ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • twitter
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.2697/2564
แดง อ.1290/2566

ผู้กล่าวหา
  • ไม่ทราบชื่อ (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • twitter
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.2697/2564
แดง อ.1290/2566
ผู้กล่าวหา
  • 1

ความสำคัญของคดี

เวหา แสนชนชนะศึก ชาวพิษณุโลกวัย 37 ปี ถูกจับกุมและดำเนินคดีในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของบัญชีทวิตเตอร์ “ฟ้าฝน ver. เกรี้ยวกราด” ที่ทวิตข้อความในช่วงวันที่ 4-5 ส.ค. 2564 เล่าเรื่องไสยศาสตร์ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพรัชกาลที่ 9 และเล่าประสบการณ์การถูกทำโทษจากการปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาด ด้วยการคุมขังในเรือนจำชั่วคราวพุทธมณฑล หรือที่ถูกเรียกว่า “คุกวังทวีวัฒนา” จนเกิดเป็นกระแสแฮชแท็ก #แอร์ไม่เย็น ในทวิตเตอร์

กรณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตีความมาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความอย่างกว้าง ซึ่งขัดต่อหลักกฎหมายอาญาที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัดเนื่องจากมีบทลงโทษที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

ชิสา ฉัตรงามอภิชาติ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 บรรยายคำฟ้องมีเนื้อโดยสรุปว่า

ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวกันจะแบ่งแยกไม่ได้ และมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน ทรงเป็นประมุขดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้

คำฟ้องบรรยายโดยสรุปว่า มีผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์ชื่อ “lll ฟ้าฝน ver. เกรี้ยวกราด” ซึ่งพบว่าเป็นของจำเลย ได้ทำการหมิ่นประมาทหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยจำเลยได้พิมพ์และโพสต์ข้อความบนทวิตเตอร์ รวม 3 โพสต์ กล่าวคือ

1. เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2564 โพสต์เรื่องราวไสยศาสตร์ในการจัดสร้างพระเมรุมาศและพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของรัชกาลที่ 9

2. เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2564 โพสต์เรื่องแนวคิดในการฝังบาตรแตกในระหว่างการจัดสร้างพระเมรุมาศเพื่อใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของรัชกาลที่ 9 และเหตุผลของรัชกาลที่ 10 ที่ไม่ขึ้นครองราชย์ในทันทีหลังการสวรรคตของรัชกาลที่ 9

3. เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2564 โพสต์เล่าประสบการณ์การถูกลงโทษหลังจากปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาดในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยถูกคุมขังในเรือนจำชั่วคราวพุทธมณฑล เขตทวีวัฒนา หรือที่ถูกเรียกว่า “คุกวังทวีวัฒนา” พร้อมระบุว่าตัวเองถูกปฎิบัติมีลักษณะ "ซ้อมทรมาน" ด้วย

ข้อความที่โพสต์ในทวิตเตอร์ดังกล่าวเป็นข้อความเท็จและเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทําให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง โดยจําเลยมีเจตนาทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทย ทําให้เสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ซึ่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2697/2564 ลงวันที่ 2 พ.ย. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลาประมาณ 13.00 น. ตำรวจกองกำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 2 นำโดย พ.ต.ท.แทน ไชยแสง สว.กก.2 บก.ส.2, พร้อมด้วยตำรวจ สภ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก นำโดย พ.ต.ท.พงศ์พิสิษฐ์ ปัญญา สารวัตรปราบปราม (สวป.) เข้าจับกุม เวหา แสนชนชนะศึก อายุ 37 ปี ที่บ้านพักในพิษณุโลก ตามหมายจับของศาลจังหวัดพิษณุโลก ที่ 195/2564 ลงวันที่ 10 ส.ค. 2564 ในข้อหา หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงฯ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)

    ตำรวจยังได้ตรวจค้นบ้านและยึดของกลาง จำนวน 10 รายการ ได้แก่ โทรศัพท์มือถือจำนวน 5 เครื่อง, Micro SD 1 อัน, ซิมโทรศัพท์ 6 อัน และกล่องโทรศัพท์ 2 กล่อง

    จากนั้นได้ควบคุมตัวไปที่ สภ.เนินมะปราง เพื่อทำบันทึกการจับกุม และจะส่งตัวไปดำเนินคดีที่กองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (กก.1 บก.ปอท.) ต่อไป

    การจับกุมครั้งนี้สืบเนื่องจาก เวหาถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของบัญชีทวิเตอร์ “ฟ้าฝน ver. เกรี้ยวกราด” ซึ่งทวิตข้อความในช่วงวันที่ 4-5 ส.ค. 2564 เล่าประสบการณ์การถูกลงโทษหลังจากปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาดในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยถูกคุมขังในเรือนจำชั่วคราวพุทธมณฑล เขตทวีวัฒนา หรือที่ถูกเรียกว่า “คุกวังทวีวัฒนา” พร้อมระบุว่าตัวเองถูกปฎิบัติมีลักษณะ "ซ้อมทรมาน" ด้วย จนเกิดเป็นกระแสแฮชแท็ก #แอร์ไม่เย็น ในทวิตเตอร์

    ที่ผ่านมาเวหาเคยตกเป็นผู้ต้องหาในข้อหา ยุยงปลุกปั่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา116 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จากกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าโพสต์เรื่องนักกิจกรรมถูกจับก่อนจัดกิจกรรม “พิษณุโลกคนกล้าไม่ก้มหน้าให้เผด็จการ” โดยเขาให้ข่าวว่าถูกขังอยู่ถึง 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 9 ส.ค. - 9 พ.ย.2563 แต่อัยการสั่งไม่ฟ้องใน 2 ข้อหาดังกล่าว

    (อ้างอิง: https://prachatai.com/journal/2021/08/94416)
  • ช่วงสาย เวหาถูกควบคุมตัวเข้ากรุงเทพฯ และไปที่ กก.1 บก.ปอท. โดยมีทนายความติดตามไปเพื่อเข้าร่วมกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำ

    พนักงานสอบสวนระบุพฤติการณ์คดีว่า ก่อนเกิดเหตุตำรวจได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้สืบสวนติดตามความเคลื่อนไหวของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีการเคลื่อนไหวต่อต้านและให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยพบว่าเมื่อระหว่างวันที่ 4-5 ส.ค. 2564 มีผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์ "ฟ้าฝน ver.เกรี้ยวกราด" @abigblackdogis สร้างเมื่อเดือน พ.ย. 2560 ได้โพสต์ข้อความและรูปภาพที่ไม่เป็นความจริงกล่าวหาใส่ร้ายสถาบันเบื้องสูง ทำนองว่า งมงายในด้านไสยศาสตร์ อันเป็นความผิดฐาน หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(3) เวหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

