ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.2380/2564

ผู้กล่าวหา
  • แน่งน้อย อัศวกิตติกร ประธาน ศชอ. (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.2380/2564
ผู้กล่าวหา
  • แน่งน้อย อัศวกิตติกร ประธาน ศชอ.

ความสำคัญของคดี

“ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก นักศึกษาและนักกิจกรรมกลุ่ม "ราษฎร" ชาวระยอง ถูกแน่งน้อย อัศวกิตติกร ประธานศูนย์ช่วยเหลือทางกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิดทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) แจ้งความดำเนินคดี กรณีเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563 ภาณุพงศ์โพสต์ตั้งคำถามต่อรัชกาลที่ 10 พร้อมติดแท็ก #ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ในกิจกรรม #ราษฎรสาส์น โดยภาณุพงศ์ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 และศาลไม่ให้ประกันหลังอัยการยื่นฟ้อง กระทั่งภาณุพงศ์ถูกขังได้ 62 วัน ศาลจึงให้ประกันในคดีนี้ แต่ภาณุพงศ์ก็ยังคงไม่ได้รับอิสรภาพ เนื่องจากยังไม่ได้รับการประกันในคดีอื่นอีกหลายคดี

ทั้งนี้ กิจกรรม #ราษฎรสาส์น ซึ่งจัดโดยกลุ่มประชาชนปลดแอก ได้เชิญชวนประชาชนให้ร่วมกันเขียนจดหมายถึงกษัตริย์ โดยมีนักกิจกรรมร่วมเขียนจดหมายยืนยันข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ภายหลังกิจกรรมมีแกนนำ "ราษฎร" ถึง 5 ราย ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยมีประชาชนที่เห็นต่างในประเด็นดังกล่าวเป็นผู้เข้าแจ้งความ

กรณีดังกล่าวสะท้อนปัญหาสำคัญประการหนึ่งของการบังคับใช้มาตรา 112 ที่ใครก็ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยไม่ต้องเป็นผู้เสียหายเองเหมือนกับข้อหาหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ทำให้กฎหมายมาตรานี้ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการกลั่นแกล้งกลุ่มคนที่เห็นต่าง

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

วิวัฒน์ ศิริชัยสุทธิกร พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 บรรยายคำฟ้องโดยสรุปว่า

เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563 จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของเพจเฟซบุ๊ก ‘ภาณุพงศ์ จาดนอก’ ที่มีผู้ติดตามจำนวนกว่า 9 หมื่นคน ได้นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยการโพสต์ข้อความว่า ‘คุณคิดว่า คุณยืนบนซากปรักหักพังของประชาธิปไตย หรือศพของประชาชน แล้วคุณจะสง่างามหรอ … #ประชาสาส์น #ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์’ (ระบุชื่อของรัชกาลที่ 10)

ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ดูหมิ่น ทำให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเสื่อมเสียพระเกียรติ ชื่อเสียง ทรงถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง ทั้งยังเป็นการดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันหลักของประเทศไทย และเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนชาวไทย โดยการโพสต์ของจำเลยดังกล่าวทำให้บุคคลทั่วไปที่พบเห็นเข้ามากดไลค์ 6.1 พันคน มีความคิดเห็น 232 รายการ และแชร์ 150 ครั้ง

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ. 2380/2564 ลงวันที่ 23 ก.ย. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลา 14.00 น. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ภาณุพงศ์ จาดนอก พร้อมทนายความ เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ตามหมายเรียกที่ออกโดย พ.ต.อ.ทองศูนย์ อุ่นวงค์ รองผู้บังคับการ บก.ปอท. ลงวันที่ 18 ม.ค. 2564

    พ.ต.ต.ณัฐพนธ์ สุวรรณรงค์ และ ร.ต.อ.บูรฉัตร ฉัตรประยูร พนักงานสอบสวนจากกองกำกับการ 3 บก.ปอท. แจ้งข้อกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2563 แน่งน้อย อัศวกิตติกร ได้มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีต่อผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “ภาณุพงศ์ จาดนอก” ซึ่งเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563 บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวได้โพสต์ข้อความว่า “#คุณคิดว่า คุณยืนบนซากปรักหักพังของประชาธิปไตย หรือศพของประชาชนแล้วคุณจะสง่างามหรอ #ประชาสาส์น #ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” (โดยระบุชื่อของกษัตริย์ในโพสต์ดังกล่าว)

