ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.633/2564
แดง อ.637/2564

ผู้กล่าวหา
  • ทีฆทัศน์ (สงวนนามสกุล) (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.633/2564
แดง อ.637/2564
ผู้กล่าวหา
  • ทีฆทัศน์ (สงวนนามสกุล)

ความสำคัญของคดี

พรพิมล (สงวนนามสกุล) แม่ค้าขายของออนไลน์ อายุ 22 ปี ถูกจับกุมและดำเนินคดีในข้อหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) โดยถูกกล่าวหาว่า โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563 มีเนื้อหาใส่ความรัชกาลที่ 10 คดีนี้มีทีฆทัศน์ ประชาชนทั่วไป เข้าแจ้งความ

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแม้ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่นโดยเฉพาะผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

ณัฐเมธส์ สิริไตรรัตนกุล พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ บรรยายฟ้องมีเนื้อหาโดยสรุปว่า

ขณะเกิดเหตุ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 2 บัญญัติว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” มาตรา 3 บัญญัติว่า “อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อํานาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ” และมาตรา 6 บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้”

ระหว่างวันที่ 16 ต.ค. 2563 เวลาใดไม่ปรากฏชัด ถึงวันที่ 18 ต.ค. 2563 ต่อเนื่องกัน จําเลยได้พิมพ์ข้อความเข้าไปเผยแพร่ในเฟซบุ๊ก โดยมีเจตนาให้ปรากฏแก่ประชาชนทั่วไป เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ซึ่งข้อความดังกล่าวมีความหมายตรงตัวอักษร เป็นคําสบประมาทและเปรียบเทียบ ทำให้ประชาชนที่พบเห็นเข้าใจได้ทันทีว่าสื่อถึงกษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน ซึ่งข้อความทั้งหมดเป็นความเท็จ และเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทําให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง

ทั้งนี้ โดยจําเลยมีเจตนาให้ประชาชนเกิดความแตกแยกและเคลือบแคลงสงสัยในพระมหากษัตริย์ และระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และออกมาแสดงความคิดเห็นเป็นจํานวนมาก เพื่อก่อความไม่สงบในบ้านเมือง อันเป็นการทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ และมิใช่การแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดเชียงใหม่ คดีหมายเลขดำที่ อ.633/2564 ลงวันที่ 23 เม.ย. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลาประมาณ 16.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนจาก สภ.ช้างเผือก ทั้งในและนอกเครื่องแบบจำนวน 5-6 นาย และมีตำรวจหญิงร่วมด้วย นำโดย ร.ต.อ.เกรียงศักดิ์ เครืองทอง รองสารวัตรสืบสวน สภ.ช้างเผือก เข้าจับกุม “พรพิมล” (สงวนนามสกุล) แม่ค้าขายของออนไลน์ อายุ 22 ปี จากหอพักในจังหวัดเชียงใหม่ โดยได้แสดงหมายจับของศาลจังหวัดเชียงใหม่ที่ 75/2564 ลงวันที่ 8 ก.พ. 2564 ในข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงฯ”

    เจ้าหน้าที่ยังแสดงหมายค้นของศาลจังหวัดเชียงใหม่ที่ 85/2564 ลงวันที่ 31 มี.ค. 2564 เพื่อเข้าตรวจค้นห้องพัก และได้ทำการตรวจยึดโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ไอแพดของพรพิมลไว้ด้วย

    จากนั้นตำรวจได้ควบคุมตัวพรพิมลไปยัง สภ.ช้างเผือก เพื่อจัดทำบันทึกจับกุม ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่ทนายความติตดามไปพบ จึงได้เข้าร่วมกระบวนการด้วย

    เมื่อทนายความสอบถามถึงการตรวจยึดและเข้าถึงโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ไอแพดของพรพิมลว่า ตำรวจได้ขอคำสั่งศาลเพื่อเข้าถึงอุปกรณ์ดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หรือไม่ ชุดจับกุมระบุว่า เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในการยึดอุปกรณ์เหล่านี้ไว้ แต่การเข้าถึงข้อมูลภายในเครื่องต้องเป็นขั้นตอนของพนักงานสอบสวนต่อไป ชุดจับกุมจึงได้นำอุปกรณ์ดังกล่าวไปใส่ถุงซิปล็อคเพื่อมอบให้พนักงานสอบสวน

