ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • เว็บไซต์
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ 83ก./2557

ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.โอฬาร สุขเกษม บก.ปอท. (ตำรวจ)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14
  • Facebook
  • เว็บไซต์
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ 83ก./2557
ผู้กล่าวหา
  • พ.ต.ท.โอฬาร สุขเกษม บก.ปอท.

ความสำคัญของคดี

สิรภพ ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยถูกกล่าวหาว่า ใช้นามแฝงว่า "รุ่งศิลา" โพสต์บทกลอน ข้อความ และรูปการ์ตูนล้อเลียน มีนัยยะพาดพิงถึงรัชกาลที่ 9 ในเว็บบอร์ด บล็อก และเฟซบุ๊ก เมื่อปี 52, 56 และต้นปี 57 สิรภพถูกออกหมายจับในคดีนี้หลังถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร 7 วัน โดยในระหว่างถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร เจ้าหน้าที่ได้นำเอาภาพหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่มีข้อความที่เขาถูกกล่าวหาในคดีนี้มาซักถามด้วย เขาถูกคุมขังในเรือนจำกว่า 4 ปี 11 เดือน โดยไม่ได้รับการประกันตัวแม้จะมีการยื่นประกันถึง 7 ครั้ง ก่อนที่ศาลทหารจะให้ประกันในเดือน มิ.ย. 62 คดียังถูกพิจารณาโดยลับในศาลทหาร ทั้งที่การโพสต์กลอนและข้อความเกิดขึ้นก่อนการประกาศให้คดีบางประเภทอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร ทำให้มีความล่าช้าในการสืบพยาน

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

อัยการศาลทหารกรุงเทพเป็นโจทก์ยื่นฟ้องสิรภพ ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 โดยกล่าวหาว่า

(ก) เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2552 สิรภพได้เขียนและโพสต์บทกลอนในเว็บบอร์ดของเว็บไซต์ "ประชาไท" โดยใช้นามแฝงว่า "รุ่งศิลา" บทกลอนดังกล่าวซึ่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ ยังคงปรากฏอยู่ในเว็บบอร์ดดังกล่าวจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2557 ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจตรวจสอบข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าว อันเป็นวันและเวลาที่อยู่ในระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ซึ่งเมื่ออ่านบทกลอนทั้งหมดย่อมเข้าใจว่า ถ้อยคำบางคำในบทกลอน หมายถึงรัชกาลที่ 9 และความหมายของบทกลอนเป็นการสื่อให้บุคคลทั่วไปไม่ต้องให้ความเคารพเทิดทูนรัชกาลที่ 9 อีกต่อไป

(ข) เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2556 สิรภพได้โพสต์ข้อความและภาพการ์ตูนล้อเลียนในเฟซบุ๊กชื่อบัญชี "Sira Rungsira" โดยใช้นามแฝงว่า "รุ่งศิลา" ข้อความและภาพการ์ตูนล้อเลียนดังกล่าวซึ่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ ยังคงปรากฏอยู่จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2557 ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจตรวจสอบข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าว ซึ่งเมื่อดูภาพการ์ตูนล้อเลียนรูปผู้ชายใส่แว่นตาสวมชฎา และอ่านข้อความที่กล่าวถึงเทวดา ย่อมต้องเข้าใจว่าหมายถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และความหมายของข้อความเป็นการใส่ความ หมิ่นประมาท และดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ต่อบุคคลที่สาม

(ค) เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2557 สิรภพได้โพสต์ข้อความและภาพการ์ตูนล้อเลียนในบล็อก หัวข้อ "เชื้อไขรากเหง้า "กบฏบวรเดช" ที่ยังไม่ตาย ของเหล่าทาสที่ปล่อยไม่ไป" โดยใช้นามแฝงว่า "รุ่งศิลา" ข้อความและภาพการ์ตูนล้อเลียนดังกล่าวซึ่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ ยังคงปรากฏอยู่จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2557 ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจตรวจสอบข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าว ซึ่งเมื่อดูภาพการ์ตูนล้อเลียนรูปผู้ชายใส่แว่นตาสวมชฎา และอ่านข้อความ ย่อมต้องเข้าใจว่าหมายถึงรัชกาลที่ 9 และความหมายของข้อความเป็นการสื่อให้บุคคลทั่วไปไม่ต้องให้ความเคารพศรัทธารัชกาลที่ 9 อีกต่อไป

การกระทำของจำเลยจึงเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ และเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เผยแพร่ หรือส่งต่อ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยรู้อยู่แล้วว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่พระมหากษัตริย์ ผู้อื่น ประชาชน หรือความมั่นคงของประเทศ

เหตุเกิดที่แขวงทุ่งสองห้อง หลักสี่ กรุงเทพ และต่อเนื่องเกี่ยวพันกันทั่วราชอาณาจักร

จำเลยเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีดำที่ 40ก./2557 ของศาลทหารกรุงเทพ ฐานฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง คสช. เรียกบุคคลให้มารายงานตัว

ขอให้ศาลนับโทษจำคุกในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีดำที่ 40ก./2557 ของศาลทหารกรุงเทพด้วย

(อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 83ก./2557 ลงวันที่ 24 กันยายน 2557)

ความคืบหน้าของคดี

  • หลังสิรภพได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวของ คสช. เจ้าหน้าที่จากกองบังคับปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ได้เข้าอายัดตัวเขาตามหมายจับศาลอาญาที่ 1120/2557 ลงวันที่ 1 ก.ค. 57 จากข้อกล่าวหา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และนำตัวเขาไปที่ บก.ปอท.

    พนักงานสอบสวน ปอท. ได้แจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำ โดยระบุพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาว่า สิรภพได้โพสต์บทกลอนลงในเว็บบอร์ดประชาไทในปี 2552 โพสต์ข้อความและภาพการ์ตูนล้อเลียนในเฟซบุ๊กส่วนตัวและบล็อก ในเดือนธันวาคม 2556 และมกราคม 2557 โดยมีนัยยะพาดพิงถึงรัชกาลที่ 9 สิรภพให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา จากนั้น ตำรวจได้นำตัวเขาไปควบคุมไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้อง

    (อ้างอิง: บันทึกจับกุมและบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา บก.ปอท. ลงวันที่ 2 ก.ค. 2557)
  • สิรภพถูกส่งตัวไปขออำนาจศาลอาญา ถ.รัชดาฯ ฝากขังครั้งที่ 1 มีกำหนด 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 3 - 14 ก.ค. 2557 ศาลอนุญาตให้ฝากขัง ญาติและทนายไม่ได้ยื่นประกันตัว เนื่องจากเอกสารไม่ครบ สิรภพจึงถูกควบคุมตัวไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ

    (อ้างอิง: คำร้องขอคัดถ่ายคำสั่ง ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ ฝก.12/2557 ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2557)
  • หลังขออำนาจศาลอาญาฝากขังมาแล้ว 6 ครั้ง โดยศาลอาญาอนุญาตฝากขังครั้งที่ 6 จนถึงวันที่ 12 ก.ย. 2557 พนักงานสอบสวนเห็นว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลทหาร ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 จึงยื่นคำร้องขอยุติการฝากขังต่อศาลอาญา ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาต แต่สิรภพยังคงถูกขังอยู่ในคดีฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวของ คสช.
  • สิรภพถูกนำตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพไปที่ศาลทหารกรุงเทพ อัยการศาลทหารกรุงเทพยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลทหารกรุงเทพจนถึงวันที่ 12 ก.ย. 2557 ตุลาการศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งอนุญาต

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ ฝก.76/2557 ลงวันที่ 8 กันยายน 2557)
  • อัยการศาลทหารกรุงเทพ ยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 7 โดยระบุเหตุผลว่า อัยการเพิ่งได้รับสำนวนมาเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2557 ยังไม่สามารถตรวจสำนวนได้ทัน ด้านทนายความของสิรภพก็ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขังผู้ต้องหาต่อศาลทหาร โดยระบุว่าศาลทหารไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ จึงไม่มีอำนาจพิจารณาคำร้องขอฝากขัง เนื่องจากประกาศ คสช. ที่กำหนดให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีพลเรือนในความผิดบางประเภท ขัดต่อหลักนิติธรรม และการกระทำที่ถูกกล่าวหาล้วนเกิดขึ้นก่อนประกาศดังกล่าวของ คสช. ทั้งสิ้น

    ศาลทหารกรุงเทพจึงเปิดไต่สวนคำร้องคัดค้านการฝากขัง ตุลาการแจ้งกับทนายความและผู้ต้องหาว่า ความผิดตามฟ้องในคดีนี้เป็นการโพสต์ข้อความบนอินเทอร์เน็ตซึ่งข้อความยังปรากฏอยู่มาจนปัจจุบัน ถือว่าความผิดยังเกิดขึ้นอยู่ จึงเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร เทียบเคียงได้กับกรณีความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาที่เคยมีแนวคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นความผิดต่อเนื่องกันตลอดที่ข้อความยังปรากฏอยู่

    ทนายความแย้งว่า วันที่กระทำความผิดต้องนับเฉพาะวันที่โพสต์ข้อความเท่านั้น ซึ่งเกิดขึ้นก่อนการออกประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร แต่หากศาลเห็นว่าศาลทหารมีอำนาจเหนือคดีนี้ก็ขอให้วินิจฉัยประเด็นนี้ไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในคำสั่งต่อคำร้องด้วย

