ความสำคัญของคดี

“บอย” พงศธรณ์ ตันเจริญ นิสิตปี 2 วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สมาชิก "แนวร่วมนิสิต มมส.เพื่อประชาธิปไตย" ถูกตำรวจ สภ.เขวาใหญ่ จ.มหาสารคาม ดำเนินคดีในข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต จากการชุมนุม “อีสานสิบ่ทน” ในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2563 ซึ่งจัดขึ้นเพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องของ "เยาวชนปลดแอก" ให้รัฐบาลประยุทธ์ประกาศยุบสภา, ยุติบทบาท ส.ว., จัดการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 และร่างรัฐธรรมนูญใหม่

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

ร.ต.อ.บัณฑิต กระโทกนอก พนักงานอัยการจังหวัดมหาสารคาม บรรยายคำฟ้องมีเนื้อหาดังนี้

เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2563 ระหว่างเวลากลางวันถึงกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยได้กระทำผิดต่อกฎหมายรวม 2 กรรม กล่าวคือ

1. จำเลยได้จัดให้มีกิจกรรมด้วยการเชิญชวนกลุ่มนิสิต นักศึกษา ประชาชนทั่วไป หรือผู้มีอุดมการณ์เดียวกันให้ไปร่วมกิจกรรม “อีสานสิบ่ทน” ประชุมประท้วงรัฐบาลในนาม กลุ่มสมัชชานิสิตนักศึกษาภาคอีสาน ที่ลานแปดเหลี่ยม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อันเป็นสถานที่แออัด มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากประมาณ 1,800 - 2,000 คน ในลักษณะมั่วสุมประชุมกันหรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย โดยไม่มีบริการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย หรือการคัดกรองอาการป่วยในระบบทางเดินหายใจ ไม่มีการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ไม่เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 ม. ไม่จำกัดจำนวนผู้ร่วมกิจกรรมเพื่อไม่ให้แออัด และไม่จัดให้มีที่ล้างมือด้วยสบู่ แอลกอฮอล์เจล หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค รวมทั้งไม่จัดให้มีการเช็ดทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสของสถานที่ที่เกี่ยวข้องทั้งก่อน ระหว่าง และภายหลังการทำกิจกรรม

ซึ่งการกระทำของจำเลยดังกล่าวอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดแพร่ออกไป อันเป็นการฝ่าฝืนต่อข้อ 2(2) ของข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2558 และข้อ 4.5 ของประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดมหาสารคาม ฉบับที่ 13/2563 ทั้งนี้ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และโดยไม่ได้รับยกเว้นใดๆ ตามกฎหมาย

2. จำเลยได้โฆษณาด้วยการพูดบอกกล่าว แจ้งความ ชี้แจง แนะนำ หรือแสดงความคิดเห็นซึ่งมีเนื้อหาต่อต้านรัฐบาลแก่ประชาชนทั่วไป โดยการใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า โดยจำเลยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และโดยไม่ได้รับการยกเว้นใดๆ ตามกฎหมาย

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดมหาสารคาม คดีหมายเลขดำที่ อ.1715/2563 ลงวันที่ 1 ต.ค. 2563)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลา 10.20 น. “บอย” พงศธรณ์ ตันเจริญ นิสิตปี 2 วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สมาชิกแนวร่วมนิสิต มมส.เพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มเสรีมวลชนเพื่อสังคม ซึ่ง สภ.เขวาใหญ่ ออกหมายเรียกในข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก

    ด้านหน้า สภ.เขวาใหญ่ มีการวางแผงเหล็กกั้นทางขึ้น โดยเว้นช่องให้เดินผ่านเข้าได้ พร้อมทั้งมีการจัดเตรียมกำลังตำรวจในเครื่องแบบราว 50 นาย ประจำอยู่ทั้งสองด้านของทางขึ้น เจ้าหน้าที่นอกเครื่องประมาณ 10 นาย กระจายตัวอยู่คอยถ่ายรูปและตั้งกล้องวีดิโอบันทึกภาพ ประชาชน นักศึกษาและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่เดินทางมาให้กำลังใจพงศธรณ์

    หลังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนและกล่าวปราศรัยบนรถเครื่องเสียงกล่าวถึงการดำเนินคดีเขาในครั้งนี้ว่า เป็นคุกคามประชาชน ด้วยการยัดคดี ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ศบค.บอกว่า การต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้มีเป้าหมายปิดกั้นการชุมนุม และ 1 เดือนที่ผ่านมาไม่มีใครติดโควิด พงศธรณ์พร้อมทนายความจึงเข้ารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวน โดยมีแม่ อาจารย์ฝ่ายพัฒนานิสิต และอาจารย์ประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม รวม 3 ท่าน เข้าร่วมรับฟังการแจ้งข้อกล่าวหา

    พ.ต.ท.ไพบูลย์ ฐิติญาณวิโรจน์ รองผู้กำกับ (สอบสวน) สภ.เขวาใหญ่ ในฐานะพนักงานสอบสวนในคดีนี้ ได้ชี้แจงกระบวนการในวันนี้และแจ้งสิทธิของผู้ต้องหา ก่อนแจ้งพฤติการณ์ที่เป็นเหตุในการดำเนินคดี และแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปคือ

    กรณีเครือข่ายนักศึกษาจัดกิจกรรม “อีสานสิบ่ทน” โดยมีพยานหลักฐานว่า พงศธรณ์เป็นแกนนำในการประชาสัมพันธ์ทางเฟซบุ๊ก แนวร่วมนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามเพื่อประชาธิปไตย เชิญชวนให้ทุกคนร่วมกิจกรรมการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ในวันที่ 22 ก.ค. 2563 ที่ลานแปดเหลี่ยม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อถึงวันดังกล่าวมีการจัดชุมนุมโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขับไล่รัฐบาล มีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลประยุทธ์ประกาศยุบสภา, ยุติบทบาท ส.ว., จัดการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ กลุ่มผู้ชุมนุมสลับสับเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัยโดยใช้เครื่องขยายเสียง มีผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมากนั่งและยืนเบียดเสียดกันโดยเว้นระยะห่างไม่ถึง 1 ม., ผู้ชุมนุมบางคนไม่สวมหน้ากากอนามัย, สถานที่ชุมนุมมีทางเข้าออกหลายทางโดยไม่ได้จัดจุดตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายเพื่อคัดกรองและจัดให้ผู้ชุมนุมล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ให้ครบถ้วนตามหลักวิชาการในการป้องกันโควิด-19 อันจะเป็นเหตุให้มีการแพร่ระบาดของโรคได้

    การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐาน “เป็นผู้จัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมประชุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย ชุมนุม ทำกิจกรรม หรือมั่วสุมกันในสถานที่แออัด หรือในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค, ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่สั่งห้ามผู้ใดดำเนินการใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะเป็นเหตุให้โรคแพร่ออกไป และโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต" อันเป็นความผิดตามข้อกำหนดมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 5) ข้อ 2(2), พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34(6), และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ มาตรา 4

    พงศธรณ์ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยจะให้การเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษรภายในวันที่ 15 ก.ย. 2563

    หลังพนักงานสอบสวนลงบันทึกประจำวันและให้พงศธรณ์พิมพ์ลายนิ้วมือแล้ว พนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวพงศธรณ์โดยไม่ต้องมีการประกันตัวแต่อย่างใด

    พงศธรณ์ยังได้แถลงหลังออกมาหน้า สภ.เขวาใหญ่ อีกว่า เขาจะสู้ตามกระบวนการของกฎหมาย ไม่ว่าจะมีการดำเนินคดีเขาอีกกี่คดี แต่การดำเนินคดีจะไม่สามารถหยุดยั้งการต่อสู้ของเขาและประชาชนได้ และการต่อสู้จะยกระดับเข้มข้นขึ้น โดยประชาชนชาวจังหวัดมหาสารคามจะเดินทางเข้าร่วมการชุมนุมขับไล่รัฐบาลที่กรุงเทพฯ ในเดือนกันยายนด้วย จากนั้น พงศธรณ์ได้ฉีกหมายเรียกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย และทิ้งลงพื้นพร้อมกระทืบซ้ำ เป็นสัญลักษณ์ว่า กฎหมายที่นำมาใช้กลั่นแกล้งประชาชนไม่ได้ทำให้ประชาชนกลัวแต่อย่างใด มีแต่จะยิ่งเพิ่มไฟแค้นและนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง

    การชุมนุม #อิสานสิบ่ทน ที่เป็นเหตุในคดีนี้ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2563 โดย “แนวร่วมนิสิต มมส.เพื่อประชาธิปไตย” บริเวณลานแปดเหลี่ยม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ก่อนหน้ากิจกรรม มหาวิทยาลัยยังได้ออกประกาศไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ในการจัดกิจกรรม โดยอ้างว่าการจัดกิจกรรมดังกล่าวผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่กลุ่มนักศึกษาได้ประกาศยืนยันจัดกิจกรรมเช่นเดิม โดยมีนักศึกษาและประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก การชุมนุมซึ่งดำเนินไปถึงช่วงค่ำ มหาวิทยาลัยไม่ยอมเปิดไฟสปอร์ตไลท์บริเวณที่ชุมนุม ปล่อยให้ผู้ชุมนุมอยู่ในความมืดจนกระทั่งเวลาประมาณ 19.00 น. โดยมีเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบไม่น้อยกว่า 100 นาย ตรึงกำลังและบันทึกภาพตลอดกิจกรรม

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา สภ.เขวาใหญ่ ลงวันที่ 31 ส.ค. 2563 และ https://www.tlhr2014.com/?p=20963)
  • พงศธรณ์ได้ยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือต่อพนักงานสอบสวน พร้อมกับขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคามในประเด็นที่เกี่ยวกับประชาชนที่ติดเชื้อโควิด-19 ในจังหวัดมหาสารคาม เพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้และพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา มีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้

    1. สาเหตุและพฤติการณ์คดีนี้เนื่องมาจากผู้ต้องหาได้ไปทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์บริเวณลานแปดเหลี่ยม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งมีมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ตามสมควร บุคคลผู้เข้าร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่สวมใส่หน้ากากอนามัย ยืนรักษาระยะห่างตามสมควร สถานที่ทำกิจกรรมเป็นพื้นที่โล่งเปิดกว้าง ไม่ใช่สถานที่แออัด โดยมีเจตนาในการแสดงออกเพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ประกาศยุบสภา, ยุติบทบาท ส.ว., จัดการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ อันเป็นเพียงการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสุจริต และเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายตามพันธกรณีระหว่างประเทศ และตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงไม่เป็นความผิดต่อกฎหมายตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด

    2. สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุม ถือเป็นเครื่องมือแสดงออกซึ่งเจตจำนงอย่างเสรีของพลเมืองที่มีอุดมการณ์ร่วมกันอันเกิดขึ้นจากความสมัครใจร่วมกันของปัจเจกบุคคล และเป็นวิธีในการแสดงออกซึ่งเจตจำนงของมวลชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เพื่อเป็นเครื่องสะท้อนและกระตุ้นเตือนให้รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน จึงถือเป็นสิทธิมนุษยชนสำคัญซึ่งในทางสากลให้การยอมรับและบัญญัติไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 34 และมาตรา 44 ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กิจกรรมตามบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาจึงเป็นเพียงการใช้เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุมโดยสุจริต และเป็นไปตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ ตามที่ ICCPR ได้รับรองไว้ ไม่ถือเป็นความผิดตามที่ถูกกล่าวหา

    3. การออกประกาศห้ามชุมนุมของนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงเป็นการตรากฎหมายที่มิได้มีวัตถุประสงค์จำกัดสิทธิเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธของบุคคลเป็นการทั่วไปเพื่อยับยั้งบุคคลไม่ให้มีความเห็นต่างจากรัฐ แต่มุ่งใช้บังคับเฉพาะการรวมตัวที่กระทบต่อสถานการณ์แพร่เชื้อโรคระบาดเท่านั้น ดังนั้น การดำเนินคดีกับผู้ต้องหาในคดีนี้จึงเป็นการใช้ดุลพินิจตีความกฎหมายผิดพลาดอย่างร้ายแรง เป็นไปโดยมีเหตุผลทางการเมืองเพื่อแทรกแซงยับยั้งการใช้สิทธิเสรีภาพโดยชอบด้วยกฎหมายของประชาชนในการแสดงออกหรือแสดงความคิดเห็นในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และมีเจตนาไม่สุจริต

