ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ. 154/2565

ผู้กล่าวหา
  • สมาชิกตรีอภิสิทธิ์ ไชยทอง อส.อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ (ฝ่ายปกครอง)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ. 154/2565
ผู้กล่าวหา
  • สมาชิกตรีอภิสิทธิ์ ไชยทอง อส.อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ

ความสำคัญของคดี

ชลสิทธิ์ (สงวนนามสกุล) หนุ่มสวนยางชาวศรีสะเกษ ถูกสมาชิกอาสารักษาดินแดน (อส.) คนหมู่บ้านเดียวกันแจ้งความกล่าวหาว่าแชร์ภาพวาดล้อเลียน ร.10 ลงในสตอรี่เฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2564 จากนั้นพนักงานสอบสวน สภ.ขุนหาญ ได้ออกหมายเรียกชลสิทธิ์ไปรับทราบข้อกล่าวหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ก่อนศาลให้ประกันตัวในชั้นฝากขังในวงเงินประกัน 2 แสนบาท ซึ่งชลสิทธิ์ต้องขอรับความช่วยเหลือเงินประกันจากกองทุนดา ตอร์ปิโด ภายหลังพนักงานสอบสวนยังแจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพิ่มอีก ตามคำสั่งตำรวจภูธรภาค 3

กรณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้เป็นผู้ร้องทุกข์ นอกจากนั้นข้อกล่าวหาดังกล่าวยังมีอัตราโทษที่สูง ทำให้ศาลเรียกหลักทรัพย์ประกันตัวในอัตราที่สูง ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะผู้มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจ

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

เทพยงค์ ยงกุล พนักงานอัยการจังหวัดกันทรลักษ์ บรรยายฟ้องมีใจความโดยสรุปว่า

เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2564 จำเลยดูหมิ่น หมิ่นประมาท พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ด้วยการใช้เฟซบุ๊กชื่อ “XXX” โพสต์ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 โดยมีการแต่งเติมภาพในลักษณะล้อเลียน อันเป็นการดูถูก ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย เหยียดหยาม สบประมาท พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน และเป็นการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่ง ราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา โดยประการที่น่าจะทําให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง มีเจตนาเพื่อทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เป็นที่เคารพสักการะ

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดกันทรลักษ์ คดีหมายเลขดำที่ อ.154/2565 ลงวันที่ 18 ม.ค. 2565)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลา 13.00 น. “โอม” ชลสิทธิ์ พร้อมครอบครัวและทนายความ เดินทางไปที่ สภ.ขุนหาญ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังถูกสมาชิกอาสารักษาดินแดนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเดียวกันไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวหาว่าแชร์ภาพวาดล้อเลียน ร.10 ลงในสตอรี่เฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2564

    บรรยากาศที่ สภ.ขุนหาญ มีประชาชนและนักกิจกรรมในจังหวัดศรีสะเกษร่วม 50 คนเดินทางมาให้กำลังใจโอมพร้อมมอบดอกกุหลาบ 112 ดอก แทนสัญลักษณ์ความบริสุทธิ์ของการต่อสู้คดีครั้งนี้

    เมื่อโอมและพรสิทธิ์ รักษาทรัพย์ ทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ไปถึงห้องสอบสวน พ.ต.อ.พฤทธิ์ บุญปก ผู้กำกับ สภ.ขุนหาญ กล่าวเตือนว่า ไม่อยากให้การอัดเสียง หรือแอบถ่ายภาพระหว่างกระบวนการสอบสวนคดีนี้ หากพบภายหลังจะดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด รวมถึงการที่มีบุคคลไลฟ์สดหน้า สภ. หากพบข้อความที่ด่าทอถึง สภ.ขุนหาญ ก็จะดำเนินคดีเช่นกัน

    ทนายความสอบถามว่า หลังแจ้งข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนจะฝากขังต่อศาลหรือไม่ ผู้กำกับกล่าวอย่างสับสนว่า คงต้องมีการฝากขังและให้ศาลเป็นผู้พิจารณาว่าจะปล่อยตัวหรือไม่ เพราะเป็นการมาตามหมายเรียกไม่ใช่ตามหมายจับที่ตำรวจเป็นผู้ขอออกหมายเอง หากเป็นหมายจับ ตำรวจสามารถใช้ดุลพินิจได้ว่าจะปล่อยตัวหรือไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหา แต่คดีวันนี้ต้องขอฝากขังเพื่อให้ศาลใช้ดุลพินิจว่าจะปล่อยตัวโอมหรือไม่