    พนักงานสอบสวนกล่าวหาว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีเนื้อหากล่าวหา ใส่ความพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) มีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาทและดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อพระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ และมีเจตนามุ่งหมายเพื่อให้ประชาชนที่เข้ามาอ่าน เกิดความรู้สึกดูหมิ่น เกลียดชังพระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ และจากการสืบสวนน่าเชื่อว่าภาณุพงศ์เป็นผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว

    พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาภาณุพงศ์ใน 2 ข้อหา ได้แก่ หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) ภาณุพงศ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และขอให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน

    แต่พนักงานสอบสวนแจ้งว่าคณะทำงานที่ปรึกษากฎหมายของ บก.ปอท. มีคำสั่งให้ยื่นคำให้การเพิ่มเติมทั้งสองคดีเป็นหนังสือภายใน 15 วัน ภาณุพงศ์จึงแสดงความประสงค์ขอดูคำสั่งฉบับดังกล่าว แต่พนักงานสอบสวนไม่นำมาแสดงอ้างว่าเป็นคำสั่งภายใน ภาณุพงศ์จึงให้การไว้ในคำให้การดังนี้

    "ข้าฯ ได้ร้องขอให้พนักงานสอบสวนนำคำสั่งของคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ บก.ปอท. มาให้ดูแล้วแต่พนักงานสอบสวนปฏิเสธไม่นำมาให้ข้าดูในวันนี้ โดยอ้างว่าเป็นคำสั่งภายใน ข้าฯ จึงขอยืนยันให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงในราชอาณาจักร มีอัตราโทษสูงและมีข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ผู้ต้องหาจึงมีสิทธิที่จะได้รับการสอบสวนต่อสู้คดีอย่างเต็มที่และเป็นธรรม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 134 วรรคสอง และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)"

    ภาณุพงศ์ขอให้การเพิ่มเติมด้วยว่าขอให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกเลขาธิการพระราชวังมาสอบสวนเพิ่มเติมในประเด็นดังนี้

    1. ในหลวงรัชกาลที่ 10 ได้เคยมีพระราชดำรัสสั่งไม่ให้ใช้มาตรา 112 จริงหรือไม่ ทรงมีพระราชดำรัสเมื่อใด มีข้อเท็จจริงรายละเอียดอย่างไร ปัจจุบันยังมีพระราชดำรัสไม่ให้ใช้อยู่หรือไม่
    2. ในหลวงรัชกาลที่ 10 ได้มอบอำนาจให้ผู้กล่าวหาในคดีนี้มาแจ้งความร้องทุกข์หรือกล่าวโทษหรือไม่
    3. ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงรู้สึกว่าข้อความตามที่ข้าฯ ถูกกล่าวหานั้นพระองค์รู้สึกถูกดูหมิ่น หมิ่นประมาทหรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย หรือไม่ ด้วยเหตุผลใด

    ภาณุพงศ์ให้การต่อว่า เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้กล่าวหาในคดีนี้ เมื่อครั้งผู้ต้องหาดำรงตำแหน่งประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดระยอง

    หลังจากการสอบสวน พนักงานสอบสวนได้ให้ภาณุพงศ์พิมพ์ลายนิ้วมือและลงบันทึกประจำวัน ก่อนปล่อยตัว โดยไม่มีการควบคุมตัวไว้ และจะนัดหมายให้มาพบเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อไป

    จากการสืบค้นพบว่า แน่งน้อย อัศวกิตติกร เป็นอดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งจังหวัดพิษณุโลกของพรรครวมพลังประชาชาติไทย มีตำแหน่งเป็นประธานของศูนย์ช่วยเหลือทางกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิดทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) ซึ่งเป็นกลุ่มเฟซบุ๊กที่มีการดำเนินการไปแจ้งความดำเนินคดีข้อหามาตรา 112 ต่อนักกิจกรรมหรือผู้แสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ในพื้นที่ต่างๆ

