ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.1599/2564
แดง อ.209/2565

ผู้กล่าวหา
  • ร.อ.รังสิกร ทิกะ (ทหาร)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.1599/2564
แดง อ.209/2565
ผู้กล่าวหา
  • ร.อ.รังสิกร ทิกะ

ความสำคัญของคดี

ธนพร (สงวนนามสกุล) แม่ลูกอ่อนชาวอุทัยธานีวัย 22 ปี ถูกตำรวจ สน.บางพลัด จับกุมและดำเนินคดีในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) จากการโพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นใต้ภาพตัดต่อของรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 8 ในกลุ่มเฟซบุ๊ก เมื่อช่วงปี 2564 ซึ่งเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ธนพรเคยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์บนโซเชียลมีเดีย โดยมี ร.อ.รังสิกร ทิกะ ผู้พบเห็นข้อความ เป็นผู้แจ้งความดำเนินคดี

กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี แต่กลับเปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแม้ไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ทำให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลอื่น

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

วรพงษ์ นธีทิพย์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาตลิ่งชัน 1 บรรยายฟ้องมีใจความสำคัญว่า

เมื่อวันที่ 20 ก.พ. - 10 ส.ค. 2564 เวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยได้โพสต์ข้อความคอมเมนต์ใต้ภาพรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 ที่มีการตัดต่อและโพสต์อยู่ในกลุ่มเฟซบุ๊กกลุ่มหนึ่ง ซึ่งข้อความดังกล่าวมีลักษณะด้อยค่า กล่าวหา ดูถูก เหยียดหยาม อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญาตลิ่งชัน คดีหมายเลขดำที่ อ.1599/2564 ลงวันที่ 22 ธ.ค. 2564)

ความคืบหน้าของคดี

  • เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บางพลัด หลายนาย เข้าจับกุม "ธนพร" (สงวนนามสกุล) อายุ 22 ปี ที่บ้านพักในจังหวัดอุทัยธานี โดยแสดงหมายจับของศาลอาญาตลิ่งชัน ลงวันที่ 20 ก.ย. 2564 ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) พร้อมตรวจยึดโทรศัพท์มือถือของธนพร 1 เครื่อง ก่อนควบคุมตัวไปที่ สน.บางพลัด เพื่อดำเนินคดี โดยมีแม่ของธนพรเดินทางติดตามไปด้วย

    พนักงานสอบสวนแจ้งพฤติการณ์คดีว่า เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 ขณะ ร.อ.รังสิกร ทิกะ เปิดใช้เฟซบุ๊ก ได้พบผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ข้อความคอมเมนต์ใต้ภาพรัชกาลที่ 9 ที่มีการตัดต่อและโพสต์อยู่ในกลุ่มเฟซบุ๊กกลุ่มหนึ่ง ผู้กล่าวหาเห็นว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่ 9

    พนักงานสอบสวนระบุอีกว่า จากการสืบสวนทราบว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายดังกล่าวคือ ธนพร จึงขอศาลออกหมายจับ

    ธนพรให้การรับสารภาพ โดยไม่มีทนายความอยู่ด้วย คืนนั้นธนพรถูกขังอยู่ที่ สน.บางพลัด โดยพนักงานสอบสวนจะนำตัวไปฝากขังในวันถัดไป

    (อ้างอิง: บันทึกการจับกุม สน.บางพลัด ลงวันที่ 29 ก.ย. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/53515)
  • พนักงานสอบสวนนำตัวธนพรไปขออำนาจศาลอาญาตลิ่งชันฝากขัง และคัดค้านการปล่อยชั่วคราว ต่อมา ศาลอนุญาตให้ฝากขัง ก่อนให้ประกันตัวระหว่างสอบสวน โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นเงินจำนวน 100,000 บาท พร้อมทั้งให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) เงินประกันจำนวนดังกล่าวธนพรต้องยืมจากญาติ

    ศาลนัดธนพรรายงานตัวในวันที่ 23 ธ.ค. 2564

    (อ้างอิง: https://tlhr2014.com/archives/53515)
  • พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาตลิ่งชัน 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องธนพรต่อศาลอาญาตลิ่งชัน ในฐานความผิดหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) กล่าวหาว่า ธนพรโพสต์ข้อความคอมเมนต์ใต้ภาพรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 ที่มีการตัดต่อและโพสต์อยู่ในกลุ่มเฟซบุ๊กกลุ่มหนึ่ง ซึ่งข้อความดังกล่าวมีลักษณะด้อยค่า กล่าวหา ดูถูก เหยียดหยาม อันเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ

    ทั้งนี้ อัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณามาในท้ายคำฟ้อง

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญาตลิ่งชัน คดีหมายเลขดำที่ อ.1599/2564 ลงวันที่ 22 ธ.ค. 2564)
  • ธนพรเดินทางไปศาลตามที่ศาลนัดรายงานตัว เมื่อศาลถามคำให้การเบื้องต้น ธนพรให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจึงมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจพฤติการณ์ของจำเลยรายงานต่อศาลภายใน 30 วัน และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 11 ก.พ. 2565

    ธนพรได้ประกันตัวโดยวางหลักทรัพย์จำนวน 100,000 บาท ซึ่งเป็นเงินจำนวนเดิมที่ยืมมาจากญาติ โดยศาลไม่ได้กำหนดเงื่อนไขอื่นเพิ่มเติม เธอจึงได้ถอดกำไล EM

    (อ้างอิง: คำให้การจำเลย ศาลอาญาตลิ่งชัน คดีหมายเลขดำที่ อ.1599/2564 ลงวันที่ 23 ธ.ค. 2564 และ https://tlhr2014.com/archives/53515)
  • ธนพรเดินทางไปศาลพร้อมครอบครัว แต่ศาลแจ้งว่า ยังปรึกษาคดีและทำคำพิพากษาไม่แล้วเสร็จ จึงให้เลื่อนนัดฟังคพิพากษาไปในวันที่ี 17 ก.พ. 2565 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญาตลิ่งชัน คดีหมายเลขดำที่ อ.1599/2564 ลงวันที่ 11 ก.พ. 2565)
  • ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี

    พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยแล้ว จำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จำเลยยังอายุน้อย ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยกระทำการในระบบคอมพิวเตอร์ลักษณะเดียวกันมาก่อนหรือกระทำซ้ำหลังภายหลังเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยได้รับการศึกษาสำเร็จเพียงระดับชั้นมัธยมต้น เชื่อว่าจำเลยกระทำไปโดยความคึกคะนองเพราะถูกชักจูงจากการเข้าถึงข้อมูลเท็จในสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศได้ง่าย จึงขาดสามัญสำนึกหรือความยั้งคิดชั่วขณะจนไม่ได้ไตร่ตรองผลกระทบที่จะตามมา

    ปัจจุบันจำเลยประกอบอาชีพสุจริต มีครอบครัวที่ห่วงใยที่น่าจะเหนี่ยวรั้งห้ามปรามไม่ให้เกิดการกระทำความผิดลักษณะเดียวกันอีก จำเลยให้การรับสารภาพด้วยตนเองแสดงถึงความรู้สึกความผิด โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยโดยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 8 ครั้ง ภายในกำหนด 2 ปี และให้จำเลยทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติจัดให้กระทำ 24 ชั่วโมง

    อย่างไรก็ตาม ชวลิต อิศรเดช รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาตลิ่งชันในขณะนั้น ได้ทำความเห็นแย้งคำพิพากษาดังกล่าว โดยเห็นว่าจำเลยแสดงความเห็นเป็นข้อความเปรียบเทียบหยาบคายก้าวล่วงไปถึงราชวงศ์จักรี อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ย่อมมีผลกระทบเกิดความเสียหายต่อราชวงศ์จักรีและสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งกระทบต่อความรู้สึกนึกคิดของประชาชนชาวไทยอันมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งต่างให้ความเคารพสักการะและยกย่องเทิดทูนไว้เหนือเกล้าฯ ตลอดมาตั้งแต่โบราณกาล

    เมื่อคำนึงถึงลักษณะการกระทำของจำเลยดังกล่าวแสดงว่าจำเลยมีเวลาและโอกาสคิดไตร่ตรองก่อนแล้ว แต่ยังกระทำประกอบกับขณะกระทำผิดจำเลยมีอายุ 21 ปีเศษ รู้จักผิดชอบชั่วดีแล้ว จำเลยได้รับการศึกษาจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ย่อมรู้ถึงความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อสังคมไทย เข้าใจถึงขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนไทยและสังคมไทยเป็นอย่างดี การที่จำเลยยังบังอาจกล้ากระทำการอันไม่บังควรอย่างยิ่งเช่นนี้ จึงไม่สมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย แต่ควรลงโทษจำคุกโดยไม่รอการลงโทษ เพื่อให้จำเลยหลาบจำไม่กล้ากระทำอีก อีกทั้งจะเป็นการป้องกันมิให้บุคคลอื่นกระทำการลักษณะนี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในอนาคต ตลอดจนความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรได้