    พ.ต.ท.สมเดช ไชยเทพ พนักงานสอบสวน แจ้งพฤติการณ์โดยสรุปว่า ก่อนเกิดเหตุ สมาชิกตรีอภิสิทธิ์ ไชยทอง เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอขุนหาญ เป็นเพื่อนทางเฟซบุ๊กกับผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “XXX” ต่อมาเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2564 เวลาประมาณ 13.30 น. อภิสิทธิ์ได้พบเห็นเฟซบุ๊กดังกล่าวมีการโพสต์รูปภาพในสตอรี่ จึงเปิดดูแล้วเห็นภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ ร.10 มีการแต่งเติมภาพในลักษณะล้อเลียน มีข้อความอยู่เหนือภาพระบุ วันที่ 19 กันยา ขุนหาญ

    เมื่อเห็นภาพก็ทราบทันทีว่าเป็นภาพพระบรมสาทิศลักษณ์ ร.10 และรู้สึกทำให้พระองค์เสื่อมเสียพระเกียรติ จึงบันทึกภาพหน้าจอแล้วรายงานให้ปลัดอำเภอและผู้บังคับบัญชาทราบ ผู้บังคับบัญชาจึงให้มาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดี จากการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานแล้วพบว่า โอมเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าว รวมทั้งโพสต์ภาพดังกล่าวด้วย

    ก่อนแจ้งข้อกล่าวหาว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐาน หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์

    โอมให้การปฏิเสธและจะให้การในชั้นศาลเท่านั้น อย่างไรก็ดีพนักงานสอบสวนสอบปากคำโอมเพิ่มเติมถึงเรื่องเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2564 ช่วง 17.00 น. ซึ่งตำรวจชุดสืบ สภ.ขุนหาญ เดินทางไปที่บ้านโอม เพื่อควบคุมตัวโอมมาสอบปากคำ วันถัดมาตำรวจเรียกตู้ (นามสมมติ) เพื่อนรุ่นพี่ของโอมไปพบโดยอ้างว่าสอบปากคำพยาน เนื่องจากตู้เป็นหนึ่งในสองคนที่เห็นสตอรี่เฟซบุ๊กดังกล่าว ก่อนโทรศัพท์แจ้งให้โอมลบภาพนั้นออกไป ซึ่งโอมรับว่ามีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง หลังสอบปากคำเสร็จจึงให้โอมไปพิมพ์ลายนิ้วมือ

    เวลา 13.30 น. พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องออนไลน์ต่อศาลจังหวัดกันทรลักษ์ขอฝากขังโอมเป็นเวลา 12 วัน อ้างว่ากระบวนการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ยังมีพยานบุคคลที่ต้องสอบปากคำเพิ่มเติม แต่หากผู้ต้องหาขอปล่อยตัวชั่วคราวก็ไม่คัดค้าน ขณะเดียวกันห่างออกไปราว 20 กิโลเมตร ที่ศาลจังหวัดกันทรลักษ์ มี วัฒนา จันทศิลป์ ทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และนายประกัน ยื่นประกันตัวโอม โดยใช้เงินสด 200,000 บาท จากกองทุนดา ตอร์ปิโดเป็นหลักทรัพย์

    ทนายความได้ระบุเหตุผลในการขอประกันโอมในชั้นสอบสวนตลอดถึงชั้นพิจารณาว่า ผู้ต้องหาไม่เคยกระทำความผิดอาญามาก่อน มีอาชีพเเละที่อยู่เป็นหลักเเหล่ง ทั้งจะไม่ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน อีกทั้งระหว่างนี้มีสถานการณ์​โควิด-19 ระบาดอยู่ในเรือนจำ ประกอบกับคดีในลักษณะเดียวกัน และข้อกล่าวหาเดียวกันนี้ ศาลจังหวัดอุบลราชธานีเเละศาลจังหวัดกาฬสินธุ์​ได้อนุญาตปล่อยชั่วคราวจำเลย โดยให้วางหลักประกันเป็นเงินสด 100,000 บาท และ 200,000 บาท ตามลำดับ

