ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ 88ก./2558
แดง 135ก./2558

ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ 88ก./2558
แดง 135ก./2558

ความสำคัญของคดี

นายเธียรสุธรรม ถูกกล่าวหาว่า ใช้เฟซบุ๊กชื่อ 'ใหญ่ แดงเดือด' โพสต์ภาพและข้อความที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จำนวน 5 ข้อความ โดยเขาถูกออกหมายจับขณะถูกควบคุมตัวใน มทบ.11 ตามกฎอัยการศึก และเมื่อได้รับการปล่อยตัว ทหารส่งตัวให้ ปอท.ดำเนินคดี ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 เธียรสุธรรมให้การรับสารภาพโดยตลอดตั้งแต่ชั้นสอบสวน

เธียรสุธรรมถูกจับโดยหมายจับที่ออกในขณะเขาถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก ซึ่งเขาถูกสอบปากคำโดยไม่มีโอกาสปรึกษาทนายความ ชั้นสอบสวนก็ไม่มีทนายความเข้าร่วม ถูกคุมขังในระหว่างสอบสวนโดยไม่เคยได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว แม้ญาติและทนายความยื่นประกันตัวถึง 6 ครั้ง เนื่องจากเขามีปัญหาด้านสุขภาพ และมีงานธุรกิจที่ต้องรับผิดชอบ การพิจารณาคดีกระทำในศาลทหาร ซึ่งขัดหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม นอกจากนี้ ศาลยังอ่านคำพิพากษาโดยลับ ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 188 และพิพากษาลงโทษจำคุกสูงถึง 50 ปี ในข้อหาตามมาตรา 112 ซึ่งจำเลยเพียงใช้เสรีภาพในการแสดงออก โดยจำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาเนื่องจากเป็นการพิจารณาคดีในศาลทหารขณะที่มีการประกาศกฎอัยการศึก ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นถึงการละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมในช่วงรัฐประหาร 2557

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

อัยการศาลทหารกรุงเทพเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายเธียรสุธรรมต่อศาลทหารกรุงเทพ โดยบรรยายฟ้องว่า

ระหว่างเดือนมิถุนายน 2557 เป็นต้นมา นายเธียรสุธรรมได้ใช้งานเฟซบุ๊กชื่อบัญชี "ใหญ่ แดงเดือด" โพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง และโจมตีการทำงานของ คสช. รวมทั้งการทำงานของรัฐบาลที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีเรื่อยมา โดยมีการทำกราฟฟิคภาพพร้อมข้อความที่มีเนื้อหาสร้างความเข้าใจผิดในหมู่ประชาชน และพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ได้รับความเสียหาย รวม 5 ข้อความ โดยโพสต์เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2557, 21 สิงหาคม 2557, 13 กันยายน 2557, 27 กันยายน 2557 และเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2557

การกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นการกระทำผิดฐาน หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ

(อ้างอิง: คำร้องฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลทหารกรุงเทพ ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2557 และคำฟ้อง ศาลทหารกรุงเทพ คดีหมายเลขดำที่ 88 ก./2558 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2558)

ความคืบหน้าของคดี

  • หลังทหารควบคุมตัวเธียรสุธรรมโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึกรวม 6 วัน ร.อ.ปิยดล นาคอุไร ผู้บังคับกองร้อย กองบังคับการกองพันทหารราบ มทบ.11 และพวก ได้นำตัวเธียรสุธรรม ส่งมอบให้พนักงานสอบสวน กก.3 บก.ปอท. เพื่อดำเนินคดีตามหมายจับศาลทหารกรุงเทพ ที่ ก.171/2557 ลงวันที่ 22 ธ.ค. 57 พร้อมส่งมอบทรัพย์สินที่ตรวจยึดมาจากบ้านพัก ตามบันทึกตรวจยึด ลงวันที่ 18 ธ.ค. 57 ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ จำนวน 7 เครื่อง, คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก จำนวน 2 เครื่อง, ทรัมไดร์ฟ 1 อัน, เราท์เตอร์ 1 ตัว และใบแจ้งหนี้ค่าใช้บริการอินเตอร์เน็ต

    พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาตามหมายจับต่อเธียรสุธรรมว่า "หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง และเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง" เธียรสุธรรมให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนจึงควบคุมตัวไว้ทำการสอบสวน ในชั้นสอบสวน เธียรสุธรรมให้การรับสารภาพเช่นเดียวกัน

    (อ้างอิง: บันทึกการรับมอบตัวผู้ต้องหา กองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ลงวันที่ 23 ธ.ค. 57)
  • พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชร หนูทอง พนักงานสอบสวน กก.3 บก.ปอท. นำตัวนายเธียรสุธรรมไปขออำนาจศาลทหารกรุงเทพ ฝากขังครั้งที่ 1 มีกำหนด 12 วัน นับแต่วันที่ 25 ธ.ค. 57 - 5 ม.ค. 2558 อ้างเหตุว่า การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากต้องทำการสอบสวนพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องอีก 10 ปาก, รอผลการตรวจพิสูจน์เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ, ผลการตรวจสอบข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์ และผลการตรวจลายนิ้วมือ พร้อมทั้งคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง หากผู้ต้องหาได้รับการประกันตัวเกรงว่าจะหลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

    ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง ทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวนายเธียรสุธรรมต่อ โดยวางเงินสดจำนวน 300,000 บาท เป็นหลักทรัพย์ประกัน โดยระบุเหตุผลดังต่อไปนี้

    1. ผู้ต้องหาประกอบอาชีพสุจริต และไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน ไม่ได้มีอิทธิพลความสามารถที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้

    2. ผู้ต้องหามีโรคประจำตัวคือไซนัสอักเสบ ภูมิแพ้และโรคกระเพาะ ต้องรับประทานยาและพบแพทย์เป็นประจำประกอบกับสภาวะแวดล้อมภายในเรือนจำไม่เอื้ออำนวยต่อการดูแลรักษาสุขภาพของผู้ร้อง อีกทั้งผู้ร้องมีภาระต้องส่งเสียเลี้ยงดูภรรยาและบุตรชาย มีธุรกิจต้องดูแลและภาระทางการเงินต้องผ่อนชำระค่าที่อยู่อาศัยและรถ

    3. ยังไม่มีการพิจารณาพิพากษาของศาลว่าเป็นผู้กระทำผิด การถูกแจ้งขอหาว่ากระทำความผิดยังไม่เป็นเหตุผลเบ็ดเสร็จเพียงพอว่าผู้ต้องหาจะมีพฤติการณ์ที่จะหลบหนีหรือเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวน

    4. การคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาและจำเลยในกระบวนการยุติธรรม จะมีผลทำให้สังคมเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมยังคงอำนวยความยุติธรรมให้กับทุกฝ่ายอย่างแท้จริง ปราศจากอคติ และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นสำคัญ

    อย่างไรก็ตาม ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว

    (อ้างอิง: คำร้องฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 และคำร้องประกอบคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลทหารกรุงเทพ ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2557)
  • พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 2 มีกำหนด 12 วัน นับแต่วันที่ 6-17 มกราคม 2558 เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องทำการสอบสวนพยานบุคคลอีก 6 ปาก, รอผลการตรวจสอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ตรวจยึด, ผลตรวจข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ และผลการตรวจสอบประวัติลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหา ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง ทนายความจึงยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยเพิ่มหลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 400,000 บาท แต่ศาลยังคงไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว

    (อ้างอิง: คำร้องฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 2 และคำร้องประกอบคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลทหารกรุงเทพ ลงวันที่ 5 มกราคม 2558)
  • พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องฝากขังครั้งที่ 3 นับแต่วันที่ 18-29 มกราคม 2558 เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องทำการสอบสวนพยานบุคคลอีก 4 ปาก, รอผลการตรวจสอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ตรวจยึด, ผลตรวจข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ และผลการตรวจสอบประวัติลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหา

    ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง ทนายความจึงยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเป็นครั้งที่ 3 โดยเพิ่มหลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 410,000 บาท และระบุเหตุผลเพิ่มเติมว่า ภรรยาของผู้ต้องหาต้องประสบปัญหาชีวิตมากมายรุมเร้า จากเหตุที่ผู้ต้องหาถูกคุมขัง เนื่องจากภรรยาเคยได้รับการผ่าตัด ทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ จึงขอให้ศาลอนุญาตให้ผู้ต้องหาออกไปจัดการปัญหาในครอบครัว

    ศาลทหารกรุงเทพยังคงไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว

    (อ้างอิง: คำร้องฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 3 และคำร้องประกอบคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลทหารกรุงเทพ ลงวันที่ 16 มกราคม 2558)


  • พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องฝากขังครั้งที่ 4 นับแต่วันที่ 30 มกราคม - 10 กุมภาพันธ์ 2558 เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องทำการสอบสวนพยานบุคคลอีก 2 ปาก, รอผลการตรวจสอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ตรวจยึด และผลตรวจข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์

    ครั้งนี้ทนายความได้ยื่นคำร้องคัดค้านการขอฝากขังครั้งที่ 4 เนื่องจากไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องควบคุมตัวนายเธียรสุธรรมไว้ และการควบคุมตัวจะกระทบต่อการประกอบสัมมาอาชีพและสภาวะจิตใจของครอบครัวนายเธียรสุธรรมเป็นอย่างมาก คำร้องดังกล่าวระบุเหตุผลในการคัดค้านการฝากขังว่า ผู้ต้องหาได้ให้การในชั้นสอบสวนในข้อเท็จจริงโดยละเอียดแล้ว ประกอบกับคดีที่มีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ไม่ซับซ้อน จึงไม่มีเหตุใดที่ผู้ร้องจะยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานอีก พยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ พนักงานสอบสวนได้รวบรวมและอยู่ในความครอบครองของพนักงานสอบสวนแล้วทั้งสิ้น ในส่วนของการตรวจพิสูจน์อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และอื่นๆ ก็ไม่เกี่ยวข้องกับตัวจำเลย จึงไม่จำเป็นต้องเอาตัวผู้ร้องไว้ในอำนาจศาลแต่อย่างใด

    อย่างไรก็ตาม ศาลทหารกรุงเทพอนุญาตให้ฝากขังนายเธียรสุธรรมต่อเป็นครั้งที่ 4 ทนายความจึงยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวนายเธียรสุธรรมอีกครั้ง เป็นครั้งที่ 4 และศาลยังมีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยชั่วคราวเช่นเดิม

    (อ้างอิง: คำร้องฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 4, คำร้องคัดค้านการขอฝากขังครั้งที่ 4 และคำร้องประกอบคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลทหารกรุงเทพ ลงวันที่ 28 มกราคม 2558)

  • พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องฝากขังครั้งที่ 7 นับแต่วันที่ 7-18 มีนาคม 2558 เนื่องจากอยู่ในระหว่างเสนอสำนวนการสอบสวนให้คณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณา เพื่อเสนอให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติลงนามมีความเห็นทางคดี

    (อ้างอิง: คำร้องฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 7 ศาลทหารกรุงเทพ ลงวันที่ 6 มีนาคม 2558)
  • อัยการศาลทหารกรุงเทพเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายเธียรสุธรรมต่อศาลทหารกรุงเทพ กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดฐาน หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 จำนวน 5 กรรม

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 88 ก./2558 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2558)
  • ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การ โดยมีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ ไม่อนุญาตให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้าฟัง

    หลังจำเลยให้การรับสารภาพ โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 58 ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องประกอบคำรับสารภาพต่อศาลแล้ว ศาลได้อ่านคำพิพากษาในช่วงเช้าวันเดียวกันโดยพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14(1),(2),(5) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ อันเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด รวม 5 กระทง จำคุกกระทงละ 10 ปี รวมโทษทุกกระทงเป็นจำคุก 50 ปี จำเลยรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 25 ปี

    ตามที่จำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกนั้น ศาลพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว การกระทำของจำเลยเป็นการล่วงละเมิดต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งประชาชนเคารพเทิดทูน จึงเป็นการกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนอย่างร้ายแรง และคดีนี้ศาลลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 3 ปี จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ศาลจะรอการลงโทษให้ได้ ประกอบกับศาลได้ลงโทษจำเลยในสถานเบาอยู่แล้ว ให้ยกคำขอในส่วนที่ขอให้รอการลงโทษ และริบคอมพิวเตอร์ของกลาง

