สรุปความสำคัญ

“บัสบาส” มงคล ถิระโคตร นักกิจกรรมชาวเชียงรายวัย 27 ปี ซึ่งประกอบอาชีพค้าขายเสื้อผ้าออนไลน์ ถูกจับกุมตามหมายจับของศาลจังหวัดเชียงราย และถูกดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เป็นคดีที่ 2 จากการโพสต์ข้อความและภาพในเฟซบุ๊กส่วนตัวจำนวน 2 โพสต์ เมื่อวันที่ 8 และ 9 เม.ย. 2564 โดยถูกกล่าวหาว่า มีเจตนาทำลายสถาบันกษัตริย์

มงคลถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ในคดีนี้ภายหลังถูกจับกุมและดำเนินคดีในข้อหาเดียวกันนี้คดีแรกเพียง 1 เดือนกว่า และหลังจากคดีนี้เขายังถูกดำเนินคดีอีก 1 คดี จากการโพสต์และแชร์ข้อความในเฟซบุ๊กเช่นเดียวกันนี้ ทำให้เขาอาจจะต้องเผชิญกับโทษจำคุกนับสิบปี

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกนำไปบังคับใช้โดยตีความอย่างกว้างขวางเกินกว่าเจตนารมณ์ของกฎหมาย ทำให้กระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกโดยสงบของประชาชน

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • มงคล ถิระโคตร
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

1 พ.ค. 2564 เวลาประมาณ 13.30 น. “บัสบาส” มงคล ถิระโคตร ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมจากบ้านพักในอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ตามหมายจับในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก่อนถูกนำตัวไปยัง สภ.เมืองเชียงราย

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 14 เม.ย. 2564 มงคลเคยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม ขณะนั่งอดอาหารประท้วงที่หน้าศาลอาญา เพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวแกนนำราษฎร โดยเขาถูกพนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงราย ดำเนินคดีใน 2 ข้อหาเช่นเดียวกันนี้ จากการแชร์และโพสต์ข้อความ รวมทั้งคลิปจำนวน 25 โพสต์ ในช่วงระหว่างวันที่ 2-11 มี.ค. 2564

ในการจับกุมครั้งนี้ ตำรวจได้แสดงหมายจับของศาลจังหวัดเชียงราย ลงวันที่ 30 เม.ย. 2564 มี พ.ต.อ.โสภณ ม่วงเฟื่อง ผู้กำกับ สภ.เมืองเชียงราย เป็นผู้ขอศาลออกหมายจับ นอกจากนั้นยังได้นำหมายค้นออกโดยศาลจังหวัดเชียงราย ลงวันที่ 1 พ.ค. 2564 เข้าตรวจค้นบ้านพักของมงคล

บันทึกการจับกุมระบุว่า มี พ.ต.อ.โสภณ ม่วงเฟื่อง ผู้กำกับ สภ.เมืองเชียงราย และคณะ รวม 5 นาย เป็นผู้อำนวยการจับกุม และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.เมืองเชียงราย นำโดย พ.ต.ท.เกรียงศักดิ์ มณีจันสุข, เจ้าหน้าที่กองกำกับการสืบสวนภูธรจังหวัดเชียงราย นำโดย พ.ต.ต.ปราโมทย์ บุญตันบุตร และตำรวจ สภ.พาน รวมทั้งสิ้น 24 นาย เป็นผู้ทำการจับกุม

ทั้งนี้บันทึกจับกุมยังระบุในลักษณะเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมได้เดินทางติดตามบุคคลตามหมายจับ ซึ่งหลบหนีการจับกุมมาอาศัยอยู่ในบ้านพักดังกล่าว ทั้งที่มงคลไม่ได้หลบหนีการจับกุมแต่อย่างใด แต่อาศัยอยู่ที่บ้านพักอยู่แล้ว

จากนั้น มงคลได้ถูกคุมตัวจากอำเภอพาน มายัง สภ.เมืองเชียงราย โดยพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีแจ้งว่าจะสอบสวนเขาในวันรุ่งขึ้น

2 พ.ค. 2564 พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง และเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)(5) จากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กจำนวน 2 โพสต์ ระหว่างวันที่ 8-9 เม.ย. 2564 ซึ่งเป็นเฟซบุ๊กเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาในคดีแรกก่อนหน้านี้

ทนายความได้โต้แย้งว่า พนักงานสอบสวนควรจะออกหมายเรียกผู้ต้องหามาแจ้งพฤติการณ์เพิ่มเติมในคดีเดิม ไม่ใช่การตั้งสำนวนคดีใหม่ เพราะพยานหลักฐานต่างๆ ก็สามารถดำเนินการเป็นคดีเดียวกันได้

มงคลได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะขอให้การในชั้นศาลต่อไป ทั้งนี้ ในระหว่างการสอบสวน พนักงานสอบสวนยังแจ้งขอรหัสเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์มือถือของผู้ต้องหา ซึ่งตำรวจได้ตรวจยึดไปตั้งแต่การจับกุมในคดีแรกแล้ว แต่มงคลปฏิเสธการให้รหัสเข้าถึงข้อมูล และได้ขอให้บันทึกข้อโต้แย้งเรื่องการที่เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการแจ้งข้อหาเพิ่มเติมในคดีเดิมได้ ไม่จำเป็นต้องออกขอศาลออกหมายจับในคดีใหม่ ไว้ในบันทึกคำให้การของตนด้วย

หลังการสอบปากคำ ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวชั้นสอบสวน โดยอ้างถึงคดีเดิมที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว และเสนอเงินประกันเท่ากับที่ศาลกำหนดคือ 150,000 บาท แต่ผู้กำกับ สภ.เมืองเชียงราย มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวเช่นเดิม และจะนำตัวมงคลไปขออำนาจศาลจังหวัดเชียงรายฝากขังในวันที่ 3 พ.ค. 2564 ทำให้มงคลถูกควบคุมตัวไว้ที่ สภ.เมืองเชียงรายต่ออีก 1 คืน

3 พ.ค. 2564 พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังมงคล และคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหา โดยระบุว่าเนื่องจากผู้ต้องหานี้ก่อเหตุในลักษณะเดียวกันหลายครั้ง และคดีมีอัตราโทษสูง หากปล่อยตัวไปเกรงผู้ต้องหาจะหลบหนี และไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุร้ายประการอื่น

ต่อมา ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังระหว่างสอบสวน แต่ให้ประกันตัวในวงเงิน 150,000 บาท และกำหนดเงื่อนไขห้ามมิให้ผู้ต้องหาก่ออันตรายประการอื่น

(อ้างอิง: บันทึกการจับกุม สภ.เมืองเชียงราย ลงวันที่ 1 พ.ค. 2464 และ https://tlhr2014.com/archives/29102)

ภูมิหลัง

  • มงคล ถิระโคตร
    นักกิจกรรมจังหวัดเชียงราย ไม่สังกัดกลุ่มกิจกรรมใด แสดงออกทางการเมืองผ่านทางเฟซบุ๊คตั้งแต่ปี 2553

    อ่านเพิ่มเติม https://tlhr2014.com/archives/51613

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์