สรุปความสำคัญ

ในเดือนมกราคม 2557 ซึ่งมีการชุมนุมยืดเยื้อของ กปปส. ในกรุงเทพฯ และทำให้บรรยากาศทางการเมืองค่อนข้างตึงเครียด ยุทธศักดิ์ได้พูดคุยกับผู้โดยสารเรื่องการเมืองและความไม่เป็นธรรมในสังคมในระหว่างขับรถแท็กซี่ไปส่งผู้โดยสาร โดยมีความเห็นไม่ตรงกัน และพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ผู้โดยสารได้ใช้โทรศัพท์บันทึกเสียงการสนทนาไว้และนำมาแจ้งความดำเนินคดี ม.112 ภายหลังรัฐประหารเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เร่งรัดนำตัวผู้ถูกกล่าวโทษในคดีตามมาตรา 112 มาดำเนินคดี ทำให้เขาถูกจับกุมตามหมายจับในเดือนมิถุนายน 2557

หลังรัฐประหาร คสช.ใช้การดำเนินคดีเพื่อปิดกั้นเสรีภาพของประชาชนที่เห็นต่าง หรือต่อต้าน คสช. ซึ่งรวมถึงการใช้ มาตรา 112 ด้วย มีประชาชนธรรมดาที่แค่แสดงความเห็นถูกดำเนินคดีจำนวนมาก รวมถึงคนขับแท็กซี่อย่างยุทธศักดิ์ด้วย ในชั้นสอบสวนซึ่งไม่มีทนายความเข้าร่วม ยุทธศักดิ์ให้การรับสารภาพ จากนั้นก็ไม่ได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว อันเป็นสิทธิพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรม เช่นเดียวกับผู้ต้องหาหรือจำเลยคดี 112 โดยส่วนมาก เป็นเหตุให้เขาให้การรับสารภาพในชั้นศาล

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • นายยุทธศักดิ์
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

2 มิ.ย. 57 เจ้าหน้าที่ตำรวจนำกำลังเข้าจับกุมยุทธศักดิ์บริเวณอู่เช่ารถแท็กซี่ย่านห้วยขวาง โดยตำรวจได้แสดงหมายจับและควบคุมตัวเขาไปที่สถานีตำรวจนครบาลพญาไท เพื่อแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากเหตุที่เขาพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องการเมืองและความไม่เป็นธรรมในสังคมกับผู้โดยสารคนหนึ่งขณะรับผู้โดยสารไปส่งเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 57 โดยมีการพูดพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ และถูกผู้โดยสารใช้โทรศัพท์บันทึกเสียงไว้แล้วนำไปแจ้งความดำเนินคดีในวันต่อมา แต่ตำรวจเร่งรัดติดตามจับกุมนายยุทธศักดิ์ดำเนินคดีในช่วงหลังรัฐประหาร

ในชั้นสอบสวนซึ่งไม่มีทนายความเข้าร่วม ยุทธศักดิ์ให้การรับสารภาพ เขาถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สน.พญาไท 2 คืน ก่อนจะถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลอาญารัชดาในวันที่ 4 มิ.ย. 57 โดยในวันดังกล่าวญาติได้ยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 2 แสนบาท เพื่อขอประกันตัว แต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวโดยให้เหตุผลว่า เป็นคดีร้ายแรง กระทบกระเทือนจิตใจคนทั่วไป ทั้งมีอัตราโทษสูง หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ไม่เชื่อว่าผู้ต้องหาจะไม่หลบหนี อีกทั้งพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว ยุทธศักดิ์จึงถูกนำตัวไปขังระหว่างสอบสวนที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ จนกระทั่งอัยการยื่นฟ้อง และทำให้เขาตัดสินใจให้การรับสารภาพ

สถานะของเรื่อง

วันที่ : 07-08-2014
พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 สำนักงานคดีอาญา เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายยุทธศักดิ์ต่อศาลอาญา รัชดาฯ ในความผิดฐาน หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ
 
วันที่ : 08-08-2014
ศาลอาญา รัชดาฯ เบิกตัวยุทธศักดิ์จากเรือนจำมาอ่านฟ้องให้ฟังและถามคำให้การ ยุทธศักดิ์ให้การรับสารภาพ ศาลมีคำพิพากษาในวันเดียวกัน ลงโทษจำคุก 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 2 ปี 6 เดือน
 
วันที่ : 20-05-2016
ยุทธศักดิ์ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำก่อนกำหนด จาก พ.ร.ฎ.อภัยโทษ พ.ศ.2558

ภูมิหลัง

  • นายยุทธศักดิ์
    สนใจการเมือง แต่ไม่เคยเข้าร่วมชุมนุม

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์