ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • ยุยงปลุกปั่น (มาตรา 116)
  • การชุมนุม
  • พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ 2558
  • ไม่แจ้งการชุมนุม
  • ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ผู้จัดการชุมนุม
  • พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรา 9)
  • พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ
  • มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป (มาตรา 215)
ดำ อ.2847/2564

ผู้กล่าวหา
  • สมชาย อิสระ และประดิษฐ์ ต้นจาน (ประชาชน)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • ยุยงปลุกปั่น (มาตรา 116)
  • การชุมนุม
  • พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ 2558
  • ไม่แจ้งการชุมนุม
  • ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ผู้จัดการชุมนุม
  • พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรา 9)
  • พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ
  • มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป (มาตรา 215)
ดำ อ.2847/2564

ผู้กล่าวหา
  • สมชาย อิสระ และประดิษฐ์ ต้นจาน (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • การชุมนุม
  • พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ 2558
  • ไม่แจ้งการชุมนุม
  • ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ผู้จัดการชุมนุม
  • พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรา 9)
  • พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ
  • มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป (มาตรา 215)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • ยุยงปลุกปั่น (มาตรา 116)

หมายเลขคดี

ดำ อ.2847/2564
ผู้กล่าวหา
  • สมชาย อิสระ และประดิษฐ์ ต้นจาน

ข้อหา

  • การชุมนุม
  • พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ 2558
  • ไม่แจ้งการชุมนุม
  • ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ผู้จัดการชุมนุม
  • พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (มาตรา 9)
  • พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ
  • มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป (มาตรา 215)
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
  • ยุยงปลุกปั่น (มาตรา 116)

หมายเลขคดี

ดำ อ.2847/2564
ผู้กล่าวหา
  • สมชาย อิสระ และประดิษฐ์ ต้นจาน

ความสำคัญของคดี

"เพนกวิน" พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษา และอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน ถูกดำเนินคดีในข้อหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" และ "ยุยงปลุกปั่น" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 116 จากการปราศรัยระหว่างการชุมนุม #กูสั่งให้มึงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ของกลุ่มราษฏร ที่หน้ารัฐสภา เกียกกาย เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 เพื่อติดตามการลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่ยื่นต่อสภา โดยมีสมชาย อิสระ และประดิษฐ์ ต้นจาน เป็นผู้แจ้งความ

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแม้ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่น ทั้งยังมีการตีความขยายขอบเขตการกระทำที่เป็นความผิดออกไป ซึ่งขัดต่อหลักกฎหมายอาญาที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัดเนื่องจากมีบทลงโทษที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 บรรยายฟ้องมีใจความโดยสรุปว่า จำเลยทั้งสองกระทําความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกันกล่าวคือ

1. ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ ระหว่างวันที่ 15-17 พ.ย. 2563 จําเลยทั้งสองกับพวก ซึ่งเป็นแกนนําหรือเป็นผู้จัดชุมนุมทางการเมืองในนามกลุ่มคณะราษฎร 2563 ได้นัดหมายจัดกิจกรรมชุมนุม “ราษฎรล้อมสภา” และเชิญชวนประชาชนทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรมในวันที่ 17 พ.ย. 2563 เพื่อติดตาม กดดัน กรณีรัฐสภามีการประชุมพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จํานวน 9 ฉบับ ได้ร่วมกันประกาศชักชวนให้ประชาชนโดยทั่วไปออก

ต่อมา วันที่ 17 พ.ย. 2563 จําเลยทั้งสองกับพวกได้นําประชาชนจํานวนมากเข้าร่วมกิจกรรม ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค โดยไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโควิด-19 ตามที่ทางราชการกําหนด มีการกล่าวปราศรัยยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และไม่ได้แจ้งให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้ชุมนุมตามมาตรา 16 พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ กล่าวคือ ไม่ให้เกิดการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชนที่ใช้ที่สาธารณะ ไม่บุกรุก หรือทําให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย และไม่ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ

2. จําเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชุมนุมกดดัน สส. และ สว. ให้รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ โดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้กํากับการสถานีตํารวจนครบาลบางโพ ก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง

3. จําเลยทั้งสองกับพวกได้จัดให้มีการชุมนุมรวมตัวกันเกินกว่า 10 คน โดยแบ่งหน้าที่กันทํา มีการใช้กําลังประทุษร้าย การกระทําที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ทําให้ประชาชนทั้งกลุ่มผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตํารวจได้รับบาดเจ็บ ทําลายเครื่องกีดขวางซึ่งตั้งอยู่ในระยะไม่เกิน 50 สิบเมตรรอบรัฐสภา ซึ่งได้มีการประกาศห้ามผู้ชุมนุมเข้าไป รื้อทําลายแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตํารวจ จนเจ้าหน้าที่ตํารวจต้องใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงฉีดและแก๊สน้ำตาเพื่อสกัดกั้น ทําให้ผู้ชุมนุมไม่พอใจขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่ อันไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ไม่ได้เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในขอบเขตตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ก่อให้เกิดความไม่สะดวกเกินสมควรแก่ประชาชนที่จะใช้สาธารณะ

จําเลยทั้งสองยังได้ปราศรัยและแสดงความคิดเห็นในลักษณะเป็นการเรียกร้องให้ สส. และ สว. รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ เรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมีเนื้อหาการปราศรัยใส่ร้าย หมิ่นประมาท ดูหมิ่น ก้าวล่วงสถาบันพระมหากษัตริย์ มุ่งหมายให้ประชาชนที่ได้ฟังการปราศรัยล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ซึ่งมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่การติชมโดยสุจริต โดยมีเจตนาบิดเบือนใส่ร้ายพระมหากษัตริย์ และบิดเบือนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดความกระด้างกระเดื่องถึงขนาดที่จะไปชุมนุม ประท้วง ก่อให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักร

4. จําเลยที่ 1 (พริษฐ์) ได้กล่าวปราศรัยแก่ประชาชนซึ่งอยู่บริเวณหน้ารัฐสภาว่า "...สัปปายะสภาสถานซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างที่อัปลักษณ์สุด ๆ น่าจะเป็นรัฐสภาที่อัปลักษณ์สุด ๆ ทุกคน เมื่อตอนที่ยังมีแสงก็น่าจะได้เห็นถึงยอดเจดีย์สีทอง นั้นคือยอดปราสาท ถ้ามันเอาปราสาทมาครอบสภา นั้นคือการที่ศักดินาเอาพระบาทไปเหยียบหัวประชาชน และจะไม่มีวันอีกต่อไป จะไม่มีอีกต่อไปที่เราจะกลายเป็นฝุ่นใต้ตีนให้เขาเหยียบ ให้เขาย่ํา ให้เขาขยี้ ให้เขาเอาน้ำไปฉีด เอาแก๊สไปยิงใส่ ให้ลิ่วล้อมาทําร้ายร่างกายจะต้องไม่มีอีกต่อไป...” อันเป็นความเท็จ และเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยจําเลยมีเจตนาทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพ

5. จําเลยที่ 2 (อานนท์) ได้กล่าวปราศรัยแก่ประชาชนซึ่งอยู่บริเวณหน้ารัฐสภาว่า “...กระทั่งเราได้ยื่นข้อเสนอต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่สิ่งที่เราได้เห็น ได้รับในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้คือ สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ยอมปรับตัวให้เข้ากับระบบประชาธิปไตย ในทางตรงข้ามท่านกลับพยายามแสวงหาคนที่สนับสนุนท่าน มีการออกตะเวนตามต่างจังหวัดไปเซลฟี่ ไปแจกลายเซ็น ซึ่งสิ่งนั้นผมพูดตรงตรงว่ามันปลอม ร้อยวันพันปีไม่เคยมีแบบนี้ เรายืนยันว่านั่นคือมันปลอม...” อันเป็นความเท็จ และเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยจําเลยมีเจตนาทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพ

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2847/2564 ลงวันที่ 16 พ.ย. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลา 10.00 น. ที่ สน.บางโพ อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกจากกรณีการชุมนุม #กูสั่งให้มึงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ หรือ #ม็อบ17พฤศจิกา หน้ารัฐสภาเกียกกาย เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563

    ก่อนหน้านี้ คณะราษฎรได้ประกาศการชุมนุมหน้ารัฐสภาเกียกกาย เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับการประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยหนึ่งในนั้นมีร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเสนอโดย iLaw และมีประชาชนเข้าชื่อกว่า 100,732 รายชื่อ ผู้ชุมนุมได้มีการเรียกร้องให้รัฐสภารับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว

    อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่รัฐเข้าสลายการชุมนุมด้วยการฉีดน้ำผสมสารเคมี และยิงแก๊สน้ำตาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เวลา 14.22 น. จนถึง 19.22 น. ทั้งที่ยังไม่มีความรุนแรงอันจะเป็นเหตุอันเพียงพอให้เจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุม ต่อมา เวทีได้ประกาศยกเลิกการชุมนุมตั้งแต่เวลา 21.00 น. หลังผู้ชุมนุมสามารถเข้าปักหลักที่หน้ารัฐสภาได้ไม่กี่ชั่วโมง

    ภายหลังการชุมนุม สน.บางโพ ดำเนินคดีผู้ชุมนุมแยกเป็น 2 คดี ได้แก่ คดีจากการไม่แจ้งการชุมนุม และคดีจากการปราศรัย ซึ่งมีผู้กล่าวหาว่าเข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์”

    สำหรับคดีไม่แจ้งการชุมนุม ร.ต.ท.หญิง ปุญชรัสมี ขำฟัก รองสารวัตร (สอบสวน) สน.บางโพ ได้แจ้งข้อกล่าวหาและบรรยายพฤติการณ์ที่อานนท์ถูกกล่าวหาโดยสรุป ดังนี้

    เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 เวลาประมาณ 15.00 น. พริษฐ์ ชิวารักษ์, วีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล, ภาณุพงศ์ จาดนอก, อานนท์ นําภา, ชลธิชา แจ้งเร็ว และเอกชัย หงส์กังวาน แกนนำกลุ่มราษฎร 63 ได้นำมวลชนเข้ามาชุมนุมที่บริเวณหน้ารัฐสภาและบริเวณใกล้เคียง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชุมนุมกดดันสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ การชุมนุมครั้งนี้ถือเป็นการแสดงออกต่อประชาชนทั่วไปและสามารถให้บุคคลอื่นเข้าร่วมได้จึงจัดเป็นการชุมนุมสาธารณะ

    จากการตรวจสอบพบว่า ไม่มีการแจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งแต่อย่างใด พ.ต.อ.สุรเดช พจนาวงษ์พานิช ผกก.สน.บางโพ ผู้รับแจ้ง จึงร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดําเนินคดีกับพริษฐ์กับพวกให้ได้รับโทษตามกฎหมาย

    พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อหาอานนท์ “ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ ไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง” ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 10

    ในคดีนี้ยังมีผู้ได้รับหมายเรียกอีก 5 คน ได้แก่ พริษฐ์, วีรวิชญ์, ภาณุพงศ์, ชลธิชา, และเอกชัย ซึ่งบางส่วนจะเดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.บางโพในวันที่ 18 ธ.ค. 2563 เวลา 09.30 น.

    ส่วนเอกชัยได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาไปเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2563 แม้เขาจะยืนยันว่าตนไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุม และเพียงเดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนที่รัฐสภาเท่านั้น แต่พนักงานสอบสวนยังคงแจ้งข้อกล่าวหาต่อเอกชัย

    สำหรับคดีมาตรา 112 มีสมชาย อิสระ ซึ่งอ้างว่าเป็นประชาชนที่ฟังการปราศรัยของอานนท์ในวันดังกล่าวบนโลกออนไลน์ เป็นผู้กล่าวหา สมชายพิจารณาแล้วเห็นว่าคำปราศรัยของอานนท์นั้นเข้าองค์ประกอบความผิดฐาน “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์” จึงเดินทางมาร้องทุกข์ที่ สน.บางโพ ให้ดำเนินคดีอานนท์ให้ถึงที่สุด

    ร.ต.อ.อริย์ธัช สิงห์โต ได้อ่านพฤติการณ์คดีโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 มีการชุมนุมกลุ่มคณะราษฎร 63 มาชุมนุมที่หน้ารัฐสภาและบริเวณใกล้เคียงเพื่อกดดันสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ ต่อมา เวลาประมาณ 20.40 น. อานนท์ นําภา ได้ขึ้นเวทีปราศรัยว่ารัฐสภาเป็นของราษฎร ไม่ได้จำกัดแค่สมาชิกผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้น พร้อมพูดย้ำว่า ประชาชนนั้นต้องการปฏิรูป ไม่ใช่การปฏิวัติอย่างที่มีคนกล่าวหา ทั้งย้ำว่า ไม่ใช่กลุ่มล้มเจ้าอย่างที่ใส่ร้าย

    อานนท์ยังพูดถึงกรณีเจ้าหน้าที่รัฐสลายการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎรตั้งแต่ช่วงเที่ยงเปรียบเทียบกับที่ช่วงเช้ากลุ่มไทยภักดีสามารถเดินทางมาที่รัฐสภาได้อย่างง่ายดาย และขอเสียงปรบมือให้ผู้บาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมที่กำลังพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ก่อนประกาศนัดหมายการชุมนุมวันที่ 18 พ.ย. 2563 ที่แยกราษฎรประสงค์

    จากนั้นพนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อหา “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์”​

    อานนท์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาทั้ง 2 คดี และจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายในวันที่ 5 ม.ค. และ 15 ม.ค. 2564 สำหรับคดีไม่แจ้งการชุมนุมและคดีมาตรา 112 ตามลำดับ ส่วนวันนัดส่งสำนวนให้อัยการนั้น พนักงานสอบสวนจะประสานต่อไป