    ในวันนี้ภาณุพงศ์เข้ารับทราบข้อกล่าวหาพร้อม “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว ซึ่งถูกนพดล พรหมภาสิต เลขาธิการ ศชอ. แจ้งความ กรณีที่ชลธิชาโพสต์จดหมายถึงรัชกาลที่ 10 วิจารณ์การใช้จ่ายงบประมาณของสถาบันกษัตริย์ และเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563 เช่นเดียวกัน

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา กก.3 บก.ปอท. ลงวันที่ 25 ม.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/25530)
  • เวลา 09.00 น. ที่กองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (กก.3 บก.ปอท.) ภาณุพงศ์เดินทางไปพบพนักงานสอบสวนตามที่พนักงานสอบสวนมีหนังสือนัดหมายมาว่า จะนำตัวไปพบพนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5

    ก่อนหน้านี้พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนเสร็จสิ้น และส่งสำนวนคดีให้กับพนักงานอัยการ เมื่อภาณุพงศ์ได้รับการประกันตัวในคดี #ม็อบ2สิงหา เรียกร้องให้ปล่อยเพื่อนเรา บริเวณด้านหน้า บก.ตชด.ภาค 1 เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2564 พนักงานสอบสวนจึงได้มีหนังสือลงวันที่ 16 ก.ย. 2564 นัดส่งตัวภาณุพงศ์ให้อัยการในวันนี้

    ภายหลังภาณุพงศ์เข้าพบอัยการในช่วงเช้า อัยการมีคำสั่งฟ้องคดี และนำตัวไปส่งฟ้องต่อศาลอาญาในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 โดยทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี วางหลักประกันเป็นเงินสด 200,000 บาท

    ทั้งนี้ ในท้ายคำฟ้องอัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวภาณุพงศ์ระหว่างพิจารณาคดี ระบุให้อยู่ในดุลพินิจของศาล แต่ขอให้ศาลนับโทษจำคุกของจำเลยในคดีนี้ต่อจากอีก 3 คดีที่ภาณุพงศ์ตกเป็นจำเลยอยู่ด้วย ได้แก่ คดี #เยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 ของศาลอาญา, คดี #saveวันเฉลิม ที่ระยอง เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2563 ของศาลแขวงระยอง และคดีม็อบมุ้งมิ้ง หน้ากองทัพบก เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2563 ของศาลแขวงดุสิต

    ต่อมา ‘ชนาธิป เหมือนพะวงศ์’ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ระบุว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พฤติการณ์แห่งคดีมีความร้ายแรง คดีมีอัตราโทษสูง หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะไปกระทำผิดตามที่ถูกฟ้องอีก หรือหลบหนีได้ จึงไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง”

    ทำให้ภาณุพงศ์ถูกควบคุมตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทันที นับเวลาที่ภาณุพงศ์ได้รับอิสรภาพออกจากเรือนจำอำเภอธัญบุรีเพียง 8 วันเท่านั้น

    คดีนี้นับเป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 3 ของภาณุพงศ์ที่อัยการฟ้องคดีต่อศาล โดยคดีแรกคือคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ซึ่งหลังอัยการยื่นฟ้องต่อศาลอาญา ศาลไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว จนภาณุพงศ์ถูกขังอยู่ถึง 86 วัน ก่อนได้รับการประกันตัวโดยมีเงื่อนไข ส่วนคดีที่ 2 คือคดีแต่งครอปท็อปเดินพารากอน

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ. 2380/2564 ลงวันที่ 23 ก.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/35553)
  • ทนายความเข้ายื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราวภาณุพงศ์เป็นครั้งที่ 2 โดยวางเงินสดจำนวน 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ เป็นหลักประกัน พร้อมยื่นคำร้องโดยสรุป ดังนี้

