ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.2672/2567

ผู้กล่าวหา
  • ฐิติวัฒน์ ธนการุณย์ (ประชาชน)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.2672/2567
ผู้กล่าวหา
  • ฐิติวัฒน์ ธนการุณย์

ความสำคัญของคดี

“กร” (นามสมมติ) ชาวชัยนาทวัย 29 ปี ถูก ปอท. ดำเนินคดีในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยถูกกล่าวหาว่า คอมเมนท์ใต้โพสต์ข้อความพร้อมภาพรัชกาลที่ 10 ในเพจเฟซบุ๊ก “KTUK – คนไทยยูเค” เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2564

ทั้งนี้ ฐิติวัฒน์ ธนการุณย์ ประชาชนทั่วไปผู้กล่าวหาในคดีนี้ เป็นบุคคลที่รัชกาลที่ 10 ทรงกล่าวข้อความชมว่า “เก่งมาก กล้ามาก ขอบใจ” ระหว่างการรับเสด็จเมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2563 โดยคดีนี้นับเป็นคดีที่ 4 แล้ว ที่มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการไปแจ้งความร้องทุกข์ของฐิติวัฒน์

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

พรทิพย์ บุตรภักดิ์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 9 บรรยายฟ้องมีใจความโดยสรุปว่า

เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2564 จำเลยได้โพสต์ข้อความแสดงความเห็นใต้โพสต์ของเพจ “KTUK – คนไทยยูเค” ที่มีภาพของรัชกาลที่ 10 ด้วย โดยข้อความที่จำเลยโพสต์หมายถึงรัชกาลที่ 10 อันเป็นการล่วงละเมิด หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน ทำให้ประชาชนหรือบุคคลทั่วไปที่พบเห็นข้อความเกิดความเข้าใจผิดต่อรัชกาลที่ 10 และสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชน จนอาจนำมาซึ่งความเกลียดชัง หรือความแตกแยกในสังคมได้

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2672/2567 ลงวันที่ 12 ก.ย. 2567)

ความคืบหน้าของคดี

  • เวลา 12.30 น. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) “กร” (นามสมมติ) ชาวชัยนาท วัย 29 ปี พร้อมทนายความ เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงฯ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

    คดีนี้มี ฐิติวัฒน์ ธนการุณย์ เป็นผู้ไปแจ้งข้อความให้ดำเนินคดี โดยอ้างว่า ได้เห็นการโพสต์ข้อความดังกล่าวของผู้ต้องหา จึงได้เข้ามาร้องทุกข์ให้ดำเนินคดี และตำรวจเพิ่งมีการออกหมายเรียกผู้ต้องหาลงวันที่ 7 พ.ย. 2566

    พ.ต.ท.ปราโมทย์ จันทร รองผู้กำกับ (สอบสวน) กก. 3 บก.ปอท. แจ้งพฤติการณ์คดีให้กรทราบ มีใจความโดยสรุปว่า ฐิติวัฒน์ ธนการุณย์ ได้มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับบัญชีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กรายหนึ่ง ซึ่งใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษเหมือนชื่อจริงของกร เนื่องจาก เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2564 เพจเฟซบุ๊ก “KTUK-คนไทยยูเค” โพสต์หรือแชร์ข้อความพร้อมภาพรัชกาลที่ 10 และเฟซบุ๊กดังกล่าวได้เข้าไปโพสต์ข้อความคอมเมนท์ใต้ภาพ

    ผู้กล่าวหาเห็นว่า การโพสต์ข้อความใต้ภาพดังกล่าวเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาดมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงฯ

    พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อกล่าวหากับกรในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (3)

    ด้านกรได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้ถูกพนักงานสอบสวนขอตรวจสอบโทรศัพท์มือถือ และขอรหัสผ่านในการเข้าถึงข้อมูลโซเชียลมีเดีย โดยทนายความได้พยายามคัดค้านการดำเนินการดังกล่าว เนื่องจากตำรวจไม่ได้มีคำสั่งศาลในการเข้าถึงข้อมูลตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แต่อย่างใด แต่ทางตำรวจยังอ้างกับผู้ต้องหาว่าหากให้ตรวจสอบ เรื่องจะได้สิ้นสุดโดยเร็ว และอ้างว่าทนายความ มีหน้าที่แค่ฟัง แม้ทนายความยืนยันว่ามีหน้าที่ให้คำปรึกษาทางกฎหมายได้

    หลังการพูดคุย กรได้ยินยอมให้ตำรวจตรวจสอบโทรศัพท์ เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ โดยใช้เวลารอการตรวจสอบโทรศัพท์ราว 2 ชั่วโมง ก่อนจะได้รับคืนจากตำรวจ

    หลังจากนั้นพนักงานสอบสวนได้ลงบันทึกประจำวันไว้ และปล่อยตัวผู้ต้องหาโดยไม่มีการควบคุมตัวหรือขอฝากขังต่อศาลแต่อย่างใด

