ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • แจ้งโดยประชาชนทั่วไป
ดำ อ.180/2565

ผู้กล่าวหา
  • ภัทรวรรณ ขำมา เลขาฯ ฝ่ายกฎหมายของ ศบค. (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • แจ้งโดยประชาชนทั่วไป

หมายเลขคดี

ดำ อ.180/2565
ผู้กล่าวหา
  • ภัทรวรรณ ขำมา เลขาฯ ฝ่ายกฎหมายของ ศบค.

ความสำคัญของคดี

จิรวัฒน์ (สงวนนามสกุล) อายุ 30 ปี พ่อค้าขายของออนไลน์ ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้แชร์โพสต์เฟซบุ๊กรวม 3 โพสต์ จากบุคคลอื่น 1 โพสต์ และจากเพจ KTUK – คนไทยยูเค 2 โพสต์ ในช่วง ม.ค. - มี.ค. 2564 เนื้อหาเรื่องการผูกขาดวัคซีน, คนเซ็นตั๋วช้าง และคำปราศรัยเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของ "มายด์" ภัสราวลี ใน #ม็อบ24มีนา

คดีนี้มีภัทรวรรณ ขำมา เป็นผู้กล่าวหา ซึ่งเป็นญาติกับแฟนของจิรวัฒน์ และเป็นเลขาฯ ฝ่ายกฎหมายของ ศบค. โดยแฟนของจิรวัฒน์และภัทรวรรณมีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกันก่อนหน้านี้ คดีนี้จึงอาจมีสาเหตุจากความไม่พอใจกัน แต่ใช้ข้อกล่าวหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งอีกฝ่าย สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่เปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแม้ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่น

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

สมพงษ์ ศรีธูป พนักงานอัยการ สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 2 บรรยายคำฟ้องมีใจความโดยสรุปว่า ในคดีนี้จําเลยได้กระทําความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ

1. เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2564 จําเลยได้แชร์โพสต์จากเพจ KTUK – คนไทยยูเค ซึ่งโพสต์ดังกล่าวปรากฏภาพของรัชกาลที่ 10 นายกรัฐมนตรี และมีภาพประกอบเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด พร้อมเนื้อความโดยสรุปเกี่ยวกับการที่ไทยไม่ได้เข้าร่วมในโครงการ COVAX ขององค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นโครงการที่ป้องกันไม่ให้ประเทศที่ร่ำรวยกวาดซื้อวัคซีนเข้าประเทศตัวเองหมด โดยมีประเทศที่เข้าร่วมแล้วกว่า 172 ประเทศ แต่ประเทศไทยไม่ได้เข้าร่วม เนื่องจากหวังให้บริษัทที่มีรัชกาลที่ 10 เป็นผู้ถือหุ้น ผลิตและจัดจำหน่ายวัคซีนให้คนไทยอย่างเดียว ซึ่งมีความล่าช้า ทำให้ผลกระทบตกถึงคนไทยที่ได้รับวัคซีนช้า

ข้อความประกอบรูปภาพดังกล่าวนั้น ทำให้ประชาชนและบุคคลทั่วไปเข้าใจว่า รัชกาล ที่ 10 ผูกขาดการจัดหาวัคซีนโควิด-19 โดย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จํากัด ที่ทรงถือหุ้นใหญ่อยู่และหาผลประโยชน์จากการจําหน่ายวัคซีนโควิด-19 กับประชาชน และทําให้รัฐบาลไม่เข้าร่วมโครงการ COVAX คอยแต่วัคซีนที่ผลิตโดย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จํากัด ทําให้ประชาชนคนไทยได้รับวัคซีนล่าช้า และวัคซีน Sinovac ที่รัฐบาลจัดหาที่มีคุณภาพต่ํา

2. เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2564 จำเลยได้แชร์โพสต์จากผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง เป็นภาพหนังสือราชการ 4 ฉบับ และภาพของ ส.ส. รังสิมันต์ โรม ถือแผ่นกระดาษในมือทั้ง 2 ข้าง พร้อมข้อความในภาพเกี่ยวกับเรื่องของตั๋วช้าง พร้อมโพสต์ข้อความตั้งคำถามว่า ลายเซ็นกำกับอาจเป็นของสมเด็จพระราชินี และลายเซ็นกำกับเหนือรหัส 904 เป็นของใคร และโพสต์ลิ้งค์ให้ไปอ่านเนื้อหาต่อบนทวิตเตอร์

ข้อความประกอบรูปภาพดังกล่าวนั้น ทำให้ประชาชนและบุคคลทั่วไปเข้าใจว่า สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ ทรงเข้ามาก้าวก่ายหาผลประโยชน์ในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตํารวจในสํานักงานตํารวจแห่งชาติ โดยไม่ได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของการแต่งตั้งโยกย้ายของสํานักงานตํารวจแห่งชาติ

3. เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2564 จําเลยได้แชร์โพสต์จากเพจ KTUK – คนไทยยูเค ซึ่งมีเนื้อหาเป็นถ้อยคำปราศรัยของ “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 ยืนยันว่าการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ควรต้องพูดถึงได้ทั้งในทางสรรเสริญและวิพากษ์วิจารณ์ เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ประชาชนในฐานะที่เป็นกัลยานมิตรที่ดีที่ต้องสามารถตักเตือนกษัตริย์ได้เมื่อออกนอกลู่นอกทาง นอกจากนั้น ในเวลานี้ การขยายพระราชอำนาจของกษัตริย์อย่างไร้ขอบเขตกำลังส่งผลให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา โดยได้มีการนำเสนอข้อเสนอ 3 ข้อในการปรับปรุงแก้ไขสถาบันกษัตริย์ 1. การแบ่งแยกกองทัพออกมาเป็นของสถาบันกษัตริย์นั้นไม่สามารถทำได้ 2. กษัตริย์ต้องไม่แทรกแซงอยู่เบื้องหลังของกลุ่มก้อนทางการเมือง 3. ขอให้โอนคืนทรัพย์สมบัติของชาติสู่ประชาชน

ข้อความประกอบรูปภาพดังกล่าวนั้น ทำให้ประชาชนและบุคคลทั่วไปเข้าใจว่า รัชกาลที่ 10 ทรงขยายพระราชอํานาจเกินขอบเขตไม่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และไม่เป็นไปตามระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทรงเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม และมีการโอนทรัพย์สินของชาติไปเป็นของตนเอง และเมื่อมีการทําผิดพลาดแล้วประชาชนสามารถตักเตือนกษัตริย์ในทางที่ถูกต้องได้

ภาพและข้อความทั้ง 3 โพสต์ที่จำเลยได้แชร์ในเวลาต่างกันนั้น มีเนื้อหาลักษณะเสียดสี ประชดประชัน สร้างความเสียหายต่อพระเกียรติของรัชกาลที่ 10 และพระราชินีอย่างร้ายแรง อันเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์และพระราชินี ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ ซึ่งกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

ทั้งนี้ โดยจําเลยเผยแพร่ ส่งต่อข้อความและรูปภาพดังกล่าวแบบสาธารณะให้กับประชาชน บุคคลทั่วไป ได้เข้าถึงรับรู้โดยมีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย ต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งกระทบต่อความมั่งคงแห่งราชอาณาจักร และมีบุคคลทั่วไปเข้ามาโพสต์แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์จํานวนมาก

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.180/2565 ลงวันที่ 8 ก.พ. 2565)

ความคืบหน้าของคดี

  • จิรวัฒน์ (สงวนนามสกุล) ได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ สน.ยานนาวา หลังได้รับหมายเรียกลงวันที่ 1 ก.ค. 2564 โดยมีภัทรวรรณ ขำมา เป็นผู้กล่าวหา ซึ่งปรากฏว่าเป็นญาติกับแฟนของจิรวัฒน์ และเป็นเลขาฯ ฝ่ายกฎหมายของ ศบค. โดยจิรวัฒน์เปิดเผยว่า แฟนของเขาและภัทรวรรณมีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกันก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ จิรวัฒน์ได้ขอเลื่อนการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาจากวันที่ 15 ก.ค. 2564 เป็นวันนี้

    พ.ต.ท.คมสัน เลขาวิจิตร รองผู้กำกับ (สอบสวน) สน.ยานนาวา แจ้งพฤติการณ์ที่กล่าวหาในคดีนี้ว่า เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2564 ผู้กล่าวหาได้เปิดดูเฟซบุ๊ก พบเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อภาษาอังกฤษ มีนามสกุลตรงกับผู้ต้องหา ได้แชร์โพสต์จากเพจ KTUK – คนไทยยูเค เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2564 ซึ่งโพสต์ดังกล่าวปรากฏภาพของรัชกาลที่ 10 นายกรัฐมนตรี และมีภาพประกอบเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิด พร้อมเนื้อความโดยสรุปเกี่ยวกับการที่ไทยไม่ได้เข้าร่วมในโครงการ COVAX ขององค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นโครงการที่ป้องกันไม่ให้ประเทศที่ร่ำรวยกวาดซื้อวัคซีนเข้าประเทศตัวเองหมด โดยมีประเทศที่เข้าร่วมแล้วกว่า 172 ประเทศ แต่ประเทศไทยไม่ได้เข้าร่วม เนื่องจากหวังให้บริษัทที่มีรัชกาลที่ 10 เป็นผู้ถือหุ้น ผลิตและจัดจำหน่ายวัคซีนให้คนไทยอย่างเดียว ซึ่งมีความล่าช้า ทำให้ผลกระทบตกถึงคนไทยที่ได้รับวัคซีนช้า

