ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.1220/2564
แดง อ.1161/2566

ผู้กล่าวหา
  • ฐิติวัฒน์ ธนการุณย์ (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.1220/2564
แดง อ.1161/2566
ผู้กล่าวหา
  • ฐิติวัฒน์ ธนการุณย์

ความสำคัญของคดี

“โด่ง” ประสงค์ โคตรสงคราม ชาวจังหวัดลพบุรีวัย 26 ปี ถูกจับกุมที่บ้านพักในจังหวัดลพบุรี ตามหมายจับของศาลอาญาตลิ่งชัน ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ถูกนำตัวไปยัง สน.บางพลัด ก่อนถูกพนักงานสอบสวนฝากขังและศาลอาญาตลิ่งชันไม่อนุญาตให้ประกันตัว ทำให้ประสงค์ถูกคุมขังระหว่างชั้นสอบสวนอยู่ที่เรือนจำชั่วคราวทุ่งน้อยทั้งหมด 27 วัน โดยมีการยื่นขอประกันตัวรวมทั้งหมด 4 ครั้ง กระทั่งศาลให้ประกันตัวในวันที่ 4 ส.ค. 2564 ภายหลังได้รับประกันตัว พนักงานสอบสวนยังแจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพิ่มเติมอีกด้วย

คดีนี้มีผู้แจ้งความคือ ฐิติวัฒน์ ธนการุณย์ ประชาชนซึ่งไปชูรูปรัชกาลที่ 9 ในที่ชุมนุมของกลุ่มราษฎร และได้รับคำชมจากรัชกาลที่ 10 ว่า “เก่งมาก กล้ามาก ขอบใจ” ระหว่างการเสด็จเมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2563 กรณีนี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแม้ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ทำให้กฎหมายดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่นที่มีความเห็นทางการเมืองแตกต่างกันได้

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

อุดมศักดิ์ ทองน่วม พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาตลิ่งชัน 1 บรรยายฟ้องว่า ประสงค์กระทำความผิดรวม 2 กรรม มีเนื้อหาโดยสรุปว่า

1. ระหว่างวันที่ 21-22 พ.ค. 2564 จําเลยได้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์ข้อความว่า “ชุดทรงงาน” พร้อมภาพรัชกาลที่ 10 และข้อความวิจารณ์พาดพิงถึง 904 ซึ่ง 904 เป็นรหัสที่ใช้เรียกพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน การใช้ภาพรัชกาลที่ 10 (แชร์มาจากเฟซบุ๊ก “ชาติ ศาสนา ประชาชน”) ทําให้ผู้พบเห็นเข้าใจผิดในการฉลองพระองค์ที่ไม่เหมาะสมกับกาลเทศะและตําแหน่งพระมหากษัตริย์ โดยเสื้อในฉลองพระองค์เป็นเสื้อเอวลอย (Crop – Top) ซึ่งเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ โดยทําขึ้นมาเพื่อเสียดสี ด้อยค่า ดูถูก และไม่เคารพสักการะ

2. เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2564 จําเลยได้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์ข้อความพาดพิงถึงกษัตริย์และรัชกาลที่ 10 รวม 2 ข้อความ ได้แก่ “… คนเชียร์ก็ส้นตีน” และ “เอาเขาไปไว้ไหน…” ประกอบโพสต์ที่แชร์มาจากเพจ “เยาวชนปลดแอก-Free Youth” เกี่ยวกับครบรอบ 1 ปี อุ้มหายวันเฉลิม ซึ่งเป็นการดูหมิ่น เหยียดหยาม ด้อยค่า ไม่เคารพ อันเป็นการล่วงละเมิดพระมหากษัตริย์ โดยจําเลยมีเจตนาทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะและเทิดทูนของประชาชนชาวไทย ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาไม่เคารพต่อองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญาตลิ่งชัน คดีหมายเลขดำที่ อ.1220/2564 ลงวันที่ 28 ก.ย. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • หลังประสงค์ โคตรสงคราม ถูกจับกุมที่บ้านพักใน จ.ลพบุรี ตามหมายจับของศาลอาญาตลิ่งชัน ลงวันที่ 6 ก.ค. 2564 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ชุดจับกุมได้ควบคุมตัวเขาไปทำบันทึกการจับกุมที่ สภ.ท่าหิน ก่อนนำตัวไปยัง สน.บางพลัด ซึ่งเป็นเจ้าของคดี

