ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.1485/2566

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ต.ครรชิต สีหะรอด สันติบาล (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.1485/2566
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ต.ครรชิต สีหะรอด สันติบาล

ความสำคัญของคดี

“ต้นไผ่” (นามสมมติ) พนักงานบริษัท วัย 40 ปี ถูกดำเนินคดีในข้อหา "หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) เป็นคดีที่ 2 โดยมี พ.ต.ต.ครรชิต สีหะรอด ตำรวจสันติบาล แจ้งความดำเนินคดีผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊ก “ศักดินาปรสิต – Parasite Monarchy” และทวิตเตอร์ “Guillotine Activists for Democracy” โดยกล่าวหาว่า โพสต์ข้อความและภาพบิดเบือน ให้ร้าย ร.10 ในช่วงเดือนมกราคม 2565 โดยโพสต์เฟซบุ๊ก 5 โพสต์ และบัญชีทวิตเตอร์ 5 โพสต์ เป็นเนื้อหาเดียวกัน และในเวลาใกล้เคียงกัน

กรณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งกำหนดอัตราโทษจำคุกสูง 3 - 15 ปี ทำให้กฎหมายดังกล่าวถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยสันติของประชาชน

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

ชฎาภา รุ่งเรือง พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 บรรยายฟ้องมีใจความโดยสรุปว่า

ขณะเกิดเหตุ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 2 บัญญัติว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” และมาตรา 6 บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้”

จำเลยได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน โดยใช้บัญชีเฟซบุ๊ก “ศักดินาปรสิต – Parasite Monarchy” โพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์รัชกาลที่ 10 และสถาบันกษัตริย์ ประกอบภาพพระบรมฉายาลักษณ์ 5 ข้อความ และใช้บัญชีทวิตเตอร์ “Guillotine Activists for Democracy” โพสต์ข้อความประกอบภาพเนื้อหาเดียวกันกับโพสต์เฟซบุ๊กข้างต้น 5 ข้อความ

การกระทำของจำเลยเพื่อให้ประชาชน หรือบุคคลทั่วไปที่พบเห็นเข้าใจว่า รัชกาลที่ 10 และสถาบันกษัตริย์เป็นอย่างที่จำเลยใส่ความ อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น เหยียดหยามพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ทั้งเป็นการปลุกปั่นทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดและจูงใจให้ต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ จนอาจนำมาซึ่งความเกลียดชัง โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่า ข้อมูลที่โพสต์นั้นเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1485/2566 ลงวันที่ 30 พ.ค. 2566)

ความคืบหน้าของคดี

  • “ต้นไผ่” (นามสมมติ) พนักงานบริษัท วัย 40 ปี เดินทางไปที่ บก.ปอท. พร้อมทนายความเพื่อเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในคดีตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เป็นคดีที่ 2 หลังได้รับการติดต่อจากพนักงานสอบสวน โดยไม่มีหมายเรียก

    พ.ต.ท.ฉัตรชัย ถาวรทรัพย์ สว.(สอบสวน) กก.1 บก.ปอท. แจ้งพฤติการณ์คดีให้ต้นไผ่ทราบว่า เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2565 พ.ต.ต.ครรชิต สีหะรอด ได้มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดําเนินคดีกับผู้ใช้บัญชีเพจเฟชบุ๊ก “ศักดินาปรสิต - Parasite Monarchy" และผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์ “Guillotine Activists for Democracy" โดยกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 16-29 ม.ค. 2565 ผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ดังกล่าว ซึ่งเปิดเป็นแบบสาธารณะ ได้โพสต์รูปภาพและข้อความอันมีลักษณะบิดเบือนให้ร้ายพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 โดยผู้ต้องหารู้อยู่แล้วว่า ข้อความดังกล่าวเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยมีเจตนาบ่อนทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะและเทิดทูนของปวงชนชาวไทย ทั้งนี้ ผู้ต้องหาได้โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก 5 โพสต์ และบัญชีทวิตเตอร์ 5 โพสต์ เป็นเนื้อหาเดียวกัน และในเวลาใกล้เคียงกัน

    พนักงานสอบสวนระบุว่า จากการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน พบว่า ต้นไผ่เป็นเจ้าของเพจเฟซบุ๊กและบัญชีทวิตเตอร์ดังกล่าว จึงแจ้งข้อกล่าวหาต้นไผ่ว่า “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และนําเข้าสู่ระบบ คอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ต้นไผ่ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นเอกสารภายใน 30 วัน

