ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.3012/2564

ผู้กล่าวหา
  • นพดล พรหมภาสิต เลขาธิการ ศชอ. (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.3012/2564
ผู้กล่าวหา
  • นพดล พรหมภาสิต เลขาธิการ ศชอ.

ความสำคัญของคดี

“โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ แกนนำมวลชนอาสา We Volunteer หรือวีโว่ ถูกดำเนินคดี "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" ตามมาตรา 112 เป็นคดีที่ 3 หลังการเข้าแจ้งความของนพดล พรหมภาสิต เลขาธิการศูนย์ช่วยเหลือทางกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิดทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) ซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้าแจ้งความดำเนินคดีนักกิจกรรมหรือผู้แสดงความคิดเห็นในโซเชียลมีเดียด้วยข้อหามาตรา 112 จำนวนมาก โดยโตโต้ถูกกล่าวหาว่า โพสต์ข้อความวิจารณ์ตำรวจ กรณีเข้าสลายกิจกรรมขายกุ้งที่สนามหลวงเมื่อ 31 ธ.ค. 2563 พาดพิงการใช้ภาษีของสถาบันกษัตริย์ เข้าข่ายหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นกษัตริย์ และผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14

คดีนี้โตโต้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก และไม่ถูกควบคุมตัว รวมถึงได้รับการประกันตัวในชั้นพิจารณาคดี

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

กิตติวัฒน์ จิตวิริยาวัฒน์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 บรรยายคำฟ้อง โดยเกริ่นว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีรัชกาลที่ 10 เป็นกษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน ดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้

เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2563 จําเลยได้ใช้บัญชีเพจเฟซบุ๊ก “โตโต้ ปิยรัฐ – Piyarat Chongthep” หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่ 10 โดยโพสต์ข้อความและภาพถ่าย ตั้งค่าเป็นสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนและบุคคลทั่วไปซึ่งเป็นบุคคลที่สามารถเข้าถึงได้ มีสาระสำคัญว่า “ตํารวจชายแดนนี่ก็นะงานตัวเองไม่รู้จักทํา ปล่อยโควิดเข้ามาจนฟาร์มกุ้งเค้าพัง คนเค้าจะมาช่วยขายกุ้งก็มาสลายการขายกุ้ง คนธรรมดาเค้าอดตายได้นะ เพราะเค้าไม่ได้เสวยสุขบนเงินภาษีของประชาชน…” พร้อมรูปภาพขณะมีการชุมนุมทางการเมือง

ซึ่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จและเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ทําให้ประชาชนและบุคคลทั่วไปที่ได้พบเห็นข้อความเข้าใจว่า รัชกาลที่ 10 และพระราชินี ใช้ชีวิตอยู่อย่างสุขสบายโดยใช้เงินภาษีของประชาชน ทั้งๆ ที่ประชาชนกําลังอดอยากและประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อพระมหากษัตริย์ และสถาบันพระมหากษัตริย์ และมีเจตนามุ่งหมายเพื่อให้ประชาชนเกิดความรู้สึกดูหมิ่น เกลียดชัง และไม่เคารพเทิดทูนรัชกาลที่ 10 และพระราชินี และมีเจตนาเพื่อให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศและแสดงความอาฆาตมาดร้าย

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.3012/2564 ลงวันที่ 30 พ.ย. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลา 10.30 น. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ แกนนำมวลชนอาสา We Volunteer หรือวีโว่ ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อหาตามหมายเรียก ในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ "นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงฯ" ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

    ก่อนหน้านี้ปิยรัฐ ได้รับหมายเรียกออกโดย พ.ต.อ.ประดิษฐ์ เปการี หัวหน้าคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนของ บก.ปอท. ลงวันที่ 14 พ.ค. 2564 ให้มารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 26 พ.ค. 2564 แต่เนื่องจากเป็นวันหยุดราชการ จึงมีการขอเลื่อนมาเป็นวันนี้

    พ.ต.ท.ณัฐพนธ์ สุวรรณรงค์ สารวัตร (สอบสวน) กก.3 บก.ปอท. และ ร.ต.อ.พงศ์ปิติ ตรีนิคม รองสารวัตร (สอบสวน) กก.3 บก.ปอท. แจ้งพฤติการณ์คดีแก่ปิยรัฐ มีเนื้อหาโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2564 นพดล พรหมภาสิต ได้มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดําเนินคดีกับผู้ใช้บัญชีเพจเฟซบุ๊กชื่อ “โตโต้ ปิยรัฐ – Piyarat Chongthep” ซึ่งโพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2563 ทำนองวิจารณ์การทำงานที่บกพร่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจชายแดน เป็นเหตุให้เชื้อโควิดแพร่ระบาดเข้ามาในประเทศ ส่งผลให้ฟาร์มกุ้งพัง วีโว่จะมาช่วยขายกุ้งก็ถูกสลาย และมีข้อความบางส่วนพาดพิงถึงการใช้เงินภาษีของสถาบันกษัตริย์

    บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาระบุว่า การโพสต์ข้อความดังกล่าวข้างต้น เป็นการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อความที่มีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาท และดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นการดูหมิ่นพระเกียรติ และหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทําให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติยศ เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง โดยเจตนาทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ ซึ่งองค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ และจากการสืบสวนสอบสวนน่าเชื่อว่าเพจเฟซบุ๊กดังกล่าวเป็นของปิยรัฐ

    พนักงานสอบสวนจึงแจ้ง 2 ข้อกล่าวหาต่อปิยรัฐ ได้แก่ หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)

    ด้านปิยรัฐให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน ก่อนพนักงานสอบสวนจะลงบันทึกประจำวันไว้ และปล่อยตัวปิยรัฐไป โดยไม่มีการควบคุมตัวไว้

    ทั้งนี้ เฟซบุ๊กของ โตโต้ ปิยรัฐ – Piyarat Chongthep เปิดเผยด้วยว่าวันนี้ เวลาประมาณ 11.30 น. หลังจากรับทราบข้อกล่าวหาเสร็จสิ้นแล้ว ได้มีกลุ่มชายฉกรรจ์ประมาณ 10 คน ใส่เสื้อยืดสีน้ำเงิน อ้างกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า เป็นกลุ่มปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้มาดักรอบริเวณประตูทางออกของ สำนักงาน ปอท.

