ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ ยชอ.198/2564
แดง ยชอ.79/2565

ผู้กล่าวหา
  • อุราพร สุนทรพจน์ (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ ยชอ.198/2564
แดง ยชอ.79/2565
ผู้กล่าวหา
  • อุราพร สุนทรพจน์

ความสำคัญของคดี

"ภัทร" (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 16 ปี นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ถูกดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากกรณีโพสต์ข้อความเกี่ยวกับรัชกาลที่ 9 และภาพธนบัตรที่ตัดต่อภาพพระองค์ทีปังกรฯ มาใส่ ลงในกลุ่มเฟซบุ๊ก “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” เมื่อช่วงเดือน พ.ค. 2563 หลัง อุราพร สุนทรพจน์ เข้าแจ้งความที่ สภ.บางแก้ว จ.สมุทรปราการ

กรณีนี้สะท้อนให้เห็นปัญหาของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ประการหนึ่งที่ประชาชนทั่วไปสามารถแจ้งความได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เสียหาย เป็นการสร้างภาระทางคดีให้กับผู้ถูกกล่าวหา และถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือให้กลุ่มฝ่ายการเมืองต่าง ๆ นำไปใช้กล่าวหากลั่นแกล้งกันไปมาได้ง่าย

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

พนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสมุทรปราการ บรรยายฟ้องมีใจความโดยสรุปว่า

เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2563 จำเลยได้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กของจำเลยโพสต์ข้อความวิจารณ์รัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นพระราชบิดาในรัชกาลปัจจุบัน ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และโพสต์ภาพธนบัตรตัดต่อหน้าพระองค์ทีปังกรฯ รัชทายาทของรัชกาลที่ 10 มาใส่ ซึ่งข้อความและภาพดังกล่าวเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ใส่ร้าย ใส่ความ ดูหมิ่น และหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์ โดยประการ ที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9, รัชกาลที่ 10 และรัชทายาท

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสมุทรปราการ คดีหมายเลขดำที่ ยชอ.198/2564 ลงวันที่ 27 ส.ค. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • ที่ สภ.บางแก้ว จ.สมุทรปราการ "ภัทร" (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 16 ปี นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากจังหวัดหนึ่งในภาคกลาง พร้อมผู้ปกครองและที่ปรึกษากฎหมาย (ทนายความ) เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกในข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

    คดีนี้มี อุราพร สุนทรพจน์ เข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีกับผู้ใช้เฟซบุ๊กซึ่งโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์รัชกาลที่ 9 ในกลุ่มเฟซบุ๊ก “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” ตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2563

    จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าการแจ้งความครั้งนี้ เป็นเหตุสืบเนื่องมาจากการ “ล่าแม่มดออนไลน์” ผู้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์บนโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะในกลุ่มเฟซบุ๊ก “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” ในช่วงเดือน พ.ค. 2563 โดย
    ในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2563 ศูนย์ทนายฯ พบว่า มีประชาชนอย่างน้อย 25 ราย ที่ถูกสอดส่องหรือถูกเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวต่อสาธารณะ นำไปสู่การคุกคามประชาชนบนพื้นที่ออนไลน์และในชีวิตประจำวัน

    ในกรณีของภัทร เขาถูกเพจเฟซบุ๊ก “อึ้งเอี๊ยะซือ เทื้อเอี้ยวเกียv10” ล่าแม่มดในช่วงเดือนเดียวกัน โดยเพจดังกล่าวได้โพสต์บันทึกแจ้งความที่มีชื่อของภัทร รวมไปถึงชื่อของพ่อแม่ และที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน ทำให้ภัทรต้องปิดบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว และสร้างความกังวลให้เขาไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์การเมืองในโซเชียลมีเดียอีก

    ต่อมา เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2563 ตาของภัทรซึ่งอาศัยอยู่ในภาคเหนือแจ้งว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ทราบสังกัดมาหาที่บ้าน และสั่งให้ตาเซ็นเอกสารรับทราบการกระทำผิดของภัทร พร้อมกับถ่ายรูปของตาและบ้านพักไปด้วย เหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความกังวลและความเครียดให้กับภัทรอย่างยิ่ง

    8 เดือนถัดมา พนักงานสอบสวน สภ.บางแก้ว ได้ส่งหมายเรียกผู้ต้องหาลงวันที่ 12 พ.ค. 2564 ไปให้ภัทร และหมายเรียกพยานลงวันที่ 12 พ.ค. 2564 เช่นกัน ไปให้แม่ของภัทร โดยระบุให้เดินทางไปที่ สภ.บางแก้ว ในวันที่ 1 มิ.ย. 2564