    ต่อมา ผู้กล่าวหาพบอีกว่า เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2564 ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายนี้ยังได้แชร์โพสต์จากผู้ใช้เฟซบุ๊กรายอื่น ซึ่งโพสต์ภาพหนังสือราชการ 4 แผ่น และภาพของ ส.ส. รังสิมันต์ โรม ถือแผ่นกระดาษในมือทั้ง 2 ข้าง พร้อมข้อความในภาพเกี่ยวกับเรื่อง #ตั๋วช้าง โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กรายนี้โพสต์ข้อความประกอบภาพตั้งคำถามว่า ลายเซ็นกำกับเป็นของสมเด็จพระราชินีหรือ? ส่วนลายเซ็นสุดท้าย 904 นี่ใคร พร้อมลิ้งค์ให้ไปอ่านเนื้อหาต่อบนทวิตเตอร์

    และผู้กล่าวหายังพบอีกว่า เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2564 ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายนี้ยังได้แชร์โพสต์จากเพจ KTUK – คนไทยยูเค ซึ่งมีเนื้อหาเป็นถ้อยคำปราศรัยของ “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 ยืนยันว่าการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ควรต้องพูดถึงได้ทั้งในทางสรรเสริญและวิพากษ์วิจารณ์ เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในฐานะที่เป็นกัลยาณมิตรที่ดีที่ต้องสามารถตักเตือนกษัตริย์ได้เมื่อออกนอกลู่นอกทาง นอกจากนั้น ในเวลานี้ การขยายพระราชอำนาจของกษัตริย์อย่างไร้ขอบเขตกำลังส่งผลให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา โดยได้มีการนำเสนอข้อเสนอ 3 ข้อในการปรับปรุงแก้ไขสถาบันกษัตริย์ 1. การแบ่งแยกกองทัพออกมาเป็นของสถาบันกษัตริย์นั้นไม่สามารถทำได้ 2. กษัตริย์ต้องไม่แทรกแซงอยู่เบื้องหลังของกลุ่มก้อนทางการเมือง 3. ขอให้โอนคืนทรัพย์สมบัติของชาติสู่ประชาชน

    ผู้กล่าวหาอ้างว่าข้อความที่แชร์มาดังกล่าวมีข้อความที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อรัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี จึงมาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับผู้ใช้เฟซบุ๊กซึ่งเป็นผู้แชร์โพสต์ทั้งสาม และจากการสืบสวนของตำรวจ มีพยานหลักฐานเชื่อได้ว่าเป็นบุคคลเดียวกับจิรวัฒน์

    พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อหาจิรวัฒน์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยจิรวัฒน์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การในรายละเอียดเป็นหนังสือภายใน 30 วัน (ภายในวันที่ 9 ก.ย. 2564) จากนั้นพนักงานสอบสวนได้ให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาไปโดยไม่มีการควบคุมตัวไว้

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา สน.ยานนาวา ลงวันที่ 9 ส.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/33310)
  • เวลา 11.00 น. จิรวัฒน์ พร้อมทนายความเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมตามที่พนักงานสอบสวนนัดหมาย พ.ต.ท. คมสัน แจ้งพฤติการณ์ในคดีเช่นเดิม ก่อนระบุว่า เนื่องจากการกระทําของผู้ต้องหาเป็นการแชร์ภาพและข้อความทางเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นการเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ต้องหาทราบเพิ่มเติมว่า การกระทําของผู้ต้องหาเป็น ความผิดฐาน “เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” อีกข้อหาหนึ่งด้วย อันเป็นฐานความผิดตามมาตรา 14(5) ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

    จิรวัฒน์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายในวันที่ 4 ต.ค. 2564

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม สน.ยานนาวา ลงวันที่ 16 ก.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/33310)
  • พนักงานสอบสวนนัดจิรวัฒน์ส่งตัวพร้อมสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 2 อัยการนัดฟังคำสั่งวันที่ 15 ธ.ค. 2564
  • อัยการยังไม่มีคำสั่งฟ้อง นัดฟังคำสั่งอีกครั้งวันที่ 18 ม.ค. 2565
  • อัยการยังไม่มีคำสั่งฟ้อง เลื่อนนัดไปเป็นวันที่ 8 ก.พ. 2565
  • พนักงานอัยการ สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจิรวัฒน์ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” และ “เผยแพร่และส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร”ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3),(5)

    หลังพนักงานอัยการยื่นฟ้อง ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี โดยศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ให้วางหลักประกันจำนวน 150,000 บาท ใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ ศาลยังกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร นัดคุ้มครองสิทธิในวันที่ 22 ก.พ. 2565 เวลา 09.00 น. และนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 21 มี.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ อ.180/2565 ลงวันที่ 8 ก.พ. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/40434)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
จิรวัฒน์ (สงวนนามสกุล)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
จิรวัฒน์ (สงวนนามสกุล)

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์