ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • อื่นๆ (ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ, เลิกจ้าง(คดีแรงงาน), แจ้งความเท็จ, ซ่อนเร้นพยานหลักฐาน)
ดำ อ.842/2564

ผู้กล่าวหา
  • บุญเสริม มีศรีจันทร์ รับมอบอำนาจจากคณะแพทย์ มข. (ประชาชน)
  • อื่นๆ (ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ, เลิกจ้าง(คดีแรงงาน), แจ้งความเท็จ, ซ่อนเร้นพยานหลักฐาน)
ดำ อ.842/2564

ผู้กล่าวหา
  • บุญเสริม มีศรีจันทร์ รับมอบอำนาจจากคณะแพทย์ มข. (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • อื่นๆ (ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ, เลิกจ้าง(คดีแรงงาน), แจ้งความเท็จ, ซ่อนเร้นพยานหลักฐาน)

หมายเลขคดี

ดำ อ.842/2564
ผู้กล่าวหา
  • บุญเสริม มีศรีจันทร์ รับมอบอำนาจจากคณะแพทย์ มข.

ข้อหา

  • อื่นๆ (ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ, เลิกจ้าง(คดีแรงงาน), แจ้งความเท็จ, ซ่อนเร้นพยานหลักฐาน)

หมายเลขคดี

ดำ อ.842/2564
ผู้กล่าวหา
  • บุญเสริม มีศรีจันทร์ รับมอบอำนาจจากคณะแพทย์ มข.

ความสำคัญของคดี

“เจมส์” (นามสมมติ) และ “บอส” (นามสมมติ) 2 นักศึกษา คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ถูกตำรวจบุกเข้าจับกุมตัวจากหอพักหลังมหาวิทยาลัยตั้งแต่เช้าตรู่ ควบคุมตัวไปที่ สภ.เมืองขอนแก่น และดำเนินคดีในข้อหาร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น โดยกล่าวหาว่าทั้งสองวางเพลิงพระบรมฉายาลักษณ์ ร.10 หน้าโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ซึ่งเป็นของคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อเดือนกันยายน 2564 จนได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน 149,800 บาท เจมส์และบอสได้รับการประกันตัวทั้งในชั้นฝากขังและพิจารณาคดี โดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ประกัน เพียงแต่ให้รองคณบดีเป็นผู้กำกับดูแล

คดีนี้และคดีวางเพลิงซุ้มพระบรมฉายาลักษณ์ใน จ.ขอนแก่น ช่วงปี 64 อีก 2 คดี พนักงานสอบสวนและอัยการไม่ได้ตั้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 เหมือนเช่นคดีที่มีการแสดงออกต่อพระบรมฉายาลักษณ์ในพื้นที่อื่นๆ ซึ่งถือว่า เป็นการตีความมาตรา 112 โดยไม่ขยายขอบเขตให้เกินกว่าตัวบท

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

พ.ต.ท.วัฒนพงษ์ จันทระ พนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่น บรรยายฟ้องมีใจความโดยสรุปว่า

เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2564 เจมส์และบอสได้ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ซุ้มเฉลิมพระเกียรติซึ่งประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ฐานกว้าง 4 เมตร สูง 8.3 เมตร ราคา 149,800 บาท ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น นิติบุคคลผู้เสียหาย ด้วยการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเทราด แล้วจุดไฟเผา จนได้รับความเสียหาย

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดขอนแก่น คดีหมายเลขดำที่ อ.842/2564 ลงวันที่ 3 พ.ย. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • ตั้งแต่เช้าตรู่ ตำรวจสืบสวนภูธรภาค 4, ภูธรจังหวัดขอนแก่น และ สภ.เมืองขอนแก่น นับสิบนาย บุกเข้าจับกุม “เจมส์” (นามสมมติ) และ “บอส” (นามสมมติ) 2 นักศึกษา คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในบ้านพักย่านหลังมหาวิทยาลัย โดยแสดงหมายจับของศาลจังหวัดขอนแก่นที่ จ.181/2564 และ 182/2564 ในข้อหา ‘ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์’ และเข้าตรวจค้นที่พักของทั้ง 2 นักศึกษา พร้อมยึดรถยนต์ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค โทรศัพท์มือถือ และกุญแจห้องไปจากห้องของเจมส์ จากนั้นขณะควบคุมตัวทั้งสองไปสอบสวนที่ สภ.เมืองขอนแก่น แล้ว ตำรวจได้เข้าค้นที่พักของบอสอีกเป็นครั้งที่ 2 และตรวจยึดคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค โทรศัพท์ และเสื้อผ้าของบอส

