ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • อื่นๆ (ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ, เลิกจ้าง(คดีแรงงาน), แจ้งความเท็จ, ซ่อนเร้นพยานหลักฐาน)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.429/2565
แดง อ.1777/2566

ผู้กล่าวหา
  • นพดล พรหมภาสิต เลขาธิการ ศชอ. (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • อื่นๆ (ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ, เลิกจ้าง(คดีแรงงาน), แจ้งความเท็จ, ซ่อนเร้นพยานหลักฐาน)

หมายเลขคดี

ดำ อ.429/2565
แดง อ.1777/2566
ผู้กล่าวหา
  • นพดล พรหมภาสิต เลขาธิการ ศชอ.

ความสำคัญของคดี

"วารุณี" (สงวนนามสกุล) อายุ 30 ปี ซึ่งมีอาการป่วยเป็นโรคอารมณ์สองขั้ว ถูกตำรวจ ปอท.เข้าจับกุมที่บ้านพักในจังหวัดพิษณุโลก ตามหมายจับศาลอาญา และถูกดำเนินคดีในข้อกล่าวหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และเหยียดหยามศาสนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 206 รวมทั้งข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 โดยวารุณีถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้โพสต์ข้อความ “แก้วมรกต X Sirivannavari Bangkok” พร้อมภาพรัชกาลที่ 10 เปลี่ยนเครื่องทรง ‘พระแก้วมรกต’ เป็นชุดกระโปรงยาวสีม่วง มีสุนัขนั่งอยู่ด้านข้าง หลังนพดล พรหมภาสิต จาก ศชอ.เข้าแจ้งความ

กรณีนี้เป็นอีกกรณีที่มาตรา 112 ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่น โดยการนำไปตีความอย่างกว้างขวางเกินกว่าเจตนารมณ์ของกฎหมาย จนกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

ภัทรวรรณ ประภากรณ์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 บรรยายคำฟ้องมีใจความโดยสรุปว่า

ขณะเกิดเหตุ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัชกาลที่ 10 ทรงเป็นกษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ตามมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และมีพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นที่เคารพสักการะในทางพุทธศาสนาของประชาชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ทรงประกอบพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกตเป็นประจําทุกปี ปีละ 3 ครั้งตามฤดูกาล เป็นโบราณราชประเพณีที่ปฏิบัติสืบเนื่องมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2564 จําเลยได้ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ด้วยการโพสต์ภาพและข้อความลงในบัญชีเฟชบุ๊กส่วนตัวและตั้งค่าการเข้าถึงเป็นสาธารณะ

โดยจำเลยได้โพสต์ข้อความว่า “แก้วมรกต X Sirivannavari Bangkok” ประกอบภาพของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงประกอบพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงฤดูหนาวของพระแก้วมรกต โดยมีการตัดต่อหรือดัดแปลงภาพเป็นภาพพระแก้วมรกตสวมใส่เครื่องทรงเป็นชุดราตรียาวสีม่วงแทนเครื่องทรงฤดูหนาว และมีภาพสุนัขผูกโบสีม่วงนั่งอยู่ด้านข้างพระแก้วมรกต

ข้อความและภาพดังกล่าว ทําให้บุคคลทั่วไปที่ได้พบเห็นเข้าใจว่า พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนําเครื่องแต่งกายสุภาพสตรีลักษณะเป็นชุดราตรีกระโปรงยาวสีม่วงมาเปลี่ยนเป็นเครื่องทรงฤดูหนาวของพระแก้วมรกต พร้อมกับมีสุนัขนั่งอยู่ด้านข้าง ในขณะทรงประกอบพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต อันเป็นพระพุทธรูปวัตถุที่เคารพสักการะในพุทธศาสนาของประชาชนชาวไทย โดยเครื่องแต่งกายสุภาพสตรีดังกล่าว เป็นฉลองพระองค์ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา พระราชธิดาในรัชกาลที่ 10 ทรงออกแบบไว้เป็นโอต์กูตูร์หมายเลข 10 ของแบรนด์ “Sirivannavari Couture”