    หลังจัดทำบันทึกจับกุมและให้พรพิมลลงลายมือชื่อแล้ว เวลาประมาณ 18.30 น. เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้ส่งตัวพรพิมลให้กับ พ.ต.ต.ภัทรภพ ถนอมกุลกาญจน์ พนักงานสอบสวน ดำเนินการต่อไป โดยพนักงานสอบสวนระบุว่าจะแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนในวันรุ่งขึ้น และจะต้องนำตัวไปขออำนาจศาลในการฝากขัง

    พรพิมลจึงถูกควบคุมตัวไว้ที่ห้องขังของ สภ.ช้างเผือก ตามอำนาจการควบคุมตัวของพนักงานสอบสวน 48 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ยังระบุเหตุที่ยังไม่เริ่มแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนทันที เนื่องจากเห็นว่าพรพิมลยังคงมีอาการสับสนและตื่นตกใจ จึงอยากให้ทนายความได้พูดคุยให้คำปรึกษาก่อน

    (อ้างอิง: บันทึกการจับกุม สภ.ช้างเผือก ลงวันที่ 31 ม.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/27852)
  • พนักงานสอบสวนแจ้ง 2 ข้อกล่าวหากับพรพิมล คือ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยมีทนายความร่วมรับฟังอยู่ด้วย

    เจ้าหน้าที่ระบุพฤติการณ์ข้อกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2563 เวลาประมาณ 17.30 น. ขณะทีฆทัศน์ (ผู้กล่าวหาประสงค์ไม่เปิดเผยนามสกุล) ใช้โทรศัพท์มือถือเปิดใช้งานเฟซบุ๊ก พบผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งที่เป็นเพื่อนในเฟซบุ๊ก โพสต์ข้อความใส่ความในหลวงรัชกาลที่ 10 ต่อบุคคลที่สามเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563 โดยประการที่น่าจะทำให้ทรงเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง และมีผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ อีกทั้งการกระทำดังกล่าวยังเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงฯ อีกด้วย

    พรพิมลได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยได้ให้การในรายละเอียดทางคดีว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเฟซบุ๊กที่ถูกกล่าวหา อีกทั้งยังได้ยินยอมให้เข้าถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทั้งโทรศัพท์มือถือและไอแพด ที่ถูกยึดไว้โดยตำรวจตั้งแต่วานนี้ เพื่อยืนยันว่า เธอไม่ได้ใช้เฟซบุ๊กตามที่ถูกกล่าวหา และจะขอให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือ

    ระหว่างที่ทำการสอบสวน พนักงานสอบสวนได้ให้ตำรวจ สภ.ช้างเผือก อีกนายหนึ่ง ไปยื่นคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 เป็นเวลา 12 วัน ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังศาลจังหวัดเชียงใหม่ ขณะที่ทนายความก็ได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่เพื่อคัดค้านการฝากขังของพนักงานสอบสวน และขอให้มีการไต่สวนถึงเหตุจำเป็นในการฝากขังของพนักงานสอบสวน

    ต่อมา เวลาประมาณ 14.00 น. พนักงานสอบสวนได้นำตัวผู้ต้องหาเดินทางไปที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทำการไต่สวนคำร้องขอฝากขัง ด้านพนักงานสอบสวนได้ให้เหตุผลในการขอฝากขังว่า มีพยานบุคคลอีก 6 ปาก ที่ต้องทำการสอบสวนและยังมีพยานเอกสารที่ต้องรวบรวมอีกจำนวนมาก พร้อมกับต้องรอผลการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรรมของผู้ต้องหาอีก

    ทนายความของผู้ต้องหาได้ถามค้านเกี่ยวกับพฤติการณ์ตั้งแต่ถูกจับกุมกระทั่งแจ้งข้อกล่าวหาของตำรวจ พนักงานสอบสวนก็ได้ยืนยันว่า ผู้ต้องหาให้ความร่วมมืออย่างดีมาตลอด ไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี ในส่วนพยานบุคคล 6 ปาก ที่พนักงานสอบสวนกล่าวถึง ก็พบว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมด ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องทำการสอบสวนต่อหน้าผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนสามารถดำเนินการได้เอง

    ส่วนพยานเอกสารอีกจำนวนมากที่ต้องรวบรวมตลอดไปจนถึงขั้นตอนการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรรมของผู้ต้องหา ก็เป็นขั้นตอนที่พนักงานสอบสวนสามารถดำเนินการไปได้โดยไม่เกี่ยวข้องกับตัวผู้ต้องหา อีกทั้งพนักงานสอบสวนยังยืนยันว่า หากมีขั้นตอนทางกฎหมายใด ๆ เกี่ยวกับตัวผู้ต้องหา สามารถจะประสานงานผู้ต้องหามาพบได้