    ศาลชี้แจงเพิ่มเติมว่า เนื่องจากศาลอาญาพิจารณาแล้วว่าคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร หากศาลทหารไม่รับอีกก็จะเป็นการโยนกลับไปกลับมาไม่จบสิ้น ศาลเห็นว่าในชั้นฝากขังนี้ศาลยังไม่มีอำนาจวินิจฉัยเรื่องเขตอำนาจ เพราะเป็นประเด็นการวินิจฉัยเบื้องต้นในข้อกฎหมาย จึงขอให้คัดค้านเรื่องเขตอำนาจมาอีกครั้งในชั้นพิจารณาหลังศาลมีคำสั่งรับฟ้องแล้ว หากมีการยื่นคำร้องเข้ามาก็จะต้องพักการพิจารณาไว้เพื่อวินิจฉัยเรื่องเขตอำนาจก่อน

    ด้านอัยการแถลงคัดค้านคำร้องของผู้ต้องหา เพราะเห็นว่าคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร จากนั้น ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาเป็นครั้งที่ 7 ตั้งแต่วันที่ 13 - 24 ก.ย. 2557

    ทำให้ทนายความของสิรภพยื่นคำร้องคัดค้านกระบวนพิจารณา โดยระบุว่า ทนายผู้ต้องหาได้คัดค้านเรื่องเขตอำนาจศาล แต่ศาลไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว พร้อมทั้งมิได้แสดงเหตุผล รวมทั้งไม่อนุญาตให้ทนายความผู้ต้องหาคัดถ่ายรายงานกระบวนพิจารณา และคำสั่งจึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

    ศาลรับคำร้องไว้แต่วินิจฉัยว่า คดีนี้พนักงานสอบสวนทราบว่าคดีอยู่ในอํานาจพิจารณาของศาลทหารกรุงเทพ จึงยื่นคําร้องต่อศาลอาญาขอยุติฝากขัง ศาลอาญาอนุญาต จึงขอฝากขังศาลทหารกรุงเทพต่อ ซึ่งปรากฎตาม รายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 8 ก.ย. 2557

    วันเดียวกัน ทนายความผู้ต้องหาได้ยื่นประกันตัวด้วยหลักทรัพย์เป็นเงินสด 300,000 บาท ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาต โดยระบุว่า คดีมีอัตราโทษสูง และกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หากปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาอาจหลบหนี

    (อ้างอิง: https://freedom.ilaw.or.th/case/622#detail, คำร้องคัดค้านฝากขังผู้ต้องหา รายงานกระบวนพิจารณา และคำร้องคัดค้านกระบวนพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ ฝก.76/2557 ลงวันที่ 12 ก.ย. 2557)
  • อัยการศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งฟ้อง และยื่นฟ้องสิรภพ ต่อศาลทหารกรุงเทพ ด้วยข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 โดยกล่าวหาว่า สิรภพโพสต์บทกลอน ข้อความ และภาพการ์ตูนล้อเลียน ในโซเชียลมีเดีย โดยมีนัยยะพาดพิงถึงพระมหากษัตริย์ รวม 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2552, 15 ธันวาคม 2556 และ 22 มกราคม 2557

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 83ก./2557 ลงวันที่ 24 กันยายน 2557 และคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 83ก./2557 ลงวันที่ 28 ตุลาคม 2557 )
  • ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบคำให้การ อัยการทหารแถลงขอให้ศาลพิจารณาคดีนี้เป็นการลับทั้งกระบวนการ เนื่องจากเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ รวมทั้งอาจกระทบต่อความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยภายในราชอาณาจักร หากพิจารณาโดยเปิดเผยเกรงว่าจะมีการเผยแพร่ข้อความที่ไม่ถูกต้องออกไป

    ทนายจำเลยแถลงคัดค้าน โดยให้เหตุผลว่า การพิจารณาคดีเป็นการลับตลอดทั้งกระบวนการ ขัดกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง มาตรา 14 ซึ่งจำเลยมีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผย นอกจากนี้ ยังไม่ปรากฏว่ามีถ้อยคำใดที่แสดงความก้าวร้าว หยาบคาย ทนายจำเลยขอให้พิจารณาคดีโดยเปิดเผยเฉพาะเท่าที่เปิดเผยได้ หากเนื้อหาส่วนใดที่ศาลเห็นว่าไม่เหมาะสมก็ให้สั่งพิจารณาลับเป็นกรณีไป

    อย่างไรก็ตาม ศาลก็มีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับตลอดทั้งคดี พร้อมกับขอให้ผู้สังเกตการณ์จากสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ รวมทั้งลูกของจำเลยออกจากห้องพิจารณาคดี

    ภายหลังกระบวนการพิจารณาคดี ทนายจำเลยกล่าวว่า ได้แถลงขอเลื่อนการตรวจพยานหลักฐานออกไปก่อน ศาลจึงนัดตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 21 ม.ค. 2558