ภาพและข้อความดังกล่าวเป็นข้อมูลอันเป็นเท็จและเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่ 10 โดยมีเจตนาเพื่อให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ทําให้ดูตลกขบขันและถูกด้อยค่าต่อประชาชน และเป็นการแสดงความไม่เคารพสักการะต่อวัตถุและสถานที่ทางศาสนา เป็นการกระทําที่ไม่สมควรและไม่เคารพต่อพระแก้วมรกต อันเป็นพระพุทธรูปที่เคารพสักการะในทางศาสนาพุทธของประชาชนชาวไทย อันเป็นการเหยียดหยามศาสนา

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.429/2565 ลงวันที่ 24 ก.พ. 2565)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลาประมาณ 07.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เข้าจับกุม ‘วารุณี’ (สงวนนามสกุล) วัย 30 ปี ที่บ้านพักในจังหวัดพิษณุโลก ตามหมายจับศาลอาญาที่ 2047/2564 ลงวันที่ 1 ธ.ค. 2564 ในข้อกล่าวหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยเธอไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อน จากนั้นควบคุมตัวไปสอบปากคำที่ บก.ปอท. ในกรุงเทพฯ

    ทั้งนี้ พฤติการณ์ที่เธอถูกกล่าวหานั้นถูกระบุว่ามาจากการโพสต์เฟซบุ๊กภาพรัชกาลที่ 10 เปลี่ยนเครื่องทรง ‘พระแก้วมรกต’ เป็นชุดกระโปรงยาวสีม่วงและใส่ภาพสุนัข โดยมีนพดล พรหมภาสิต จากศูนย์ช่วยเหลือทางกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิดทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) เป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน บก.ปอท. เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

    ในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา กล่าวโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2564 นพดลได้เปิดเฟซบุ๊กพบบัญชีเฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ข้อความว่า “แก้วมรกต XSirivannavari Bangkok” โดยมีภาพประกอบเป็นพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต)

    นพดลอ้างว่า โพสต์ข้อความดังกล่าวได้มีลักษณะผิดแปลกไปจากเดิม มีการตัดต่อเครื่องทรงพระแก้วมรกตไปเป็นชุดสุภาพสตรียาวสีม่วง พร้อมกับมีรูปภาพสุนัขประกอบในภาพด้วย ในลักษณะที่ต้องการให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ชื่อเสียง ทําให้ดูตลกขบขัน ถูกด้อยค่าต่อประชาชน ซึ่งโพสต์ดังกล่าวนั้นเป็นการใช้ถ้อยคําหยาบคาย ไม่เหมาะสม ข้อความและภาพตามโพสต์นั้น เป็นการสร้างความเข้าใจผิดอันอาจทําให้กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นสถาบันหลักของประเทศ อาจกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และเหยียดหยามศาสนา

    นพดลยังได้อ้างเปรียบเทียบว่า ชุดสุภาพสตรียาวสีม่วงในภาพที่อ้างว่าถูกตัดต่อดังกล่าวนั้นเป็นชุดโอต์กูตูร์ หมายเลข 10 ของแบรนด์ Sirivannavari Couture ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เป็นผู้ออกแบบและเคยฉลองพระองค์ชุดดังกล่าวเพื่อร่วมงานโว้ก กาลา 2020 ของนิตยสาร VOGUE Thailand ที่โรงแรมคาเพลลา กรุงเทพฯ ด้วย

    พนักงานสอบสวนระบุว่า มีหลักฐานพอเชื่อได้ว่า วารุณีเป็นผู้โพสต์ข้อความผ่านบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่วารุณีทั้งหมด 3 ข้อหาด้วยกัน ดังนี้

    1. หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
    2. นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)
    3. กระทําด้วยประการใดๆ แก่วัตถุหรือสถานอันเป็นที่เคารพในทางศาสนาของหมู่ชนใด อันเป็นการเหยียดหยามศาสนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 206

    ทั้งนี้ ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนวารุณีได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยให้การเพิ่มเติมว่า ต้องการให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกนายนพดลมาให้การเพิ่มเติม และอธิบายในคำกล่าวโทษที่กล่าวหาในคดีนี้ว่าข้อความส่วนไหนหรือประโยคใดเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์