    ตั้งแต่เช้าที่ สภ.เมืองขอนแก่น มีการนำแผงเหล็กมากั้นรอบ ตำรวจนำผ้ามาคลุมป้ายสถานีตำรวจไว้ พร้อมตำรวจในชุดควบคุมฝูงชนมากกว่า 50 นาย ประจำจุดเข้า – ออก นอกจากนี้ยังไม่อนุญาตให้ผู้ที่ติดตามมาให้กำลังใจทั้งสองเข้าไปยังบริเวณสถานีตำรวจ

    ตำรวจควบคุมตัวบอสไปถึง สภ.เมืองขอนแก่นในเวลาประมาณ 8.00 น. ส่วนเจมส์ไม่ทราบเวลาที่แน่ชัดว่าเขาถูกคุมตัวมาถึงสถานีตำรวจในช่วงเวลาใด ทั้งสองถูกจับแยกคนละห้องเพื่อทำบันทึกการจับกุมและสอบปากคำ โดยในช่วงแรกไม่มีใครทราบว่า เจมส์ถูกจับมาที่ สภ.ในคดีเดียวกันด้วย เมื่อเสฐียรพงศ์ ล้อศิริรัตน์ ทนายความเครือข่ายศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนติดตามไปที่ สภ.เมืองขอนแก่น จึงเข้าร่วมกระบวนการทำบันทึกจับกุมและสอบปากคำบอสเพียงคนเดียว โดยไม่ทราบว่า พ.ต.ท.ปุณณริศว์ ธรานันทเศรษฐ์ สอบปากคำเจมส์อยู่อีกห้อง มี ร.ต.ต.พิบูรณ์ เจริญสุข ทนายความที่ตำรวจเตรียมไว้ให้เข้าร่วม

    พนักงานสอบสวนแจ้งพฤติการณ์ที่ดำเนินคดีโดยสรุปว่า เมื่อคืนวันที่ 13 กันยายน 2564 ก่อนเที่ยง เจมส์และบอส ขับรถยนต์ออกจากหลังมหาวิทยาลัย วนไปในตัวเมืองขอนแก่นอยู่ประมาณเกือบ 1 ชั่วโมง ต่อมาเมื่อขับมาถึงหน้าโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ได้จอดรถและลงจากรถ กรอกน้ำมันใส่ขวดพลาสติก และใช้ไฟแช็คจุดเผารูป ร.10 ก่อนจะขับรถหนีไป

    พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา “ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์” โดยบอสให้การปฏิเสธ และจะทำคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือมายื่นภายใน 30 วัน โดยกระบวนการสอบสวนเสร็จสิ้นในราว 30 นาที

    ระหว่างที่บอสยังถูกสอบปากคำ เริ่มมีเพื่อนทราบว่า เจมส์ถูกสอบปากคำอยู่ในอีกห้อง และเมื่อเจมส์พบว่ามีทนายจากศูนย์ทนายฯ จึงพยายามแย้งกระบวนการที่ผ่านมา เนื่องจากทนายความที่ตำรวจจัดหาให้ไม่ได้ให้คำปรึกษา หรือแจ้งสิทธิใดๆ ให้เขาทราบ ด้านทนายความจากศูนย์ทนายฯ เมื่อทราบว่าเจมส์ถูกจับมาอยู่อีกห้อง จึงขอพบเพื่อให้คำปรึกษาทางคดี แต่ พ.ต.อ.ปรีชา เก่งสารีกิจ ผู้กำกับ สภ.เมืองขอนแก่น กลับบอกว่าพนักงานสอบสวนสอบปากคำเสร็จแล้ว และเจมส์ก็มีทนายความแล้ว ไม่สามารถย้อนหรือเริ่มกระบวนการใหม่ได้ เมื่อพนักงานสอบสวนอ่านบันทึกคำให้การให้เจมส์ฟัง และให้ลงลายมือชื่อ เจมส์จึงตัดสินใจไม่เซ็นชื่อในเอกสารดังกล่าว ทั้งยังให้การปฏิเสธ พร้อมกับแจ้งว่าจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือมายื่นภายใน 30 วัน