    บันทึกการจับกุมระบุว่า เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2564 เวลา 06.40 น. ชุดเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.บางพลัด และ สภ.ท่าหิน จ.ลพบุรี ภายใต้การอำนวยการโดย พ.ต.อ.จิรพัฒน์ พรหมสิทธิการ ผู้กำกับ สน.บางพลัด โดยมีชุดจับกุมนำโดย พ.ต.ท.ณัฐวัส สอนบุญ รอง ผู้กำกับ สน.บางพลัด และ พ.ต.ท.ศักดิโชติ ประสานเกษม รองผู้กำกับ สภ.ท่าหิน นำกำลังตำรวจรวม 16 นาย ร่วมกันจับกุมตัวนายประสงค์จากบ้านในอำเภอเมืองลพบุรี โดยกล่าวหาว่า กระทําความผิดฐาน “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์”

    พฤติการณ์โดยสรุปคือ เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2564 เวลาประมาณ 12.00 น. ฐิติวัฒน์ ธนการุณย์ ผู้กล่าวหาได้เปิดดูเฟซบุ๊กของกลุ่มบุคคลที่มักจะโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จนพบเห็นข้อความทางเฟซบุ๊กของผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง เปิดตั้งค่าเป็นสาธารณะ พบว่ามีข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 จึงมาร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน

    ต่อมาจากการสืบสวนพบว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวคือ ประสงค์ จึงรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด ขออนุมัติหมายจับต่อศาลอาญาตลิ่งชัน นอกจากนั้นฝ่ายสืบสวนยังได้ขอศาลจังหวัดลพบุรี ในการออกหมายค้นบ้านพักของประสงค์ ศาลได้อนุมัติหมายค้นลงวันที่ 7 ก.ค. 2564 มีอำนาจเข้าตรวจค้นในวันที่ 8 ก.ค. 2564 เจ้าหน้าที่จึงได้นำกำลังเข้าตรวจค้นและจับกุมนายประสงค์ในวันดังกล่าว โดยได้มีการตรวจยึดโทรศัพท์มือถือเป็นของกลาง

    ประสงค์ถูกนำตัวมาถึง สน.บางพลัด ในช่วงประมาณ 15.00 น. เศษ และคณะพนักงานสอบสวนตามคําสั่งของกองบังคับการตํารวจนครบาล 7 ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อเขา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยมีทนายความเข้าร่วม พนักงานสอบสวนแจ้งพฤติการณ์ว่าเกิดจากการโพสต์และแชร์ข้อความบนเฟซบุ๊กจำนวน 3 ข้อความ

    2 ข้อความเป็นการโพสต์และแชร์เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2564 โดยข้อความหนึ่งเป็นการโพสต์ข้อความประกอบการแชร์ข้อความของเฟซบุ๊กเพจ ‘เยาวชนปลดแอก-Free Youth’ ‘นักเรียนแฉยับ’ และ ‘Joe Gordon’ อีก 1 ข้อความ เป็นการโพสต์และแชร์เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2564 โดยเป็นการแชร์ข้อความของเฟซบุ๊กของ ‘ชาติ ศาสนา ประชาชน’ ซึ่งมีภาพของรัชกาลที่ 10 ประกอบอยู่ด้วย

    ผู้กล่าวหาซึ่งพบข้อความดังกล่าวบริเวณร้านอาหารข้างห้างเมเจอร์ปิ่นเกล้า อ้างว่าข้อความเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่ 10 จึงมาร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สน.บางพลัด ให้ดําเนินคดี

