สรุปความสำคัญ

สิรภพ ถูกจับหลังไม่เข้ารายงานตัวตามคำสั่งเรียกรายงานตัวของ คสช. และถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร ในระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำเอาภาพหน้าจอคอมพิวเตอร์มาซักถาม เมื่อควบคุมตัวครบ 7 วัน นอกจากทหารจะส่งตัวให้ตำรวจดำเนินคดีในข้อหา ฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวของ คสช. เมื่อสิรภพได้รับการประกันตัวในคดีแรก เขายังถูกอายัดตัวไปดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ตามหมายจับที่ออกขณะเขาถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร เหตุจากบทกลอน ข้อความ และรูปการ์ตูนล้อเลียน ที่มีการโพสต์ในโซเชียลมีเดีย สิรภพถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพเรื่อยมาโดยไม่ได้รับการประกันตัวทั้งในชั้นสอบสวนและพิจารณาคดีในศาลทหาร แม้จะมีการยื่นประกันถึง 7 ครั้ง เขาถูกขังอยู่กว่า 4 ปี 11 เดือน ก่อนที่ศาลทหารจะให้ประกันในที่สุด

เนื่องจากการกระทำที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็น การควบคุมตัวเขาโดยไม่ให้ประกันตัวเกือบ 5 ปี จึงถือเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ นอกจากนี้ การพิจารณาคดีในศาลทหาร ทั้งที่การโพสต์กลอนและข้อความเกิดขึ้นก่อนการประกาศของ คสช. ให้คดีบางประเภทอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร ทำให้เขาถูกละเมิดสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ทั้งการพิจารณาคดีโดยลับ และการสืบพยานที่ล่าช้ากว่า 4 ปี

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • ลูกสาวสิรภพคนที่ 2
    • ลูกสาวสิรภพคนที่ 1
    • ลูกชายสิรภพ
    • หลานชายสิรภพ
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในความมั่นคงปลอดภัย
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ทหาร
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • นายสิรภพ
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในชีวิตและร่างกาย
    • สิทธิในความมั่นคงปลอดภัย
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
    • ข่มขู่ / คุกคาม / ติดตาม
  • ผู้ละเมิด
    • ทหาร
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • นายสิรภพ
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
    • บุกค้น / ยึดทรัพย์สิน
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

24 มิ.ย. 2557 เวลา 15.00 น. ทหารในเครื่องแบบ พร้อมอาวุธสงครามครบมือกว่า 30 นาย ตำรวจและเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบหน่วยต่างๆ กว่า 10 นาย บุกจู่โจมเข้าตรวจค้นบ้านพักของสิรภพใน จ.สงขลา ซึ่งมีเพียงลูกสาว 2 คน, ลูกชายคนเล็ก และหลานชายอายุ 10 เดือน เจ้าหน้าที่ไม่พบอาวุธหรือสิ่งผิดกฎหมายใดๆ แต่ได้ตรวจยึดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ในบ้าน ได้แก่ CPU คอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง, external hard disk 1 TB 3 ชุด, โทรศัพท์มือถือ smartphone 5 เครื่อง และโทรศัพท์มือถือธรรมดา 1 เครื่อง จากนั้นได้ควบคุมตัวลูกและหลานขึ้นรถทหาร นำไปยังค่ายทหารแห่งหนึ่งใน อ.หาดใหญ่ ซึ่งห่างออกไปประมาณ 40 กม. ถูกพาตัวเข้าค่ายทหารเพื่อไปสอบสวน โดยมีการซักถามถึงพ่อ และปล่อยตัวกลับบ้านประมาณเที่ยงคืน

