ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.1853/2565
แดง อ.3437/2566

ผู้กล่าวหา
  • กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ฝ่ายปกครอง)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.1853/2565
แดง อ.3437/2566
ผู้กล่าวหา
  • กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ความสำคัญของคดี

“หอมแดง” (นามสมมติ) เกษตรกรชาวเพชรบูรณ์ วัย 55 ปี ถูกดำเนินคดีในข้อหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)(5) หลังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมอบอำนาจให้สัจจะ โชคบุญส่งสวัสดิ์ แจ้งความที่ บก.ปอท. กล่าวหาว่า หอมแดงแชร์โพสต์จากเพจเฟซบุ๊ก “สมองโง่ดักดานรัฐบาลตูบฯ” เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2563 ที่มีข้อความเรียกร้องให้กษัตริย์ไทยอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแม้ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่น กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินสมควร

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

ร.ต.อ.ทองสุข พิธรรม พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 บรรยายคำฟ้องมีใจความโดยสรุปว่า

ระหว่างวันที่ 17 -21 ต.ค. 2563 จำเลยได้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัวโพสต์เผยแพร่ข้อความ ตั้งค่าเป็นสาธารณะ บุคคลทั่วไปเข้าถึง อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ทำให้พระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบันเสื่อมเสียพระเกียรติ โดยจำเลยมีเจตนาไม่เคารพพระมหากษัตริย์ ทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1853/2565 ลงวันที่ 27 ก.ค. 2565)

ความคืบหน้าของคดี

  • “หอมแดง” (นามสมมติ) ชาวเพชรบูรณ์ วัย 55 ปี เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ บก.ปอท. หลังได้รับหมายเรียกในข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งมี สัจจะ โชคบุญส่งสวัสดิ์ รับมอบอำนาจจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เข้าแจ้งความร้องทุกข์

    ร.ต.อ.ฐานันดร สูงเนิน พนักงานสอบสวนแจ้งพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2563 หอมแดงได้แชร์โพสต์ข้อความจากเพจ “สมองโง่ดักดานรัฐบาลตูบฯ” ที่เรียกร้องให้กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยข้อความบางส่วนมีถ้อยคำหยาบคาย แต่เขาไม่ได้เขียนข้อความใด ๆ ประกอบการแชร์โพสต์ดังกล่าว

    พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) หอมแดงให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

    จากนั้นพนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวหอมแดง โดยไม่ได้ควบคุมตัวไว้ เนื่องจากเป็นการเข้าพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา กก.3 บก.ปอท. ลงวันที่ 22 ม.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/61697)
  • พนักงานสอบสวนนัดส่งตัวหอมแดงพร้อมสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 อัยการรับตัวแล้วนัดฟังคำสั่งวันที่ 7 ต.ค. 2564 เวลา 10.00 น.
  • หอมแดงเดินทางจากเพชรบูรณ์ไปรายงานตัวและฟังคำสั่งตามนัดของอัยการที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 ทุกเดือน แต่ในครั้งนี้ พนักงานสอบสวนได้นัดหมายหอมแดงไปที่ บก.ปอท. เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมก่อน หลังอัยการคืนสำนวนให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาหอมแดงเพิ่มเติม

    พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา "เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง" ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(5) เพิ่มอีก 1 ข้อหา โดยไม่มีทนายความเข้าร่วม หอมแดงยืนยันให้การปฏิเสธเช่นเดิม และไม่ได้ลงลายมือชื่อในบันทึกคำให้การ

    อัยการนัดฟังคำสั่งครั้งต่อไปวันที่ 28 มิ.ย. 2565

    (อ้างอิง: บันทึกคำให้การเพิ่มเติม กก.3 บก.ปอท. ลงวันที่ 27 พ.ค. 2565)
  • หอมแดงเดินทางไปที่ศาลอาญา หลังพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 มีคำสั่งฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)(5) กล่าวหาว่า หอมแดงได้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัวโพสต์เผยแพร่ข้อความ อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ทำให้พระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบันเสื่อมเสียพระเกียรติ โดยจำเลยมีเจตนาไม่เคารพพระมหากษัตริย์ ทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์

    ภายหลังศาลรับฟ้องได้อนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างพิจารณาคดี โดยให้วางหลักทรัพย์ 90,000 บาท ซึ่งหอมแดงได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 5 ก.ย. 2565 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1853/2565 ลงวันที่ 27 ก.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/61697)ล
  • นัดสอบคำให้การ ตรวจพยานหลักฐาน และกำหนดนัดสืบพยาน ซึ่งเลื่อนมาจากวันที่ 5 ก.ย. 2565 เนื่องจากทนายจำเลยติดว่าความในคดีอื่น จำเลยให้การปฏิเสธฟ้องของโจทก์