    ขณะเดียวกัน เธอยังถูกตำรวจที่จับกุมตรวจยึดโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก อย่างละ 1 เครื่องด้วย หลังเสร็จกระบวนการทั้งหมดในช่วงค่ำ ตำรวจได้นำตัววารุณีไปคุมขังที่ สน.ทุ่งสองห้อง

    ทั้งนี้ พบว่าผู้กล่าวหาในคดีนี้ คือ นพดล พรหมภาสิต เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีมาตรา 112 ไว้อย่างน้อย 7 คดี อาทิ กล่าวหา ‘โตโต้’ ปิยรัฐ จงเทพ จากเหตุโพสต์เฟซบุ๊กพาดพิงถึงการใช้ภาษีของพระมหากษัตริย์ หรือ กล่าวหา ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์ จากเหตุโพสต์ 2 ข้อความในเฟซบุ๊ก

    (อ้างอิง: บันทึกการจับกุมและบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา กก.3 บก.ปอท. ลงวันที่ 2 ธ.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/38572)
  • เวลา 09.00 น. พนักงานสอบสวน บก.ปอท. ได้ยื่นขอฝากขังวารุณีต่อศาลอาญา ผ่านวิธีวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ โดยอ้างว่าการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบพยานเพิ่มเติมอีก 7 ปาก และรอผลตรวจประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา

    จากนั้นทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัววารุณี โดยระบุเหตุผลหลักเกี่ยวกับอาการป่วยอารมณ์สองขั้วของวารุณี ซึ่งความจำเป็นที่จะต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และเสนอวางหลักทรัพย์เป็นเงินสด 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์

    ต่อมา ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราววารุณี โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นเงิน 100,000 บาท และให้มารายงานตัวต่อศาลในวันที่ 20 ม.ค. 2565
  • ที่ศาลอาญา พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ได้ยื่นฟ้องวารุณี ในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง” ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 และ “เหยียดหยามศาสนา” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 206 กล่าวหาว่า วารุณีเป็นผู้โพสต์ข้อความและภาพรัชกาลที่ 10 ขณะเปลี่ยนเครื่องทรง “พระแก้วมรกต” เป็นชุดกระโปรงยาวสีม่วง และใส่ภาพสุนัข โดยระบุว่า ภาพและข้อความดังกล่าวเป็นข้อมูลอันเป็นเท็จ มีเจตนาเพื่อให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ดูตลกขบขัน และเป็นการเหยียดหยามศาสนา

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.429/2565 ลงวันที่ 24 ก.พ. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/41984)
  • วารุณีเข้ารายงานตัวต่อศาลตามสัญญาประกัน และรับทราบว่าอัยการยื่นฟ้องแล้ว จากนั้นทนายความได้ยื่นประกันตัววารุณีระหว่างพิจารณาคดี โดยศาลได้ให้ประกันโดยใช้หลักทรัพย์เดิมในชั้นสอบสวน เป็นเงินสดจำนวน 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ และนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 11 เม.ย. 2565

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/41984)
  • วารุณีเดินทางไปศาลพร้อมผู้รับมอบฉันทะทนายจำเลย โดยทนายจำเลยมีคำร้องขอเลื่อนคดีเนื่องจากติดว่าความที่ศาลอื่น ศาลจึงเลื่อนนัดพร้อมสอบคำให้การ ตรวจพยาน และกำหนดวันนัดสืบพยาน ไปเป็นวันที่ 23 พ.ค. 2565 เวลา 09.00 น.
  • ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้ฟัง จำเลยยืนยันให้การปฏิเสธ อัยการแถลงติดใจสืบพยานบุคคล 11 ปาก ใช้เวลา 2 นัด ทนายจำเลยขอสืบพยาน 7 ปาก ใช้เวลา 2 นัด นัดสืบพยานในวันที่ 2-3, 9-10 พ.ค. 2566
  • วันแรกของการสืบพยาน วารุณีตัดสินใจให้การรับสารภาพตามข้อกล่าวหา โดยทนายจำเลยได้แถลงต่อศาลถึงอาการป่วยอารมณ์สองขั้วของวารุณี ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาจากจิตแพทย์อย่างต่อเนื่อง ศาลจึงให้งดการสืบพยาน และมีคำสั่งให้สืบเสาะและพินิจพฤติการณ์ของจำเลย ก่อนนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 28 มิ.ย. 2566
  • ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 907 วารุณีเดินทางมาศาลเพื่อฟังคำพิพากษา ผู้พิพากษาที่ออกนั่งพิจารณาอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ สามารถสรุปได้ดังนี้

    พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 112, มาตรา 206 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนักที่สุด คือ มาตรา 112 จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน

    พิเคราะห์พฤติการณ์ในคดีเห็นว่า จำเลยกระทำความผิดต่อพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพสักการะ รัฐธรรมนูญไทยบัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ การกระทำของจำเลยกระทบต่อความรู้สึกประชาชน แม้จำเลยมีปัญหาสุขภาพจิต แต่เมื่อจำเลยกระทำความผิดโดยรู้สำนึกในการกระทำ กรณียังไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ ให้ริบคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือของกลาง

    หลังศาลมีคำพิพากษา วารุณีถูกเจ้าหน้าที่ศาลเข้ามาควบคุมตัวลงไปที่ห้องขังใต้ถุนศาลในทันที ก่อนที่ทนายความจะยื่นขอประกันตัวระหว่างอุทธรณ์

    เวลา 16.48 น. ศาลอาญามีคำสั่งส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา 2-3 วัน ทำให้วารุณีถูกนำตัวไปควบคุมยังทัณฑสถานหญิงกลาง

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.429/2565 คดีหมายเลขแดงที่ อ.1777/2566 ลงวันที่ 28 มิ.ย. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/57027)
  • ศาลอาญาอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ประกันตัววารุณี ระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนีจึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง”
  • ทนายความยื่นประกันวารุณีเป็นครั้งที่ 2 วางเงินประกัน 100,000 บาท ระบุถึงความเจ็บป่วยของวารุณีที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความจำเป็นในการทำงานหารายได้ส่งเสียครอบครัวในฐานะเสาหลักของบ้าน

    ศาลอาญาส่งคำร้องขอประกันให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ก่อนที่ 2 วันต่อมา ศาลอาญาอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ ไม่ให้ประกันเช่นเดิม ระบุว่า "พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วข้อหามีอัตราโทษสูง จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนีประกอบกับศาลอุทธรณ์เคยไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ส่วนที่จำเลยอ้างว่าเจ็บป่วยนั้น กรมราชทัณฑ์สามารถดูแลจัดการให้ได้ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์พ.ศ. 2560 มาตรา 55 จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ให้ยกคำร้อง"

    (อ้างอิง: คำร้องประกอบคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.429/2565 คดีหมายเลขแดงที่ อ.1777/2566 ลงวันที่ 1 ก.ค. 2566)
  • ทนายความยื่นประกันวารุณีเป็นครั้งที่ 3 วางเงินประกัน 150,000 บาท ระบุเพิ่มเติมเรื่องความยินยอมในการติด EM หากศาลกำหนดเป็นเงื่อนไขประกัน พร้อมทั้งยื่นเอกสารทางการแพทย์ยืนยันความเจ็บป่วยของวารุณี

    ศาลอาญาส่งคำร้องขอประกันให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ก่อนที่ 2 วันต่อมา ศาลอาญาอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ ไม่ให้ประกันเช่นเดิม ระบุว่า "พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหา และพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ประกอบกับศาลอุทธรณ์เคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์มาแล้วหลายครั้ง และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ส่วนที่จำเลยอ้างว่าเจ็บป่วยนั้น กรมราชทัณฑ์สามารถดูแลจัดการให้ได้ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 55 จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง"

    (อ้างอิง: คำร้องประกอบคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.429/2565 คดีหมายเลขแดงที่ อ.1777/2566 ลงวันที่ 6 ก.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/57234)
  • ทนายความเข้ายื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เพื่ออุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันวารุณีระหว่างอุทธรณ์ หลังการยื่นประกันแล้ว 3 ครั้ง