25 มิ.ย. 2557 เวลา 22.30 น. ขณะสิรภพเดินทางโดยรถยนต์ถึงถนนแยกเข้าตัวเมืองกาฬสินธุ์ มุ่งหน้าไปยังจังหวัดอุดรธานี ในระหว่างที่รถยนต์ชะลอเข้าทางแยก มีรถยนต์ฟอร์จูนเนอร์ขับปาดหน้า ชายฉกรรจ์ 5 คน สวมโม่งพร้อมอาวุธหนักเปิดประตูวิ่งลงมา รถตู้อีกคันประชิดเข้ามาจอดปิดท้าย ชายฉกรรจ์อีก 7 คนวิ่งลงมารายล้อม หน้าตาถมึงทึง ในมือถืออาวุธสงครามพร้อมลั่นไก ตะโกนสั่งยอมแพ้ ห้ามต่อสู้ ให้ชูมือออกมาจากรถ แล้วบังคับให้ทุกคนนอนหมอบลงกับพื้นถนน ขณะฝนกำลังตกหนัก จากนั้น ชายฉกรรจ์เหล่านั้นได้นำตัวสิรภพไปคุมตัวที่ค่ายสีหราชเดโชชัย จังหวัดขอนแก่น 1 วัน ก่อนจะส่งตัวมาควบคุมต่อที่กรุงเทพฯ จนครบ 7 วัน

1 ก.ค. 2557 สิรภพถูกส่งตัวจากค่ายทหารไปที่กองบังคับการปราบปราม และถูกดำเนินคดีในข้อหา ฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวของ คสช. อันเป็นความผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557

2 ก.ค. 2557 สิรภพได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวของ คสช. ทันทีที่ได้รับการปล่อยตัว เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ได้เข้าอายัดตัวเขาตามหมายจับศาลอาญาที่ 1120/2557 ลงวันที่ 1 ก.ค. 57 จากข้อกล่าวหา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (ความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์) และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 และนำตัวเขาไปที่ บก.ปอท.

พนักงานสอบสวน ปอท. ได้แจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำ โดยระบุพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาว่า สิรภพได้โพสต์บทกลอนลงในเว็บบอร์ดประชาไทในปี 2552 โพสต์ข้อความและภาพการ์ตูนล้อเลียนในบล็อกและเฟซบุ๊กส่วนตัวในเดือนธันวาคม 2556 และมกราคม 2557 โดยมีนัยยะพาดพิงถึงรัชกาลที่ 9 สิรภพให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา จากนั้น ตำรวจได้นำตัวเขาไปควบคุมไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้อง ก่อนนำตัวไปขออำนาจศาลฝากขังที่ศาลอาญารัชดาในวันถัดไป

สิรภพถูกออกหมายจับในคดีนี้หลังถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร 7 วัน นอกจากนี้ ในระหว่างถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร เจ้าหน้าที่ได้นำเอาภาพหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่มีข้อความที่เขาถูกกล่าวหาในคดีนี้มาซักถามด้วย

(อ้างอิง: บันทึกจับกุมและบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา บก.ปอท. ลงวันที่ 2 ก.ค. 2557 และ https://tlhr2014.wordpress.com/2015/09/22/siraphop_112/)

สถานะของเรื่อง

วันที่ : 03-07-2014
สิรภพถูกส่งตัวไปขออำนาจศาลอาญากรุงเทพเพื่อฝากขังครั้งที่ 1 โดยมีญาติและทนายทำเรื่องขอประกันตัว แต่เอกสารไม่ครบ สิรภพจึงถูกควบคุมตัวไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ

ทั้งนี้ การฝากขังครั้งที่ 1-6 โดยอำนาจของศาลอาญากรุงเทพ ต่อมาวันที่ 5 ก.ย. 2557 พนักงานสอบสวนเห็นว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลทหาร ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 จึงยื่นคำร้องขอยุติการฝากขังต่อศาลอาญา ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาต แต่สิรภพยังคงถูกขังอยู่ในคดีฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวของ คสช. จากนั้น อัยการศาลทหารได้ขออำนาจศาลทหารกรุงเทพฝากขังสิรภพต่ออีก 2 ครั้ง จนถึงวันที่ 24 ก.ย. 2557 ซึ่งครบ 84 วัน ซึ่งถือเป็นจำนวนวันควบคุมตัวสูงสุดในการฝากขังในชั้นสอบสวนก่อนยื่นฟ้องต่อศาล ตามมาตรา 87 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498
 
วันที่ : 24-09-2014
อัยการศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งฟ้อง และยื่นฟ้องสิรภพ ต่อศาลทหารกรุงเทพ ด้วยข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 โดยกล่าวหาว่า สิรภพโพสต์บทกลอน ข้อความ และภาพการ์ตูนล้อเลียน ในโซเชียลมีเดีย โดยมีนัยยะพาดพิงถึงพระมหากษัตริย์ รวม 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2552, 15 ธันวาคม 2556 และ 22 มกราคม 2557
 
