ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • ทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย (มาตรา 360)
  • พ.ร.บ.ความสะอาดฯ
ดำ อ.478/2565
แดง อ.347/2566

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ต.วิชาญ วันทะมาศ สว.สส.สภ.เมืองปทุมธานี (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.ความสะอาดฯ
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • ทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย (มาตรา 360)

หมายเลขคดี

ดำ อ.478/2565
แดง อ.347/2566
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ต.วิชาญ วันทะมาศ สว.สส.สภ.เมืองปทุมธานี

ความสำคัญของคดี

สมพล (นามสมมติ) พนักงานบริษัทวัย 28 ปี ถูกจับกุมตามหมายจับของศาลจังหวัดปทุมธานีและถูกดำเนินคดีในข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, ทำให้ทรัพย์สาธารณะเสียหาย และข้อหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ โดยถูกกล่าวหาว่า ปาสีใส่ป้ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ใน อ.เมืองปทุมธานี รวม 3 จุด เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2565 สมพลถูกจับในคดีนี้พร้อมกับคดีของ สภ.ปากเกร็ด และภายหลังถูกจับสมพลรับกับตำรวจว่า ได้ปาสีใส่รูปในจุดอื่นๆ อีก ทำให้เขาถูกดำเนินคดีถึง 6 คดี โดยทั้งหมดเป็นคดีมาตรา 112 อย่างไรก็ตาม สมพลได้รับการประกันตัวทั้งในชั้นสอบสวนและพิจารณาคดี

กรณีของสมพลเป็นอีกกรณีที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับถูกตีความขยายขอบเขตเกินกว่าตัวบทของกฎหมาย ครอบคลุมถึงการกระทำต่อรูปภาพ ไม่ใช่เฉพาะตัวบุคคลเท่านั้น

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

อัจฉริยา ทองโสม พนักงานอัยการจังหวัดปทุมธานี บรรยายฟ้องมีเนื้อหาโดยสรุปว่า

ประเทศไทยปกครองโดยพระมหากษัตริย์มาแต่สร้าง เริ่มตั้งแต่การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนกระทั่งถึงปัจจุบันที่ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผู้ใดจะล่วงละเมิดพระมหากษัตริย์ในทางหนึ่งทางใดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้ ทั้งรัฐและประชาชนต่างมีหน้าที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งพระมหากษัตริย์ ดังที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 6 และมาตรา 50

นอกจากนี้ประมวลกฎหมายอาญา ยังมีบทบัญญัติเกี่ยวกับความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ไว้เป็นพิเศษแตกต่างจากบุคคลทั่วไป ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าวย่อมเห็นได้โดยแจ้งชัดว่า องค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รวมถึงสถาบันกษัตริย์ ทรงเป็นที่เคารพสักการะและเป็นศูนย์รวมจิตใจของปวงชนชาวไทยมาแต่ครั้งอดีตจนถึงปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2565 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จําเลยได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินีฯ ด้วยการขว้างปาถุงบรรจุสีน้ำสีแดงใส่พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นรัชกาลปัจจุบัน รวม 3 จุด คือ

1. บริเวณหน้าหมู่บ้านภัทรนิเวศน์ อําเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นทรัพย์สินของศรศักดิ์ ชูดํา ผู้เสียหาย
2. บริเวณเกาะกลางถนน หน้าตลาดอเวค อําเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นทรัพย์สินของเทศบาลตําบลบางเดื่อ ผู้เสียหาย
3. บริเวณเชิงสะพาน ใกล้บริษัทไทยน้ำทิพย์ จํากัด อําเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นทรัพย์สินของเทศบาลตําบลบางขะแยง ผู้เสียหาย

ทําให้พระบรมฉายาลักษณ์เปรอะเปื้อนสีแดงที่บริเวณพระพักตร์และฉลองพระองค์ โดยจำเลยมีเจตนาดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ และพระราชินี รวมถึงสถาบันกษัตริย์ ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ

และเป็นเหตุให้พระบรมฉายาลักษณ์ของผู้เสียหายที่จัดขึ้นเพื่อให้ประชาชนทั่วไปเคารพสักการะบูชา เปรอะเปื้อนเสียหาย เสื่อมค่า และใช้ประโยชน์ไม่ได้ คิดเป็นค่าเสียหายในจุดที่ 1 จํานวน 2,000 บาท, จุดที่ 2 จํานวน 20,000 บาท และจุดที่ 3 จํานวน 20,000 บาท

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดปทุมธานี คดีหมายเลขดำที่ อ.478/2565 ลงวันที่ 12 พ.ค. 2565)