    ในชั้นสอบสวนประสงค์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือต่อไป จากนั้นตำรวจได้ควบคุมตัวประสงค์ไว้ที่ สน.บางพลัด ระบุว่าจะนำตัวไปขออำนาจศาลอาญาตลิ่งชันในเช้าวันรุ่งขึ้น

    ทั้งนี้ ฐิติวัฒน์ ธนการุณย์ ผู้กล่าวหาในคดีนี้ เป็นบุคคลที่รัชกาลที่ 10 ทรงกล่าวชมว่า “เก่งมาก กล้ามาก ขอบใจ” ระหว่างการรับเสด็จเมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2563 หลังก่อนหน้านั้น ฐิติวัฒน์ได้ไปชูรูปรัชกาลที่ 9 ในพื้นที่ชุมนุมเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2563

    (อ้างอิง: บันทึกการจับกุม สภ.ท่าหิน ลงวันที่ 8 ก.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/31983)
  • คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนได้นำตัวนายประสงค์ไปขออนุญาตฝากขังต่อศาลอาญาตลิ่งชัน เป็นระยะเวลา 12 วัน อ้างเหตุว่า การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ยังต้องทําการสอบสวนพยานอีก 2 ปาก รอผลการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือและประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา พร้อมทั้งคัดค้านการให้ประกันตัวผู้ต้องหา ระบุว่า เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง หากปล่อยตัวไปเกรงผู้ต้องหาจะหลบหนี และไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุร้ายประการอื่น

    หลังศาลอาญาตลิ่งชันอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหา ทนายความได้ยื่นคําร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยวางเงินสดเป็นหลักประกันจํานวน 250,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมกับเหตุผลประกอบการขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยสรุปดังนี้

    1. ผู้ต้องหาถูกจับกุม เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2564 ที่บ้านพักอาศัยของผู้ต้องหา ตามหมายจับ ลงวันที่ 6 ก.ค. 2564 ซึ่งระยะเวลานับแต่วันที่ออกหมายจับห่างจากวันที่ผู้ต้องหาถูกจับกุมเพียง 2 วัน เท่านั้น ผู้ต้องหาไม่เคยได้รับหมายเรียกให้มาพบพนักงานสอบสวนแต่อย่างใด โดยหากได้รับหมายเรียก ผู้ต้องหาจะมาตามนัดของพนักงานสอบสวนอย่างแน่นอน ในวันที่ถูกจับกุม ผู้ต้องหาก็ใช้ชีวิตประจําวันปกติ ไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี หรือขัดขืนการจับกุม และได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตํารวจเป็นอย่างดี

    2. คดีนี้ผู้ต้องหาได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และประสงค์จะนําพยานบุคคลและพยานเอกสารส่งเป็นหลักฐาน เพื่อนําเสนอต่อศาลประกอบการต่อสู้

    3. ผู้ต้องหาเป็นเพียงบุคคลธรรมดา ไม่ได้มีอิทธิพลหรือความสามารถที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้ และพยานหลักฐานในคดีนี้พนักงานสอบสวนก็ได้รวบรวม และอยู่ในความครอบครองของพนักงานสอบสวนแล้วทั้งสิ้น หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยชั่วคราวย่อมไม่อาจก่ออุปสรรคหรือความเสียหายต่อการสอบสวนและดําเนินคดีในศาลได้อย่างแน่นอน อีกทั้ง ผู้ต้องหาไม่เคยมีประวัติเกี่ยวกับการกระทําความผิดอาชญากรรมใดๆ และไม่เคยต้องโทษในคดีอาญาใดๆ มาก่อน จึงไม่อาจไปก่ออันตรายประการอื่นได้