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา สน.บางโพ ลงวันที่ 14 ธ.ค. 2563 และ https://tlhr2014.com/archives/23968)

  • พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ ‘เพนกวิน’, วีระวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล และชลธิชา แจ้งเร็ว หรือ ‘ลูกเกด’ นักศึกษาและประชาชนที่ถูกออกหมายเรียก เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาฐาน “ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุม” จากการชุมนุมของกลุ่ม #ราษฏร ที่หน้ารัฐสภา เกียกกาย เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 หรือ #ม็อบ17พฤศจิกา

    พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาพริษฐ์, วีระวิชญ์ และชลธิชา ฐาน “ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมก่อนการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง” ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ

    นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนยังได้แจ้งข้อกล่าวหาพริษฐ์อีกคดี โดยแจ้งพฤติการณ์การกระทำความผิดที่ระบุถึงเนื้อหาการปราศรัยด้วย ก่อนแจ้งข้อกล่าวหา “กระทําให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือ วิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชม โดยสุจริต เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ “มั่วสุม กันตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไป ใช้กําลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย หรือกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใด ให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215

    หลังรับทราบข้อกล่าวหา ทั้งสามให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน โดยพริษฐ์ไม่ลงชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาทั้งสองคดี ก่อนที่พนักงานสอบสวนจะปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งสามโดยไม่มีการควบคุมตัวแต่อย่างใด

    ส่วนภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ‘ไมค์’ ได้ขอเลื่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาออกไปเป็นวันที่ 21 ธ.ค. 2563 เวลา 13.30 น.

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา สน.บางโพ ลงวันที่ 18 ธ.ค. 2563 และ https://tlhr2014.com/archives/24192)

  • อานนท์เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมจากการขึ้นปราศรัยที่ด้านหน้ารัฐสภา เกียกกาย ใน #ม็อบ17พฤศจิกา

    ก่อนหน้านี้ พนักงานสอบสวนแยกดำเนินคดีอานนท์เป็น 2 คดี ได้แก่ คดีไม่แจ้งการชุมนุม และคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ จากการปราศรัย ต่อมา พนักงานสอบสวนได้รวมคดีทั้งสองเป็นคดีเดียวกัน กับมีการแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนชุดใหม่ ซึ่งเมื่อตรวจสอบสำนวนการสอบสวนพบว่ายังแจ้งข้อกล่าวหาไม่ครบ พ.ต.ท.ชาญชาตรี สีดาคำ รอง ผกก. (สอบสวน) สน.บางโพ จึงได้ออกหมายเรียกอานนท์มารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม

    พ.ต.ท.ชาญชาตรี ได้แจ้งพฤติการณ์ที่กล่าวหาตามที่เคยแจ้งไว้แล้วในคดีเดิม โดยเท้าความถึงเหตุการณ์การชุมนุมเมื่อวันที 17 พ.ย. 2563 ซึ่งผู้ชุมนุมกลุ่ม #คณะราษฎร63 เดินทางเข้ามาบริเวณด้านหน้ารัฐสภาและบริเวณใกล้เคียงเพื่อชุมนุมกดดัน สส. และ สว. ให้รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อมาในเวลาราว 20.41 น. อานนท์ได้ขึ้นเวทีปราศรัย

    พนักงานสอบสวนระบุเพิ่มเติมว่า จากการสอบสวนพบว่า ในการชุมนุมดังกล่าวอานนท์ได้ปราศรัย เรียกร้อง เชิญชวน เพื่อให้ประชาชนที่มาร่วมชุมนุมกระทําการในลักษณะจะก่อความวุ่นวายและก่อความไม่สงบขึ้น มีการกล่าวปราศรัยในลักษณะกดดันให้ สส., สว. รับร่างรัฐธรรมนูญ หากไม่รับจะมีการชุมนุมใหญ่กว่าเดิม ซึ่งมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ เป็นไปเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรหรือล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน

    อีกทั้งในการชุมนุมที่มีคนจํานวนมาก ๆ อาจจะมีความใกล้ชิดกัน หากมีผู้ใดเป็นพาหะของโรค จะทําให้เกิดการระบาดของโรค แม้มีการป้องกันโดยการใส่หน้ากากอนามัยก็ตาม แต่ต้องมีการเว้นระยะห่างทางสังคมในระยะ 1-1.5 เมตร และการชุมนุมดังกล่าวอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายแพร่ออกไป

    พ.ต.ท.ชาญชาตรี จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาอานนท์เพิ่มรวม 6 ข้อหา ได้แก่ ร่วมกันดำเนินการซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เป็นเหตุให้โรคแพร่ระบาดออกไป, ร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก, ร่วมกันชุมนุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค, ร่วมกันจัดการชุมนุมโดยไม่มีมาตรการป้องกันโรค, ร่วมกันกระทําให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวิธีการใดๆ อันมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ และร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปเพื่อก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง

    อานนท์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา หลังการสอบปากคำเบื้องต้น พนักงานสอบสวนไม่มีการควบคุมตัว

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม สน.บางโพ ลงวันที่ 29 ม.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/25650)
  • พริษฐ์เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมตามที่พนักงานสอบสวนออกหมายเรียก หลังพนักงานสอบสวนได้รวม 2 คดี ที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาไปแล้วเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2563 เป็นคดีเดียวกัน และมีการแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนชุดใหม่

    พ.ต.ท.ชาญชาตรี ได้แจ้งพฤติการณ์ที่กล่าวหาตามที่เคยแจ้งไว้แล้วในคดีเดิม โดยระบุเพิ่มเติมว่า จากการสอบสวนพบว่า ในการชุมนุมดังกล่าวมีคนจํานวนมาก อาจจะมีความใกล้ชิดกัน หากมีผู้ใดเป็นพาหะของโรค จะทําให้เกิดการระบาดของโรค แม้มีการป้องกันโดยการใส่หน้ากากอนามัยก็ตาม แต่ต้องมีการเว้นระยะห่างทางสังคม และการชุมนุมดังกล่าวอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายแพร่ออกไป

    พ.ต.ท.ชาญชาตรี จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาพริษฐ์เพิ่มเติมฐาน ร่วมกันดำเนินการซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เป็นเหตุให้โรคแพร่ระบาดออกไป, ร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก, ร่วมกันชุมนุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค และร่วมกันจัดการชุมนุมโดยไม่มีมาตรการป้องกันโรค

    พริษฐ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาเช่นเคย ก่อนพนักงานสอบสวนปล่อยตัว

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม สน.บางโพ ลงวันที่ 8 ก.พ. 2564)
  • ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ พนักงานสอบสวน สน.บางโพ เดินทางเข้าแจ้งข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามมาตรา 112 เพิ่มเติมแก่พริษฐ์ โดยมีทนายความเดินทางไปร่วมการสอบสวน พนักงานสอบสวนระบุว่า มีประชาชนชื่อ ประดิษฐ์ ต้นจาน เข้าแจ้งความร้องทุกข์เอาไว้เพิ่มเติม