    จากนั้น พนักงานสอบสวน กก.1 บก.ปอท. ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อฝากขังเวหาผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ให้เหตุผลว่า ยังสอบสวนไม่เสร็จ ต้องสอบปากคำพยานจำนวน 7 ปาก, รอผลตรวจสอบของกลางที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด, รอผลการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือและประวัติการต้องโทษ พร้อมทั้งระบุไว้ท้ายคำร้องว่า ไม่คัดค้านการประกันตัว

    อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไม่มีญาติเดินทางมาทำเรื่องขอประกันเวหา หลังศาลอนุญาตให้ฝากขังจึงยังไม่มีการยื่นคำร้องขอประกันเวหา ทำให้เขาถูกส่งไปขังระหว่างสอบสวนที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง ตามมาตราการกักตัวในช่วงโควิด

    (อ้างอิง: https://prachatai.com/journal/2021/08/94416)
  • ทนายความเข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเวหา เสนอหลักประกันเป็นเงินสด 90,000 บาท พร้อมทั้งระบุเหตุผลที่สำคัญว่า

    1. ผู้ต้องหาให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตํารวจในการจับกุมแต่โดยดี มิได้ต่อสู้ขัดขวาง จึงไม่มีพฤติการณ์หลบหนีใด ๆ ผู้ต้องหามีภูมิลําเนาเป็นหลักแหล่งแน่นอน จึงสามารถติดตามได้โดยง่าย อีกทั้งไม่ได้เป็นผู้มีอิทธิพลที่จะเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ ทั้งไม่เคยต้องโทษในคดีอาญาใด ๆ มาก่อน จึงไม่อาจไปก่ออันตรายประการอื่นได้
    2. ไม่ปรากฏเหตุและพฤติการณ์ใดๆ ของผู้ต้องหาที่เข้าเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาแม้แต่น้อย
    3. ผู้ต้องหามีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาโรคประจำตัวอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ต้องหามีนัดต้องพบแพทย์ในวันที่ 21 ต.ค. 2564 เพื่อรับยาและตรวจติดตามอาการ การถูกคุมขังไว้ระหว่างสอบสวนส่งผลกระทบต่อการรักษาโรคของผู้ต้องหา

    ต่อมา อรรถการ ฟูเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเวหา โดยอ้างว่าในคำร้องที่ยื่นต่อศาลนั้น ลายมือและสีน้ำหมึกของผู้มอบฉันทะซึ่งเป็นทนายความผู้ยื่นทำเรื่องขอประกัน แตกต่างจากของผู้รับมอบฉันทะให้ฟังคำสั่งศาลในวันนี้

    โดยได้ระบุคำสั่งว่า “กรณีลายมือและสีหมึกในส่วนของผู้รับมอบฉันทะ แตกต่างจากสำนวนของผู้มอบฉันทะ โดยผู้มอบฉันทะไม่ได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้ จึงไม่อาจเชื่อได้ว่ามีผู้รับมอบฉันทะจริง”

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวและคำสั่ง ศาลอาญา ลงวันที่ 1 ต.ค. 2564)

  • หลังทนายความเข้ายื่นประกันอีกครั้ง อรรถการ ฟูเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวตลอดถึงชั้นพิจารณาคดี ในวงเงินประกัน 90,000 บาท โดยให้ตั้งทนายความในคดีเป็นผู้กำกับดูแล และมีเงื่อนไขห้ามกระทำการในลักษณะที่ถูกกล่าวหาอีก นัดรายงานตัวต่อศาลในวันที่ 11 ต.ค. 2564

    เวหาได้รับการปล่อยตัวในช่วงค่ำ หลังถูกคุมขังระหว่างสอบสวนรวม 53 วัน โดยระหว่างนั้นเขาติดโควิด และถูกส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์จนหาย และออกจากโรงพยาบาลในวันเดียวกันนี้
  • นายประกันยื่นคำร้องขอรายงานตัวแทนผู้ต้องหา เนื่องจากหลังได้รับการประกันตัว เวหาได้เดินทางกลับบ้านที่ อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก และต้องกักตัวตามมาตรการป้องกันโควิด ประกอบกับสถานการณ์น้ำท่วม การเดินทางยากลำบาก ไม่มีรถประจำทาง เวหาจึงไม่สามารถมารายงานตัวตามนัดได้
  • พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 ยื่นฟ้องเวหาในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงฯ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 กล่าวหาว่า ข้อความที่บัญชีทวิตเตอร์ “lll ฟ้าฝน ver. เกรี้ยวกราด” ซึ่งพบว่าเป็นของจำเลย โพสต์ในช่วงวันที่ 4-5 ส.ค. 2564 เป็นข้อความเท็จและเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยจําเลยมีเจตนาทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์

    พนักงานอัยการได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวมาในท้ายคำฟ้อง โดยระบุว่า เนื่องจากเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูงและเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง รวมถึงจําเลยยังเป็นบุคคลคนเดียวกันกับจําเลยในคดีอาญาของศาลแขวงพิษณุโลก จึงขอให้ศาลนับโทษจําคุกของจําเลยในคดีนี้ต่อจากในคดีดังกล่าวด้วย

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2697/2564 ลงวันที่ 2 พ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/37455)
  • เวหาเดินทางไปรายงานตัวต่อศาลตามนัด หลังเข้าพบเจ้าหน้าที่ศาลจึงได้รับแจ้งว่า พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 ได้ยื่นฟ้องคดีแล้ว

