ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.946/2564
แดง อ.1647/2565

ผู้กล่าวหา
  • ศิวพันธุ์ มานิตย์กุล (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.946/2564
แดง อ.1647/2565
ผู้กล่าวหา
  • ศิวพันธุ์ มานิตย์กุล

ความสำคัญของคดี

ธัญดล (สงวนนามสกุล) โปรแกรมเมอร์วัย 36 ปี ถูกศิวพันธุ์ มานิตย์กุล ประชาชนทั่วไป แจ้งความดำเนินคดีในข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ สภ.บางแก้ว จ.สมุทรปราการ จากการแชร์ข้อความพร้อมภาพจากเพจเฟซบุ๊ก “KonthaiUK” จำนวน 2 โพสต์ วิจารณ์การใช้ภาษีอุ้มการบินไทยพาดพิงถึงรัชกาลที่ 10

ทั้งนี้ ศิวพันธ์ุ มานิตย์กุล เข้าแจ้งความดำเนินคดีประชาชนในท้องที่ต่าง ๆ ที่ สภ.บางแก้ว เป็นจำนวนหลายคดี และมีอย่างน้อย 9 คดี ที่ตำรวจเรียกผู้ถูกกล่าวหามาดำเนินคดี โดยคดีส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์ในช่วงกลางปี 2563

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแม้ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่น

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

ประคอง ดุลคนิจ พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการ บรรยายฟ้องมีใจความสำคัญว่า จำเลยได้กระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรม ดังนี้

1. เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2563 จำเลยได้แชร์โพสต์จากเฟซบุ๊กเพจ “KonthaiUK” ซึ่งมีข้อความระบุถึงสาเหตุที่รัฐต้องนำภาษีประชาชนไปอุ้มการบินไทย อยู่เหนือภาพเครื่องบินของสายการบินไทยที่มีข้อความแทรกบนภาพมีเนื้อหาทำนองเดียวกัน และมีพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ที่ฉลองพระองค์ด้วยชุดเครื่องแบบนักบินพาณิชย์อยู่ด้านข้าง

2. เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2563 จำเลยได้แชร์โพสต์จากเฟซบุ๊กเพจ “KonthaiUK” ซึ่งมีข้อความกล่าวถึงสาเหตุที่รัฐต้องนำภาษีไปอุ้มการบินไทย อยู่เหนือภาพถ่ายทางอากาศบริเวณสวนอัมพร ซึ่งมีเครื่องบินจอดอยู่ 1 ลํา โดยมีข้อความแทรกบนภาพว่า “ชอบเครื่องบินมากถึงขนาดขนไปประกอบส่วนตกแต่งสวนที่วังสวนอัมพร”

ข้อความดังกล่าวสื่อความหมายถึงรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นข้อความเท็จทั้งสิ้น และเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ใส่ร้าย ใส่ความ ดูหมิ่น หมิ่นประมาทเบื้องสูง หมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์ ทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียเกียรติยศ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดสมุทรปราการ คดีหมายเลขดำที่ อ.946/2564 ลงวันที่ 19 ส.ค. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • ที่ สภ.บางแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ ธัญดล (สงวนนามสกุล) อายุ 36 ปี พร้อมทนายความ เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หลังจากได้รับหมายเรียก โดยพบว่าถูกกล่าวหาจากการแชร์ข้อความจากเพจเฟซบุ๊ก “KonthaiUK” จำนวน 2 โพสต์ พร้อมคอมเมนต์กำกับเกี่ยวกับกษัตริย์นักบิน ตั้งแต่เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2563

    ก่อนหน้านี้ ธัญดลได้รับหมายเรียกจาก สภ.บางแก้ว ลงวันที่ 12 พ.ค. 2564 ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยคดีมีศิวพันธุ์ มานิตย์กุล เป็นผู้กล่าวหา ธัญดลจึงได้ประสานทนายความเข้ารับทราบข้อกล่าวหา

