ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • twitter
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.1486/2566

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.แทน ไชยแสง สันติบาล (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • twitter
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.1486/2566
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.แทน ไชยแสง สันติบาล

ความสำคัญของคดี

“ต้นไผ่” (นามสมมติ) พนักงานบริษัท วัย 39 ปี ถูกดำเนินคดีในข้อหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) หลัง พ.ต.ท.แทน ไชยแสง ตำรวจสันติบาล แจ้งความดำเนินคดีผู้ใช้ทวิตเตอร์บัญชี "Guillotine2475" โดยกล่าวหาว่า โพสต์ข้อความและภาพบิดเบือน ให้ร้าย ร.10 ช่วง พ.ย. 2564 - มี.ค. 2565 รวม 10 โพสต์

กรณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งกำหนดอัตราโทษจำคุกสูง 3 - 15 ปี ทำให้กฎหมายดังกล่าวถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยสันติของประชาชน

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

วิชชากร สุขานุสาสน์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 บรรยายฟ้องใจความโดยสรุปว่า

ขณะเกิดเหตุ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 2 บัญญัติว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” และมาตรา 6 บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้”

จำเลยได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน โดยใช้บัญชีทวิตเตอร์ “Guillotine2475” โพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ประกอบพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 และสมาชิกราชวงศ์คนอื่นๆ ในช่วงวันที่ 8 พ.ย. 2564 ถึง 27 มี.ค. 2565 รวม 10 โพสต์

การกระทำของจำเลยเพื่อให้ประชาชนหรือบุคคลทั่วไปที่พบเห็นเข้าใจว่า รัชกาลที่ 10 และสถาบันกษัตริย์เป็นอย่างที่จำเลยใส่ความ อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น เหยียดหยามพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ทั้งเป็นการปลุกปั่นทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดและจูงใจให้ต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ จนอาจนำมาซึ่งความเกลียดชัง

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1486/2566 ลงวันที่ 30 พ.ค. 2566)

ความคืบหน้าของคดี

  • “ต้นไผ่” (นามสมมติ) พนักงานบริษัท วัย 39 ปี เข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ บก.ปอท. โดยไม่มีทนายความเข้าร่วม ว่าที่ พ.ต.ต.หญิง เศวรัตน์ ปุริสาย สว.(สอบสวน) กก.1 บก.ปอท. แจ้งพฤติการณ์คดีให้ต้นไผ่ทราบว่า เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2565 พ.ต.ท.แทน ไชยแสง ได้มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดําเนินคดีกับผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์ “Guillotine Activists for Democracy” โดยกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2564 ถึง 27 มี.ค. 2565 ผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์ดังกล่าว ซึ่งเปิดเป็นแบบสาธารณะ ได้โพสต์รูปภาพและข้อความอันมีลักษณะบิดเบือนให้ร้ายพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 รวม 10 โพสต์ โดยผู้ต้องหารู้อยู่แล้วว่า ข้อความดังกล่าวเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยมีเจตนาบ่อนทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะและเทิดทูนของปวงชนชาวไทย

    พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหาต้นไผ่ว่า “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และนําเข้าสู่ระบบ คอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ อันน่าจะเสียหายต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ต้นไผ่ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา

    หลังแจ้งข้อกล่าวหาพนักงานสอบสวนได้ปล่อยต้นไผ่กลับโดยไม่ได้ควบคุมตัว แต่ได้ตรวจยึดโทรศัพท์และโน้ตบุ๊กไว้ และนัดหมายให้มารายงานตัวในวันที่ 22 พ.ค. 2565