    1. ภาณุพงศ์เป็นจำเลยในคดีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ซึ่งมีความผิดฐานเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ และเป็นผู้ต้องหาในคดีชุมนุม #ม็อบ2สิงหา เรียกร้องให้ปล่อยตัวกลุ่มทะลุฟ้า หน้า บก.ตชด. ภาค 1 ต่อมาศาลทั้ง 2 ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยระบุว่าไม่มีเหตุที่จะไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 นอกจากนี้ ศาลยังได้กำหนดเงื่อนไขการประกันตัวให้จำเลย ซึ่งภาณุพงศ์ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยไม่ได้หลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อเหตุร้ายภยันตรายประการอื่นแต่อย่างใด
    2. ภาณุพงศ์เดินทางมาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกมาโดยตลอด ไม่เคยแสดงพฤติการณ์หลบหนี อีกทั้งคดีนี้โจทก์ก็ไม่ได้คัดค้านประกันตัวแต่อย่างใด นอกจากนี้ จำเลยเป็นเพียงบุคคลธรรมดา เป็นนักศึกษา ไม่ได้มีอิทธิพลหรือความสามารถที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้ และมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน
    3. หากศาลเห็นสมควรกำหนดเงื่อนไขใดที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี จำเลยยินดีจะปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนด โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อดิศร จันทรสุข อดีตรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะเป็นผู้รับรองและดูแลให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งของศาล
    4. จำเลยเป็นเพียงบุคคลที่ถูกโจทก์ฟ้องกล่าวหาว่ากระทำความผิดเท่านั้น ยังไม่มีการพิจารณาพิพากษาของศาลจนถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำผิด ในคดีข้อหาทางการเมืองคดีอื่น เช่น คดีของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) แม้ศาลชั้นต้นจะได้พิพากษาแล้วว่าจำเลยได้กระทำความผิดลงโทษจำคุกจำเลย ศาลอุทธรณ์ก็ได้โปรดอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว
    5. จำเลยยังคงเป็นผู้ถูกกล่าวหา ยังไม่ถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิด จึงต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) และรัฐธรรมนูญของไทย
    6. สำหรับประเด็นคำว่า “ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น” หมายความว่าอย่างไร แนวคิดในการป้องกันเหตุอันตรายที่จะเกิดขึ้นนั้นมาจากกฎหมาย Bail Reform Act of 1984 ของประเทศสหรัฐ ซึ่งกำหนดให้มีการคุมขังระหว่างพิจารณาเพื่อป้องกันอันตรายต่อชุมชน (danger to the community) อย่างไรก็ตาม กฎหมาย Bail Reform Act ไม่ได้ให้ความหมายของคำว่า “Danger to the Community” แต่ได้กำหนดปัจจัย (Factors) หลายประการที่ศาลจะต้องพิจารณาว่าจะให้ประกันหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่เป็นการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการใช้กำลังทางกายภาพต่อบุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นทั้งสิ้น ไม่ใช่ความผิดทางการเมือง หรือความมั่นคงของรัฐที่รัฐเป็นผู้เสียหาย นอกจากนี้ รัฐต้องมีพยานหลักฐานที่ชัดแจ้งและน่าเชื่อถือมาแสดงว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นจะไปก่อให้เกิดอันตรายต่อบุคคลอื่นหรือสังคม ไม่ใช่หน้าที่ของศาลที่จะไปคาดหมายเช่นนั้นเอง และไม่ใช่หน้าที่ของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่จะพิสูจน์ตนเอง
    7. เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้มีแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการคดีในสถานการณ์แพร่ระบาด ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกา โดยกำหนดให้ขยายโอกาสในการเข้าถึงสิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และเพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มความแออัดในเรือนจำ ผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งไม่เคยถูกคุมขังมาก่อน หรือจำเลยที่เคยได้รับการปล่อยชั่วคราวมาก่อน หรือจำเลยซึ่งมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี แม้ยังไม่มีการยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา หรือยังไม่ได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์หรือฎีกา ศาลอาจพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว

    อย่างไรก็ตาม ในเวลา 12.00 น. เทวัญ รอดเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว โดยระบุว่า “ศาลเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยระบุเหตุผลไว้อย่างชัดแจ้งแล้ว กรณียังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว”

    ทำให้ภาณุพงศ์ต้องถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไป

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ. 2380/2564 ลงวันที่ 24 ก.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/35616)
  • ทนายความเข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวภาณุพงศ์ในคดีนี้เป็นครั้งที่ 3 รวมทั้งคดีชุมนุมสาดสี-ปาไข่ หน้า ม.พัน 4 รอ. เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2563 ซึ่งอัยการเพิ่งยื่นฟ้องต่อศาล โดยใช้ตำแหน่ง ส.ส.พรรคก้าวไกล เป็นหลักประกัน

