ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.2163/2565

ผู้กล่าวหา
  • ไม่ทราบชื่อ (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.2163/2565
ผู้กล่าวหา
  • 1

ความสำคัญของคดี

ณชา (นามสมมติ) แม่เลี้ยงเดี่ยววัย 26 ปี พนักงานรับจ้างขององค์กรแห่งหนึ่งในจังหวัดอ่างทอง ถูกจับกุมและดำเนินคดีในข้อหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์" และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 โดยถูกกล่าวหาว่า โพสต์แสดงความเห็น 1 ประโยค ต่อท้ายภาพรัชกาลที่ 10 ซึ่ง “Pavin Chachavalpongpun” โพสต์ลงในกลุ่มเฟซบุ๊ก “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” เมื่อเดือน พ.ค. 2564 โดยมีเจตนาไม่เคารพกษัตริย์ ในชั้นจับกุมและสอบสวน ซึ่งไม่มีทนายความเข้าร่วม ณชาให้การรับสารภาพ ต่อมาในชั้นศาล เธอก็ตัดสินใจให้การรับสารภาพ โดยศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี ก่อนลดโทษให้ครึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน และให้รอลงอาญา

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

ดวงดี วานิชกร พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 บรรยายคำฟ้องมีเนื้อหาโดยสรุปว่า

เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2564 ผู้ใช้เฟซบุ๊ก “Pavin Chachavalpongpun” ได้โพสต์เผยแพร่ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 10 และมีข้อความ “สวัสดี” ลงในกลุ่มเฟซบุ๊ก “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” แล้วจำเลยได้เข้าไปแสดงความคิดเห็นท้ายโพสต์ อันเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ทำให้พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 เสื่อมพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น ถูกลบหลู่ มีเจตนาไม่เคารพพระมหากษัตริย์ ทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ และเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เผยแพร่หรือส่งต่อ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงฯ

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2163/2565 ลงวันที่ 29 ส.ค. 2565)

ความคืบหน้าของคดี

  • “ณชา” (นามสมมติ) ถูกตำรวจ บก.ปอท. เข้าแสดงหมายจับของศาลอาญา ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อน เธอถูกควบคุมตัวจากจังหวัดอ่างทองเข้ากรุงเทพฯ ไปยัง บก.ปอท. และถูกตรวจยึดโทรศัพท์มือถือไว้เป็นของกลาง

    พนักงานสอบสวนแจ้งถึงเหตุที่ถูกออกหมายจับว่ามาจากกรณีเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2564 บัญชีเฟซบุ๊กบัญชีหนึ่งได้โพสต์แสดงความคิดเห็นท้ายภาพรัชกาลที่ 10 ซึ่งปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ โพสต์ลงในกลุ่มเฟซบุ๊ก “รอยัลลิสสต์มาร์เก็ตเพลส – ตลาดหลวง”

    ตลอดกระบวนการในชั้นจับกุมและสอบสวน ณชาไม่มีทนายความและญาติอยู่ร่วมด้วย เธอได้ให้การรับสารภาพตามข้อกล่าวหา และถูกนำตัวไปขอฝากขังต่อศาลในวันถัดมา ก่อนศาลอาญาอนุญาตให้ประกันตัวในชั้นสอบสวน โดยเธอต้องใช้หลักทรัพย์ที่ญาติกู้ยืมมาจำนวน 90,000 บาท วางเป็นหลักประกัน นัดรายงานตัววันที่ 25 ก.ค. 2565 เวลา 08.30 น.

    (อ้างอิง: บันทึกการจับกุม กก.1 บก.ปอท. ลงวันที่ 6 มิ.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/50283)
  • พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 ยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญา บรรยายคำฟ้องมีเนื้อหาโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2564 ผู้ใช้เฟซบุ๊ก “Pavin Chachavalpongpun” ได้โพสต์เผยแพร่ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 10 และมีข้อความ “สวัสดี” ลงในกลุ่มเฟซบุ๊ก “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” แล้วจำเลยได้เข้าไปแสดงความคิดเห็นท้ายโพสต์ ซึ่งอัยการระบุว่าเป็นการทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น ถูกลบหลู่ อีกทั้งเป็นการนำเข้าระบบคอมพิวเตอร์ เผยแพร่หรือส่งต่อ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงฯ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3), (5)

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2163/2565 ลงวันที่ 29 ส.ค. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/50283)
  • ณชาเดินทางมารายงานตัวตามสัญญาประกันที่ศาลอาญา โดยได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ก่อนหน้าแล้วว่า อัยการได้ยื่นฟ้องแล้ว โดยก่อนวันนัด ณชาได้ติดต่อศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย และขอความช่วยเหลือเรื่องการหลักทรัพย์ประกันตัวในชั้นพิจารณาจากกองทุนราษฎรประสงค์

    หลังศาลสอบคำให้การเบื้องต้น โดยณชาให้การปฏิเสธ ต่อมา ศาลอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างพิจารณาในวงเงิน 90,000 บาท เช่นเดียวกับเงินประกันชั้นฝากขัง ศาลนัดพร้อมวันที่ 3 ต.ค. 2565 เวลา 13.30 น.
  • ณชาพร้อมทนายจำเลยเดินทางมาศาล เมื่อศาลออกพิจารณาคดี ณชาตัดสินใจให้การรับสารภาพ ศาลมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและรายงานต่อศาล นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 7 พ.ย. 2565 เวลา 09.00 น.
  • ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 703 ณชาพร้อมครอบครัวซึ่งเดินทางมาจากจังหวัดอ่างทองถึงศาลอาญาตั้งแต่เช้ามืด นั่งรอฟังคำพิพากษา หลังศาลออกพิจารณาคดีได้เรียกให้จำเลยลุกขึ้นรายงานตัว จากนั้นอ่านคำพิพากษามีเนื้อหาโดยสรุปว่า

    จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3),(5) การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 3 ปี จำเลยรับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน เห็นว่าจำเลยไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ทีกำหนด 2 ปี ให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือน ภายใน 1 ปี ให้ทำงานบริการสังคมเป็นระยะเวลา 12 ชั่วโมง และริบโทรศัพท์ที่เป็นของกลางไว้

    หลังฟังคำพิพากษา ณชามีท่าทีสบายขึ้นและรู้สึกโล่งใจที่วันนี้เธอจะได้เดินทางกลับบ้านพร้อมกับครอบครัว

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/50283)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ณชา (นามสมมติ)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ณชา (นามสมมติ)

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 07-11-2022

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์