.พ. 2566 ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวสมบัติในระหว่างอุทธรณ์ ระบุว่า “พิเคราะห์แล้วจำเลยเคยได้รับการปล่อยชั่วคราวในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี จึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ตีราคาประกัน 300,000 บาท ร่วมกับใช้อุปกรณ์ EM และห้ามจำเลยกระทำหรือห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่จะกระทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์หรือในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกฟ้องในคดีนี้ ห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น แจ้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองก่อนปล่อยตัว ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาหลักประกันและดำเนินต่อไป”

    อย่างไรก็ตาม สมบัติได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำในวันที่ 9 ก.พ. 2566 หลังศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันในคดีหมิ่นประมาทประยุทธ์ ซึ่งศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุก 8 เดือน 20 วัน รวมเวลาที่สมบัติถูกคุมขังในคดีนี้ทั้งสิ้น 287 วัน หรือ 9 เดือนเศษ โดยสมบัติต้องเดินทางไปติด EM ในวันที่ 10 ก.พ. 2566 ตามเงื่อนไขการประกันตัว

    (อ้างอิง: คำสั่ง ศาลฎีกา คดีหมายเลขดำที่ อ.940/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.657/2565 ลงวันที่ 8 ก.พ. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/53308)
  • เวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 502 ศาลอาญากรุงเทพใต้ สมบัติพร้อมครอบครัวเดินทางมาฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ โดยมีเพื่อนติดตามมาสังเกตการณ์ด้วยจำนวน 3 คน และนอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่จากองค์กรสิทธิมนุษยชน มาเข้าร่วมฟังการพิพากษาด้วย

    เวลา 09.30 น. ศาลออกนั่งอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ โดยแยกประเด็น ดังนี้

    ++ข้อความ : กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจนะ ศาลเห็นว่ามีเจตนาล้อเลียน ร.10 เนื่องจากจำเลยเคลื่อนไหวทางการเมือง อยู่กลุ่มต่อต้านสถาบันฯ

    ข้อกล่าวหาในกระทงแรก ใจความระบุว่า จำเลยโพสต์ข้อความว่า “#กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ” ประกอบกับภาพบันทึกหน้าจอโทรศัพท์เป็นข่าวจากเว็บไซต์มติชนเรื่องบัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 1 คณะ ไม่เข้ารับปริญญาทั้งคณะ เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2563

    จากการสืบพยานโจทก์ในคดีนี้ พบว่าพยานทั้งหมดเบิกความสอดคล้องไปในทำนองเดียวกันว่าข้อความดังกล่าวสื่อความหมายถึงรัชกาลที่ 10 ซึ่งเคยตรัสกับประชาชนที่ร่วมเข้าเฝ้ารับเสด็จ ภายหลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย หรือวันปิยมหาราช เมื่อหัวค่ำวันที่ 23 ต.ค 2563

    จำเลยอุทธรณ์ข้อความดังกล่าวว่า การฟ้องร้องของโจทก์เป็นการกล่าวหาสร้างความเกลียดชัง ความแตกแยก เป็นเพียงคำพูดกำกวม เลื่อนลอย ซึ่งถือว่าเป็นการฟ้องโดยมิชอบ การอุทธรณ์ในประเด็นนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น เนื่องจากโพสต์ข้อความ “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจนะ” ประกอบกับภาพบันทึกหน้าจอข่าวมติชนที่ระบุทำนองว่า “ฝ่ายความมั่นคงเข้าพบนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ไม่รับปริญญาทั้งคณะ” ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่า ในหลวงรัชกาลที่ 10 เป็นผู้พระราชทานปริญญาบัตรแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการที่จำเลยโพสต์ในลักษณะนี้จึงถือว่ามีเจตนาชื่นชมบัณทิตที่ไม่เข้ารับพิธีรับปริญญา และการที่จำเลยเบิกความกล่าวว่าไม่ได้ระบุถึงกษัตริย์ว่าจะเป็นผู้มาพระราชทานปริญญาบัตรในวันดังกล่าว ศาลเห็นว่าประเด็นนี้ของจำเลยไม่มีน้ำหนักเพียงพอ

    เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าว มีการประท้วงเรียกร้องให้ยุติการพระราชทานปริญญาบัตรจากกษัตริย์อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งจำเลยยังเป็นผู้ที่สนใจการเมือง มักเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่อย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ศาลเห็นว่าจำเลยเป็นคนที่เข้าร่วม ‘กลุ่มต่อต้านสถาบันฯ’ มาโดยตลอด การอุทธรณ์ของจำเลยจึงฟังไม่ได้ว่าไม่ได้มีเจตนาที่จะล่วงเกิน หมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างไร

    ++2 ข้อความเรื่องการทำตัวใกล้ชิดประชาชนและการแจกลายเซ็น เชื่อพยานโจทก์เบิกความสอดคล้องกันว่าเป็นเจตนาเอ่ยถึงรัชกาลที่ 10

    ในส่วนอีก 2 ข้อความตามฟ้อง ซึ่งเป็นข้อความที่กล่าวถึงการทำตัวใกล้ชิดประชาชนและการแจกลายเซ็น โดยเป็นการโพสต์เฟซบุ๊กในวันเดียวกัน คือเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2563

