ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • twitter
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.531/2565

ผู้กล่าวหา
  • ศรัลก์ โคตะสินธ์ ผู้รับมอบอำนาจจากกระทรวงดิจิทัลฯ (ฝ่ายปกครอง)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • twitter
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.531/2565
ผู้กล่าวหา
  • ศรัลก์ โคตะสินธ์ ผู้รับมอบอำนาจจากกระทรวงดิจิทัลฯ

ความสำคัญของคดี

“เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษากลุ่ม “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” และนักกิจกรรมกลุ่ม “ราษฎร” ถูกดำเนินคดีในข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยถูกกล่าวหาว่า โพสต์ข้อความบนเฟซบุ้กและทวิตเตอร์รวม 2 ข้อความ เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2563 เกี่ยวกับแนวทางการต่อสู้กับเผด็จการ โดยเสนอให้แบนธนาคารไทยพาณิชย์หรือ SCB มีข้อความพาดพิงถึงรัชกาลที่ 10 ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มอบอำนาจให้ ศรัลก์ โคตะสินธ์ เข้าแจ้งความ

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแม้ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่น และกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวาง

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

นนทวรรณ ปรียาวงศากุล พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 บรรยายฟ้องมีใจความโดยสรุปว่า พริษฐ์กระทำความผิดรวม 2 กรรม กล่าวคือ

1) เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2563 จำเลยได้ใช้บัญชีทวิตเตอร์ เพนกวิน – Parit Chiwarak โพสต์ข้อความว่า “ต่อแต่นี้เป็นต้นไป ขอชวนทุกคนช่วยกันทุบหม้อข้าวเผด็จการ ถอนทุกบาททุกสตางค์ออกจากบัญชี SCB ให้หมด …. #แบนSCB”

2) เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2563 จำเลยได้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ เพนกวิน – พริษฐ์ ชิวารักษ์ Parit Chiwarak โพสต์ข้อความว่า "แนวทางการต่อสู้กับเผด็จการ 8 ข้อ ที่ทุกคนทำได้จากที่บ้าน 1.ยืนตรงชูสามนิ้วเคารพธงชาติ ไม่ว่าจะที่บ้าน โรงเรียน ห้าง สถานีขนส่ง หรือตลาดนัด 2.ได้ยินเพลงสรรเสริญในโรงหนัง ไม่ต้องยืนขึ้นแต่ให้ชูสามนิ้วแทน 3.ผูกโบขาวไว้ที่รั้วบ้าน กระเป๋า และที่ขากระจกรถ 4.เห็นขบวนคนใหญ่คนโต ไม่ว่าจะเป็นใครขอให้บีบแตร 5.ติดป้ายผ้าต่อต้านเผด็จการไว้ตามสะพานลอย หรือที่ชุมชนต่าง ๆ ฯลฯ 6.ประยุทธ์ไปจังหวัดไหน ขอให้ขึ้นป้ายคนจังหวัดนั้นไม่ต้อนรับเผด็จการ 7.นัดหยุดงานประท้วงรัฐบาล เริ่มต้นจากลาพักร้อนวันที่ 14 ตุลา พร้อมกันทั่วประเทศ 8.ทุบหม้อข้าวเผด็จการ แบนธนาคาร SCB …"

ข้อความที่จำเลยโพสต์ดังกล่าวเป็นความเท็จ และเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยจําเลยมีเจตนาทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพ ซึ่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.531/2565 ลงวันที่ 8 มี.ค. 2565)

ความคืบหน้าของคดี

  • “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษากลุ่ม “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” และนักกิจกรรมกลุ่ม “ราษฎร” เดินทางไปที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการโพสต์เกี่ยวกับแนวทางการต่อสู้กับเผด็จการ 8 ข้อ