    ก่อนรับทราบข้อหา ภัทรมีความกังวลเกี่ยวกับทิศทางคดีและการพบเจอเจ้าหน้าที่ตำรวจจนไม่สามารถรับประทานอาหารได้ตั้งแต่คืนก่อนวันนัดหมาย เมื่อไปถึงที่ สภ.บางแก้ว พนักงานสอบสวนให้ภัทรและครอบครัวนั่งรอเกือบ 1 ชั่วโมง โดยไม่มีการอธิบายสาเหตุของความล่าช้า จนที่ปรึกษากฎหมายต้องสอบถามพนักงานสอบสวน ภัทรจึงถูกนำตัวไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ชั้น 2 ของอาคาร

    ร.ต.อ.กิตติภณ พลเดช รองสารวัตร (สอบสวน) สภ.บางแก้ว แจ้งพฤติการณ์คดีเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2563 เวลาประมาณ 17.00 น. ขณะที่ อุราพร ผู้กล่าวหา กำลังไปติดต่องานที่บ้านพักของประธานบริษัทเดย์ สตาร์ บริเวณบางแก้ว ได้เปิดเฟซบุ๊กพบรูปภาพพระองค์ทีปังกรฯ และรัชกาลที่ 9 พร้อมข้อความวิจารณ์รัชกาลที่ 9 ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส”

    ผู้กล่าวหาเห็นว่า เป็นข้อความที่หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท จึงเดินทางมาแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวนให้ดําเนินการสืบสวนสอบสวนหาตัวบุคคลดังกล่าวมาลงโทษตามกฎหมาย

    พนักงานสอบสวนระบุว่า จากการสืบสวนสอบสวนพบว่า ชื่อของบัญชีเฟซบุ๊กที่โพสต์ข้อความดังกล่าวตรงกับชื่อของผู้ต้องหา จึงได้ออกหนังสือถึงผู้ปกครองให้นําตัวผู้ต้องหามาพบพนักงานสอบสวนเพื่อดําเนินการตามกฎหมายต่อไป

    จากนั้น พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมด 2 ข้อหา ได้แก่

    1. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 “หมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาด ร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์”

    2. พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)(5) “นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าว”

    ภัทรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้ให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน เมื่อกระบวนการสอบสวนเสร็จสิ้น ภัทรได้รับการปล่อยตัวในชั้นสอบสวน โดยไม่ต้องวางหลักประกัน

    อนึ่ง ในระหว่างกระบวนการสอบสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำกล้องวีดิโอออกมาเพื่อบันทึกภาพกระบวนการสอบสวนเพื่อนำส่งให้ศาลเยาวชนฯ ตรวจสอบการสอบสวน แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่ได้กดปุ่มบันทึกภาพไว้ ต่อมา จึงถ่ายภาพของภัทร แม่ และที่ปรึกษากฎหมายไว้แทน

    พนักงานสอบสวนแจ้งนัดหมายสืบเสาะประวัติที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสมุทรปราการ ในวันที่ 25 มิ.ย. 2564 แต่ในระหว่างที่ภัทรกำลังลงลายมือชื่อในบันทึกประจำวัน พ.ต.อ.มงคล อ่อนแก้ว ผู้กำกับ สภ.บางแก้ว ได้ให้ ร.ต.อ.กิตติภณ ติดต่อไปที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสมุทรปราการอีกครั้ง เพื่อเลื่อนวันนัดหมายสืบเสาะประวัติให้เป็นวันที่ 1 หรือ 2 มิ.ย. แทน โดยไม่ได้แจ้งเหตุผลที่ต้องเลื่อนนัดหมายกให้ภัทรและที่ปรึกษากฎหมายทราบ

    อย่างไรก็ตาม สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสมุทรปราการไม่สามารถทำตามคำร้องของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางแก้วได้ จึงนัดภัทรให้ไปที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสมุทรปราการ ในวันที่ 25 มิ.ย. 2564 เวลา 08.30 น. ตามเดิม

    หลังจากรับทราบข้อกล่าวหา ภัทรเผยว่า รู้สึกกังวลเกี่ยวกับคดี เนื่องจากไม่สามารถล่วงรู้ว่า ต่อไปนี้จะเกิดอะไรขึ้น และโรงเรียนใกล้เปิดภาคการศึกษาใหม่ การเดินทางไปตามนัดหมายของศาลเป็นประจำอาจส่งผลกระทบต่อการเรียน และเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางให้กับครอบครัว