    ต่อมา วันที่ 15 ก.ค. 2566 ศาลฎีกามีคำสั่งไม่ให้ประกันเช่นเดียวกับศาลอุทธรณ์ ระบุว่า "พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับจำเลยให้การรับสารภาพ และศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจำเลยอาจจะหลบหนี และเหตุผลตามคำร้องที่อ้างอาการเจ็บป่วยนั้น จำเลยมีสิทธิได้รับการรักษาตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์อยู่แล้ว คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนั้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง"
  • ทนายความเข้ายื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้น พร้อมทั้งยื่นคำร้องขอประกันวารุณีระหว่างอุทธรณ์เป็นครั้งที่ 4 เช่นเดิมศาลอาญาส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา

    จากนั้นวันที่ 18 ส.ค. 2566 ศาลอาญาอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ ลงวันที่ 17 ส.ค. 2566 ไม่ให้ประกันวารุณีเช่นเดิม ระบุว่า พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ประกอบกับศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาเคยไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

    ส่วนที่จำเลยอ้างว่าเจ็บป่วยนั้น กรมราชทัณฑ์สามารถดูแลจัดการให้ได้ และหากยังคงรักษาพยาบาลอยู่ในเรือนจำอาการจะไม่ทุเลาดีขึ้น จำเลยชอบที่จะร้องขอให้ส่งตัวไปรักษายังโรงพยาบาลหรือสถานบำบัดรักษาทางสุขภาพจิตนอกเรือนจำได้ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 55 จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ยกคำร้อง

    ทำให้วารุณีถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางต่อไป หลังถูกขังมาแล้ว 52 วัน

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/58479)
  • ทนายความเข้ายื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เพื่ออุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันวารุณีระหว่างอุทธรณ์ เป็นครั้งที่ 2

    ต่อมา วันที่ 27 ส.ค. 2566 ศาลอาญาอ่านคำสั่งศาลฎีกา ยังไม่ให้ประกันวารุณีเช่นเดิม ระบุว่า พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน ประกอบกับศาลฎีกาเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจำเลยอาจจะหลบหนี ส่วนเหตุผลตามคำร้องที่อ้างอาการเจ็บป่วยจำเลยมีสิทธิได้รับการรักษาตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์อยู่แล้ว คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนั้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค. 2566 วารุณีเริ่มต้นอดอาหารประท้วง เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัว หลังศาลไม่ให้ประกันตัวเรื่อยมา โดยปฏิเสธอาหารทั้งหมด ดื่มเพียงนม นมถั่วเหลือง น้ำเปล่า รวมถึงยังทานยานานหลับและยารักษาโรคอารมณ์สองขั้ว จากนั้น วันที่ 24 ส.ค. 2566 วารุณีก็ยกระดับเป็นจำกัดการดื่มน้ำร่วมด้วย โดยจะดื่มน้ำเฉพาะเวลาทานยานอนหลับและยารักษาโรคประจำตัวเท่านั้น

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/58581 และ https://tlhr2014.com/archives/59187)
  • ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและสหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (International Federation for Human Rights: FIDH) ได้ส่งคำร้องต่อกลไกพิเศษขององค์การสหประชาชาติ หรือ UN Special Procedures ทั้งหมด 5 หน่วยงาน ได้แก่ (1) คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (2) ผู้รายงานพิเศษเรื่องเสรีภาพในการชุมนุมและรวมกลุ่มโดยสันติ (3) ผู้รายงานพิเศษเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก (4) ผู้รายงานพิเศษเรื่องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และ (5) ผู้รายงานพิเศษเรื่องความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและทนายความ

    โดยศูนย์ทนายฯ ได้รายงานข้อเท็จจริงให้กับ UN เกี่ยวกับประเด็นผู้ต้องขังคดีการเมืองที่ไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณาคดีในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำนวน 5 ราย ได้แก่

    1.เวหา แสนชนชนะศึก นักกิจกรรมวัย 39 ปี ซึ่งถูกขังระหว่างอุทธรณ์ตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค. 2566 และอดอาหารประท้วงมาตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค. 2566

    2. “น้ำ” วารุณี ชาวพิษณุโลกวัย 30 ปี ซึ่งถูกขังระหว่างอุทธรณ์ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. 2566 และอดอาหารประท้วงมาตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค. 2566

    3. ทีปกร (สงวนนามสกุล) หมอนวดอิสระ วัย 38 ปี ถูกขังระหว่างอุทธรณ์ตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย. 2566

