ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Line
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.2013/2565
แดง อ.1263/2566

ผู้กล่าวหา
  • ณัฐฐ์ เสขะนันทน์ และเอกลักษณ์ สนสิริ (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Line
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.2013/2565
แดง อ.1263/2566
ผู้กล่าวหา
  • ณัฐฐ์ เสขะนันทน์ และเอกลักษณ์ สนสิริ

ความสำคัญของคดี

“พลเมือง” (นามสมมติ) ชาวจังหวัดกำแพงเพชร ถูกดำเนินคดีในข้อหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) หลังผู้ประกอบธุรกิจร่วมกันนำข้อความในกลุ่มสนทนาไลน์มาแจ้งความที่ สภ.เมืองกำแพงเพชร โดยกล่าวหาว่า พลเมืองพิมพ์ข้อความดังกล่าวในลักษณะดูหมิ่นรัชกาลที่ 10

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแม้ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่น

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

แก้วพิมพ์ รังสิมันต์ไพบูลย์ พนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชร บรรยายคำฟ้องมีเนื้อหาโดยสรุปว่า

เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2564 จำเลยได้พิมพ์ข้อความลงในกลุ่มไลน์ที่มีสมาชิกอยู่จำนวน 5 คน เมื่อบุคคลทั่วไปได้อ่านข้อความดังกล่าวแล้วเข้าใจว่าสื่อถึงรัชกาลที่ 10 อันเป็นการจาบจ้วงหมิ่น ประมาท ใส่ความต่อบุคคลที่สาม ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ทำให้ในหลวงรัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ชื่อเสียง เกียรติคุณ และโดยประการที่น่าจะทำให้ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดกำแพงเพชร คดีหมายเลขดำที่ อ.2013/2565 ลงวันที่ 29 พ.ย. 2565)

ความคืบหน้าของคดี

  • “พลเมือง” (นามสมมติ) ชาวจังหวัดกำแพงเพชร พร้อมทนายความเดินทางไปที่ สภ.เมืองกำแพงเพชร เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกในข้อหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    พ.ต.ท.ณัฐวุฒิ สิงหา สว.(สอบสวน) สภ.เมืองกำแพงเพชร แจ้งพฤติการณ์คดีให้ทราบว่า เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2565 ณัฐฐ์ เสขะนันทน์ และเอกลักษณ์ สนสิริ ได้มาแจ้งความให้ดำเนินคดีพลเมือง ในข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ระบุว่า เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2564 พลเมืองได้ส่งข้อความลงในกลุ่มไลน์ซึ่งมีสมาชิก 5 คน รวม 2 ข้อความในลักษณะพาดพิงถึงรัชกาลที่ 10 ซึ่งผู้กล่าวหาเห็นว่า เป็นข้อความที่มิบังควร และเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ไทย

    พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ โดยพลเมืองให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา หลังรับทราบข้อกล่าวหาพนักงานสอบสวนไม่ได้ควบคุมตัวไว้

    พลเมืองให้ข้อมูลว่า ผู้กล่าวหามีเหตุขัดแย้งทางธุรกิจที่ทำร่วมกันกับเขา จึงได้นำข้อความในกลุ่มสนทนาไลน์มาแจ้งความดำเนินคดีเขา

    จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ในจังหวัดกำแพงเพชรอย่างน้อย 5 ราย ใน 5 คดี

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา สภ.เมืองกำแพงเพชร ลงวันที่ 22 มี.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/51155)

  • พนักงานสอบสวนนัดพลเมืองเพื่อส่งตัวพร้อมสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชร โดยอัยการนัดฟังคำสั่งในวันที่ 16 ส.ค. 2565
  • พนักงานสอบสวนเรียกพลเมืองเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม อัยการส่งสำนวนกลับและให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาพลเมืองเพิ่มเติมในข้อหา นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ มาตรา 14 (3)

    พลเมืองรับทราบข้อกล่าวหา โดยมีทนายความเข้าร่วม ยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
  • ที่ศาลจังหวัดกำแพงเพชร พนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชรได้นัดหมายยื่นฟ้องพลเมืองในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

    เวลาประมาณ 10.00 น. พลเมืองเดินทางเข้ารายงานตัวที่สำนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชร โดยมีญาติเดินทางมาให้กำลังใจด้วย ก่อนจะถูกนำตัวขึ้นรถกระบะของสำนักงานอัยการมาที่ศาล ซึ่งห่างออกมาเพียง 500 เมตร และได้ถูกนำตัวเข้าไปควบคุมไว้ในห้องขังใต้ถุนศาล ระหว่างนั้นเองทนายความและญาติได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี

    ผู้พิพากษาได้วิดีโอคอนเฟอเรนซ์มาที่ห้องขังใต้ศาล เพื่อสอบถามคำให้การ พลเมืองยืนยันให้การปฏิเสธ