    4. เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงดังกล่าว ผู้ต้องหาจึงขออ้างพยานบุคคลเพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้และพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131 ที่กำหนดให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิด เพื่อพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา โดยขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม ในประเด็นต่อไปนี้
    1) จังหวัดมหาสารคามพบประชาชนในจังหวัดติดเชื้อโควิด 19 ครั้งแรก เมื่อวันที่เท่าใด จำนวนกี่ราย
    2) จังหวัดมหาสารคามพบประชาชนในจังหวัดติดเชื้อโควิด 19 เป็นรายสุดท้าย เมื่อวันที่เท่าใด
    3) ตามข้อมูลสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคามได้พบว่ามีประชาชนในจังหวัดมหาสารคามติดเชื้อโควิด-19 จากการจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “อิสานสิบ่ทน” เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2563 ณ ลานแปดเหลี่ยม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หรือไม่ อย่างไร

    (อ้างอิง: คำให้การเพิ่มเติมของผู้ต้องหา ลงวันที่ 15 ก.ย. 2563 และ https://www.tlhr2014.com/?p=21676)
  • พนักงานสอบสวน สภ.เขวาใหญ่ นัดพงศธรณ์เพื่อส่งตัวพร้อมสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการจังหวัดมหาสารคาม โดยพนักงานสอบสวนได้แจ้งพงศธรณ์ว่า ได้ดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมในประเด็นที่ยื่นหนังสือมาแล้ว จากนั้นคณะพนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนโดยมีความเห็นควรสั่งฟ้องพงศธรณ์ใน 3 ข้อหาตามที่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาไปแล้ว ก่อนส่งสำนวนการสอบสวนให้อัยการ

    หลังพนักงานอัยการรับตัวผู้ต้องหาไว้แล้วได้นัดฟังผลการพิจารณาสั่งคดีในวันที่ 1 ต.ค. 2563 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดผัดฟ้องครั้งที่ 5 ซึ่งหากอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องก็อาจยื่นฟ้องต่อศาลในวันดังกล่าวเลย

    (อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=21676)
  • พงศธรณ์พร้อมอาจารย์และประชาชนที่มาให้กำลังใจเดินทางเข้าพบอัยการที่สำนักงานอัยการจังหวัดมหาสารคามในเวลา 09.30 น. ตามนัดหมาย

    พงศธรณ์ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่า อัยการอยู่ที่ศาลจังหวัดมหาสารคามแล้ว กำลังยื่นฟ้องคดีต่อศาล และให้พงศธรณ์เดินทางตามไป
    หลังจากพงศธรณ์เดินทางถึงศาลจังหวัดมหาสารคามในเวลาประมาณ 10.00 น. เจ้าหน้าที่ได้นำตัวไปยังห้องควบคุมตัวสำหรับผู้ต้องหารอการประกันตัว ก่อนจะถูกนำตัวไปพบผู้พิพากษาที่ห้องไกล่เกลี่ย ผู้พิพากษาได้อ่านคำฟ้องของอัยการ และถามคำให้การเบื้องต้นของจำเลย พงศธรณ์ให้การปฏิเสธเช่นเดียวกับที่ให้ไว้ในชั้นสอบสวน ศาลนัดสอบคำให้การอีกครั้งในวันที่ 28 ต.ค. 2563 พงศธรณ์ถูกนำตัวกลับไปยังห้องควบคุมตัว ขณะทนายความยื่นคำร้องขอประกันตัวโดยไม่ใช้หลักทรัพย์ประกัน

    เวลาประมาณ 12.30 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวพงศธรณ์โดยมีประกันในวงเงิน 20,000 บาท แต่ยังไม่ต้องวางเงินประกันในวันนี้ หากผิดสัญญาประกันศาลจึงจะบังคับเงินจำนวนนี้จากจำเลย

    หลังได้รับการปล่อยตัว พงศธรณ์ให้ความเห็นต่อการที่อัยการมีคำสั่งฟ้องและยื่นฟ้องคดีต่อศาลในวันนี้ว่า คดีแบบนี้เป็นคดีที่ใช้ในการขัดขาการเคลื่อนไหวของประชาชน ทั้งที่รัฐบาลอ้างว่า จะไม่ใช่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาขัดขวางในทางการเมือง สุดท้ายก็นำมาใช้ พยายามสร้างความกลัวให้คนทั่วไปไม่กล้าที่จะออกมาเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แต่ถึงยังไงก็ไม่ได้มีทีท่าว่าแกนนำหรือคนที่ถูกดำเนินคดีอย่างผมจะกลัวหรือถดถอย มีแต่จะสู้ไปข้างหน้าเรื่อยๆ

    คดีนี้นับเป็นคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมทางการเมือง คดีที่ 3 ที่มีการยื่นฟ้องต่อศาล ก่อนหน้านี้ อนุรักษ์ เจนตวนิชย์ และ นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ถูกฟ้องจากกิจกรรมรำลึกครบรอบ 10 ปี เหตุการณ์ล้อมปราบการชุมนุมคนเสื้อแดง ที่บริเวณลานหน้าหอศิลป์กรุงเทพ และ “บอล” ธนวัฒน์ วงค์ไชย และธนาธร วิทยเบญจางค์ 2 นักศึกษา ถูกฟ้องจากการชุมนุม #คนลำพูนก็จะไม่ทนโว้ย และยังมีอีก 18 คดี ที่ยังอยู่ในการดำเนินการของพนักงานสอบสวนและอัยการ

    ในคดีนี้ ร.ต.อ.บัณฑิต กระโทกนอก พนักงานอัยการจังหวัดมหาสารคาม ยื่นฟ้องพงศธรณ์ในความผิดฐาน “เป็นผู้จัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมประชุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย ชุมนุมทำกิจกรรม หรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด หรือในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค, ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่สั่งห้ามกระทำการหรือดำเนินการใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดแพร่ออกไป และโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต” อันเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4

    ในท้ายคำฟ้องอัยการไม่ได้คัดค้านการให้ประกันจำเลยระหว่างพิจารณาคดี

    ทั้งนี้ ความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, ฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ มาตรา 4 มีโทษปรับไม่เกิน 200 บาท

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดมหาสารคาม คดีหมายเลขดำที่ อ.1715/2563 ลงวันที่ 1 ต.ค. 2563 และ https://www.tlhr2014.com/?p=21782)
  • ศาลอ่านและอธิบายคำฟ้องของโจทก์ให้พงศธรณ์ฟังอีกครั้ง ก่อนถามคำให้การ พงศธรณ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาตามคำให้การเป็นเอกสารที่ได้ยื่นต่อศาลฉบับลงวันที่วันนี้ เนื่องจากไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องของโจทก์ การชุมนุมดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด โดยจัดให้มีจุดคัดกรองโรค และแจกหน้ากากอนามัยให้แก่ประชาชนที่เข้าร่วม อีกทั้งในพื้นที่จังหวัดมหาสารคามไม่พบว่ามีประชาชนติดเชื้อโควิดทั้งก่อนและหลังการชุมนุมที่เป็นเหตุของคดีนี้

    ในการตรวจพยานหลักฐาน อัยการแถลงตามบัญชีพยานโจทก์ว่า มีพยานบุคคลที่จะนำเข้าเบิกความรวม 12 ปาก ได้แก่ ตำรวจชุดสืบสวนและจับกุม 3 ปาก, เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอกันทรวิชัย 1 ปาก, เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 3 ปาก, เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลขามเรียง 1 ปาก, เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม 2 ปาก และพนักงานสอบสวน 2 ปาก

    ด้านทนายจำเลยแถลงจะนำพยานบุคคลเข้าสืบรวม 5 ปาก ได้แก่ จำเลย, นายแพทย์ประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม ส่วนอีก 3 ปาก จะยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติมในภายหลัง

    ศาลกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยรวม 3 นัด ในวันที่ 26-28 ม.ค. 2564

    หลังกระบวนการในศาล พงศธรณ์ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “ผมจะสู้ให้ถึงที่สุดจะดูว่ากระบวนยุติธรรมมันยังหลงเหลือความยุติธรรมไหม หรือจะสร้างความยุติธรรมแค่กับกลุ่มผู้มีอำนาจ? เราจะได้รู้เห็นว่าพวกอำมาตย์ที่ปกครองคนไทยอยู่ขณะนี้มันสมควรที่จะวางมือจากอำนาจแล้วสถาปนาอำนาจของประชาชนขึ้นมาแทนที่คนพวกนี้ ในประเทศนี้ถ้าไม่มีความยุติธรรมก็ไม่ต้องถามหาสันติภาพ ความสงบจะไม่มีทางเกิดขึ้นถ้าประเทศเรายังใช้กระบวนการสองมาตราฐานแบบนี้…”

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดมหาสารคาม คดีหมายเลขดำที่ อ.1715/2563 ลงวันที่ 28 ต.ค. 2563 และ https://tlhr2014.com/?p=22647)
  • ก่อนถึงวันนัดสืบพยาน เจ้าหน้าที่ศาลจังหวัดมหาสารคามได้โทรศัพท์แจ้งทนายจำเลยว่า ศาลให้เลื่อนการสืบพยานไปเป็นวันที่ 21-23 เม.ย. 2564 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด
  • ก่อนถึงวันนัดสืบพยาน เจ้าหน้าที่ศาลจังหวัดมหาสารคามได้โทรศัพท์แจ้งทนายจำเลยว่า ศาลให้เลื่อนการสืบพยานไปเป็นวันที่ 7-9 ก.ค. 2564 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด
  • พงศธรณ์ พร้อมทั้งผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และทนายจำเลยเดินทางมาศาลในนัดสืบพยาน แต่โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี เนื่องจากพยานโจทก์สัมผัสผู้ติดเชื้อมา จำเลยและทนายจำเลยไม่ค้าน ศาลอนุญาตให้เลื่อนนัดสืบพยานไปเป็นวันที่ 27-29 ต.ค. 2564

    ทั้งนี้ จําเลยและทนายจําเลยแถลงยอมรับข้อเท็จจริงว่านายแพทย์หัสชา เนือยทอง และพันจ่าเอกนิมิตร บุญหล้า ให้การต่อพนักงานสอบสวนไว้ ตามบันทึกคําให้การพยานที่โจทก์ให้ดู โจทก์จึงอ้างส่งบันทึกคําให้การของพยานทั้งสองปาก และไม่ติดใจสืบพยานทั้งสองปากดังกล่าว

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดมหาสารคาม คดีหมายเลขดำที่ อ.1715/2563 ลงวันที่ 7 ก.ค. 2564)
  • ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาและสร้างอัตลักษณ์นิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เข้ายื่นหนังสือถึงอัยการจังหวัดมหาสารคาม ขอให้พิจารณาถอนฟ้องคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน มีรายละเอียดดังนี้

    ตามที่พนักงานอัยการจังหวัดมหาสารคามได้ยื่นฟ้องคดี พงศธรณ์ ตันเจริญ ซึ่งปัจจุบันเป็นนิสิต วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ข้อหา เป็นผู้จัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจํานวนมาก ในลักษณะติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย ชุมนุมทํากิจกรรมในสถานที่แออัด หรือในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค, ไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่อแพร่ออกไป และโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต

    เห็นว่า พนักงานอัยการมีอํานาจและหน้าที่ตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ, กฎหมายว่าด้วยองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ, ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และตามกฎหมายอื่น ซึ่งพนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย โดยสุจริต เที่ยงธรรม และปราศจากอคติ การดําเนินคดีดังกล่าวต่อพงศธรณ์ สืบเนื่องมาจากการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมือง เนื้อหาในการจัดกิจกรรมหรือปราศรัยส่วนใหญ่เป็นการโจมตีการบริหารงานของรัฐบาล มีการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งเป็นสิทธิและเสรีภาพที่มีการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่มีข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานใดชี้ชัดว่ามีการยุยง ปลุกปั่น หรือกระทําการใดๆ เพื่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมืองแต่อย่างใด

    อีกทั้งการจัดกิจกรรมดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ควบคุมที่สามารถกระทําได้ภายในมหาวิทยาลัย โดยกิจกรรมดังกล่าวเป็นพื้นที่สาธารณะ มีลักษณะเป็นลานกว้าง โล่งแจ้ง ไม่มีลักษณะเป็นสถานที่แออัด อันจะมีลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโควิด-19 แต่อย่างใด และในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 ไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในท้องที่อําเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม และพื้นที่ใกล้เคียง

