ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.826/2565

ผู้กล่าวหา
  • อุราพร สุนทรพจน์ (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.826/2565
ผู้กล่าวหา
  • อุราพร สุนทรพจน์

ความสำคัญของคดี

“ภราดร” (นามสมมติ) พนักงานโรงงานวัย 30 ปี ถูกดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)(5) โดยมี อุราพร สุนทรพจน์ เข้าแจ้งความกล่าวหาว่า ภราดรแชร์ข้อความจากเพจ “พระเจ้า” ลงในกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส" เมื่อเดือน พ.ค. 2563 จำนวน 1 ข้อความ มีเนื้อหาในลักษณะร้องทุกข์และขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารกษัตริย์ ในการบริจาคพระราชทรัพย์คืนมาช่วยเหลือประชาชนและประเทศชาติในวิกฤตโควิด พร้อมทั้งพิมพ์ข้อความแสดงความเห็นในทำนองว่า ร.10 ไม่ให้หรอก ภายหลังถูกดำเนินคดี ภราดรต้องตกงานและเกิดความเครียด

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแม้ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่น

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

อัครวัฒน์ ศรีนวล พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการบรรยายคำฟ้องว่า

เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2563 จำเลยได้แชร์ข้อความ “ร่วมถวายฎีกาขอบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนคนไทยขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ในฐานะผู้ที่มั่งคั่งร่ำรวยที่สุดในผืนแผ่นดินสยาม โปรดกรุณาบริจาคพระราชทรัพย์ 20% ของทั้งหมดที่อยู่ในความครอบครองของพระองค์ หรือประมาณ 200,000 ล้านบาท รวมถึงขอให้พิจารณาตัดลดงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ประจําปี 2563 จากเดิมที่ได้รับ 29,728 ล้านบาทต่อปี ให้เหลือแต่เพียงเท่าที่จําเป็น เพื่อนําทรัพย์สินที่เป็นของราษฎรแต่เดิมนี้กลับคืนมาทะนุบํารุงช่วยเหลือราษฎร และประเทศชาติในวิกฤตโควิดต่อไป เพจพระเจ้า #ถวายฎีกา #พระบรมโพธิสมภาร” จากเพจ “พระเจ้า” ลงในกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส"

และจำเลยยังได้พิมพ์ข้อความเหนือโพสต์ที่แชร์ในทำนองว่า ร.10 ไม่ให้หรอก โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อความในเชิงขอพนันต่อรอง หมิ่นประมาท และดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จทั้งสิ้น ความจริงแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มิได้เป็นไปตามที่จําเลยใส่ความแต่อย่างใด ทําให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ทั้งนี้จําเลยมีเจตนาที่จะให้ผู้อื่นหรือประชาชนที่ได้อ่านข้อความดังกล่าวแล้ว มีความรู้สึกดูถูก ดูหมิ่น เกลียดชัง โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อรัชกาลที่ 10

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดสมุทรปราการ คดีหมายเลขดำที่ อ.826/2565 ลงวันที่ 11 ก.ค. 2565)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลาประมาณ 16.00 น. ตำรวจได้ประสานกำลังกันเข้าจับกุม “ภราดร” (นามสมมติ) พนักงานโรงงานวัย 30 ปี ในจังหวัดสมุทรปราการ โดยเป็นการจับกุมตามหมายจับในคดีมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)(5) หมายจับดังกล่าวออกโดยศาลจังหวัดสมุทรปราการ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2564 มีผู้ร้องคือ พ.ต.ท.รังสรรค์ คำสุข ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรบางแก้ว

    หลังการจับกุมภราดรถูกนำตัวไปยัง สภ.บางแก้ว โดยที่ไม่ได้มีญาติหรือผู้ไว้วางใจเดินทางไปด้วย ทางทนายความได้ติดตามไปในระหว่างขั้นตอนการทำบันทึกการจับกุม ซึ่งระบุรายละเอียดการจับกุมว่า การจับกุมครั้งนี้อยู่ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บังคับบัญชาตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) โดยมีหน่วยปฏิบัติการคือ กก.2 บก.ป., ตำรวจ สภ.บางแก้ว, และ กก.4 บก.ปคบ. รวม 18 นาย ลงชื่อเป็นผู้ร่วมจับกุม บริเวณริมถนนหน้าปากซอยหมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ

    พฤติการณ์การจับกุม ระบุว่า ทางเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้รับข้อมูลจากสายลับ (ปกปิดนาม) เพื่อหวังเงินรางวัลนำจับ ทราบว่าผู้ถูกจับได้ “หลบหนี” มายังบริเวณดังกล่าว จึงได้เดินทางไปแสดงเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเข้าจับกุม ในชั้นจับกุม ผู้ถูกจับกุมได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้แจ้งให้เพื่อนสนิททราบว่าตนถูกจับ ก่อนนำตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ.บางแก้ว

    ภายหลังจากการทำบันทึกการจับกุม ทนายความได้รับแจ้งว่า พนักงานสอบสวนที่ดูแคคดีนี้กลับบ้านไปแล้ว จึงยังไม่สามารถมาทำการสอบสวนได้ ทำให้คืนนั้น ภราดรต้องถูกควบคุมตัวที่โรงพักเป็นเวลา 1 คืน

    ภราดรเปิดเผยภายหลังว่า ก่อนการจับกุม ตัวเขากำลังทำงานอยู่ ทางชุดเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เดินทางมาที่โรงงานและติดต่อเข้ามายังหัวหน้างาน เพื่อแจ้งเรื่องมีหมายจับ เมื่อได้รับแจ้งเรื่องเขาจึงได้โทรติดต่อกับตำรวจเพื่อขอขอมอบตัว ยืนยันความบริสุทธิ์ใจ