    ทั้งนี้ คำร้องประกอบการรับสารภาพของเธียรสุธรรมที่ขอให้ศาลลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกนั้น ระบุเหตุผลว่า เนื่องจากจำเลยเป็นพลเรือน มีความประพฤติดี มีความรู้ความสามารถ จำเลยกระทำผิดเป็นครั้งแรก โดยมีเหตุจากการรับสื่อที่ผิดพลาด จำเลยยังประพฤติตนเป็นประโยชน์ต่อสังคมเสมอมา อีกทั้งจำเลยเป็นเสาหลักของครอบครัว มีภาระต้องส่งเสียเลี้ยงดูภรรยาและบุตรบุญธรรม 3 คน ซึ่งอยู่ในวัยเรียน นอกจากนี้ จำเลยมีอายุมาก สุขภาพทรุดโทรม การคุมขังจำเลยไว้ไม่เป็นประโยชน์อันใด ตรงกันข้ามหากศาลพิจารณารอการลงโทษ จำเลยจะได้มีโอกาสใช้ความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนาประเทศต่อไป

    การอ่านคำพิพากษาเป็นไปอย่างปิดลับ ญาติจำเลยและผู้สังเกตการณ์เข้าฟังไม่ได้ อีกทั้งศาลไม่อ่านข้อความที่กระทำผิด ระบุเพียงว่าเป็นการกระทำผิดตามฟ้อง แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 จะให้ศาลมีอำนาจสั่งให้พิจารณาเป็นการลับ แต่การพิพากษาลับไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 188 ซึ่งระบุว่า “คำพิพากษาหรือคำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ได้อ่านในศาลโดยเปิดเผยเป็นต้นไป”

    นับได้ว่าคดีนี้เป็นคดีแรกที่ศาลทหารมีการลงโทษจำคุกสูงถึง 50 ปี ในข้อหาตามมาตรา 112 และมีผลให้คดีถึงที่สุดโดยจำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์และฎีกา เนื่องจากเป็นการพิจารณาคดีในศาลทหารขณะที่มีการประกาศกฎอัยการศึก

    หลังเสร็จการอ่านคำพิพากษา เธียรสุธรรมถูกควบคุมตัวไปยังเรือนจำกลางคลองเปรม เนื่องจากโทษจำคุกเกินกว่า 15 ปี

    (อ้างอิง: คำร้องประกอบคำรับสารภาพ ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 88ก./2558 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2558 และคำพิพากษา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 88ก./2558 คดีแดงที่ 135ก./2558 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2558)
  • ศาลทหารกรุงเทพออกหมายแจ้งโทษเด็ดขาด ระบุว่า ได้พิพากษาคดีถึงที่สุดแล้วเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2558 คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 25 ปี ให้นับโทษตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2558 ซึ่งเป็นวันที่ศาลพิพากษาเป็นต้นไป แต่ให้หักวันถูกคุมขังมาแล้ว คือตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2557 จนถึงวันที่ 30 มีนาคม 2558 ออกจากโทษจำคุกให้ด้วย

    เป็นที่น่าสังเกตว่า ศาลไม่หักวันที่เธียรสุธรรมถูกควบคุมตัวในค่ายทหารรวม 6 วัน ออกจากโทษจำคุกด้วย

    (อ้างอิง: หมายแจ้งโทษเด็ดขาด ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 88ก./2558 คดีแดงที่ 135ก./2558 ลงวันที่ 1 เมษายน 2558)
  • มีข้อมูลว่าเธียรสุธรรมได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำคลองเปรมก่อนครบกำหนดโทษ รวมเวลาถูกควบคุมตัวและคุมขัง 4 ปี 11 เดือน 11 วัน

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายเธียรสุธรรม

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
ไม่อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายเธียรสุธรรม

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. นาวาโทหญิง วิภาวี คุปต์กาญจนากุล

ผลการพิพากษา
ลงโทษ
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
-
พิพากษาวันที่ : 31-03-2015

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์