    นอกจากนี้ ในระยะเวลาอันใกล้เคียงกันได้มีการจัดกิจกรรมในรูปแบบคล้ายคลึงกันในหลายพื้นที่ ซึ่งต่อมาได้มีคําพิพากษายกฟ้อง (ศาลแขวงอุดรธานี) หรือพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง(อัยการจังหวัดคดีศาลแขวงลําปาง)

    ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงขอให้อัยการจังหวัดมหาสารคาม พิจารณาถอนฟ้องคดีดังกล่าว เพราะการดําเนินคดีในลักษณะนี้ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน ตามระเบียบสํานักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดําเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.2563 ทั้งจะเป็นการรักษาไว้ซึ่งสิทธิและเสรีภาพ ภราดรภาพ ที่กฎหมายรัฐธรรมนูญได้รับรองไว้

    (อ้างอิง: หนังสือขอความเป็นธรรม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ลงวันที่ 1 ต.ค. 2564)
  • ก่อนถึงวันนัดสืบพยาน เจ้าหน้าที่ศาลจังหวัดมหาสารคามโทรศัพท์แจ้งเลื่อนการสืบพยาน เนื่องจากเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ติดโควิด โดยกำหนดนัดสืบพยานใหม่ในวันที่ 19-21 เม.ย. 2565 ตามที่คู่ความมีวันว่างตรงกัน
  • อัยการนำพยานบุคคลเข้าเบิกความได้ 5 ปาก ดังนี้

    ++พยานโจทก์ปากที่ 1 พ.ต.อ.พัฒน์ พูราษฎร์ ขณะเกิดเหตุเป็นรองผู้กํากับสืบสวน สภ.เขวาใหญ่

    พ.ต.อ.พัฒน์ เบิกความว่า เนื่องจากในช่วงเกิดเหตุ มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2563 นายกรัฐมนตรีได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร และประกาศขยายระยะเวลาการใช้บังคับสถานการณ์ฉุกเฉินถึงวันที่ 31 ก.ค. 2563
    นอกจากนี้ นายกฯ ได้ออกข้อกําหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 5) ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทํากิจกรรมหรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัด หรือการกระทําอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามในขณะนั้นในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดมหาสารคาม ได้มีประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดมหาสารคาม ฉบับที่ 13/2563

    ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ เจ้าพนักงานตํารวจชุดสืบสวนของ สภ.เขวาใหญ่ แจ้งพยานว่า พงศธรณ์ ตันเจริญ จําเลยในคดีนี้ ได้ลงข้อความในเฟซบุ๊กเชิญชวนให้นักเรียก นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ไปร่วมกิจกรรม อีสานสิบ่ทน ณ ลานแปดเหลี่ยมของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยจําเลยนัดหมายชุมนุมในวันที่ 22 ก.ค. 2563 เวลา 17.00 น. ต่อมาในวันดังกล่าวเวลาประมาณ 12.00 น. พยาน, ร.ต.อ.ภูเบศร์ ภูกระบิล และเจ้าพนักงานตํารวจชุดสืบสวนอีกประมาณ 4 - 5 คน เดินทางไปยังบริเวณลานแปดเหลี่ยม ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

    ต่อมาเวลาประมาณ 15.00 น. จําเลยได้ขึ้นปราศรัยผ่านไมโครโฟนโดยมีเครื่องขยายเสียง บนรถยนต์กระบะ กล่าวโจมตีการทํางานของอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่เพื่อทํากิจกรรมชุมนุมประท้วงรัฐบาลในครั้งนี้ และได้ปราศรัยโจมตีการทํางานในส่วนอื่นของอธิการบดีด้วย เป็นเวลา 30 นาที ขณะนั้นมีนักศึกษามาร่วมฟังประมาณ 100 คน

    หลังจากนั้น พ.ต.อ.อิศเรศ ห่านดํา ผู้กํากับการ สภ.เขวาใหญ่ ได้เข้าไปอ่านประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้จําเลยกับพวกทราบ พร้อมทั้งแจ้งว่าการกระทําของจําเลยกับพวกเป็นการกระทําที่ผิดกฎหมาย ขอให้หยุดการทํากิจกรรมดังกล่าว แต่จําเลยแจ้งว่าเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ต่อมาเวลาประมาณ 17.00 น. มีการจัดขบวนแห่กลองยาวรอบพื้นที่วงกลมหน้าอาคารแปดเหลี่ยม ขณะนั้นมีคนเข้าร่วมชุมนุมหลายร้อยคน จากนั้นมีการจัดแสดงหมอลํากลอนไปจนถึงเวลา 18.00 น.

    หลังจากเคารพธงชาติเสร็จ มีบุคคลหลายคนรวมทั้งจำเลย ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นกล่าวปราศรัยโจมตีการทํางานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คนละประมาณไม่เกิน 10 นาที มีนักศึกษาเข้าร่วมการชุมนุมประมาณ 1,000 - 2,000 คน บริเวณลานที่จัดชุมนุมเป็นที่โล่ง มีทางเข้าออกหลายทาง จําเลยกับพวกนําเจลแอลกอฮอล์มาวางเฉพาะบางจุดเท่านั้น แต่ไม่ได้มีการคัดกรองบุคคลที่เข้าร่วมชุมนุม ผู้เข้าร่วมชุมนุมบางคนก็สวมหน้ากากอนามัย แต่บางคนก็ไม่สวม การชุมนุมไม่มีการเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร ผู้เข้าร่วมชุมนุมเลือกนั่งฟังตามอัธยาศัย การชุมนุมดำเนินไปจนถึงเวลา 23.00 น.

    หลังจากนั้นพยานได้ทํารายงานการสืบสวนและรูปถ่ายการจัดชุมนุมของจําเลยกับพวก และการลงข้อความชักชวนในเฟซบุ๊กเสนอต่อผู้กํากับการ สภ.เขวาใหญ่ หลังจากนั้นพยานทราบเพียงว่า ผู้กํากับการ สภ.เขวาใหญ่, เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ร่วมประชุมกันแล้วมีความเห็นว่าการกระทําของจําเลยกับพวกเป็นความผิดตามกฎหมาย จึงมอบหมายให้พยานไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ.เขวาใหญ่ เพื่อดําเนินคดีกับจําเลย

    นอกจากพยานกับพวกจะถ่ายรูปการจัดชุมนุมดังกล่าวเป็นภาพนิ่งแล้ว ยังถ่ายภาพเคลื่อนไหวบันทึกลงแผ่นซีดีไว้ ร.ต.อ.ภูเบศร์ เป็นตํารวจชุดสืบสวนของ สภ.เขวาใหญ่ ส่วน ด.ต.ธวัชชัย เดชยศดี เป็นชุดสืบสวนของตํารวจภูธรจังหวัดมหาสารคาม โดยพยาน, ร.ต.อ.ภูเบศร์ และ ด.ต.ธวัชชัย ได้รับคําสั่งให้ไปดูแลเกี่ยวกับการชุมนุมเหมือนกัน อยู่ในบริเวณที่มีการชุมนุมเดียวกัน รู้เห็นเหตุการณ์เหมือนกัน และให้การต่อพนักงานสอบสวนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทํานองเดียวกัน พยานไม่ทราบว่าจําเลยกับพวกจะได้ขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงต่อหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องหรือไม่ อย่างไร

    ในการจัดกิจกรรมดังกล่าว ไม่มีหน่วยงานทางการแพทย์มาร่วมคัดกรองผู้เข้าร่วมชุมนุมแต่อย่างใด พยานไม่เคยรู้จักและไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจําเลยในคดีนี้มาก่อน

    **ตอบทนายจําเลยถามค้าน
    ชื่อเฟซบุ๊กที่โพสต์เชิญชวนชุมนุม คือ แนวร่วมนิสิต มมส. เพื่อประชาธิปไตย ไม่ได้มีชื่อของจําเลยเป็นเจ้าของเฟซบุ๊กดังกล่าว
    แนวของการปราศรัยของจําเลยกับพวกเป็นเรื่องข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล เพื่อให้ประกาศยุบสภา ยุติบทบาทสมาชิกวุฒิสภา จัดการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ตามที่เพจแนวร่วมนิสิต มมส. เพื่อประชาธิปไตย โพสต์ไว้

    การแสดงออกเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้

    เหตุที่มีการดําเนินคดีกับจําเลยในคดีนี้ เนื่องจากจําเลยฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการก่อให้เกิดความไม่สงบหรือเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองแต่อย่างใด การปราศรัยของจําเลยก็ไม่ได้ยุยงส่งเสริมให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง เพียงแต่ต้องการเรียกร้องไปยังรัฐบาล

    การเข้าไปดูแลการชุมนุมในครั้งนี้ เป็นการไปดูแลความสงบเรียบร้อยส่วนหนึ่ง แต่หากการชุมนุมดังกล่าวฝ่าฝืนต่อกฎหมายใด ก็จะได้มีการดําเนินการต่อไป

    ในช่วงเกิดเหตุมีการจัดการชุมนุมในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม 2 - 3 ครั้ง รวมทั้งในคดีนี้ พยานได้ไปดูแลการชุมนุมทุกครั้ง แต่อีก 2 ครั้งไม่มีการดําเนินคดีกับผู้ใด เนื่องจากทางอธิการบดีได้อนุญาตให้ใช้สถานที่ของมหาวิทยาลัยในการจัดการชุมนุม ส่วนในการจัดการชุมนุมของจําเลย มีการดําเนินคดีกับจําเลยเพียงคนเดียว

    ในขณะที่ผู้กํากับการ สภ.เขวาใหญ่ ได้เข้าไปอ่านประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎหมายอื่น ๆ รวมทั้งแจ้งให้จําเลยหยุดการชุมนุมนั้น พยานอยู่ห่างจากจุดดังกล่าวพอสมควร จึงไม่ได้ยินว่าแจ้งกันว่าอย่างไร ข้อเท็จจริงดังกล่าวพยานมาทราบในภายหลังจากผู้กํากับ
    ตามรายงานการสืบสวน ช่วงที่จําเลยกล่าวปราศรัยโจมตีการทํางานของอธิการบดีนั้น ใช้เวลา 10 นาที ในส่วนที่มีการระบุชื่อเป้าหมาย 5 คน รวมทั้งจําเลยในรายงานการสืบสวนนั้น เป็นการได้รับรายงานจากการสืบสวนว่า 5 คนดังกล่าว จะเข้ามาร่วมชุมนุมค่อนข้างแน่นอน จึงระบุเป็นชื่อเป้าหมายเพื่อติดตามดูว่าจะเข้าร่วมชุมนุมจริงหรือไม่ อย่างไร

    สถานที่ที่จัดให้มีการชุมนุมเป็นสถานที่ซึ่งเป็นที่โล่ง มีความกว้างพอสมควร ไม่ใช่สถานที่แออัด ผู้เข้าร่วมสามารถจะเดินไปฟังยังจุดไหนก็ได้ตามแต่อัธยาศัย

    คดีนี้บุคคลที่ถูกระบุอยู่ในชื่อเป้าหมาย 5 คน มีการดําเนินคดีกับจําเลยเพียงคนเดียว เท่าที่จําได้อีก 4 คน ก็มีการขึ้นปราศรัยเหมือนกัน แต่จําไม่ได้ว่ามีใครบ้าง ทนายจําเลยถามพยานว่า เหตุใดจึงไม่มีการจับกุมผู้เข้าร่วมชุมนุม พยานเบิกความว่า ผู้ชุมนุมมีจํานวนมาก หากมีการจับกุมผู้เข้าร่วมการชุมนุม อาจมีผลให้เกิดความชุลมุนและความไม่สงบเรียบร้อย และอาจจะเกิดความสูญเสียได้

    ประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดมหาสารคาม พยานไม่ได้ทราบรายละเอียดในเชิงลึก

    **ตอบโจทก์ถามติง
    แม้ว่าสถานที่จัดการชุมนุมจะเป็นที่โล่งไม่แออัด แต่ผู้เข้าร่วมการชุมนุมบางคนก็ไปนั่งรวมกลุ่มกันไม่ได้เว้นระยะห่าง จําเลยจัดให้มีการชุมนุมในครั้งนี้ในระหว่างที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19

    ++พยานโจทก์ปากที่ 2 ฉันทลักษณ์ สาชํานาญ ขณะเกิดเหตุเป็นผู้อํานวยการกองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