ความคืบหน้าของคดี

  • ประมาณ 07.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นและจับกุมสมพล (นามสมมติ) จากบ้านพักย่านดอนเมือง โดยแสดงหมายจับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากนั้นควบคุมตัวไปยัง สภ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี โดยญาติได้ติดตามไปด้วย แต่ขณะที่ทนายความยังติดตามไปไม่ถึง ตำรวจฝ่ายสืบสวนได้พาตัวสมพลไปชี้สถานที่เกิดเหตุ และยึดโทรศัพท์มือถือของเขาไป ทำให้ญาติและทนายความไม่สามารถติดต่อได้ และไม่ทราบว่า เขาถูกนำตัวไปที่ใดบ้าง

    กระทั่งประมาณ 17.10 น. ตำรวจจึงได้พาตัวสมพลกลับมายัง สภ.ปากเกร็ด แจ้งกับทนายความว่าจะสอบปากคำผู้ต้องหาในเช้าวันรุ่งขึ้น โดยก่อนหน้านี้ ได้มีการทำบันทึกจับกุมเสร็จแล้ว ซึ่งทนายความไม่ได้เข้าร่วมด้วย

    จากการตรวจสอบบันทึกจับกุม พบว่าได้จัดทำขึ้นที่กองบังคับการสืบสวนตำรวจภูธรภาค 1 เป็นการจับกุมตามหมายจับของศาลจังหวัดนนทบุรี และศาลจังหวัดปทุมธานี ลงวันที่ 18 ก.พ. 2565 ทั้งสองหมาย

    การจับกุมนำโดย พ.ต.ท.ยศวัฒน์ นิติรัฐพัฒนคุณ รองผู้กำกับสืบสวน 2 พร้อมเจ้าหน้าที่จากกองบังคับการสืบสวนตำรวจภูธรภาค 1 จำนวน 13 นาย, ฝ่ายสืบ สภ.ปากเกร็ด จำนวน 6 นาย, สภ.เมืองปทุมธานี จำนวน 4 นาย และตำรวจ บก.ปอท. จำนวน 2 นาย รวมตำรวจชุดจับกุมกว่า 26 นาย

    บันทึกการจับกุมระบุว่า เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2565 ตำรวจภูธรภาค 1 ได้สืบสวนพบว่ามีผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ถูกสาดสีจำนวน 6 รูป ต่อมาตรวจสอบในพื้นที่รับผิดชอบพบว่ามีป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ 3 จุด ในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 1 ถูกสาดสี แยกเป็นคดีในพื้นที่ สภ.เมืองปทุมธานี เป็นกรณีป้ายพระบรมฉายาลักษณ์บริเวณเกาะกลางถนนด้านหน้าตลาด Awake (อเวค) อำเภอเมืองปทุมธานี และคดีในพื้นที่ สภ.ปากเกร็ด เป็นกรณีป้ายพระบรมฉายาลักษณ์บริเวณทางขึ้นด่วนศรีสมาน อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี จากการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานทราบว่าสมพลเป็นผู้ก่อเหตุ จึงได้ขออนุมัติศาลจังหวัดนนทบุรีและศาลจังหวัดปทุมธานีออกหมายจับ

    หมายจับของศาลจังหวัดปทุมธานี ระบุข้อกล่าวหาทั้งหมด 3 ข้อหา ได้แก่ “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, “ทำให้เสียทรัพย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 และ “ทำให้โคมไฟ ป้าย หรือสิ่งใดๆ ที่ราชการได้จัดทำไว้เพื่อสาธารณชนเกิดความเสียหายหรือใช้ประโยชน์ไม่ได้” ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 35

    การเข้าจับกุม ยังมีการแสดงหมายค้นที่ออกโดยศาลอาญาลงวันที่ 18 ก.พ. 2565 เข้าตรวจค้นบ้านของสมพล ก่อนเจ้าหน้าที่จะตรวจยึดของกลางรวมจำนวน 9 รายการ อาทิ รถจักรยานยนต์, หมวกนิรภัย, เสื้อผ้า, รองเท้า, คอมพิวเตอร์, โทรศัพท์มือถือ และกล้องถ่ายรูป