วันที่ : 13-11-2014
ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การ อัยการทหารแถลงขอให้ศาลพิจารณาคดีนี้เป็นการลับทั้งกระบวนการ เนื่องจากเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ รวมทั้งอาจกระทบต่อความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยภายในราชอาณาจักร ทนายจำเลยแถลงคัดค้าน โดยให้เหตุผลว่า การพิจารณาคดีเป็นการลับตลอดทั้งกระบวนการ ขัดกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง มาตรา 14 ซึ่งจำเลยมีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผย นอกจากนี้ ยังไม่ปรากฏว่ามีถ้อยคำใดที่แสดงความก้าวร้าว หยาบคาย

ศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับตลอดทั้งคดี

วันเดียวกัน ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยเขตอำนาจศาลต่อศาลทหารกรุงเทพ เพื่อโต้แย้งว่าการดำเนินคดีต่อพลเรือนในศาลทหารละเมิดมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ชั่วคราว) พ.ศ. 2557 นอกจากนี้ ยังได้ยื่นคำร้องขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 เรื่องให้คดีพลเรือนอยู่ในอำนาจศาลทหาร ขัดต่อมาตรา 4 ในรัฐธรรมนูญ 2557(ชั่วคราว) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองหรือไม่ ซึ่งศาลทหารได้ยกคำร้องโดยวินิจฉัยว่า ประกาศ คสช.ฉบับที่ 37 ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ เพราะแม้ศาลทหารจะสังกัดกระทรวงกลาโหม แต่ก็มีความเป็นอิสระ ส่วนการพิจารณาและตัดสินคดี ผู้พิพากษามีอำนาจตัดสินคดีอย่างเป็นอิสระ ทั้งย้งไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจศาลทหารส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
 
วันที่ : 01-04-2015
ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยเขตอำนาจศาลต่อศาลทหารกรุงเทพ โดยระบุเหตุผลเช่นเดียวกับในคำร้องก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกันยายนและพฤศจิกายน 2557 กล่าวคือ คดีของสิรภพไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลทหาร เนื่องจากข้อความที่ถูกกล่าวหามีการเผยแพร่ก่อนการออกประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 ซึ่งกำหนดให้คดีพลเรือนในความผิดบางประเภทอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลทหาร นอกจากนี้ การดำเนินคดีต่อพลเรือนในศาลทหารเป็นการละเมิดมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ชั่วคราว) พ.ศ. 2557

ตุลาการศาลทหารจึงมีคำสั่งให้อัยการทหารทำคำคัดค้านยื่นต่อศาล และศาลจะส่งสำนวนคดีพร้อมความเห็นไปให้ศาลอาญา รัชดา ให้ความเห็น ตามมาตรา10 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2542 และให้งดการพิจารณาไว้จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นนี้
 
วันที่ : 20-01-2016
หลังศาลอาญามีความเห็นว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลอาญา เนื่องจากข้อความที่ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์เข้าสู่ระบบก่อนที่จะมีประกาศ คสช. ให้คดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร และไม่ถือเป็นความผิดต่อเนื่อง ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลทหารและศาลอาญามีความเห็นไม่ตรงกัน ศาลทหารจึงส่งสำนวนให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล

คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยว่า คดีของสิรภพอยู่ในเขตอำนาจพิพากษาคดีของศาลทหารกรุงเทพ เนื่องจากคณะกรรมการเห็นตามความเห็นของศาลทหารกรุงเทพว่า แม้จะมีการกระทำความผิดหลายกรรม และเป็นความผิดที่เกิดขึ้นก่อนมีประกาศ คสช. ที่ให้ความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร แต่ภายหลังจากมีประกาศแล้ว ข้อความที่เป็นความผิดยังคงปรากฏอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ จึงถือเป็นความผิดที่ต่อเนื่องและเกี่ยวโยงกัน

เมื่อคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลมีความเห็นว่าคดีนี้อยู่เขตอำนาจศาลทหาร ประเด็นโต้แย้งเรื่องเขตอำนาจศาลจึงถือเป็นที่สุด ศาลทหารกรุงเทพจึงนัดสืบพยานปากแรก คือ พ.ต.ท.โอฬาร สุขเกษม ผู้กล่าวหา วันที่ 11 พ.ค. 2559

(อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 83ก./2557 ลงวันที่ 20 มกราคม 2559)
 
วันที่ : 05-11-2018
สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากลร่วมกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนส่งเรื่องร้องเรียนไปยังคณะทำงานว่าด้วยการควบคุมโดยพลการแห่งสหประชาชาติ (UN Working Group on Arbitrary Detention – UNWGAD) เพื่อให้มีการปล่อยตัวสิรภพ จำเลยในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมโดยพลการแห่งสหประชาชาติได้ตรวจสอบและพบว่าบุคคล 7 ราย ถูก “ควบคุมตัวโดยมิชอบ” ภายใต้คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา

สิรภพ ซึ่งขณะนี้อายุ 55 ปี ถูกควบคุมตัวมากกว่า 4 ปี 4 เดือน แล้ว ถือเป็นการควบคุมตัวที่ยาวนานที่สุดของบุคคลที่ถูกดำเนินคดีหรือตัดสินให้จำคุกภายใต้มาตรา 112 โดยศาลทหารกรุงเทพปฏิเสธการให้ประกันตัวกับ สิรภพมาถึง 7 ครั้ง

“การควบคุมและการฟ้องคดีต่อสิรภพ ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของเขาในสิทธิที่จะมีเสรีภาพ เสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรม ซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐานเหล่านี้ได้รับการรับรองไว้ในพันธกรณีของไทยที่มีต่อกฎบัตรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรณีนี้จึงเป็นสิ่งที่ผิดปกติอย่างยิ่งว่า มากกว่า 4 ปียังไม่มีสัญญาณว่าการพิจารณาคดีของคุณสิรภพจะสิ้นสุดลง ยิ่งไปกว่านั้นศาลทหารซึ่งเป็นศาลที่ไม่ควรพิจารณาคดีพลเรือนตั้งแต่แรก ได้ปฏิเสธการขอประกันตัวของเขาอย่างต่อเนื่อง” อดีล ราห์เมน คาน (Adilur Rahman Khan) รองประธานของ FIDH

“กรณีของสิรภพแสดงให้เห็นว่ายังมีบุคคลอีกจำนวนหนึ่งที่ยังถูกคุมขังในเรือนจำ อันเป็นผลมาจากการกล่าวหาในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ความเสี่ยงในการควบคุมตัวโดยมิชอบและการฟ้องคดีโดยไม่เป็นธรรมจะยังคงมีในอัตราที่สูงต่อไป จนกว่าจะมีการปฏิรูปมาตรา 112 ให้สอดคล้องกับหลักการกฎหมายระหว่างประเทศ” เยาวลักษ์ อนุพันธ์ หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากลและศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้ทางการไทยปล่อยตัวสิรภพในทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข และยุติการดำเนินคดีต่อเขา ทั้งนี้ เรากระตุ้นให้ทางการไทยยุติการนำกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์มาใช้และปล่อยตัวในทันทีโดยไม่มีเงื่อนไขต่อผู้ที่ถูกควบคุมตัวหรือถูกคุมขังจากคดีมาตรา 112 อันเป็นผลมาจากการการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก

(อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=9479)
 
วันที่ : 17-05-2019
คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (Working Group on Arbitrary Detention) ซึ่งเป็นกลไกพิเศษภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) ได้เผยแพร่ความคิดเห็นฉบับที่ 4/2019 ซึ่งได้รับการรับรองแล้ว โดยเป็นความคิดเห็นถึงกรณีการควบคุมตัวสิรภพโดยเฉพาะ โดยคณะทำงานฯ ลงมติเห็นว่าการควบคุมตัวสิรภพเข้าข่ายเป็นการควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ ขัดต่อกติการะหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี

คณะทำงานฯ ยังให้ความเห็นต่อไปว่า ข้อความที่สิรภพถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ยังอยู่ภายใต้การใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งได้รับการคุ้มครองภายใต้ข้อ 19 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

นอกจากนี้ การดำเนินคดีต่อสิรภพ ยังละเมิดต่อสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะการถูกพิจารณาคดีในศาลทหาร ซึ่งปราศจากความเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร และการพิจารณาคดีเป็นการลับ ยังขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศ

ในประเด็นสุดท้าย คณะทำงานฯ ยังพิจารณาเรื่องการพิจารณาคดีที่ล่าช้าของสิรภพในศาลทหารโดยไม่ได้รับการประกันตัว ทำให้เขาถูกควบคุมตัวเป็นระยะเวลายาวนาน ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ คณะทำงานฯ เห็นว่าระยะเวลาการควบคุมตัวสิรภพ ตั้งแต่การจับกุมตัวเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2557 กระทั่งปัจจุบัน — ซึ่งนับเป็นเวลาเกือบห้าปี — โดยไม่มีคำตัดสินอันเป็นที่สิ้นสุด ถือเป็นระยะเวลาที่ยาวนานเกินกว่าจะรับได้ คณะทำงานฯจึงเห็นว่า มีการละเมิดสิทธิของสิรภพในการได้รับการพิจารณาคดีในระยะเวลาที่เหมาะสม และไม่มีความล่าช้าเกินควร

ภายใต้ข้อวินิจฉัยทั้งหมดดังกล่าว คณะทำงานฯ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการใดๆ ซึ่งจำเป็นในการแก้ไขสถานการณ์ของสิรภพโดยทันที และกระทำให้สอดคล้องกับบรรทัดฐานระหว่างประเทศ คณะทำงานฯ เห็นว่าวิธีการเยียวยาที่เหมาะสมที่สุดคือการปล่อยตัวสิรภพโดยทันที พร้อมทั้งอำนวยให้เขามีสิทธิในการชดเชยค่าเสียหายและค่าชดเชยอื่นๆ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ

คณะทำงานฯ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวนกฎหมายตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 14 (3) และ (5) แห่ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (แก้ไขในปี 2560) ให้สอดคล้องกับข้อเสนอแนะในความคิดเห็นนี้ และต่อพันธกรณีอื่นๆ ที่ประเทศไทยมีต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

(อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=12695)
 
วันที่ : 11-06-2019
ในนัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 3 ภายหลังการสืบพยานเสร็จสิ้น ญาติของสิรภพและทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเป็นครั้งที่ 8 ด้วยหลักทรัพย์จำนวน 500,000 บาท พร้อมกับแนบเอกสารของคณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (Working Group on Arbitrary Detention) ของสหประชาชาติ ที่ลงมติว่า การควบคุมตัวสิรภพเข้าข่ายเป็นการควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ ขัดต่อกติการะหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี และขัดต่อหลักการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม พร้อมเรียกร้องให้ปล่อยตัวเขาโดยทันที

ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว หลังจากสิรภพถูกคุมขังในเรือนจำมานานเกือบ 5 ปี และคดีมีการพิจารณาลับมาโดยตลอด สิรภพได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ในเวลาประมาณ 19.00 น.
 
วันที่ : 24-07-2019
ศาลทหารกรุงเทพนัดพร้อมคู่ความเพื่อฟังคำสั่ง ศาลแจ้งว่า เนื่องจากเมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2562 ได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 9/2562 เรื่อง ยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ บางฉบับที่หมดความจำเป็น ทำให้คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหารตามประกาศและคำสั่งดังกล่าว ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร ตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค. 2562 เป็นต้นไป

ศาลทหารกรุงเทพจึงมีคำสั่งให้งดการสืบพยานโจทก์ในคดีนี้ไว้ก่อน กับให้โอนคดีไปยังศาลยุติธรรม และจำหน่ายคดีออกจากสารบบความในศาลนี้ โดยสัญญาประกันจำเลยมีผลต่อไป

ภูมิหลัง

  • นายสิรภพ
    ประกอบอาชีพรับเหมาก่อสรัาง และเป็นนักเขียนบทกวี-บทวิเคราะห์ทางการเมืองเผยแพร่ในโลกออนไลน์ งานเขียนของเขามักแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย วิพากษ์วิจารณ์กองทัพ และต่อต้านการรัฐประหาร

ผลกระทบจากการละเมิดสิทธิ

  • นายสิรภพ
    อ่านเรื่องราวผลกระทบที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของสิรภพได้ที่ การเติบโตภาคบังคับของลูกสาวพ่อ : 4 ปี กับชีวิตและความเป็นไปของครอบครัว “สิรภพ” ผู้ต้องขังคดีม.112 https://www.tlhr2014.com/?p=8993

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์