สรุปความสำคัญ

“ตี๋” (สงวนชื่อสกุล) นักศึกษาปริญญาโท คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ถูกดำเนินคดีในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้แจกหนังสือ “รวมบทปราศรัยคัดสรรคดี 112” ในงานรับปริญญาของมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2564 และเนื้อหาในหนังสือดังกล่าวซึ่งเป็นคำปราศรัยของนักกิจกรรมหลายคน ในการชุมนุมหลายครั้ง เป็นการดูหมิ่น ใส่ความรัชกาลที่ 10

กรณีดังกล่าวสะท้อนปัญหาสำคัญประการหนึ่งของการบังคับใช้มาตรา 112 ที่ถูกตีความอย่างกว้าง ทำให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือของเจ้าหน้าที่ในการปิดกั้นการแสดงออกและกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • "ตี๋"
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • การเรียกรายงานตัว / ปรับทัศนคติ
    • บุกค้น / ยึดทรัพย์สิน
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

12 ม.ค. 2566 ที่ สภ.เมืองพิษณุโลก “ตี๋” (นามสมมติ) นักศึกษาปริญญาโท คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกพยาน กรณีที่มีการแจกหนังสือ “รวมบทปราศรัยคัดสรรคดี 112” ในงานรับปริญญาของมหาวิทยาลัย ตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2564

สำหรับหมายเรียกพยานดังกล่าว ระบุว่า พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ บุญเยี่ยม เป็นผู้กล่าวหา แต่ไม่ได้ระบุชื่อผู้ต้องหา และข้อกล่าวหาไว้ในหมายแต่อย่างใด

เมื่อพบกับ พ.ต.ท.มนู หรศาสตร์ รองผู้กำกับการ (สอบสวน) สภ.เมืองพิษณุโลก ซึ่งเป็นผู้ออกหมายเรียกพยาน พ.ต.ท.มนู ได้สอบปากคำ พร้อมกับทำการแจ้งข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในทันที โดยไม่ได้มีการแจ้งก่อนล่วงหน้าว่าจะมีการแจ้งข้อกล่าวหา

ข้อเท็จจริงที่กล่าวหาโดยสรุประบุว่า เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2564 ซึ่งเป็นวันที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้มีกลุ่ม NU-Movement โดยมีแกนนำคือ “ตี๋” ได้นำ “หนังสือบทปราศรัยคัดสรรคดี 112” มีข้อความว่า “ประเทศนี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่กษัตริย์ ตามที่เขาหลอกลวง” เล่มสีขาว มาเผยแพร่แก่บุคคลทั่วไปที่เข้าร่วมงานดังกล่าว

เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจสอบหนังสือดังกล่าว อ้างว่ามีข้อความอันผิดต่อกฎหมาย โดยมีการยกบางส่วนของคำปราศรัยของแกนนำราษฎร 7 คน ในช่วงการชุมนุมเมื่อปี 2563-64 ที่ถูกกล่าวหาในข้อหาตามมาตรา 112 และเผยแพร่ในหนังสือเล่มดังกล่าว มาประกอบข้อกล่าวหา

หลังรับทราบข้อกล่าวหา ตี๋ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนตำรวจปล่อยตัวไปโดยไม่ได้มีการควบคุมตัวไว้

ทั้งนี้ น่าสังเกตว่าคดีนี้เพิ่งมีการออกหมายเรียกพยานในช่วงปลายปี 2565 หลังเกิดเหตุตามข้อกล่าวหาผ่านไปกว่า 1 ปี และตำรวจมีการแจ้งข้อกล่าวหาทันที แม้ไปพบตามหมายเรียกพยานก็ตาม อีกทั้งคำปราศรัยที่ถูกกล่าวหาในข้อหามาตรา 112 ในหนังสือเล่มดังกล่าว ยังไม่มีคำปราศรัยคดีใดที่ถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิด และหนังสือเล่มดังกล่าวก็ไม่เคยถูกห้ามการเผยแพร่ตามกฎหมายแต่อย่างใด ขณะเดียวกันถ้อยคำปราศรัยทั้งหมดในหนังสือก็ไม่ใช่ข้อความที่ตี๋เป็นผู้กล่าวแต่อย่างใด

(อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา สภ.เมืองพิษณุโลก ลงวันที่ 12 ม.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/52171)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์