สรุปความสำคัญ

ปุญญพัฒน์ ถูกกล่าวหาว่า หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 โดยถูกระบุว่า เป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์ข้อความ 4 ข้อความ ลงในกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อ “รอยัลลิสต์มาร์เกตเพลส” เมื่อวันที่ 9-10 พ.ค. 2563 กล่าวถึงรัชกาลที่ 10

เป็นอีกคดีที่ประชาชนเข้าแจ้งความกล่าวโทษให้ดำเนินคดีผู้อื่นที่เห็นต่างทางการเมือง โดยเฉพาะในท้องที่ของ สภ.บางแก้ว ซึ่งรับเป็นคดีและออกหมายเรียกให้ประชาชนจากหลายจังหวัดเดินทางมารับทราบข้อกล่าวหา สร้างภาระแก่ประชาชนที่แสดงออกทางการเมืองอย่างมาก และสะท้อนชัดถึงปัญหาของมาตรา 112

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • ปุญญพัฒน์ (นามสมมติ)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

22 เม.ย. 2564 ปุญญพัฒน์เดินทางจากจังหวัดกำแพงเพชรไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกของ สภ.บางแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นสถานีตำรวจท้องที่ที่ศิวพันธ์ มานิตย์กุล เข้าแจ้งความกล่าวโทษให้ดำเนินคดี ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตามมาตรา 14 (3)(5) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560

เวลา 11.30 น. พ.ต.ท.รังสรรค์ คำสุข รองผู้กำกับ (สอบสวน) สภ.บางแก้ว ได้แจ้งพฤติการณ์คดีให้ปุญญพัฒน์ทราบว่า เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2563 เวลา 17.00 น. ขณะศิวพันธ์ มานิตย์กุล พักอาศัยอยู่ที่บ้านพักในจังหวัดสมุทรปราการ ได้นั่งดูเฟซบุ๊กในคอมพิวเตอร์ และพบผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ข้อความ 4 ข้อความ ลงในกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อ “รอยัลลิสต์ มาร์เกตเพลส” กล่าวถึงรัชกาลที่ 10

ข้อความทั้ง 4 มีการโพสต์ไว้เมื่อวันที่ 9-10 พฤษภาคม 2563 และผู้กล่าวหาเห็นว่าข้อความทั้งหมดนี้เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ จึงได้มาแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดําเนินคดีกับผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวเพื่อให้ได้รับโทษตามกฎหมาย

ต่อมาทางการสืบสวนทราบว่า ปุญญพัฒน์เป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าว จึงออกหมายเรียกตัวผู้ต้องหามารับทราบ 3 ข้อกล่าวหา ดังกล่าว ปุญญพัฒน์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

หลังรับทราบข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้ควบคุมตัวปุญญพัฒน์ไปขออำนาจศาลจังหวัดสมุทรปราการฝากขัง แม้ปุญญพัฒน์ได้มาปรากฏตัวต่อหน้าพนักงานสอบสวน ไม่ได้ถูกจับกุม แต่พนักงานสอบสวนกลับเห็นว่ามีเหตุจะออกหมายขังผู้ต้องหาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 91 จึงได้ยึ่นคำร้องขอฝากขังต่อศาล และให้ศาลออกหมายขังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 ประกอบมาตรา 134 ก่อนศาลอนุญาตให้ฝากขัง และอนุญาตให้ประกันตัว โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นเงิน 150,000 บาท

(อ้าง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สภ.บางแก้ว ศาลจังหวัดสมุทรปราการ ลงวันที่ 22 เม.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/28737)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์