ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.2802/2565
แดง อ.2363/2567

ผู้กล่าวหา
  • นพดล พรหมภาสิต เลขาธิการ ศชอ. (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.2802/2565
แดง อ.2363/2567
ผู้กล่าวหา
  • นพดล พรหมภาสิต เลขาธิการ ศชอ.

ความสำคัญของคดี

“เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษาและนักกิจกรรมกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ถูกตำรวจ บก.ปอท.ดำเนินคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จากการโพสต์ภาพพร้อมข้อความบนเฟซบุ๊กว่า “ด้วยรักและฟัคยู #28กรกฎาร่วมใจใส่ชุดดำ” หลัง นพดล พรหมภาสิต เลขาธิการศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) เข้าแจ้งความ

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแม้ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย จึงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่นที่มีความเห็นต่างทางการเมือง กระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนอย่างกว้างขวาง

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

ร.ต.อ.ทองสุข พิธรรม พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 บรรยายคำฟ้องมีเนื้อหาโดยสรุปว่า

ระหว่างวันที่ 28 ก.ค. - 1 ส.ค. 2564 จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “พริษฐ์ ชิวารักษ์” ได้โพสต์เผยแพร่ภาพของจำเลยถือภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 กลับศีรษะลงด้านล่าง แล้วกำมือชูนิ้วกลางทาบลงบนพระบรมฉายาลักษณ์ และมีข้อความว่า “ด้วยรักและฟัคยู #28กรกฎาร่วมใจใส่ชุดดำ”

ข้อความและภาพดังกล่าวเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ และมีเจตนาไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ ทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาและอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2802/2565 ลงวันที่ 8 พ.ย. 2565)

ความคืบหน้าของคดี

  • เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) รวม 4 นาย เดินทางเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาในคดีตามมาตรา 112 กับ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยมีทนายความเดินทางไปร่วมรับฟังด้วย

    คณะพนักงานสอบสวน นำโดย ร.ต.ท.หญิงกนกวรรณ สีสะอาด รองสารวัตร (สอบสวน) กก.1 บก.ปอท. ได้แจ้งพฤติการณ์คดีระบุว่า เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 เวลา 19.00 น. ผู้กล่าวหาได้พบเห็นภาพและข้อความในเฟซบุ๊กชื่อ “พริษฐ์ ชิวารักษ์” ที่โพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2564 เวลา 23.29 น. โดยมีข้อความว่า “ด้วยรักและฟัคยู #28กรกฎาร่วมใจใส่ชุดดำ” พร้อมกับมีภาพพริษฐ์ถือภาพถ่ายที่ปรากฏพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 กลับศีรษะ และกำมือชูนิ้วกลางทาบลงบนพระบรมฉายาลักษณ์

    ผู้กล่าวหาเห็นว่าข้อความและภาพดังกล่าว ผู้โพสต์แสดงความไม่เคารพและแสดงความอาฆาตมาดร้าย เจตนาดูหมิ่นต่อองค์พระมหากษัตริย์ จึงมาพบพนักงานสอบสวนเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าว

    พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาพริษฐ์ 2 ข้อหา ได้แก่ “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

    พริษฐ์ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยไม่ลงชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือต่อไป

    คดีนี้นับเป็นคดีที่พริษฐ์ถูกกล่าวหาในข้อหาตามมาตรา 112 เป็นคดีที่ 21 แล้ว นับได้ว่าเป็นผู้ถูกกล่าวหาในข้อหานี้เป็นจำนวนคดีมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เท่าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนทราบข้อมูลอีกด้วย

    ทั้งนี้ โพสต์ข้อความดังกล่าวยังเป็นโพสต์ที่ถูกพนักงานอัยการนำไปยื่นคำร้องขอเพิกถอนประกันพริษฐ์ในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ด้วย ก่อนที่เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 ชนาธิป เหมือนพะวงศ์ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ได้มีคำสั่งเพิกถอนการประกันพริษฐ์ โดยไม่ได้มีการไต่สวนคำร้อง โดยระบุว่า เนื่องจากข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานนั้นรับฟังได้อย่างชัดแจ้งแล้ว ทำให้เขาถูกคุมขังในเรือนจำมาจนถึงปัจจุบัน รวม 71 วันแล้ว