    ฉันทลักษณ์เบิกความว่า พยานมีหน้าที่ดูแลระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เกี่ยวกับคดีนี้พยานเป็นผู้รับมอบอํานาจจากมหาวิทยาลัยให้ไปให้การต่อพนักงานสอบสวน เกี่ยวกับการที่มีกลุ่มนักศึกษาจัดกิจกรรมในมหาวิทยาลัย

    เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2563 ช่วงบ่าย พยานทราบว่ามีการจัดกิจกรรมชุมนุมของนักศึกษาใช้ชื่อว่า อีสานสิบ่ทน หลังจากทางมหาวิทยาลัยมหาสารคามทราบเรื่องแล้ว จึงออกแถลงการณ์และประกาศว่าไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยจัดกิจกรรมดังกล่าว โดยปกติหากนักศึกษาจะจัดกิจกรรมภายในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยจะต้องขออนุญาตจากกองอาคารสถานที่ ซึ่งพยานเป็นผู้อํานวยการ แล้วจะได้ส่งเรืองไปขออนุญาตจากอธิการบดีของมหาวิทยาลัยหรือหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายต่อไป

    พยานได้รับแจ้งจากงานธุรการของกองอาคารสถานที่ว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2563 ในช่วงบ่ายมีนักศึกษายื่นบันทึกข้อความขออนุญาตจัดกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัย แต่เนื่องจากไม่มีลายมือชื่อของอาจารย์ผู้ควบคุมหรือลายมือชื่อของคณบดี งานธุรการจึงคืนเรื่องให้นักศึกษาไปทํามาใหม่

    ในวันที่ 22 ก.ค. 2563 มีการจัดการชุมนุมของนักศึกษา ทางมหาวิทยาลัย ได้จัดให้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยไปเฝ้าระวังอยู่ห่างๆ รอบบริเวณที่มีการชุมนุม พยานได้รับรายงานในภายหลังว่า น่าจะมีผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 2,000 คน ทราบจากทางสื่อเฟซบุ๊กว่า พงศธรณ์ ตันเจริญ มีส่วนเป็นแกนนําในการชุมนุม แต่พยานไม่เคยเห็นหน้าพงศธรณ์มาก่อน จึงไม่สามารถชี้ตัวในห้องพิจารณาได้ พยานไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจําเลยมาก่อน

    **ตอบทนายจําเลยถามค้าน
    โดยปกติในการที่นักศึกษาขออนุญาตจัดกิจกรรมที่มีคนจํานวนมาก มักจะขออนุญาตจัดที่ในสนามฟุตบอลหรือลานแปดเหลี่ยม ลานแปดเหลี่ยมดังกล่าวเป็นพื้นที่ส่วนกลางและมีตึกอยู่รอบลานดังกล่าว บริเวณด้านข้างของลานแปดเหลี่ยมทุกด้านเป็นพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีตึกของคณะและหน่วยงานของมหาวิทยาลัยตั้งอยู่รอบบริเวณดังกล่าว

    ที่พยานเบิกความว่า ทราบเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมดังกล่าวจากเฟซบุ๊กนั้น คือทราบจากเฟซบุ๊กซึ่งระบุชื่อว่า แนวร่วมนิสิต มมส. เพื่อประชาธิปไตย ไม่ปรากฏชื่อ พงศธรณ์ ตันเจริญ แต่อย่างใด แต่เหตุที่เบิกความว่า พงศธรณ์มีส่วนเป็นแกนนําในการจัดกิจกรรมนั้น เนื่องจากมีการแสดงความเห็นในโพสต์ที่เชิญชวนดังกล่าว มีชื่อของพงศธรณ์ปรากฏอยู่หลายครั้ง แต่พยานจําไม่ได้ว่ามีข้อความว่าอย่างไร จึงเข้าใจว่า พงศธรณ์น่าจะมีส่วนเป็นแกนนําในการจัดกิจกรรมดังกล่าว

    ทางมหาวิทยาลัยมหาสารคามให้สิทธินักศึกษาในการแสดงความคิดเห็นตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญกําหนด แต่พยานไม่ได้เข้าไปร่วมฟังการปราศรัยของนักศึกษาด้วย จึงไม่ทราบถึงข้อเรียกร้องหรือการปราศรัยของนักศึกษาว่าพูดถึงเรื่องใดบ้าง และมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลตามที่ทนายจําเลยถามค้านหรือไม่ อย่างไร

    ในวันที่ 21 ก.ค. 2563 หากเอกสารการขออนุญาตใช้พื้นที่ที่นักศึกษาได้ยื่นต่องานธุรการมีอาจารย์ที่ควบคุมดูแลหรือคณบดีลงลายมือชื่อมาด้วยอย่างครบถ้วนแล้ว พยานก็ไม่มีอํานาจในการพิจารณาอนุมัติเอง จะต้องเสนอไปยังอธิการบดีหรือผู้รับมอบหมายเพื่อพิจารณาต่อไป
    พยานจําไม่ได้ว่าในช่วงเกิดเหตุมีการจัดกิจกรรมของนักศึกษาในกรณีอื่นนอกจากคดีนี้ตามที่ทนายจําเลยถามค้านหรือไม่

    **ตอบโจทก์ถามติง
    ไม่ถาม

    **ตอบศาลถาม
    โดยปกติหากนักศึกษาทําหนังหรือบันทึกข้อความมาขออนุญาตใช้สถานที่ของมหาวิทยาลัยจัดกิจกรรมแล้ว ในหนังสือดังกล่าวจะมีการขออนุญาตใช้เครื่องเสียงประกอบมาด้วยทุกครั้ง

    ++พยานโจทก์ปากที่ 3 ร.ต.อ.ภูเบศร์ ภูกระบิล ขณะเกิดเหตุคดีนี้ เป็นรองสารวัตรสืบสวน สภ.เขวาใหญ่

    ร.ต.อ.ภูเบศร์ เบิกความว่า เกี่ยวกับคดีนี้เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2563 พยาน และ พ.ต.ท.พัฒน์ พูราษฎร์ กับพวกรวม 10 คน ได้เข้าไปที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในเวลา 12.00 น. โดยไปสังเกตการณ์บริเวณลาดแปดเหลี่ยมของมหาวิทยาลัย

    ต่อมาเวลาประมาณ 15.00 น. พงศธรณ์ได้กล่าวปราศรัยเกี่ยวกับการที่อธิการบดีของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่จัดกิจกรรม มีผู้ร่วมชุมนุมประมาณ 100 คน ต่อมาเวลาประมาณ 16.00 น. พ.ต.อ.อิศเรศ ห่านดํา ผู้กํากับการ สภ.เขวาใหญ่ ได้เข้าไปอ่านประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และประกาศของจังหวัดมหาสารคามให้จําเลยกับพวกทราบ แต่จําเลยกับพวกก็ยังชุมนุมต่อไป

    ต่อมาเวลาประมาณ 17.00 น. มีการแห่กลองยาวรอบลานแปดเหลี่ยม เวลา 18.00 น. มีการแสดงหมอลํากลอน หลังจากนั้นมีการผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัยและมีจําเลยขึ้นปราศรัยด้วย มีการเล่นดนตรีสลับ มีคนเข้าฟังและเข้าร่วมการชุมนุมในช่วงนี้ประมาณ 1,000 - 2,000 คน

    ลานแปดเหลี่ยมที่เกิดเหตุมีทางเข้าออกหลายทาง พยานเห็นมีการตั้งเจลแอลกอฮอล์ไว้ประมาณ 2 จุด ผู้เข้าร่วมชุมนุมบางคนก็สวมหน้ากากอนามัย บางคนก็ไม่ได้สวม บางคนก็นั่งรวมกลุ่มไม่ได้เว้นระยะห่าง การชุมนุมยุติในเวลาประมาณ 23.00 น.

    พยานกับเจ้าพนักงานตํารวจชุดสืบสวนได้ถ่ายรูปและบันทึกภาพเคลื่อนไหว รวมทั้งจัดทํารายงานการสืบสวน พยานไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจําเลยมาก่อน

    **ตอบทนายจําเลยถามค้าน
    พยานไม่ได้มีส่วนในการพิมพ์รายงานการสืบสวน ชื่อเป้าหมายทั้ง 5 คน ในรายงานดังกล่าว พยานทราบเพียงว่าผู้บังคับบัญชาให้ไปตรวจสอบดูว่าใน 5 คนดังกล่าว ใครเป็นแกนนําในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ และพยานเคยเห็นหน้าจําเลยทางสื่อเทคโนสารสนเทศมาก่อน
    พยานจําไม่ได้ว่าชื่อเป้าหมาย 5 คน นอกจากจําเลย คนอื่นจะขึ้นปราศรัยด้วยหรือไม่

    ทนายจําเลยถามพยานว่า หลังจาก พ.ต.อ.อิศเรศ อ่านประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้จําเลยกับพวกฟังแล้ว พ.ต.อ.อิศเรศ อนุญาตให้ชุมนุมต่อใช่หรือไม่ พยานเบิกความว่า พ.ต.อ.อิศเรศ แจ้งจําเลยกับพวกว่า ห้ามกระทําผิดกฎหมาย พยานอยู่ห่างจาก พ.ต.อ.อิศเรศ 20 - 30 เมตร จึงไม่ได้ยินเสียงว่าพูดกันว่าอย่างไร

    ในการปราศรัยของจําเลยกับพวกมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลตามที่โพสต์ในเพจแนวร่วมนิสิต มมส.เพื่อประชาธิปไตย ในการจัดกิจกรรมจําเลยกับพวกไม่ได้ยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยแต่อย่างใด บริเวณลาดแปดเหลี่ยมที่เกิดเหตุเป็นที่โล่ง มีพื้นที่กว้าง ผู้เข้าร่วมฟังการชุมนุมสามารถเดินไปไหนมาไหนได้อย่างปกติ

    **ตอบโจทก์ถามติง
    ผู้เข้าร่วมชุมนุมนั่งรวมเป็นกลุ่ม ไม่มีการเว้นระยะห่าง

    ++พยานโจทก์ปากที่ 4 ด.ต.ธวัชชัย เดชยศดี ตํารวจชุดสืบสวน กองกํากับการสืบสวน ตํารวจภูธรจังหวัดมหาสารคาม

    ด.ต.ธวัชชัย เบิกความว่า เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2563 เวลาประมาณ 15.30 น. พยานกับพวกซึ่งตํารวจชุดสืบสวนของตํารวจภูธรจังหวัดมหาสารคาม รวม 20 คน ได้เข้าไปสังเกตการณ์บริเวณลาดแปดเหลี่ยมในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งเป็นที่เกิดเหตุ ช่วงเวลาดังกล่าว พงศธรณ์พูดผ่านไมโครโฟนชักชวนให้นิสิตและ ประชาชนต่อต้านรัฐบาล และยังพูดต่อต้านการทํางานของอธิการบดี ในเรื่องการไม่ให้ความเป็นธรรมกับนักศึกษา แต่พยานจํารายละเอียดไม่ได้ ช่วงแรกมีคนเข้าฟังประมาณ 100 คน จําเลยปราศรัยประมาณ 20 นาที

    ต่อมามี พ.ต.อ.อิศเรศ ห่านดํา ผู้กํากับการ สภ.เขวาใหญ่ ได้เข้ามาพูดกับจําเลยเกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และการระบาดของโรคโควิด-19 พยานยืนห่างจากจุดที่ พ.ต.อ.อิศเรศ พูดคุยกับจําเลยประมาณ 10 เมตร

    หลังจากนั้นจําเลยกับพวกยังทํากิจกรรมต่อไปโดยมีการเซิ้งกลองยาว และการแสดงหมอลําพื้นเมือง หลังจากเคารพธงชาติในเวลา 18.00 น. ได้มีผลัดเปลี่ยนกันขึ้นกล่าวบนเวทีและมีผู้เข้ามาร่วมชุมนุมเพิ่มมากขึ้น โดยจําเลยได้ขึ้นกล่าวปราศรัยด้วย มีคนเข้าร่วมการชุมนุมเกือบ 2,000 คน

    การจัดการชุมนุมไม่มีการตรวจคัดกรอง แต่มีการวัดอุณหภูมิ และนําเจลแอลกอฮอล์มาวางไว้ให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมใช้ แต่มีจํานวนไม่น่าจะมากเพียงพอกับจํานวนผู้ชุมนุม ผู้เข้าร่วมชุมนุมบางคนสวมหน้ากากอนามัย บางคนไม่สวม มีการนั่งเบียดเสียด เนื่องจากมีผู้เข้าชุมนุมจํานวนมาก เลิกการชุมนุมในเวลา 23.00 น.

    พยานไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจําเลยในคดีนี้มาก่อน

    **ตอบทนายจําเลยถามค้าน
    พยานไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทํารายงานการสืบสวน ก่อนเข้าร่วมสังเกตการณ์ พยานเคยเห็นหน้าจําเลยมาก่อน สถานที่ชุมนุมเป็นที่โล่ง ผู้เข้าร่วมการชุมนุมสามารถเดินไปไหนมาไหนได้ เนื้อหาที่จําเลยกับพวกอภิปรายเป็นเรื่องการเมือง การชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ไม่มีอาวุธ ไม่มีการยุยงปลุกปั่นให้ผู้เข้าร่วมการชุมนุมไปทําลายข้าวของแต่อย่างใด

    ในการให้การต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนจัดพิมพ์คําให้การไว้แล้ว แล้วให้พยานมาลงชื่อ

    **ตอบโจทก์ถามติง
    โจทก์ถามพยานว่า ในการสอบสวนพนักงานสอบสวนทําอย่างไร พยานเบิกความว่า พนักงานสอบสวนเรียกพยานไปสอบถาม แล้วพนักงานสอบสวนก็พิมพ์คําให้การของพยาน

    ++พยานโจทก์ปากที่ 5 เสรี แจ่มศรี ขณะเกิดเหตุคดีนี้ เป็นปลัดอําเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม

    เสรีเบิกความว่า ช่วงเกิดเหตุมีการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 หากมีการจัดกิจกรรมที่มีคนเข้าร่วมเป็นจํานวนมากต้องขออนุญาตจากนายอําเภอกันทรวิชัยก่อน ในการจัดให้มีการชุมนุมที่ในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2563 ไม่มีใครไปขออนุญาตต่อนายอําเภอกันทรวิชัยแต่อย่างใด

    วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 16.30 น. พยานเดินทางไปที่บริเวณลานแปดเหลี่ยมของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ขณะนั้นมีขบวนกลองยาวเตรียมที่จะแห่ มีผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 100 คน พงศธรณ์ได้พูดผ่านไมโครโฟนเชิญชวนให้นักศึกษาเข้าร่วมทํากิจกรรม

    หลังจากมีการเคารพธงชาติในเวลา 18.00 น. มีนักเรียนจากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ขึ้นปราศรัย เท่าที่จําได้มีจําเลยขึ้นไปพูดในฐานะพิธีกร ในช่วงดังกล่าวเริ่มมีคนเข้าร่วมการชุมนุมมากขึ้นประมาณ 1,800 - 2,000 คน เท่าที่เห็นมีการตั้งจุดคัดกรองโดยมีการตรวจวัดอุณหภูมิของผู้เข้าร่วมชุมนุมและตั้งเจลแอลกอฮอล์ไว้ให้ล้างมือ 1 จุด บริเวณหน้าทางเข้าระหว่างตึกวิทยาลัยการปกครองกับตึกวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ผู้เข้าชุมนุมบางคนสวมหน้ากากอนามัย บางคนไม่สวม ผู้นั่งฟังการปราศศรัยไม่ได้เว้นระยะห่าง 1 เมตร พยานเฝ้าสังเกตการณ์จนกระทั่งเวลา 23.00 น. การชุมนุมจึงยุติลง

    พยานทราบว่าจําเลยเป็นแกนนําในการจัดให้มีการชุมนุม พยานไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจําเลยมาก่อน

    **ตอบทนายจําเลยถามค้าน
    พยานเคยขับรถผ่านบริเวณมหาวิทยาลัยมหาสารคามหลายครั้ง และบ่อยครั้งที่เห็นว่ามีการจัดกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัย ในช่วงเกิดเหตุมีการจัดกิจกรรมในลักษณะคล้ายกับการชุมนุมในคดีนี้หลายครั้ง มีการขออนุญาตจัดกิจกรรมมายังนายอําเภอกันทรวิชัยบ้าง แต่บางครั้งก็ไม่ได้ขออนุญาต

    นอกจากเห็นจําเลยขึ้นพูดในฐานะพิธีกรดังที่เบิกความไปแล้ว ยังเห็นบุคคลอื่นขึ้นปราศรัยด้วย การปราศรัยเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การทํางานของรัฐบาล ในการร่วมชุมนุมผู้เข้าร่วมการชุมนุมจะเลือกที่นั่งเองตามอัธยาศัย ไม่มีการระบุเป็นจําเพาะเจาะจงว่าให้ใครนั่งตรงไหน
    ในการชุมนุมและจัดกิจกรรมในคดีนี้ ไม่ปรากฏว่ามีเหตุวุ่นวายเกิดขึ้นแต่อย่างใด

    **ตอบโจทก์ถามติง
    แม้ว่าการชุมนุมจะไม่มีเหตุการณ์ความวุ่นวายเกิดขึ้น แต่ก็ฝ่าฝืนต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ

    ทั้งนี้ ก่อนเริ่มการสืบพยานเจ้าหน้าที่ศาลประจำห้องพิจารณาได้แจ้งให้ผู้สังเกตการณ์คดีจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและทนายฝึกหัดให้ออกจากห้องพิจารณา ให้อยู่เฉพาะผู้เกี่ยวข้อง โดยอ้างว่าเป็นมาตรการในช่วงโควิด ทนายจำเลยจึงกล่าวว่า จะแถลงขอต่อศาลเอง แต่เมื่อศาลออกพิจารณาก็ไม่ได้ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากห้องพิจารณา อย่างไรก็ตาม ในช่วงบ่าย ขณะพยานโจทก์ปากที่ 3 กำลังเบิกความ เจ้าหน้าที่คนเดิมก็เดินมาห้ามไม่ให้ผู้สังเกตการณ์จดคำเบิกความพยาน จนกระทั่งศาลหยุดสืบพยานและสั่งห้ามผู้สังเกตการณ์จดด้วย ระบุว่าไม่อนุญาตให้คนที่ไม่ใช่คู่ความจดคำเบิกความ เพราะไม่รู้ว่าจะจดนอกประเด็นแห่งคดีหรือเปล่า แม้ทนายจำเลยจะแถลงว่า เป็นผู้ช่วยทนาย จดเพื่อใช้เตรียมคดี ศาลก็แย้งว่า ศาลให้มาคัดคำเบิกความได้เลย พร้อมทั้งออกข้อกำหนดในการห้ามจด แต่ไม่ได้บันทึกในรายงานกระบวนพิจารณา

    (อ้างอิง: คำเบิกความพยานโจทก์ ศาลจังหวัดมหาสารคาม คดีหมายเลขดำที่ อ.1715/2563 ลงวันที่ 19 เม.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/46315)
  • อัยการนำพยานบุคคลเข้าเบิกความได้อีก 2 ปาก ก่อนแถลงหมดพยาน ศาลเลื่อนไปสืบพยานจำเลยในวันที่ 21 เม.ย. 2565 ตามที่นัดไว้เดิม

    ++พยานโจทก์ปากที่ 6 สุนทร เดชชัย ขณะเกิดเหตุคดีนี้ รับราชการในตําแหน่งผู้อํานวยการกองกิจการนิสิตมหาวิทยาลัย มหาสารคาม

    สุนทรเบิกความว่า เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2563 มีการจัดกิจกรรมชื่ออีสานสิบ่ทน บริเวณลานแปดเหลี่ยมภายในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม พยานได้ไปดูการจัดกิจกรรมของนิสิต นักศึกษา ช่วงเวลาประมาณ 16.50 น. แล้วกลับไปที่กองกิจการนิสิต ช่วงดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่ถึง 100 คน เนื่องจากเป็นช่วงต้นของการจัดกิจกรรม แต่พยานไม่เห็นว่า จะมีนักศึกษาคนใดพูดผ่านไมโครโฟนชักชวนให้นิสิต นักศึกษา เข้าร่วมกิจกรรมตามที่โจทก์ถาม

    ในวันเกิดเหตุพยานได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่กองกิจการนิสิตไปดูแลบริเวณที่นักศึกษาจัดกิจกรรม แล้วรายงานให้พยานทราบ หลังจากนั้นพยานจึงจัดประชุมเพื่อสรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดเพื่อรายงานต่ออธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคามต่อไป

    ต่อมาเจ้าพนักงานตํารวจ สภ.เขวาใหญ่ มีหนังสือมาที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อให้ทางมหาวิทยาลัยไปให้ข้อมูลกับเจ้าพนักงานตํารวจเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมดังกล่าว อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จึงมอบอํานาจให้พยานไปให้ปากคําเป็นพยานกับเจ้าพนักงานตํารวจ

    ในตอนแรกพยานไม่ทราบว่านิสิตคนใดเป็นแกนนําในการจัดกิจกรรม แต่ต่อมาในภายหลังมีเจ้าหน้าที่ที่พยานส่งไปดูแลการจัดกิจกรรมของนักศึกษามารายงานพยานว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้มีนายพงศธรณ์ ไม่ทราบชื่อสกุล ซึ่งเป็นนิสิตของมหาวิทยาลัยมหาสารคามเป็นแกนนํา พยานไม่รู้จักกับพงศธรณ์มาก่อน ไม่เคยเห็นหน้า และไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับพงศธรณ์มาก่อน

    **ตอบทนายจําเลยถามค้าน

    กองกิจการนิสิตมีหน้าที่ส่งเสริมพัฒนานิสิตในเรื่องของการจัดกิจกรรมของนิสิตนักศึกษา เช่น ค่ายอาสา การบําเพ็ญประโยชน์สาธารณะ โดยจะดูแลและอํานวยความสะดวกให้การจัดกิจกรรมของนิสิตดังกล่าวข้างต้นเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

    การจัดกิจกรรมของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยนั้น โดยหลักต้องขออนุญาตก่อน โดยสามารถขออนุญาตโดยตรงไปยังอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม หรือขออนุญาตผ่านทางกองกิจการนิสิต ซึ่งมีรองอธิการบดีควบคุมดูแลอยู่

    ทนายจําเลยถามพยานว่า ในความจริงแล้ว นิสิตนักศึกษาสามารถทํากิจกรรมภายในบริเวณมหาวิทยาลัยโดยไม่ต้องขออนุญาตตามที่พยานเบิกความมาแล้วใช่หรือไม่ พยานเบิกความว่า ต้องขออนุญาตก่อน

    ในช่วงเดือนที่เกิดเหตุนิสิต นักศึกษามีการจัดกิจกรรมในลักษณะที่คล้ายกับกิจกรรมในคดีนี้ ประมาณ 2 - 3 กิจกรรม โดยกิจกรรมดังกล่าวนิสิต นักศึกษาไม่ได้ขออนุญาตจากทางกองกิจการนิสิต

    ทนายจําเลยถามพยานว่า กิจกรรมที่มีคนมารวมตัวกันมาก ๆ ได้มีการขออนุญาตจัดขึ้นภายในมหาวิทยาลัยใช่หรือไม่ พยานเบิกความว่า ถ้าเป็นกิจกรรมที่ทางกองกิจการนิสิตดูแลโดยตรง ไม่มี ส่วนกิจกรรมที่คณะอื่น ๆ ดูแลจะมีหรือไม่ ไม่ยืนยัน นักศึกษาสามารถจัดกิจกรรมระดับคณะภายในมหาวิทยาลัยได้ โดยขออนุญาตผ่านคณบดีผ่านคณบดีของคณะนั้น ๆ โดยส่วนใหญ่นิสิต นักศึกษาจะจัดกิจกรรมในที่โล่งคือบริเวณสนามฟุตบอลและบริเวณลานแปดเหลี่ยม

    **ตอบโจทก์ถามติง

    การจัดกิจกรรมภายในบริเวณมหาวิทยาลัยของนักศึกษา หากไม่ได้ขออนุญาตจากกองกิจการนิสิต หรืออธิการบดี ดังที่เบิกความไปแล้ว ย่อมถือว่าเป็นการผิดระเบียบของมหาวิทยาลัย

    ++พยานโจทก์ปากที่ 7 ร.ต.อ.สุวัฒน์ พงพันนา พนักงานสอบสวน สภ.เขวาใหญ่

    ร.ต.อ.สุวัฒน์ เบิกความว่า เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 เวลาประมาณ 12.00 น. มี พ.ต.ท.พัฒน์ พูราษฎร์ รองผู้กํากับสืบสวน สภ.เขวาใหญ่ มาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพยานในฐานะพนักงานสอบสวน เพื่อให้ดําเนินคดีกับพงศธรณ์ ตันเจริญ ในข้อหาความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต

    จากการที่พยานดูภาพนิ่งและเปิดแผ่นซีดีดูแล้ว ปรากฏว่ามีจําเลยและบุคคลอื่นขึ้นปราศรัยหลายคน แต่มีการแจ้งความร้องทุกข์จําเลยเพียงคนเดียว พยานจึงจําไม่ได้ว่าบุคคลอื่นมีใครบ้าง จากการสอบสวนทราบว่าจําเลยในคดีนี้เป็นผู้จัดกิจกรรมและเชิญชวนให้คนมาร่วมกิจกรรม

    ในชั้นสอบสวนพยานออกหมายเรียกให้จําเลยมาพบ จําเลยมาพบพยานตามหมาย เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2563 พยานแจ้งข้อเท็จจริง แจ้งสิทธิของผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา และแจ้งข้อหาแก่จําเลยตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ จําเลยให้การปฏิเสธ พยานรวบรวมสํานวนสอบสวนและมีความเห็นสั่งฟ้องจําเลยตามข้อหาดังกล่าว

    **ตอบทนายจําเลยถามค้าน

    เหตุที่พยานไม่ดําเนินคดีกับบุคคลซึ่งพยานเห็นในแผ่นซีดีและภาพนิ่งว่าขึ้นปราศรัยด้วย เนื่องจากผู้กล่าวหาแจ้งความร้องทุกข์ดําเนินคดีกับจําเลยเพียงคนเดียว และยืนยันว่าจําเลยเป็นผู้จัดให้มีกิจกรรมนี้ ส่วนบุคคลอื่นพยานไม่ทราบว่าจะเป็นผู้จัดกิจกรรมหรือไม่ อย่างไร จึงไม่ได้ติดตามจับกุม มาเพื่อดําเนินคดีตามที่ทนายจําเลยถามค้าน

    พยานไม่ทราบว่าในระหว่างที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใช้บังคับนั้น พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ไม่ถูกนํามาใช้บังคับตามที่ทนายจําเลยถามหรือไม่
    เหตุที่พยานเชื่อว่าจําเลยเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมนั้น เนื่องจากมีรายงานการสืบสวนของเจ้าพนักงานตํารวจชุดสืบสวน และจากการสอบสวนพยานบุคคลได้ความว่าจําเลยเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุม

    สาเหตุที่เชื่อว่าจําเลยเป็นแกนนํา เนื่องจากช่วงแรก ๆ ที่จําเลยขึ้นปราศรัยมีการชักชวนให้บุคคลอื่นเข้าร่วมการชุมนุม และชักชวนทางเฟซบุ๊กด้วย

    สาเหตุที่พยานดําเนินคดีกับจําเลยในข้อหาฝ่าฝืนคําสั่งของเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ฯ นั้น เนื่องจากจากการสอบคําให้การของนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม พยานปากนี้ให้การยืนยันว่ามีการออกคําสั่งฉบับที่ 13 ว่า การจัดกิจกรรมต่าง ๆ ต้องขออนุญาต และต้องมีการเว้นระยะห่าง แต่นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม จะมีหนังสือถึงจําเลยตามที่ทนายจําเลยถามค้านหรือไม่ พยานไม่ทราบ

    ในการจัดกิจกรรมของจําเลยกับพวก เนื้อหาในการเรียกร้องเป็นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ซึ่งเป็นเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการยุยง และปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองแต่อย่างใด

    สถานที่ที่จัดให้มีการชุมนุมคือลานแปดเหลี่ยมของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นที่เปิดโล่ง แต่ผู้เข้าร่วมชุมนุมบางคนนั่งรวมกลุ่มไม่เว้นระยะห่าง บางคนก็ไม่สวมหน้ากากอนามัย แต่บางคนก็สวม จากการสอบสวนได้ความว่า หลังจากมีการจัดให้มีการชุมนุมแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีผู้ติดเชื้อโรคโควิด 19 จากการไปร่วมการชุมนุมแต่อย่างใด

    ในช่วงเกิดเหตุ หลังจากมีการจัดการชุมนุมของจําเลยกับพวกที่เป็นเหตุคดีนี้แล้ว ยังมีการจัดการชุมนุมในลักษณะเดียวกันในจังหวัดมหาสารคามอีก แต่จะมีการจับกุมดําเนินคดีกับแกนนําหรือไม่ อย่างไร พยานไม่ทราบ

    ทนายจําเลยถามพยานว่า ตามเอกสารของโจทก์ที่จําเลยแชร์ข้อความมาจากวอยซ์ทีวี หากจําเลยเป็นแกนนําเหตุใดจึงต้องแชร์ข้อความมาจากวอยซ์ทีวีด้วย พยานเบิกความว่าไม่ทราบ

    **ตอบโจทก์ถามติง

    ในช่วงที่มีการระบาดของโรคไวรัสโควิด 19 นั้น เมื่อนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม ได้ออกประกาศเกี่ยวกับการสาธาณสุขโดยประกาศทางสื่อโซเชียลหรือทางอินเทอร์เน็ตแล้ว ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงประกาศดังกล่าวได้

    เหตุที่พยานเชื่อว่าจําเลยเป็นแกนนําในการชุมนุมในครั้งนี้ พยานพิจารณาจากรายงานการสืบสวนของเจ้าพนักงานตํารวจชุดสืบสวน ภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวจากแผ่นซีดีที่เจ้าพนักงานตํารวจชุดสืบสวนส่งมอบให้พยาน รวมทั้งการแชร์ข้อความของจําเลย

    (อ้างอิง: คำเบิกความพยานโจทก์ ศาลจังหวัดมหาสารคาม คดีหมายเลขดำที่ อ.1715/2563 ลงวันที่ 20 เม.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/46315)
  • สืบพยานจำเลย 2 ปาก คือ พงศธรณ์ จำเลย และ อ.วินัย ผลเจริญ อาจารย์วิทยาลัยการเมืองการปกครอง โดยที่อัยการไม่มาถามค้าน ก่อนเสร็จการสืบพยาน ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 21 ก.ค. 2565 ระบุว่า ที่นัดนานเนื่องจากต้องส่งคำพิพากษาให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคตรวจก่อนอ่าน

    ++พยานจำเลยปากที่ 1 พงศธรณ์ ตันเจริญ นักศึกษา

    พงศธรณ์เบิกความว่า เกี่ยวกับคดีนี้ พยานทราบว่าจะมีการชุมนุมจากเพจแนวร่วมนิสิต มมส. เพื่อประชาธิปไตย และเห็นว่าสิ่งที่แนวร่วมนิสิต มมส. เพื่อประชาธิปไตย เรียกร้องต่อรัฐบาลตรงกับความคิดเห็นส่วนตัวของพยาน

    วันเกิดเหตุ พยานเรียนหนังสืออยู่ที่วิทยาลัยการเมืองการปกครองของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งอยู่ติดกับลานแปดเหลี่ยมของมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่เกิดเหตุ เวลาประมาณ 13.00 น. พยานสังเกตเห็นน้อง ๆ ซึ่งเป็นนิสิตนักศึกษากําลังเตรียมอุปกรณ์และสถานที่การจัดการชุมนุม และเห็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ อสม., เจ้าพนักงานตํารวจ, เจ้าพนักงานของกรมการปกครอง และ รปภ. ของมหาวิทยาลัย อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุ เข้าใจว่ามาดูแลสังเกตการณ์ในการจัดการชุมนุมครั้งนี้

    เวลาประมาณ 15.00 น. พยานเห็นประกาศของมหาวิทยาลัยซึ่งลงประกาศผ่านเพจเฟซบุ๊กของมหาวิทยาลัยมหาสารคามว่า ทางมหาวิทยาลัยจะไม่ยินยอมให้นักศึกษาใช้ลานแปดเหลี่ยมในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ แต่ก่อนหน้านี้ประมาณ 3 วัน ทางมหาวิทยาลัยเคยประกาศรับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดและการจัดกิจกรรมของนิสิตนักศึกษา ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญมาก่อน การประกาศไม่อนุญาตหรือไม่ยินยอมในครั้งหลังจึงขัดแย้งในครั้งแรก พยานจึงอยากจะไปวิพากษ์วิจารณ์การกระทําของมหาวิทยาลัยดังกล่าวในที่สาธารณะ ในช่วงเวลาประมาณ 15.00 น.เศษ พยานจึงขึ้นไปพูดเกี่ยวกับเรื่องการไม่อนุญาตของมหาวิทยาลัย ซึ่งขัดแย้งกับประกาศเดิมดังกล่าวให้ผู้ที่อยู่ในชุมนุมฟัง ขณะนั้นมีผู้ร่วมชุมนุมไม่เกิน 100 คน

    ในช่วงเย็นเวลาประมาณ 17.00 น. พยานได้ขึ้นไปพูดกับผู้ชุมนุมอีกครั้ง โดยพูดเกี่ยวกับการทํางานของรัฐบาล ตามข้อเรียกร้องที่พยานเห็นด้วย โดยพูดประมาณ 10 นาที เนื้อหาที่พยานพูดโดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการที่รัฐบาลไม่สามารถจะบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทําให้ประเทศประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ มีคนตกงานและว่างงานจํานวนมาก และปัญหาเรื่องวัคซีนโรคโควิด 19 ไม่เพียงพอแก่ความต้องการของประชาชนเป็นหลัก

    บริเวณลานแปดเหลี่ยมของมหาวิทยาลัยมหาสารคามนั้น เป็นที่โล่งกว้าง มีความกว้างมากกว่า 2 สนามฟุตบอล บริเวณใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุมีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ซึ่งพยานศึกษาอยู่ และวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ตั้งอยู่ และมีสํานักวิทยบริการ กับสํานักคอมพิวเตอร์ตั้งอยู่ ถัดจากตึกทั้งสี่ที่พยานเบิกความแล้วก็ล้วนเป็นพื้นที่ของมหาวิทยาลัยทั้งสิ้น ไม่มีบ้านคนพักอาศัยหรือที่ชุมนุมชนซึ่งประชาชนพักอาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว

    ขณะเกิดเหตุพยานศึกษาอยู่ในชั้นปีที่ 2 เรียนสาขาการเมืองการปกครอง ในการทํากิจกรรมของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย มีการจัดกิจกรรมทุกเดือน หากมีการจัดกิจกรรมที่ต้องใช้เครื่องขยายเสียง โดยส่วนใหญ่นิสิต นักศึกษา จะต้องขออนุญาตจากอาจารย์หรือกองกิจการนิสิต หรือกองอาคารสถานที่ หรือคณบดีประจําคณะต่าง ๆ หรือจากอธิการบดี นักศึกษา หรือนิสิต ไม่เคยขออนุญาตจากทางอําเภอซึ่งมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ในการใช้เครื่องขยายเสียง เนื่องจากเป็นการทํากิจกรรมภายในรั้วของมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่มีชุมนุมชนหรือบ้านเรือนของประชาชนอยู่ในละแวกดังกล่าวแต่อย่างใด

    ในวันเกิดเหตุพยานเห็นมีการตั้งจุดคัดกรองโดยมีการวัดอุณหภูมิของนิสิตหรือนักศึกษาที่จะเข้าฟังการปราศรัยอยู่ 2 จุด บริเวณด้านหน้าจุดปราศรัย โดยมีการวัดอุณหภูมิของผู้เข้าร่วมชุมนุมก่อนอนุญาตให้เข้าร่วม และมีการแจกหน้ากากอนามัยให้ผู้เข้าร่วมฟังการปราศรัยที่ไม่มีหน้ากากด้วย ผู้ที่เข้าร่วมฟังการปราศรัยโดยส่วนใหญ่เป็นนิสิตชั้นปีที่ 1 แต่ก็มีนิสิตชั้นปีอื่นเข้าฟังด้วย คนนอกมหาวิทยาลัยมีจํานวนน้อยมาก

    ในวันเกิดเหตุ ผู้เข้าฟังการชุมนุมบางคนก็นั่งอยู่ในสนามหญ้าบริเวณลานแปดเหลี่ยม แต่นิสิตบางคนจะไปนั่งตามโต๊ะซึ่งมหาวิทยาลัยจะตั้งไว้ใต้อาคารรอบบริเวณดังกล่าวเพื่อให้นิสิตนักศึกษานั่งอ่านหนังสือ นั่งทํากิจกรรม หรือนั่งรอเข้าชั้นเรียนตามอัธยาศัย ไม่ปรากฏว่ามีใครชักชวนให้นิสิต นักศึกษา มานั่งรวมกลุ่มในลักษณะแออัดแต่อย่างใด