    หลังแจ้งข้อกล่าวหาพนักงานสอบสวนได้ปล่อยต้นไผ่กลับโดยไม่ได้ควบคุมตัวไว้

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา กก.1 บก.ปอท. ลงวันที่ 16 มิ.ย. 2565)
  • ต้นไผ่เดินทางไปรายงานตัวที่ กก.1 บก.ปอท.ในนัดส่งตัวให้อัยการ แต่เนื่องจากก่อนหน้านี้ พนักงานสอบสวนได้ส่งหมายเรียกต้นไผ่แล้ว 2 ครั้ง แต่ไม่สามารถติดต่อต้นไผ่ได้ จึงได้ขออนุมัติหมายจับจากศาลอาญา เพื่อจับตัวต้นไผ่มาส่งให้อัยการพร้อมสำนวนการสอบสวน ศาลอนุมัติหมายจับลงวันที่ 6 ก.พ. 2566 ก่อนพนักงานสอบสวนจะติดต่อต้นไผ่ได้ และนัดหมายให้มาพบ เมื่อต้นไผ่มาพบตามนัดหมาย เจ้าหน้าที่ ปอท.จึงได้ทำบันทึกการจับกุมตามหมายจับ ก่อนส่งตัวให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4

    หลังอัยการรับตัวได้กำหนดให้ต้นไผ่วางเงินประกันชั้นอัยการในวงเงิน 90,000 บาท ต้นไผ่ขอใช้เงินกองทุนราษฎรประสงค์มาวางประกัน อัยการนัดรายงานตัวเพื่อฟังคำสั่งในวันที่ 24 มี.ค. 2566 เวลา 13.00 น.
  • ต้นไผ่เดินทางไปที่ศาลอาญา รัชดาฯ ตามที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 นัดหมาย เพื่อส่งฟ้องต้นไผ่ต่อศาลทั้งสองคดี หลังอัยการมีคำสั่งฟ้อง ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ "นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง" ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

    สำหรับคำฟ้องในคดีนี้ ชฎาภา รุ่งเรือง พนักงานอัยการ บรรยายว่า จำเลยได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน โดยใช้บัญชีเฟซบุ๊ก “ศักดินาปรสิต – Parasite Monarchy” โพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์รัชกาลที่ 10 และสถาบันกษัตริย์ ประกอบภาพพระบรมฉายาลักษณ์ 5 ข้อความ และใช้บัญชีทวิตเตอร์ “Guillotine Activists for Democracy” โพสต์ข้อความประกอบภาพเนื้อหาเดียวกันกับโพสต์เฟซบุ๊กข้างต้น 5 ข้อความ

    พนักงานอัยการระบุว่า การกระทำของจำเลยเพื่อให้ประชาชน หรือบุคคลทั่วไปที่พบเห็นเข้าใจว่า รัชกาลที่ 10 และสถาบันกษัตริย์เป็นอย่างที่จำเลยใส่ความ อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น เหยียดหยามพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ทั้งเป็นการปลุกปั่นทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดและจูงใจให้ต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ จนอาจนำมาซึ่งความเกลียดชัง โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่า ข้อมูลที่โพสต์นั้นเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง

    อัยการระบุด้วยวว่า หากจำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพิจารณา โจทก์ขอคัดค้าน เนื่องจากเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง และเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

    ต่อมาเวลา 18.16 น. ศาลอาญาอนุญาตให้ประกันตัวต้นไผ่ในระหว่างพิจารณาคดีทั้งสองคดี ระบุเงื่อนไขประกันตัว "ห้ามจำเลยกระทำการในลักษณะเดียวกับที่ถูกฟ้อง หรือกระทำการใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อีกในทุกด้าน มิเช่นนั้นจะผิดสัญญาประกัน อนึ่ง หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวศาลอาจมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมคำสั่งเดิม ตามพฤติการณ์ของจำเลยที่เปลี่ยนไปตามความเหมาะสมและความร้ายแรงของพฤติการณ์ต่อไป" โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นจำนวนเงินคดีละ 90,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ ศาลนัดถามคำให้การและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 7 ส.ค. 2566 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.1485/2566 ลงวันที่ 30 พ.ค. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/56424)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ต้นไผ่ (นามสมมติ)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ต้นไผ่ (นามสมมติ)

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์