    (อ้างอิง: https://freedom.ilaw.or.th/case/622#progress_of_case, คำร้องขอคัดค้านการพิจารณาคดีลับ ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 83ก./2557 ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557)

    วันเดียวกันนี้ ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยเขตอำนาจศาลต่อศาลทหารกรุงเทพอีกครั้ง เพื่อโต้แย้งว่าการดำเนินคดีต่อพลเรือนในศาลทหารละเมิดมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 มาตรา 4 กำหนดว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตาม [...] ตาม พันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้”

    นอกจากนี้ ยังได้ยื่นคำร้องขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 เรื่องให้คดีพลเรือนอยู่ในอำนาจศาลทหาร ขัดต่อมาตรา 4 ในรัฐธรรมนูญ 2557(ชั่วคราว) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองหรือไม่ ซึ่งศาลทหารได้ยกคำร้องโดยวินิจฉัยว่า ประกาศ คสช.ฉบับที่ 37 ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ เพราะแม้ศาลทหารจะสังกัดกระทรวงกลาโหม แต่ก็มีความเป็นอิสระ ส่วนการพิจารณาและตัดสินคดี ผู้พิพากษามีอำนาจตัดสินคดีอย่างเป็นอิสระ ทั้งย้งไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจศาลทหารส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

    (อ้างอิง: คำร้องขอให้วินิจฉัยเขตอำนาจศาล และคำร้องขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 83ก./2557 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2557 และ https://tlhr2014.wordpress.com/2015/09/22/siraphop_112/)
  • ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานฝ่ายโจทก์และจำเลย โจทก์แถลงว่าจะสืบพยาน 10 ปาก อ้างส่งเอกสาร 17 ฉบับ และพยานวัตถุ 2 รายการ จำเลยแถลงว่าจะสืบพยาน 3 ปาก โดยจะนำสืบในประเด็นที่ว่า เนื้อหาของข้อความและภาพตามฟ้องไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย และอ้างส่งพยานเอกสาร 2 ฉบับ ศาลกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์และจำเลย รวม 13 นัด นัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 2, 21, 28 เมษายน 8, 15, 28 พฤษภาคม 4, 11, 25 มิถุนายน 3 กรกฎาคม 2558 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 6, 11, 25 สิงหาคม 2558 เวลา 08.30 น. ของทุกวันนัด

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 83ก./2557 ลงวันที่ 21 มกราคม 2558)
  • ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยเขตอำนาจศาลต่อศาลทหารกรุงเทพ โดยระบุเหตุผลเช่นเดียวกับในคำร้องก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกันยายนและพฤศจิกายน 2557 กล่าวคือ คดีของสิรภพไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลทหาร เนื่องจากข้อความที่เผยแพร่ออนไลน์ทั้งสามข้อความถูกเผยแพร่ในเดือน พ.ย. 2552 เดือน ธ.ค. 2556 และเดือน ม.ค. 2557 ตามลำดับ เนื้อหาดังกล่าวจึงถูกเผยแพร่ก่อนการออกประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 ลงวันที่ 25 พ.ค. 2557 ซึ่งกำหนดให้คดีพลเรือนในความผิดบางประเภทอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลทหาร นอกจากนี้ การดำเนินคดีต่อพลเรือนในศาลทหารเป็นการละเมิดมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2557 มาตรา 4 กำหนดว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตาม [...] ตาม พันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้”

    ตุลาการศาลทหารจึงมีคำสั่งให้อัยการทหารทำคำคัดค้านยื่นต่อศาล และศาลจะส่งสำนวนคดีพร้อมความเห็นไปให้ศาลอาญา รัชดา ให้ความเห็น ตามมาตรา10 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2542 ซึ่งได้บัญญัติให้ศาลที่รับพิจารณาคดีในตอนแรกต้องส่งสำนวนคดีไปให้อีกศาลที่จำเลยอ้างว่าอยู่ในอำนาจเพื่อทำความเห็น และให้งดการพิจารณาไว้จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นนี้

    (อ้างอิง: คำร้องขอให้วินิจฉัยเขตอำนาจศาล ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 83ก./2557 ลงวันที่ 1 เมษายน 2558 และ https://tlhr2014.wordpress.com/2015/09/22/siraphop_112/)
  • ศาลทหารนัดฟังความเห็นเรื่องเขตอำนาจศาล ซึ่งจำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยเขตอำนาจศาลต่อศาลทหาร และศาลทหารได้ส่งสำนวนคดีพร้อมความเห็นไปให้ศาลอาญา รัชดา ให้ความเห็น ตามมาตรา10 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2542