    เจมส์เล่าให้ฟังภายหลังว่าเมื่อเขาถูกจับกุมมาเพียงลำพังตำรวจยึดโทรศัพท์มือถือเขาไปจึงไม่สามารถติดต่อผู้ใดได้ เมื่อตำรวจถามว่ามีทนายหรือผู้ไว้วางใจหรือไม่ และต้องการทนายหรือไม่ ในสภาวะตื่นตระหนกเขาจึงบอกตำรวจไปว่า ต้องการทนาย แต่เมื่อทนายความดังกล่าวมานั่ง กลับไม่ได้ให้คำปรึกษาใดๆ กับเขาเลย

    ต่อมาตำรวจจึงนำตัวบอสมาอยู่ในห้องที่สอบสวนเจมส์ และขออำนาจศาลจังหวัดขอนแก่นฝากขังทั้งสองคนเป็นผัดแรกผ่านวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ โดยให้เหตุผลว่ากระบวนการสอบปากคำยังไม่เสร็จสิ้น มีพยานอีกจำนวนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับคดี ต้องการนำมาสอบปากคำต่อไป เวลาราว 11.00 น. การวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์จากศาลจังหวัดขอนแก่นเริ่มขึ้น ผู้พิพากษาแจ้งกับเจมส์และบอสว่าอนุญาตให้มีการฝากขังในชั้นสอบสวนตามที่พนักงานสอบสวนร้องขอ และให้ทั้งสองคนมาทำเรื่องประกันตัวที่ศาลต่อไป

    ในระหว่างนั้นทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวตัวนักศึกษาทั้งสอง โดยมี ผศ.กฤษฎา วงศ์คำจันทร์ รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ เป็นผู้ขอประกัน

    จนเมื่อราว 14.00 น. ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวนักศึกษาทั้งสอง โดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ประกัน และตั้งให้รองคณบดีเป็นผู้กำกับดูแล โดยให้นักศึกษาทั้ง 2 คน ให้คำมั่นว่าจะเข้ารายงานตัวกับรองคณบดีตามวันเวลาที่ศาลกำหนด หากไม่มารายงานตัวจะถูกปรับคนละ 35,000 บาท ให้รายงานตัวนัดแรกวันที่ 29 กันยายน 2564

    สำหรับเจมส์และบอส ขณะนี้เรียนอยู่ชั้นปี 3 สาขาวิชาดนตรีพื้นเมือง โดยเจมส์เรียนเอกพิณควบคู่กับตีกลอง และบอสเรียนเอกเป่าแคนและร้องหมอลำ โดยทั้งคู่นอกจากเรียนและซ้อมดนตรีในคณะ ยังรับจ้างเล่นดนตรีเป็นอาชีพเสริมควบคู่กันไปด้วยตามวาระโอกาส ตลอดทั้งวันมีเพื่อนๆ ในสาขาวิชาดนตรีพื้นเมืองมาคอยเป็นกำลังใจให้ที่หน้า สภ. และที่ศาล

