ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • twitter
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.683/2565
แดง อ.3739/2566

ผู้กล่าวหา
  • มณีรัตน์ เลาวเลิศ (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • twitter
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.683/2565
แดง อ.3739/2566
ผู้กล่าวหา
  • มณีรัตน์ เลาวเลิศ

ความสำคัญของคดี

“ไอซ์” รักชนก ศรีนอก สมาชิกกลุ่ม “คลับเฮ้าส์เพื่อประชาธิปไตย” วัย 27 ปี ถูกดำเนินคดีในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หลังมณีรัตน์ เลาวเลิศ ประชาชนชาวจังหวัดสมุทรสาคร เข้าแจ้งความที่ บก.ปอท.ให้ดำเนินคดีผู้ใช้ทวิตเตอร์บัญชีชื่อ "ไอซ์" ซึ่งทวิตข้อความวิจารณ์รัฐบาลเรื่องการผูกขาดวัคซีนโควิด-19 พร้อมติดแท็ก #28กรกฎาร่วมใจใส่ชุดดํา และรีทวีตข้อความพร้อมภาพถ่ายป้ายข้อความในการชุมนุม #16ตุลาไปแยกปทุมวัน ปี 2563 ซึ่งแสดงความไม่พอใจต่อกษัตริย์

เป็นอีกกรณีที่สะท้อนปัญหาของมาตรา 112 ที่เปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ทำให้กระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

พ.ต.ท.ธงชัย อิทธินิติกุล พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 บรรยายฟ้องมีใจความว่า

ขณะเกิดเหตุ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัชกาลที่ 10 เป็นกษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ โดยจำเลยได้ทำผิดรวม 2 กรรม กล่าวคือ

1. เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2564 จำเลยได้ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่ 10 โดยการทวิตข้อความในบัญชีทวิตเตอร์ของจำเลย กล่าวพาดพิงว่า รัฐบาลพยายามผูกขาดการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับสถาบันกษัตริย์ เป็นการเล่นการเมืองบนวิกฤตชีวิตประชาชน ผลสุดท้ายคนที่ได้รับผลกระทบก็คือประชาชน โดยมีแฮชแท็ก #28กรกฎาร่วมใจใส่ชุดดำ

ในโพสต์ดังกล่าวยังมีการแนบรูปภาพของรัชกาลที่ 10 ประกอบข้อความ “ทรราช (คำนาม) TYRANT ; ผู้ปกครองที่ใช้อำนาจสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ที่อยู่ใต้การปกครอง" ทำให้เข้าใจความหมายได้ว่า รัชกาลที่ 10 เป็นผู้ปกครองบ้านเมืองที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน อันเป็นการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง

2. ระหว่างวันที่ 18 ก.ค. – 9 ส.ค. 2564 จำเลยได้ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่ 10 โดยการรีทวิตข้อความจากบัญชีทวิตเตอร์อื่น มีเนื้อหาระบุว่า ประชาชนจะไม่เป็นไทจนกว่าจะกำจัดกลุ่มศักดินาได้ ซึ่งทวิตประกอบกับข้อความจากบัญชีทวิตเตอร์ชื่อ นิรนาม มีเนื้อหาคล้ายกัน พร้อมแฮชแท็ก #ม็อบ16ตุลา #16ตุลาไปแยกปทุมวัน ทำให้เข้าใจความหมายได้ว่า เป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายไม่เคารพสักการะรัชกาลที่ 10 อันเป็นการเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.683/2565 ลงวันที่ 23 มี.ค. 2565)

ความคืบหน้าของคดี

  • รักชนก ศรีนอก สมาชิกกลุ่ม “คลับเฮ้าส์เพื่อประชาธิปไตย” เดินทางไปที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ตามหมายเรียก ซึ่งระบุว่าผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีนี้ คือ “มณีรัตน์ เลาวเลิศ”

    คณะพนักงานสอบสวน ได้แก่ พ.ต.ท.ณัฐพนธ์ สุวรรณรงค์ สารวัตร (สอบสวน) กก.3 บก.ปอท. และ ร.ต.อ.หญิงณัฐชยา วงศ์รุจิไพโรจน์ รองสารวัตร (สอบสวน) กก.3 บก.ปอท. แจ้งพฤติการณ์ที่กล่าวหาในคดี มีเนื้อความโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 ผู้กล่าวหาได้มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดําเนินคดีกับผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์ชื่อ “ไอซ์” หรือ @nanaicez กรณีพบบัญชีทวิตเตอร์ดังกล่าวโพสต์ข้อความและรูปภาพ จํานวน 2 โพสต์ ซึ่งผู้กล่าวหาเห็นว่าเข้าข่าย “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ดังนี้