    โจทก์แถลงขอสืบพยานบุคคล 6 ปาก ด้านจำเลยขอสืบพยาน 2 ปาก นัดสืบพยานโจทก์และจำเลยในวันที่ 5, 6 ตุลาคม 2566

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1853/2565 ลงวันที่ 3 ต.ค. 2565)
  • ก่อนหน้าการเริ่มสืบพยาน หอมแดงได้ตัดสินใจขอถอนคำให้การเดิมที่ให้การปฏิเสธ และให้การให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจึงมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลยรายงานต่อศาลเพื่อประกอบดุลพินิจในการพิพากษา ด้านทนายความจำเลยขอยื่นคำแถลงประกอบคำรับสารภาพภายใน 30 วัน ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 20 พ.ย. 2566 เวลา 09.00 น.
  • เวลา 09.00 น. หอมแดงได้มารออยู่ในห้องพิจารณาพร้อมทนายความ ที่ห้องพิจารณาคดี 713 นอกจากนี้ยังมีนายประกัน และผู้สังเกตการณ์คดีจากองค์กรสิทธิมนุษยชนมาร่วมสังเกตการณ์ด้วย

    เวลา 10.30 น. ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดี โดยก่อนจะเริ่มอ่านคำพิพากษา ผู้พิพากษาได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ศาลใส่กุญแจมือพันธนาการข้อมือของหอมแดงไว้ตามกฎระเบียบ รวมถึงให้ทนายความอ่านรายงานการสืบเสาะก่อนครู่หนึ่ง

    ศาลอ่านคำพิพากษาโดยสรุปได้ว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามบทที่มีโทษหนักที่สุดคือ มาตรา 112 จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน

    พิเคราะห์จากรายงานการสืบเสาะ เห็นว่า นับแต่อดีตพระมหากษัตริย์ไทยทรงสร้างชาติสร้างแผ่นดินและมีคุณูปการอันใหญ่หลวงนำพาบ้านเมืองให้อยู่รอดปลอดภัยด้วยพระบารมีที่เปี่ยมด้วยพระเมตตาแผ่ไพศาลแก่ชนทุกหมู่เหล่า และเป็นศูนย์รวมของคนไทยทั้งชาติให้อยู่ร่วมกันด้วยความรักสามัคคีและปกติสุขมายาวนาน

    ขณะเกิดเหตุจำเลยอายุ 55 ปี เกิดในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร รัชกาลที่ 9 ที่ทรงคุณอเนกอนันต์อย่างหาที่สุดไม่ได้ พระองค์มีโครงการในพระราชดำริ มากมายเป็นประโยชน์ต่อปวงชนชาวไทย และในปัจจุบันรัชกาลที่ 10 ยังสานต่อเจตนารมณ์ของรัชกาลที่ 9 ต่อมาจำเลยย่อมประจักษ์ถึงพระราชกรณียกิจและคุณงามความดีอันประเสริฐของพระองค์

    การที่จำเลยได้รับฟังข้อความตามฟ้องซึ่งเป็นข้อมูลอันเป็นเท็จรุนแรงและหยาบคายต่อพระองค์จากสื่อออนไลน์ จำเลยควรต้องตรวจสอบและไตร่ตรองให้ดีว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ แต่กลับขาดความยั้งคิด แล้วเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวต่อไปอีก แสดงถึงเจตนาไม่เคารพสถาบันและขาดสำนึกต่อพระมหากรุณาธิคุณ กระทบกระเทือนความรู้สึกของคนไทยทั้งชาติ อาจจะนำไปสู่การสร้างความไม่พอใจ สร้างความแตกแยก และไม่สามัคคีให้เกิดขึ้นในสังคม ส่งผลต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ

    สุธี สระบัว และธรรมสรณ์ ปทุมมาศ เป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดี

    ภายหลังการอ่านคำพิพากษา ทนายได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ โดยยื่นหลักทรัพย์ประกันเป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์

    ก่อนเวลา 16.00 น. ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวหอมแดง โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใด

    ทั้งนี้ น่าสังเกตว่าคดีมาตรา 112 ของศาลอาญาก่อนหน้านี้ ที่จำเลยให้การรับสารภาพ และศาลพิพากษาลงโทษในลักษณะเดียวกับคดีของหอมแดง คือจำคุก 1 ปี 6 เดือน ได้แก่ คดีของวารุณี และคดีของ “วัฒน์” ศาลอาญาได้ส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวเรื่อยมา โดยเห็นว่า “ข้อหามีอัตราโทษสูง จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี” ทำให้ทั้งสองคนยังถูกคุมขังในเรือนจำระหว่างอุทธรณ์จนถึงปัจจุบัน

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/61697)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
หอมแดง (นามสมมติ)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
หอมแดง (นามสมมติ)

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. สุธี สระบัว
  2. ธรรมสรณ์ ปทุมมาศ

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 20-11-2023

ศาลอุทธรณ์

ผู้ถูกดำเนินคดี :
หอมแดง (นามสมมติ)

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์