    ทั้งโอมและทนายความซึ่งยังอยู่ที่ สภ.ขุนหาญ ต้องรอการวีดีโอคอนเฟอเรนซ์จากศาลจนถึงเวลา 16.30 น. ธวัช ชูวิทย์สกุลเลิศ ผู้พิพากษากล่าวผ่านวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ว่า คดีนี้ผู้ต้องหาเข้ารับทราบข้อกล่าวหาและให้การปฏิเสธแล้ว แต่พนักงานสอบสวนขออำนาจศาลฝากขัง เนื่องจากพนักงานสอบสวนเห็นว่ายังมีพยานบุคคลที่ต้องสอบปากคำเพิ่มเติม ผู้พิพากษาถามโอมว่าจะคัดค้านการฝากขังหรือไม่ ซึ่งโอมตอบว่าไม่คัดค้าน

    จากนั้นศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังตามที่พนักงานสอบสวน สภ.ขุนหาญ ทำคำร้องมา แต่เมื่อผู้ต้องหามีนายประกันมายื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสด 200,000 บาท ประกอบกับผู้ต้องหามาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก และในวันเกิดเหตุ เมื่อผู้ต้องหาเห็นว่าภาพที่แชร์ลงในเฟซบุ๊กเข้าข่ายผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงได้ทำการลบในทันที ศาลจึงมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างสอบสวนตลอดจนถึงชั้นพิจารณา และให้ผู้ต้องหาไปที่ศาลในวันถัดไปเพื่อรับทราบวันนัดรายงานตัวต่อไป

    กระทั่งหมายปล่อยตัวจากศาลจังหวัดกันทรลักษ์มาถึงในช่วง 17.00 น. โอมจึงได้รับการปล่อยตัวที่ สภ.ขุนหาญ ท่ามกลางการแสดงความยินดีของญาติ เพื่อนๆ และนักกิจกรรมในจังหวัดศรีสะเกษที่มาติดตามสังเกตการณ์การรับทราบข้อกล่าวหาครั้งนี้อยู่ตลอดทั้งบ่าย

    จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คดี 112 ของโอมคดีนี้นับเป็นคดีแรกที่เกิดขึ้นในจังหวัดศรีสะเกษ

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สภ.ขุนหาญ ลงวันที่ 28 ต.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/37164)
  • ชลสิทธิ์เดินทางไปที่ศาลจังหวัดกันทรลักษ์เพื่อรับทราบวันนัดรายงานตัวตามคำสั่งศาล เจ้าหน้าที่ศาลนัดให้ไปรายงานตัวในวันที่ 15 ธ.ค. 2564 เวลา 09.00 น.
  • ชลสิทธิ์เดินทางไปรายงานตัวที่ศาลตามสัญญาประกัน ศาลนัดรายงานตัวอีกครั้งวันที่ 20 ม.ค. 2565 เวลา 09.00 น.
  • ชลสิทธิ์พร้อมทนายความเดินทางไปที่ สภ.ขุนหาญ อีกครั้ง หลังวานนี้ (23 ธ.ค. 2564) เขาได้รับหมายเรียกครั้งที่ 2 ซึ่งออกในวันเดียวกันนั้นให้ไปพบพนักงานสอบสวนในวันถัดมาเลย โดยเมื่อทนายความโทรศัพท์สอบถาม พ.ต.ท.สมเดช ไชยเทพ พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีถึงสาเหตุที่ออกหมายเรียก จึงได้รับแจ้งว่า เรียกให้ชลสิทธิ์มาพบเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพิ่มเติม

    พ.ต.ท.สมเดช พร้อมด้วย พ.ต.ท.บรรจง พิลัย รอง ผกก.(สอบสวน) สภ.ขุนหาญ คณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ได้แจ้งว่า หลังสรุปสำนวนการสอบสวนส่งให้ตำรวจภูธรภาค 3 พิจารณาและมีความเห็น แต่ตำรวจภูธรภาค 3 ได้ส่งสำนวนกลับมาโดยมีคำสั่งให้แจ้งข้อหาเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)