    ศาลมีคำพิพากษา โดยเห็นว่าทั้งสองข้อความที่จำเลยโพสต์ เป็นการกล่าวถึงเหตุการณ์ที่รัชกาลที่ 10 เสด็จพระราชดําเนินไปในการพระราชพิธีวันปิยมหาราช ในวันที่ 23 ต.ค. 2563 และที่เสด็จพระราชดําเนินไปทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต ในวันที่ 1 พ.ย. 2563 แล้วทรงมีพระราชปฏิสันถารกับประชาชนที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และทรงลงพระปรมาภิไธยในพระบรมฉายาลักษณ์พระราชทานแก่ประชาชน

    เมื่อพิเคราะห์จากการเบิกความของพยานโจทก์แล้ว ทั้งหมดเบิกความสอดคล้องและเข้าใจโพสต์ข้อความตรงกันว่า จำเลยมีเจตนากล่าวถึงรัชกาลที่ 10 พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมั่นคง ส่วนข้อต่อสู้ของจำเลยไม่มีน้ำหนักเพียงพอจะฟังได้ว่าจำเลยไม่ผิดตามฟ้องอย่างไร

    อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการอุทธรณ์ของจำเลยในส่วนที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) ด้วย ทั้งที่ไม่ได้ถูกบรรยายข้อกล่าวหานี้ไว้ในท้ายฟ้องนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับอุทธรณ์ของจำเลย ให้แก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยยกฟ้องข้อหานี้

    ประกอบกับตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่ได้ลดหย่อนโทษให้จำเลย แต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าในการเบิกความของจำเลย ได้มีการยอมรับว่าตนเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวจริง คำให้การของจำเลยจึงเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 3

    พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) รวมทั้งหมด 2 กรรม ลงโทษจำคุกกรรมละ 2 ปี รวมจำคุกทั้งสิ้น 4 ปี ไม่รอลงอาญา

    ภายหลังฟังคำพิพากษา สมบัติได้บอกลาครอบครัว ก่อนจะถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ใส่กุญแจมือลงไปใต้ถุนศาล ทนายได้ยื่นคำร้องขอประกันสมบัติในระหว่างฎีกา โดยขอวางหลักทรัพย์จำนวน 600,000 บาท และยืนยันในคำร้องว่า จำเลยได้รับข้อเท็จจริงไปแล้วว่าเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวจริง แต่ไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่นกษัตริย์ตามที่โจทก์กล่าวหาแต่อย่างใด จึงยังประสงค์จะต่อสู้คดีในศาลฎีกา

    ตลอดจนในวันที่ 8 ก.พ. 2566 ศาลฎีกาเคยอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยในคดีนี้ โดยระบุว่า “จำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนี จึงอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์” และประกอบกับเงื่อนไขการประกันตัวที่ห้ามร่วมกิจกรรมในลักษณะที่จะเกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์อีก ซึ่งตั้งแต่ที่จำเลยได้รับการประกันตัวออกมา จำเลยก็ได้กลับไปประกอบอาชีพ และดำเนินชีวิตโดยไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการกระทำที่จะผิดเงื่อนไขการประกันตัวของศาลฎีกา จึงไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนีแต่อย่างใด

    ต่อมาในเวลา 10.52 น. ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งส่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างฎีกาของสมบัติ ไปให้ศาลฎีกาพิจารณา

    ผลของคำสั่งดังกล่าวทำให้สมบัติต้องเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อไปรอฟังผลคำสั่งประกันตัวจากศาลฎีกา ซึ่งจะทราบในอีก 2 – 3 วัน ข้างหน้า

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/59424)
  • เวลา 09.30 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำสั่งของศาลฎีกา โดยศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันสมบัติในระหว่างฎีกา ระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 4 ปี หากปล่อยชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจำเลยจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวในระหว่างฎีกา”

    น่าสังเกตว่า ก่อนหน้านี้ศาลฎีกาเคยอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวสมบัติในระหว่างอุทธรณ์ แต่เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาลดโทษจำเลยลงจากจำคุก 6 ปี เหลือจำคุก 4 ปี แต่ศาลฎีกากลับมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยให้เหตุผลว่าเกรงจะหลบหนี ทั้งที่หลังสมบัติได้กระกันระหว่างอุทธรณ์ เขาเดินทางมาตามนัดศาล ไม่เคยผิดเงื่อนไขการประกันตัว และมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตามนัด ไม่ได้มีพฤติการณ์จะหลบหนีแต่อย่างใด

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/59527)
  • ทนายความยื่นคำร้องขอประกันสมบัติระหว่างฎีกาเป็นครั้งที่ 2 ศาลอาญากรุงเทพใต้ส่งคำร้องให้ศาลฎีกาพิจารณา

    จากนั้น วันที่ 23 ก.ย. 2566 ศาลอาญากรุงเทพใต้อ่านคำสั่งศาลฎีกาไม่ให้ประกันเช่นเดิม ระบุโดยสรุปว่า พิเคราะห์เหตุผลตามคำร้องประกอบแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวในระหว่างฎีกา

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายสมบัติ ทองย้อย

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายสมบัติ ทองย้อย

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. พัฒนา วงษ์เมตตา
  2. ชญานิษฐ์ อภิชาตบุตร

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 28-04-2022

ศาลอุทธรณ์

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายสมบัติ ทองย้อย

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 13-09-2023

ศาลฎีกา

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายสมบัติ ทองย้อย

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
ไม่อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์