    ต่อมาทนายความได้ยื่นประกันตัวเวหา และศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี โดยใช้หลักทรัพย์ประกันเดิมที่เคยใช้ในชั้นสอบสวน เป็นจำนวน 90,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมทั้งกำหนดนัดวันตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 20 ธ.ค. 2564 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/37455)
  • นัดพร้อมเพื่อประชุมคดี สอบคําให้การจําเลย ตรวจพยานหลักฐานและกําหนดวันสืบพยาน เวหา พร้อมผู้รับมอบฉันทะทนายจําเลยเดินทางไปศาล โดยทนายจําเลยยื่นคําร้องขอเลื่อนคดี เนื่องจากติดว่าความที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ในคดีอื่นที่ได้นัดไว้ล่วงหน้าแล้ว โจทก์ไม่ค้าน ศาลจึงให้เลื่อนไปนัดพร้อมเพื่อประชุมคดี สอบคําให้การจําเลย ตรวจพยานหลักฐานและกําหนดวันนัดสืบพยานในวันที่ 24 ม.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2697/2564 ลงวันที่ 20 ธ.ค. 2564)
  • นัดสืบพยานโจทก์วันที่ 14-16 มี.ค. 2566 สืบพยานจำเลยวันที่ 17 มี.ค. 2566
  • ที่ศาลอาญารัชดาฯ มีนัดไต่สวนถอนประกันเวหาในคดีนี้ ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2564 ศาลเคยมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในชั้นสอบสวน ตลอดจนชั้นพิจารณาในวงเงิน 90,000 บาท พร้อมตั้งผู้กำกับดูแล และกำหนดเงื่อนไขว่า “ห้ามจำเลยกระทำการในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาอีก”

    การไต่สวนครั้งนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2565 พนักงานอัยการเจ้าของสำนวนได้ยื่นคำร้องขอถอนประกันตัวจำเลย เนื่องจากเห็นว่าผิดเงื่อนไขการประกันตัว กรณีเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2565 เวหาได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับคำพิพากษาจำคุก “นรินทร์” ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ติดสติกเกอร์คำว่า “กูkult” ลงบนพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 โดยมีใจความว่า ตนและเพื่อนร่วมอุดมการณ์น้อมรับคำพิพากษาของศาล และจะปกป้องไม่ให้ใครผู้ใดมากระทำการอันมิบังควรต่อพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่่ 10 ด้วยการทำให้รูปที่อยู่ตามสถานที่สาธารณะมิให้ปรากฏอีกต่อไป ไม่ว่าจะที่ใดในประเทศนี้ เพื่อจะได้ไม่มีใครสามารถเอาสติกเกอร์ไปแปะให้ต้องเสื่อมพระเกียรติยศอีก พร้อมกับลงภาพประกอบข้อความที่เป็นภาพเวหาขณะยืนอยู่บนแท่นที่มีข้อความว่า “ทรงพระเจริญ” ซึ่งเป็นกรอบรูปเปล่า

    ที่ห้องพิจารณา 801 เวลา 10.03 น. ศาลออกพิจารณา และได้เบิกตัวเวหามาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ภายในห้องพิจารณาประกอบด้วยอัยการโจทก์ ทนายจำเลย จำเลย และพยานที่มาเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคำร้องขอถอนประกันมาศาล นอกจากนี้ ยังมีสมาชิกศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) จำนวนหนึ่งมาร่วมสังเกตการณ์ด้วย

    ก่อนเริ่มการไต่สวน อัยการโจทก์แถลงว่า พร้อมนําพยานเข้าไต่สวน และขอให้ศาลเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจําเลย เนื่องจากจำเลยกระทำผิดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวตามคําสั่งศาล

    ศาลสอบถามจําเลยในเบื้องต้นเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและเจตนาของจำเลยที่กระทำลงไป ด้านเวหาแถลงรับว่า ตนเป็นผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กโพสต์ข้อความดังกล่าวจริง สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2565 ศาลได้พิพากษาให้จําคุก “นรินทร์” กรณีที่นําสติกเกอร์คําว่า “กูkult” ไปติดลงบนพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งศาลได้ให้เหตุผลว่า เป็นการกระทําที่แสดงความยิ่งใหญ่เหนือกว่าพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นที่เคารพเทิดทูน ทําให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ

    จําเลยจึงได้แสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า เพื่อไม่ให้เป็นการเสื่อมเสียพระเกียรติยศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะประมุขของชาติ จากการที่มีผู้นําสติกเกอร์ไปติดไว้บนพระบรมฉายาลักษณ์ และเพื่อเป็นการปกป้องไม่ให้ผู้ใดมากระทําเหตุอันไม่มิบังควรต่อพระบรมฉายาลักษณ์ต่อไปอีก โดยการจะไม่ให้มีพระบรมฉายาลักษณ์ตามสถานที่สาธารณะต่างๆ นอกจากนี้ จําเลยได้ชี้แจงว่าภาพกรอบรูปดังกล่าวนั้นเป็นกรอบรูปว่างเปล่า ไม่มีภาพพระบรมฉายาลักษณ์ ส่วนตนก็ยืนอยู่บริเวณกลางกรอบรูป บนคําว่า “ทรงพระเจริญ”

    ในประเด็นนี้ ศาลถามเวหาว่า การกระทำดังกล่าวจำเลยเชื่อว่าไม่เป็นความผิดใช่หรือไม่ ด้านเวหาแถลงยืนยันว่า การกระทำดังกล่าว ไม่ได้เป็นการทําให้เสื่อมเสียพระเกียรติของพระเจ้าอยู่หัว และไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย เนื่องจากจําเลยยืนอยู่บนกรอบรูปเปล่า ซึ่งถูกทิ้งร้างไว้ที่องค์การบริหารส่วนตําบลแห่งหนึ่ง นอกจากนี้ จำเลยพยายามแสดงให้เห็นว่า เมื่อเป็นกรอบรูปเปล่าแล้ว ก็จะไม่มีความหมายเท่ากับมีภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

    ต่อมา ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จําเลยแถลงให้การยอมรับข้อเท็จจริงตามคําร้องว่าเป็นผู้โพสต์แสดงความคิดเห็นดังกล่าวจริง ตลอดจนภาพชายที่ยืนอยู่บริเวณกรอบรูปว่างเปล่า ก็คือจําเลย กรณีนี้ถือว่าข้อเท็จจริงพอวินิจฉัยได้ ไม่จําต้องนําพยานเข้าไต่สวน จึงให้งดไต่สวน และรอฟังคําสั่งในวันนี้ เวลา 14.00 น.