    พ.ต.ท.รังสรรค์ คําสุข รองผู้กำกับ (สอบสวน) สภ.บางแก้ว ได้เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาทั้งสองข้อหาแก่ธัญดล โดยในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาระบุพฤติการณ์ว่า

    เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2563 เวลาประมาณ 17.00 น. ศิวพันธุ์ มานิตย์กุล ผู้กล่าวหา ได้นั่งดูเฟซบุ๊ก ในคอมพิวเตอร์ของตนเอง พบว่ามีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ข้อความ 1 ข้อความ และแชร์โพสต์ข้อความอีก 1 โพสต์ ประกอบด้วย

    1. เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2563 ผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวได้โพสต์ข้อความว่า “ไม่แปลก ที่ บริษัทมันเจ้ง” พร้อมกับแชร์ข้อความของเพจเฟซบุ๊กชื่อ “KonthaiUK” ที่โพสต์เอาไว้เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2563 ซึ่งมีข้อความกล่าวถึงสาเหตุที่รัฐต้องนำภาษีไปอุ้มการบินไทย

    ข้อความดังกล่าวโพสต์พร้อมภาพถ่ายทางอากาศบริเวณสวนอัมพร ซึ่งมีเครื่องบินจอดอยู่ 1 ลํา โดยที่บนภาพมีข้อความว่า “ชอบเครื่องบินมากถึงขนาดขนไปประกอบส่วนตกแต่งสวนที่วังสวนอัมพร”

    2. เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2563 ผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวได้แชร์ข้อความของเพจชื่อ “KonthaiUK” ที่โพสต์ไว้เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2563 โดยโพสต์ต้นทางมีข้อความเกี่ยวกับเหตุผลที่รัฐต้องอุ้มการบินไทยทำนองเดียวกับโพสต์แรก อยู่เหนือภาพเครื่องบินของสายการบินไทยและพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ที่ฉลองพระองค์ด้วยชุดเครื่องแบบนักบินพาณิชย์และบนภาพมีข้อความเกี่ยวกับการใช้ภาษีของประชาชน

    ในโพสต์นี้ ผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าว ไม่ได้เขียนข้อความใดๆ ประกอบ เพียงแต่แชร์ภาพและข้อความมาเท่านั้น

    ศิวพันธุ์กล่าวหาว่า ข้อความทั้งสองโพสต์เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ จึงเข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดําเนินคดีกับผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กที่แชร์ข้อความดังกล่าว เพื่อให้ได้รับโทษตามกฎหมาย

    ภายหลังการสืบสวนสอบสวนทราบว่า ผู้ต้องหาเป็นผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กในชื่อดังกล่าว และเป็นผู้แชร์ข้อความดังกล่าว โดยการกระทําของผู้ต้องหาเป็นการกระทําความผิดตามกฎหมายจึงออกหมายเรียกมารับทราบข้อกล่าวหา

    พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์, เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง เบื้องต้นธัญดลให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมภายใน 30 วัน

    จากนั้นในช่วงบ่าย พนักงานสอบสวนได้นำตัวธัญดลไปขอฝากขังที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ ทั้งที่ผู้ต้องมาเดินทางมาตามหมายเรียก โดยศาลอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหา ก่อนที่จะอนุญาตให้ประกันตัวด้วยวงเงิน 150,000 บาท ซึ่งทางญาติของธัญดลได้นำเงินมาวางเป็นหลักประกันเอง ศาลนัดรายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 20 ส.ค. 2564 เวลา 09.00 น.

    จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หลังการกลับมาบังคับใช้มาตรา 112 อีกครั้งในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึงวันที่ 28 พ.ค. 2564 พบว่า มีคดีมาตรา 112 ของ สภ.บางแก้ว จำนวน 7 คดี โดยมีถึง 6 คดีแล้วที่มีศิวพันธุ์ มานิตย์กุล เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยทั้งหมดเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กแชร์หรือเขียนข้อความต่างๆ ในช่วงปีที่ผ่านมา

    นอกจากนี้ พนักงานสอบสวน สภ.บางแก้ว ยังมีแนวทางการนำตัวผู้ต้องหาที่มาปรากฏตัวต่อหน้าพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก ไปขออนุญาตศาลฝากขัง ต่างจากสถานการณ์ในสถานีตำรวจอื่นๆ ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผู้ต้องหาต้องถูกควบคุมตัวและใช้หลักทรัพย์ในการขอปล่อยตัวชั่วคราวจำนวนมากอีกด้วย

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา สภ.บางแก้ว ลงวันที่ 28 พ.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/30236)
  • พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการยื่นฟ้องธัญดลต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ ในฐานความผิดหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(5) กล่าวหาว่า ข้อความที่จำเลยแชร์จากเฟซบุ๊กเพจ “KonthaiUK” รวม 2 โพสต์ สื่อความหมายถึงรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นข้อความเท็จทั้งสิ้น และเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ใส่ร้าย ใส่ความ ดูหมิ่น หมิ่นประมาทเบื้องสูง หมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์ ทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียเกียรติยศ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง

    อย่างไรก็ตาม ท้ายคำฟ้องอัยการไม่คัดค้านการปล่อยขั่งคราวระหว่างพิจารณา โดยให้อยู่ในดุลพินิจของศาล

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดสมุทรปราการ คดีหมายเลขดำที่ อ.946/2564 ลงวันที่ 19 ส.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/30236)
  • ธัญดลเดินทางเข้ารายงานตัวที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการตามที่ศาลนัด หลังรับทราบฟ้องและถูกควบคุมตัวระหว่างที่รอยื่นประกัน ศาลอนุญาตให้ประกันธัญดลระหว่างพิจารณาคดี โดยใช้หลักประกันเดิมในชั้นฝากขัง นัดคุ้มครองสิทธิวันที่ 19 ม.ค. 2565
  • ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้ฟัง ธัญดลแถลงขอต่อสู้คดี ศาลนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 7 ก.พ. 2565
  • หลังศาลถามคำให้การ ธัญดลให้การปฏิเสธ โจทก์แถลงสืบพยานบุคคล 6 ปาก ฝ่ายจำเลยแถลงสืบพยาน 3 ปาก ศาลให้ใช้เวลาสืบพยานฝ่ายละ 1 นัด นัดสืบพยานในวันที่ 18-19 ต.ค. 2565
  • ที่ห้องพิจารณา 13 เวลา 09.45 น. คณะผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณา ก่อนเริ่มการพิจารณา ศาลได้สอบถามทนายจำเลยถึงแนวทางการต่อสู้คดีนี้ ด้านทนายจำเลยตอบศาลว่า จำเลยต้องการจะถอนคำให้การเดิมที่ปฏิเสธ และให้การใหม่เป็นรับสารภาพ

    ศาลถามทนายจำเลยว่า มีอะไรที่จะแถลงเพื่อเป็นเหตุให้บรรเทาโทษหรือไม่ ทั้งนี้ศาลได้กล่าวว่าให้จำเลยกับทนายจำเลยปรึกษากันให้ดีก่อน พร้อมกับกำชับว่า ในอนาคตไม่รู้ผลจะเป็นอย่างไร แต่ขอให้วันนี้ทำให้เต็มที่ก่อน หากมีอะไรที่พอจะบรรเทาโทษได้ขอให้เสนอต่อศาลได้เลย

    จำเลยกับทนายจำเลยปรึกษากันอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนที่จำเลยจะเดินไปหน้าห้องพิจารณาเพื่อแถลงต่อศาลว่า ยืนยันจะขอถอนคำให้การเดิมและรับสารภาพ ธัญดลยืนยันว่า ตนเป็นผู้แชร์โพสต์ดังกล่าวจริง แต่ไม่ได้มีเจตนาก้าวล่วงพระมหากษัตริย์ เพียงแค่ต้องการวิจารณ์การทำธุรกิจการบินไทยที่ขาดทุนมานานเท่านั้น รวมถึงยอมรับว่า ไม่ได้อ่านข้อความที่แชร์มาให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อน

