สรุปความสำคัญ

"มายด์" ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล นักศึกษาและนักกิจกรรมกลุ่ม "ราษฎร" ถูกดำเนินคดีข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการปราศรัยในการชุมนุม #เพราะประเทศนี้เป็นของราษฎร บริเวณสี่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 โดยมีประชาชน 2 ราย เข้าแจ้งความให้ดำเนินคดี อ้างเหตุว่า คำปราศรัยของมายด์เป็นการใส่ความรัชกาลที่ 10 ให้ได้รับความเสียหาย

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี ทำให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือปิดปากประชาชนที่แสดงออกโดยสงบในเชิงวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

8 เม.ย. 2564 เวลา 10.00 น. นักกิจกรรมและประชาชนรวม 9 คน พร้อมทนายความ ได้เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีการเข้าร่วมการชุมนุม #ม็อบ24มีนา ที่แยกราชประสงค์ โดยหนึ่งในนั้นเป็นเยาวชนอายุ 16 ปี

ก่อนหน้านี้ทางพนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกลงวันที่ 26 มี.ค. 2564 เพียง 2 วัน ภายหลังการชุมนุม โดยระบุว่าคดีมี พ.ต.ต.สิทธิศักดิ์ สุดหอม เป็นผู้กล่าวหา โดยมีผู้ถูกออกหมายเรียกทั้งหมด 10 ราย ประกอบด้วย ชาติชาย แกดำ, ยิ่งชีพ อัชฌานนท์, ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, ธนพร วิจันทร์, เบนจา อะปัญ, อรรถพล บัวพัฒน์, ชุมาพร แต่งเกลี้ยง, ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล, ณัฏฐิดา มีวังปลา และภูมิ (สงวนชื่อและนามสกุล) เยาวชนจากกลุ่มนักเรียนไท ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้ขึ้นปราศรัยในเวทีการชุมนุม

พ.ต.ท.เทอดศักดิ์ มนัสชน สารวัตร (สอบสวน) สน.ลุมพินี ได้เป็นผู้นำคณะพนักงานสอบสวน แจ้งข้อหากับทั้งหมดในข้อหาเดียว คือ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 มาตรา 9 “ร่วมกันชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัดในลักษณะที่อาจเป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรคโควิด 19 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย อันเป็นการร่วมกันฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้หน้าผู้รับผิดชอบ ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินเกี่ยวกับความมั่นคง”

นอกจากนี้เฉพาะ “มายด์” ภัสราวลี ยังถูกแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพิ่มอีก 1 ข้อหา เหตุเนื่องจากการแจ้งความร้องทุกข์ของประชาชน 2 ราย

ในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาระบุพฤติการณ์ไว้ว่า วราวุธ มากมารศรี ทราบว่าจะมีการชุมนุมเกิดขึ้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ จึงส่งตัวแทนในกลุ่มปกป้องสถาบันฯ แฝงตัวเข้าไปเฝ้าสังเกตการณ์และรับฟังการปราศรัย ปรากฏว่าภัสราวลีได้ขึ้นปราศรัยพูดในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ผู้แจ้งความเห็นว่าการกระทำของภัสราวลีเป็นการดูหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์ ให้เสื่อมเสียพระเกียรติ นำเสนอข้อความอันเป็นเท็จ ทำให้ผู้รับฟังเข้าใจผิด จนอาจนำไปสู่ความเกลียดชังต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงมาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน

ต่อมาประชาชนอีกราย คือ แทนคุณ ปิตุภูมิ ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์เอาผิดกับภัสราวลี ในข้อหาเดียวกันอีกราย

หลังรับทราบข้อกล่าวหา ภัสราวลีให้การปฎิเสธทุกข้อกล่าวหา จากนั้นพนักงานสอบสวนได้ให้ปล่อยตัวทั้งหมดไปโดยไม่มีการควบคุมตัวไว้

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คดีนี้นับเป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 3 ของภัสราวลี จากการเคลื่อนไหวทางการเมือง

(อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สน.ลุมพินี ลงวันที่ 8 เม.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/28109)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์