    ภายหลังที่ศาลได้ออกจากห้องพิจารณาไปแล้ว ขณะที่เวหากำลังปรึกษาเรื่องคดีกับทนายความอยู่นั้น หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม ศปปส. ได้ยกโทรศัพท์มือถือขึ้นถ่ายรูปเวหาซึ่งอยู่ในชุดคุมขังนักโทษ และมีเครื่องพันธนาการอยู่ที่ข้อเท้า ก่อนที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และตำรวจศาลจะรีบเข้ามากล่าวตักเตือน และขอให้ลบรูปดังกล่าวทิ้ง

    ต่อมา เวหาประสงค์จะดำเนินคดีกับสมาชิกกลุ่ม ศปปส. ที่แอบถ่ายรูปตนในห้องพิจารณา ขณะอยู่ในชุดนักโทษและสวมเครื่องพัฒนาการ เพราะเห็นว่าละเมิดสิทธิอย่างร้ายแรง ก่อนที่กลุ่ม ศปปส. จะพูดกดดันให้ตำรวจศาลรีบพาจำเลยลงไปที่ห้องเวรชี้

    ภายหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว เจ้าหน้าที่ศาลได้จัดทำบันทึกข้อความและสั่งให้ลบรูปดังกล่าว พร้อมกล่าวกับสมาชิกกลุ่ม ศปปส. ว่าศาลจะไม่ดำเนินคดี แต่หากรูปดังกล่าวไปปรากฏอยู่ในสื่อออนไลน์ ศาลจะตั้งข้อหาละเมิดอำนาจศาล ส่วนด้านเวหาติดใจจะขอให้มีการดำเนินคดีต่อไป

    ต่อมา เวลา 14.25 น. พลีส เทอดไทย ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดียาเสพติด ได้มีคำสั่งให้ถอนประกันเวหา รายละเอียดคำสั่ง มีเนื้อหาดังนี้

    ศาลพิเคราะห์ว่าข้อความและเนื้อหาของจำเลยมีการกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นองค์พระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน แม้มีการโพสต์แสดงความคิดเห็นของจำเลยในเบื้องต้นว่าจะน้อมรับคำพิพากษาของศาล กรณีที่ศาลพิพากษาจำคุก “นรินทร์” จำเลยในคดีติดสติกเกอร์คำว่า กูkult ลงในพระบรมฉายาลักษณ์ แต่การที่จำเลยโพสต์ข้อความว่า จะปกป้องมิให้ผู้ใดมากระทำอันมิบังควรต่อพระบรมฉายาลักษณ์ของวชิราลงกรณ์โดยการจะทำให้รูปวชิราลงกรณ์ที่อยู่ตามสถานที่สาธารณะมิให้ปรากฏอีกต่อไป ไม่ว่าจะที่ใดในประเทศนี้ เพื่อจะได้ไม่มีใครเอาสติกเกอร์ไปแปะให้วชิราลงกรณ์ต้องเสื่อมพระเกียรติยศอีก

    ศาลเห็นว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์นี้มีลักษณะประชดประชัน เกี่ยวกับการกระทำของนรินทร์ซึ่งศาลพิพากษาว่า มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในส่วนข้อความต่อมาที่ระบุว่า #ภาคีสหายพร้อม!!! ที่ปรากฏในโพสต์ของจำเลยนั้น มีเหตุอันควรให้เชื่อว่า เป็นการกล่าวเหมือนส่งสัญญาณในโซเชียลมีเดียต่างๆ ทั้งสื่อให้สหายหรือเพื่อนร่วมอุดมการณ์ของจำเลยออกมาร่วมด้วยช่วยกันในทำนองให้จัดการกับพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ที่ติดอยู่ตามสถานที่สาธารณะต่างๆ ออกไปจากประเทศไทยให้หมด

    ในส่วนถ้อยคำที่จำเลยกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 จำเลยใช้คำว่า ”วชิราลงกรณ์” ซึ่งเป็นถ้อยคำที่ปวงชนชาวไทยที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์จะไม่ใช้เรียกพระนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 และการที่จำเลยยืนอยู่บนแท่นกรอบรูปเปล่า โดยที่แท่นมีข้อความ “ทรงพระเจริญ” ปรากฏอยู่ชัดเจน ถือว่าการกระทำดังกล่าวมีลักษณะไม่เหมาะสมในบริบทของสังคมไทย ทั้งอาจสื่อไปในลักษณะอาจดูหมิ่นพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นองค์พระมหากษัตริย์ที่ดำรงอยู่ในฐานะเป็นที่สักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 6

    การกระทำดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นการกระทำในลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ กรณีต้องถือว่าจำเลยประพฤติผิดเงื่อนไขของศาลในการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาตามที่โจทก์ร้อง จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยฉบับลงวันที่ 2 ต.ค. 2564

    ก่อนหน้านี้ เวหาได้ถูกคุมขังในชั้นสอบสวน ในคดีมาตรา 112 อีกคดีหนึ่ง กรณีแชร์โพสต์เพจเฟซบุ๊ก “เยาวชนปลดแอก” วิพากษ์วิจารณ์การจัดการวัคซีนของรัฐบาล เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 และโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2565 วิพากษ์จารณ์ศาลและความอยุติธรรม โดยถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. 2565 รวมเป็นระยะเวลา 42 วัน โดยในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนมีระยะเวลาขอฝากขังได้ทั้งหมด 84 วัน

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2697/2564 ลงวันที่ 21 เม.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/42756)
  • ทนายความได้เข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเวหา ในคดีมาตรา 112 ทั้งสองคดี ได้แก่ คดีนี้และคดีแชร์โพสต์เพจเฟซบุ๊ก “เยาวชนปลดแอก”

    ต่อมา เวลา 17.00 น. ศาลมีคำสั่งให้นัดไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวทั้งสองคดี ในวันที่ 14 มิ.ย. 2565 เวลา 10.00 น. ผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ พร้อมกันนี้ศาลขอให้ทนายความเสนอพฤติการณ์พิเศษประกอบการพิจารณาคดี และแจ้งโจทก์ให้ทำคำคัดค้านก่อน หรือภายในวันนัดหมาย

    คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของเวหาทั้งสองคดี ระบุโดยสรุปว่า จำเลยขอวางหลักประกันเป็นเงินคดีละ 180,000 บาท เพื่อเป็นหลักประกันอันน่าเชื่อถือว่า จำเลยจะไม่หลบหนี ยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น และไม่เป็นอุปสรรคต่อการพิจารณาคดี

    ยิ่งไปกว่านั้นจำเลยเป็นผู้ป่วยจิตเภทอยู่ระหว่างรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลในจังหวัดพิษณุโลก มีความจําเป็นต้องเข้ารับการรักษาอาการอย่างต่อเนื่อง การถูกคุมขังไว้ระหว่างพิจารณาคดีส่งผลกระทบต่อการรักษาโรค รวมถึงจำเลยยังต้องพบแพทย์เพื่อรับยาและตรวจติดตามอาการต่อไป