    4. วุฒิ (นามสมมติ) ประชาชนวัย 50 ปี ถูกขังระหว่างพิจารณาคดีตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค. 2566 ปัจจุบันเขาถูกคุมขังมาแล้ว 158 วัน

    5. ‘เก็ท’ โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง สมาชิกกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ วัย 24 ปี ถูกขังระหว่างอุทธรณ์ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2566

    ทั้งนี้ กรณีที่ผู้ต้องหาไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว อาจขัดกับหลักการภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR กฎหมายระหว่างประเทศจะถือว่าการควบคุมตัวดังกล่าวเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ หรือ arbitrary detention

    ในปี ค.ศ. 1996 รัฐไทยได้เข้าเป็นภาคี ICCPR ทำให้รัฐไทยมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและบทบัญญัติภายใต้กติกาฯ ดังกล่าว โดยข้อ 9 วรรค 3 ของ ICCPR บัญญัติเกี่ยวกับสิทธิในการประกันตัวไว้ว่า “บุคคลใดที่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวในข้อหาทางอาญา จะต้อง … ได้รับการปล่อยตัว มิให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่าจะต้องควบคุมบุคคลที่รอการพิจารณาคดี แต่ในการปล่อยตัวอาจกำหนดให้มีการประกันว่าจะมาปรากฏตัวในการพิจารณาคดีในขั้นตอนอื่นของกระบวนการพิจารณา และจะมาปรากฏตัวเพื่อการบังคับตามคำพิพากษาเมื่อถึงวาระนั้น” (เน้นโดยผู้เขียน)

    ในความเห็นทั่วไปที่ 35 เกี่ยวกับเสรีภาพของบุคคล คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ UN Human Rights Committee ได้อธิบายไว้ว่า การคุมขังบุคคลก่อนหรือระหว่างการพิจารณาคดี หรือที่เรียกว่า pretrial detention ควรเป็นข้อยกเว้น ไม่ใช่กฎ (“exception rather than the rule”) การคุมขังบุคคลก่อนหรือระหว่างพิจารณาคดีไม่ควรเป็นการปฏิบัติทั่วไป การคุมขังดังกล่าวจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น (necessary) เพื่อที่จะบรรลุวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้จำเลยหลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือเพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระทำความผิดซ้ำ

    สำหรับความผิดที่มีโทษสูง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ให้ความเห็นว่า การคุมขังก่อนหรือระหว่างพิจารณาคดีไม่ควรถือว่าเป็นมาตรการจำเป็นสำหรับความผิดใดความผิดหนึ่ง โดยไม่คำนึงถึงพฤติการณ์คดีและปัจจัยแวดล้อม อีกทั้งศาลไม่ควรสั่งคุมขังบุคคลโดยอ้างอัตราโทษของความผิด การคุมขังบุคคลจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น ซึ่งการที่ความผิดที่บุคคลถูกกล่าวหามีโทษสูง ไม่ได้ตอบคำถามว่าการคุมขังมีความจำเป็นหรือไม่ (ย่อหน้าที่ 38)

    ในคำร้องที่ศูนย์ทนายฯ ได้ยื่นไปที่ UN วันที่ 28 ส.ค. 2566 ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 มีผู้ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีมาแล้วอย่างน้อย 41 คน ปัจจุบัน (31 ส.ค. 2566) มีผู้ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี มาตรา 112 ทั้งสิ้น 6 ราย โดยส่วนมากแล้ว คำสั่งไม่ให้ประกันของศาลจะอ้าง “ความหนักเบาแห่งข้อหา” หรือ “ข้อหามีอัตราโทษสูง” ก่อนจะสรุปว่ามีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ซึ่งการให้เหตุผลดังกล่าวไม่ได้เป็นการพิจารณาความเหมาะสมของการไม่ให้ประกันตัวเป็นรายบุคคล (individualized determination) ขัดกับหลักการภายใต้ ICCPR ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