    “พอผมทราบเรื่อง ก็โทรติดต่อกับตำรวจ ยืนยันจะขอเข้ามอบตัวที่ สภ. เอง แต่ตำรวจเขาก็แจ้งว่าจะขอมารับเอง ก็เลยตกลงตามนั้น นัดจุดที่จะมาเจอกัน ไม่แน่ใจว่าเขากลัวเราหนีไหม พอนัดแนะเรียบร้อย ก็มารับตัวที่จุดนัดหน้าปากซอย พาไป สภ. บางแก้ว"

    อย่างไรก็ตาม ในบันทึกจับกุมกลับระบุว่า เป็นการ “จับกุม” ทั้งๆ ที่เป็นการเข้ามอบตัวโดยสมัครใจเอง และยังระบุว่าตัวเขา “หลบหนี” ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

    “ที่มันคลาดเคลื่อนคือ ตอนทำบันทึกจับกุม ตำรวจระบุว่า เจอตัวผมที่หน้าปากซอย แล้วจึงลงมาทำการจับกุม ซึ่งมันน่าเกลียดมาก เพราะเราเป็นคนติดต่อขอมอบตัวเอง”

    ภราดรบอกด้วยว่า ตัวเขาไม่เคยเห็นหมายเรียกมาก่อน คาดว่าทางเจ้าหน้าที่น่าจะเคยส่งหมายเรียกไปยังที่อยู่ตามบัตรประชาชน ทำให้ตนไม่ได้รับหมาย เนื่องจากไม่ได้อาศัยอยู่ในที่ดังกล่าว

    (อ้างอิง: บันทึกจับกุม สภ.บางแก้ว ลงวันที่ 9 พ.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/43524)
  • ราว 16.00 น. พนักงานสอบสวนเริ่มการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำ โดยแจ้งว่าภราดรถูกดำเนินคดีจากการแชร์ข้อความจากเพจ “พระเจ้า” ลงในกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง” ในช่วงปี 2563 มีเนื้อหาทำนองว่าขอฎีกาให้รัชกาลที่ 10 แบ่งทรัพย์สินมาให้ประชาชน ภราดรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือในภายหลัง

    การสอบปากคำเสร็จสิ้นในเวลา 17.40 น. โดยตำรวจได้ให้ประกันตัวในชั้นสอบสวน กำหนดวงเงินประกัน 150,000 บาท โดยเป็นหลักทรัพย์จากกองทุนราษฎรประสงค์ พนักงานสอบสวนกำหนดนัดรายงานตัวที่ สภ.บางแก้ว อีกครั้งในวันที่ 10 มิ.ย. 2565 พร้อมกับยื่นคำให้การเพิ่มเติมภายในวันดังกล่าว

    คดีมีผู้เข้าแจ้งความร้องทุกข์คือ อุราพร สุนทรพจน์ ซึ่งเป็นผู้เข้าแจ้งความคดีมาตรา 112 ที่ สภ.บางแก้ว ต่อประชาชนไม่ต่ำกว่า 5 รายแล้ว (รวมภราดร) ทั้งหมดล้วนเกี่ยวเนื่องกับกรณีการโพสต์หรือแสดงความคิดเห็นในกลุ่มเฟซบุ๊ก “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง” ในช่วงกลางปี 2563

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/43524)
  • พนักงานสอบสวนนัดส่งตัวภราดรให้พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการพร้อมสำนวนการสอบสวน อัยการให้วางหลักประกันในชั้นอัยการเป็นบัญชีเงินฝากประจำจำนวน 150,000 บาท ก่อนนัดฟังคำสั่งอัยการในวันที่ 11 ก.ค. 2565
  • พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการมีคำสั่งฟ้องคดี และยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ ในข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, นำเข้า เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3)(5) อ้างว่า ข้อความที่ภราดรแชร์จากเพจ “พระเจ้า” ลงในกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส" เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2563 และมีการโพสต์ข้อความแสดงความเห็นประกอบ ภราดรรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อความในเชิงขอพนันต่อรอง หมิ่นประมาท และดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 ข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จทั้งสิ้น ความจริงแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มิได้เป็นไปตามที่จําเลยใส่ความแต่อย่างใด ทําให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ทั้งนี้จําเลยมีเจตนาที่จะให้ผู้อื่นหรือประชาชนที่ได้อ่านข้อความดังกล่าวแล้ว มีความรู้สึกดูถูก ดูหมิ่น เกลียดชัง โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อรัชกาลที่ 10

    เบื้องต้นภราดรได้ให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา จากนั้นศาลอนุญาตให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ก่อนนัดพร้อมในวันที่ 29 ส.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลจังหวัดสมุทรปราการ คดีหมายเลขดำที่ อ.826/2565 ลงวันที่ 11 ก.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/46103)
  • ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี เนื่องจากติดว่าความในคดีอื่นที่ได้นัดไว้แล้ว ศาลอนุญาตเลื่อนไปนัดพร้อม สอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 7 พ.ย. 2565
  • จำเลยรถเสียขณะขับมาจากนครสวรรค์ ไม่สามารถมาศาลได้ทันเวลา ศาลให้เลื่อนนัดไปเป็นวันที่ 8 พ.ย. 2565 เวลา 10.00 น.

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
"ภราดร"

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
"ภราดร"

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์