    (อ้างอิง: บันทึกการจับกุม กองบังคับการสืบสวนตำรวจภูธรภาค 1 ลงวันที่ 19 ก.พ. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/40583)
  • หลังจากควบคุมตัวสมพลไว้ที่ สภ.ปากเกร็ด ในคืนที่ผ่านมา ช่วงสาย พ.ต.อ.บุญยิ่ง บัณฑิตไทย และ ร.ต.อ.ตูชัย สุระเสียง พนักงานสอบสวน สภ.เมืองปทุมธานี ได้แจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนสมพล ในคดีที่เกิดขึ้นในท้องที่ อ.เมืองปทุมธานี โดยมีทนายความเข้าร่วมฟังการสอบปากคำด้วย

    พนักงานสอบสวนแจ้งพฤติการณ์คดีว่า เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2565 ระหว่างเวลาประมาณ 03.00-03.50 น. สมพลได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ออกตระเวนใช้ถุงพลาสติกแบบกดปิดเปิดบรรจุสีน้ำสีแดงสาดปาใส่พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ซึ่งตั้งอยู่ที่บริเวณเกาะกลางถนนหน้าตลาดอเวค อ.เมืองปทุมธานี ทําให้พระบรมฉายาลักษณ์เปรอะเปื้อนสีแดง ได้รับความเสียหาย ค่าเสียหายเป็นเงิน 20,000 บาท

    พนักงานสอบสวนระบุว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการมิบังควร ไม่ให้ความเคารพเทิดทูนรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นประมุขของประเทศ อยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะของปวงชนชาวไทย ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ทั้งนี้ หน่วยงานราชการหรือท้องถิ่นต่าง ๆ ได้ จัดทําพระบรมฉายาลักษณ์ขึ้นตามสถานที่ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้แสดงความเคารพ พระบรมฉายาลักษณ์จึงเปรียบเสมือนตัวแทนพระองค์ หลังเกิดเหตุ พ.ต.ต.วิชาญ วันทะมาศ สว.สส.สภ.เมืองปทุมธานี และณัฐพงษ์ ธรรมสุธีร์ รับมอบอํานาจจากเทศบาลตําบลบางเดื่อ มาร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดําเนินคดีสมพลตามกฎหมาย

    จากนั้นพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, ทําให้ทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์เสียหาย และทําให้ป้ายหรือสิ่งอื่นที่ราชการส่วนท้องถิ่นได้จัดทําไว้เพื่อสาธารณชนเกิดความเสียหาย

    สมพลให้การปฏิเสธทุกข้อหา จากนั้นพนักงานสอบสวนได้ให้สมพลพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรรม และควบคุมตัวไว้ที่ สภ.ปากเกร็ด ต่ออีก 1 คืน โดยจะยื่นขอฝากขังผู้ต้องหาต่อศาลในวันรุ่งขึ้น

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สภ.เมืองปทุมธานี ลงวันที่ 20 ก.พ. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/40583)
  • พนักงานสอบสวน สภ.เมืองปทุมธานี ได้ยื่นคำร้องขอฝากขังสมพลต่อศาลจังหวัดปทุมธานี หลังศาลมีคำสั่งให้ฝากขัง ทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวต่อศาล ต่อมา ศาลอนุญาตให้ประกันตัวสมพล โดยให้วางหลักประกันเป็นเงินสด 200,000 บาท ซึ่งได้จากกองทุนราษฎรประสงค์ และนัดสมพลไปรับทราบฟ้องในวันที่ 17 พ.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/40583)
  • พนักงานอัยการจังหวัดปทุมธานี ยื่นฟ้องสมพลในฐานความผิด หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, ทําให้ทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์เสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 360 และทำให้ป้ายของราชการท้องถิ่นเสียหาย ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 35 โดยบรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2565 จําเลยได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินีฯ ด้วยการขว้างปาถุงบรรจุสีน้ำสีแดงใส่พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ในเขตอําเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี รวม 3 จุด คือ บริเวณหน้าหมู่บ้านภัทรนิเวศน์ซึ่งเป็นทรัพย์สินของศรศักดิ์ ชูดํา, บริเวณเกาะกลางถนน หน้าตลาดอเวค ซึ่งเป็นทรัพย์สินของเทศบาลตําบลบางเดื่อ และบริเวณเชิงสะพาน ใกล้บริษัทไทยน้ำทิพย์ ซึ่งเป็นทรัพย์สินของเทศบาลตําบลบางขะแยง