    ไม่เพียงเท่านี้ คณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (UN Working Group on Arbitrary Detention) ซึ่งเป็นหน่วยงานของ UN ที่รับผิดชอบประเด็นเกี่ยวกับการควบคุมตัวโดยพลการที่เกิดขึ้นในทุก ๆ ประเทศ ได้เคยมีความเห็นเกี่ยวกับประเทศไทยอยู่หลายหน โดยมีความเห็นเกี่ยวกับการคุมขังบุคคลภายใต้มาตรา 112 รวมทั้งหมด 9 ครั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา ซึ่งคณะทำงานฯ มีความเห็นในทุก ๆ กรณีว่า การคุมขังบุคคลภายใต้มาตรา 112 เป็นการคุมขังโดยพลการ

    ในความเห็นของคณะทำงานฯ มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา มีความคลุมเครือแล้วกว้างจนเกินไป (vague and overbroad) ไม่ได้มีการนิยามชัดเจนว่าการแสดงออกใดเข้าข่ายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ อีกทั้งการคุมขังภายใต้ มาตรา 112 เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก (ข้อ 19 ICCPR) เพราะเหตุนี้ การคุมขังภายใต้มาตรา 112 จึงถือว่าเป็นการคุมขังโดยพลการทุกกรณี

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/59016)
  • ทนายความเข้ายื่นคำร้องขอประกันวารุณีระหว่างอุทธรณ์เป็นครั้งที่ 5 ขอวางเงินประกัน 150,000 บาท พร้อมยื่นคำร้องของพ่อวารุณีในการยินยอมเป็นผู้กำกับดูแล หากศาลให้ประกัน

    ศาลอาญาส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาอีก และวันที่ 1 ก.ย. 2566 ศาลอาญาอ่านคำสั่งไม่ให้ประกันของศาลอุทธรณ์ ลงวันที่ 31 ส.ค. 2566 ระบุว่า พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ประกอบกับศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาเคยไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์มาแล้วหลายครั้ง

    ที่จำเลยอ้างว่าเจ็บป่วยนั้น กรมราชทัณฑ์สามารถดูแลจัดการให้ได้ ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 55 เหตุตามคำร้องยังไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง

    ทั้งนี้ ในวันที่ 30 ส.ค. 2566 วารุณีมีอาการอ่อนเพลียมาก จึงนำตัวส่งตรวจที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และต่อมาแพทย์ได้วินิจฉัยให้วารุณีรับการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/59187)
  • ทนายยื่นคำร้องขอประกันวารุณีระหว่างอุทธรณ์เป็นครั้งที่ 6 หลังวารุณีถูกคุมขังมาแล้ว 129 วัน หรือกว่า 4 เดือน คำร้องขอประกันระบุใจความสำคัญว่า สภาพการคุมขังในเรือนจำ รวมถึง รพ.ราชทัณฑ์ ส่งผลกระทบต่อโรคไบโพลาร์ของจำเลย

    นอกจากนี้ ศาลชั้นต้นตัดสินจำคุกจำเลย 1 ปี 6 เดือน ซึ่งไม่ใช่อัตราโทษที่สูง และจำเลยไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี ซึ่งตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาฯ กำหนดให้ศาลชั้นต้นพิจารณาให้ประกันจำเลยโดยไม่ต้องส่งศาลอุทธรณ์พิจารณา

    คำร้องยังแสดงความยินยอมติด EM หรือให้ศาลกำหนดเงื่อนไขอื่นเพื่อป้องกันการหลบหนี

    อย่างไรก็ตาม ในช่วงเย็นศาลอาญายังคงมีคำสั่งให้ส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาเช่นเดียวกับทุกครั้ง และเช่นเดียวกับคดีทางการเมืองคดีอื่น ๆ

    ต่อมา วันที่ 5 พ.ย. 2566 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันเช่นเดิม ระบุว่า พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาเคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์มาแล้วหลายครั้ง ที่จำเลยอ้างว่าเจ็บป่วยนั้นกรมราชทัณฑ์ก็สามารถดูแลจัดการให้ได้ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 55 เหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง

    (อ้างอิง: คำร้องประกอบคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.429/2565 คดีหมายเลขแดงที่ อ.1777/2566 ลงวันที่ 3 พ.ย. 2566)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
วารุณี (สงวนนามสกุล)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
วารุณี (สงวนนามสกุล)

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 28-06-2023

ศาลอุทธรณ์

ผู้ถูกดำเนินคดี :
วารุณี (สงวนนามสกุล)

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
ไม่อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์