    หลังการไต่สวน ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังเป็นเวลา 12 วัน ตามคำร้องของพนักงานสอบสวน ให้เหตุผลโดยสรุปว่า ตามกฎหมายเหตุที่จะออกหมายขังมี 2 เหตุด้วยกัน คือ 1. อัตราโทษสูงเกิน 10 ปี และ 2. ผู้ต้องหามีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ซึ่งหากเข้าเงื่อนไขเหตุใดเหตุหนึ่งก็ได้ ปรากฏตามคำร้องของพนักงานสอบสวนว่า คดีนี้มีอัตราโทษสูงเกิน 10 ปี แม้พนักงานสอบสวนตอบทนายความถามค้านว่าผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนีและไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน แต่ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้

    เวลาประมาณ 17.00 น. ทีมทนายความและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่เดินทางมาเป็นนายประกันในคดีนี้ก็ได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวผู้ต้องหาด้วยเงินสดจำนวน 300,000 บาท โดยเป็นหลักทรัพย์จากทางกองทุนดา ตอร์ปิโด

    ต่อมา เวลาประมาณ 17.30 น. รัตน์ จ๋วงพานิช ผู้พิพากษา มีคำสั่งยกคำร้องขอประกันตัว โดยระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาประกอบกับข้อความที่ผู้ต้องหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์แล้ว ถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง ซึ่งพนักงานสอบสวนได้คัดค้านการประกันตัว หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว อาจจะกระทำในลักษณะเดียวกันอีก เกรงว่าจะหลบหนี ยากแก่การติดตามตัว จึงให้ยกคำร้อง”

    การไม่ได้ประกันตัวของพรพิมลทำให้เธอถูกนำตัวไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ อำเภอเมืองเชียงใหม่

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สภ.ช้างเผือก ลงวันที่ 1 เม.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/27852)
  • เวลาประมาณ 10.00 น. ทีมทนายความได้เข้าพบพรพิมลที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ เพื่อจัดทำคำร้องประกอบการขอปล่อยตัวชั่วคราวเป็นครั้งที่ 2 พรพิมลดูสดใสขึ้นบ้างแล้วเล็กน้อย ระหว่างการพบทนายความเธอไม่ได้ร้องไห้อีก เธอเล่าว่า หลังจากที่มีเรื่องราวออกไปว่าเธอถูกคุมขังอยู่ในห้องขังเดี่ยวที่มองไม่เห็นแสงจากภายนอก เธอได้ถูกย้ายไปอยู่ห้องคุมขังที่มีขนาดกว้างขึ้นและมีแสงส่องถึง มองเห็นบรรยากาศนอกห้องขังได้

    ก่อนหน้านี้พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 2 ต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยเป็นการขอฝากขังก่อนครบกำหนดระยะเวลา 12 วัน เนื่องจากจะเป็นวันหยุดราชการในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังพรพิมลต่ออีก 12 วัน

    ต่อมาเวลา 14.00 น. ทีมทนายความและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวพรพิมล ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยเงินสดจำนวน 300,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์

    คำร้องประกอบการขอปล่อยตัวชั่วคราวยืนยันต่อศาลว่า ผู้ต้องหาไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี และได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่มาตั้งแต่ต้นในขั้นตอนการสอบสวนต่าง ๆ โดยได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหามาโดยตลอด ทั้งผู้ต้องหายังไม่เคยยุ่งเกี่ยวหรือเข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุมทางการเมือง หรือกระทำความผิดอาญาอื่น ๆ มาก่อนแต่อย่างใด

    นอกจากนี้แล้วผู้ต้องหา แม้จะอายุ 22 ปี แต่ก็มีอาชีพค้าขายเพื่อเลี้ยงดูตนเอง ทั้งยังต้องรับผิดชอบต่อบุคคลอื่นในครอบครัว ซึ่งไม่มีใครสามารถกระทำการแทนได้ และการค้าขายของนั้นก็เพื่อหารายได้เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับค่าเช่าที่อยู่อาศัย และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ หากการค้าขายของผู้ต้องหาต้องหยุดชะงักลงเนื่องจากการถูกควบคุมตัวในคดีนี้ จะทำให้ขาดรายได้อย่างหนัก ซึ่งจะส่งผลเสียต่อผู้ต้องหาอย่างมาก