    เจมส์ให้ข้อมูลอีกว่า นอกจากถูกตำรวจยึดรถยนต์ การที่เขาถูกยึดโทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์ส่งผลกระทบอย่างมาก เพราะขณะนี้อยู่ระหว่างการเรียนออนไลน์ ซึ่งต้องเชื่อมต่อการเรียนผ่านคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์ นอกจากนี้ตำรวจที่บุกเข้ามาจับกุมยังยึดกุญแจห้องพักไว้อีกด้วย เมื่อเจมส์สอบถามด้วยความวิตกกังวล พนักงานสอบสวนบอกเพียงว่าขั้นตอนตรวจยึดของตำรวจจะมีผู้เชี่ยวชาญในการพิสูจน์หลักฐานมาเกี่ยวข้องจึงต้องใช้เวลา และไม่สามารถรับปากได้ว่าจะเสร็จสิ้นและได้คืนเมื่อไหร่ อีกทั้งตำรวจไม่ได้มอบสำเนาบันทึกตรวจยึดสิ่งของให้เจมส์ไว้เป็นหลักฐานว่าได้ยึดอะไรไปบ้าง

    ส่วนของบอส ในการเข้าค้นครั้งที่ 2 ซึ่งมีเพื่อนอยู่ดูขณะค้น ตำรวจได้ยึดคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค 1 เครื่อง โทรศัพท์มือถือ 2 เครื่อง สมุดบัญชีธนาคาร และเสื้อกางเกงหลายตัว

    ในวันเดียวกันไทยรัฐออนไลน์รายงานถึงกรณีนี้ว่า พล.ต.ต.เนติพงศ์ ธาตุทำเล โฆษกตำรวจภูธร 4 แถลงว่าภายหลังจากเกิดเหตุเพลิงไหม้ในวันที่ 13 กันยายน 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการจัดเก็บรวบรวมพยานหลักฐานทุกขั้นตอนโดยละเอียด พร้อมยังเตือนว่าการกระทำในลักษณะดังกล่าวเป็นเรื่องร้ายแรง และทำลายความรู้สึกของคนไทย โดยความผิดฐาน วางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 – 140,000 บาท

    อย่างไรก็ตาม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 7/1 ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาซึ่งถูกควบคุมหรือขังมีสิทธิแจ้งหรือขอให้เจ้าพนักงานแจ้งให้ญาติหรือผู้ซึ่งผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาไว้วางใจทราบถึงการถูกจับกุมและสถานที่ที่ถูกควบคุมในโอกาสแรกและให้ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหามีสิทธิดังต่อไปนี้ด้วย

    (1) พบและปรึกษาผู้ซึ่งจะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะตัว
    (2) ให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้ในชั้นสอบสวน
    (3) ได้รับการเยี่ยมหรือติดต่อกับญาติได้ตามสมควร

    กรณีของเจมส์เมื่อมีเหตุจับกุม กลับไม่ให้ติดต่อผู้อื่นผ่านช่องทางใดๆ แม้จัดให้มีทนายความเข้ามานั่งฟังการสอบสวน แต่ก็เป็นไปเพื่อให้ครบองค์ประกอบเท่านั้น การกระทำเข้าลักษณะปล่อยให้พนักงานสอบสวนซักถามผู้ต้องหา โดยที่ทนายไม่ได้ให้ความเห็นทางกฎหมายทั้งที่เป็นคุณหรือโทษต่อผู้ต้องหาใดๆ ถือเป็นการละเมิดสิทธิผู้ต้องหา และเป็นการกีดกันความสามารถในการต่อสู้คดีของผู้ต้องหา

    โดยเฉพาะคดีที่มีผู้ต้องหามากกว่า 1 คน หากมีการแยกห้องสอบสวนและผู้ต้องหาไม่ได้มีโอกาสปรึกษากับทนายความที่ไว้ใจหรือผู้ไว้วางใจ ย่อมเป็นช่องทางที่ทำให้พนักงานสอบสวนฉกฉวยความได้เปรียบในการสอบปากคำฝ่ายผู้ต้องหา นับเป็นอีกตัวอย่างของความล้มเหลวในกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ทำหน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรมอย่างแท้จริง