    โดยศาลอาญามีความเห็นว่า คดีนี้มีการกล่าวหาว่าได้เขียนข้อความซึ่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์เข้าสู่ระบบก่อนที่จะมีประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 ลงวันที่ 25 พ.ค.2557 ที่ให้คดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร และไม่ถือเป็นความผิดต่อเนื่อง คดีจึงต้องขึ้นศาลอาญา กรณีนี้จึงเป็นเรื่องที่ 2 ศาล คือ ศาลทหารและศาลอาญามีความเห็นไม่ตรงกัน จึงต้องส่งสำนวนให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล จึงให้งดการพิจารณาคดีไว้จนกว่าคณะกรรมการฯ จะมีคำวินิจฉัยชี้ขาด

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 83ก./2557 ลงวันที่ 21 กันยายน 2558 และ https://tlhr2014.wordpress.com/2015/09/22/siraphop_112/)
  • ศาลทหารกรุงเทพอ่านคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ซึ่งประกอบด้วยประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 4 ท่าน ที่วินิจฉัยว่า คดีของสิรภพอยู่ในเขตอำนาจพิพากษาคดีของศาลทหารกรุงเทพ เนื่องจากคณะกรรมการเห็นตามความเห็นของศาลทหารกรุงเทพว่า แม้จะมีการกระทำความผิดหลายกรรม และเป็นความผิดที่เกิดขึ้นก่อนมีประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 และ 38/2557 ที่ให้ความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร แต่ภายหลังจากมีประกาศแล้ว ข้อความที่เป็นความผิดยังคงปรากฏอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ จึงถือเป็นความผิดที่ต่อเนื่องและเกี่ยวโยงกัน

    เมื่อคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลมีความเห็นว่าคดีนี้อยู่เขตอำนาจศาลทหาร ประเด็นโต้แย้งเรื่องเขตอำนาจศาลจึงถือเป็นที่สุด ศาลทหารกรุงเทพจึงนัดสืบพยานปากแรก คือ พ.ต.ท.โอฬาร สุขเกษม ผู้กล่าวหา วันที่ 11 พ.ค. 2559

    อย่างไรก็ตาม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีความเห็นพ้องกับความเห็นของศาลอาญาว่า คดีนี้ไม่ใช่การกระทำความผิดต่อเนื่อง เนื่องจากเมื่อข้อมูลถูก “นำเข้า” สู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตามมาตรา 14 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ถือว่าการกระทำความผิดได้สำเร็จแล้ว แม้ข้อความจะยังคงปรากฏอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ แต่ไม่ใช่การกระทำที่เกิดขึ้นใหม่แต่อย่างใด คดีดังกล่าวจึงควรอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรม

    นับแต่ คสช. ออกประกาศที่มีผลให้พลเรือนต้องถูกดำเนินคดีในศาลทหารคดีของสิรภพถือเป็นคดีแรกที่คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลมีคำวินิจฉัยในกรณีที่ศาลยุติธรรมและศาลทหารมีความเห็นไม่ตรงกันเรื่องอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดี ซึ่งปัจจุบันยังมีคดีนายจาตุรนต์ ฉายแสง ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดตามมาตรา 116 อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ และอีกหลายคดีซึ่งกำลังดำเนินการโต้แย้งอันจะนำไปสู่การวินิจฉัยต่อไป

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 83ก./2557 ลงวันที่ 20 มกราคม 2559 และ https://tlhr2014.wordpress.com/2016/01/20/rungsira_jurisdiction/)
  • สืบพยานโจทก์ ปากที่ 1 พันตำรวจโทโอฬาร สุขเกษม จาก บก.ปอท. ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีสิรภพ

    พยานเบิกความโดยกล่าวถึง วันเกิดเหตุ, เว็บบล็อกนามแฝง 'รุ่งศิลา', ข้อความโดยรวมที่จัดทำในเว็บบล็อก เฟซบุ๊ก และเว็บบอร์ดประชาไท, การดำเนินการของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ตามคำสั่งของคณะทำงานพิเศษของ คสช. ที่ให้จำเลยไปรายงานตัวแต่จำเลยไม่มารายงานตัว จนต่อมาวันที่ 25 มิ.ย. 2557 เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้จับกุมจำเลยเพื่อทำการซักถามตามอำนาจกฏอัยการศึก

    คดีนี้ศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับตลอดทั้งคดี นัดนี้สืบพยานโจทก์ปากที่ 1 ยังไม่แล้วเสร็จ ทนายจำเลยยังไม่ได้ถามค้าน ศาลจึงให้เลื่อนการสืบพยานไปเป็นวันที่ 4 กรกฎาคม 2559

    (อ้างอิง: คำให้การพยาน ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 83ก./2557 ลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2559)
  • สืบพยานโจทก์ปากที่ 1 พันตำรวจโทโอฬาร สุขเกษม ต่อจากนัดที่แล้ว นัดนี้ พ.ต.ท.โอฬาร ตอบคำถามค้านของทนายจำเลย โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับ การสืบค้นการกระทำผิดตามสื่ออินเตอร์เน็ตและการสืบสวนตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา, การไม่ได้ตรวจสอบประวัติอาชญากรจากพนักงานสอบสวน, ความหมายของคำว่า 'เทวดา' โดยทั่วไป ทนายจำเลยยังถามค้านไม่แล้วเสร็จ ศาลจึงให้เลื่อนการสืบพยานไปเป็นวันที่ 1 สิงหาคม 2559

