ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.803/2564
แดง อ.752/2565

ผู้กล่าวหา
  • ศิวพันธ์ มานิตย์กุล (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.803/2564
แดง อ.752/2565
ผู้กล่าวหา
  • ศิวพันธ์ มานิตย์กุล

ความสำคัญของคดี

ปุญญพัฒน์ (นามสมมติ) อายุ 28 ปี ถูกกล่าวหาว่า หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 โดยถูกระบุว่า เป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์ข้อความ 4 ข้อความ ลงในกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อ “รอยัลลิสต์มาร์เกตเพลส” เมื่อวันที่ 9-10 พ.ค. 2563 กล่าวถึงรัชกาลที่ 10

เป็นอีกคดีที่ประชาชนเข้าแจ้งความกล่าวโทษให้ดำเนินคดีผู้อื่นที่เห็นต่างทางการเมือง โดยเฉพาะในท้องที่ของ สภ.บางแก้ว ซึ่งรับเป็นคดีและออกหมายเรียกให้ประชาชนจากหลายจังหวัดเดินทางมารับทราบข้อกล่าวหา สร้างภาระแก่ประชาชนที่แสดงออกทางการเมืองอย่างมาก และสะท้อนชัดถึงปัญหาของมาตรา 112

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

คำฟ้องของประคอง ดุลคนิจ พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการได้บรรยายพฤติการณ์คดีโดยสรุปว่า ปุญญพัฒน์ (จำเลย) ได้กระทำความผิดรวม 4 กรรม กล่าวคือ

1. เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2563 จำเลยได้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กของจำเลย หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อรัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี โดยได้โพสต์ข้อความลงในบัญชีผู้ใช้ชื่อ “รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส” มีใจความเกี่ยวกับ การสละราชบัลลังก์ของรัชกาลที่ 10 เพื่อไปพำนักที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์กับพระราชินี พร้อมรูปอีโมจิประกอบ

ข้อความดังกล่าวเป็นข้อความที่บุคคลทั่วไปเข้าถึงได้ ทั้งยังสื่อความถึงรัชกาลที่ 10 และพระบรมราชินี โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่า เป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ทั้งนี้ ข้อความข้างต้นนั้นเป็นข้อความเท็จทั้งสิ้น และยังถือเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ใส่ร้าย ใส่ความ ดูหมิน หมิ่นประมาทเบื้องสูง หมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์ กษัตริย์และราชินี ทำให้เสื่อมเสียเกียรติยศ

2. เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2563 จำเลยได้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กของจำเลย โพสต์ข้อความลงในบัญชีผู้ใช้ชื่อ “รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส” โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับ ความนิยมของประชาชนที่มีต่อรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นข้อความเท็จและสื่อความถึงรัชกาลที่ 10 โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่า เป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

3. เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2563 จำเลยได้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กของจำเลย โพสต์ข้อความลงในบัญชีผู้ใช้ชื่อ “รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส” โดยมีใจความเป็นการตั้งคำถามว่า รัชกาลที่ 10 เป็นกษัตริย์ของไทยหรือเยอรมันกันแน่ ซึ่งเป็นข้อความเท็จและสื่อความถึงรัชกาลที่ 10 โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่า เป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

4. เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2563 จำเลยได้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กของจำเลย โพสต์ข้อความลงในบัญชีผู้ใช้ชื่อ “รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส” โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับ ความเคารพของประชาชนที่มีต่อรัชกาลที่ 10 ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นข้อความเท็จและสื่อความถึงรัชกาลที่ 10 โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่า เป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดสมุทรปราการ คดีหมายเลขดำที่ อ.803/2564 ลงวันที่ 14 ก.ค. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • ปุญญพัฒน์และครอบครัว ออกเดินทางจากบ้านในจังหวัดกำแพงเพชร ตั้งแต่เวลา 03.00 น. เพื่อไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.บางแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นสถานีตำรวจท้องที่ที่นายศิวพันธ์ มานิตย์กุล เข้าแจ้งความกล่าวโทษให้ดำเนินคดี ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตามมาตรา 14 (3)(5) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 โดยเป็นอีกคดีที่ประชาชนเข้าแจ้งความกล่าวโทษผู้โพสต์ข้อความในกลุ่ม ‘รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส’