    ทั้งนี้ ฐิติวัฒน์ ธนการุณย์ เป็นบุคคลที่รัชกาลที่ 10 ทรงกล่าวข้อความว่า “เก่งมาก กล้ามาก ขอบใจ” ระหว่างการรับเสด็จเมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2563 ซึ่งเท่าที่ทราบข้อมูล คดีนี้นับเป็นคดีที่ 4 แล้ว ที่มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการไปแจ้งความร้องทุกข์ของฐิติวัฒน์

    (อ้างอิง: บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา กก.3 บก.ปอท. ลงวันที่ 23 พ.ย. 2566 และ https://tlhr2014.com/archives/61772)
  • กรเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนในนัดส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมสำนวนการสอบสวนให้อัยการ หลังพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 9 นัดฟังคำสั่งในวันที่ 3 พ.ค. 2567 เวลา 10.30 น.
  • พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 9 นัดหมายกรไปส่งฟ้องคดีต่อศาลอาญา โดยฟ้องกรฐานความผิด หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง, เผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)(5)

    อัยการบรรยายฟ้องกล่าวหาว่า จำเลยได้โพสต์ข้อความแสดงความเห็นใต้โพสต์ของเพจ “KTUK – คนไทยยูเค” อันเป็นการล่วงละเมิด หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่ 10 ทำให้ประชาชนหรือบุคคลทั่วไปที่พบเห็นข้อความเกิดความเข้าใจผิดต่อรัชกาลที่ 10 และสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชน จนอาจนำมาซึ่งความเกลียดชัง หรือความแตกแยกในสังคมได้

    หลังศาลรับฟ้อง เวลาประมาณ 11.00 น. ทนายความได้ยื่นประกันตัวกร ต่อมา ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณา โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันเป็นเงินสด 90,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมกำหนดเงื่อนไขการประกัน 6 ข้อ ดังนี้

    1. ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร
    2. ยึดหนังสือเดินทาง
    3. ให้จำเลยมารายงานตัวต่อศาลทุกเดือน
    4. ติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) โดยจำเลยมีหน้าที่ชาร์จแบตเตอรี่ให้สามารถใช้งานได้ตลอดเวลาในการที่จะระบุตำแหน่งที่อยู่ติดตามตัวจำเลยได้
    5. ห้ามจำเลยกระทำผิดคดีอาญาอื่นใดอีกโดยเฉพาะความผิดในลักษณะเดียวกันกับคดีนี้
    6. ห้ามจำเลยเข้าร่วมกิจกรรมใดใดอันเป็นการแสดงออกหมิ่นเหม่หรือไม่บังควร อันอาจถูกฟ้องร้องเช่นเดียวกับคดีนี้

    อย่างไรก็ตาม ในเวลา 16.00 น. เจ้าหน้าที่ศาลได้แจ้งกับนายประกันและทนายความว่า ถึงแม้ในเบื้องต้นจะได้ทำสัญญาประกันแล้ว แต่เงื่อนไขในการติด EM จำเป็นต้องมีญาติที่อาศัยอยู่บ้านเดียวกัน และอยู่ในทะเบียนบ้านเดียวกันมาลงลายมือชื่อในเอกสารด้วย

    แต่เนื่องจากกรมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดชัยนาทและเดินทางมารับฟังคำสั่งฟ้องเพียงลำพัง ทำให้ไม่มีญาติลงชื่อในเอกสาร กรจึงถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อรอญาติเดินทางมายื่นเอกสารในวันถัดไป (13 ก.ย. 2567)

    มีข้อสังเกตว่า เงื่อนไขการประกันตัวมีแนวโน้มจะเข้มงวดมากขึ้น แม้อัยการเองก็ไม่ได้คัดค้านการประกันตัวมาในคำฟ้อง

    ต่อมา วันที่ 13 ก.ย. 2567 เวลา 11.00 น. น้องสาวของกรได้เดินทางมาจากต่างจังหวัด เพื่อยื่นเอกสารตามเงื่อนไขประกันตัว แต่เจ้าหน้าที่งานประกันแจ้งว่า ศาลต้องการเอกสารของมารดาเพิ่มเติมอีก เพื่อจะได้ยืนยันว่า จำเลยอยู่บ้านเดียวกัน และแจ้งว่าจะเบิกตัวออกมาติด EM ในวันจันทร์ (16 ก.ย.)

    ผลจากคำสั่งของศาล ทำให้กรยังต้องถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อ ก่อนที่จะถูกเบิกตัวไปติด EM ในวันที่ 16 ก.ย. 2567 เวลา 16.00 น. จากนั้นจึงได้รับการปล่อยตัวในช่วงค่ำของวันเดียวกันนั้น โดยก่อนหน้านั้นนายประกันยื่นคำร้องขอเพิกถอนเงื่อนไขให้ส่งมอบหนังสือเดินทาง เนื่องจากกรไม่มีหนังสือเดินทาง

    ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 20 ม.ค. 2568 เวลา 09.00 น.

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.2672/2567 ลงวันที่ 12 ก.ย. 2567 และ https://tlhr2014.com/archives/69887)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
“กร” (นามสมมติ)

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
“กร” (นามสมมติ)

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์