    ปิยรัฐจึงได้ขอให้ทางเจ้าหน้าที่ดูแลให้คนกลุ่มนั้นกลับไปก่อน แต่เนื่องจากไม่อาจจะรอนานได้ ด้วยเกรงจะมีเหตุบานปลายเกิดขึ้น ปิยรัฐจึงตัดสินใจขอหาทางออกมาโดยลำพัง ด้วยการใช้ช่องทางพิเศษที่ใช้ขนส่งพัสดุจนถึงทางปลอดภัย

    ทั้งนี้ นพดล พรหมภาสิต ผู้กล่าวหา มีตำแหน่งเป็นรองประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยในช่วงเดือนมีนาคม 2563 และยังมีตำแหน่งเป็นเลขาธิการของศูนย์ช่วยเหลือทางกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิดทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) ซึ่งเป็นกลุ่มเฟซบุ๊กที่มีการดำเนินการไปแจ้งความดำเนินคดีข้อหามาตรา 112 ต่อนักกิจกรรมหรือผู้แสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ในพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

    โดยก่อนหน้านี้นพดลได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีนักกิจกรรมอย่าง “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว ที่ บก.ปอท. จากกรณีการโพสต์ข้อความถึงสถาบันกษัตริย์ในการเคลื่อนไหว “ราษฎรสาส์น” ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 อีกด้วย

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา กก.3 บก.ปอท. ลงวันที่ 27 พ.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/30124)
  • ปิยรัฐเดินทางไปพบพนักงานสอบสวน บก.ปอท. ตามนัดส่งตัวพร้อมสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 อัยการนัดฟังคำสั่งในวันที่ 20 ต.ค. 2564 เวลา 10.00 น.
  • อัยการยังไม่มีคำสั่ง นัดอีกครั้งวันที่ 24 พ.ย. 2564
  • ปิยรัฐเดินทางไปฟังคำสั่งอัยการ ซึ่งได้แจ้งผ่านทนายความว่าจะยื่นฟ้องในวันนี้ แต่ในช่วงเช้า ปิยรัฐเกิดมีอาการท้องเสียกะทันหัน ทำให้มีอาการหน้ามืด จนทีมงานต้องรีบนำตัวไปส่งโรงพยาบาลเวชธานี ถนนลาดพร้าว

    หลังตรวจรักษาเบื้องต้นพบมีอาการอ่อนเพลีย ความดันสูงขึ้นกว่าปกติ (145-150) ทางแพทย์จึงขอให้นอนพักดูอาการก่อน หากอาการดีขึ้น ปิยรัฐก็ยืนยันจะไปตามนัดหมายของอัยการ

    ต่อมา ทนายความได้ยื่นหนังสือขอเลื่อนนัดฟังคำสั่งอัยการ พร้อมกับแนบใบรับรองแพทย์ไปด้วย และพนักงานอัยการได้สั่งเลื่อนนัดฟังคำสั่งฟ้องคดีไปในวันที่ 30 พ.ย. 2564 เวลา 10.00 น.
  • ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ปิยรัฐเดินทางไปรายงานตัวตามนัดหมายฟังคำสั่งฟ้องคดีของอัยการ โดยพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 มีคำสั่งฟ้องและเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญาในฐานความผิด หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง และเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14

    พนักงานอัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวปิยรัฐในระหว่างพิจารณาคดีมาในคำฟ้องแต่อย่างใด โดยขอให้อยู่ในดุลยพินิจศาล พร้อมระบุขอให้ศาลนับโทษจำคุกของปิยรัฐในคดีนี้ ต่อจากโทษจำคุกในคดีของศาลอาญา, ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ และศาลจังหวัดอุบลราชธานี ด้วย

    ต่อมาทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันปิยรัฐ โดยมุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีค้ามนุษย์ มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี ในวงเงินประกัน 100,000 บาท ระบุในคำสั่งว่า เนื่องจากจำเลยมีการวางหลักประกันไว้ในหลายคดี จึงไม่เรียกหลักประกัน แต่กำหนดเงื่อนไข ห้ามจำเลยกระทำการที่กระทบเกียรติของสถาบันกษัตริย์

    ศาลกำหนดนัดวันตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 7 ก.พ. 2565 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.3012/2564 ลงวันที่ 30 พ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/38491)
  • ผู้รับมอบฉันทะทนายจําเลยนําคําร้องขอเลื่อนคดียื่นต่อศาล อ้างเหตุว่า ทนายจําเลยติดว่าความที่ศาลอื่น ซึ่งได้นัดไว้ก่อนแล้ว ขอเลื่อนคดีไปสักครั้ง โจทก์ไม่ค้าน ศาลให้เลื่อนไปตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 4 พ.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.3012/2564 ลงวันที่ 7 ก.พ. 2565)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ปิยรัฐ จงเทพ

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ปิยรัฐ จงเทพ

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์