    เวลา 11.30 น. พ.ต.ท.รังสรรค์ คำสุข รองผู้กำกับ (สอบสวน) สภ.บางแก้ว ได้แจ้งพฤติการณ์คดีให้ปุญญพัฒน์ทราบว่า เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2563 เวลา 17.00 น. ขณะศิวพันธ์ มานิตย์กุล พักอาศัยอยู่ที่บ้านพักในจังหวัดสมุทรปราการ ได้นั่งดูเฟซบุ๊กในคอมพิวเตอร์ และพบผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ข้อความ 4 ข้อความ ลงในกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อ “รอยัลลิสต์ มาร์เกตเพลส” กล่าวถึงรัชกาลที่ 10

    ข้อความทั้ง 4 มีการโพสต์ไว้เมื่อวันที่ 9-10 พฤษภาคม 2563 และผู้กล่าวหาเห็นว่าข้อความทั้งหมดนี้เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ จึงได้มาแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดําเนินคดีกับผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวเพื่อให้ได้รับโทษตามกฎหมาย

    ต่อมาทางการสืบสวนทราบว่า ปุญญพัฒน์เป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าว จึงออกหมายเรียกตัวผู้ต้องหามารับทราบ 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร, เผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 (3) และมาตรา 14 (5)

    ปุญญพัฒน์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน

    หลังรับทราบข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้ควบคุมตัวปุญญพัฒน์ไปขออำนาจศาลจังหวัดสมุทรปราการฝากขัง แม้ปุญญพัฒน์ได้มาปรากฏตัวต่อหน้าพนักงานสอบสวน ไม่ได้ถูกจับกุม แต่พนักงานสอบสวนกลับเห็นว่ามีเหตุจะออกหมายขังผู้ต้องหาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 91 จึงได้แจ้งให้ผู้ต้องหาไปที่ศาล และพนักงานสอบสวนจะยึ่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายขังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 ประกอบมาตรา 134

    เวลา 13.00 น. ปุญญพัฒน์พร้อมครอบครัวเดินทางไปที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการด้วยตนเอง จากนั้นพนักงานสอบสวน สภ.บางแก้ว ยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหา พร้อมกับนำตัวปุญญพัฒน์ไปที่ห้องเวรชี้

    ทนายความได้ยื่นประกันตัว โดยวางหลักทรัพย์เป็นเงิน 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมกับระบุเหตุผลในคำร้องประกอบขอปล่อยชั่วคราวว่า ผู้ต้องหาเป็นลูกคนโต และเป็นเสาหลักของบ้านในการช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพค้าขาย

    อีกทั้งผู้ต้องหาให้ความร่วมมือกับพนักงานสอบสวนอย่างดี และไม่มีการออกหมายจับ จึงไม่มีเหตุจำเป็นต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาระหว่างสอบสวนตั้งแต่ต้น และผู้ต้องหามีภูมิลำเนาและอาชีพเป็นหลักแหล่งแน่นอน ไม่มีอิทธิพลที่จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน ไม่อาจจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นได้ หากไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จะได้รับความเดือดร้อนต่อเสรีภาพ หน้าที่การงาน และครอบครัวของผู้ต้องหา

    คำร้องยังยืนยันหลักการตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 14 (1) ว่า “บุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดอาญาต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิด” และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 11 (1) “ทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญามีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดตามกฎหมายในการพิจารณาคดีที่เปิดเผย ซึ่งได้รับหลักประกันที่จำเป็นทั้งปวงสำหรับการต่อสู้คดี”

    ต่อมา เวลาราว 16.45 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นเงิน 150,000 บาท และนัดรายงานตัวในวันที่ 15 ก.ค. 2564 เวลา 09.00 น.