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา บก.ปอท. ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ลงวันที่ 8 ต.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/36632)
  • พนักงานสอบสวนนัดหมายพริษฐ์ส่งตัวพร้อมสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5
  • พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 นัดหมายพริษฐ์ไปส่งฟ้องต่อศาลอาญา ในฐานความผิด หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

    คำฟ้องของอัยการมีเนื้อหาโดยสรุปว่า ระหว่างวันที่ 28 ก.ค. - 1 ส.ค. 2564 จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “พริษฐ์ ชิวารักษ์” ได้โพสต์เผยแพร่ภาพของจำเลยถือภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 พร้อมข้อความ ซึ่งอัยการระบุว่า เป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ และมีเจตนาไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ ทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาและอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้

    หลังศาลรับฟ้องได้อนุญาตปล่อยชั่วคราวพริษฐ์ระหว่างพิจารณาคดีในวงเงินประกัน 90,000 บาท โดยใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ และไม่ได้กำหนดเงื่อนไขประกันใด ๆ เพิ่มเติม

    นัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 16 ม.ค. 2566 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2802/2565 ลงวันที่ 8 พ.ย. 2565)
  • ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี เนื่องจากติดนัดศาลอื่นไม่สามารถมาศาลได้ และจำเลยมีความจำเป็นต้องเข้าเรียนรายวิชาตามหลักสูตรการศึกษาที่ลงทะเบียนไว้ไม่สามารถมาศาลได้เช่นกัน โจทก์ไม่ค้าน ศาลอนุญาตให้เลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานออกไปเป็นวันที่ 21 มี.ค. 2566 เวลา 09.30 น.

    ทั้งนี้ ศาลระบุว่า จำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ต้องมาศาลตามนัดทุกนัดตามสัญญาประกัน แต่เชื่อว่าจำเลยไม่ได้จงใจไม่มาศาลตามนัดในวันนี้ จึงให้จำเลยมารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายงานประกันในวันที่ 19 ม.ค. 2566 เวลา 13.00 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2802/2565 ลงวันที่ 16 ม.ค. 2566)
  • ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้ฟัง พริษฐ์ยืนยันให้การปฏิเสธ โจทก์แถลงประสงค์นำพยานเข้าสืบ 9 ปาก ใช้เวลาสืบ 2 นัด ทนายจำเลยแถลงแนวทางต่อสู้คดีว่า การกระทำของจำเลยไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ขอสืบพยานจำเลย 7 ปาก ใช้เวลา 2 นัด ศาลนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 14-15 พ.ค. 2567 สืบพยานจำเลยในวันที่ 16-17 พ.ค. 2567

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2802/2565 ลงวันที่ 21 มี.ค. 2566)
  • ฝ่ายโจทก์ได้นำพยานเข้าสืบทั้งหมด 8 ปาก ได้แก่ นพดล พรหมภาสิต ผู้กล่าวหา, ตรีดาว อภัยวงศ์ อาจารย์สอนศิลปะและการแสดง, มหัศจักร โสดี นักกฎหมายกลุ่ม ศชอ., คมสัน โพธิ์คง นักวิชาการด้านนิติศาสตร์, พ.ต.ต.ชัยยุทธ เชียงสอน พนักงานสืบสวน บก.ปอท. และพนักงานสอบสวน บก.ปอท. 3 นาย ได้แก่ พ.ต.ต.หญิง กนกวรรณ สีสะอาด, พ.ต.ท.คมสัน ทุติยานนท์ และ ร.ต.อ.ณัฐวัฒน์ ตาแว่น

    พยานโจทก์ทั้งหมดเบิกความไปในทำนองเดียวกันว่า ภาพถ่ายและข้อความของจำเลยเป็นการแสดงออกด้วยท่าทางและข้อความซึ่งมีเจตนาหมิ่นประมาท ด่าหยาบคาย ทำให้ผู้ถูกด่าเสื่อมเสียชื่อเสียง นอกจากนี้ยังมีการเชิญชวนให้ประชาชนใส่เสื้อดำในวันพระราชสมภพ ซึ่งถือเป็นการดูหมิ่น ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ที่จะล่วงละเมิดกษัตริย์ไม่ได้