    4. เนื่องด้วยขณะนี้เป็นที่ปรากฏว่ามีการแพร่ระบาดของโรคโคโรนาไวรัส 2019 ในเรือนจําทั่วประเทศ หากผู้ต้องหาไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะต้องถูกคมขังในเรือนจําดังกล่าวด้วย ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้ต้องหาเนื่องจากเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค จากการถูกคุมขังในสถานที่แออัด

    5. ผู้ต้องหายังเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิด ต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ามีความผิด ตามที่รัฐธรรมนูญไทย และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งไทยเป็นภาคี รับรองไว้

    แต่ในเวลา 14.30 น. จรีรัตน์ ตันติเวชกุล รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาตลิ่งชัน ได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวประสงค์ โดยระบุว่า “พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีและความหนักเบาของข้อหาแล้ว หากปล่อยตัวชั่วคราวเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี"

    ทั้งนี้ ประสงค์ถูกส่งไปกักตัวที่เรือนจำชั่วคราวทุ่งน้อย จ.นครปฐม ซึ่งอยู่ภายในพื้นที่เรือนจำมณฑลทหารบกที่ 11 เป็นเวลา 21 วัน อ้างเหตุผลจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด โดยไม่อนุญาตให้ญาติและทนายความเข้าเยี่ยม เมื่อกักตัวครบแล้ว ประสงค์จะถูกส่งตัวมาคุมขังต่อที่เรือนจำพิเศษธนบุรี การที่ศาลไม่ให้ประกันทำให้ประสงค์กลายเป็นผู้ต้องขังในคดีตามมาตรา 112 หลังจากตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ที่ผ่านมา ศาลทยอยให้ประกันตัวแกนนำราษฎรและผู้ถูกคุมขังในคดีนี้ภายใต้เงื่อนไขต่างๆ

    เรือนจำชั่วคราวทุ่งน้อย ถูกตั้งขึ้นตามคำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่ 144/2553 ลงวันที่ 17 พ.ค. 2553 โดยระบุว่าเพื่อใช้เป็นสถานที่ควบคุม อบรม และฝึกอาชีพกับผู้ต้องขัง โดยเฉพาะในคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ และคดีอื่นที่เกี่ยวเนื่อง

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลอาญาตลิ่งชัน ลงวันที่ 9 ก.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/31983)
  • ทนายความยื่นประกันตัวประสงค์เป็นครั้งที่ 2 และขอให้ศาลไต่สวนผู้ต้องหาประกอบการใช้ดุลพินิจพิจารณา โดยวางเงินสดจำนวน 250,000 บาท เป็นหลักประกัน พร้อมกับระบุเหตุผลเพิ่มเติมว่า โดยปกติประสงค์ทำหน้าที่ดูแลมารดาบุญธรรม ซึ่งอายุกว่า 70 ปี และมีโรคประจำตัวหลายโรค หากไม่ได้การปล่อยตัวชั่วคราว จะกระทบต่อชีวิตและความปลอดภัยของมารดาบุญธรรม อีกทั้งประสงค์นั้นไม่มีพฤติการณ์หลบหนีมาตั้งแต่ต้น และไม่เคยได้รับหมายเรียกให้พบพนักงานสอบสวน ก่อนถูกจับกุมแต่อย่างใด ทั้งยังมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และไม่เคยมีประวัติการทำผิดมาก่อน

    แต่อัจฉรา สุระคำแหง รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาตลิ่งชัน มีคำสั่งยกคำร้อง พร้อมระบุเหตุผลว่า “กรณีไม่มีเหตุที่จะต้องไต่สวนตามคำร้อง งดไต่สวน กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ยกคำร้องขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา”

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญาตลิ่งชัน ลงวันที่ 11 ก.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/32005)
  • ทนายความได้เข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวประสงค์ ครั้งที่ 3 ด้วยเงินสด 250,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมเงื่อนไข ขอติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) และขอให้ตั้งผู้กำกับดูแล รวมถึงขอให้ศาลไต่สวนผู้ร้องและผู้ต้องหา