    ปุญญพัฒน์เปิดเผยว่า เขามีแผนอยากสอบเข้ารับข้าราชการ เมื่อถูกดำเนินคดีนี้ ทำให้ครอบครัวกังวลว่าการตกเป็นผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 จะส่งผลกระทบต่อแผนในอนาคตของเขาเป็นอย่างมาก

    “จริงๆ ปุญญพัฒน์ไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อนหน้านี้เลย เพราะหมายเรียกส่งไปที่บ้านตามทะเบียนราษฎร์ที่หาดใหญ่ แต่เราไม่ได้อยู่ที่นั่นแล้ว พอดีว่าน้องสาวโทรมาแจ้ง เราเลยเดินทางไปที่ สภ.บางแก้ว เอง” แม่ของปุญญพัฒน์เล่า

    “ผมไม่คิดเลยครับว่าจะถูกดำเนินคดีนี้” ปุญญพัฒน์เผยความในใจ ด้วยน้ำเสียงสั่นเครือเล็กน้อย หลังเขาได้รับการปล่อยตัว

    “ตอนอยู่ในห้องเวรชี้ ผมกลัว กังวลว่าผมจะได้ออกมาหรือเปล่า” เจ้าตัวเล่า

    ปุญญพัฒน์หวนคืนสู่อิสรภาพอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ในเย็นวันเดียวกัน เขาและครอบครัวต้องเดินทางจากศาลจังหวัดสมุทรปราการเพื่อกลับบ้านในจังหวัดกำแพงเพชร รวมระยะทางกว่า 374 กิโลเมตร ใช้เวลากว่า 5 ชั่วโมง และเขายังต้องต่อสู้คดีนี้ต่อไป

    (อ้าง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สภ.บางแก้ว, คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลจังหวัดสมุทรปราการ ลงวันที่ 22 เม.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/28737)
  • ประคอง ดุลคนิจ พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการ ยื่นฟ้องปุญญพัฒน์ต่อศาล ในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 โดยกล่าวหาว่า ปุญญพัฒน์โพสต์ข้อความรวม 4 ข้อความ ลงในกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อ “รอยัลลิสต์ มาร์เกตเพลส” เมื่อวันที่ 9-10 พ.ค. 2563 มีเนื้อหาพาดพิงถึงรัชกาลที่ 10 และพระราชินี ซึ่งเป็นความเท็จ และเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ใส่ร้าย ใส่ความ ดูหมิ่น หมิ่นประมาทเบื้องสูง หมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์ กษัตริย์และราชินี ทำให้เสื่อมเสียเกียรติยศ มีเจตนาที่จะให้ผู้อื่นหรือประชาชนโดยทั่วไปที่อ่านข้อความเกิดความรู้สึกดูหมิ่น เกลียดชัง โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อรัชกาลที่ 10

    พนักงานอัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างพิจารณาคดี ระบุว่า ขอให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดสมุทรปราการ คดีหมายเลขดำที่ อ.803/2564 ลงวันที่ 14 ก.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/32165)
  • ปุญญพัฒน์เดินทางไปรายงานตัวต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการตามนัด เมื่อเขาเดินทางถึงศาล จึงได้ทราบว่า พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้ววานนี้ (14 ก.ค. 2564) ทนายความจึงได้ยื่นประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์เดิมที่วางเป็นหลักประกันในชั้นฝากขัง

    ต่อมา ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี ทำให้ปุญญพัฒน์ได้รับการปล่อยตัวให้ออกมาสู้คดีได้อย่างเต็มที่ โดยศาลนัดคุ้มครองสิทธิในวันที่ 30 ก.ย. 2564 เวลา 09.00 น.