    1. เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2564 เวลาประมาณ 00.44 น. “ไอซ์” ได้โพสต์ข้อความว่า “พูดตรงๆนะ ที่พวกเราต้องมาเจอวิกฤตวัคซีนแบบทุกวันนี้ เริ่มต้นก็เพราะรัฐบาลผูกขาดวัคซีนเพื่อหาซีนให้เจ้า สร้างวาทะกรรมของขวัญจากพ่อต่างๆ เล่นการเมืองบนวิกฤตชีวิตของประชาชน ผลสุดท้ายคนที่ซวยที่สุดคือประชาชน #28กรกฎาร่วมใจใส่ชุดดํา” ประกอบรูปภาพป้ายที่มีมือยื่นถือป้ายข้อความเทียบเคียงซุ้มเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 10 ข้อความว่า “ทรราช (คํานาม) TYRANT ; ผู้ปกครองบ้านเมืองที่ใช้อํานาจสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ที่อยู่ใต้การปกครอง”
    2. เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564 เวลาประมาณ 19.58 น. “ไอซ์” รีทวีตข้อความจากบัญชีทวิตเตอร์หนึ่ง มีเนื้อความสื่อถึงความไม่พอใจต่อกษัตริย์ โดยบัญชีทวิตเตอร์ดังกล่าวนั้นได้รีทวิตพร้อมโค้ดข้อความของผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์อีกรายหนึ่ง ใช้ชื่อ “นิรนาม” ซึ่งทวิตข้อความ พร้อมภาพถ่ายป้ายข้อความที่มีใจความเช่นเดียวกัน ซึ่งสื่อถึงความไม่พอใจต่อกษัตริย์ ตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. 2563

    จากการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่น่าเชื่อว่า ผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์ชื่อ “ไอซ์” คือ รักชนก จึงแจ้งข้อกล่าวหาดังนี้

    โพสต์ที่ 1 เข้าข่ายความผิดฐาน “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ “นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงฯ” ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)
    โพสต์ที่ 2 เข้าข่ายความผิดฐาน “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” และ “เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงฯ” ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(5)

    ชั้นสอบสวน รักชนกให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยจะให้การเป็นหนังสือภายในวันที่ 29 ต.ค. 2564 หลังเสร็จกระบวนการ พนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวรักชนกไป เนื่องจากได้มาปรากฏตัวต่อหน้าพนักงานสอบสวนตามนัดหมาย มิได้มีพฤติการณ์หลบหนี พนักงานสอบสวนจึงไม่มีเหตุให้ควบคุมตัว

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา กก.3 บก.ปอท. ลงวันที่ 29 ก.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/35828)
  • รักชนกเดินทางไปตามที่พนักงานสอบสวนมีหมายเรียกเพื่อส่งตัวพร้อมสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 อัยการนัดฟังคำสั่งในวันที่ 25 ม.ค. 2565
  • อัยการยังไม่มีคำสั่ง เลื่อนนัดไปเป็นวันที่ 23 ก.พ. 2565
  • อัยการยังไม่มีคำสั่ง เลื่อนนัดไปเป็นวันที่ 23 มี.ค. 2565
  • รักชนกเดินทางไปฟังคำสั่งอัยการที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 ตามนัด พนักงานอัยการได้มีคำสั่งฟ้อง ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 และให้รักชนกไปที่ศาลอาญาเพื่อยื่นฟ้อง

    หลังศาลรับฟ้อง ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพิจารณา ต่อมา ศาลมีคำสั่งอนุญาต กำหนดหลักทรัพย์ประกันเป็นเงิน 100,000 บาท โดยใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ ทั้งมีเงื่อนไขห้ามจำเลยกระทำการหรือเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ในลักษณะทำนองเดียวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหา และให้มารายงานตัวต่อศาลทุก 30 วัน จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ศาลยังได้กำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 25 เม.ย. 2565 เวลา 13.30 น.

