ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.290/2566

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ต.อดิศักดิ์ ไชยสัตย์ สว.สส.สภ.เมืองอุบลฯ (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.290/2566
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ต.อดิศักดิ์ ไชยสัตย์ สว.สส.สภ.เมืองอุบลฯ

ความสำคัญของคดี

"ฟลุค" กิตติพล (สงวนนามสกุล) กราฟิกดีไซเนอร์และนักกิจกรรมชาวอุบลฯ วัย 19 ปี ถูกดำเนินคดีในข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการชูกรอบรูปมีข้อความ “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” ขณะเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบอุบลฯ ในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 โดยตำรวจกล่าวหาว่า เป็นกระทำที่สื่อความหมายในทางดูหมิ่น เหยียดหยาม มุ่งหมายสื่อถึงว่า การปกครองของกษัตริย์รัชกาลที่ 10 ไม่ดี ไม่มีประสิทธิภาพ ขณะที่ฟลุคยืนยันว่า ข้อความที่เขียนเป็นการสะท้อนความเป็นอยู่ของตนในช่วงเวลานั้นจริงๆ

กรณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการบังคับใช้มาตรา 112 ที่ถูกตีความอย่างกว้างขวาง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือของเจ้าหน้าที่ในการปิดกั้นการแสดงออกโดยสงบของประชาชนที่เป็นไปในเชิงวิพากษ์วิจารณ์

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

รุ่งโรจน์ สาเรศ พนักงานอัยการจังหวัดอุบลราชธานี บรรยายคำฟ้อง มีเนื้อหาโดยสรุปว่า

เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 จำเลยหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยหนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ด้วยการเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุม “อุบลคาร์ม็อบ/4” ซึ่งเป็นกิจกรรมชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาล บริเวณสวนสาธารณะห้วยม่วง

แล้วต่อมาจำเลยได้ใส่ความต่อพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ด้วยการทำให้ปรากฏข้อความเป็นตัวอักษรสีดำลงบนกระดาษหรือวัสดุอื่นใดสีขาวจำนวน 1 แผ่น เป็นข้อความว่า “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” (ไม่มีจะกินในรัชกาลที่ 10) จากนั้นจำเลยได้เอาแผ่นข้อความบรรจุลงกรอบรูปสีทอง แล้วนำกรอบรูปที่มีข้อความดังกล่าวไปยืนถ่ายภาพบริเวณด้านหน้าของพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10

การกระทำดังกล่าวเป็นการแสดงกิริยาเหยียดหยามพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ และสื่อความหมายให้แก่ประชาชนทั่วไปที่พบเห็นเข้าใจว่า รัชกาลที่ 10 ปกครองบ้านเมืองไม่ดี ไม่มีประสิทธิภาพจนทำให้ประชาชนอดอยาก ไม่มีจะกิน ขนาดขาดแคลน และอดสู อันเป็นความเท็จทั้งสิ้น เพราะความจริงแล้วรัชกาลที่ 10 ไม่ได้เป็นผู้บริหารประเทศ เนื่องจากทรงอยู่เหนือการเมือง อันเป็นการกระทำหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10

ประกอบกับองค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ เนื่องจากเป็นประมุขของประเทศและไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองการบริหารประเทศ และยังเป็นการกระทำผิดราชประเพณีและขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมไทย ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ เป็นการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการหมิ่นพระเกียรติและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญาภาค 2 ลักษณะ 1 หมวด 1

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดอุบลราชธานี คดีหมายเลขดำที่ อ.290/2566 ลงวันที่ 27 มี.ค. 2566)

ความคืบหน้าของคดี

  • "ฟลุค" กิตติพล (สงวนนามสกุล) เดินทางไป สภ.เมืองอุบลราชธานี เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการชูกรอบรูปมีข้อความ “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” ขณะเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบอุบลฯ ในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 หลังถูกตำรวจออกหมายเรียก

    เวลา 10.00 น. ในห้องสอบสวน สภ.เมืองอุบลฯ ที่มีฟลุค, ทนายความ และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีที่มาร่วมสังเกตการณ์ พ.ต.ท.อภินันท์ ปลื้มมะลัง รอง ผกก.(สอบสวน) และคณะพนักงานสอบสวนแจ้งพฤติการณ์คดีให้ฟลุคทราบว่า เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 ฟลุคร่วมจัดชุมนุม " UbonCarmob/4" และชูกรอบรูปมีข้อความ “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10" แล้วถ่ายภาพหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ที่บริเวณสวนสาธารณะห้วยม่วง

    พนักงานสอบสวนระบุในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาว่า การชุมนุมดังกล่าวอาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด -19 ได้ อันถือเป็น การฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อมาเจ้าหน้าที่ตํารวจฝ่ายสืบสวน สภ.เมืองอุบลราชธานี ยื่นคําร้องขอหมายค้นบ้านของฟลุค เพื่อพบและตรวจยึดกรอบรูปที่มีข้อความดังกล่าวมาประกอบคดี ศาลจังหวัดอุบลราชธานี พิจารณายกคําร้อง ให้เหตุผลว่า เพียงภาพถ่ายในลักษณะดังกล่าวก็สามารถดําเนินคดีได้แล้ว

    เมื่อพิจารณาข้อความ "ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10" มีความหมายว่า อดอยาก ไม่มีจะกิน ขนาดขาดแคลน หรืออดสู และถ่ายภาพหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ อันเป็นการสื่อความหมายในทางดูหมิ่น เหยียดหยาม เปรียบเปรย ซึ่งเป็นการกระทําที่ไม่บังควร ทั้งการกระทําดังกล่าวมีความมุ่งหมายสื่อถึงว่า การปกครองของกษัตริย์รัชกาลที่ 10 ไม่ดี ไม่มีประสิทธิภาพ ทําให้ประชาชนอดอยาก ไม่มีจะกิน เข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    โดยมีผู้กล่าวหา นักกฎหมาย นักภาษาไทย กับประชาชนโดยทั่วไป เมื่อเห็นข้อความแล้วเข้าใจว่า มีความรู้สึกว่า และมีความเห็นว่า การกระทําดังกล่าวเป็นการหมิ่นพระมหากษัตริย์ อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ซึ่งอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ และผู้ต้องหากระทําผิดราชประเพณีและขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมไทย ทําให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ และไม่ใช่การใช้สิทธิตามปกตินิยม

    พนักงานสอบสวนระบุว่า การกระทำของฟลุคเป็นความผิดฐาน “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์”

    หลังรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว ฟลุคให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การในชั้นศาลเท่านั้น อย่างไรก็ตามพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำเพิ่มเติมว่า กรอบรูปที่ชูในวันชุมนุมดังกล่าวเขาได้ทำขึ้นเองหรือไม่ และการกระทำของฟลุคมีใครอยู่เบื้องหลัง ก่อนที่ฟลุคจะตอบไปว่า เขาเป็นคนทำกรอบรูปขึ้นมาเอง โดยไม่มีใครอยู่เบื้องหลัง

    หลังลงลายมือชื่อรับทราบข้อกล่าวหาและพิมพ์ลายนิ้วมือ พนักงานสอบสวนไม่ได้ควบคุมตัวฟลุคเพื่อขอฝากขังต่อศาล โดยนัดให้มารายงานตัวอีกครั้งที่ สภ.เมืองอุบลราชธานี วันที่ 3 พ.ค. 2565

    ก่อนหน้านี้ฟลุคเคยถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถึง 2 คดี จากกิจกรรมคาร์ม็อบอุบลฯ เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 และ 15 ส.ค. 2564 โดยทั้ง 2 คดี ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของพนักงานอัยการคดีศาลแขวงอุบลฯ ว่าจะมีคำสั่งฟ้องหรือไม่

    นอกจากคดีของฟลุคในพื้นที่ จ.อุบลฯ ยังมีคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 อีกอย่างน้อย 2 คดี ได้แก่ คดีของ ‘แต้ม’ ผู้ป้วยจิตเวชที่ถูกดำเนินคดีจากการทำลายรูป ร.10 ใน อ.ตระการพืชผล และคดีจากการปราศรัย “เด็กพูดผู้ใหญ่ฟัง” ในการชุมนุม 22 ส.ค. 2563 ที่ศาลหลักเมืองอุบลฯ ครั้งนั้นมีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหานี้ 2 ราย ได้แก่ “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ และ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์

    สำหรับฟลุคปัจจุบันอายุ 19 ปี เรียนจบ ปวช.สาขาคอมพิวเตอร์กราฟิก เคยเป็นพนักงานออกแบบที่ร้านทำป้าย และรับงานฟรีแลนซ์ด้านการออกแบบ หลังรับทราบข้อกล่าวหา ฟลุคย้อนเล่าว่า เขาคิดเอาไว้อยู่แล้วว่า ไม่วันใดก็วันหนึ่งจะถูกเล่นงานด้วยมาตรา 112 เพราะปกติเขาโพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์ปัญหาการเมืองที่ปรากฏเหตุการณ์เฉพาะหน้า และปัญหาเชิงโครงสร้างไปด้วยกันอยู่แล้ว และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดถึงสถาบันกษัตริย์ เพราะเป็นองค์กรที่ใช้ทรัพยากรภาษีประชาชนในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ

    “คำว่าไม่มีจะแดกนั้นสะท้อนความจริงอยู่พอสมควร อย่างน้อยๆ ก็สะท้อนความเป็นอยู่ของผมในช่วงเวลานั้น เพียงแต่ว่าประเทศนี้ไม่อนุญาตให้เราพูดความจริงมากสักเท่าไหร่ จึงถูกตีความว่าบุคคลที่เราวิจารณ์นั้น ไร้ประสิทธิภาพทำให้ประชาชนอดอยาก เพียงเพราะเราต้องการพูดประชดประชัน”