    บันทึกแจ้งข้อหาเพิ่มเติมเป็นการถอดเทปคำปราศรัยของพริษฐ์ เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2564 จากนั้นพนักงานสอบสวนได้ระบุ 7 ประโยค ซึ่งถูกกล่าวหา ประกอบด้วย

    1. แค่มันเอาปราสาทมาครอบสภา นั่นคือ การที่ศักดินาเอาพระบาทไปเหยียบหัวประชาชน และจะไม่มีวันอีกต่อไป จะไม่มีอีกต่อไป ที่เราจะกลายเป็นฝุ่นใต้ตีน ให้เค้าเหยียบ ให้เค้าย่ำ ให้เขาขยี้ ให้เค้าเอาน้ำมาฉีด เอาแก๊สมายิงใส่ ให้ลิ่วล้อมาทําร้ายร่างกายจะไม่มีอีกต่อไป

    2. ผมขึ้นมาเป็นตัวแทน ของคณะผู้จัด ในการที่จะประกาศยุติการชุมนุม เพื่อเก็บแรงไปราชประสงค์วันพรุ่งนี้

    3. จะไม่มีคำว่าแผ่ว จะไม่มีคําว่าเบา นั่นคือการปล่อยโฆษณาชวนเชื่อ ของฝ่ายความมั่นคง ในการทำให้เราเสียกำลังใจ

    4. วันพรุ่งนี้เปิดศักราชแรก เปิดวันแรกของการต่อสู้ ราชประสงค์ วันนี้มันฉีดน้ําใส่เราอย่างไร พรุ่งนี้พี่น้องกระป๋องสีคนละกระป๋องไปที่ราชประสงค์ เราจะเดินไป สตช.

    5. กระป๋องสี คนละกระป๋อง ผมขอพี่น้องแค่นี้พี่ต้องเตรียมมาได้หรือไม่

    6. วันพรุ่งนี้เราจะฉีดสีใส่ ใส่ทุกอย่าง ของสถานี ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระป๋องสีคนละกระป๋อง เราจะทวงความเป็นธรรม ขอให้พี่น้องทุกท่าน พบกันพรุ่งนี้สี่โมงตรงโดยพร้อมเพรียง

    7. พรุ่งนี้ไปล้างแค้น ไปล้างแค้นจดจําความเจ็บ ความโกรธ ความแสบ เหงื่อทุกหยาด เลือดทุกหยด พรุ่งนี้ไปล่อกัน ราชประสงค์

    พนักงานสอบสวนกล่าวหาว่า การปราศรัยของพริษฐ์ ในข้อ 1 เป็นคำปราศรัยที่ประชาชนคนทั่วไปได้รับฟังแล้วอาจเข้าใจได้ว่าเป็นการกล่าวถ้อยคำในลักษณะที่เป็นการจาบจ้วง ล่วงละเมิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ มีการใช้ข้อความบิดเบือนใส่ร้ายพระมหากษัตริย์ โดยเปรียบเทียบยอดปราสาทบนอาคารรัฐสภา เสมือนเป็น “พระบาท” ซึ่งมีความหมายว่าเอาเท้าเหยียบหัวประชาชน เป็นข้อความที่มีลักษณะเป็นการสร้างความเกลียดชัง อันเป็นการทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ ชื่อเสียง ทรงถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง โดยเจตนาจะทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ อันเป็นความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

    ส่วนในข้อ 2 ถึง 7 มีลักษณะเป็นการทําให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา อันมิใช่เป็นการกระทําในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน โดยการกล่าวถ้อยคําอันมีลักษณะเป็นการยุยงปลุกปั่น เพื่อให้ประชาชน เตรียมการเพื่อเข้าร่วมชุมนุมต่อไป ในวันที่ 18 พ.ย. 2563 ที่แยกราชประสงค์ เพื่อเดินเท้าไปที่สำนักงานตํารวจแห่งชาติ พร้อมทั้งมีการประกาศให้ประชาชนเตรียมสีคนละกระป๋องเพื่อไปสาดใส่สํานักงานตํารวจแห่งชาติ มีการใช้คำพูดปลุกปั่น โดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน โดยประสงค์ต่อผลที่จะทําให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร

    พริษฐ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและไม่ได้ลงลายมือชื่อในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา โดยระบุจะให้การเพิ่มเติมในภายหลัง

    ทั้งนี้ การถูกแจ้งข้อหามาตรา 112 เพิ่มเติมในคดีนี้ของพริษฐ์ ทำให้เขาถูกกล่าวหาด้วยข้อหานี้เป็นคดีที่ 22 แล้ว นับได้ว่ามากที่สุดเท่าที่ทราบข้อมูล

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ลงวันที่ 12 พ.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/37806)
  • พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องพริษฐ์และอานนท์ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 116, 215, พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ในขณะที่ทั้งสองคนถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในคดีอื่น

    คำฟ้องของอัยการกล่าวหาว่า พริษฐ์และอานนท์กระทําความผิดหลายกรรมต่างกัน จากการชุมนุมและปราศรัยในวันที่ 17 พ.ย. 2563 ที่หน้ารัฐสภา กล่าวคือ

    1. ทั้งสองได้นําประชาชนจํานวนมากเข้าร่วมกิจกรรมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค โดยไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโควิด-19 มีการกล่าวปราศรัยยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และไม่ได้แจ้งให้ผู้ชุมนุมไม่ขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชนที่ใช้ที่สาธารณะ

    2. ทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ เพื่อกดดัน สส. และ สว. ให้รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ โดยไม่แจ้งการชุมนุม

    3. จําเลยทั้งสองกับพวกได้จัดให้มีการชุมนุมรวมตัวกันเกินกว่า 10 คน โดยแบ่งหน้าที่กันทํา มีการใช้กําลังประทุษร้าย การกระทําที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง อันไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ไม่ได้เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในขอบเขตตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ทั้งยังได้ปราศรัยและแสดงความคิดเห็นในลักษณะใส่ร้าย หมิ่นประมาท ดูหมิ่น ก้าวล่วงสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะไปชุมนุม ประท้วง ก่อให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักร

    4. จําเลยทั้งสองได้กล่าวปราศรัยแก่ประชาชนซึ่งอยู่บริเวณหน้ารัฐสภา อันเป็นความเท็จ และเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยจําเลยมีเจตนาทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพ

    หลังศาลรับฟ้อง ได้มีคำสั่งให้ออกหมายขังพริษฐ์และอานนท์ไว้ ทำให้ทั้งสองมีหมายขังเพิ่มอีกคนละ 1 คดี

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2847/2564 ลงวันที่ 16 พ.ย. 2564)
  • ทนายความเข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวพริษฐ์และอานนท์ในคดีนี้และทุกคดีของศาลอาญาที่มีหมายขัง ซึ่งรวมถึงคดีนี้ด้วย ทั้งยังยื่นประกันแกนนำ "ราษฎร" อีก 2 คน