    จากนั้นได้พฤติการณ์ที่กล่าวหาเช่นเดียวกับเมื่อชลสิทธิ์เข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2564 ก่อนแจ้งว่า การกระทําดังกล่าวเป็นความผิดเพิ่มเติมฐาน นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ชลสิทธิ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และเดินทางกลับเมื่อเสร็จกระบวนการ

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม สภ.ขุนหาญ ลงวันที่ 24 ธ.ค. 2564)
  • ชลสิทธิ์พร้อมทนายความนำโทรศัพท์มือถือไปส่งมอบให้พนักงานสอบสวน สภ.ขุนหาญ เพื่อเป็นของกลางนําส่งตรวจพิสูจน์ประกอบคดี พนักงานสอบสวนได้ทำบันทึกการตรวจยึด พร้อมทั้งสอบปากคำประกอบ โดยได้ขอรหัสเข้าโทรศัพท์ และรหัสเข้าอีเมลของชลสิทธิ์ด้วย แต่ชลสิทธิ์ปฏิเสธ เนื่องจากมีข้อมูลส่วนบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดี

    ทั้งนี้ ในวันก่อนหน้านี้ พนักงานสอบสวนโทรเรียกให้ชลสิทธิ์พร้อมแม่ไปพบที่ สภ.ขุนหาญ โดยไม่ได้แจ้งเหตุผล และไม่ได้แจ้งทนายความ เมื่อทนายโทรสอบถามจึงบอกว่า จะตรวจยึดโทรศัพท์ส่งไปตรวจสอบตามคำสั่งของตำรวจภูธรภาค 3 ทนายจึงขอเลื่อนวันนัด เพื่อให้ทนายความเข้าร่วมกระบวนการด้วย

    (อ้างอิง: บันทึกการตรวจยึด สภ.ขุนหาญ ลงวันที่ 29 ธ.ค. 2564)
  • เทพยงค์ ยงกุล พนักงานอัยการจังหวัดกันทรลักษ์ ยื่นฟ้องชลสิทธิ์ต่อศาลจังหวัดกันทรลักษ์ ในฐานความผิด หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 กล่าวหาว่า ชลสิทธิ์โพสต์ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 โดยมีการแต่งเติมภาพในลักษณะล้อเลียน อย่างไรก็ตาม อัยการระบุว่า ไม่ได้แนบภาพที่ชลสิทธิ์กระทำผิดไว้ในท้ายฟ้อง แต่หากศาลหรือจำเลยประสงค์จะดูโจทก์จะนำไปแสดงในทันที

    ท้ายคำฟ้องอัยการไม่ได้ค้านการปล่อยตัวชั่วคราวโอมระหว่างพิจารณาคดี โดยระบุว่า หากจำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ให้อยู่ในดุลพินิจของศาล

    นอกจากอัยการจะขอให้ศาลพิพากษาลงโทษชลสิทธิ์ในฐานความผิดดังกล่าวแล้ว ยังขอให้สั่งริบโทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมซิมการ์ด จำนวน 1 เครื่อง ซึ่งเป็นของกลางในคดีด้วย

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดกันทรลักษ์ คดีหมายเลขดำที่ อ. 154/2565 ลงวันที่ 18 ม.ค. 2565)

  • โอมเดินทางไปที่ศาลจังหวัดกันทรลักษ์เพื่อรายงานตัวต่อศาลเป็นครั้งที่ 2 ตามสัญญาประกัน

    เวลา 10.00 น. มงคล ภูฆัง ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดกันทรลักษ์ ออกพิจารณาคดี แจ้งกับโอมและทนายความว่า คดีนี้พนักงานอัยการจังหวัดกันทรลักษ์ยื่นฟ้องแล้ว เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2565

    เมื่อศาลถามโอมว่า จะให้การอย่างไร เจ้าตัวยืนยันว่าให้การปฏิเสธ ต่อมาศาลแจ้งกับโอมและทนายจำเลยว่า ในนัดครั้งต่อไปอยากให้ทั้งโอมและทนายความเตรียมประเด็นที่จะมาต่อสู้ และชี้แจงต่อศาลถึงแนวทางการจะสืบพยาน ก่อนจะนัดคุ้มครองสิทธิในวันที่ 18 เม.ย. 2565 และอนุญาตให้ประกันตัวในชั้นนี้ต่อไป โดยใช้หลักประกันเดิมในชั้นสอบสวน