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลอาญาตลิ่งชัน คดีหมายเลขดำที่ อ.1599/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.209/2565 ลงวันที่ 17 ก.พ. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/53515)
  • พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญาตลิ่งชัน 1) ได้ยื่นอุทธรณ์คดีนี้ต่อศาลอุทธรณ์ โดยเห็นว่าไม่สมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย โดยอ้างเหตุผลในลักษณะเดียวกันกับความเห็นแย้งในข้างต้น

    (อ้างอิง: อุทธรณ์ของโจทก์ ศาลอาญาตลิ่งชัน คดีหมายเลขดำที่ อ.1599/2564 คดีหมายเลขแดงที่ อ.209/2565 ลงวันที่ 9 มิ.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/53515)
  • ห้องพิจารณาคดีที่ 305 ธนพรเดินทางมาฟังคำพิพากษาพร้อมกับแฟนและครอบครัว โดยฝากลูกซึ่งอายุเพียง 8 เดือนไว้กับมารดา เธอเดินทางออกจากบ้านที่จังหวัดอุทัยธานี ตั้งแต่ 04.00 น. เพื่อมาฟังคำพิพากษา

    ก่อนเข้าห้องพิจารณาคดี ธนพรกล่าวว่าความคาดหวังสูงสุดในวันนี้คือขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และเปิดเผยว่าสิ่งที่เธอหวาดกลัวมากที่สุดไม่ใช่การต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ แต่เป็นการที่เธอจะไม่ได้อยู่กับลูกในวัยเจริญเติบโต ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด และไม่อาจย้อนคืนกลับมาได้

    เวลา 09.35 น. ศาลออกนั่งพิจารณาคดี และอ่านคำพิพากษาโดยย่อให้ฟัง สามารถสรุปได้ดังนี้

    ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า สถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันหลักเคียงคู่กับประเทศไทย การที่จำเลยใช้ข้อความหยาบคายก้าวล่วง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชวงศ์จักรีและสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งกระทบต่อความรู้สึกประชาชนไทยซึ่งให้ความเคารพสักการะสถาบันพระมหากษัตริย์

    แม้จำเลยจะจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แต่ขณะเกิดเหตุจำเลยอายุ 21 ปีเศษ มีวุฒิภาวะเพียงพอ แต่ยังกระทำการจาบจ้วงต่อสถาบันกษัตริย์ พฤติการณ์คดีเป็นเรื่องร้ายแรง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้รอการลงโทษจำเลยนั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้อง

    พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่รอการลงโทษจำคุก และไม่ต้องคุมประพฤติจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

    หลังจากฟังคำพิพากษา ธนพรถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวไปคุมขังไว้ที่ห้องขังใต้ถุนศาลอาญาตลิ่งชันทันที โดยสามารถนำโทรศัพท์มือถือติดตัวเข้าไปได้ เธอได้โทรศัพท์เพื่อสอบถามรายละเอียดและขั้นตอนกับทนายความ พร้อมร้องไห้ไปด้วยในขณะเดียวกัน

    ต่อมาหลังยื่นขอประกันตัวจำเลยระหว่างฎีกา ในเวลา 14.00 น. ทนายความแจ้งว่าศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวธนพร ด้วยหลักประกันเป็นจำนวน 100,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยศาลไม่ได้กำหนดเงื่อนไขอื่นเพิ่มเติม

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ 1243/2565 คดีหมายเลขแดงที่ 17841/2565 ลงวันที่ 7 พ.ย. 2565 และ https://tlhr2014.com/archives/53515)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ธนพร (สงวนนามสกุล)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ธนพร (สงวนนามสกุล)

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. เกริกเกียรติ พุทธสถิตย์
  2. ไพโรจน์ ตู้ทอง

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 17-02-2022

ศาลอุทธรณ์

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ธนพร (สงวนนามสกุล)

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. วิกรม ดีเสมอ
  2. สมชาย พวงภู่
  3. วีรพงษ์ ศิริกานต์นนท์

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
พิพากษาวันที่ : 14-02-2023

ศาลฎีกา

ผู้ถูกดำเนินคดี :
ธนพร (สงวนนามสกุล)

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์