    ต่อมา พริษฐ์ ปิยะนราธร รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งเหมือนกันในทุกคำร้อง นัดไต่สวนคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในวันที่ 17 ธ.ค. 2564 เวลา 10.00 น. โดยให้เบิกจำเลยมาไต่สวนทางวีดีโอคอนเฟอเรนซ์

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวและคำสั่ง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2847/2564 ลงวันที่ 2 ธ.ค. 2564)
  • นัดไต่สวนคําร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว 4 แกนนำราษฎร ได้แก่ เพนกวิน, อานนท์, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และ “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ซึ่งถูกขังตามหมายขังระหว่างพิจารณาในคดีชุมนุมต่าง ๆ โดยก่อนหน้าวันนัด ทนายความได้ยื่นคำร้องขอให้เบิกตัวทั้ง 4 คน มาไต่สวนที่ศาล

    บรรยากาศในศาลอาญาช่วงเช้ามีการตั้งจุดคัดกรอง วัดอุณหภูมิ และมีบัตรชั่วคราวสำหรับบุคคลที่จะเข้าร่วมฟังการไต่สวน ส่วนที่ห้องพิจารณา 704 เจ้าหน้าที่ศาลไม่ได้เก็บเครื่องมือสื่อสารเหมือนที่ผ่านมา ทั้งยังให้ทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับคดีเข้าร่วมฟังการไต่สวนครั้งนี้ได้ โดยมีผู้สังเกตการณ์จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมสังเกตการณ์

    เวลา 09.50 น.เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ราว 8 นาย คุมตัวนักกิจกรรมทั้งสี่ในชุดผู้ต้องขังสีน้ำตาลอ่อน สวมหน้ากากอนามัยเข้าห้องพิจารณา ครอบครัวและประชาชนที่มาให้กำลังใจต่างทยอยเข้าไปสวมกอดและทักทาย ในช่วงเวลาที่การพิจารณาคดียังไม่เริ่ม

    ++“เพนกวิน” แถลงอยู่ในคุกเรียนลำบาก ต้องค้นคว้าทำรายงาน หากไม่ส่งอาจไม่จบ พร้อมยินดีรับเงื่อนไขเดียวกับรุ้ง

    เวลา 10.45 น. ศาลออกนั่งพิจารณาคดี โดยเริ่มไต่สวนคำร้องขอประกันพริษฐ์เป็นอันดับแรก

    พริษฐ์เบิกความต่อศาลว่า ปัจจุบันตนอายุ 23 ปี เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำหรับทุกคดีที่อยู่ในชั้นศาลนั้น ตนได้ให้การปฏิเสธและต่อสู้คดี ซึ่งทุกคดียังไม่มีการตัดสิน

    ส่วนเรื่องสุขภาพขณะที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ตนเคยติดเชื้อโควิด-19 มาแล้วครั้งหนึ่ง จากนั้นป่วยมาโดยตลอด ทั้งยังมีโรคประจำตัวเป็นหอบหืดและภูมิแพ้ โดยตนถูกคุมขังมานานกว่า 4-5 เดือนแล้ว และปัจจุบันยังไม่ได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 แต่อย่างใด

    ด้านคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ตนถูกเพิกถอนประกันโดยไม่มีการไต่สวนในวันที่ 9 ส.ค. 2564 เนื่องจากขณะนั้นตนอยู่ในห้องพิจารณาคดีที่ศาลจังหวัดธัญบุรี ขณะถูกฝากขังในคดี #ม็อบ2สิงหา เรียกร้องให้ปล่อยตัวกลุ่มทะลุฟ้าที่หน้า บก.ตชด.ภาค 1

    สำหรับเหตุผลที่มีการยื่นขอประกันต่อศาลในครั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันเป็นนักศึกษาปีที่ 4 คณะรัฐศาสตร์ ซึ่งการส่งเอกสารการเรียนต่างๆ ออกมาจากเรือนจำทำได้อย่างยากลำบาก และช่วงนี้อยู่ในช่วงสอบปลายภาค อีกทั้งยังมีรายงานที่ต้องเก็บข้อมูลและทำการค้นคว้า แต่ตนไม่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ รวมไปถึงต้นปี 2565 ตนต้องลงทะเบียนเรียนภาคการศึกษาใหม่ ซึ่งการอยู่ในเรือนจำจะไม่สามารถจัดตารางเรียน และลงทะเบียนเรียนได้ และหากไม่ลงเรียนก็จะไม่จบตามหลักสูตร

    พริษฐ์แถลงอีกว่า หากศาลจะอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ตนยินดีจะปฎิบัติตามเงื่อนไขเดียวกันกับที่ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เคยได้รับการปล่อยตัวเมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา คือ จะไม่ก่อเหตุที่กระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์, จะไม่เข้าร่วมชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง, จะไม่หลบหนี และมาศาลทุกครั้ง และยินดีที่จะปฎิบัติตาม หากศาลจะให้อยู่ในเคหสถานตลอด 24 ชั่วโมง เว้นแต่มีเหตุจำเป็นต้องติดต่อราชการที่ศาลหรือสถานีตำรวจ ไปเรียนหรือไปสอบ ไปรักษาตัวหรือมีเหตุอื่นโดยได้รับอนุญาตจากศาล

    พร้อมทั้งย้ำว่า เพื่อให้มั่นศาลมั่นใจว่าตนจะปฎิบัติตามเงื่อนไขของศาล จะขอให้ศาลตั้ง รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์ที่ตนเรียนอยู่ด้วย เป็นผู้กำกับดูแล

    ด้านอัยการโจทก์ถามค้านพริษฐ์ว่า จำได้หรือไม่ว่าหลังจากได้รับการปล่อยตัวถูกกล่าวหาอีกกี่คดี ด้านพริษฐ์ตอบว่า ไม่แน่ใจ จำไม่ได้ ก่อนถูกถามต่อว่า ทราบถึงเหตุผลที่ถูกถอนประกันในคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร หรือไม่ พริษฐ์ตอบว่า ไม่ทราบเนื่องจากไม่ได้มีการไต่สวน

    ด้านทนายถามติงว่า หากมีการไต่สวนคำร้องที่ขอเพิกถอนประกัน จำเลยจะอธิบายพฤติการณ์ที่โจทก์อ้างมาเป็นเหตุในการถอนประกันว่าอย่างไร พริษฐ์ระบุว่า จะอธิบายต่อศาลว่า สถาบันกษัตริย์ไม่สามารถเสื่อมเสียเพียงเพราะคำพูดของตนได้ ส่วนคดีที่ถูกฟ้องเข้ามาใหม่นั้น เป็นคดีเก่าที่เกิดขึ้นก่อนการปล่อยตัวชั่วคราว

    จากนั้นศาลได้ถามพริษฐ์ว่า มีคดีละเมิดอำนาจศาลกี่ครั้ง ด้านพริษฐ์ตอบศาลว่า มี 2 ครั้ง คือ ที่ศาลาอาญา รัชดา และศาลจังหวัดธัญบุรี โดยคดีดังกล่าวศาลได้พิพากษาสั่งขัง 10 วันแล้ว