    เวลา 15.10 น. พลีส เทอดไทย ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดียาเสพติด มีคำสั่งยกคำร้องทั้ง 2 คดี โดยในคดีนี้ ระบุในคำสั่งว่า ศาลเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยระบุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว

    ทำให้ภาณุพงศ์ยังคงถูกคุมขังในเรือนจำต่อไป หลังถูกขังมาแล้ว 33 วัน

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ. 2380/2564 ลงวันที่ 26 ต.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/36989)
  • ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ทนายความเข้ายื่นคำร้องอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ เนื่องจากคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวภาณุพงศ์ชั่วคราวของศาลอาญา ไม่มีเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 จึงเป็นคําสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ระบุเหตุผลเช่นเดียวกับคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวครั้งที่ผ่านมา โดยคำร้องอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์กลับคําสั่งศาลชั้นต้นและมีคําสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา เพื่อที่ผู้ต้องหาจะได้มีโอกาสต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งได้มีโอกาสกลับไปศึกษาต่อ ไม่เป็นภาระแก่ผู้ต้องหาและครอบครัวเกินสมควร

    (อ้างอิง: คำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ. 2380/2564 ลงวันที่ 28 ต.ค. 2564)
  • ทนายความเข้ารับทราบคำสั่งศาลอุทธรณ์ ตามที่ยื่นคำร้องอุทธรณ์ไป โดยศาลอุทธรณ์มีคำสั่งลงวันที่ 29 ต.ค. 2564 ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวภาณุพงศ์เช่นกัน ระบุในคำสั่งว่า "พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่า ข้อหาที่จําเลยถูกกล่าวหามีอัตราโทษสูง การกระทําที่จําเลยถูกกล่าวหามีลักษณะเป็นการใช้ข้อความอับมิบังควร กรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จําเลยอาจจะก่อให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายประการอื่น และน่าเชื่อว่าจําเลยอาจจะหลบหนี คําสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวชอบแล้ว ให้ยกคําร้อง" โดยมีเพียงลายเซ็นของผู้พิพากษาที่มีคำสั่ง ไม่มีชื่อ-นามสกุลกำกับ

    (อ้างอิง: คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ อ. 2380/2564 ลงวันที่ 29 ต.ค. 2564)
  • เวลา 09.30 น. พนักงานอัยการโจทก์ ภาณุพงศ์ และทนายจําเลย มาศาล หลังศาลออกนั่งพิจารณาคดี ทนายจําเลยแถลงต่อศาลว่า เนื่องจากจำเลยถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจําพิเศษกรุงเทพมหานคร นับตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย. 2564 จนถึงปัจจุบัน และถูกคุมตัวที่แดนกักโรคตามมาตรการของเรือนจําเป็นเวลา 28 วัน ทําให้ทนายไม่สามารถปรึกษาคดี ส่งพยานเอกสารหรือพยานวัตถุให้จําเลยอ่านหรือตรวจสอบ รวมถึงไม่มีโอกาสในการแสวงหาพยานหลักฐานมาต่อสู้คดีได้ จึงขอเลื่อนวันนัดตรวจพยานหลักฐานออกไปอีกสักนัดหนึ่ง

    ด้านพนักงานอัยการโจทก์แถลงไม่คัดค้าน

    ต่อมา ศาลมีคำสั่งเลื่อนนัดสอบคำให้การ ตรวจพยานหลักฐาน และกําหนดวันนัดสืบพยาน ไปเป็นวันที่ 8 ธ.ค. 2564 เวลา 09.00 น. ระบุเหตุผลว่า เห็นว่าจําเลยยังไม่มีโอกาสได้ปรึกษาแนวทางการต่อสู้คดีกับทนายจําเลย เนื่องจากถูกควบคุมตัวที่แดนกักโรคตามมาตรการของทางเรือนจํา เพื่อให้โอกาสจําเลยได้ต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ จึงอนุญาตให้เลื่อนคดีตามที่ทนายจำเลยขอ ทั้งนี้ ศาลมีคำสั่งให้เบิกภาณุพงศ์มาศาลในนัดหน้าด้วย

    ทั้งนี้ ภาณุพงศ์ถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หลังอัยการยื่นฟ้องคดีนี้และศาลไม่ให้ประกัน มาจนถึงวันนี้เป็นเวลารวม 40 วันแล้ว

