สรุปความสำคัญ

“ปูน” ธนพัฒน์ (สงวนนามสกุล) นักกิจกรรมกลุ่ม "ทะลุฟ้า" ต้องเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.สุไหง โก-ลก จ.นราธิวาส ก่อนถูกดำเนินคดีในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยถูกพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน กล่าวหาว่า โพสต์ภาพและข้อความลงในกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง พาดพิงรัชกาลที่ 10 และบรมวงศานุวงศ์ รวมถึงต่อต้านสถาบันกษัตริย์ รวม 8 โพสต์ ในช่วง ธ.ค. 63 - ก.พ. 64 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ปูนยังอายุไม่ถึง 18 ปี ทำให้คดีนี้ปูนถูกดำเนินคดีในศาลเยาวชนฯ จ.นราธิวาส เป็นภาระในการเดินทางไปต่อสู้คดี แม้ว่าตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนฯ จะกำหนดให้ศาลเยาวชนฯ ในถิ่นที่อยู่ปกติของเยาวชน มีอำนาจในการพิจารณาคดี

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแม้ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลที่มีความเห็นต่างทางการ

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • ธนพัฒน์ (สงวนนามสกุล)
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

9 พ.ย. 2564 “ปูน” ธนพัฒน์ (สงวนนามสกุล) นักกิจกรรมทางการเมือง เดินทางไปรับทราบข้อหาตามหมายเรียกของสถานีตำรวจภูธรสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ในข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ก่อนพบว่าเหตุที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหานั้นเกิดขึ้นขณะอายุยังไม่ถึง 18 ปี ทำให้ถูกดำเนินคดีในฐานะเยาวชน

ในการเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ปูนต้องเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังหาดใหญ่ จ.สงขลา ก่อน 1 วัน และเดินทางต่อไปยัง อ.สุไหงโก-ลก ในช่วงเช้าวันนี้

พนักงานสอบสวนแจ้งพฤติการณ์คดีมีใจความโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2564 เวลาประมาณ 22.00 น. พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ผู้กล่าวหาได้พบข้อความ โดยบัญชีเฟซบุ๊กชื่อสกุลเดียวกันกับธนพัฒน์ในภาษาอังกฤษได้โพสต์ข้อความและภาพที่มีเนื้อหาพาดพิงถึงรัชกาลที่ 10 และบรมวงศานุวงศ์ รวมถึงต่อต้านสถาบันกษัตริย์ ในกลุ่มรอยัลลิสต์มาเก็ตเพลส-ตลาดหลวง รวม 8 โพสต์ ในช่วงเดือนธันวาคม 2563 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งเมื่อบุคคลทั่วไปได้อ่านแล้ว มีความรู้สึกและเห็นว่าเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท

พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อกล่าวหากับธนพัฒน์ใน 2 ข้อหา ได้แก่ “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ "นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงฯ" ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

ธนพัฒน์ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะขอให้การในชั้นศาล ก่อนพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอให้ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนราธิวาสออกหมายควบคุมตัวธนพัฒน์ เนื่องจากโพสต์แทบทั้งหมดระบุวันที่โพสต์ในช่วงที่ธนพัฒน์ยังอายุไม่ถึง 18 ปี

ด้านทนายความได้แถลงคัดค้านด้วยวาจา เนื่องจากเหตุที่ถูกดำเนินคดีเกิดขึ้นขณะธนพัฒน์เป็นเยาวชน และธนพัฒน์มีภูมิลำเนาอยู่ในอีกจังหวัดหนึ่ง โดยตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 95 กำหนดว่า “คดีอาญาที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิด ให้ศาลเยาวชนและครอบครัวซึ่งมีเขตอำนาจในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนมีถิ่นที่อยู่ปกติ มีอำนาจพิจารณาคดีเกี่ยวกับความผิดนั้น” ดังนั้นศาลเยาวชนฯ จังหวัดนราธิวาส จึงไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้

อย่างไรก็ตาม ศาลเยาวชนฯ จังหวัดนราธิวาส มีคำสั่งอนุญาตให้พนักงานสอบสวนควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ตามคำขอ แต่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวธนพัฒน์ในวงเงิน 10,000 บาท โดยใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์วางเป็นหลักประกัน ศาลนัดรายงานตัวในวันที่ 7 ก.พ. 2565

อนึ่ง ธนพัฒน์ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ในคดีนี้เป็นคดีที่ 2 โดยคดีแรก จากกรณีเผารูปรัชกาลที่ 10 บริเวณป้ายเรือนจำคลองเปรม ซึ่งมี ไชยอมร แก้ววิบูลพันธ์ หรือ “แอมมี่” นักร้องวง The Bottom Blues เป็นจำเลยในคดีเดียวกันนี้ด้วย

เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุด้วยว่า พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน ได้แจ้งความประชาชนอีกอย่างน้อย 20 ราย ที่สถานีตำรวจนี้ ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งขณะนี้ตำรวจได้มีการทยอยออกหมายเรียก และดำเนินคดีไปแล้วอย่างน้อย 6 ราย โดยเท่าที่ศูนย์ทนายฯ ทราบข้อมูล ไม่มีผู้ใดมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ภาคใต้เลยแต่อย่างใด ทำให้เกิดภาระของผู้ถูกกล่าวหาที่ต้องเดินทางไปยังจังหวัดนราธิวาสเพื่อต่อสู้คดี

(อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา สภ.สุไหงโก-ลก ลงวันที่ 9 พ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/37609)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์