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา กก.1 บก.ปอท. ลงวันที่ 21 เม.ย. 2565)
  • ต้นไผ่เดินทางไปรายงานตัวที่ กก.1 บก.ปอท.ในนัดส่งตัวให้อัยการ แต่เนื่องจากก่อนหน้านี้ พนักงานสอบสวนได้ส่งหมายเรียกต้นไผ่แล้ว 2 ครั้ง แต่ไม่สามารถติดต่อต้นไผ่ได้ จึงได้ขออนุมัติหมายจับจากศาลอาญา เพื่อจับตัวต้นไผ่มาส่งให้อัยการพร้อมสำนวนการสอบสวน ศาลอนุมัติหมายจับลงวันที่ 6 ก.พ. 2566 ก่อนพนักงานสอบสวนจะติดต่อต้นไผ่ได้ และนัดหมายให้มาพบ เมื่อต้นไผ่มาพบตามนัดหมาย เจ้าหน้าที่ ปอท.จึงได้ทำบันทึกการจับกุมตามหมายจับ ก่อนส่งตัวให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4

    หลังอัยการรับตัวได้กำหนดให้ต้นไผ่วางเงินประกันชั้นอัยการในวงเงิน 90,000 บาท ต้นไผ่ขอใช้เงินกองทุนราษฎรประสงค์มาวางประกัน อัยการนัดรายงานตัวเพื่อฟังคำสั่งในวันที่ 24 มี.ค. 2566 เวลา 13.00 น.
  • ต้นไผ่เดินทางไปที่ศาลอาญา รัชดาฯ ในนัดส่งฟ้อง ตามที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 นัดหมาย หลังอัยการมีคำสั่งฟ้องคดี ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ "นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง" ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

    สำหรับคำฟ้อง วิชชากร สุขานุสาสน์ พนักงานอัยการบรรยายว่า จำเลยได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน โดยใช้บัญชีทวิตเตอร์ “Guillotine2475” โพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ประกอบภาพพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 และสมาชิกราชวงศ์คนอื่นๆ ในช่วงวันที่ 8 พ.ย. 2564 ถึง 27 มี.ค. 2565 รวม 10 โพสต์

    พนักงานอัยการระบุว่า การกระทำของจำเลยเพื่อให้ประชาชนหรือบุคคลทั่วไปที่พบเห็นเข้าใจว่า รัชกาลที่ 10 และสถาบันกษัตริย์เป็นอย่างที่จำเลยใส่ความ อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น เหยียดหยามพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ทั้งเป็นการปลุกปั่นทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดและจูงใจให้ต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ จนอาจนำมาซึ่งความเกลียดชัง

    อัยการระบุว่า หากจำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพิจารณา โจทก์ขอคัดค้าน เนื่องจากเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง และเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

    ต่อมาเวลา 18.16 น. ศาลอาญาอนุญาตให้ประกันตัวต้นไผ่ในระหว่างพิจารณาคดี ระบุเงื่อนไขประกันตัว "ห้ามจำเลยกระทำการในลักษณะเดียวกับที่ถูกฟ้อง หรือกระทำการใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อีกในทุกด้าน มิเช่นนั้นจะผิดสัญญาประกัน อนึ่ง หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวศาลอาจมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมคำสั่งเดิม ตามพฤติการณ์ของจำเลยที่เปลี่ยนไปตามความเหมาะสมและความร้ายแรงของพฤติการณ์ต่อไป" โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นจำนวนเงิน 90,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ ศาลนัดถามคำให้การและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 7 ส.ค. 2566 เวลา 13.30 น.

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1486/2566 ลงวันที่ 30 พ.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/56424)
  • นัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยในวันที่ 11-12 มิ.ย. 2567
  • จำเลยไม่ได้เดินทางมาศาล นายประกันแถลงว่าไม่สามารถติดต่อจำเลยได้ ศาลเห็นว่าจำเลยมีพฤติการณ์หลบหนีจึงให้ออกหมายจับ ให้ปรับนายประกันเต็มตามสัญญา เพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปโดยไม่ชักช้า ประกอบกับจำเลยมีทนายความแล้ว อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 ทวิ/1 ให้เลื่อนไปสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยลับหลังในวันที่ 19 พ.ย. และ 6 ธ.ค. 2567

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1486/2566 ลงวันที่ 11 มิ.ย. 2567)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ต้นไผ่ (นามสมมติ)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ต้นไผ่ (นามสมมติ)

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์