    อัยการได้บรรยายคำฟ้องมีเนื้อหาโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2564 จำเลยได้พิมพ์ข้อความลงในกลุ่มไลน์ที่มีสมาชิกอยู่จำนวน 5 คน เมื่อบุคคลทั่วไปได้อ่านข้อความดังกล่าวแล้วเข้าใจว่าสื่อถึงรัชกาลที่ 10 อันเป็นการจาบจ้วงหมิ่น ประมาท ใส่ความต่อบุคคลที่สาม ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์

    ท้ายคำฟ้อง อัยการยังได้ระบุว่าหากจำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โจทก์ขอคัดค้านการปล่อยตัวจำเลย เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร หากจำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเกรงว่าจะหลบหนี

    จนกระทั่งเวลาประมาณ 15.30 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวด้วยหลักทรัพย์ 150,000 บาท โดยได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยตัวระหว่างการพิจารณาคดีว่า ห้ามกระทำความผิดลักษณะเดียวกันซ้ำอีกหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

    ศาลได้กำหนดวันนัดพร้อมเพื่อสอบถามคำให้การและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 20 ธ.ค. 2565 เวลา 09.00 น. จากนั้นพลเมืองได้รับการปล่อยตัวจากห้องขังใต้ศาลและเดินทางกลับ

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดกำแพงเพชร คดีหมายเลขดำที่ อ.2013/2565 ลงวันที่ 29 พ.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/51155)
  • ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้พลเมืองฟังอีกครั้ง พลเมืองให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โจทก์แถลงจะสืบพยานบุคคล 5 ปาก ใช้เวลาสืบพยาน 1 นัดครึ่ง ทนายจําเลยแถลงประสงค์จะสืบพยานบุคคล 5 ปาก ใช้เวลาสืบพยาน 1 นัดครึ่ง เช่นกัน นัดสืบพยานในวันที่ 25-27 เม.ย. 2566

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดกำแพงเพชร คดีหมายเลขดำที่ อ.2013/2565 ลงวันที่ 20 ธ.ค. 2565)
  • ก่อนวันนัดสืบพยาน พลเมืองได้ตัดสินใจให้การรับสารภาพ ตามข้อกล่าวหา ศาลจึงมีคำสั่งให้สถานพินิจสืบเสาะพฤติกรรมของจำเลยเพิ่มเติม ประกอบการจัดทำคำพิพากษา

    ทนายจำเลยจึงได้ยื่นคำร้องขอถอนคำให้การเดิม และให้การใหม่เป็นรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ศาลมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจประวัติของจำเลย พฤติการณ์แห่งคดี และอื่นๆ ที่จำเป็นรายงานต่อศาลเพื่อประกอบการใช้ดุลพินิจในการเขียนคำพิพากษา นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 14 มิ.ย. 2566 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/56782)
  • ศาลอ่านคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน

    พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะประกอบพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่า แม้การกระทำของจำเลยเป็นการจาบจ้วง ใส่ความ หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ส่งผลกระทบกระเทือนต่อสถาบันกษัตริย์และความรู้สึกของประชาชน แต่จำเลยทำไปเพื่อต้องการให้ผู้ประกอบธุรกิจด้วยเกิดความเกรงกลัวโดยขาดการไตร่ตรอง ซึ่งหลังจากถูกดำเนินคดีจำเลยสำนึกในการกระทำจึงให้การรับสารภาพ ประกอบกับความประพฤติของจำเลยไม่มีข้อเสียหายร้ายแรง ทั้งจำเลยป่วยเป็นโรคซึมเศร้า การลงโทษจำคุกจำเลยระยะสั้นย่อมไม่เป็นประโยชน์ต่อจำเลยและสังคม

    เห็นควรรอการลงโทษของจำเลยมีกำหนด 2 ปี แต่ให้คุมประพฤติไว้ 1 ปี โดยให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง และให้ทำงานบริการสังคม 12 ชั่วโมง ยกคำร้องขอบวกโทษจำเลย เนื่องจากคดีนี้ศาลพิพากษารอการลงโทษ

    หลังอ่านคำพิพากษา ศาลได้กล่าวตักเตือนจำเลยห้ามกระทำการลักษณะเดียวกันนี้ ห้ามกระทำความผิดอาญาใดๆ อีก และกำชับให้ทำตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดให้ครบถ้วน มิฉะนั้นโทษจำคุกนี้สามารถนำกลับมาลงโทษจำเลยได้

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลจังหวัดกำแพงเพชร คดีหมายเลขดำที่ อ.2013/2565 คดีหมายเลขแดงที่ อ.1263/2566 ลงวันที่ 14 มิ.ย. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/56782)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
พลเมือง (นามสมมติ)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
พลเมือง (นามสมมติ)

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. เสาวภาคย์ บุญทอง
  2. ชมพร รักษาเกียรติศักดิ์

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 14-06-2023

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์