    (อ้างอิง: บันทึกการจับกุม สภ.เมืองขอนแก่น และคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลจังหวัดขอนแก่น ลงวันที่ 17 ก.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/35268)
  • พนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่น ยื่นฟ้องเจมส์และบอสในความผิดฐาน ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217

    ท้ายคำฟ้อง นอกจากขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองแล้ว อัยการไม่ได้คัดค้านการประกันตัว และไม่ได้ขอให้ศาลมีคำสั่งริบของกลางที่ตำรวจยึดไปจากทั้งสองในวันที่เข้าจับกุม ได้แก่ รถยนต์ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์

    ทั้งนี้ ความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่นตามฟ้อง มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 7 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 – 140,000 บาท

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดขอนแก่น คดีหมายเลขดำที่ อ.842/2564 ลงวันที่ 3 พ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/37532)
  • วันนี้เจมส์และบอสต้องเข้ารายงานตัวตามนัดกับรองคณบดีซึ่งเป็นผู้กำกับดูแล แต่ได้รับแจ้งว่า อัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้ว จึงเดินทางไปที่ศาลจังหวัดขอนแก่น เวลา 09.00 น. ตำรวจควบคุมตัวทั้งสองไปที่ห้องขังใต้ถุนศาล เมื่อเสฐียรพงศ์ ล้อศิริรัตน์ ทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เดินทางถึงศาล เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งให้ขึ้นไปที่ห้องคุ้มครองสิทธิ โดยเจมส์และบอสก็ถูกเบิกตัวมาจากห้องขัง ผู้พิพากษาถามนักศึกษาทั้งสองว่ายืนยันให้การปฏิเสธหรือไม่ ทั้งสองคนยืนยันให้การปฏิเสธ ผู้พิพากษาจึงถามต่อว่า จะให้การเพิ่มเติมหรือไม่ ทนายความแถลงว่า จำเลยทั้งสองจะให้การเพิ่มเติมในนัดสอบคำให้การ

    หลังจากศาลกำหนดนัดสอบคำให้การในวันที่ 7 ธ.ค. 2564 ตำรวจได้ควบคุมตัวเจมส์และบอสกลับไปที่ห้องขังใต้ถุนศาล ขณะรอทนายจำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในชั้นพิจารณาคดี

    ต่อมาราว 11.30 น. ผศ.กฤษฎา วงศ์คำจันทร์ รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เดินทางมาเป็นผู้ขอประกันนักศึกษาทั้งสอง จนเมื่อราว 13.45 น. ศาลจังหวัดขอนแก่นจึงมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวเจมส์และบอส โดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ประกัน และตั้งให้ ผศ.กฤษฎา เป็นผู้กำกับดูแลระหว่างพิจารณาคดีเช่นเดียวกับในชั้นสอบสวน

    สำหรับเจมส์และบอส ขณะนี้เรียนอยู่ชั้นปี 3 สาขาวิชาดนตรีพื้นเมือง โดยเจมส์เรียนเอกพิณควบคู่กับตีกลอง และบอสเรียนเอกเป่าแคนและร้องหมอลำ โดยทั้งคู่นอกจากเรียนและซ้อมดนตรีในคณะ ยังรับจ้างเล่นดนตรีเป็นอาชีพเสริมควบคู่กันไปด้วยตามวาระโอกาส

    เจมส์สะท้อนความรู้สึกหลังถูกดำเนินคดี และโดนยึดสิ่งของตั้งแต่วันถูกจับกุมเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า “ใช้ชีวิตลำบากมากครับเพราะถูกยึดทั้งรถยนต์และคอมพิวเตอร์ไปตรวจสอบ โดยจะได้วันไหนก็ไม่รู้ ทางตำรวจก็ไม่ได้ให้คำตอบ ส่งผลกระทบต่อการเรียนเป็นอย่างมากแต่ยังโชคดีที่อาจารย์บางรายวิชาเข้าใจ ทำให้ผัดผ่อนการส่งงานที่ล่าช้าได้ ส่วนในเรื่องคดีไม่มีอะไรจะพูดเลยครับนอกจากคำว่าขอบคุณอาจารย์ที่มาช่วยประกันตัว และขอบคุณทนายที่ช่วยให้คำปรึกษามาตลอด”