    ฟลุคเล่าถึงความตั้งใจว่า จะสู้คดีให้ถึงที่สุด “มันเหมือนเป็นการทดสอบสังคมด้วยว่ามันจะอยุติธรรมที่สุดไปจนถึงเมื่อไหร่ และสังคมจะมองอย่างไรที่กระดาษแผ่นเดียวถูกมองว่าเป็นการล้มล้างสถาบันฯ”

    (อ้างอิง: บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา สภ.เมืองอุบลฯ ลงว้นที่ 7 เม.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/42384)

  • คณะพนักงานสอบสวนประสานงานเลื่อนการรายงานตัวของฟลุคออกไป โดยยังไม่กำหนดวันนัดใหม่
  • ฟลุคและทนายความเดินทางไปที่สำนักงานอัยการจังหวัดอุบลฯ หลังพนักงานสอบสวนนัดส่งตัวพร้อมสำนวนการสอบสวนให้อัยการ หลังอัยการรับตัวไว้ได้นัดฟังคำสั่งในวันที่ 30 พ.ย. 2565 เวลา 09.00 น. และปล่อยตัวกลับ
  • กิตติพลเดินทางไปสำนักงานอัยการจังหวัดอุบลราชธานี ในนัดส่งฟ้องคดี เมื่อไปถึงเจ้าหน้าที่แจ้งกับฟลุคให้เดินทางไปที่ศาลจังหวัดอุบลราชธานี ก่อนศาลจะรับฟ้อง และออกหมายขัง โดยมีทนายความและนายประกันเตรียมยื่นประกันตัว ระหว่างนั้นฟลุคต้องไปอยู่ในห้องควบคุมตัวบริเวณใต้ถุนศาล

    สำหรับคำบรรยายฟ้อง รุ่งโรจน์ สาเรศ พนักงานอัยการระบุว่า การที่กิตติพลเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุม “อุบลคาร์ม็อบ/4” ประท้วงขับไล่รัฐบาล บริเวณสวนสาธารณะห้วยม่วง เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 และนำกรอบรูปที่มีข้อความ “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” ไปยืนถ่ายภาพบริเวณด้านหน้าของพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 นั้น เป็นการแสดงกิริยาเหยียดหยามพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ และสื่อความหมายให้แก่ประชาชนทั่วไปที่พบเห็นเข้าใจว่า รัชกาลที่ 10 ปกครองบ้านเมืองไม่ดี ไม่มีประสิทธิภาพจนทำให้ประชาชนอดอยาก ไม่มีจะกิน ขนาดขาดแคลน และอดสู อันเป็นความเท็จ เพราะรัชกาลที่ 10 ไม่ได้เป็นผู้บริหารประเทศ อันเป็นการกระทำหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10

    อย่างไรก็ตาม ท้ายคำฟ้องอัยการไม่คัดค้านการปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี ระบุว่า ให้อยู่ในดุลพินิจของศาล

    ทั้งทนายและนายประกันรอจนกระทั่งถึงช่วง 14.30 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เรียกหลักทรัพย์เป็นเงินสด 100,000 บาท โดยใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ประกันตัว ก่อนที่ฟลุคจะถูกปล่อยตัวออกมา โดยศาลนัดคุ้มครองสิทธิและตรวจพยานหลักฐานวันที่ 31 พ.ค. 2566

    หลังได้รับอิสรภาพ ฟลุคกล่าวว่า “ถึงจะใช้เหตุผลในการต่อสู้ทางความคิดมากเท่าไหร่ ระบบนิติรัฐของไทยก็ยังใช้ระบบกล่าวหา หน่วยงานที่เกี่ยวกับความยุติธรรมล้วนมีธงในหัวใจว่า อยากจะเล่นงานคนที่เข้าข่ายด้วยข้อหานี้ให้ได้มากแค่ไหน จะช่วงชิงประโยชน์จากการเอาชีวิตคนสังเวยกับคดีนี้ได้มากแค่ไหน พูดตามตรงตอนนี้ผมไม่ไว้ใจความเป็นรัฐมากขึ้นทุกวัน แต่ผมไม่ใช่พวกต่อต้านสังคม”

    นอกจากคดีนี้กิตติพลยังถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกิจกรรมคาร์ม็อบ ที่จัดขึ้นในจังหวัดอุบลราชธานีเมื่อปี 2564 อีก 2 คดี โดยคดียังอยู่ระหว่างอัยการพิจารณาว่าจะมีคำสั่งฟ้องหรือไม่

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดอุบลราชธานี คดีหมายเลขดำที่ อ.290/2566 ลงวันที่ 27 มี.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/54870)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
กิตติพล (สงวนนามสกุล)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
กิตติพล (สงวนนามสกุล)

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์