    นอกจากนี้ จำเลยยินยอมติดกําไลติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) และให้มารดาเป็นผู้กํากับดูแล รวมถึงยินยอมที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นๆ ตามที่ศาลกําหนด เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่มีเจตนาจะหลบหนีแต่อย่างใด และเพื่อให้จำเลยสามารถออกไปหาพยานหลักฐานในการต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่และเป็นธรรม

    ที่สำคัญคดีที่จำเลยถูกกล่าวหาเป็นคดีที่เกี่ยวการแสดงออกทางการเมือง สิทธิเสรีภาพการชุมนุม และสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น จำเลยยังเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหา ต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ามีความผิด ตามที่รัฐธรรมนูญไทย และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) รับรองไว้

    จำเลยถูกขังตามหมายขังของศาลนี้มาเป็นระยะเวลายาวนาน ได้รับความยากลำบากในการใช้ชีวิตโดยปราศจากอิสรภาพเป็นอย่างมาก จึงตระหนักว่าจำเลยจะระมัดระวังไม่กระทำการใดให้ถูกฟ้องเป็นคดีขึ้นอีก พร้อมกันนี้ยืนยันว่าไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนีแต่อย่างใด รวมถึงได้ให้ความร่วมมือเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก มาพบพนักงานอัยการ ตามกําหนดนัด ตลอดจนการมาเข้าร่วมการพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นในทุกนัด เพื่อพิสูจน์ถึงความบริสุทธิ์และความประสงค์จะสู้คดี ไม่ได้มีพฤติการณ์อันเป็นเหตุที่จะไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ตามประมวลกฎหมายอาญาพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1

    ในท้ายคำร้องระบุว่า หากโจทก์คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวของจำเลย ขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกโจทก์มาไต่สวน และให้จำเลยแต่งทนายซักค้านโจทก์เพื่อประกอบการพิจารณาของศาลต่อไป

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2697/2564 ลงวันที่ 6 มิ.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/44512)
  • เวลา 10.00 น. ศาลอาญานัดไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเวหาในคดีมาตรา 112 จำนวน 2 คดี ได้แก่ คดีนี้และคดีแชร์โพสต์เพจเฟซบุ๊ก “เยาวชนปลดแอก” มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การจัดการวัคซีนของรัฐบาล

    เวลา 10.00 น. ณ ห้อง 609 เวหาถูกเบิกตัวเข้าร่วมการไต่สวนผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ ถ่ายทอดสัญญาณจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค-19 ของศาลอาญา การไต่สวนเริ่มต้นขึ้นโดยมีพยาน 1 ปาก ได้แก่ แม่ของเวหา โดยอัยการโจทก์ไม่ประสงค์ที่จะเข้าร่วมการไต่สวนในวันนี้ด้วย

    ++แม่เวหาเสนอให้ศาลแต่งตั้งเป็นผู้กำกับดูแล ยืนยันลูกชายเป็นคนจิตใจดี ไม่ก้าวร้าว

    แม่ของเวหา เบิกความว่า อาศัยอยู่กับเวหาที่บ้านในจังหวัดพิษณุโลกเพียง 2 คน โดยก่อนหน้านี้เวหาจะคอยทำงานเลี้ยงดูตนมาตลอด เวหามีโรคประจำตัว โดยป่วยเป็นโรคจิตเวชและโรคลมชัก สาเหตุการป่วยมาจากการถูกทำร้ายร่างกายในช่วงหลังเรียนจบระดับมหาวิทยาลัย

    แม่เวหาเบิกความอีกว่า ตนเองก็ป่วยเช่นกัน โดยมีโรคประจำตัวเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่าจะต้องรับการผ่าตัดโดยเร็ววันนี้ แต่ตนยังไม่ได้เข้ารับการผ่าตัด เนื่องจากไม่มีใครจะคอยไปอยู่เฝ้าและดูแลที่โรงพยาบาลเมื่อต้องทำการพักฟื้นหลังผ่าตัด ทุกวันนี้จึงบรรเทาอาการปวดข้อเข่าเสื่อมด้วยการกินยาให้ผ่านไปวันๆ เท่านั้น

    เวหา ซึ่งเป็นลูกชายนั้นเป็นคนจิตใจดี เพื่อนบ้านให้ความรักใคร่เอ็นดู สุภาพ ไม่ก้าวร้าว ตนเชื่อว่าสามารถตักเตือนและดูแลจำเลยให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดได้และยินดีให้ศาลแต่งตั้งเป็นผู้กำกับดูแลของจำเลย

    และได้ตอบศาลถามว่า หากไม่สามารถดูแลให้จำเลยปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดได้ จนจำเลยกระทำการฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว ยินดีให้ศาลริบเงินประกันซึ่งได้จากกองทุนราษฎรประสงค์

    ++เวหาชี้ป่วยเป็น PTSD ต้องรักษาต่อเนื่อง ยินดีรับทุกเงื่อนไขของศาล ก่อนศาลนัดฟังคำสั่ง 17 มิ.ย. นี้

    ด้านเวหาเบิกความว่า ตนประกอบอาชีพเกษตรกรรม ป่วยเป็นโรคจิตเภท PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) โดยเข้ารับการรักษามาตลอด ตั้งแต่ปี 2561 ที่โรงพยาบาลในจังหวัดพิษณุโลก และในเร็ววันนี้จะต้องเข้ารับการรักษา ติดตามอาการ และรับยา ตามที่แพทย์นัดหมายในวันที่ 25 ก.ค. 2565

    เวหายินดีรับทุกเงื่อนไขที่ศาลเห็นควรจะกำหนดในการปล่อยตัวชั่วคราว แต่เวหาขอให้ศาลมีดุลยพินิจกำหนดเงื่อนไขที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพของตนเองและการเดินทางเพื่อพาแม่ที่ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมไปหาหมอด้วย อีกทั้งยินดีให้ศาลแต่งตั้งแม่ของตนเองเป็นผู้กำกับดูแล โดยเบิกความว่า ก่อนหน้านี้ตนก็อยู่อาศัยและดูแลแม่กันเพียง 2 คนอยู่แล้ว และให้คำมั่นว่าจะมาตามนัดหมายของศาลทุกครั้ง

    เวหาตอบศาลถามว่า ตนเคยถูกดำเนินคดีมาแล้วรวม 4 คดีด้วยกัน ก่อนที่จะถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ใน 2 คดีนี้

    หลังไต่สวนแล้วเสร็จ ศาลได้นัดฟังคำสั่งว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่ ในวันที่ 17 มิ.ย. 2565 เวลา 13.30 น. โดยให้เบิกตัวเวหามาฟังคำสั่งผ่านทางจอภาพ และให้แม่ของเวหาเข้าร่วมฟังคำสั่งด้วย

