ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.825/2565
แดง อ.1459/2566

ผู้กล่าวหา
  • อุราพร สุนทรพจน์ (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.825/2565
แดง อ.1459/2566
ผู้กล่าวหา
  • อุราพร สุนทรพจน์

ความสำคัญของคดี

"มณีขวัญ" (สงวนนามสกุล) วัย 26 ปี ประกอบธุรกิจส่วนตัว เข้ามอบตัวตามหมายจับของศาลจังหวัดสมุทรปราการ โดยเธอไม่เคยได้รับหมายเรียกผู้ต้องหามาก่อน ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)(5) ซึ่งอุราพร สุนทรพจน์ ประชาชนทั่วไปเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษหลังมีบัญชีเฟซบุ๊ก​​แชร์โพสต์จากเพจ “KonthaiUK” ลงในกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” ช่วงเดือน พ.ค. 2563 รวม 2 โพสต์ ซึ่งเป็นโพสต์ที่แชร์บทความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ และโพสต์วิจารณ์กษัตริย์พร้อมภาพเครื่องบิน

นอกจากคดีนี้แล้ว อุราพร ยังได้เข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีผู้ใช้เฟซบุ๊กอีกหลายราย กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับเปิดช่องให้ใครก็ได้สามารถเข้าแจ้งความ ทำให้มาตรา 112 ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งผู้เห็นต่างทางการเมือง กระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนอย่างกว้างขวาง

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

ปาริชาติ สังฆมาศ พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการบรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายรวม 2 กรรม กล่าวคือ

1. เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2563 จำเลยได้แชร์ภาพและข้อความที่เพจ “KonthaiUK” โพสต์ ลงในกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อ “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” ใจความว่า “วอชิงตันโพสต์สื่อแนวหน้าของโลก กับบทความระลึกทําไมเราถึงเสื่อมศรัทธากับระบอบนี้ (อ่านดูคร่าวๆ 9 ข้อ จุกๆ)" พร้อมภาพการมอบถุงพระราชทานที่เบื้องหลังมีพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มีข้อความแทรกบนภาพว่า “บทความจาก วอชิงตันโพสต์ Why This are losing faith in the monarchy? ทําไมคนไทยหมดศรัทธาในสถาบันกษัตริย์”

2. เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2563 จำเลยได้แชร์ภาพและข้อความที่เพจ “KonthaiUK” โพสต์ ลงในกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อ “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” เป็นภาพเครื่องบินของสายการบินไทย มีข้อความอธิบายภาพระบุว่า เครื่องบินลำดังกล่าวอยู่ที่สวนหน้าวังของกษัตริย์ พร้อมทั้งแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์

อัยการระบุว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์เป็นความเท็จ ความจริงแล้วรัชกาลที่ 10 มิได้เป็นไปตามที่จําเลยใส่ความแต่อย่างใด โดยข้อความซึ่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์เท็จดังกล่าว บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงและสามารถอ่านข้อความอันเป็นเท็จที่จําเลยพิมพ์และแชร์นั้นได้

นอกจากนี้ข้อความและภาพถ่ายดังกล่าวเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ใส่ร้าย ใส่ความ ดูหมิ่น และหมิ่นประมาทแอบอ้างเบื้องสูง หมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์ ทําให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ทั้งนี้จําเลยมีเจตนาที่จะให้ผู้อื่นหรือประชาชน ที่ได้อ่านข้อความดังกล่าวแล้ว มีความรู้สึกดูถูก ดูหมิ่น เกลียดชัง โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทย รัชกาลที่ 10

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดสมุทรปราการ คดีหมายเลขดำที่ อ.825/2565 ลงวันที่ 11 ก.ค. 2565)

ความคืบหน้าของคดี

  • ที่ สภ.บางแก้ว จ.สมุทรปราการ มณีขวัญพร้อมทนายความได้เข้ามอบตัวตามหมายจับของศาลจังหวัดสมุทรปราการ ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3),(5)

    พ.ต.ท.รังสรรค์ คําสุข รองผู้กำกับ (สอบสวน) สภ.บางแก้ว ได้แจ้งพฤติการณ์คดีที่กล่าวหา ระบุว่า เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2563 เวลาประมาณ 17.00 น. ขณะอุราพร สุนทรพจน์ ผู้กล่าวหา เข้าไปดูในกลุ่มเฟซบุ๊ก “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” พบว่าผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กรายหนึ่งได้แชร์ภาพและข้อความของเพจเฟซบุ๊ก “KonthaiUK” จำนวน 2 โพสต์

    1. เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2563 แชร์ภาพและข้อความที่เพจ “KonthaiUK” โพสต์เอาไว้เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2563 เป็นภาพการมอบถุงพระราชทานที่เบื้องหลังมีพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มีข้อความแทรกบนภาพว่า “บทความจาก วอชิงตันโพสต์ Why This are losing faith in the monarchy? ทําไมคนไทย หมดศรัทธาในสถาบันกษัตริย์”