    โอมกล่าวสั้นๆ หลังได้รับการประกันตัวอีกครั้งว่า เขาตั้งใจที่จะมาตามที่ศาลนัดและปฏิบัติตามสิ่งที่พนักงานสอบสวนขอความร่วมมืออยู่ตลอด เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่ได้มีเจตนาจะบ่ายเบี่ยงต่อสิ่งที่เกิดหรือคิดหลบหนี และหากย้อนไปวันดังกล่าวหลังจากมีการบอกให้ลบภาพดังกล่าวออกไป ก็ตัดสินใจลบทันที เพราะไม่ได้มีเจตนาที่จะดูหมิ่น ร.10 แต่อย่างใด อีกทั้งภาพวาดดังกล่าวเขาเองก็ไม่ได้เป็นคนทำขึ้นมา จึงหวังว่าจะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/39877)
  • โอมและทนายจำเลยเดินทางมาศาล ทนายจำเลยแถลงว่าคดีนี้มีทนายความและที่ปรึกษาหลายคน และทนายความหลักติดโควิด-19 อยู่ระหว่างรักษาตัว จึงไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ ขอเลื่อนคดีไปนัดหนึ่ง โจทก์ไม่ค้าน ศาลจึงเลื่อนไปนัดสอบคำให้การในวันที่ 30 พ.ค. 2565 เวลา 13.30 น.
  • ศาลอธิบายฟ้องและสอบคำให้การจำเลย ชลสิทธิ์ให้การรับสารภาพ ตามคำให้การที่ยื่นต่อศาลในวันเดียวกันนี้ ทนายจำเลยขอยื่นคำแถลงปิดคดีภายใน 15 วัน ศาลให้พนักงานคุมประพฤติจัดทำรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยรายงานต่อศาล โดยให้ชลสิทธิ์ไปพบพนักงานคุมประพฤติ ก่อนนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 1 ส.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

    คำให้การของชลสิทธิ์ที่ยื่นต่อศาล มีเนื้อหาโดยย่อว่า จำเลยการกระทำความผิดในครั้งนี้ เนื่องจากจำเลยอายุยังน้อย รู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยไม่ได้มีเจตนากระทำให้เกิดความเสียหายตามฟ้องแต่อย่างใด อีกทั้งเมื่อจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องแล้วมีคนพบเห็นและแจ้งว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิด จำเลยก็รีบลบภาพไปในทันที จำเลยจึงแชร์ภาพตามฟ้องเพียงแค่ 2 นาที เท่านั้น และมีผู้เห็นภาพดังกล่าวเพียง 2 คน คือผู้ที่ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน และผู้ที่บอกให้จำเลยลบภาพดังกล่าวออกจากระบบคอมพิวเตอร์ เท่านั้น

    จำเลยไม่เคยกระทำความผิดอาญาใดๆ มาก่อน ก่อนหน้าคดีนี้จำเลยก็ไม่เคยมีพฤติกรรมดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาตร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งมีความประพฤติเรียบร้อย มีจิตอาสา ทุกครั้งที่ในหมู่บ้านหรือตำบลมีกิจกรรมใดๆ จำเลยก็มักจะอาสาไปช่วยเสมอมา โดยกำนันตำบลบักดอง และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบักดองได้มีหนังสือรับรองความประพฤติของจำเลยแนบมาท้ายคำให้การนี้ด้วย

    นอกจากนี้ จำเลยอยู่อาศัยที่บ้านกับมารดาเพียงสองคน โดยจำเลยมีอาชีพรับจ้างกรีดยางพารา นำรายได้มาเลี้ยงดูมารดา หากจำเลยต้องโทษจำคุก จะทำให้มารดาและครอบครัวต้องเดือดร้อน

    ด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงดังกล่าว จำเลยจึงขอศาลให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดี โดยลงโทษจำเลยในสถานเบา และหากศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย ขอให้ศาลรอการลงโทษจำเลยไว้ด้วย

