สรุปความสำคัญ

ธนกร (สงวนนามสกุล) ประชาชนวัย 25 ปี ถูกดำเนินคดีในข้อหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการติดป้ายข้อความที่รถระหว่างร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบ “ด่วนนครพิงค์ เจียงใหม่ไล่ขึดประยุทธ์” เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 ที่จังหวัดเชียงใหม่

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความอย่างกว้าง ซึ่งขัดต่อหลักกฎหมายอาญาที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัด ส่งผลกระทบต่อการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนอย่างกว้างขวาง

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • ธนกร (สงวนนามสกุล)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • เสรีภาพในการชุมนุม
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

16 ส.ค. 2564 เวลา 10.30 น. ที่ สภ.ช้างเผือก จังหวัดเชียงใหม่ ธนกร (สงวนนามสกุล) อายุ 25 ปี ศิษย์เก่าของคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกในข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” กับ พ.ต.ต.ภัทรภพ ถนอมกุลกาญจน์ สารวัตร (สอบสวน) สภ.ช้างเผือก พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี เหตุจากการแสดงออกในคาร์ม็อบ “ด่วนนครพิงค์ เจียงใหม่ไล่ขึดประยุทธ์” เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564

ก่อนหน้านี้ธนกรได้รับหมายเรียกของ สภ.ช้างเผือก ลงวันที่ 4 ส.ค. 2564 ระบุว่าคดีมี พ.ต.ท.ณัฐพล เอกฉันท์ เป็นผู้กล่าวหา ธนกรพร้อมทนายความจึงได้ประสานงานกับพนักงานสอบสวนเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา

บรรยากาศก่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำกำลังทั้งในและนอกเครื่องแบบราว 60 นาย ตั้งจุดสกัดรอบ สภ.ช้างเผือก พร้อมกับการนำแผงเหล็กกั้นมาวางล้อมทางเข้าออกของสถานีตำรวจไว้ มีนักกิจกรรมและประชาชนที่ทราบข่าวราว 20 คน เดินทางมาให้กำลังใจ โดยมีการชูแผ่นป้ายข้อความ “#ยกเลิก112” ,“นศ.โปรดอย่านิ่งเฉย”, “นศ.และประชาชนต้องมีเสรีภาพในการแสดงออก”, “ขอยืนยันว่าการเรียกร้องให้ยกเลิก112ไม่ผิด” เป็นต้น

ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจอนุญาตให้ทนายความ ผู้ต้องหา ผู้ที่ผู้ต้องหาไว้วางใจบางส่วน รวมทั้งผู้สื่อข่าวราว 10 ราย ผ่านรั้วเหล็กเข้าไปยังจุดตรวจวัดอุณหภูมิและล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ภายในสถานีตำรวจได้ ทำให้ประชาชนราว 20 คน ที่เดินทางมาให้กำลังใจธนกรต้องรออยู่ด้านนอกสถานีตำรวจ

เมื่อธนกร ทนายความ และผู้ไว้วางใจ เข้าไปถึงห้องประชุมชั้น 3 ก็ได้พบกับพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี และ พ.ต.อ.กิตติพงษ์ เพ็ชรมุณี ผู้กำกับการ สภ.ช้างเผือก ที่ร่วมฟังการสอบสวน ก่อนเริ่มการแจ้งข้อกล่าวหาตำรวจได้ขอความร่วมมือกับตัวแทนนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวน 3 คน ไม่ให้ใช้โทรศัพท์มือถือทำการถ่ายภาพและเสียงระหว่างการสอบสวน อีกทั้งไม่ให้ใช้งานมือถือในการโพสต์ข้อความผ่านสื่อออนไลน์ขณะร่วมรับฟังการสอบสวนอีกด้วย

จากนั้นพนักงานสอบสวนจึงได้เริ่มแจ้งข้อกล่าวหา มีเนื้อหาโดยสรุปว่า จากการสืบสวนของ พ.ต.ท.ณัฐพล เอกฉันท์ สารวัตรสืบสวน สภ.ช้างเผือก ทราบว่า เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 ได้มีกิจกรรม “ด่วนนครพิงค์ เจียงใหม่ไล่ขึดประยุทธ์” (CARMOB) เชิญชวนประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมโดยใช้ยานพาหนะในการเข้าร่วมกิจกรรมขับขี่รอบเมือง และเคลื่อนขบวนไปสิ้นสุดที่อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ในวันที่มีการชุมนุมดังกล่าวนั้น เจ้าหน้าที่ตํารวจสันติบาลซึ่งเดินทางมาปฏิบัติหน้าที่ได้ถ่ายภาพรถยนต์คันหนึ่งไว้ได้ ซึ่งรถคันดังกล่าวได้จอดรอเข้าร่วมกิจกรรมอยู่ มีการนำผ้าและกระดาษมาเขียนข้อความติดที่รถ แล้วขับขี่รถยนต์คันดังกล่าวไปตามถนน เพื่อร่วมกิจกรรมบริเวณอนุสาวรีย์สามกษัตริย์

ผู้กล่าวหาเห็นว่าการกระทําดังกล่าวนั้น เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระบาทสมเด็จพระพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน โดยประการที่น่าจะทําให้ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง และมีผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ การกระทําดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ เพราะพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลักของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองและคุ้มครองไว้ เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อการรักษาความมั่นคงของรัฐ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ผู้กล่าวหาจึงได้รวบรวมพยานหลักฐานเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ

พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อหา หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ธนกรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยได้ลงชื่อในบันทึกข้อกล่าวหาด้วยข้อความว่า “ประชาชน คนดี” และขอให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายในวันที่ 15 ก.ย. 2564 ก่อนจะถูกนำตัวไปพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรรม

ขณะเดียวกันมารดาของธนกรได้ถูกพนักงานสอบสวนเรียกมาสอบปากคำในฐานะพยาน เนื่องจากมีชื่อเป็นเจ้าของรถยนต์คันดังกล่าว และได้ถูกสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับรถยนต์คันดังกล่าว รวมทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับลูกชาย

จากนั้นพนักงานสอบสวนอธิบายว่าผู้ต้องหาได้เดินมาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก จึงไม่มีเหตุต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ หลังกระบวนการทุกอย่างเสร็จสิ้นแล้วจึงปล่อยตัวผู้ต้องหาเดินทางกลับได้

(อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา สภ.ช้างเผือก ลงวันที่ 16 ส.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/33498)

ภูมิหลัง

  • ธนกร (สงวนนามสกุล)
    ศิษย์เก่าคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์