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.683/2565 ลงวันที่ 23 มี.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/41867)
  • นัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยในวันที่ 23-24 มี.ค. 2566
  • สืบพยานโจทก์ได้ 2 ปาก
  • สืบพยานโจทก์ปากพนักงานสอบสวน 1 ปาก และพยานจำเลยคือจำเลย 1 ปาก เลื่อนไปสืบพยานจำเลยอีก 1 ปาก ในวันที่ 12 มิ.ย. 2566
  • สืบพยานจำเลยปากพยานผู้เชี่ยวชาญ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 1 ปาก ทนายจำเลยแถลงหมดพยาน

    พร้อมกันนี้ทนายจําเลยได้ยื่นคําร้องขอให้ศาลส่งคําร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 ไม่มีสภาพเป็นกฎหมายหรือขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 4, 26 และ 34 หรือไม่ และรอการพิพากษาไว้ชั่วคราว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212

    ศาลเห็นว่า เป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เคยมีคําวินิจฉัย จึงมีคำสั่งให้ส่งความเห็นหรือคําโต้แย้งของจําเลยไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และรอการพิพากษาคดีนี้ไว้ชั่วคราว นัดฟังคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและนัดฟังคําพิพากษาในวันที่ 2 ตุลาคม 2566 เวลา 13.30 น.

    ทั้งนี้ คำร้องที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัยว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่ แสดงเหตุผลข้อกฎหมาย ดังต่อไปนี้

    1. เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 คือ ป้องกันและปราบปรามการหลอกลวงผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ ดังนั้น การกระทําความผิดตามมาตรานี้ จึงเป็นเรื่องการใช้เทคโนโลยีกระทําความผิด มิใช่การเอาผิดต่อการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์

    ต่อมาในปี 2560 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 โดยเพิ่มเนื้อหาของกฎหมายเพื่อเอาผิดบุคคลในเชิงเนื้อหาในหลายประเด็น อันเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติดังกล่าว ทั้งนี้ ตัวบทกฎหมายที่แก้ใหม่นั้นได้มีการเพิ่มบทลงโทษและใช้ถ้อยคําที่มีความคลุมเครือ ไม่มีความชัดเจน เปิดช่องให้มีการตีความอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตีความโดยขยายฐานความผิดอันเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นของประชาชน เปิดช่องให้มีการใช้ดําเนินคดีจํากัดการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการแสดงออกในลักษณะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล หรือการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง อันกระทบกระเทือนต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นซึ่งเป็นหลักพื้นฐานในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

    ถ้อยคําที่บัญญัติในกฎหมายที่ไม่ชัดเจนเช่นนี้ยังขัดกับหลักการบัญญัติกฎหมายซึ่งมีโทษทางอาญา กระทบกระเทือนต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขัดต่อหลักนิติธรรมและกระทบกระเทือนต่อสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นหัวใจของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 26 และมาตรา 34 บทกฎหมายเช่นว่านั้นจึงไม่อาจมีสภาพบังคับเป็นกฎหมายได้

    2. การที่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2560) มาตรา 14 (3) บัญญัติเพียงว่า การนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา เป็นความผิดเด็ดขาดโดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้ที่ตกเป็นจําเลยสามารถพิสูจน์ความจริง ไม่มีบทยกเว้นโทษหรือยกเว้นความผิดในข้อหา “หมิ่นประมาท” เหมือนที่บัญญัติไว้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 ซึ่งบัญญัติว่า หากการแสดงความคิดเห็นนั้นกระทําไปโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามครรลอง หรือในฐานะเจ้าพนักงานปฏิบัติตามหน้าที่ หรือติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชน หรือการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรม การกระทํานั้นย่อมไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท บทบัญญัติมาตรา 14 (3) ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จึงเป็นบทกฎหมายที่จํากัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจนเกินสมควรขัดกับหลักนิติธรรมและขัดกับหลักการในระบบประชาธิปไตย บทบัญญัติดังกล่าวย่อมไม่มีสภาพเป็นกฎหมาย และหรือ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 4, มาตรา 26 และมาตรา 34 จึงไม่สามารถใช้บังคับในอรรถคดีใด ๆ ได้

    3. รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 34 บัญญัติรับรองว่าบุคคลมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (Freedom of Expression) โดยเสรีภาพดังกล่าวมีความจําเป็นยิ่งยวดสําหรับสังคม โดยถือเป็นฐานรากสําคัญของสังคมประชาธิปไตยทุกสังคม รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการปกครอง กิจการของรัฐ ของประชาชน ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอีกด้วย โดยเมื่อเสรีภาพดังกล่าวถูกรับรองไว้โดยรัฐธรรมนูญอันมีสถานะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ องค์กรของรัฐทุกระดับย่อมมีหน้าที่ที่จะผูกพันโดยตรงต่อสิทธิดังกล่าวตามมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ในการใช้อํานาจไม่ว่าจะเป็นตรากฎเกณฑ์ที่มีลักษณะนามธรรมและบังคับใช้กับบุคคลทั่วไป หรือออกคําสั่งที่มีลักษณะรูปธรรมและบังคับใช้เฉพาะกรณี ให้สอดคล้องกับเงื่อนไขทางรูปแบบของรัฐธรรมนูญและไม่ขัดหรือแย้งต่อสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวตามมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.683/2565 และคำร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 12 มิ.ย. 2566)
  • ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี เนื่องจากจำเลยอยู่ในสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร ประกอบกับศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำวินิจฉัยคำร้องที่จำเลยยื่น ศาลจึงให้เลื่อนนัดฟังคำพิพากษาไปเป็นวันที่ 13 ธ.ค. 2566 เวลา 09.00 น.
  • ศาลรัฐธรรมนูญออกเอกสารคำวินิจฉัยกรณี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 26 และ 34 หรือไม่