    ต่อมา อัจฉรา สุระคำแหง รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาตลิ่งชัน มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ระบุว่า “พฤติการณ์แห่งคดีร้ายแรง หากปล่อยตัวชั่วคราว เกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี ไม่มีเหตุผลให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม งดไต่สวน ยกคำร้อง”

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญาตลิ่งชัน ลงวันที่ 12 ก.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/32005)
  • ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวประสงค์เป็นครั้งที่ 4 โดยวางเงินสด 250,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์เป็นหลักประกัน และยินยอมให้ศาลติด EM หรือตั้งมารดาบุญธรรมหรือบุคคลอื่นที่ศาลกําหนด เป็นผู้กํากับดูแล หากศาลเห็นว่าจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้หลบหนี รวมถึงร้องขอให้ศาลไต่สวนผู้ต้องหาและพยานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราว

    จนเวลา 13.00 น. ศาลอาญาตลิ่งชันได้มีคำสั่งให้นัดไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวดังกล่าว ในวันที่ 4 ส.ค. 2564 เวลา 10.00 น. โดยให้ทำการไต่สวนผ่านระบบแอพพลิเคชั่นไลน์

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญาตลิ่งชัน ลงวันที่ 2 ส.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/32862)
  • เวลา 10.00 น. ศาลไต่สวนคำร้องขอประกันตัวผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยประสงค์ติดต่อมาจากเรือนจำชั่วคราวทุ่งน้อย และพยานสองคน ได้แก่ สุปราณี มารดาบุญธรรม และเอกราช แก้วเสมา อดีตผู้สมัคร ส.ส.เขต 1 จังหวัดลพบุรี พรรคอนาคตใหม่ ติดต่อมาจากบ้านพักในจังหวัดลพบุรี

    ประสงค์แถลงต่อศาลว่า การถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมที่บ้านพักเมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมานั้น ตนไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อน การถูกจับกุมมาจากการออกหมายจับ เพราะเป็นคดีที่มีโทษเกิน 3 ปี และขณะถูกจับกุมตนพักอยู่ที่บ้านกับมารดาใน จ.ลพบุรี อีกทั้งไม่ได้แสดงท่าทีขัดขืนต่อการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฉะนั้นตนจึงไม่มีพฤติการณ์หลบหนีแต่อย่างใด

    จากนั้นเอกราชแถลงว่าตนเป็นอดีตผู้สมัครผู้แทนราษฏรเขต 1 ของจังหวัดลพบุรี ในสังกัดพรรคอนาคตใหม่ และปัจจุบันเป็นสมาชิกของพรรคก้าวไกล ขณะนี้ทำงานเกี่ยวกับการเมืองใน จ.ลพบุรี ยังคงมีปฏิสัมพันธ์อันดีกับประชาชนในพื้นที่ จ.ลพบุรี ยินดีให้ศาลแต่งตั้งเป็นผู้กำกับดูแลประสงค์

    สุปราณีแถลงต่อศาล ตนเป็นมารดาโดยพฤตินัยของประสงค์มาตั้งแต่เด็กถึงปัจจุบัน ขณะประสงค์ถูกเจ้าหน้าตำรวจจับกุมที่บ้านพักตนได้อยู่ด้วย และได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในบันทึกจับกุมด้วย แถลงว่ายินดีเป็นผู้กำกับดูแลของประสงค์

    “นอกจากประสงค์ก็ไม่มีใครที่ไหนคอยดูแลแล้ว ตอนนี้ป่วยเป็นโรคนิ่วในไต ความดันโลหิตสูงและเบาหวาน ต้องกินยาตลอดเวลา หากประสงค์กลับมาอยู่ด้วยจะได้ให้พาไปหาหมอ” สุปราณีพูดด้วยน้ำเสียงสะอึกสะอื้นและมีน้ำตาบางช่วง