    คดีของปุณณพัฒน์นับเป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 4 ที่พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการมีคำสั่งฟ้องคดี หลังก่อนหน้าที่มีการสั่งฟ้องคดีในข้อหาเดียวกันกับ พิพัทธ์, ธีรวัช และมีชัย ทั้งนี้ ทุกคดีที่กล่าวถึงล้วนเป็นคดีที่มีประชาชนเป็นผู้เข้าแจ้งความกล่าวโทษให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีทั้งสิ้น

    เป็นที่สังเกตว่าพนักงานอัยการฟ้องปุญญพัฒน์ในความผิดฐาน “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” โดยไม่ฟ้องข้อหาเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับความมั่นคงฯ ซึ่งในชั้นตำรวจ พนักงานสอบสวน สภ.บางแก้ว ได้แจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าวด้วย

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดสมุทรปราการ คดีหมายเลขดำที่ อ.803/2564 ลงวันที่ 14 ก.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/32165)
  • ปุญญพัฒน์ยืนยันให้การปฏิเสธ ศาลนัดพร้อมสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 18 ต.ค. 2564 เวลา 13.30 น.
  • ศาลยกเลิกนัดวันที่ 18 ต.ค. 2564 เลื่อนมานัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานในวันนี้ หลังตรวจพยานหลักฐาน ศาลนัดสืบพยานในวันที่ 19-20 เม.ย. 2565
  • ที่ห้องพิจารณา 14 เวลา 09.11 น. หลังจากปุญญพัฒน์เดินทางจากจังหวัดกำแพงเพชรตั้งแต่เมื่อวาน มาถึงศาลจังหวัดสมุทรปราการ เขาได้เข้าไปนั่งรอในห้องพิจารณาพร้อมกับครอบครัวและทนายความ

    เวลา 10.30 น. ศาลนั่งออกพิจารณาคดี โดยก่อนเริ่มกระบวนการพิจารณา ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้ส่งตัวจำเลยไปตรวจอาการทางจิต ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 เนื่องจากก่อนหน้านัดสืบพยาน ทนายจำเลยได้พบปะพูดคุยเพื่อเตรียมคดีกับจำเลยและครอบครัว และพบว่าการพูดคุยสื่อสารและบุคลิกภาพของจำเลยมีความผิดปกติ

    ต่อมา ภายหลังได้ทราบข้อเท็จจริงจากแม่ของจำเลยว่า จำเลยมีพัฒนาการช้ามาตั้งแต่เด็ก สมาธิสั้น มีความคิดวกวน ย้ำคิดย้ำทำ จดจ่อเฉพาะเรื่อง สื่อสารอย่างจำกัด หากจำเลยมีความเครียดหรือหวาดกลัว จะไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ทำให้ปัจจุบัน อายุ 29 ปีแล้ว จำเลยไม่สามารถออกจากบ้านไปไหนมาไหนคนเดียวได้ ไม่สามารถประกอบอาชีพการงาน หรือทำในสิ่งที่ต้องใช้วิจารณญาณเหมือนคนในวัยเดียวกันได้ ต้องอยู่ในความดูแลช่วยเหลือของครอบครัวโดยตลอด

    ทั้งนี้ เมื่อช่วงเวลาที่จำเลยอายุประมาณ 18 ปี แม่เคยพาจำเลยไปรักษาที่คลินิกเอกชนที่เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก แต่เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูง ทำให้จำเลยไม่ได้รับการรักษาต่อเนื่อง อาการของจำเลยจึงไม่ดีขึ้น ด้วยเหตุผลข้างต้นดังกล่าว ทนายจำเลยจึงขอให้ศาลมีคำสั่งให้แพทย์ตรวจอาการทางสมอง หรืออาการทางจิตของจำเลย เพื่อประเมินความสามารถในการต่อสู้คดี

    ด้านอัยการโจทก์ไม่คัดค้าน โดยให้เรื่องนี้อยู่ในดุลยพินิจของศาล

    ต่อมา เวลา 11.00 น. หลังศาลอ่านและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว ศาลได้เรียกจำเลยมาสอบถามเกี่ยวกับครอบครัว ประวัติส่วนตัว การศึกษา อาชีพ และสาเหตุที่พิมพ์ข้อความ 4 ข้อความดังกล่าว จนเป็นเหตุให้ถูกฟ้องในคดีนี้