    (อ้างอิง: คำให้การพยาน ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 83ก./2557 ลงวันที่ 4 กรกฏาคม 2559)
  • ทนายความจำเลยยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 1 เป็นเอกสารจำนวน 10 ชิ้น ทนายจำเลยถามค้านพยานโจทก์ปากที่ 1 ต่อจากนัดที่แล้วจนเสร็จ พ.ต.ท.โอฬาร ตอบทนายจำเลยโดยกล่าวถึง การตรวจสอบเว็บไซต์ประชาไทเกี่ยวกับการโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์

    ต่อมา อัยการทหารถามติง พ.ต.ท.โอฬาร ตอบอัยการสรุปได้ว่า ภาพล้อเลียนที่ถูกกล่าวอ้าง แม้ไม่มีเครื่องแต่งกายเหมือนกษัตริย์ แต่สื่อได้ถึงพระมหากษัตริย์ และบทความอื่น ๆ ของจำเลยเองที่เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์จะสื่อให้บุคคลอื่นที่เข้าถึงได้เข้าใจว่าพระมหากษัตริย์และราชวงศ์อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ทางการเมือง ซึ่งเป็นความเท็จทั้งสิ้น

    นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 2 ในวันที่ 14 ต.ค. 2559

    (อ้างอิง: คำให้การพยาน ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 83ก./2557 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2559)
  • นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 2 น.ส.ภรภัทร อธิเกษมสุข ประชาชนทั่วไป เป็นพยานให้ความเห็นต่อความหมายของข้อความและภาพ พยานไม่มาศาล ศาลจึงเลื่อนการสืบพยานโจทก์ปากนี้ไปเป็นวันที่ 28 พ.ย. 2559

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 83ก./2557 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2559)
  • นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 2 นางสาวภรภัทร อธิเกษมสุข บุคคลทั่วไปที่อ่านข้อความ ซึ่งเลื่อนมาจากนัดที่แล้ว น.ส.ภรภัทร เบิกความสรุปได้ว่า บทกลอนและภาพการ์ตูน มีข้อความที่เข้าใจได้ว่า กล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เห็นว่า หากผู้คนทั่วไปที่ไม่ได้ติดตามข่าวสารของพระองค์ท่านก็อาจจะเชื่อตามบทกลอนได้ ทั้งที่ตลอดชีวิตของพยานที่ได้รับรู้มานั้น พระองค์ท่านทรงทำทุกอย่างด้วยความรักต่อประชากรของพระองค์ บทความดังกล่าวจึงไม่มีความจริงแม้แต่น้อยและเขียนขึ้นเพื่อให้ผู้อ่านหมดศรัทธาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เป็นการใส่ร้ายป้ายสีและดูถูกดูหมิ่น

    สืบพยานโจทก์ปากที่ 2 ยังไม่แล้วเสร็จ ทนายจำเลยยังไม่ได้ถามค้าน ศาลจึงให้เลื่อนการสืบพยานปากนี้ไปเป็นวันที่ 10 เม.ย. 2560

    (อ้างอิง: คำให้การพยาน ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 83ก./2557 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2559)
  • นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 2 น.ส.กรภัทร อธิเกษมสุข ประชาชนทั่วไป ต่อจากนัดที่แล้ว พยานไม่มาศาล ศาลจึงเลื่อนการสืบพยานโจทก์ปากนี้ไปเป็นวันที่ 1 ส.ค. 2560

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 83ก./2557 ลงวันที่ 10 เมษายน 2560)
  • สืบพยานโจทก์ปากที่ 2 น.ส.กรภัทร อธิเกษมสุข ประชาชนทั่วไป ต่อจากเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2559 พยานตอบคำถามค้านของทนายจำเลยโดยสรุปว่า ส่วนตัวพยานมีความเห็นว่าผู้ที่กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทต่อพระมหากษัตริย์ ควรได้รับการลงโทษ เนื่องจากพระองค์กระทำแต่คุณงามความดี ถ้าพยานพบเห็นผู้กระทำผิดก็จะแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับผู้นั้น เท่าที่พยานฟังและติดตามข้อมูลทางการเมืองพบว่า ทางกลุ่มเสื้อแดงมักให้ข้อมูลเป็นเท็จ ส่วนทางเสื้อเหลืองให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือกว่า

    พยานปากนี้ยังตอบคำถามค้านของทนายจำเลยไม่เสร็จในนัดนี้ ศาลให้เลื่อนไปถามค้านต่อในวันที่ 11 พ.ย. 2560