    (อ้างอิง: คำให้การจำเลย ศาลจังหวัดกันทรลักษ์ คดีหมายเลขดำที่ อ.154/2565 ลงวันที่ 30 พ.ค. 2565)
  • ทนายจำเลยยื่นคำแถลงปิดคดี มีเนื้อหาโดยย่อดังนี้

    จำเลยโพสต์ภาพตามฟ้องลงในสตอรี่เฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นภาพที่จำเลยไม่ได้ทำขึ้นเอง และไม่ทราบว่าใครเป็นผู้จัดทำขึ้น จำเลยเพียงแต่พบเห็นในอินเทอร์เน็ต โดยปกติภาพที่โพสต์ในสตอรี่เฟซบุ๊กจะมีอายุการใช้งานเพียง 24 ชั่วโมง เมื่อจำเลยเห็นว่าโพสต์ภาพดังกล่าวไปแล้ว มีคนเข้ามาตักเตือนให้ลบภาพดังกล่าวออก จำเลยก็รีบลบทันทีในภายในเวลา 2 นาที

    การนำจำเลยไปจำคุกนอกจากจะไม่ได้เกิดผลแก้ไขให้จำเลยกลับมาเป็นคนดีแล้ว ยังทำให้จำเลยเป็นคนมีประวัติเสื่อมเสีย ซึ่งจำเลยอายุเพียง 21 ปี มีความจำเป็นต้องประกอบอาชีพเลี้ยงดูมารดาที่แก่ชราเพียงลำพัง เมื่อพ้นโทษแล้วก็อาจทำให้จำเลยขาดโอกาสทางการศึกษาที่จะทำให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของสังคม และอาจไม่สามารถประกอบอาชีพอย่างเด็กหนุ่มทั่วไปได้ อันทำให้จำเลยและมารดาต้องได้รับความทุกข์ร้อน การรอการลงโทษและควบคุมความประพฤติจำเลยเพื่อเป็นการให้โอกาสจำเลยในการกลับตนเป็นพลเมืองดี จะเป็นผลดีแก่จำเลยในทางกลับตนเป็นคนดีได้ยิ่งกว่าการจำคุกจำเลย และเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมมากกว่า

    ในอดีตอัตราโทษในการกระทำความผิดในฐานนี้ไม่ได้มีความร้ายแรงเท่าปัจจุบัน โดยมีการบัญญัติกฎหมายลักษณะหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 ให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ต่อมามีการแก้ไขให้มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี แต่หลังจากเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่เข้ายึดอำนาจได้แก้ไขให้มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 - 15 ปี และบังคับใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน จึงเป็นที่น่าประหลาดว่า ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับมีการกำหนดโทษฐานความผิดนี้น้อยกว่าเมื่อการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยการแก้ไขเพิ่มโทษดังกล่าวกระทำขึ้นโดยเผด็จการทหารด้วยเหตุเพื่อปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมือง จึงจะเห็นได้ว่ากฎหมายดังกล่าวจะถูกนำมาใช้เพิ่มมากขึ้นในช่วงที่มีความขัดแย้งทางการเมือง

    รัชกาลที่ 9 เคยมีพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2548 ความตอนหนึ่งสรุปได้ว่า การดำเนินคดีและลงโทษจำคุกผู้ที่วิจารณ์หรือละเมิดพระมหากษัตริย์ ทำให้พระมหากษัตริย์เดือดร้อนหลายทาง ที่จริงแล้วพระมหากษัตริย์ไม่เคยบอกให้เข้าคุก

    อาศัยเหตุดังกล่าวข้างต้น จึงขอศาลพิพากษาลงโทษจำเลยเพียงสถานเบา หรือรอการลงโทษจำเลยไว้ก่อน โดยให้คุมประพฤติ และกำหนดให้จำเลยทำงานบริการสังคม เพื่อให้โอกาสจำเลยได้ศึกษาเล่าเรียน ประกอบสัมมาอาชีพหาเลี้ยงมารดา และสร้างคุณความดีในสังคมต่อไป