    ด้านปุญญพัฒน์ได้ตอบคำถามว่า ตนอาศัยอยู่กับพ่อแม่และมีน้องชายที่อายุห่างกัน 3 ปี ด้านการศึกษาตนเรียนจบจาก ปวส. สาขาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และปัจจุบันคอยช่วยเหลือพ่อแม่ขายของที่ร้านของชำ

    ส่วนสาเหตุที่พิมพ์ข้อความลงไป เพราะจำเลยคล้อยตามข่าวสารในสื่อโซเชียลมีเดีย และพิมพ์ลงไปโดยไม่ทันยั้งคิด พร้อมกับยืนยันว่า ตนไม่เคยกระทำความผิดใด ๆ มาก่อน โดยระหว่างที่ปุญญพัฒน์ตอบคำถามศาล เขาขาดความจดจ่อในบทสนทนาเป็นพัก ๆ รวมถึงยังหันหน้ามามองมารดาทุกครั้ง เวลาที่เขาไม่สามารถตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องของตัวเองได้

    ด้านมารดาของปุญญพัฒน์ได้ชี้แจงต่อศาลว่า ปุญญพัฒน์มีพัฒนาการช้ามาตั้งแต่เด็ก แม้จะเคยพาไปรักษาที่คลินิกเชี่ยวชาญเรื่องด้านพัฒนาการเด็กแล้ว ก็ยังไม่ดีขึ้น ตนจึงจำเป็นต้องดูแลลูกชายตลอด 24 ชั่วโมง ไม่สามารถปล่อยให้ไปไหนมาไหนได้ตามลำพัง หรือกระทั่งตอนที่ได้รับหมายเรียกจากพนักงานสอบสวน สภ.บางแก้ว ในคดีนี้ เธอก็เป็นคนจัดการธุระทุกอย่างแทนลูกชาย พาไปพบพนักงานสอบสวน และช่วยลูกชายตอบคำถาม เพราะปุญญพัฒน์มีความสามารถในการสื่อสารที่จำกัด

    อย่างไรก็ตาม หลังสอบถามพูดคุยกับจำเลยแล้ว ศาลเห็นว่าจำเลยสามารถต่อสู้คดีได้ ไม่ได้วิกลจริตถึงขนาดไม่สามารถต่อสู้คดีได้ จึงไม่จำเป็นต้องส่งตัวจำเลยไปพบแพทย์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 เนื่องจากจำเลยสามารถพูดโต้ตอบและเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับตนเองให้ศาลฟังได้

    นอกจากนี้ ศาลระบุว่า หากจำเลยไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ทนายจำเลยสามารถชี้แจงให้ศาลทราบตั้งแต่วันนัดตรวจพยานหลักฐาน แต่ทนายจำเลยไม่ได้ดำเนินการดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่อยู่ในวิสัยที่พอจะทำได้ อีกทั้งศาลได้มีการตั้งคำถามกับจำเลยว่า ในขณะที่จำเลยพิมพ์ข้อความดังกล่าวนั้น จำเลยมีสติ รู้ตัว หรือรับรู้ในสิ่งที่ทำลงไปหรือไม่

    ต่อมาเวลาประมาณ 11.20 น. ศาลได้ถามถึงแนวทางการต่อสู้คดีใหม่ โดยอนุญาตให้จำเลย และครอบครัว พร้อมทนายความปรึกษากันอยู่ครู่หนึ่ง ในที่สุดทางฝ่ายจำเลยได้แถลงว่า เนื่องจากตนเป็นผู้โพสต์แสดงความคิดเห็นดังกล่าวจริง จึงจะขอให้การรับสารภาพตามที่อัยการโจทก์ฟ้อง ด้านอัยการโจทก์แถลงไม่ติดใจสืบพยานอีก

    ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า สมควรให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลย เพื่อให้ทราบประวัติส่วนตัว ประวัติกระทำผิด และข้อมูลอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ในการพิจารณาคดี และรายงานให้ศาลทราบภายใน 30 วัน ก่อนนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 31 พ.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