    ส่วนบอสกล่าวว่า รู้สึกใจหวิวๆ ที่ต้องมาเรื่องคดีนี้ ตั้งแต่ตอนถูกจับมาสอบสวนที่ สภ.เมืองขอนแก่น พอเวลาผ่านไปก็ไม่ได้คิดอะไร ใช้ชีวิตปกติ เรียน รับงานแสดงหมอลำ ในอนาคตเรียนจบก็อยากเป็นศิลปินที่เล่นงานทั่วไปได้ และอีกอาชีพที่อยากทำคือการเป็นช่างทำแคน ส่วนเรื่องคดีความตอนนี้ก็คงสู้กันไปให้ถึงที่สุด

    สำหรับในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นปัจจุบันเท่าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนติดตามยังมีผู้ถูกดำเนินที่เกิดจากการวางเพลิงเผาทรัพย์อันเกี่ยวเนื่องกับซุ้มเฉลิมพระเกียรติและพระบรมฉายาลักษณ์ของ ร.10 อีก 2 คดี

    ‘เทพ’ นักศึกษาวิทยาเทคนิคขอนแก่น เข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่นเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2564 เพื่อแสดงความบริสุทธิ์และไม่มีเจตนาหลบหนีหมายจับของศาลจังหวัดขอนแก่นในข้อหาวางเพลิงรูป ร. 10 เทพให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา หลังตำรวจขอฝากขัง ศาลให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 35,000 บาท โดยใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ คดีของเทพอยู่ระหว่างชั้นสอบสวน

    และคดีของ บอส อิศเรษฐ์ เจริญคง นักกิจกรรมและพ่อค้าขายดอกไม้ธูปเทียนวัย 23 ปี เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2564 บอสเข้าแสดงตัวตามหมายจับจากเหตุวางเพลิงเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ร.10 เมื่อเดือนมีนาคม 2564 บริเวณถนนบายพาส ตำบลศิลา อำเภอเมืองขอนแก่น ก่อนพนักงานสอบสวนขออำนาจศาจฝากขัง และได้ประกันตัวใช้หลักทรัพย์ วงเงิน 35,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ คดีอยู่ในชั้นสอบสวนเช่นเดียวกัน

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/37532)


  • นัดคุ้มครองสิทธิและสอบคำให้การ ตัวแทนคณะแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้เสียหายไม่มาศาล อ้างว่าไม่ได้รับหมายนัด และยังไม่ได้รับหนังสือแจ้งสิทธิของผู้เสียหายให้เข้ามาเป็นโจทก์ร่วม ทนายจำเลยจึงแถลงขอเลื่อนนัดออกไปก่อน เนื่องจากจำเลยประสงค์บรรเทาความเสียหาย จึงอยากฟังความต้องการของผู้เสียหาย ศาลอนุญาตเลื่อนนัดไปวันที่ 15 ก.พ. 2565
  • เจมส์, บอส ทนายจำเลย และนิติกรคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตัวแทนผู้เสียหายมาศาล ยืนยันค่าเสียหายตามที่โจทก์ฟ้อง 149,800 บาท และหากจำเลยชำระค่าเสียหาย ผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความทั้งทางแพ่งและทางอาญา ทั้งนี้ หากให้ผู้เสียหายลดหย่อน เนื่องจากเป็นทรัพย์สินราชการ ทางคณะแพทย์ต้องตั้งคณะกรรมการสอบค่าเสื่อมราคา ซึ่งต้องใช้เวลาไม่เกิน 90 วัน

    ทนายจำเลยแถลงว่า จำเลยทั้งสองรับสารภาพ แต่เรื่องค่าเสียหายขอไปพูดคุยกับทางคณะแพทย์เพื่อวิธีบรรเทาความเสียหายแทนการจ่ายค่าเสียหายเต็มจำนวน เช่น ทำคืนให้ในสเปคเดิม ผู้เสียหายแถลงว่า หากทางจำเลยทำแบบมาเสนอ ทางคณะแพทย์ก็จะพิจารณาได้เร็ว ใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน

    ศาลให้เวลาจำเลยไปเจรจากับผู้เสียหาย รวมทั้งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลย นัดติดตามผลการชำระค่าเสียหายและฟังคำพิพากษาในวันที่ 22 มี.ค. 2565
  • ศาลอ่านรายงานการสืบเสาะให้เจมส์และบอสฟัง มีรายละเอียดโดยสรุปว่า

    ประวัติส่วนตัวและครอบครัว ไม่ปรากฏข้อเสียหายร้ายแรง ไม่พบประวัติการกระทำความผิด นิสัยร่าเริงสนุกสนาน มีเหตุผล เชื่อฟัง ไม่มีพฤติการณ์เป็นนักเลง ไม่มีประวัติเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ไม่ผิดปกติทางจิตประสาท

    จำเลยให้ถ้อยคำว่า มีเพื่อนในกลุ่มเฟซบุ๊กที่ใช้สื่อสารเรื่องการเรียนการสอนของคณะ ได้ส่งคลิปเหตุการณ์ผู้ชุมนุมถูกรถของ คฝ.ชน ทำให้รู้สึกไม่พอใจที่เจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุ เวลาประมาณเที่ยงคืน ล.1 นำรถไปรับ ล.2 ที่หอ แวะเติมน้ำมันหลังหอพักเป็นเงิน 40 บาท ขับรถตระเวณตามถนนในเทศบาลนครขอนแก่น ถึงบริเวณคณะแพทย์ ล.2 นำน้ำมันเทราดฐานซุ้มและราดไปทั่วๆ ล.1 จุดไฟแช็ค

    วันที่ 10 มี.ค. 2565 พนักงานคุมประพฤติไปสืบเสาะ พบว่า จำเลยยังไม่ได้ไปพบผู้เสียหาย โดยให้เหตุผลว่า ยังอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล โดยยังยืนยันไปทำซุ้มทดแทนให้ตามเดิม

    ความเห็นของพนักงานคุมประพฤติ ไม่มีความเห็น ตามแต่ศาลเห็นสมควร

    ทนายจำเลยแถลงว่ายังอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลในการจัดสร้างใหม่ทดแทน อีกทั้งตัวแทนคณะแพทยศาสตร์เสนอให้ไปพูดคุยกับคณบดีในเรื่องค่าเสื่อมราคา ทางครอบครัวจึงรับว่าจะเร่งนัดหมายเข้าไปพูดคุยในเรื่องการชำระค่าเสียหายก่อนนัดฟังคำพิพากษา

    เจมส์และบอสไม่คัดค้านรายงานการสืบเสาะ ศาลเลื่อนฟังคำพิพากษาไปเป็นวันที่ 27 เม.ย. 2565 ระบุว่า เนื่องจากต้องร่างคำพิพากษาให้อธิบบดีผู้พิพากษาภาค 4 ตรวจก่อนอ่าน