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ. 2380/2564 ลงวันที่ 1 พ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/37298)
  • ที่ ศาลอาญา รัชดาฯ ทนายความเข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว 15 นักกิจกรรมและประชาชน ในคดีทางการเมือง รวมทั้งภาณุพงศ์ในคดีนี้ด้วย ซึ่งเป็นการยื่นประกันครั้งที่ 4

    เวลา 16.50 น. อรรถการ ฟูเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งยกคำร้องทุกฉบับ ให้เหตุผลคล้ายกัน โดยในคดีนี้ระบุว่า “ศาลนี้และศาลอุทธรณ์เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม”

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวและคำสั่ง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ. 2380/2564 ลงวันที่ 3 พ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/37463)
  • หลังศาลอาญามีคำสั่งไม่ถอนประกันภาณุพงศ์ในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อ 22 พ.ย. 2564 เช้าวันต่อมาทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวภาณุพงศ์ในคดีนี้อีกครั้ง ระบุเหตุผลว่า ความผิดที่ถูกกล่าวหายังเป็นเพียงข้อกล่าวหา ยังไม่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด และไม่ได้มีความร้ายแรงจนถึงชีวิต นอกจากนี้จำเลยยังเดินทางไปตามนัดหมายของตำรวจและเจ้าหน้าที่ศาลเสมอ อีกทั้งโจทก์ก็ยังไม่คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวด้วย

    ต่อมาในวันเดียวกัน เวลาประมาณ 17.00 น. ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวภาณุพงศ์ในคดีนี้ โดยได้มีรายละเอียดในคำสั่งว่า

    “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เหตุที่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยเรื่อยมามีสาเหตุหลักมาจากเกรงว่าจำเลยจะก่อเหตุร้ายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108 /1 (3)

    ทั้งนี้กฎหมายไทยบัญญัติลงโทษทางอาญาในความผิดต่อความมั่นคง แม้จะมิได้มีการใช้ความรุนแรง ด้วยต้องถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นอันตราย เพราะมิฉะนั้นย่อมไม่มีเหตุผลที่จะลงโทษทางอาญา เหตุที่เกรงว่าจำเลยจะกระทำความผิดต่อความมั่นคง จึงเป็นเหตุที่จะขังจำเลยไว้ได้

    อย่างไรก็ตาม เหตุตามมาตรา 108 /1 (3) นี้อาจเปลี่ยนแปลงไป ในกรณีนี้จำเลยถูกขังมานานพอสมควร พอจะทำให้จำเลยรู้สึกระมัดระวังต่อการจะก่อเหตุร้ายแล้ว ประกอบกับโจทก์ไม่ได้คัดค้านการขอปล่อยชั่วคราว เมื่อคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของจำเลยแล้ว เห็นควรให้โอกาสจำเลยจึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว

    โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยกระทำการให้เป็นที่เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้จำเลยอยู่ในเคหสถานตลอดเวลา ให้จำเลยติดอุปกรณ์ติดตามตัวด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ และให้แต่งตั้งผู้กำกับดูแล ทั้งนี้ให้ปล่อยจำเลยและให้จำเลยปฏิบัติตามเงื่อนไข เมื่อคดีอื่นๆ ของจำเลยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว”

    จากคำสั่งให้ประกันของศาลอาญาและศาลอาญากรุงเทพใต้ในวันเดียวกันนี้รวม 3 คดี ทำให้ภาณุพงศ์ถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในคดีนี้รวม 62 วัน แต่ภาณุพงศ์จะยังไม่ถูกปล่อยตัว เนื่องจากยังคงมีคดีของศาลนี้และศาลอื่นๆ อีก 6 คดี ซึ่งทนายจะต้องยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวต่อไป

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/38173)
  • เนื่องจากทางเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ นำตัวภาณุพงศ์ไปที่ศาลจังหวัดธัญบุรีในคดีอื่น ทำให้ไม่สามารถเบิกตัวภาณุพงศ์มาศาลในนัดตรวจพยานหลักฐานวันนี้ได้ ศาลจึงให้เลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานออกไปเป็นวันที่ 28 ก.พ. 2565 เวลา 13.30 น.

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ภาณุพงศ์ จาดนอก

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ภาณุพงศ์ จาดนอก

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์