    โดยหลังศาลอาญาส่งคําโต้แย้งของรักชนก ศรีนอก ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.683/2565 เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย
    ต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง

    กําหนดประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) (2) และ (3) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และ มาตรา 34 วรรคหนึ่ง หรือไม่

    ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) (2) และ (3) ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา26 และมาตรา 34 วรรคหนึ่ง

    (อ้างอิง: https://www.thairath.co.th/news/politic/2744312)
  • เวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 808 รักชนกเดินทางมาฟังคำพิพากษา พร้อม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล, ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล และคณะ สส. จากพรรคก้าวไกล นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากสถานทูตอังกฤษ ผู้สังเกตการณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชน และประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมสังเกตการณ์

    เวลา 09.30 น. ศาลออกนั่งพิจารณาคดีและเรียกให้รักชนกเข้าไปนั่งในคอกพยาน ก่อนอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ มีรายละเอียดดังนี้

    คดีนี้ โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14

    ศาลวิเคราะห์พยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายแล้ว เห็นว่าจำเลยมีข้อต่อสู้ว่า ภาพและข้อความตามฟ้องเป็นการใส่ร้ายจากบุคคลที่เห็นต่างทางการเมือง หากตนโพสต์ภาพและข้อความตามฟ้องย่อมต้องถูกดำเนินคดีอย่างแน่นอน เพราะมีบุคคลที่จ้องจะเล่นงานอยู่ ตนจึงไม่มีทางโพสต์ภาพและข้อความตามฟ้อง

    พยานโจทก์ มณีรัตน์ เลาวเลิศ ผู้กล่าวหา เบิกความว่า ตนเห็นว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความ โดยบัญชีทวิตเตอร์ดังกล่าวมีภาพและชื่อของจำเลย เมื่อพิจารณาความน่าเชื่อถือของพยานโจทก์ปากมณีรัตน์ เห็นว่าไม่รู้จักหรือมีสาเหตุบาดหมางกับจำเลยมาก่อน ไม่พบว่าทำงานทางการเมือง การที่มณีรัตน์นำภาพและข้อความมาแจ้งความกล่าวหาให้ดำเนินคดีกับจำเลยนับว่าเป็นการทำหน้าที่ของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงเชื่อว่ามณีรัตน์เบิกความตามสิ่งที่พบเห็น ข้ออ้างของจำเลยในส่วนนี้จึงไม่น่าเชื่อถือ

    ในข้อต่อสู้ของจำเลย มีพยานจำเลยปาก ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ เบิกความว่า พนักงานสอบสวนไม่ได้ตรวจสอบ URL และ IP Address ของโพสต์ทั้งสองว่า เป็นบัญชีของจำเลย และไม่ได้ให้จำเลยส่งมอบโทรศัพท์เพื่อตรวจสอบนั้น เห็นว่าพนักงานสอบสวนเปิดให้จำเลยแก้ข้อกล่าวหาอันเป็นประโยชน์และรวบรวมพยานหลักฐานเท่าที่ทำได้ เพื่อพิสูจน์ทั้งความบริสุทธิ์และความผิดของจำเลย

    แต่พยานโจทก์ปาก ร.ต.อ.หญิง ณัฐชยา วงศ์รุจิไพโรจน์ ผู้สอบปากคำจำเลย เบิกความว่า จำเลยให้การปฏิเสธแต่ไม่ได้ให้การโดยละเอียด พนักงานสอบสวนสอบถามถึงการกระทำโดยละเอียดว่าจำเลยเป็นผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์และเผยแพร่ข้อความดังกล่าวหรือไม่ จำเลยให้การว่า “ขอไม่ให้การ” และเมื่อพนักงานสอบสวนถามถึงโทรศัพท์ของจำเลย จำเลยให้การว่า “ไม่ได้เอามา”