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดขอนแก่น คดีหมายเลขดำที่ อ.842/2564 ลงวันที่ 22 มี.ค. 2565)
  • เจมส์ บอส และครอบครัว เข้าวางเงินค่าเสียหายต่อศาล จำนวน 150,000 บาท โดยส่วนหนึ่งจำนวน 50,000 บาท ขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ เนื่องจากครอบครัวจัดหาได้ไม่ทัน เจ้าหน้าที่ศาลออกใบเสร็จให้ และจะติดต่อคณะแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นมารับค่าเสียหายดังกล่าวต่อไป
  • ทนายจำเลยเข้ายื่นคำแถลงปิดคดีต่อศาล ระบุว่า คดีนี้จําเลยทั้งสองรับสารภาพว่าได้กระทําความผิดจริงตามฟ้อง ซึ่งจําเลยทั้งสองมิใช่บุคคลที่เป็นภยันตรายต่อสังคม อันเป็นความผิดที่มีอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือเป็นความผิดต่อป่าไม้ หรือยาเสพติด การกระทําของจําเลยทั้งสองเกิดจากความคึกคะนอง มิได้มีเจตนาประสงค์ต่อชีวิต ร่างกายบุคคลอื่นแต่อย่างใด พฤติการณ์ของจําเลยทั้งสองแม้เป็นความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์แต่ ความเสียหายในคดีนี้ไม่ร้ายแรง กล่าวคือทรัพย์ที่จําเลยทั้งสองร่วมกันเผานั้นอยู่ห่างจากแหล่งที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน และรอบบริเวณของทรัพย์ที่เผานั้น ไม่มีวัตถุอื่นใดใกล้เคียงอันจะทําให้เกิดการลุกลามของไฟแต่อย่างใด ทรัพย์ที่จําเลย
    ร่วมกันเผาเป็นทรัพย์ที่ไม่มีราคาสูงมาก เป็นเพียงแผ่นป้ายขนาดใหญ่เท่านั้น

    จําเลยทั้งสองเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นชั้นปีที่ 3 คณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกสาขาดนตรีพื้นบ้าน มีถิ่นที่อยู่อาศัยแน่นอน มีความรู้ มีการศึกษา หากจําเลยทั้งสองจบการศึกษาจะสร้างประโยชน์ให้กับครอบครัว สังคม ไม่เป็นภาระของสังคม ความผิดของจําเลยทั้งสองครั้งนี้เป็นการกระทําความผิดครั้งแรก จําเลยทั้งสองไม่มีความผิดอื่นอีก และมิใช่ความผิดที่เป็นอันตรายต่อสังคมเช่นค้าอาวุธหรือยาเสพติด
    จําเลยทั้งสองมีความสํานึกต่อการกระทําความผิดของตนเองจําเลยทั้งสองได้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายหรือโจทก์ร่วมแล้วเป็นเงินจํานวน 150,000 บาท เพื่อเป็นการบรรเทาผลร้ายครบถ้วนตามที่ผู้เสียหายหรือโจทก์ร่วมต้องการทําให้ไม่ติดใจในส่วนแพ่งอีกต่อไป

    อาศัยเหตุดังกล่าวข้างต้นจึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจําเลยทั้งสองสถานเบาและรอการลงโทษจําเลยทั้งสองเพื่อให้จําเลยทั้งสองได้มีโอกาสกลับตัวเป็นคนดีต่อสังคม

    (อ้างอิง: คำแถลงปิดคดี ศาลจังหวัดขอนแก่น คดีหมายเลขดำที่ อ.842/2564 ลงวันที่ 20 เม.ย. 2565)
  • ศาลอ่านคำพิพากษา พิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217

    พิจารณาจากรายงานการสืบเสาะ ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองมีประวัติต้องโทษจำคุก จำเลยรู้สึกถึงความผิด และพยายามบรรเทาผลร้าย โดยชำระค่าเสียหายแก่ผู้เสียหายจนครบ จำเลยทั้งสองอยู่ในวิสัยที่จะปรับปรุงแก้ไขความประพฤติ จึงให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี

    พิพากษาให้รอการกำหนดโทษคนละ 2 ปี รายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้ง ให้ละเว้นการประพฤติที่จะเป็นความผิดในลักษณะเดียวกับคดีนี้อีก และให้ทำงานสาธารณประโยชน์คนละ 24 ชม.

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลจังหวัดขอนแก่น คดีหมายเลขดำที่ อ.842/2564 ลงวันที่ 27 เม.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/42956)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
เจมส์ (นามสมมติ)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
ผู้ถูกดำเนินคดี :
บอส (นามสมมติ)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
เจมส์ (นามสมมติ)

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. สมเด็จ จุลราช

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 27-04-2022
ผู้ถูกดำเนินคดี :
บอส (นามสมมติ)

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. สมเด็จ จุลราช

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 27-04-2022

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์