ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.21/2565
แดง อ.1758/2566

ผู้กล่าวหา
  • ว่าที่ ร.ต.เปรมไชย ศรีบุญ รับมอบอำนาจจากบริษัทการบินไทย (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.21/2565
แดง อ.1758/2566
ผู้กล่าวหา
  • ว่าที่ ร.ต.เปรมไชย ศรีบุญ รับมอบอำนาจจากบริษัทการบินไทย

ความสำคัญของคดี

“ธัญวดี” (นามสมมติ) แม่ค้าออนไลน์วัย 40 ปี ถูกดำเนินคดีในข้อหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการคอมเมนต์ใต้เพจเฟซบุ๊ก “Thai Airways” เกี่ยวกับการรับเงินภาษีและบริจาคบางส่วนกลับคืนให้ประชาชน เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2563 คดีมี ว่าที่ ร.ต.เปรมไชย ศรีบุญ รับมอบอำนาจจาก บริษัทการบินไทยจำกัดมหาชน เข้าแจ้งความ

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแม้ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่น

ความคืบหน้าของคดี

  • ที่กองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) “ธัญวดี” (นามสมมติ) แม่ค้าออนไลน์วัย 40 ปี เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก

    ร.ต.อ.พงศ์ปิติ ตรีนิคม รอง สว.(สอบสวน) กก.3 บก.ปอท. แจ้งพฤติการณ์คดีให้ธัญวดีทราบว่า เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2563 ว่าที่ ร.ต.เปรมไชย ศรีบุญ ได้รับมอบอำนาจจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษกับพนักงานสอบสวน ให้ดำเนินคดีกับเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กหนึ่งที่ได้โพสต์ข้อความแสดงความเห็นต่อท้ายคอมเมนต์ของผู้ใช้เฟซบุ๊กรายอื่นในโพสต์ของเพจเฟซบุ๊ก “Thai Airways” ซึ่งประกาศยกเลิกเที่ยวบินชั่วคราวของการบินไทย เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2563 โดยมีข้อความว่า “บริจาคเงิน 100 ล้าน แต่ที่ได้จากภาษีประชาชนปีละ 20,000 ล้าน แหม” พร้อมกับใส่อีโมจิรูปคนหน้ายิ้ม 3 รูป อันเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อความที่มีลักษณะหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์

    พนักงานสอบสวนแจ้งอีกว่า จากการสืบสวนหาพยานหลักฐานตำรวจ น่าเชื่อว่า บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวเป็นของธัญวดี

    จากนั้นพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยธัญวดีให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

    หลังแจ้งข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนไม่ได้ควบคุมตัวธัญวดีไว้ เนื่องจากมาพบตามหมายเรียก แต่นัดมาพบอีกครั้งในวันที่ 7 ส.ค. 2564

    ทั้งนี้ ไม่แน่ชัดว่าการบินไทยได้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่คอมเมนต์ข้อความในโพสต์ดังกล่าวด้วยหรือไม่

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา กก.3 บก.ปอท. ลงวันที่ 6 ก.ค. 2564)
  • พนักงานสอบสวนนัดธัญวดีเพื่อส่งตัวให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 9 อัยการนัดฟังคำสั่งในวันที่ 8 ธ.ค. 2564
  • อัยการยังไม่มีคำสั่ง เลื่อนไปฟังคำสั่งวันที่ 6 ม.ค. 2565
  • รัตนพร ตันติพจน์โสภา พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 9 ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลอาญา ระบุพฤติการณ์คดีโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2563 จำเลยใช้บัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัวโพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นต่อท้ายคอมเมนต์ของผู้ใช้เฟซบุ๊กรายอื่นซึ่งกล่าวถึงรัชกาลที่ 10 ในโพสต์ของเพจเฟซบุ๊ก “Thai Airways” โดยมีข้อความว่า “บริจาคเงิน 100 ล้าน แต่ที่ได้จากภาษีประชาชนปีละ 20,000 ล้าน แหม” พร้อมกับใส่อีโมจิรูปคนหน้ายิ้ม 3 รูป

    อัยการระบุว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อในหลวงรัชกาลที่ 10 ทำให้ประชาชนรู้สึกดูหมิ่น เกลียดชัง รัชกาลที่ 10 และสถาบันกษัตริย์ จนอาจนำมาซึ่งความแตกแยกในสังคม เป็นการกระทำที่ไม่บังควร จาบจ้วง ดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์

    ท้ายคำฟ้องอัยการคัดค้านการปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี อ้างเหตุว่า คดีมีอัตราโทษสูงและเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง

    หลังศาลรับฟ้อง และทนายความยื่นประกันระหว่างพิจารณาคดี ศาลมีคำสั่งอนุญาต ตีราคาประกัน 90,000 บาท โดยใช้เงินประกันจากกองทุนราษฎรประสงค์ นัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 14 มี.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.21/2565 ลงวันที่ 6 ม.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/56971)
  • จำเลยขอเลื่อนคดีเนื่องจากติดเขื้อโควิด รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ศาลอนุญาตให้เลื่อนไปตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 25 เม.ย. 2565 เวลา 13.30 น.
  • ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง ธัญวดีให้การปฏิเสธ โจทก์แถลงมีพยานบุคคลที่จะนำเข้าสืบ 8 ปาก ใช้เวลา 2 นัด ทนายจำเลยแถลงมีพยานบุคคล 3 ปาก ใช้เวลาสืบครึ่งนัด ศาลอนุญาตให้สืบพยานโจทก์และพยานจำเลยรวม 2 นัด โดยสืบในวันที่ 21 และ 25 เม.ย. 2566