    2. เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2563 ได้แชร์ภาพและข้อความที่เพจ “KonthaiUK” โพสต์เอาไว้เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2563 เป็นภาพเครื่องบินของสายการบินไทย มีข้อความอธิบายภาพระบุว่า เครื่องบินลำดังกล่าวอยู่ที่สวนหน้าวังของกษัตริย์ พร้อมทั้งแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์

    ทั้งนี้ ทั้งสองโพสต์เป็นการแชร์ข้อความจากเฟซบุ๊กเท่านั้น ตัวผู้แชร์โพสต์ไม่ได้มีการแสดงความคิดเห็นประกอบ

    พนักงานสอบสวนระบุว่า จากการตรวจสอบพบว่าเฟซบุ๊กบัญชีดังกล่าวมีชื่อเดิมเป็นชื่อ-นามสกุลในภาษาอังกฤษ จึงนำไปตรวจสอบเปรียบเทียบชื่อกับชื่อบุคคลในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร พบว่ามีชื่อนั้นอยู่จริง ตรวจสอบภาพใบหน้าตรงกับภาพโปรไฟล์ของบัญชีเฟซบุ๊ก จึงได้ขอร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดําเนินคดี

    พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ, นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับความมั่นคง, เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่เกี่ยวกับความมั่นคง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3),(5)

    มณีขวัญเคยได้รับการติดต่อจากตำรวจให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา อย่างไรก็ตามเธอไม่เคยได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาแต่อย่างใด แม้ทางตำรวจจะระบุว่าเคยมีการออกหมายเรียกไปแล้ว แต่เธอไม่เคยเห็นหมายเรียกดังกล่าว เมื่อทราบว่าถูกออกหมายจับ จึงตัดสินใจเข้ามอบตัว โดยได้ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ตำรวจอนุญาตให้ประกันตัวในชั้นสอบสวนด้วยวงเงินประกัน 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยตำรวจได้นัดหมายอีกครั้งในวันที่ 21 พ.ค. 2565

    ทั้งนี้ตั้งแต่ช่วงปี 2563 มณีขวัญเคยได้รับข้อความข่มขู่ว่าถูกแจ้งความในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เนื่องจากพบเห็นเฟซบุ๊กที่เชื่อว่าเป็นของตนเองแชร์โพสต์ในกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” อย่างไรก็ตาม มณีขวัญยืนยันว่าตนไม่รู้จักกลุ่มดังกล่าวแต่อย่างใด

    สำหรับคดีนี้เป็นคดีที่ 13 ซึ่ง สภ.บางแก้ว ดำเนินคดีประชาชนในข้อหา ม.112 ทั้งหมดเป็นคดีที่มีประชาชนเข้าแจ้งกล่าวโทษ โดยมีคดีที่อัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว 9 คดี ขณะอุราพร ผู้กล่าวหาในคดีนี้ ยังได้เข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีผู้ใช้เฟซบุ๊กอีกหลายราย ก่อนหน้ามณีขวัญ ก็มีผู้ถูกออกหมายเรียกเข้ารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว 3 ราย ได้แก่ พิพัทธ์, พชร และภัทร

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/42784)
  • พนักงานสอบสวนนัดมณีขวัญเพื่อส่งตัวให้พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการพร้อมสำนวนการสอบสวน อัยการเรียกหลักประกันในชั้นอัยการจำนวน 150,000 บาท โดยตัวแทนกองทุนราษฎรประสงค์ต้องใช้ใช้บัญชีเงินฝากประจำวางเป็นประกัน อัยการนัดฟังคำสั่งวันที่ 11 ก.ค. 2565
  • มณีขวัญเดินทางรายงานตัวกับอัยการตามนัดฟังคำสั่งและส่งฟ้อง หลังพนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการมีความเห็นสั่งฟ้องคดี จากนั้นอัยการได้ยื่นฟ้องมณีขวัญต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3),(5) ​

    อัยการระบุว่า ข้อความและภาพที่จำเลยโพสต์และแชร์เป็นความเท็จ และเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ใส่ร้าย ใส่ความ ดูหมิ่น และหมิ่นประมาทเบื้องสูง หมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์ ทําให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ทั้งนี้จําเลยมีเจตนาที่จะให้ผู้อื่นหรือประชาชน ที่ได้อ่านข้อความดังกล่าวแล้ว มีความรู้สึกดูถูก ดูหมิ่น เกลียดชัง โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทย รัชกาลที่ 10