    ที่พยานโจทก์ปากฉันทลักษณ์ สาชํานาญ ผู้อํานวยการกองอาคารสถานที่เบิกความเกี่ยวกับการที่นิสิต นักศึกษา ต้องขออนุมัติจากทางมหาวิทยาลัย หรืออธิการบดี ในการจัดทํากิจกรรมนั้น การทํากิจกรรมที่ต้องของบประมาณจากทางมหาวิทยาลัยจะต้องมีการขออนุมัติหรือขออนุญาตจากทางมหาวิทยาลัย และผู้บริหารของทางมหาวิทยาลัยก่อน แต่ถ้าเป็นกิจกรรมที่ไม่ต้องใช้งบประมาณของมหาวิทยาลัย นักศึกษาจัดกรรมกันเอง เช่น ค่ายอาสา หรือกิจกรรมอื่น นักศึกษาก็ไม่จําเป็นต้องขออนุญาตจากทางมหาวิทยาลัยก่อน

    ในการจัดกิจกรรมของนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่ต้องใช้ลานแปดเหลี่ยมนั้น เช่น การจัดกิจกรรมรับน้องใหม่ จัดขึ้นประมาณเดือนมิถุนายนของทุกปี โดยนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่เข้าใหม่ทุกคณะจะมารวมกันที่บริเวณลานแปดเหลี่ยม แต่ละปีประมาณ 5,000 คน ผู้จัดคือผู้แทนองค์การนิสิตซึ่งเป็นรุ่นพี่ จัดพิธีรับน้องใหม่ดังกล่าว โดยมีอาจารย์มาควบคุมดูแลการจัดกิจกรรม กรณีนี้ต้องทําหนังสือขออนุญาตและขออนุมัติจากทางกองอาคารสถานที่ กองกิจการนิสิต และท่านอธิการบดี เนื่องจากต้องของบประมาณบางส่วนมาใช้ในการจัดกิจกรรม มีการใช้เครื่องขยายเสียง โดยขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงจากหางมหาวิทยาลัย แต่ไม่เคยขออนุญาตจากทางอําเภอกันทรวิชัย

    หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน คือช่วงเดือน ก.ค.ของทุกปีจะมีการจัดกิจกรรมบายสีสู่ขวัญที่ลานแปดเหลี่ยมอีกครั้ง โดยนิสิตที่เข้าใหม่ทุกคณะจะมารวมกันที่ลานแปดเหลี่ยมเช่นเดิม จํานวนคนประมาณเท่ากันกับพิธีรับน้องใหม่ มีการวางพานบายสีสู่ขวัญใหญ่ที่กลางลานแปดเหลี่ยม มีการทําพิธีผูกแขนเพื่อความเป็นมงคล กิจกรรมนี้มีอาจารย์ของทุกคณะมารวมพิธีด้วย โดยคณาจารย์และนิสิตรุ่นพี่จะช่วยกันผูกแขนบายสีสู่ขวัญให้รุ่นน้องอยู่เย็นเป็นสุขตามธรรมเนียมและความเชื่อ

    การชุมนุมในวันเกิดเหตุเป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ไม่มีการยุยงปลุกปั่นให้ ผู้เข้าร่วมชุมนุมเกิดความโกรธเคืองหรือก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง

    ++พยานจำเลยปากที่ 2 วินัย ผลเจริญ อาจารย์ประจําวิทยาลัยการเมืองการปกครองของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

    วินัยเบิกความว่า พยานมีหน้าที่สอนหลายวิชา เช่น วิชาการเมืองการปกครองไทย และปรัชญาการเมือง เป็นต้น ในส่วนวิชาการเมืองการปกครองไทยที่พยานสอนนั้น ขอบเขตของการสอนจะต้องให้นักศึกษาเรียนรู้ถึงความเป็นมาของการเมืองการปกครองของประเทศไทย ซึ่งต้องสอนทั้งแนวคิดและทฤษฎี สอนให้รู้ว่าระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยเป็นมาและเป็นไปอย่างไร ส่วนวิชาปรัชญาการเมืองนั้น ต้องสอนให้นักศึกษาได้เรียนรู้ว่าแนวคิดและทฤษฎีต่าง ๆ ในทางการเมืองและการปกครองนั้นเป็นอย่างไร เน้นให้นักศึกษารู้จักการคิดและวิเคราะห์การเมืองและปรากฏการณ์ทางการเมืองและสังคมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และที่อื่น ๆ

    จําเลยในคดีนี้เป็นนักศึกษาของวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม วิทยาลัยการเมืองการปกครองคือคณะหนึ่งของมหาวิทยาลัย เปรียบเทียบได้กับคณะรัฐศาสตร์ เพียงแต่ใช้ชื่อว่าวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ขณะเกิดเหตุจําเลยเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2
    ในการศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ไม่ว่าจะเป็นวิทยาลัยการเมืองการปกครองหรือคณะอื่น ๆ การทํากิจกรรมของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องปกติธรรมดา เนื่องจากเมื่อนักศึกษาเรียนรู้ทั้งทางด้านทฤษฎีและทางปฏิบัติแล้ว การจัดกิจกรรมของนักศึกษาย่อมเป็นการส่งเสริมให้นักศึกษาได้เข้าใจในทฤษฎีและทางปฏิบัติที่ได้เรียนมา ในมหาวิทยาลัยจะมีกลุ่มหรือชมรมต่าง ๆ เพื่อให้นักศึกษาเข้าไปร่วมเพื่อทํากิจกรรมมากมาย

    มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นสถาบันการศึกษา มีกิจกรรมประจําปีมากมาย การจัดกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัยก็เพื่อความดํารงอยู่และความเจริญงอกงามของตัวมหาวิทยาลัยเอง เช่น การจัดกิจกรรมรับน้องใหม่และบายสีสู่ขวัญ ซึ่งจะมีการปฐมนิเทศเพื่อให้นักศึกษาใหม่รู้จักวิธีการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย นอกจากนั้นยังมีการจัดงานอื่น ๆ ซึ่งเป็นงานประเพณี เช่น งานสงกรานต์ ลอยกระทง ปีใหม่ หรืองานบุญเผวด กิจกรรมที่จัดที่บริเวณงานแปดเหลี่ยมคืองานรับน้องใหม่ ซึ่งมีนิสิต นักศึกษา มารวมตัวกันเป็นจํานวนมาก

    บริเวณลานแปดเหลี่ยมเป็นพื้นที่โล่งกว้าง แต่ละด้านยาวไม่ต่ำกว่า 100 เมตร ดังนั้น ลานแปดเหลี่ยมจึงมีเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 5 ไร่ รอบ ๆ ลานแปดเหลี่ยมมีอาคารอยู่ 4 ตึก คือ ตึกสํานักวิทยบริการ คือห้องสมุด สํานักคอมพิวเตอร์ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ และวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ถัดออกไปจากตึกทั้งสี่ดังกล่าวก็ยังเป็นบริเวณอาณาเขตของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีตึกและอาคารต่าง ๆ ตั้งอยู่ โดยไม่มีบ้านเรือนของประชาชนหรือชุมนุมชนที่ประชาชนอยู่อาศัย ในบริเวณดังกล่าว

    การจัดกิจกรรมที่บริเวณลานแปดเหลี่ยมในกรณีที่ต้องใช้เครื่องเสียงนั้น เช่น การซ้อมดนตรีของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ซึ่งต้องใช้ทั้งเครื่องดนตรีและเครื่องเสียงนั้นไม่มีความจําเป็นต้องขออนุญาตจากทางมหาวิทยาลัยก่อน เนื่องจากโดยปกติจะซ้อมในช่วงเย็น แต่หากนักศึกษาจะจัดกิจกรรมที่ใช้เครื่องเสียงในเวลาเรียน อาจจะต้องขออนุญาตจากทางมหาวิทยาลัยเพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อการที่ไปรบกวนการเรียนการสอน เท่าที่พยานทราบการใช้เครื่องเสียงภายในบริเวณมหาวิทยาลัยนั้นไม่มีความจําเป็นต้องไปขออนุญาตจากทางหน่วยงานทางปกครอง คืออําเภอกันทรวิชัยก่อน เพราะเป็นการใช้เครื่องเสียงภายในบริเวณมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษา

    วันเกิดเหตุพยานไปสอนหนังสือที่วิทยาลัยการเมืองการปกครองเป็นปกติ จนกระทั่งเวลาประมาณ 18.00 น. พยานจึงเข้าไปฟังการปราศรัยของผู้เข้าร่วมทํากิจกรรม ในวันดังกล่าวช่วงที่มีคนเข้าร่วมฟังมากที่สุดน่าจะมีคนประมาณ 2,000 คน แต่บริเวณที่เกิดเหตุคือลานแปดเลี่ยมนั้น นอกจากตัวลานแปดเหลี่ยมเองยังมีบริเวณใต้ตึกต่าง ๆ และที่ว่างนอกเหนือจากพื้นที่ตรงกลางอีกเป็นจํานวนมาก ในความเห็นพยานบริเวณลานแปดเหลี่ยมที่เกิดเหตุรวมทั้งใต้อาคารทั้งหมดสามารถจุคนได้ไม่ต่ํากว่า 10,000 คน

    การที่นักศึกษาขึ้นกล่าวปราศรัยในวันเกิดเหตุนั้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารงานของรัฐบาล ซึ่งประสบความล้มเหลว โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ พูดถึงการทํางานของนักการเมือง โดยไม่ปรากฏว่ามีการพูดจาหยาบคาย มีนักศึกษาผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัยหลายคน เท่าที่พยานฟัง การปราศรัยของนักศึกษาเป็นการอภิปรายถึงการทํางานของรัฐบาลเพื่อให้นําไปปรับปรุงแก้ไขด้วยความหวังดีต่อประเทศชาติ

    พยานอยู่ร่วมการชุมนุมจนถึงเวลาประมาณ 20.00 น.เศษ การชุมนุมเป็นไปโดยสันติ สงบ ปราศจากอาวุธ ไม่มีนักศึกษาคนใดขึ้นไปพูดกล่าวปราศรัยในลักษณะการชักจูง ชักชวน ชี้นํา ให้ผู้ร่วมชุมนุมก่อความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองแต่อย่างใด

    ในวันเกิดเหตุ ผู้เข้าร่วมชุมนุมส่วนใหญ่จะสวมหน้ากากอนามัย เนื่องจากทางผู้จัดให้มีการชุมนุมได้มีการประกาศทางเฟชบุ๊กให้ผู้ที่จะเข้าร่วมการชุมนุมสวมหน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่าง นอกจากนั้นพยานยังเห็นว่ามีการตั้งแอลกอฮอล์ให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมล้างมือด้วย แต่การตรวจวัดอุณหภูมิของผู้เข้ารวมชุมนุมนั้น พยานไม่ได้สังเกต จึงไม่สามารถเบิกความยืนยันต่อศาลได้

    พยานเบิกความอธิบายเพิ่มเติมว่า ช่วงเกิดเหตุคือปี 2563 การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 กระจายไปทั่ว ทําให้ประชาชนโดยทั่วไปตื่นกลัวอย่างมาก ดังนั้น ในวันเกิดเหตุพยานยืนยันว่า คนที่เข้ารวมชุมนุมโดยส่วนใหญ่จะสวมหน้ากากอนามัยทุกคน มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ไม่สวมหน้ากากอนามัย ในช่วงเกิดเหตุเองทางวิทยาลัยการเมืองการปกครองยินดีให้การสนับสนุนในการแจกหน้ากากอนามัยให้กับผู้เข้าร่วมชุมนุม เพื่อให้การจัดกิจกรรมของนักศึกษาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

    ในวันเกิดเหตุมีเจ้าพนักงานตํารวจ, เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง, รปภ. ของมหาวิทยาลัย ดูแลการชุมนุมจนการชุมนุมเป็นไปโดยเรียบร้อย ไม่มีเหตุร้ายแรงเกิดขึ้นแต่อย่างใด คนที่เข้าร่วมฟังการอภิปรายในวันเกิดเหตุ ส่วนใหญ่จะเป็นนิสิตชั้นปีที่ 1 และปีที่ 2 ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งนักศึกษาเหล่านั้นส่วนใหญ่จะพักในหอของมหาวิทยาลัย ซึ่งอยู่ภายในอาณาเขตของมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว

    เท่าที่พยานทราบ ผู้ที่จัดให้มีการชุมนุมจะเป็นกลุ่มบุคคลที่ใช้ชื่อว่า แนวร่วมนิสิต มมส. เพื่อประชาธิปไตย ซึ่งโดยส่วนใหญ่ก็เป็นนิสิตนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งมีหลายคน แต่พยานไม่สามารถเบิกความยืนยันได้ว่าเป็นผู้ใด เท่าที่ทราบกลุ่มแนวร่วมดังกล่าวไม่เคยกระทําการใดเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เคยกระทําการอันมีลักษณะต่อต้านการทํางานของรัฐบาลด้วยวิถีทางอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมืองแต่อย่างใด

    จําเลยเป็นนักศึกษาที่เรียนกับพยานด้วยทั้งสองวิชาที่เบิกความไปแล้วข้างต้น รวมทั้งวิชาอื่น ๆ ด้วย จําเลยเป็นคนที่มีความรับผิดชอบสูง พยานเคยให้จําเลยเป็นผู้ช่วยในการประสานงานกับนักศึกษาที่เข้าเรียนในหลายวิชากับพยานเนื่องจากบางครั้งจะต้องมีการสอนแบบออนไลน์ ซึ่งผู้สอนคือตัวพยานจะอยู่อีกห้องหนึ่ง พยานจะให้จําเลยไปอยู่อีกห้องหนึ่งเพื่อทําหน้าที่คอยประสานงานให้การเรียนการสอนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งจําเลยก็ทําหน้าที่ได้อย่างดี พยานยืนยันว่า จําเลยเป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย ไม่เคยกระทําผิดระเบียบของมหาวิทยาลัยจนถึงขั้นถูกลงโทษแต่อย่างใด

    กองกิจการนิสิตมีหน้าที่กํากับดูแล ให้การสนับสนุน ให้การจัดกิจกรรมของนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยมหาสารคามเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ผู้อํานวยการกองการนิสิตจึงไม่ได้เข้าร่วมทํากิจกรรมหรือเข้าร่วมสังเกตการณ์ในการที่นักศึกษาทํากิจกรรมทุกกิจกรรม มีบางกิจกรรมเท่านั้นที่จะเข้าไปกํากับดูแล

    ในการจัดกิจกรรมของนักศึกษาในวันเกิดเหตุ ไม่ปรากฏว่ามีบุคคลใดติดเชื้อโควิด 19 อันเนื่องมาจากการร่วมชุมนุมแต่อย่างใด เหตุที่พยานกล้าเบิกความยืนยันเช่นนั้น เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวคือในปี 2563 หากมีผู้ใดติดเชื้อโรคโควิด 19 จะต้องชี้แจงรายละเอียดหรือเรียกว่าไทม์ไลน์ให้กับฝ่ายสาธารณสุขทราบเพื่อป้องกันเชื้อไม่ให้แพร่กระจายไปสู่สังคมโดยรวม

    (อ้างอิง: คำเบิกความพยานจำเลย ศาลจังหวัดมหาสารคาม คดีหมายเลขดำที่ อ.1715/2563 ลงวันที่ 21 เม.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/46315)
  • “บอย” พงศธรณ์ ตันเจริญ นิสิตชั้นปีที่ 4 พร้อมรองคณบดีฝ่ายพัฒนานิสิตและกฎหมาย วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และทนายความเครือข่ายศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เดินทางไปฟังคำพิพากษา

    ประมาณ 10.00 น. ดิลก พนอําพน ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดมหาสารคาม เจ้าของสำนวน อ่านคำพิพากษายกฟ้องพงศธรณ์ในทุกข้อหา คำพิพากษามีรายละเอียดโดยย่อดังนี้

    “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทำผิดตามฟ้องหรือไม่

    เห็นว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้เห็นว่า จำเลยเป็นผู้จัดกิจกรรม ผู้เชิญชวนคือเพจแนวร่วมนิสิต มมส.เพื่อประชาธิปไตย ไม่มีหลักฐานว่าจำเลยมีส่วนเกี่ยวข้องกับเพจดังกล่าว

    ลานแปดเหลี่ยมเป็นที่โล่งกว้าง มีเนื้อที่หลายไร่ ผู้เข้าร่วมชุมนุมสามารถนั่งตามอัธยาศัย มีจุดตรวจวัดอุณหภูมิ แจกเจลแอลกอฮอล์และหน้ากากอนามัย อีกทั้งภายหลังกิจกรรมไม่มีใครติดเชื้อโควิดจากการชุมนุม

    ประกอบกับพยานโจทก์ปากนางฉันทลักษณ์ เบิกความว่า วันเกิดเหตุในช่วงบ่ายมีนักศึกษามายื่นบันทึกข้อความขออนุญาตใช้สถานที่ในการจัดกิจกรรม แต่ไม่มีลายมือชื่ออาจารย์หรือคณบดีที่รับผิดชอบ เจ้าหน้าที่จึงให้ไปทำเรื่องมาใหม่ แสดงให้เห็นว่า กลุ่มนักศึกษาที่จัดกิจกรรมได้พยายามขออนุญาตใช้สถานที่เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบแล้ว บ่งชี้ว่านักศึกษาที่จัดกิจกรรมไม่มีเจตนาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

    ทั้งยังปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดมหาสารคาม โดยการตั้งจุดตรวจวัดอุณหภูมิ บริการเจลแอลกอฮอล์ และหน้ากากอนามัย จึงไม่ได้เป็นการมั่วสุมประชุมกัน ในลักษณะใกล้ชิดหรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย ชุมนุมทำกิจกรรม หรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด หรือในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค

    พยานโจทก์หลายปากยังเบิกความสอดคล้องกันว่า การชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ไม่มีการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง

    เมื่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 บัญญัติรับรองว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การชุมนุม "อีสานสิบ่ทน" บริเวณลานแปดเหลี่ยม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งเป็นการชุมนุมเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล และมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ประกาศยุบสภา ยุติบทบาทสมาชิกวุฒิสภา จัดการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นนิสิตนักศึกษา แสดงความเห็นภายในขอบเขตมหาวิทยาลัย ไม่มีการเคลื่อนย้ายขบวนไปยังที่อื่นที่อาจรบกวนให้ผู้อื่นเดือดร้อน อันเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ย่อมไม่อาจถือได้ว่าฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามฟ้อง กรณีไม่จำเป็นต้องพิเคราะห์พยานหลักฐานของจำเลย พิพากษายกฟ้อง”

    หลังการอ่านคำพิพากษา ศาลได้พูดคุยสอบถามพงศธรณ์ว่า จบคดีนี้แล้ว ยังเหลืออีกกี่คดี พงศธรณ์กล่าวตอบว่า เหลือคดี 112 จากการขึ้นปราศรัยในการชุมนุมหน้า SCB เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 อีกคดีเดียว ซึ่งมีนัดสืบพยานเดือนธันวาคม 2566

    นับเป็นคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมของนักกิจกรรมและประชาชนในจังหวัดต่างๆ คดีที่ 18 ที่ศาลพิพากษายกฟ้อง ซึ่ง “บอย” พงศธรณ์กล่าวอย่างพอใจว่า “คำพิพากษาในวันนี้ถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญในการยืนยันว่า การแสดงออกทางการเมืองของประชาชนนั้นเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักประชาธิปไตย ทั้งสองสิ่งเป็นหลักการสากล ไร้พรมแดน ไม่ว่ารัฐจะกดขี่ ย่ำยีเราเพียงใด แต่ภายในกระบวนยุติธรรมเองก็ยังมีข้าราชการตุลาการที่เชื่อมั่น ยึดถือในหลักการดังกล่าว

    คำพิพากษานี้ยังชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยเรายังมีโอกาสในการพัฒนาไปสู่การเป็นสังคมประชาธิปไตยที่สมบูรณ์กว่านี้ต่อไปได้ ซึ่งผมก็อยากจะเรียกร้องให้รัฐคืนความยุติธรรมให้กับประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง รวมทั้งประชาชนคนอื่น ๆ ที่ถูกรัฐรังแกจากการใช้กฎหมายปิดปาก (Slapp law) เพื่อยุติความบิดเบี้ยวของกระบวนการยุติธรรมไทย ให้กลับมายืนยันในหลักการสิทธิมนุษยชนและหลักการประชาธิปไตย”

    บอยกล่าวไปถึงคดีของเพื่อนนักกิจกรรมที่ไม่ได้รับความยุติธรรมเหมือนเขาในคดีนี้ “คนอื่นๆ ที่ถูกศาลเล่นงาน ไม่ให้ประกันตัวก็ดี หรือตัดสินให้การแสดงออกทางการเมืองเป็นเรื่องที่ผิด ผมคิดว่ารัฐมีความพยายามในการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมให้มันไม่ยุติธรรมสำหรับคนที่ออกมาต่อสู้กับรัฐ ซึ่งผมว่าเรื่องนี้เป็นปัญหามากๆ ในขณะที่ผมต่อสู้คดีชนะ และคดีผมก็เป็นเรื่องการใช้เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองโดยสงบเหมือนกันกับคนอื่นๆ แต่สหายที่ร่วมเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมืองด้วยกันบางคนก็ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการสู้คดี

    รวมทั้งองค์กรศาลก็อาจถูกแทรกแซงมากจนบุคลากรค่อนข้างลดทอนความเป็นมนุษย์ในตัวเองลงไป จนลืมไปว่าสิ่งที่ตนทำไปมันคือการใช้กฎหมายเพื่อรักษาอำนาจรัฐมากกว่ารักษาความยุติธรรมในสังคม”

    ในมุมมองนักศึกษาด้านรัฐศาสตร์ บอยให้ความเห็นต่อกระบวนการยุติธรรมไทยอีกว่า “ผมว่ากระบวนการยุติธรรมบ้านเราไม่มีอิสระมากพอ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับอำนาจรัฐส่วนกลาง ซึ่งจากที่เราเห็นในข่าวก็ดี และจากคำสั่งไม่ให้ประกันหรือคำตัดสินจำคุกประชาชนที่แสดงออกทางการเมือง ด้วยการอ้างเหตุผลที่ไร้หลักการ ใช้วิธีการแบบสองมาตรฐานในการพิจารณาคดีทางการเมือง ไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ยิ่งทำมันก็จะยิ่งเป็นการทำลายความเป็นมนุษย์ของบุคลากรศาลเอง และทำให้บ้านเมืองเราก็จะยังคงอยู่ในวังวนของการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่จะเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีแก่ผู้มีอำนาจรัฐแน่นอน”

    แม้ว่าศาลจะมีคำพิพากษายกฟ้อง ทำให้บอยไม่ต้องถูกลงโทษในคดีนี้ไม่ว่าจะปรับ หรือจำคุก หรือรอลงอาญา แต่ดูเหมือนบอยก็ได้รับผลกระทบจากการถูกดำเนินคดีไปแล้วล่วงหน้าแล้ว การที่ต้องเดินทางไปสถานีตำรวจ สำนักงานอัยการ ศาล เกือบ 10 ครั้ง ในเวลา 2 ปี “ผมต้องสละเวลาเรียน เวลาสอบบางช่วง เพื่อไปตามนัดในคดี ส่งผลให้เรียนได้น้อยลง และทำให้ผมต้องลงทะเบียนเรียนช้าเพราะว่าต้องเผื่อเวลาว่างไว้ขึ้นศาลในแต่ละเทอม

    นอกจากนี้ยังมีผลกระทบทางอ้อม ในช่วงระหว่างทางของการต่อสู้คดี ผมต้องต่อสู้ทางความคิดกับญาติๆ ซึ่งมีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับผมเลย ทุกครั้งที่ผมกลับไปเยี่ยมพวกเขา ผมเลยต้องพยายามอธิบายให้พวกเขาเห็นว่า การออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองบนพื้นฐานของหลักการสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยนั้นไม่ใช่เรื่องที่ผิด และเป็นหน้าที่หนึ่งของประชาชนในฐานะพลเมืองของรัฐ ที่ต้องรักษาหลักการเหล่านี้ไม่ให้รัฐมาละเมิดศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของเรา”

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลจังหวัดมหาสารคาม คดีหมายเลขดำที่ อ.1715/2563 ลงวันที่ 21 ก.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/46460)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์