    ทําให้พระบรมฉายาลักษณ์เปรอะเปื้อนสีแดงที่บริเวณพระพักตร์และฉลองพระองค์ โดยจำเลยมีเจตนาดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ และพระราชินี รวมถึงสถาบันกษัตริย์ ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ และเป็นเหตุให้พระบรมฉายาลักษณ์ของผู้เสียหายที่จัดขึ้นเพื่อให้ประชาชนทั่วไปเคารพสักการะบูชา เปรอะเปื้อนเสียหาย เสื่อมค่า และใช้ประโยชน์ไม่ได้ คิดเป็นค่าเสียหายในจุดที่ 1 จํานวน 2,000 บาท, จุดที่ 2 จํานวน 20,000 บาท และจุดที่ 3 จํานวน 20,000 บาท

    ท้ายฟ้องอัยการคัดค้านการให้ประกันระหว่างพิจารณาคดี อ้างว่าเป็นคดีที่มีโทษสูง เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี ยากแก่การจับกุมมาดำเนินคดีภายหลัง พร้อมทั้งขอให้นับโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีอื่นด้วย

    ทั้งนี้ อัยการยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดปทุมธานีพร้อมกับคดีปาสีใส่รูปพระราชินีที่ริมถนนติวานนท์

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดปทุมธานี คดีหมายเลขดำที่ อ.478/2565 ลงวันที่ 12 พ.ค. 2565)
  • เดินทางไปรายงานตัวตามที่ศาลนัด ก่อนเจ้าหน้าที่แจ้งว่า อัยการยื่นฟ้องแล้ว และนำตัวเขาไปควบคุมในห้องขังของศาล ทนายความได้ยื่นประกันในชั้นพิจารณา

    ต่อมาหลังศาลรับฟ้องและถามคำให้การเบื้องต้น ซึ่งสมพลให้การปฏิเสธ ศาลได้อนุญาตให้ประกันสมพล โดยใช้หลักประกันเดิมจากชั้นฝากขัง นัดคุ้มครองสิทธิในวันที่ 1 มิ.ย. 2565 และนัดพร้อมสอบคำให้การ, ตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 20 มิ.ย. 2565 เวลา 09.00 น.
  • ศาลอธิบายฟ้องและแจ้งสิทธิให้จำเลยทราบ สมพลให้การปฏิเสธ และมีทนายความแล้ว ศาลจึงนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 20 มิ.ย.2565 ตามที่นัดไว้เดิม
  • หลังตรวจพยานหลักฐาน ศาลนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 21-22 ก.พ. 2566 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 23 ก.พ. 2566
  • เวลา 09.45 น. ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 3 พัชรินทร์ โชติวรานนท์ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนออกนั่งพิจารณาคดี ก่อนอ่านคำพิพากษาให้จำเลยฟังโดยย่อดังนี้

    ศาลพิพากษายกฟ้องข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดในข้อหาตามมาตรา 360 และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 35 การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 360 ซึ่งเป็นบทหนักสุด จำนวน 3 กระทง ลงโทษจำคุกกระทงละ 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 6 เดือน รวมจำคุกทั้งสิ้น 18 เดือน และนับโทษจำคุกในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในอีกคดีของศาลนี้

    หลังศาลมีคำพิพากษา สมพลถูกเจ้าหน้าที่ศาลเข้ามาควบคุมตัวลงไปที่ห้องขังใต้ถุนศาลในทันที ก่อนที่ทนายความจะยื่นขอประกันตัวสมพลระหว่างอุทธรณ์

    ต่อมาหลังยื่นขอประกันตัวจำเลยระหว่างอุทธรณ์คดี ในเวลา 17.10 น. ทนายความแจ้งว่า ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวสมพลในทั้งสองคดี โดยให้วางเงินหลักประกันในคดีนี้จำนวน 150,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยศาลไม่ได้กำหนดเงื่อนไขอื่นเพิ่มเติม

    นอกจากการต่อสู้ชั้นอุทธรณ์ในคดีนี้ ในคดีอื่นๆ ของสมพล ยังมีนัดสืบพยานต่อไป โดยสองคดีที่ศาลจังหวัดธัญบุรี มีนัดสืบพยานช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2566 นี้ ส่วนหนึ่งคดีที่ศาลจังหวัดนนทบุรี มีนัดสืบพยานช่วงเดือนมกราคม 2567

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลจังหวัดปทุมธานี คดีหมายเลขดำที่ อ.478/2565 คดีหมายเลขดำที่ อ.347/2566 ลงวันที่ 28 มี.ค. 2566) https://tlhr2014.com/archives/54849)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
สมพล (นามสมมติ)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
สมพล (นามสมมติ)

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. พัชรินทร์ โชติวรานนท์

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 28-03-2023

ศาลอุทธรณ์

ผู้ถูกดำเนินคดี :
สมพล (นามสมมติ)

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์