    หลังศาลรับฟ้อง โดยมณีขวัญยืนยันให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา ศาลอนุญาตให้ประกันตัวด้วยเงินสด 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ก่อนนัดพร้อมในวันที่ 29 ส.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดสมุทรปราการ คดีหมายเลขดำที่ อ.825/2565 ลงวันที่ 11 ก.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/46103)

  • ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี เนื่องจากติดว่าความในคดีอื่นที่ได้นัดไว้แล้ว ศาลอนุญาตเลื่อนไปนัดพร้อม สอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 7 พ.ย. 2565
  • มณีขวัญพร้อมทนายจําเลยมาศาลตามนัด ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยฟัง จําเลยแถลงขอให้การปฏิเสธ ตามคําให้การจําเลยที่ได้ยื่นวันนี้

    โจทก์แถลงประสงค์อ้างพยานเอกสารรวม 11 อันดับ และประสงค์จะสืบพยานบุคคลรวม 12 ปาก แต่หากจําเลยรับข้อเท็จจริงได้ว่า พยานอันดับที่ 6 เป็นผู้จับจําเลยตามหมายจับ และพยานอันดับที่ 9 และที่ 10 เป็นพนักงานสอบสวนคณะทํางาน โจทก์ก็ไม่ติดใจสืบพยานบุคคลปากดังกล่าว

    จําเลยและทนายจําเลยรับข้อเท็จจริงตามที่โจทก์แถลง คงเหลือพยานบุคคลที่โจทก์ติดใจนําเข้าสืบรวม 9 ปาก คือ อันดับที่ 1 เป็นผู้กล่าวหา อันดับที่ 2 เป็นเพื่อนของจําเลย ยืนยันเฟซบุ๊กจําเลย อันดับที่ 3 เป็นบุคคลทั่วไปผู้อ่านข้อความตามฟ้อง อันดับที่ 4 เป็นครูภาษาไทย ผู้ให้ความเห็น อันดับที่ 5 เป็นผู้ตรวจสอบข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ อันดับที่ 7 และที่ 8 เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน อันดับที่ 11 และที่ 12 พนักงานสอบสวนคณะทํางานและสอบปากคําพยาน ขอใช้วันนัดสืบพยานโจทก์ 2 นัด

    จําเลยและทนายจําเลยแถลงแนวทางต่อสู้คดีว่า จําเลยไม่ใช่เจ้าของเฟซบุ๊กและไม่ได้นําข้อความตามฟ้องเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยประสงค์จะสืบพยานบุคคลรวม 3 ปาก คือ จําเลยอ้างตนเองเป็นพยาน และผู้เชี่ยวชาญระบบคอมพิวเตอร์ ขอใช้วันนัดสืบพยานจําเลยจํานวน 1 นัด นัดสืบพยานโจทก์วันที่ 8,9 ส.ค. 2566 สืบพยานจำเลยวันที่ 10 ส.ค. 2566

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลจังหวัดสมุทรปราการ คดีหมายเลขดำที่ อ.825/2565 ลงวันที่ 7 พ.ย. 2565)
  • ก่อนเริ่มการสืบพยานวันแรก มณีขวัญตัดสินใจขอถอนคำให้การเดิมที่ปฏิเสธ และให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้องของโจทก์ ศาลจึงยกเลิกวันนัดสืบพยานและนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 30 ต.ค. 2566 เวลา 09.00 น.
  • เวลา 09.00 น. มณีขวัญ ผู้รับมอบฉันทะทนายความ และนายประกัน ได้เดินทางมารอในห้องพิจารณาคดี รวมถึงมีมวลชนและสื่ออิสระบางส่วนมาร่วมให้กำลังใจและสังเกตการณ์ ก่อนที่เวลา 09.40 น. ศาลจะออกนั่งพิจารณาคดีและอ่านคำพิพากษา มีใจความว่า

    พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (5) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป และเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักสุด จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 1 ปี 6 เดือน รวมจำคุก 2 ปี 12 เดือน

    พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะ จำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน นิสัยและความประพฤติทั่วไปไม่มีข้อเสียหายร้ายแรง การให้โอกาสจำเลยสักครั้งน่าจะเป็นประโยชน์แก่สังคมโดยรวมมากกว่าการลงโทษจำคุก โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี คุมประพฤติเป็นระยะเวลา 2 ปี โดยให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 2 เดือน และทำงานบริการเพื่อสังคมเป็นเวลา 48 ชั่วโมง

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลจังหวัดสมุทรปราการ คดีหมายเลขดำที่ อ.825/2565 คดีหมายเลขแดงที่ อ.1459/2566 ลงวันที่ 30 ต.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/61041)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
มณีขวัญ (สงวนนามสกุล)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
มณีขวัญ (สงวนนามสกุล)

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. ศิริจันทร์ บิณศิรวานิช
  2. มณีรัตน์ ธำรงวิทวัสพงศ์

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 30-10-2023

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์