    พ.ต.ท.นิติธร เดชระพีร์ รอง ผกก.(สอบสวน) กก.3 บก.ปอท. และ ร.ต.อ.ปิยวัฒน์ ปรัญญา รอง สว.(สอบสวน) ปรก.กก.3 บก.ปอท. แจ้งพฤติการณ์ที่พริษฐ์ถูกดำเนินคดีว่า เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2563 ศรัลก์ โคตะสินธ์ ผู้รับมอบอำนาจจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีกับ ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ เพนกวิน – พริษฐ์ ชิวารักษ์ Parit Chiwarak และผู้ใช้ทวิตเตอร์ชื่อ เพนกวิน – Parit Chiwarak จากกรณี ดังนี้

    1) เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2563 เฟซบุ๊กดังกล่าวได้โพสต์ข้อความ ประกาศแนวทางการต่อสู้กับเผด็จการ 8 ข้อ ที่ทุกคนทำได้จากที่บ้าน ได้แก่
    1.ยืนตรงชูสามนิ้วเคารพธงชาติ ไม่ว่าจะที่บ้าน โรงเรียน ห้าง สถานีขนส่ง หรือตลาดนัด
    2.ได้ยินเพลงสรรเสริญในโรงหนัง ไม่ต้องยืนขึ้นแต่ให้ชูสามนิ้วแทน
    3.ผูกโบขาวไว้ที่รั้วบ้าน กระเป๋า และที่ขากระจกรถ
    4.เห็นขบวนคนใหญ่คนโต ไม่ว่าจะเป็นใครขอให้บีบแตร
    5.ติดป้ายผ้าต่อต้านเผด็จการไว้ตามสะพานลอย หรือที่ชุมชนต่างๆ ฯลฯ
    6.ประยุทธ์ไปจังหวัดไหน ขอให้ขึ้นป้ายคนจังหวัดนั้นไม่ต้อนรับเผด็จการ
    7.นัดหยุดงานประท้วงรัฐบาล เริ่มต้นจากลาพักร้อนวันที่ 14 ตุลา พร้อมกันทั่วประเทศ
    8.ทุบหม้อข้าวเผด็จการ แบนธนาคาร SCB … (เชื่อมโยงถึงรัชกาลที่ 10) ผู้กล่าวหาระบุว่า ข้อความนี้ เป็นการหมิ่นประมาท และดูหมิ่นกษัตริย์

    2) วันเดียวกันบัญชีทวิตเตอร์ดังกล่าวก็โพสต์ข้อความว่า “ต่อแต่นี้เป็นต้นไป ขอชวนทุกคนช่วยกันทุบหม้อข้าวเผด็จการ ถอนทุกบาททุกสตางค์ออกจากบัญชี SCB ให้หมด …. #แบนSCB” โดยข้อความ…เชื่อมโยงธนาคารไทยพาณิชย์กับรัชกาลที่ 10 และข้อความทั้งหมดถูกระบุว่า เป็นการหมิ่นประมาท และดูหมิ่นกษัตริย์

    พนักงานสอบสวนยังระบุว่า การโพสต์ 2 ข้อความทั้งในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ เป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อความที่มีลักษณะหมิ่นประมาท และดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 โดยเจตนาทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ โดยจากการสืบสวนสอบสวนน่าเชื่อว่าบัญชีเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ดังกล่าวเป็นของพริษฐ์

    พนักงานสอบสวนจึงแจ้งกล่าวหาพริษฐ์ว่า “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ “นำเข้าซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง” ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

    อย่างไรก็ดี พริษฐ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยไม่ลงชื่อในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา และให้การว่า ประสงค์ให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) มาสอบถามเรื่องการถือหุ้นของรัชกาลที่ 10 และเงินปันผล รวมทั้งให้ธนาคารฯ ส่งพยานหลักฐานมาประกอบสำนวน รวมถึงออกหมายเรียกเลขาธิการพระราชวังมาสอบถามเกี่ยวกับการเสด็จไปประทับที่ประเทศเยอรมนี หลังการประกาศใช้ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 นอกจากนี้ พริษฐ์จะยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือ ภายในวันที่ 22 ก.พ. 2564 จากนั้นพนักงานสอบสวนไม่ได้ควบคุมตัวไว้ เนื่องจากพริษฐ์มาพบตามหมายเรียก