    ต่อมาเวลา 11.10 น. รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ เข้าเบิกความว่า ตนรู้จักกับพริษฐ์ เนื่องจากจำเลยเป็นนักศึกษาในสาขาวิชาการเมืองและการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยปัจจุบันจำเลยลงเรียนวิชาการเมืองเปรียบเทียบที่ตนเป็นผู้สอนด้วย

    จำเลยเป็นเด็กเรียนเก่ง สอบได้คะแนนสูง เกรดเฉลี่ยปัจจุบันยังอยู่ในขอบข่ายที่ได้รับเกียรตินิยม ตอนนี้เป็นช่วงการสอบเก็บคะแนน โดยจำเลยต้องทำงานเก็บคะแนน และต้องทำรายงานด้วย หากศาลให้ประกันยังมีเวลาพอที่พริษฐ์จะไปทำงาน ซึ่งมีกำหนดส่งวันที่ 12 ม.ค. 2565 ได้ และหากศาลตั้งตนเป็นผู้กำกับดูแล ตนก็ยินดี

    ศาลถามว่า ทราบหรือไม่ว่า ก่อนหน้านี้มีการตั้งผู้กำกับดูแลพริษฐ์แล้ว ประจักษ์ตอบว่า ทราบว่าเป็น ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข รองอธิการบดี​ฝ่ายการนักศึกษา ​มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ปัจจุบัน ผศ.ดร.อดิศร ไม่ได้ทำงานในตำแหน่งดังกล่าวแล้ว จึงไม่อาจสามารถกำกับดูแลได้อีก

    ++“อานนท์ นำภา” ชี้ ติดคุกว่าความไม่ได้ ศาลยังคงไม่ได้ประกันตัวคดีอื่น แม้ศาลเคยยกคำร้องขอถอนประกันมาแล้ว++

    เวลา 11.20 น. อานนท์เข้าเบิกความว่า ตนจบเนติบัณฑิตรุ่น 62 ประกอบอาชีพทนายความมา 13 ปี ในคดีนี้ตนถูกขังมาตั้งแต่วันที่ 9 ส.ค. 2564 จนถึงปัจจุบัน ระหว่างถูกคุมขังครั้งก่อน ตนได้ติดโควิดในเรือนจำเมื่อช่วงกลางปี และปัจจุบันยังมีอาการ Long COVID (อาการที่หลงเหลือหลังติดเชื้อโควิด-19) ทำให้เหนื่อยง่าย

    กอปรกับการที่ตนประกอบอาชีพทนาย การทำหน้าที่ว่าความในคดีต่างๆ ทำได้ลำบาก เนื่องจากถูกคุมขังอยู่ หลายคดีต้องเลื่อนการพิจารณา ทั้งที่เดิมในคดี #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่ตนเป็นจำเลย ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ต่อมามีพนักงานอัยการและพนักงานสอบสวนมายื่นคำร้องขอเพิกถอนประกัน เนื่องจากเห็นว่าผิดเงื่อนไข ที่ตนเข้าร่วมชุมนุมทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสีย ก่อนศาลสั่งให้มีการไต่สวนและยกคำร้องโจทก์ไป โดยวินิจฉัยว่าตนไม่ได้กระทำผิดเงื่อนไข

    เหตุที่ตนไม่ได้ประกัน หลังยื่นขอประกันหลายครั้ง เนื่องจากศาลให้เหตุผลว่าจะไปกระทำความผิดซ้ำ หากแต่ก่อนหน้านั้น ศาลได้วินิจฉัยแล้วว่า การกระทำที่ถูกร้องให้เพิกถอนประกันนั้นไม่ได้เป็นการกระทำผิดเงื่อนไข

    สำหรับคดีที่ถูกฟ้องใหม่ เป็นคดีที่เกิดขึ้นก่อนการไต่สวนถอนประกัน และหลังจากที่ไต่สวนเสร็จแล้ว ตนถูกเพิ่มเงื่อนไขอีก 2 ข้อ คือ ห้ามออกจากเคหสถาน 24 ชั่วโมง และให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) แต่ยังไม่ได้ปฎิบัติตาม เนื่องจากถูกขังตามหมายขังคดีอื่นๆ

    ก่อนศาลถามว่า เคยถูกไต่สวนในคดีละเมิดอำนาจศาลไหม อานนท์ตอบว่า ไม่เคย

    ++อนุญาตอัยการยื่นคำคัดค้าน ก่อนนัดฟังคำสั่ง 24 ธ.ค.++

    เวลา 14.45 น. ภายหลังศาลไต่สวนจำเลยพร้อมทั้งพยานแล้ว ได้กล่าวกับจำเลยว่า จะต้องนำข้อเท็จจริงจากการไต่สวนไปพิจารณาในที่ประชุมของศาล เนื่องจากไม่อยากให้การสั่งปล่อยหรือไม่ปล่อยเป็นการสั่งโดยผู้พิพากษาคนเดียว พร้อมทั้งย้ำว่า อย่าเข้าใจว่าการให้โอกาสไต่สวนในครั้งนี้จะเป็นเหตุให้ปล่อยตัวได้ทันที การอ้างว่าจะต้องกลับไปเรียนหรือกลับไปทำงานไม่ใช่เหตุที่จะนำไปสู่การปล่อยตัว ไม่เช่นนั้นทุกคนที่ถูกขังอยู่ก็คงอ้างได้

    นอกจากนี้ศาลยังกล่าวด้วยว่า ไม่ใช่ว่าจำเลยแถลงยอมรับเงื่อนไขแล้วศาลจะต้องปล่อยตัวเท่านั้น การเสนอเงื่อนไขไม่ใช่เหตุปล่อยตัวอย่างเดียว ศาลจะต้องพิจารณาที่การกระทำ ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่าควรให้ปล่อย จึงจะอนุญาตปล่อยชั่วคราว ไม่ว่าจะสั่งอย่างไร สังคมก็จะมีคำวิพากษ์วิจารณ์ต่อคำสั่งนั้น ศาลจึงต้องให้โอกาสในการเรียกมาไต่สวน

    จากนั้นศาลได้ถามพนักงานอัยการฝ่ายโจทก์ว่า จะคัดค้านคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ ก่อนกล่าวว่าอันที่จริงอัยการได้แถลงคัดค้านไว้แล้วก่อนจะมีการไต่สวน อัยการแถลงว่า จะต้องคัดค้านเนื่องจากคดีทั้งหมดเป็นคดีที่มีโทษสูง หากปล่อยตัวเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี

    ต่อมา คณะพนักงานอัยการราว 15 คน ได้ปรึกษากันอีกครั้ง ก่อนจะแถลงว่าไม่สามารถแถลงคัดค้านภายในวันนี้ได้ เนื่องจากจำเลยแต่ละคนมีหลายคดี จึงขอทำคำแถลงเป็นเอกสารมายื่นภายในสัปดาห์หน้าซึ่งอาจจะเป็นวันพุธที่ 22 ธ.ค. 2564