    และที่สำคัญจำเลยได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และพระเมตตาของในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย รวมถึงได้สำนึกในการกระทำของตนแล้ว และเพื่อบรรเทาผลร้ายที่ได้กระทำลงไป จำเลยจะขอยื่นคำแถลงการณ์ประกอบคำรับสารภาพต่อศาลภายใน 15 วัน รวมถึงจะลงข้อความแถลงการณ์ลงบนสื่อโซเชียลมีเดีย และพิจารณาหาทางส่งหนังสือถึงสำนักพระราชวังเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ

    ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า สมควรให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจประวัติของจำเลย โดยให้รายงานต่อศาลภายใน 15 วัน ก่อนกำหนดนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 17 ธ.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

    ปัจจุบันธัญดลประกอบอาชีพโปรแกรมเมอร์ในบริษัทที่กรุงเทพฯ ส่วนตัวมีความสนใจในการเมือง และเริ่มวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐ เพราะอยากให้สังคมไทยพัฒนาขึ้น และอยากให้ประชาชนทั่วไปสามารถลืมตาอ้าปากจากความยากจนได้ โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพเกษตรกร

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดสมุทรปราการ คดีหมายเลขดำที่ อ.946/2564 ลงวันที่ 18 ต.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/49679)
  • เวลา 09.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 13 ศาลออกพิจารณาคดี ก่อนอ่านคำพิพากษา ศาลแจ้งว่าได้รับรายงานสืบเสาะและพินิจจำเลยจากพนักงานคุมประพฤติแล้ว ซึ่งมีข้อเท็จจริงโดยสรุปว่า จำเลยอายุ 38 ปี ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี มีภาระต้องดูแลแม่และภรรยา จากการตรวจสอบพบว่า จำเลยไม่เคยกระทำผิดมาก่อน จากรายงานดังกล่าวพนักงานคุมประพฤติยังได้ประเมินโอกาสในการกระทำผิดซ้ำของจำเลยด้วยว่าอยู่ใน ‘ระดับปานกลาง’ พร้อมกับเสนอความเห็นให้ศาลกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติจำเลยเป็นเวลา 3 ปี และให้ทำงานสาธารณประโยชน์เป็นเวลา 48 ชั่วโมง

    จากนั้นศาลได้อ่านคำพิพากษา มีรายละเอียดโดยสรุปว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (5) เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป อีกทั้งการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 112 ที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 1 ปี 6 เดือน รวมจำคุก 2 ปี 12 เดือน

    พิเคราะห์รายงานสืบเสาะและพินิจ ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีพฤติการณ์ในลักษณะเดียวกันนี้อีก ประกอบกับภายหลังกระทำความผิด จำเลยได้น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 10 อันเป็นการสำนึกในความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแล้ว เมื่อคำนึงถึงว่า จำเลยไม่ต้องโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรให้โอกาสจำเลยสักครั้ง น่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยและสังคมมากกว่า จึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี พร้อมกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือนตลอดระยะเวลารอการลงโทษ และให้ทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์เป็นเวลา 48 ชั่วโมง

    ธัญดลเปิดเผยหลังฟังคำพิพากษาว่า รู้สึกดีใจและโล่งใจที่ศาลพิพากษาให้รอการลงโทษไว้เป็นเวลา 3 ปี โดยจะใช้เวลาหลังจากนี้ดูแลผู้เป็นแม่ให้เต็มที่อย่างที่ตั้งใจไว้

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลจังหวัดสมุทรปราการ คดีหมายเลขดำที่ อ.946/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.1647/2565 ลงวันที่ 27 ธ.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/51861)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ธัญดล (สงวนนามสกุล)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ธัญดล (สงวนนามสกุล)

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. ชัชวาล สวัสดิสาระ
  2. ประพิณ ประดิษฐากร

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 27-12-2022

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์