    ตอนท้ายคำร้องยังระบุยืนยันว่า หากผู้ต้องหาได้รับการประกันตัว จะไม่กล่าวพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ และจะไม่เข้าร่วมกิจกรรมใด ๆ ที่อาจเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งยินยอมที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวทุกประการ

    จนกระทั่งเวลา 15.33 น. ศาลมีคำสั่งยกคำร้อง โดยระบุเพียงสั้น ๆ ว่า ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ลงวันที่ 9 เม.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/28162)
  • ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ทนายความได้เข้ายื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวพรพิมล ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีเนื้อหาโดยสรุป ดังนี้

    1. ก่อนถูกจับกุมในคดีนี้ ผู้ต้องหาไม่เคยยุ่งเกี่ยวหรือเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง กิจกรรมการประท้วงขับไล่รัฐบาลต่าง ๆ เลยแม้แต่ครั้งเดียว อีกทั้งผู้ต้องหาไม่เคยมีประวัติเกี่ยวกับการกระทำความผิดอาชญากรรมใด ๆ มาก่อน ในคดีนี้ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยยืนยันว่าผู้ต้องหาไม่ได้กระทำความผิดและประสงค์จะต่อสู้คดีจนถึงที่สุด

    2. พฤติการณ์ตั้งแต่ตำรวจเข้าจับกุม ผู้ต้องหาก็ยืนยันความบริสุทธิ์ใจและให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นอย่างดีโดยตลอดทุกขั้นตอน โดยได้มอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้กับตำรวจชุดจับกุมทันที และได้ลงชื่อยินยอมต่อพนักงานสอบสวนให้เข้าถึงข้อมูลในอุปกรณ์ดังกล่าวแล้ว ไม่มีพฤติการณ์ต่อสู้ขัดขืนแต่อย่างใด โดยพนักงานสอบสวนได้ตอบคำถามค้านทนายความว่า “ในวันที่ผู้ต้องหาถูกจับกุมไม่มีการขัดขืนและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี” และ “สามารถติดตามผู้ต้องหาเพื่อมาพบได้ หากมีการนัดหมาย โดยสามารถติดต่อผ่านทางทนายความได้” จึงย่อมได้รับการสันนิษฐานตามกฎหมายว่า ไม่มีพฤติการณ์หลบหนีแต่อย่างใด ย่อมไม่มีเหตุอันสมควรใดให้พนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว

    3. ผู้ต้องหาเป็นเพียงบุคคลธรรมดาประกอบสัมมาชีพค้าขายสินค้าออนไลน์ หารายได้เลี้ยงดูตนเองมาโดยตลอดตั้งแต่ยังเด็ก ไม่ได้รับการอุปการะจากครอบครัวมาเป็นเวลานานหลายปีแล้ว การค้าขายยังจะต้องปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายกับผู้อื่น ไม่มีผู้ใดสามารถกระทำแทนได้ จะทำให้สูญเสียลูกค้า และรายได้หลักสำหรับจุนเจือเลี้ยงดูตนเอง การควบคุมตัวไว้เป็นเวลานาน จะทำให้ผู้ต้องหาเดือดร้อนอย่างมาก และไม่สามารถจะเริ่มต้นอาชีพใหม่ได้อย่างง่ายดาย ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิทธิในการประกอบอาชีพสุจริตของผู้ต้องหา

    4. ทั้งในรัฐธรรมนูญไทยและกติกาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่ประเทศไทยเป็นภาคี ล้วนรับรองหลักสันนิษฐานว่า บุคคลย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด ส่งผลให้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้บัญญัติรองรับสิทธิที่จะไม่ถูกควบคุมตัวไว้เกินกว่าจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดี และในการได้รับการปล่อยชั่วคราวของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่อยู่ระหว่างการถูกดำเนินคดีให้สอดคล้องกับหลักการดังกล่าวเช่นกัน ในคดีนี้ผู้ต้องหาเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ผู้ต้องหาสมควรมีโอกาสได้พิสูจน์ว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์และไม่ต้องรับโทษในทางอาญา

    ผู้ต้องหาต้องถูกคุมขังระหว่างการสอบสวนตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2564 จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 23 วันแล้ว โดยที่ไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว เสมือนว่าผู้ต้องหาต้องได้รับโทษทางอาญาก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ทำให้ผู้ต้องหาต้องทนทุกข์ทรมานร่างกายและจิตใจจากการสูญเสียอิสรภาพเป็นอย่างมาก

    การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนี้ส่งผลต่อโอกาสที่จะแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์และเสียโอกาสที่จะต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากคดีของผู้ต้องหานี้มีหลักฐานสำคัญคือพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ แต่เนื่องจากการปรึกษาคดีกับทนายความกับผู้ต้องหาในทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ที่เป็นสถานที่คุมขังผู้ต้องหา ขาดความสะดวกอย่างยิ่ง เนื่องจากเรือนจำฯ มีข้อห้ามมิให้ผู้ใดนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้าไปในพื้นที่เยี่ยม ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมทำให้ทนายความไม่สามารถแสวงหาหลักฐานทางอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้

    การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาโดยอ้างว่า ข้อความที่ผู้ต้องหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เป็นเรื่องร้ายแรง หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวอาจจะกระทำในลักษณะเดียวกันอีก เกรงว่าจะหลบหนียากแก่การติดตามตัว ทั้งที่ผู้ต้องหายังมิได้ผ่านขั้นตอนการพิจารณาคดีมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิด หรือได้นำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นจริงหรือไม่ คำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นจึงเป็นการวินิจฉัยทำนองว่า ผู้ต้องหาได้เป็นผู้กระทำความผิดแล้ว ย่อมถือว่าเป็นการใช้ดุลพินิจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 อย่างชัดแจ้ง

    5. ผู้ต้องหาเป็นเพียงบุคคลธรรมดาผู้ประกอบสัมมาชีพที่ไม่ได้มีอิทธิพลหรือความสามารถจะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้ อีกทั้งพยานหลักฐานในคดีนี้ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่หรือคอมพิวเตอร์ก็อยู่ในความควบคุมของพนักงานสอบสวนแล้วทั้งสิ้น โดยพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนคดีนี้ได้แจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำทำบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาไว้เรียบร้อยแล้ว

    พนักงานสอบสวนได้ตอบคำถามค้านในคำให้การพยานผู้ร้องว่า ยังรวบรวมพยานหลักฐานไม่เสร็จ โดยจะต้องสอบพยานบุคคลอีก 6 ปาก พนักงานสอบสวนสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องสอบสวนต่อหน้าผู้ต้องหา การรวบรวมพยานหลักฐานเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนโดยไม่ต้องมีผู้ต้องหาอยู่ด้วย และสามารถติดตามผู้ต้องหาเพื่อมาพบได้หากมีการนัดหมาย การตรวจพิสูจน์อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การตรวจสอบประวัติการต้องโทษจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร ก็เป็นขั้นตอนการดำเนินการภายในของฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ต้องหาจึงไม่อาจไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานใด ๆ ของพนักงานสอบสวนได้อีก การปล่อยตัวผู้ต้องหาจึงไม่อาจเป็นอุปสรรค และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของพนักงานสอบสวน

    6. ผู้ต้องหายื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2564 พร้อมคำร้องโดยให้คำมั่นสัญญาว่าผู้ต้องหาจะไม่กล่าวพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ และจะไม่เข้าร่วมกิจกรรมใด ๆ ที่เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยผู้ต้องหายินดีที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขปล่อยตัวชั่วคราวทุกประการ แต่ศาลชั้นต้นกลับมีคำสั่งว่า “ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ยกคำร้อง” ย่อมไม่เป็นธรรมแก่ผู้ต้องหาอย่างยิ่ง

    นอกจากนี้คำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนี้ยังขัดกับแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการบริหารจัดการคดีในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ฉบับที่ 6 ในเดือนเมษายน 2564 ของสำนักงานศาลยุติธรรม เกี่ยวกับการบริหารจัดการคดี ข้อ 2.10 การพิจารณาสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในทุกชั้นศาล ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับแนวปฏิบัติในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ฉบับที่ 3) ซึ่งมีเจตนารมณ์ มุ่งที่จะลดความแออัดในเรือนจำอันอาจนำไปสู่การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดังนั้นกล่าวการมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา จึงเป็นไปตามแนวทางปฏิบัติฉบับดังกล่าว

    ต่อมา เวลาประมาณ 15.55 น. ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวพรพิมล โดยระบุว่า “พิเคราะห์แล้ว แม้คดีนี้จะเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง แต่ตามคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวน ไม่ปรากฏเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์หรือจะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งในอันที่ศาลจะใช้ดุลยพินิจสั่งไม่ปล่อยชั่วคราวได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1