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.21/2565 ลงวันที่ 25 เม.ย. 2565)
  • ก่อนเริ่มสืบพยาน ธัญวดีขอถอนคำให้การเดิมที่ให้การปฏิเสธ และขอให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้อง โดยขอให้ศาลมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลยก่อนมีคำพิพากษา ศาลจึงมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติดำเนินการสืบเสาะและพินิจจำเลยรายงานให้ศาลทราบภายใน 20 วัน พร้อมกับนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 27 มิ.ย. 2566 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.21/2565 ลงวันที่ 21 เม.ย. 2566)
  • ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 811 เวลาประมาณ 10.00 น. จำเลยเดินทางมาฟังคำพิพากษาพร้อมกับสามีและลูกคนที่ 3 พร้อมกันนี้ยังมีตัวแทนจากบริษัทการบินไทยมาร่วมฟังคำพิพากษาอีกด้วย จากนั้นศาลได้อ่านคำพิพากษา โดยสรุปใจความได้ว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี

    พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีและรายงานการสืบเสาะและพินิจแล้ว จำเลยสำนึกผิดและรับว่าโพสต์ข้อความตามฟ้องเนื่องจากได้รับข้อมูลเพียงด้านเดียว แต่หลังเกิดเหตุจำเลยไม่ได้กระทำความผิดในลักษณะเดิมซ้ำอีก ประกอบกับจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาไว้เป็นเวลา 2 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยไว้ 1 ปี โดยให้ไปรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง กับให้ทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์เป็นเวลา 48 ชั่วโมง

    องค์คณะผู้พิพากษาประกอบด้วย ชัชวาลย์ ธัชชัย และธรรมสรณ์ ปทุมมาศ
    .
    สำหรับ ธัญวดีเป็นประชาชนชาวกรุงเทพฯ ประกอบอาชีพขายสินค้าทางออนไลน์ มีลูกทั้งหมด 5 คน ทุกคนกำลังเรียนหนังสืออยู่ ยกเว้นลูกคนโตที่เพิ่งเรียนจบและอยู่ระหว่างหางานทำ ส่วนลูกคนสุดท้องมีภาวะสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder; ADHD) ต้องได้รับดูแลอย่างใกล้ชิด ต้องรับการรักษาจากแพทย์ และต้องทำกิจกรรมบำบัดเป็นประจำทุกเดือน

    ธัญวดีเล่าว่า การถูกดำเนินคดีนี้มีผลกระทบกับสภาพจิตใจมากที่สุด เพราะทำให้เกิดความเครียดและความกังวลอยู่ตลอดเวลาว่าอาจจะต้องติดคุกและจะไม่มีใครอยู่ดูแลลูก ปกติแล้วธัญวดีเป็นคนดูแลความเป็นอยู่ของทุกคนภายในบ้านทั้งหมด ตั้งแต่เรื่องอาหารการกิน ความเรียบร้อย การสั่งสอนเลี้ยงดู และอื่นๆ

    ธัญวดีเล่าอีกว่า แม้ในคดีนี้จะให้การรับสารภาพ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้นมีปัญหาอยู่จริง และเธออยากให้มีการยกเลิกกฎหมายมาตรานี้ เธอยกตัวอย่างว่าในบางประเทศนั้นไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นประมาทประมุขของประเทศ หรือหากมีก็จะมีโทษสูงสุดเพียงแค่จำคุกไม่กี่เดือน หรือมีเพียงโทษปรับเท่านั้น ธัญวดีเห็นว่าแม้จะยกเลิกมาตรา 112 ไม่ได้ แต่อย่างน้อยที่สุดก็ควรจะปรับลดโทษให้น้อยลงกว่านี้

    “ไม่ว่าชีวิตใครก็ไม่ควรถูกทำลายด้วยกฎหมายมาตรานี้” ธัญวดีบอก

    กับคำพิพากษาของศาลวันนี้ ธัญวดีรู้สึกตกใจกับโทษจำคุก 4 ปีอย่างมาก เธอบอกว่าเป็นอัตราโทษที่สูงมากจนเกินไป แต่ยังดีที่ศาลให้รอการลงอาญาไว้ เพราะเห็นแก่ที่รับสารภาพและมีภาระต้องคอยเลี้ยงดูลูกทั้ง 5 คนที่รออยู่ที่บ้าน

    “ถ้าต้องติดคุกขึ้นมาคงวุ่นวายทั้งชีวิต แล้วใครจะดูแลลูกเรา …”

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.21/2565 คดีหมายเลขแดงที่ อ.1758/2566 ลงวันที่ 27 มิ.ย. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/56971)
  • อัยการไม่ยื่นอุทธรณ์ คดีถึงที่สุด

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
"ธัญวดี" (นามสมมติ)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
"ธัญวดี" (นามสมมติ)

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. ชัชวาลย์ ธัชชัย
  2. ธรรมสรณ์ ปทุมมาศ

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 27-06-2023

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์