    ทั้งนี้ คดีของปุญญพัฒน์ นับเป็นหนึ่งในคดีมาตรา 112 ของ สภ.บางแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมีไม่น้อยกว่า 13 คดี และนับเป็นหนึ่งในคดีที่มีนายศิวพันธ์ุ มานิตย์กุล เป็นผู้กล่าวหา จากเท่าที่มีข้อมูลจำนวน 9 คดี โดยส่วนใหญ่พบว่า เป็นคดีที่เกิดจากการแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์ในช่วงกลางปี 2563 และตำรวจได้มีการเริ่มออกหมายเรียกมาแจ้งข้อกล่าวหาในช่วงปี 2564 โดยคดีเหล่านี้ ยังทยอยมีกำหนดนัดสืบพยานในชั้นศาลต่อไป

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดสมุทรปราการ คดีหมายเลขดำที่ อ.803/2564 ลงวันที่ 19 เม.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/42648)
  • ศาลเลื่อนนัดอ่านคำพิพากษาไปเป็นวันที่ 20 มิ.ย. 2565 เนื่องจากอธิบดีผู้พิพากษาภาค 1 ยังตรวจคำพิพากษาไม่เสร็จ
  • ที่ห้องพิจารณา 14 เวลา 08.50 น ปุญญพัฒน์ บิดาและมารดาของปุญญพัฒน์ ทนายผู้รับมอบฉันทะและนายประกัน ได้ทยอยมาศาล นอกจากนี้ยังมีผู้สังเกตการณ์จาก iLaw และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมติดตามคดีด้วย

    เวลา 09.40 น. ก่อนจะเริ่มอ่านคำพิพากษา ผู้พิพากษาได้ถามทนายผู้รับมอบฉันทะว่าได้เตรียมเงินประกันตัวจำเลยไว้หรือยัง ทางด้านทนายตอบศาลว่าได้เตรียมไว้พร้อมแล้ว

    ศาลเริ่มอ่านคำบรรยายฟ้องของอัยการโจทก์ ก่อนจะอ่านคำพิพากษาโดยสรุปว่า จำเลยได้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กของจำเลย โพสต์ข้อความลงใน “รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส” ทั้งหมด 4 ข้อความ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับความนิยมของประชาชนที่มีต่อรัชกาลที่ 10 และพระราชินี รวมถึงการพำนักอาศัยของในหลวงรัชกาลที่ 10 ในประเทศเยอรมนี

    ศาลพิเคราะห์ว่า ทุกข้อความของจำเลยเป็นการสื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งมีลักษณะใส่ร้าย ใส่ความและเป็นเท็จ เจตนาจาบจ้วงล่วงเกิน ดูหมิ่น หมิ่นประมาท ทำให้ในหลวงรัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ นอกจากนี้ข้อความของจำเลยประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ จึงถือว่ามีเจตนาทำให้ประชาชนที่อ่านแล้วรู้สึกคล้อยตามและดูหมิ่นเกลียดชังในหลวงรัชกาลที่ 10

    พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ให้ลงโทษทุกกระทงความผิด รวม 4 กระทง จำคุกกระทงละ 3 ปี รวมจำคุก 12 ปี

    อย่างไรก็ตาม จำเลยให้การรับสารภาพ จึงมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้เหลือจำคุก 4 ปี 24 เดือน (หรือประมาณ 6 ปี) โดยไม่รอลงอาญา พิเคราะห์จากรายงานการสืบเสาะและพินิจแล้ว กรณียังไม่มีเหตุให้บรรเทาโทษ

    หลังฟังคำพิพากษาเสร็จสิ้นแล้ว ตำรวจศาลได้ใส่กุญแจมือปุญญพัฒน์ และพาเขาลงไปรอที่ห้องเวรชี้ ขณะที่ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ต่อไป โดยใช้หลักทรัพย์ประกันเดิมจำนวน 150,000 บาท และเพิ่มหลักทรัพย์อีก 75,000 บาท รวมทั้งหมด 225,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์