    ทั้งนี้ ในคืนช่วงวันที่ 19 ก.ย. 2563 และเช้าวันที่ 20 ก.ย. 2563 เพนกวินได้ปราศรัยบนเวทีการชุมนุม #19กันยาทวงคืนอำนาจราษฎร ที่สนามราษฎร (สนามหลวง) เรียกร้องให้ผู้ชุมนุมถอนเงินจากธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เพราะความเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และในวันที่ 20 ก.ย. 2563 ผู้ใช้ทวิตเตอร์หลายรายโพสต์ข้อความสนับสนุนข้อเรียกร้องของแกนนำนักศึกษา และติดแฮชแท็ก #แบนscb มีผู้ใช้มากกว่า 3 แสนครั้ง สูงสุดติดอันดับที่ 4 ของวัน ทั้งนี้ การปราศรัยในการชุมนุมดังกล่าวพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ได้แจ้งข้อกล่าวหาพริษฐ์และผู้ปราศรัยคนอื่น ๆ รวม 7 ราย ตามมาตรา 112 ไปแล้ว

    ในประเด็นการถือหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ BBC Thai รายงานถึงข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งระบุว่าปัจจุบันธนาคารไทยพาณิชย์มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 5 อันดับแรก ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว, กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน), กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน), บริษัทไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด และสำนักงานประกันสังคม ขณะที่ พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ สุขวิมล เลขาธิการพระราชวัง เป็นกรรมการคนหนึ่งของธนาคาร

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา บก.ปอท. ลงวันที่ 22 ม.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/25472)
  • พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 ยื่นฟ้องพริษฐ์ต่อศาลอาญา ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) กล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2563 พริษฐ์ได้โพสต์ข้อความลงในทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก รวม 2 ข้อความ เกี่ยวกับแนวทางการต่อสู้กับเผด็จการ 8 ข้อ มีการเสนอให้แบนธนาคารไทยพาณิชย์หรือ SCB โดยกล่าวเชื่อมโยงธนาคารไทยพาณิชย์กับรัชกาลที่ 10

    โดยอัยการกล่าวหาว่า ข้อความที่พริษฐ์โพสต์ดังกล่าวเป็นความเท็จ และเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยจําเลยมีเจตนาทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพ ซึ่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง

    ท้ายคำฟ้อง อัยการคัดค้านการปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี อ้างเหตุว่าคดีมีอัตราโทษสูง และเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง ทั้งยังขอให้ศาลนับโทษจำคุกของพริษฐ์ในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีอื่นอีก 17 คดี

    ต่อมา ศาลรับฟ้อง และนัดพริษฐ์มาสอบคำให้การในวันที่ 25 เม.ย. 2565 เวลา 08.30 น.

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.531/2565 ลงวันที่ 8 มี.ค. 2565)
  • ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี เนื่องจากจำเลยป่วย แพทย์ให้พักรักษาตัว ศาลอนุญาตให้เลื่อนสอบคำให้การไปเป็นวันที่ 30 พ.ค. 2565 เวลา 09.00 น.
  • พริษฐ์เดินทางมาศาล และให้การปฏิเสธ จากนั้นทนายยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณา ก่อนศาลมีคำสั่งอนุญาตปล่อยชั่วคราวมีกำหนดเวลา 3 เดือน (ครบกำหนดวันที่ 30 ส.ค. 2565) ตีราคาหลักประกัน 90,000 บาท พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไข

    1. ห้ามจำเลยทำกิจกรรมหรือการทำการใด ๆ อันจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และศาลในทุกด้าน รวมทั้งห้ามกระทำการใด ๆ อันเป็นการขัดขวางกระบวนพิจารณาคดีของศาล
    2. ห้ามจำเลยเข้าร่วมชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
    3. ให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM)
    4. ห้ามจำเลยออกนอกเคหสถานในช่วงเวลา 21.00 น. ถึง 06.00 น. ของวันใหม่ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นเพื่อการรักษาพยาบาล ไปศึกษาเล่าเรียนไปสถานีตำรวจ สำนักงานอัยการ หรือศาล หรือได้รับอนุญาตจากศาล
    5. ห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล

    อนึ่งหากจำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว ศาลอาจมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมคำสั่งเดิมตามพฤติการณ์ของจำเลยที่เปลี่ยนไปตามความเหมาะสมและความร้ายแรงของพฤติการณ์ นอกจากนี้กรณีครบกำหนดการปล่อยตัวชั่วคราวโดยมีกำหนดระยะเวลาแล้วหากจำเลยไม่มีพฤติการณ์ผิดเงื่อนไขศาลจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมต่อไป

    นัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 4 ก.ค. 2565 เวลา 09.00 น.
  • ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี เนื่องจากจำเลยติดนัดสืบพยานจำเลยที่ศาลแขวงขอนแก่น ศาลอนุญาตให้เลื่อนตรววจพยานหลักฐานไปเป็นวันที่ 8 ก.ค. 2565 เวลา 13.30 น.
  • โจทก์แถลงประสงค์สืบพยานโจทก์รวม 7 ปาก เป็นผู้กล่าวหา, เจ้าหน้าที่สอบสวนเกี่ยวกับเพจตามฟ้อง, พยานความเห็น 3 ปาก และพนักงานสอบสวน 2 ปาก ศาลพิจารณาแล้วให้ตัดพยานความเห็น 3 ปาก เนื่องจากการพิจารณาว่าข้อความตามฟ้องเป็นความผิดหรือไม่นั้นเป็นดุลพินิจของศาล โจทก์ไม่ค้านแต่ขออ้างส่งคำให้การชั้นสอบสวนแทนการสืบพยาน 3 ปากดังกล่าว คงเหลือพยานโจทก์ที่ต้องสืบ 4 ปาก ใช้เวลาสืบ 1 นัด

    ด้านพริษฐ์และทนายจำเลยแถลงแนวทางต่อสู้คดีว่า เพจตามฟ้องไม่ใช่เพจของจำเลย จำเลยไม่ใช่ผู้โพสต์ และข้อความตามฟ้องไม่ได้เป็นการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท ประสงค์สืบพยานบุคคลรวม 14 ปาก ใช้เวลาสืบ 3 นัดครึ่ง

    นัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 7 พ.ค. 2567 สืบพยานจำเลยในวันที่ 8, 9, 23, 24 พ.ค. 2567

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.531/2565 ลงวันที่ 8 ก.ค. 2565)
  • ทนายจำเลยแถลงขอเลื่อนคดี เนื่องจากยังไม่ได้เอกสารการเดินทางไปเยอรมันนีของรัชกาลที่ 10 ที่จะใช้ประกอบการถามค้าน ศาลให้พยานโจทก์เบิกความไปก่อน เมื่อได้เอกสารมาแล้วทนายจำเลยค่อยถามค้านในภายหลัง พยานโจทก์เข้าเบิกความตอบโจทก์ได้ 4 ปาก ได้แก่ ผู้กล่าวหา, ตำรวจฝ่ายสืบสวน และพนักงานสอบสวน ก่อนศาลอนุญาตให้เลื่อนการสืบพยานไปวันที่ 23-24 พ.ค. 2567 โดยให้ยกเลิกนัดสืบพยานในวันที่ 8-9 พ.ค. 2567

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
พริษฐ์ ชิวารักษ์

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
พริษฐ์ ชิวารักษ์

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์