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/68889)
  • ฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าสืบทั้งหมด 2 ปาก ในส่วนของพริษฐ์เบิกความยืนยันว่า ตนไม่ได้ทำผิดตามฟ้อง เพราะว่าการกระทำไม่เข้าองค์ประกอบ ภาพที่ถูกกล่าวหาไม่ได้มีความหมายหมิ่นประมาทอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ เป็นเพียงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อให้ปัญหา 3 ประการถูกแก้ไข

    ประการแรก คือไม่ต้องการให้ทหารแอบอ้างสถาบันกษัตริย์ไปใช้ทางการเมือง เพราะว่าที่ผ่านมาได้มีการนำสถาบันกษัตริย์มาเป็นเหตุผลที่ใช้ในการก่อรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหารปี 2534, 2549 และ 2557 การรัฐประหารจะต้องมีการนำสถาบันมาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ อย่างแถลงการณ์รัฐประหารปี 2549 ได้มีการอ้างว่าหมิ่นสถาบันกษัตริย์ ทหารถึงได้มีการออกมาล้มล้างระบอบประชาธิปไตย

    การนำสถาบันกษัตริย์ไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเป็นเรื่องไม่สมควร เป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติเกินกว่าจะประมาณได้ โดยไม่เคยมีผู้นำรัฐประหารคนใดถูกลงโทษย้อนหลัง นอกจากนี้ยังมีชีวิตที่สุขสบาย ตัวอย่างเช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและได้รับการโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นองคมนตรี

    หลายประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่มีการรัฐประหาร อย่างประเทศอิตาลีและกรีซเคยมีสถาบันกษัตริย์ แต่ปัจจุบันไม่มีแล้วเพราะสองประเทศนี้เคยสนับสนุนเผด็จการทหาร นอกจากนี้ยังมีประเทศสเปนที่มีความพยายามที่จะรัฐประหาร แต่กษัตริย์ได้ยับยั้งเอาไว้

    ทั้งนี้ จำเลยต้องการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อไม่ให้รัฐประหารมาเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ สถาบันกษัตริย์จะได้อยู่อย่างมั่นคงสถาพร ไม่เป็นที่ครหา

    ประการที่สอง คือต้องการให้ยุติการหากำไรในนามของกษัตริย์ ในขณะเกิดเหตุคดีนี้ มีการเกิดโรคระบาดโควิด-19 อย่างรุนแรง เป็นผลให้ประชาชนล้มหายตายจากเป็นจำนวนมาก และประเทศไทยก็ไม่มีวัคซีน ซึ่งต่อมา รัฐบาลได้นำวัคซีนซิโนแวคเข้ามาแจกจ่ายให้กับประชาชน แต่วัคซีนนี้ก็ถูกตั้งคำถามถึงคุณภาพและความปลอดภัย ทำให้ประชาชนไม่อยากใช้

    นอกจากวัคซีนซิโนแวคแล้วยังมียี่ห้ออื่นที่ดีกว่า แต่รัฐบาลก็ให้แค่วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งผลิตโดยสยามไบโอไซน์ เป็นทั้งผู้ผลิตและจัดจำหน่าย โดยปรากฏว่ามีผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือในหลวงรัชกาลที่ 10 ดังนั้นจึงเป็นที่ครหาว่ากษัตริย์เกี่ยวข้องกับการค้าขายวัคซีน เพราะไม่ใช่การแจกฟรี แต่เป็นการค้าขายได้กำไร

    ทั้งนี้ ถ้าเกิดว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ามีผลอันตรายแก่ชีวิต ย่อมส่งผลกระทบต่อสถาบันกษัตริย์ในภายภาคหน้า เพราะวัคซีนผลิตโดยสยามไบโอไซน์ การค้ากำไรดังกล่าวเสี่ยงที่จะทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสียได้

    ประการที่สาม คือต้องการสะท้อนให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นเครื่องมือปราบปรามผู้เห็นต่างจากรัฐ โดยเฉพาะหลังรัฐประหารปี 2557 มีการใช้มาตรา 112 สูงมากทั้งฟ้องต่อศาลอาญาและศาลทหาร ซึ่งคนที่ถูกฟ้องคดีเป็นคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร รวมถึงการสืบทอดอำนาจของทหาร