    ภัทรนับเป็นเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี รายที่ 8 ที่ถูกดำเนินคดีในข้อหามาตรา 112 นับตั้งแต่การกลับมาใช้มาตรา 112 ดำเนินคดีอีกครั้งเมื่อปี 2563 อีกทั้งยังเป็นคดีที่มีประชาชนเป็นผู้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดี หลังจากเกิดเหตุการณ์ “ล่าแม่มดออนไลน์” และการสนับสนุนให้ประชาชนเข้าแจ้งความดำเนินคดี ผู้ใช้เฟซบุ๊กที่โพสต์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ในกลุ่มเฟซบุ๊ก “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563

    สำหรับอุราพร ยังพบว่าเป็นผู้แจ้งความที่ สภ.บางแก้ว ให้ดำเนินคดี “พิพัทธ์” หนุ่มอายุ 20 ปี จากจังหวัดพิษณุโลก ที่โพสต์ภาพและข้อความลงในกลุ่มเฟซบุ๊ก “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” ในช่วงเดือน พ.ค. 2563 เช่นเดียวกัน

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา สภ.บางแก้ว ลงวันที่ 1 มิ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/30419)
  • พนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสมุทรปราการ ยื่นฟ้องภัทรต่อศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสมุทรปราการ ในฐานความผิด หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

    คำฟ้องของพนักงานอัยการมีใจความโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2563 จำเลยได้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กของจำเลยโพสต์ข้อความวิจารณ์รัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นพระราชบิดาในรัชกาลปัจจุบัน และโพสต์ภาพธนบัตรตัดต่อหน้าพระองค์ทีปังกรฯ รัชทายาทของรัชกาลที่ 10 มาใส่ ซึ่งข้อความและภาพดังกล่าวเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ใส่ร้าย ใส่ความ ดูหมิ่น และหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์ โดยประการ ที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9, รัชกาลที่ 10 และรัชทายาท

    ท้ายคำฟ้องอัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยชั่วคราวจำเลยระหว่างพิจารณา

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสมุทรปราการ คดีหมายเลขดำที่ ยชอ.198/2564 ลงวันที่ 27 ส.ค. 2564)
  • ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้ฟังก่อนถามคำให้การจำเลย ภัทรยืนยันให้การปฏิเสธ ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 25 พ.ย. 2564
  • หลังตรวจพยานหลักฐาน ศาลนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 28-29 เม.ย. 2565 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 3 พ.ค. 2565
  • ก่อนเริ่มสืบพยาน ภัทรแถลงขอถอนคำให้การเดิมที่ให้การปฏิเสธ และขอให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้อง พร้อมกับแถลงว่า หากศาลให้โอกาส จำเลยจะกลับตนเป็นพลเมืองดี ไม่กระทำความผิดใด ๆ อีก และเชื่อฟังผู้ปกครอง ด้านผู้ปกครองภัทรแถลงว่า จะดูแลจำเลยให้เข้มงวดขึ้นและสนับสนุนให้ศึกษาต่อ

    หลังศาลกล่าวอบรมจำเลยแล้ว ได้มีคำสั่งว่า พิเคราะห์รายงานข้อเท็จจริงของสถานพินิจฯ จ.สมุทรปราการ แล้ว เห็นว่า พฤติการณ์การกระทำผิดของจำเลยไม่เป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมนัก จำเลยสำนึกในการกระทำ มีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้นได้ อีกทั้งจำเลยกำลังศึกษา เพื่อให้โอกาสจำเลยได้มีโอกาสแก้ไขพฤติกรรม จึงเห็นสมควรใช้มาตรการแทนการพิพากษาคดี ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ มาตรา 132 วรรคหนึ่ง โดยมีคำสั่งมอบจำเลยให้ผู้ปกครองไปดูแล

    แต่ให้กำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี โดยให้มารายงานตัวต่อศูนย์ให้คำปรึกษาฯ ทุก 3 เดือน, ให้เรียนต่อในระดับมัธยมปลาย, ห้ามคบหาสมาคมกับบุคคลที่มีความประพฤติไม่ดี และห้ามกระทำความผิดซ้ำอีก, ห้ามเที่ยวเตร่ในเวลากลางคืน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้ปกครอง และห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดและการพนัน

    จากนั้นศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีชั่วคราว และนัดฟังผลการปฏิบัติตามการแก้ไขฟื้นฟูจำเลยในวันที่ 28 เม.ย. 2566

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสมุทรปราการ คดีหมายเลขดำที่ ยชอ.198/2564 ลงวันที่ 28 เม.ย. 2565)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ภัทร (นามสมมติ)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ภัทร (นามสมมติ)

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. ประชา เฉลิมกิตติชัย
  2. วสุมา สะอาดวงศ์วาน
  3. ธัญญรัตน์ ธนวัติอภิชาติโชติ

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์