    เห็นว่า จำเลยถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดร้ายแรงเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ หากมีการตัดต่อภาพเพื่อใส่ร้าย จำเลยย่อมต้องแจ้งต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้สอบสวนต่อไป รวมทั้งมิได้ขวนขวายที่จะขอส่งมอบโทรศัพท์ของตนให้พนักงานสอบสวนทำการตรวจสอบข้อมูล ทั้งที่เป็นการไม่ยากที่จะกลับไปเอาหรือส่งมอบให้ภายหลังในระยะเวลาอันสมควร การกระทำของจำเลยจึงผิดวิสัย

    เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า พนักงานสอบสวนรวบรวม URL ของโพสต์ทั้งหมดและพิจารณาแล้วว่าพยานหลักฐานเพียงพอ และได้แจ้งข้อความและบัญชีทวิตเตอร์ทั้งหมดให้กับจำเลยแล้ว แม้จะไม่ได้พิมพ์ URL มาก็เชื่อได้ว่ามีข้อความดังกล่าวอยู่จริง

    ไม่มีเหตุใดให้เชื่อว่าพนักงานสอบสวนและผู้กล่าวหาจะร่วมกันจัดแต่ง URL ขึ้นมาเองเพื่อเอาผิดจำเลย ประกอบกับจำเลยไม่ได้ให้การทักท้วงหรือปฏิเสธความมีอยู่หรือความถูกต้องของ URL ในชั้นสอบสวนซึ่งเป็นเวลากระชั้นชิดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อันเป็นระยะเวลาที่เชื่อว่าจำเลยไม่อาจคิดหาหนทางบิดเบือนข้อเท็จจริงได้เช่นข้อต่อสู้ในชั้นพิจารณา ซึ่งเป็นระยะเวลาห่างจากที่จำเลยให้การในชั้นสอบสวนประมาณ 1 ปี 6 เดือน ข้อต่อสู้ของจำเลยในชั้นพิจารณาจึงมีน้ำหนักน้อย

    จำเลยเคยแถลงต่อศาลว่า ไม่ใช่เจ้าของบัญชี แต่ภายหลังจากสืบพยานปากพนักงานสอบสวน จำเลยเบิกความรับว่า บัญชีทั้ง 3 เป็นของตน ไม่สอดคล้องกับแนวทางการต่อสู้ เป็นพิรุธ ประกอบกับพฤติกรรมของจำเลยซึ่งไม่นำพาหรือขวนขวายที่จะให้การหรือแสดงหลักฐานใดเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ของตนในชั้นสอบสวน อันเป็นการผิดวิสัยของบุคคลทั่วไปในฐานะปวงชนชาวไทยซึ่งต้องเคารพและไม่ละเมิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ เชื่อว่าจำเลยโพสต์หรือรีทวีตภาพและข้อความดังกล่าวตามฟ้อง ซึ่งมีเนื้อหาเป็นการกล่าวร้ายและอาฆาตมาดร้ายต่อพระชนม์ชีพของรัชกาลที่ 10 และราชวงศ์จักรี ซึ่งย่อมหมายถึงพระราชินีด้วย จำเลยจึงมีความผิดต่างกรรมต่างวาระ

    พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิด เนื่องจากเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุด คือ มาตรา 112 จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 6 ปี

    หลังอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น นภาวรรณ ขุนอักษร ผู้พิพากษา ได้กล่าวกับจำเลยว่า เรื่องการสั่งประกันตัวไม่ใช่อำนาจของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน แต่จากการปรึกษากับผู้บริหาร หากจำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนีก็ไม่น่าจะมีปัญหาต่อการประกันตัว

    ต่อมาในเวลาประมาณ 15.46 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่า ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันรักชนกในระหว่างอุทธรณ์ วงเงินประกันจำนวน 500,000 บาท โดยใช้ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ของ ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ตีราคาประกัน 200,000 บาท และเงินสดจำนวน 300,000 บาท โดยมีเงื่อนไขการประกันตัวเช่นเดียวกับเงื่อนไขประกันในระหว่างพิจารณาคดี คือ ห้ามกระทำการหรือร่วมกิจกรรมลักษณะเดียวกันกับการกระทำที่ถูกกล่าวหา หรือมีพฤติการณ์ใดๆ ในลักษณะที่ถูกกล่าวหา

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/62251)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
รักชนก ศรีนอก

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
รักชนก ศรีนอก

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. นภาวรรณ ขุนอักษร

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 13-12-2023

ศาลอุทธรณ์

ผู้ถูกดำเนินคดี :
รักชนก ศรีนอก

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์