    อานนท์ได้ขอแถลงต่อศาลว่า ตนรู้สึกว่าขั้นตอนการไต่สวนค่อนข้างแปลก เนื่องจากเปิดให้มีการไต่สวนแล้ว ยังจะเปิดให้มีการแถลงคัดค้านหลังเสร็จสิ้นการไต่สวนอีก ซึ่งตนกังวลว่าหากอัยการทำคำแถลงมาแล้วปรากฏว่ามีข้อเท็จจริงใหม่ ฝ่ายจำเลยก็จะไม่ได้โต้แย้ง จะเป็นเสมือนการตอกฝาโลงตนหรือไม่ จึงขอท้วงติงไว้

    ศาลกล่าวตอบอานนท์ว่า จำเลยอย่าบังคับศาลมากเกินไป ศาลได้ย่นย่อการพิจารณาให้สั้นลงโดยไม่ได้เรียกพนักงานสอบสวนแต่ละคดีมาไต่สวน หรืออานนท์อยากจะให้มีการสืบพยานอีกซัก 2-3 นัด ซึ่งมันก็อาจจะช้าออกไปอีก อานนท์จึงกล่าวว่า การพูดอย่างนี้ก็เหมือนเอาคนที่ถูกคุมขังอยู่เป็นตัวประกัน เพราะเวลาของคนข้างนอกกับคนที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำไม่ได้เท่ากัน

    หลังศาลและจำเลยโต้เถียงเหตุผลกันอยู่ราวครึ่งชั่วโมง ศาลจึงกล่าวสรุปว่า เพื่อให้เกิดความยุติธรรม ต้องให้โอกาสทั้งสองฝ่ายเต็มที่ โดยโจทก์ได้ยืนยันว่าจะไม่มีข้อเท็จจริงใหม่ การทำหนังสือคัดค้านเป็นเพียงการคัดค้านตามปกติ ส่วนฝ่ายจำเลยก็สามารถทำคำแถลงคล้ายกับการทำคำแถลงปิดคดีได้เช่นกันหากประสงค์จะทำ

    ให้พนักงานอัยการยื่นคำคัดค้านคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเป็นหนังสือภายในวันที่ 23 ธ.ค. 2564 และนัดฟังคำสั่งว่าศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ในวันที่ 24 ธันวาคม 2564 ในเวลา 13.00 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2847/2564 ลงวันที่ 17 ธ.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/38980)
  • ทนายจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี เนื่องจากมีความเสี่ยงติดโควิด ศาลอนุญาตให้เลื่อนไปตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 14 มี.ค. 2565
  • เวลา 13.30 น. ศาลได้เบิกตัวพริษฐ์และอานนท์ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยพนักงานอัยการเจ้าของสำนวนคดีไม่ได้เดินทางมาฟังคำสั่งด้วยแต่อย่างใด

    เวลา 14.10 น. พริษฐ์ ปิยะนราธร รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา อ่านคำสั่งไม่ให้ประกัน โดยกรณีของ “เพนกวิน” ระบุเหตุผลว่า

    “พิเคราะห์แล้ว ที่ประชุมผู้บริหารศาลอาญาเห็นว่าข้อเท็จจริงในการไต่สวนได้ความว่า หลังจากพริษฐ์ ชิวารักษ์ ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในคดีนี้ จำเลยได้กระทำการฝ่าฝืนเงื่อนไขที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตปล่อยชั่วคราว โดยศาลเคยตักเตือนจำเลยและกำชับจำเลยผ่านผู้กำกับดูแลมาแล้วหลายครั้ง จนเป็นเหตุให้ศาลเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจำเลย อีกทั้งจำเลยมีพฤติการณ์กระทำการซ้ำในทำนองเดียวกันกับการกระทำอันเป็นมูลเหตุที่ถูกกล่าวหาหรือฟ้องร้องหลายคดี

    เมื่อพิเคราะห์ถึงลักษณะและพฤติการณ์ของจำเลยในการแสดงออกหรือร่วมทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายอย่างมาก มีความรุนแรงตลอดมา กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าหากอนุญาตปล่อยชั่วคราว จำเลยจะไปกระทำการในทำนองเดียวกันกับที่ถูกฟ้องร้อง หรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น ในชั้นนี้จึงยังไม่มีข้อเท็จจริงในทางคดีที่เปลี่ยนแปลงไป ย่อมไม่มีเหตุที่ศาลจะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมที่ศาลสั่งไว้โดยชอบแล้ว ยกคำร้อง” กรณีของอานนท์ระบุเหตุผลว่า

    “พิเคราะห์แล้ว ที่ประชุมผู้บริหารศาลอาญาเห็นว่า เมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์ของจำเลยในการแสดงออก ปราศรัย หรือชักนำในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ประกอบกับจำเลยถูกกล่าวหาในลักษณะเช่นนี้ที่ศาลนี้และศาลอื่นหลายคดี

    กรณีมีเหตุอันควรให้เชื่อว่า หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยจะไปกระทำการในทำนองเดียวกันกับที่ถูกฟ้องร้องหรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น ในชั้นนี้จึงยังไม่มีข้อเท็จจริงในทางคดีที่เปลี่ยนแปลงไป ย่อมไม่มีเหตุที่ศาลจะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมที่ศาลสั่งไว้โดยชอบแล้ว ยกคำร้อง”

    ศาลยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “ที่ประชุมผู้บริหารศาลอยากให้ประกันมากนะ แต่เมื่อพิจารณาถึงความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นเมื่อปล่อยตัวออกมาแล้วก็จึงมีคำสั่งแบบนี้ ขนาดวันนี้ยังมีเลย” และกล่าวต่ออีกว่า “ในชั้นนี้มีคำสั่งไม่ให้ประกัน แต่ไม่ได้หมายความว่า ครั้งหน้าจะไม่ให้ประกันนะ”

    ทั้งนี้ ในวันเดียวกัน กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และกลุ่มทะลุฟ้า ได้จัดกิจกรรมจับตาผลการให้ประกันตัวนักกิจกรรมทั้ง 4 ราย โดยได้นัดหมายมวลชนไปรวมตัวกันบริเวณหน้าศาลอาญาเพื่อรอรับเพื่อนกลับบ้านตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป และจัดกิจกรรม “เดิน หยุด ขัง” โดยนัดหมายประชาชนให้เริ่มต้นเดินตั้งแต่ห้างสรรพสินค้ายูเนี่ยนมอลล์ในเวลา 11.00 น. เพื่อเดินไปจนถึงศาลอาญา รัชดาฯ

    ภายหลังมวลชนเดินทางมาถึงหน้าศาลอาญาในเวลาประมาณ 13.30 น. และต่อมาทราบว่าศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวนักกิจกรรมทั้ง 4 ราย กลุ่มมวลชนได้จัดกิจกรรมปราศรัยเกี่ยวกับการไม่ทำหน้าที่อย่างเที่ยงตรงของศาลและสถาบันตุลาการ รวมไปถึงมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เช่น เผาชุดครุยผู้พิพากษา เผาหนังสือประมวลกฎหมายอาญา และขีดเขียนพ่นสีสเปรย์ที่ป้ายของศาลอาญา เพื่อแสดงความไว้อาลัยแก่กระบวนการยุติธรรมไทย

    อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่า ทนายยื่นประกันเพนกวินและอานนท์ในคดีนี้เป็นครั้งแรก แต่ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันทั้งสองคนโดยระบุว่า "ไม่มีเหตุที่ศาลจะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมที่ศาลสั่งไว้โดยชอบแล้ว"

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณาและคำสั่ง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2847/2564 ลงวันที่ 24 ธ.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/39156)
  • ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเพนกวินและอานนท์ในคดีการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองที่มีหมายขังทั้งหมดของศาลอาญา รวมทั้งคดีนี้

    การยื่นประกันในครั้งล่าสุดนี้ อานนท์ได้ระบุในคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในทุกคดีของทุกศาลเช่นเดียวกับครั้งที่ผ่านมาว่า จะไม่กระทําการใดๆ ให้สถาบันกษัตริย์เกิดความเสื่อมเสีย ไม่ทํากิจกรรมใดที่จะทําให้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย ไม่เดินทางออกนอกประเทศ และพร้อมที่จะเดินทางมาศาลตามที่มีการนัดหมายทุกครั้ง รวมถึงยินยอมติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM)

    เวลา 16.30 น. พลีส เทอดไทย ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดียาเสพติดของศาลอาญา มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์และเพนกวินในทุกคดี สำหรับคดีนี้ระบุในคำสั่งว่า พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีโดยรวมแล้ว กรณีเห็นควรให้โอกาสจําเลยได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เสนอต่อศาลสักช่วงระยะเวลาหนึ่ง อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณามีกําหนดเวลา 3 เดือน (ครบกําหนดวันที่ 22 พ.ค. 2565) ตีราคาหลักประกัน 90,000 บาท กําหนดเงื่อนไข

    1. ห้ามทํากิจกรรมหรือกระทําการใด ๆ อันจะทําให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และศาลในทุกด้าน รวมทั้งห้ามกระทําการใด ๆ อันเป็นการขัดขวางกระบวนพิจารณาคดีของศาล
    2. ห้ามเข้าร่วมชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
    3. ให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ EM
    4. ห้ามออกนอกเคหสถานในช่วงเวลา 21.00 – 06.00 น. เว้นแต่มีเหตุจําเป็นเพื่อการรักษาพยาบาล ไปศึกษาเล่าเรียน ไปสถานีตํารวจ สํานักงานอัยการ หรือศาล หรือได้รับอนุญาตจากศาล
    5. ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล

    หากจําเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว ศาลอาจมีคําสั่งเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมคําสั่งเดิมตามพฤติการณ์ของจําเลยที่เปลี่ยนไป ตามความเหมาะสมและความร้ายแรงของพฤติการณ์ต่อไป นอกจากนี้ กรณีครบกําหนดการปล่อยชั่วคราวโดยมีกําหนดระยะเวลาแล้ว หากจําเลยไม่มีพฤติการณ์ที่ผิดเงื่อนไข ศาลจะมีคําสั่งเปลี่ยนแปลงคําสั่งเดิมต่อไป

    อย่างไรก็ตาม อานนท์ซึ่งถูกขังมาแล้ว 196 วัน ยังไม่ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ เนื่องจากศาลอาญากรุงเทพใต้ยังคงยืนยันไม่ให้ประกันในอีก 2 คดี

    (อ้างอิง: คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวและคำสั่ง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2847/2564 ลงวันที่ 22 ก.พ. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/40716)
  • จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี เนื่องจากมีข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย รวมทั้งพยานหลักฐานเกี่ยวข้องกันเป็นจำนวนมาก ในช่วงที่ผ่านมาจำเลยถูกคุมขังทำให้ไม่มีโอกาสที่จะแสวงหาพยานหลักฐานมาต่อสู้คดีอย่างเต็มที่และเป็นธรรม ศาลอนุญาตให้เลื่อนไปตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 9 พ.ค. 2565 เวลา 09.00 น.
  • ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง พริษฐ์และอานนท์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยให้การต่อสู้ว่า พฤติการณ์ตามที่โจทก์ฟ้องนั้นเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ

    โจทก์แถลงสืบพยานโจทก์ 25 ปาก ใช้เวลาสืบ 6 นัด ด้านจำเลยจะสืบพยานจำเลย 7 ปาก ใช้เวลาสืบ 2 นัด รวมทั้งหมด 8 นัด นัดสืบพยานโจทก์ 28-30 พ.ย., 6-8 ธ.ค. 2566 และนัดสืบพยานจำเลย 12-13 ธ.ค. 2566

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2847/2564 ลงวันที่ 9 พ.ค. 2565)
  • ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีไปสักนัด เนื่องจากพริษฐ์ติดภารกิจของพระภิกษุสงฆ์ ศาลอนุญาตให้เลื่อนการสืบพยานโจทก์ไปเป็นวันที่ 29 พ.ย. 2566 ตามที่นัดไว้เดิม
  • สืบพยานโจทก์ได้ 2 ปาก คือ พ.ต.อ.นิวัตน์ พึ่งอุทัยศรี ตำรวจสืบสวนที่อยู่ในเหตุการณ์ และพยานให้ความเห็นต่อคำปราศรัยของจำเลยทั้งสอง
  • สืบพยานโจทก์ได้ 5 ปาก ได้แก่ ผู้กำกับการ สน.บางโพ, พยานความเห็น 3 ปาก และเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตสวนดุสิต
  • ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี เนื่องจากพริษฐ์ติดภารกิจของพระภิกษุสงฆ์ ศาลอนุญาตให้ยกเลิกวันนัดเดิม และกำหนดนัดใหม่ โดยสืบพยานโจทก์ในวันที่ 27 - 28 ก.พ. 2567 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 29 ก.พ. - 1 มี.ค.2567
  • ทนายจำเลยแถลงและยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 1 มีอาการหลอดลมอักเสบ แพทย์ได้รับไว้พักรักษาที่โรงพยาบาลเพื่อรอแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตรวจอาการอย่างละเอียดจึงไม่สามารถมาศาลได้ในนัดนี้และนัดถัดไป จึงขออนุญาตเลื่อนคดีและยกเลิกวันนัดที่กำหนดไว้ โจทก์ไม่ค้าน ศาลจึงอนุญาตให้เลื่อนนัดในวันนี้และยกเลิกวันนัดสืบพยานทั้งหมดที่นัดไว้ ก่อนกำหนดวันนัดใหม่เป็นสืบพยานโจทก์ในวันที่ 14-15 ม.ค. 2568 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 16-17 ม.ค. 2568

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2847/2564 ลงวันที่ 27 ก.พ. 2567)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
อานนท์ นำภา

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
ผู้ถูกดำเนินคดี :
พริษฐ์ ชิวารักษ์

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
อานนท์ นำภา

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
ผู้ถูกดำเนินคดี :
พริษฐ์ ชิวารักษ์

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์