    หลังจากการไต่สวน เวลา 12.30 น. ศาลได้มีคำสั่งว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงได้เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิดมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า วันนี้มียอดผู้ติดเชื้อในประเทศจำนวน 20,200 คน และเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ ศาลจึงมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวประสงค์ โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 100,000 บาท พร้อมด้วยเงื่อนไขติด EM ห้ามกระทำการใดๆ ที่จะสร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามไม่ให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล และแต่งตั้งเอกราช แก้วเสมา สมาชิกพรรคก้าวไกล เป็นผู้กำกับดูแล

    สำหรับหลักทรัพย์ประกันตัวจำนวน 100,000 บาท เป็นเงินจากกองทุนราษฎรประสงค์

    หลังจากนี้ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะนำตัวประสงค์จากเรือนจำชั่วคราวทุ่งน้อย จ.นครปฐม ไปยังเรือนจำธนบุรี เพื่อทำการปล่อยตัวภายในเย็นวันนี้ และจะต้องเดินทางไปติด EM ที่ศาลอาญาตลิ่งชันภายในวันพรุ่งนี้ต่อไป ทั้งนี้ศาลนัดประสงค์รายงานตัวทางโทรศัพท์ในวันที่ 16 ส.ค. 2564

    รวมแล้วประสงค์ถูกคุมขังระหว่างชั้นสอบสวนอยู่ที่เรือนจำชั่วคราวทุ่งน้อยทั้งหมด 27 วัน โดยมีการยื่นขอประกันตัวรวมทั้งหมด 4 ครั้ง กระทั่งศาลให้ประกันตัว

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/32975)
  • หลังประสงค์รายงานตัวทางโทรศัพท์ตามนัดในวันที่ 16 ส.ค. 2564 ศาลนัดรายงานตัวทางโทรศัพท์อีกครั้งวันที่ 26 ส.ค. 2564 แต่พนักงานสอบสวน สน.บางพลัด ยื่นหนังสือต่อศาลขอให้นายประกันนำส่งตัวประสงค์มาศาลในวันนี้ เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม และศาลมีคำสั่งอนุญาตตามขอ

    อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประสงค์อยู่ระหว่างกักตัวโควิด ทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอรายงานตัวทางโทรศัพท์ตามเดิม และขอเลื่อนนำตัวประสงค์มาศาลเพื่อรายงานตัวและรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในนัดหน้า ศาลนัดรายงานตัวครั้งต่อไปในวันที่ 7 ก.ย. 2564
  • ประงสงค์เข้ารายงานตัวต่อศาลอาญาตลิ่งชัน ศาลนัดรายงานตัวนัดหน้าในวันที่ 20 ก.ย. 2564 เวลา 09.00 น.

    โดยพนักงานสอบสวน สน.บางพลัด ได้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มตามตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 ประสงค์ให้การปฏิเสธ
  • ประสงค์เดินทางมารายงานตัวต่อศาลอาญาตลิ่งชันตามนัด ศาลนัดรายงานตัวครั้งต่อไปในวันที่ 1 ต.ค. 2564 เวลา 09.00 น. โดยที่คดีจะครบฝากขังในวันที่ 30 ก.ย. 2564
  • พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาตลิ่งชัน 1 ยื่นฟ้องคดีประสงค์ต่อศาลอาญาตลิ่งชันเป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.1220/2564 ในฐานความผิด หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 โดยท้ายคำฟ้อง อัยการได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพิจารณาคดี ระบุว่า คดีมีอัตราโทษสูง และเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญาตลิ่งชัน คดีหมายเลขดำที่ อ.1220/2564 ลงวันที่ 28 ก.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/35990)
  • ประสงค์เข้ารายงานตัวต่อศาลตามสัญญาประกัน โดยพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาตลิ่งชัน 1 ได้ยื่นฟ้องคดีแล้วเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2564

    ศาลได้อธิบายคำฟ้อง และถามคำให้การ ประสงค์ให้การปฏิเสธ ศาลจึงนัดพร้อมเพื่อกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 25 ต.ค. 2564 เวลา 9.00 น.