    (อ้างอิง: คำให้การพยาน ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 83ก./2557 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2560)
  • พยานโจทก์ปากที่ 2 น.ส.กรภัทร อธิเกษมสุข ประชาชนทั่วไป ซึ่งจะต้องเข้าตอบคำถามค้านของทนายจำเลยต่อจากนัดที่แล้ว แต่พยานไม่มาศาล ศาลจึงเลื่อนการสืบพยานโจทก์ปากนี้ไปเป็นวันที่ 28 พ.ย. 2560

    อานนท์ นำภา ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งรับผิดชอบในคดีนี้ ให้สัมภาษณ์ว่า คดีนี้สืบพยานโจทก์เสร็จไปเพียงปากเดียว คือ ตำรวจผู้กล่าวหา ส่วนปากที่ 2 ซึ่งเป็นประชาชนที่ไปให้ความเห็นนั้นยังค้างคาอยู่ และเลื่อนมา ซึ่งวันนี้ เขาก็ไม่มา

    อานนท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สิรภพไม่ได้รับสิทธิประกันตัวและอยู่ในเรือนจำกว่า 3 ปี 4 เดือนแล้ว ตั้งแต่หลังรัฐประหารไม่นาน และเพิ่งสืบพยานไปได้แค่เพียงปากครึ่งเท่านั้นเอง จากพยานของโจทก์ราว 6-7 ปาก ซึ่งอีกนานกว่าจะเสร็จ ขณะที่พยานจำเลย คือ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ (นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์) ที่ยังไม่ได้เบิกความเลยก็เพิ่งเสียชีวิตไปแล้ว

    สำหรับการไม่ได้รับสิทธิประกันตัว อานนท์ ในฐานะทนายจำเลย กล่าวว่า สภาพในเรือนจำตอนนี้ก็เหมือนการบีบบังคับ เมื่อจำเลยไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวก็เหมือนบีบให้รับสารภาพ แต่สำหรับคดีนี้จำเลยใจแข็ง พยายามสู้คดีว่าไม่ได้ทำผิด นอกจากนี้ ยังทำให้โอกาสที่จำเลยจะหาพยานหลักฐานในการสู้คดีก็ลำบาก เพราะบางเรื่องบอกผ่านทนาย ทนายเองก็อาจไม่ทราบเรื่อง การสอบข้อเท็จจริงของทนายกับจำเลยที่อยู่ในเรือนจำก็ลำบาก

    อานนท์ กล่าวด้วยว่า คดีนี้เคยยื่นประกันตัวหลายครั้งแล้ว โดยวางหลักทรัพย์ถึง 5 แสนบาท แต่ก็ไม่ได้รับสิทธิประกันตัว

    (อ้างอิง: https://prachatai.com/journal/2017/11/74135)
  • สืบพยานโจทก์ปากที่ 2 น.ส.กรภัทร อธิเกษมสุข ประชาชนทั่วไป เข้าตอบคำถามค้านของทนายจำเลยต่อจากนัดเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2560 จนเสร็จสิ้น นัดสืบพยานโจทก์ปากต่อไปวันที่ 2 มี.ค. 2561

    ครอบครัวจำเลยได้ยื่นประกันตัวอีกครั้ง โดยยื่นหลักทรัพย์ประกัน 500,000 บาท และระบุเหตุผลว่า จำเลยถูกคุมขังมาตั้งแต่กลางปี 2557 แต่จนบัดนี้สืบพยานไปได้เพียง 2 ปาก แต่ศาลยังคงมีคำสั่งไม่อนุญาต

    (อ้างอิง: คำให้การพยาน และคำร้องประกอบคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 83ก./2557 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560)
  • นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 3 ทรงวุฒิ รมยะพันธุ์ ประชาชนทั่วไป จะมาเบิกความให้ความเห็นต่อข้อความที่จำเลยถูกกล่าวหา แต่พยานไม่มาศาล ศาลจึงให้เลื่อนสืบพยานปากนี้ไปเป็นวันที่ 27 เม.ย. 2561

    ทั้งนี้ ครอบครัวจำเลยได้ยื่นประกันตัวอีกครั้งด้วยหลักทรัพย์ประกันตัว 500,000 บาท แต่ศาลยังมีคำสั่งไม่อนุญาต

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 83ก./2557 ลงวันที่ 2 มีนาคม 2561)
  • นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 3 ทรงวุฒิ รมยะพันธุ์ ประชาชนทั่วไป ซึ่งเลื่อนมาจากนัดที่แล้ว พยานไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ ศาลให้เลื่อนการพิจารณาไปเป็นวันที่ 6 ส.ค. 2561

    ครอบครัวของสิรภพยังได้ยื่นประกันตัวเป็นครั้งที่ 6 โดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด 500,000 บาท แต่ศาลทหารยังคงไม่อนุญาต ทำให้จนถึงปัจจุบันเขาถูกควบคุมตัวในเรือนจำมาเป็นเวลา 3 ปี 10 เดือน แล้ว