    “ที่พนักงานสอบสวนคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวก็อ้างแต่เพียงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ เท่านั้น ทั้งตามบันทึกการจับกุมปรากฏว่า ผู้ต้องหาถูกจับ ณ สถานที่อยู่อาศัยของผู้ต้องหาเอง จึงน่าเชื่อในเบื้องต้นว่าผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี แต่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน ประกอบกับผู้ต้องหาให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา จึงอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาระหว่างสอบสวน ตีราคาประกัน 150,000 บาท ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาหลักประกันแล้วดำเนินการต่อ”

    หลังคำสั่งของศาลอุทธรณ์ ทนายความพร้อมนายประกันที่เป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ยื่นประกันพรพิมลอีกครั้ง โดยวางหลักประกันเป็นเงินสด 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ก่อนที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา โดยนัดให้มารายงานตัวที่ศาลอีกครั้งในวันที่ 25 พ.ค. 2564

    จนเวลาประมาณ 19.00 น. พรพิมลได้รับการปล่อยตัวออกจากทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ รวมเวลาถูกคุมขัง 23 วัน

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/28702)
  • พนักงานอัยการยังไม่มีคำสั่งในคดี นัดรายตัวต่อศาลและฟังคำสั่งอีกครั้งวันที่ 10 มิ.ย. 2564
  • พนักงานอัยการยังไม่มีคำสั่งในคดี นัดรายตัวต่อศาลและฟังคำสั่งอีกครั้งวันที่ 14 มิ.ย. 2564
  • พนักงานอัยการยังไม่มีคำสั่งในคดี นัดรายตัวต่อศาลและฟังคำสั่งอีกครั้งวันที่ 24 มิ.ย. 2564
  • พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ยื่นฟ้องพรพิมลต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) มีเนื้อหาโดยสรุปกล่าวหาพรพิมลว่า ระหว่างวันที่ 16 - 18 ต.ค. 2563 ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวสื่อถึงรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นคําสบประมาทและเปรียบเทียบ อันเป็นความเท็จ และเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ โดยจําเลยมีเจตนาทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์

    คำขอท้ายคำฟ้องของพนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า หากจําเลยยื่นคําร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโจทก์ขอคัดค้าน เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูงและเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักร เกรงว่าจําเลยจะหลบหนีและไปก่อคดีเช่นเดียวกับคดีนี้ซ้ำอีก

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดเชียงใหม่ คดีหมายเลขดำที่ อ.633/2564 ลงวันที่ 23 เม.ย. 2564)
  • ตั้งแต่เวลาประมาณ 09.00 น. พรพิมลได้เดินทางเข้ารายงานตัวตามนัดหมายของศาลจังหวัดเชียงใหม่ หลังถูกคุมขังในทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่มาเป็นเวลา 23 วัน และศาลได้อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างสอบสวน โดยกำหนดให้เข้ารายงานตัวเป็นระยะ

    หลังเข้ารายงานตัวต่อศาล เจ้าหน้าที่ศาลได้ระบุว่า พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ได้ยื่นฟ้องคดีพรพิมลแล้ว โดยเธอและทนายความไม่ทราบล่วงหน้ามาก่อน

    เวลาประมาณ 09.30 น. พรพิมลได้ถูกนำตัวไปควบคุมไว้ในห้องขังใต้ถุนศาล และต่อมาศาลได้วิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์มาสอบถามคำให้การของจำเลย ซึ่งพรพิมลยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ขอต่อสู้คดีถึงที่สุด

    11.00 น. ทนายความและนายประกัน ซึ่งเป็นนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ด้วยหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ซึ่งเป็นหลักทรัพย์ที่เคยใช้ขอปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวนมาแล้ว เพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดีต่อไป

    จนกระทั่งเวลาประมาณ 17.40 น. เป็นเวลากว่า 8 ชั่วโมงที่พรพิมลถูกควบคุมตัวอยู่ภายในห้องขังของศาล ศาลจึงมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวพรพิมลระหว่างการพิจารณาคดี ด้วยหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 150,000 บาท และให้ปล่อยตัวออกจากห้องขังใต้ถุนศาล

    ศาลกำหนดนัดหมายคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในวันที่ 20 ก.ค. 2564 เวลา 13.30 น. และนัดพร้อมเพื่อสอบถามคำให้การในวันที่ 16 ส.ค. 2564 เวลา 13.30 น.

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/31263)
  • จำเลยไม่มาศาลตามนัด ศาลมีคำสั่งให้ออกหมายจับและปรับนายประกัน

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
พรพิมล (สงวนนามสกุล)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
พรพิมล (สงวนนามสกุล)

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์