    ทั้งนี้ ในเหตุผลขอปล่อยตัวชั่วคราวระบุโดยสุรปว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นเคยอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างพิจารณาแล้ว และจำเลยไม่เคยทำผิดสัญญาประกันแต่อย่างใด ไม่เคยคิดหลบหนี หรือจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น ที่สำคัญจำเลยเป็นผู้มีความผิดปกติทางสมอง มีพัฒนาการทางสมองช้าและสมาธิสั้นมาตั้งแต่เด็ก หากไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะกระทบต่อสิทธิการรักษาของจำเลย ทำให้จำเลยได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง

    ต่อมา เวลา 14.20 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใด

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลจังหวัดสมุทรปราการ คดีหมายเลขดำที่ อ.803/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.752/2565 ลงวันที่ 20 มิ.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/44974)
  • ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 19 ศาลจังหวัดสมุทรปราการ ปุญญพัฒน์พร้อมด้วยบิดามารดา และนายประกันจากกองทุนราษฎรประสงค์ ได้เดินทางมาร่วมฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

    ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีใจความโดยสรุปว่า มาตรา 112 เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เนื่องจากประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การกระทำของจำเลยจึงเป็นเรื่องร้ายแรง และเมื่อพิจารณาจากการสืบเสาะ ผลประเมินความเสี่ยงในการกระทำผิดซํ้า จำเลยมีความเสี่ยงสูงในการกระทำผิดซํ้าในลักษณะเดียวกัน น่าเชื่อว่าเป็นการยากที่จะแก้ไขปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของจำเลย

    ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า กระทำการไปด้วยความพลาดพลั้ง เบาปัญญา ความผิดปกติของสมอง ทนายขอให้ส่งจำเลยไปตรวจอาการทางสมองเพื่อประเมินความสามารถในการต่อสู้คดี ศาลชั้นต้นสอบถามจำเลย จำเลยสามารถตอบคำถามได้ แม้จะมีอาการขาดความจดจ่อในการสนทนาไปบ้าง ทั้งจำเลยแถลงว่ากระทำผิดเนื่องจากความคึกคะนอง ใช้สื่อออนไลน์ไม่ทันยั้งคิด

    ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยสามารถต่อสู้คดีได้ ไม่ได้วิกลจริตถึงขนาดไม่สามารถต่อสู้คดีได้ จึงไม่ส่งจำเลยไปพบเเพทย์ ตามประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาอาญา มาตรา 14 และหากจำเลยมีความบกพร่องทางสมองหรือจิตตามที่กล่าวอ้าง จำเลยไม่น่าใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ โพสต์ข้อความเท็จในกลุ่มเครือข่าย โดยข้อความเป็นการจาบจ้วงและละเมิดเบื้องสูง

    แม้จำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนหรือมีเหตุตามอุทธรณ์หรือไม่ก็ตาม กรณีนี้ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะรอการลงโทษ อุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน (จำคุก 4 ปี 24 เดือน)

    เวลา 10.00 น. ปุญญพัฒน์ ได้ถูกควบคุมตัวไปที่ห้องขังใต้ถุนศาล นายประกันได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยทันที

    ก่อนศาลจังหวัดสมุทรปราการมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างฎีกา โดยให้วางหลักทรัพย์เพิ่มเป็นจำนวนเงิน 25,000 บาท รวมหลักทรัพย์ประกันตัวในชั้นฎีกา 250,000 บาท

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/64265)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ปุญญพัฒน์ (นามสมมติ)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ปุญญพัฒน์ (นามสมมติ)

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. จุฑาวรรณ สุทธิรัตน์
  2. สุรเดช บินรามัน

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 20-06-2022

ศาลอุทธรณ์

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ปุญญพัฒน์ (นามสมมติ)

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 30-01-2024

ศาลฎีกา

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ปุญญพัฒน์ (นามสมมติ)

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์