    จากนั้นประสงค์ได้ยื่นประกันตัวในชั้นพิจารณา โดยขอใช้หลักทรัพย์และสัญญาประกันเดิมในชั้นฝากขัง คือเงินสดมูลค่า 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมติด EM ซึ่งศาลได้กำหนดเงื่อนไข ห้ามกระทำการใดๆ ที่จะสร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล พร้อมทั้งแต่งตั้งเอกราช แก้วเสมา สมาชิกพรรคก้าวไกล เป็นผู้กำกับดูแล

    ต่อมา ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกัน โดยใช้หลักประกันและสัญญาประกันเดิมตามที่จำเลยยื่นคำร้อง

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญาตลิ่งชัน คดีหมายเลขดำที่ อ.1220/2564 ลงวันที่ 28 ก.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/35990)
  • เนื่องจากทนายจำเลยติดว่าความที่ศาลอื่น จึงยื่นคำร้องขอเลื่อนนัดพร้อมออกไป ศาลอนุญาตให้เลื่อนไปนัดพร้อมตรวจพยานหลักฐานและกำหนดวันนัดสืบพยานในวันที่ 21 ก.พ. 2565 เวลา 09.30 น.
  • นัดพร้อมสอบคําให้การ ตรวจพยานหลักฐาน และกําหนดวันนัดสืบพยาน ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟังอีกครั้งต่อหน้าทนายความ ประสงค์แถลงขอให้การปฏิเสธ ตามคําให้การที่ยื่นต่อศาลลงวันที่วันนี้

    โจทก์แถลงว่า ประสงค์ที่จะสืบพยานโจทก์ตามบัญชีพยานฉบับลงวันที่ 12 ต.ค. 2564 จํานวน 12 ปาก ใช้เวลาสืบ 3 นัด ด้านจําเลยอ้างตนเองเป็นพยานเพียงปากเดียว ใช้เวลาสืบพยานครึ่งนัด

    ทั้งนี้ นรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายจําเลยได้ยื่นคําร้องขอให้ศาลกําหนดนัดสืบพยานโจทก์และจําเลยในปี 2566 โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากทนายจําเลยเป็นทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งปัจจุบันมีทนายความประจําจํานวน 10 คน แต่มีประชาชนผู้ถูกดําเนินคดีประมาณ 900 คดี โดยทนายจําเลยในคดีนี้ได้รับว่าความให้แก่จําเลยในคดีสําคัญ เช่น คดีชุมนุม 19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ของศาลอาญา ซึ่งกําหนดวันนัดสืบพยานต่อเนื่องตลอด 4 วันต่อสัปดาห์ในปี 2565 และยังว่าความคดีอื่นๆ อีก จึงทําให้ไม่มีวันว่างในปี 2565

    ศาลได้ให้เจ้าหน้าที่ศูนย์นัดความตรวจสอบการว่าความของทนายจําเลยในระบบ CIOS พบว่าเป็นไปดังที่แถลง จึงให้กําหนดนัดสืบพยานโจทก์และจําเลยในปี 2566 โดยนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 28-30 มี.ค. 2566 และสืบพยานจำเลยวันที่ 31 มี.ค. 2566

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญาตลิ่งชัน คดีหมายเลขดำที่ อ.1220/2564 ลงวันที่ 21 ก.พ. 2565)
  • ประสงค์และทนายจําเลยเดินทางไปศาลในนัดสืบพยานโจทก์นัดแรก อย่างไรก็ตาม ก่อนเริ่มสืบพยาน ประสงค์แถลงขอถอนคําให้การเดิม และขอให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามที่โจทก์ฟ้อง โจทก์ และฝ่ายจําเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน

    ทนายจําเลยยื่นคําร้องขอให้ศาลสืบเสาะและพินิจจําเลยก่อนมีคําพิพากษา ศาลจึงมีคำสั่งให้สืบเสาะและพินิจจําเลยก่อนมีคําพิพากษา โดยให้พนักงานคุมประพฤติรายงานการสืบเสาะก่อนวันนัดฟังคำพิพากษา 7 วัน นัดฟังคําพิพากษาในวันที่ 12 มิ.ย. 2566 เวลา 10.00 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญาตลิ่งชัน คดีหมายเลขดำที่ อ.1220/2564 ลงวันที่ 28 มี.ค. 2566)
  • เวลา 10.05 น. ประสงค์เดินทางมาศาลพร้อมทนาย ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 6 โดยมี “ป้าเป้า” และมวลชนอีก 1 คน ได้เดินทางมาร่วมสังเกตการณ์ด้วย บรรยากาศค่อนข้างมีความวุ่นวาย เนื่องมาจากว่ามีคดีที่ศาลจะต้องพิจารณาจำนวนมาก

    ศาลได้เรียกให้ประสงค์แสดงตัว ก่อนจะเริ่มอ่านคำพิพากษา มีใจความโดยสรุปว่า คดีนี้ศาลได้สั่งให้เจ้าพนักงานคุมประพฤติทำการสืบเสาะพฤติการณ์จำเลย มีรายงานปรากฏว่า จำเลยถูกรับเลี้ยงดูเป็นลูกบุญธรรม โดยอาศัยอยู่ในชุมชนเมือง ในจังหวัดลพบุรี ซึ่งได้รับการศึกษาเล่าเรียนจนจบปริญญาตรี ไม่มีประวัติทางการเรียนเสื่อมเสีย

    ทั้งนี้ ในรายงานสืบเสาะยังได้ปรากฏอีกว่า ประสงค์เป็นคนเก็บตัว ไม่ชอบสุงสิงกับใคร และไม่ได้มีพฤติการณ์ก้าวร้าว ไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และไม่เคยมีประวัติอาชญากรรมมาก่อน ซึ่งพนักงานคุมประพฤติลงความเห็นว่าสมควรให้รอการลงโทษจำเลยไว้

    แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลได้อ่านคำบรรยายฟ้องของอัยการ ซึ่งระบุว่า ประสงค์ได้ทำการโพสต์และแชร์ข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ และพิเคราะห์รวมกับคำร้องประกอบคำรับสารภาพของจำเลย พบว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป จำคุกกระทงละ 3 ปี รวมจำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 ปี ไม่มีเหตุให้รอลงอาญา

    ภายหลังการฟังคำพิพากษา ประสงค์ได้ถูกนำตัวลงไปใต้ถุนศาลเพื่อรอการประกันตัว ซึ่งทนายได้ยื่นขอประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ต่อทันที

    ต่อมาเวลา 14.29 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกราชอาณาจักร และให้วางหลักทรัพย์ประกันเพิ่มเติมเป็นจำนวนเงิน 50,000 บาท จากเดิมที่เคยวางไว้ในชั้นพิจารณา 150,000 บาท รวมเป็นหลักทรัพย์ประกันทั้งสิ้น 200,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์

    ทั้งนี้ ในการได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวน ศาลยังกำหนดให้ประสงค์ติด EM ด้วย และเขาเพิ่งได้รับอนุญาตให้ถอด EM โดยต้องวางเงินประกันเพิ่มอีก 50,000 บาท เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2566 รวมระยะเวลาราว 1 ปีครึ่งที่เขาต้องใช้ชีวิตกับอุปกรณ์ดังกล่าว

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/56672)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ประสงค์ โคตรสงคราม

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ประสงค์ โคตรสงคราม

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 12-06-2023

ศาลอุทธรณ์

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ประสงค์ โคตรสงคราม

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์