    ทั้งหมดนี้ พริษฐ์ยืนยันว่าเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ สามารถทำได้ตามกฎหมายและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งไทยร่วมลงนามรับรองไว้ ยิ่งไปกว่านั้นรัฐธรรมนูญไทยก็เขียนไว้ว่า ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจประชาธิปไตย กษัตริย์เป็นผู้ใช้อำนาจแทน ดังนั้นแล้วประชาชนจึงมีสิทธิที่จะแสดงออกทุกประการ

    นอกจากนี้การที่เอาภาพในหลวงรัชกาลที่ 10 กลับหัว จำเลยไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่นหรืออาฆาตมาดร้าย แต่ต้องการสื่อถึงในเชิงศิลปะว่าให้พลิกมุมมองเพื่อให้คนมาสนใจทั้งสามประเด็นที่ตนกล่าวไป หากปัญหา 3 ประการนี้ได้รับการแก้ไข สถาบันกษัตริย์ก็จะมั่นคงสถาพรสืบต่อไป

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/68889)
  • เพนกวินไม่ได้เดินทางมาศาล ทนายจำเลยแถลงว่าไม่สามารถติดต่อจำเลยได้ ศาลจึงมีคำสั่งให้ออกหมายจับจำเลยมาฟังคำพิพากษา โดยเลื่อนไปนัดฟังคำพิพากษาไปเป็นวันที่ 31 ก.ค. 2567

  • เวลาประมาณ 09.20 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 905 ทนายความและผู้สังเกตการณ์คดีเดินทางมาศาล ต่อมาศาลออกนั่งพิจารณาคดีและอ่านคำพิพากษา สามารถสรุปได้ดังนี้

    พิเคราะห์พยานโจทก์และจำเลย รับฟังเป็นที่ยุติว่า จำเลยโพสต์รูปและข้อความตามฟ้องจริง แม้ในการเบิกความจำเลยจะปฏิเสธว่า ตนไม่ได้เป็นผู้โพสต์รูปและข้อความดังกล่าว แต่ศาลเห็นว่าจำเลยสามารถลบรูปเองได้ รวมถึงไปแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่เอาภาพของจำเลยไปโพสต์ นี่จึงแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีส่วนรู้เห็นกับผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว

    นอกจากนี้ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดหรือไม่ พยานโจทก์ทุกปาก ได้แก่ ตรีดาว อภัยวงศ์, มหัศจักร โสดี, คมสัน โพธิ์คง, พ.ต.ต.ชัยยุทธ เชียงสอน, พ.ต.ต.หญิง กนกวรรณ สีสะอาด, พ.ต.ท.คมสัน ทุติยานนท์ และ ร.ต.อ.ณัฐวัฒน์ ตาแว่น เบิกความโดยสอดคล้องกันว่า ภาพดังกล่าวเข้าลักษณะดูหมิ่นและแสดงความอาฆาดมาดร้ายในหลวงรัชกาลที่ 10 ถือเป็นการลดทอนคุณค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นการดูหมิ่นพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และการที่จำเลยโพสต์โดยตั้งค่าเป็นสาธารณะ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ จึงถือเป็นความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วยเช่นกัน

    พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุด คือมาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี

    ทั้งนี้ ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากคดีอื่นนั้น ไม่ปรากฏว่าคดีดังกล่าว ศาลมีคำพิพากษาแล้วหรือไม่ จึงไม่อาจนับโทษต่อได้ คำขอส่วนนี้ให้ยก

    คดีนี้เป็นคดีมาตรา 112 คดีแรกที่เพนกวินถูกกล่าวหาและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาออกมา โดยเพนกวินถูกกล่าวหาในข้อหานี้รวมทั้งหมด 25 คดี เท่าที่ทราบข้อมูล นับได้ว่าเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 ด้วยจำนวนคดีมากที่สุดในประวัติศาสตร์

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/68889)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
พริษฐ์ ชิวารักษ์

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
พริษฐ์ ชิวารักษ์

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 25-06-2024

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์