    ++แม่เผยต้องนั่งรถตู้ ไป-กลับ พิษณุโลก-กทม. นานครั้งละ 6 ชม. ทำข้อเข่าเสื่อมกำเริบ หมอให้ผ่าตัดแต่ไม่มีใครไปเฝ้า เพราะเวหาติดคุกนาน 4 เดือนแล้ว

    หลังศาลทำการไต่สวนแล้วเสร็จ เวหายังคงติดต่อผ่านทางจอภาพอีกครู่หนึ่ง โดยเขาได้พูดกับแม่ว่า ศาลไม่ได้จะมีคำสั่งภายในวันนี้ ขอให้แม่ไม่ต้องกังวลและกลับบ้านที่พิษณุโลกเพื่อไปร่วมงานฌาปนกิจศพคุณตาก่อน และกล่าวทิ้งท้ายว่า “ขอบคุณครับ ขอให้แม่ดูแลสุขภาพและเดินทางกลับพิษณุโลกโดยปลอดภัยครับ”

    แม่เวหาเปิดเผยว่า จะต้องเดินทางกลับไปร่วมงานศพคุณตา ซึ่งมีกำหนดฌาปนกิจในวันที่ 16 มิ.ย. 2565 และภายในช่วงเย็นวันนั้นจะต้องเดินทางโดยรถตู้จากพิษณุโลกเพื่อมาร่วมฟังคำสั่งศาลอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น

    แม่เวหาระบุว่า การเดินทางไป-กลับที่อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก แต่ละครั้งนั้นยากลำบาก ต้องนั่งรถตู้นานกว่า 6 ชั่วโมง ซึ่งทำให้โรคเข่าเสื่อมทวีความรุนแรงและรู้สึกปวดที่เข่าอย่างมาก แต่ก็ยินดีและเต็มใจที่จะเดินทางมาศาลเพื่อให้ลูกชายของตัวเองได้รับอิสรภาพอีกครั้ง ด้านโรคข้อเข่าเสื่อมที่ป่วยอยู่นั้น เธอเล่าว่า จริง ๆ หมอให้ไปผ่าตัด แต่ถ้าไปผ่าตัดแล้วจะไม่สามารถเดินได้ในช่วงที่ทำการพักฟื้นอยู่ที่ทั้งโรงพยาบาลและบ้าน

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/44778)
  • 13.30 น. เวหาถูกเบิกตัวเข้าร่วมฟังคำสั่งผ่านทางจอภาพ ซึ่งถ่ายทอดสัญญาณจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยมีแม่ น้องชาย และน้าสาว 2 คนของเวหามาร่วมฟังคำสั่งในห้องพิจารณาด้วย

    ต่อมา พริษฐ์ ปิยะนราธร รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวทั้ง 2 คดี มีรายละเอียดคำสั่งโดยสรุป ดังนี้

    พิเคราะห์คำเบิกความของผู้ร้องและจำเลยแล้ว ผู้ร้องรับรองว่าจะดูแลจำเลยไม่ให้กระทำการผิดเงื่อนไขปล่อยตัวชั่วคราวอีก และจำเลยรับว่าจะไม่ทำผิดเงื่อนไข พร้อมกับยินยอมให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) และเงื่อนไขห้ามออกนอกเคหสถาน แสดงว่าจำเลยมีความรู้สึกสำนึกผิดพอสมควรแล้ว

    ประกอบกับแม่ของจำเลยให้การรับรองว่าจะเป็นผู้กำกับดูแล ซึ่งมีความน่าเชื่อถือว่าจะดูแลจำเลยไม่ให้กระทำผิดเงื่อนไขได้ อีกทั้งจำเลยมีนัดหมายเข้ารับการตรวจรักษาและติดตามผลการตรวจโรค PTSD ที่โรงพยาบาลในจังหวัดพิษณุโลก ในวันที่ 25 ก.ค. 2565

    กรณีจึงมีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย โดยมีเงื่อนไข ดังนี้

    1. มีกำหนดระยะเวลาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเป็นระยะเวลา 2 เดือน
    2. ให้ติด EM
    3. ห้ามออกนอกเคหสถานในเวลาตั้งแต่ 20.00 – 05.00 น. ของวันใหม่ ยกเว้นกรณีเจ็บป่วยหรือได้รับการอนุญาตจากศาลเท่านั้น
    4. ห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาอีก
    5. ห้ามเข้าร่วมการชุมนุมในลักษณะที่จะสร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
    โดยศาลได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้แม่ของเวหาเป็นผู้กำกับดูแล หากจำเลยกระทำผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวอีกจะถือว่าผู้ร้องผิดสัญญาประกัน โดยกำหนดวงเงินประกันคดีละ 180,000 บาท ซึ่งได้จากกองทุนราษฎรประสงค์

    หลังมีคำสั่ง ศาลได้พูดย้ำกับเวหาว่า อย่าทำผิดอีก หากทำผิดเงื่อนไขอีกจะโดนริบเงินประกันและจะไม่มีการให้ประกันอีกในครั้งหน้า อีกทั้งได้ย้ำกับแม่ของเวหาว่า ให้ดูแลลูกให้ดี เพราะครั้งนี้มีเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวหลายข้อด้วยกัน

    เวหาได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในช่วงค่ำ

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/44915)
  • นัดสืบพยานวันแรก เวหาขอถอนคำให้การเดิมที่ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ โดยแถลงต่อศาลว่า จำเลยป่วยเป็นโรค PTSD ขอให้ศาลสืบเสาะเรื่องดังกล่าวจากแพทย์ ศาลมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะเกี่ยวกับสุขภาพจิต นิสัย อาชีพ รวมถึงสอบถามแพทย์โรงพยาบาลพระพุทธชินราช จ.พิษณุโลก ที่ตรวจรักษาจำเลย แล้วรายงานต่อศาลก่อนวันนัดฟังคำพิพากษา 15 วัน นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 18 พ.ค. 2566

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2697/2564 ลงวันที่ 14 มี.ค. 2566)
  • ที่ห้องพิจารณาคดี 712 เวหาและครอบครัวได้เดินทางมาถึงศาล โดยมีนักกิจกรรมมาสังเกตการณ์ด้วยจำนวนหนึ่ง