    (อ้างอิง: คำแถลงปิดคดี ศาลจังหวัดกันทรลักษ์ คดีหมายเลขดำที่ อ.154/2565 ลงวันที่ 14 มิ.ย. 2565)
  • ชลสิทธิ์พร้อมครอบครัวและเพื่อน เดินทางไปที่ศาลจังหวัดกันทรลักษ์เพื่อฟังคำพิพากษา

    ที่ห้องพิจารณาคดี มงคล พิมพ์ทรัพย์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลชั้นต้น อ่านคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด

    พิเคราะห์รายงานสืบเสาะและพินิจจำเลยแล้วเห็นว่า จำเลยทำความผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่เมื่อมีผู้ตักเตือนว่าการกระทำดังกล่าวไม่เหมาะสม ก็รีบลบภาพดังกล่าว เป็นการแสดงให้เห็นว่าจำเลยยังเป็นบุคคลที่มีจิตสำนึกอยู่บ้าง ไม่ได้ทำไปเพื่อประโยชน์ในทางการเมืองหรือหวังผลอย่างหนึ่งอย่างใด อีกทั้งก่อนและหลังทำความผิดก็ไม่พบว่ามีพฤติการณ์การแสดงออกที่ไม่เหมาะสมในลักษณะเดียวกันแต่อย่างใด เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยรับโทษจำคุกมาก่อน นิสัยและความประพฤติส่วนใหญ่ไม่ปรากฏข้อเสียหายร้ายแรง น่าจะยังอยู่ในวิสัยที่แก้ไขฟื้นฟูได้ และจำเลยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ประกอบอาชีพโดยสุจริตเป็นกิจจะลักษณะ เป็นเรี่ยวแรงของครอบครัว โดยพักอาศัยอยู่กับแม่เพียงสองคน

    ประกอบกับนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบักดองและกำนันตำบลบักดอง ซึ่งเป็นผู้บริหารท้องถิ่นและผู้นำท้องถิ่นเขตที่จำเลยพักอาศัยอยู่ ได้รับรองความประพฤติจำเลยไว้ด้วย การให้โอกาสจำเลยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองเพื่อกลับตัวเป็นพลเมืองดีน่าจะเป็นประโยชน์แก่ครอบครัวและสังคมโดยรวมมากกว่าลงโทษจำคุกจำเลย อีกทั้งให้จำเลยได้น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและพระเมตตาที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย จึงเห็นสมควรให้รอกำหนดโทษจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี แต่ให้คุมความประพฤติไว้ 1 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ให้ทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ 12 ชั่วโมง

    คำพิพากษายังระบุให้ริบของกลาง ได้แก่ โทรศัพท์มือถือพร้อมกับซิมการ์ดเครื่องที่โอมใช้ในการแชร์ภาพล้อเลียนด้วย

    หลังฟังคำพิพากษาแม่ของโอมที่เดินทางมาศาลด้วยเป็นครั้งแรกสะท้อนความรู้สึกว่าโล่งใจมาก เพราะตั้งแต่เกิดมาไม่เคยต้องขึ้นศาลมาก่อน และการที่โอมต้องเจอกับคดี 112 ก็ทำให้เธอเป็นห่วงเป็นใยต่อชะตากรรมของโอมมาก กังวลเสมอว่าลูกจะติดคุกกี่ปี และถ้าไปอยู่ข้างในเรือนจำจะใช้ชีวิตอย่างไร

    ขณะที่ ‘ตู้’ วรพงศ์ รุ่งคำ พี่ที่โอมสนิท และเป็นคนบอกให้โอมลบภาพที่เป็นต้นเหตุคดีนี้ออกหลังโอมโพสต์ไปไม่กี่นาที บอกว่าจะช่วยคอยดูแลโอมอีกทาง ในการไปพบพนักงานคุมประพฤติช่วง 1 ปีนี้ และการรอกำหนดโทษอีก 2 ปี

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลจังหวัดกันทรลักษ์ คดีหมายเลขดำที่ อ.154/2565 คดีหมายเลขแดงที่ อ.655/2565 ลงวันที่ 1 ส.ค. 2565)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ชลสิทธิ์ (สงวนนามสกุล)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ชลสิทธิ์ (สงวนนามสกุล)

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. มงคล พิมพ์ทรัพย์
  2. ชนิกานต์ แสนภักดี

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 01-08-2022

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์