    ต่อมาเวลา 10.56 น. ศาลออกพิจารณาคดี โดยเรียกให้จำเลยลุกขึ้นยืนรายงานตัวเพื่อฟังคำพิพากษา คำพิพากษามีใจความโดยสรุปว่า ศาลเห็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2)(3)(5) การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป และในแต่ละกรรมเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกกระทงละ 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุกกระทงละ 1 ปี 6 เดือน รวม 3 กระทง จำคุก 3 ปี 18 เดือน

    แม้จำเลยไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน แต่การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำผิดร้ายแรง สร้างความเข้าใจผิดให้แก่ประชาชน และทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ อันทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ พฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง กรณีจึงไม่สมควรรอการลงโทษ

    ทั้งนี้ ในระหว่างการอ่านคำพิพากษา ศาลได้ชี้แจงต่อหน้าจำเลยว่า รายงานการสืบเสาะของพนักงานคุมประพฤติได้ระบุรายงานการวินิจฉัยโรคของจำเลยว่าเป็นโรคซึมเศร้า ไม่ได้เป็นโรคความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (PTSD) ซึ่งในคำร้องที่รับสารภาพ จำเลยได้ขอให้ศาลสืบเสาะโรค PTSD จากแพทย์

    อย่างไรก็ตาม เวหาได้ชี้แจงยืนยันว่าตนเองเป็นโรค PTSD จริง โดยมีใบรับรองแพทย์จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่โรงพยาบาลในจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งจำเลยได้ส่งมอบให้กับเจ้าหน้าที่คุมประพฤติที่ทำรายงานการสืบเสาะไปแล้ว และไม่ทราบว่า ทำไมรายงานทางการแพทย์ที่ศาลได้รับจึงลงความเห็นว่าจำเลยไม่ได้ป่วยตามที่เคยได้ไปตรวจจริง

    ศาลแจ้งว่า หากจำเลยยืนยันเรื่องดังกล่าว ขอให้ทำคำร้องขออุทธรณ์ในภายหลังได้ โดยวันนี้ให้ไปทำเรื่องประกันตัวก่อน ซึ่งประชาชนที่เข้าร่วมฟังพิจารณาคดี ได้ลุกขึ้นร้องขอให้ศาลทำการเลื่อนฟังคำพิพากษาออกไป และขอให้ศาลสั่งให้สืบเสาะเพิ่มเติมอีกครั้ง

    ทั้งนี้ ประชาชนหญิงรายหนึ่งได้ยกมือขอแถลงต่อศาล โดยกล่าวว่าตนเองเป็นนักจิตวิทยา และพยายามอธิบายว่าโรคซึมเศร้าและ PTSD เป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษาโดยตัวยาเดียวกัน

    แต่ศาลแจ้งว่า จะอ่านคำพิพากษาให้เสร็จภายในวันนี้ และได้ตัดสินโทษแล้วว่าจะไม่มีการรอการลงโทษ โดยเห็นว่าหากเวหาได้กล่าวตามที่เขาได้ชี้แจงจริงให้ไปทำคำร้องขออุทธรณ์คดีและแนบใบรับรองแพทย์ในภายหลังได้ ทำให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้นำตัวเวหาลงไปที่ห้องขัง ใต้ถุนศาล ส่วนนายประกันได้ยื่นขอประกันระหว่างอุทธรณ์คดี

    ต่อมาเวลา 16.07 น. ศาลอาญามีคำสั่งให้ส่งคำร้องขอประกันให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณา โดยจะใช้ระยะเวลา 2-3 วัน จึงจะทราบผล ทำให้เวหาต้องถูกควบคุมตัวไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อรอฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ต่อไป

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2697/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.1290/2566 ลงวันที่ 18 พ.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/56132)
  • ศาลอาญาอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ประกันเวหาระหว่างอุทธรณ์ ลงวันที่ 19 พ.ค. 2566 ระบุว่า พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี 18 เดือน หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่า จำเลยจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง
  • ทนายความยื่นประกันเวหาระหว่างอุทธรณ์เป็นครั้งที่ 2 ศาลอาญาส่งคำร้องขอประกันให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ก่อนศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันเช่นเดิม ระบุว่า พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วข้อหามีอัตราโทษสูง จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ประกอบกับศาลอุทธรณ์เคยไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
  • ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและสหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (International Federation for Human Rights: FIDH) ได้ส่งคำร้องต่อกลไกพิเศษขององค์การสหประชาชาติ หรือ UN Special Procedures ทั้งหมด 5 หน่วยงาน ได้แก่ (1) คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (2) ผู้รายงานพิเศษเรื่องเสรีภาพในการชุมนุมและรวมกลุ่มโดยสันติ (3) ผู้รายงานพิเศษเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก (4) ผู้รายงานพิเศษเรื่องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และ (5) ผู้รายงานพิเศษเรื่องความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและทนายความ

    โดยศูนย์ทนายฯ ได้รายงานข้อเท็จจริงให้กับ UN เกี่ยวกับประเด็นผู้ต้องขังคดีการเมืองที่ไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณาคดีในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำนวน 5 ราย ได้แก่

    1.เวหา แสนชนชนะศึก นักกิจกรรมวัย 39 ปี ซึ่งถูกขังระหว่างอุทธรณ์ตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค. 2566 และอดอาหารประท้วงมาตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค. 2566

    2. “น้ำ” วารุณี ชาวพิษณุโลกวัย 30 ปี ซึ่งถูกขังระหว่างอุทธรณ์ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. 2566 และอดอาหารประท้วงมาตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค. 2566

    3. ทีปกร (สงวนนามสกุล) หมอนวดอิสระ วัย 38 ปี ถูกขังระหว่างอุทธรณ์ตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย. 2566

    4. วุฒิ (นามสมมติ) ประชาชนวัย 50 ปี ถูกขังระหว่างพิจารณาคดีตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค. 2566 ปัจจุบันเขาถูกคุมขังมาแล้ว 158 วัน

    5. ‘เก็ท’ โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง สมาชิกกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ วัย 24 ปี ถูกขังระหว่างอุทธรณ์ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2566

    ทั้งนี้ กรณีที่ผู้ต้องหาไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว อาจขัดกับหลักการภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR กฎหมายระหว่างประเทศจะถือว่าการควบคุมตัวดังกล่าวเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ หรือ arbitrary detention

    ในปี ค.ศ. 1996 รัฐไทยได้เข้าเป็นภาคี ICCPR ทำให้รัฐไทยมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและบทบัญญัติภายใต้กติกาฯ ดังกล่าว โดยข้อ 9 วรรค 3 ของ ICCPR บัญญัติเกี่ยวกับสิทธิในการประกันตัวไว้ว่า “บุคคลใดที่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวในข้อหาทางอาญา จะต้อง … ได้รับการปล่อยตัว มิให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่าจะต้องควบคุมบุคคลที่รอการพิจารณาคดี แต่ในการปล่อยตัวอาจกำหนดให้มีการประกันว่าจะมาปรากฏตัวในการพิจารณาคดีในขั้นตอนอื่นของกระบวนการพิจารณา และจะมาปรากฏตัวเพื่อการบังคับตามคำพิพากษาเมื่อถึงวาระนั้น” (เน้นโดยผู้เขียน)

    ในความเห็นทั่วไปที่ 35 เกี่ยวกับเสรีภาพของบุคคล คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ UN Human Rights Committee ได้อธิบายไว้ว่า การคุมขังบุคคลก่อนหรือระหว่างการพิจารณาคดี หรือที่เรียกว่า pretrial detention ควรเป็นข้อยกเว้น ไม่ใช่กฎ (“exception rather than the rule”) การคุมขังบุคคลก่อนหรือระหว่างพิจารณาคดีไม่ควรเป็นการปฏิบัติทั่วไป การคุมขังดังกล่าวจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น (necessary) เพื่อที่จะบรรลุวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้จำเลยหลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือเพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระทำความผิดซ้ำ

    สำหรับความผิดที่มีโทษสูง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ให้ความเห็นว่า การคุมขังก่อนหรือระหว่างพิจารณาคดีไม่ควรถือว่าเป็นมาตรการจำเป็นสำหรับความผิดใดความผิดหนึ่ง โดยไม่คำนึงถึงพฤติการณ์คดีและปัจจัยแวดล้อม อีกทั้งศาลไม่ควรสั่งคุมขังบุคคลโดยอ้างอัตราโทษของความผิด การคุมขังบุคคลจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น ซึ่งการที่ความผิดที่บุคคลถูกกล่าวหามีโทษสูง ไม่ได้ตอบคำถามว่าการคุมขังมีความจำเป็นหรือไม่ (ย่อหน้าที่ 38)

    ในคำร้องที่ศูนย์ทนายฯ ได้ยื่นไปที่ UN วันที่ 28 ส.ค. 2566 ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 มีผู้ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีมาแล้วอย่างน้อย 41 คน ปัจจุบัน (31 ส.ค. 2566) มีผู้ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี มาตรา 112 ทั้งสิ้น 6 ราย โดยส่วนมากแล้ว คำสั่งไม่ให้ประกันของศาลจะอ้าง “ความหนักเบาแห่งข้อหา” หรือ “ข้อหามีอัตราโทษสูง” ก่อนจะสรุปว่ามีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ซึ่งการให้เหตุผลดังกล่าวไม่ได้เป็นการพิจารณาความเหมาะสมของการไม่ให้ประกันตัวเป็นรายบุคคล (individualized determination) ขัดกับหลักการภายใต้ ICCPR ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

    ไม่เพียงเท่านี้ คณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (UN Working Group on Arbitrary Detention) ซึ่งเป็นหน่วยงานของ UN ที่รับผิดชอบประเด็นเกี่ยวกับการควบคุมตัวโดยพลการที่เกิดขึ้นในทุก ๆ ประเทศ ได้เคยมีความเห็นเกี่ยวกับประเทศไทยอยู่หลายหน โดยมีความเห็นเกี่ยวกับการคุมขังบุคคลภายใต้มาตรา 112 รวมทั้งหมด 9 ครั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา ซึ่งคณะทำงานฯ มีความเห็นในทุก ๆ กรณีว่า การคุมขังบุคคลภายใต้มาตรา 112 เป็นการคุมขังโดยพลการ

    ในความเห็นของคณะทำงานฯ มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา มีความคลุมเครือแล้วกว้างจนเกินไป (vague and overbroad) ไม่ได้มีการนิยามชัดเจนว่าการแสดงออกใดเข้าข่ายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ อีกทั้งการคุมขังภายใต้ มาตรา 112 เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก (ข้อ 19 ICCPR) เพราะเหตุนี้ การคุมขังภายใต้มาตรา 112 จึงถือว่าเป็นการคุมขังโดยพลการทุกกรณี

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/59016)
  • ทนายความยื่นคำร้องขอประกันตัวเวหาระหว่างอุทธรณ์ต่อศาลอาญาอีกเป็นครั้งที่ 3 เสนอหลักทรัพย์เป็นเงิน 200,000 บาท นับเป็นการยื่นประกันครั้งแรก หลังเวหาเริ่มอดอาหารประท้วงเรียกร้องสิทธิประกันตัวมาตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค. 2566 รวมเวลา 43 วันแล้ว

    อย่างไรก็ตาม วันที่ 7 ต.ค. 2566 ศาลอาญาอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ประกันเวหา ระบุว่า มีอัตราโทษสูง ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี หากปล่อยชั่วคราวเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุจะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง

    หลังทราบผลของคำสั่งไม่ให้ประกันตัว เวหาประกาศเจตจำนง ‘ขอยุติการอดอาหารประท้วง’ รวมทั้งสิ้น 49 วัน เนื่องจากเวหาเห็นว่าร่างกายของตัวเองได้รับผลข้างเคียงจากการอดอาหารเกินขีดจำกัดที่จะรับได้ไหวแล้ว โดยจะขอใช้วิธีอื่นเพื่อต่อสู้เรียกร้อง ‘การนิรโทษกรรม’ ให้กับผู้ต้องขังคดีการเมืองต่อไป

    นอกจากนี้เวหายังแจ้งว่าจะขอยุติการต่อสู้คดีมาตรา 112 ที่กำลังถูกคุมขังอยู่ในขณะนี้ โดยจะไม่ขออุทธรณ์และฎีกาคำพิพากษา รวมถึงจะขอปฏิเสธอำนาจตุลาการทั้งหมด โดยจะยอมติดคุกเพื่อ ‘ประจาน’ กระบวนการยุติธรรม และกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อไปในฐานะผู้ต้องขังเด็ดขาด

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/60484)

  • เวหาไม่ยื่นอุทธรณ์ คดีถึงที่สุด

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
เวหา แสนชนชนะศึก

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
เวหา แสนชนชนะศึก

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. วิภาดา สุจรรยาทวี
  2. ณัฐนันท์ ดุจดำเกิง

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 18-05-2023

ศาลอุทธรณ์

ผู้ถูกดำเนินคดี :
เวหา แสนชนชนะศึก

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
ไม่อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์