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 83ก./2557 ลงวันที่ 27 เมษายน 2561)
  • สืบพยานโจทก์ปากที่ 3 ทรงวุฒิ รมยะพันธุ์ ประชาชนทั่วไป ซึ่งเลื่อนมาเป็นนัดที่ 3 ทรงวุฒิเข้าเบิกความให้ความเห็นต่อข้อความ การเบิกความยังไม่แล้วเสร็จ ศาลให้เลื่อนไปสืบต่อในวันที่ 5 ต.ค. 2561

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 83ก./2557 ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2561)
  • สืบพยานโจทก์ปากที่ 3 ทรงวุฒิ รมยะพันธุ์ ต่อจากนัดที่แล้ว พยานโจทก์เบิกความตอบที่อัยการทหารซักถามจนเสร็จสิ้น แต่ทนายจำเลยยังไม่ได้ถามค้าน ศาลเลื่อนไปสืบต่อในวันที่ 5 พ.ย. 2561

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 83ก./2557 ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2561)
  • นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 3 ทรงวุฒิ รมยะพันธุ์ ต่อจากนัดที่แล้ว แต่พยานไม่สามารถมาศาลได้ เนื่องจากป่วยเป็นไข้หวัด ศาลจึงให้เลื่อนนัดไปเป็นวันที่ 26 ก.พ. 2562 เวลา 9.00 น.

    ครอบครัวของสิรภพยังได้ยื่นประกันตัวอีกครั้งเป็นครั้งที่ 7 โดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด 500,000 บาท ศาลทหารยังไม่อนุญาตให้ประกันตัวเช่นเดิม โดยสิรภพถูกควบคุมตัวในเรือนจำมาเป็นเวลา 4 ปี 4 เดือนแล้ว

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 83ก./2557 ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2561)
  • นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 3 ทรงวุฒิ รมยะพันธ์ เป็นนัดทนายจำเลยถามค้านพยานโจทก์ ซึ่งเลื่อนมาจากนัดที่แล้วที่พยานป่วยไม่สามารถมาศาลได้ พยานปากนี้เป็นประชาชนที่ได้อ่านข้อความของจำเลยที่โพสต์ในอินเทอร์เนต ขณะที่พยานทำธุระบริเวณสถานที่ราชการและเจ้าพนักงานได้ยื่นโทรศัพท์ที่มีข้อความดังกล่าวให้พยานอ่าน โดยพยานเห็นว่าข้อความที่จำเลยโพสต์เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550

    อัยการทหารแถลงว่า วันนี้พยานไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ เนื่องจากพยานได้ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ จึงขอคู่ความเลื่อนไปถามค้านในนัดหน้า ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่า เป็นความจริงที่พยานปากนี้ป่วยมาหลายนัดแล้ว ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 จึงขอให้โจทก์นำใบรับรองแพทย์มายืนยันในนัดหน้า ขณะที่โจทก์รับปากว่าจะติดตามพยานที่เหลือมาขึ้นศาลให้ได้ทั้งหมด ศาลได้เลื่อนถามค้านพยานปากนี้ไปในวันที่ 10 มิ.ย. 62 และให้เพิ่มวันสืบพยานอีก 2 นัด คือวันที่ 28 มิ.ย. 62 และวันที่ 8 ก.ค. 62

    คดีนี้มีการเลื่อนสืบพยานฝ่ายโจทก์รวมทั้งหมดแล้วถึง 7 ครั้ง

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 83ก./2557 ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 และ https://www.tlhr2014.com/?p=11131)

    อ่านปัญหาความล่าช้าของการพิจารณาคดีในศาลทหารเพิ่มเติมที่ https://www.tlhr2014.com/?p=11352
  • นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 3 ทรงวุฒิ รมยะพันธ์ ซึ่งเป็นประชาชนทั่วไปที่มาให้ความเห็นต่อการอ่านข้อความ โดยเป็นการถามค้านพยาน หลังจากมีการเลื่อนสืบพยานปากนี้มารวม 4 นัด เป็นเวลากว่า 1 ปี เนื่องจากพยานไม่มาศาล จนกระทั่งพยานเข้าเบิกความแล้วเสร็จในนัดนี้

    คดียังเหลือการสืบพยานโจทก์อีก 7 ปาก และพยานจำเลยอีก 3 ปาก โดยศาลทหารนัดสืบพยานโจทก์อีกครั้งในวันที่ 28 มิ.ย. และ 8 ก.ค. 2562

    ภายหลังการสืบพยานเสร็จสิ้น ญาติของสิรภพและทนายจำเลย ยังได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเป็นครั้งที่ 8 ด้วยหลักทรัพย์จำนวน 500,000 บาท พร้อมกับแนบเอกสารของคณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (Working Group on Arbitrary Detention) ของสหประชาชาติ ที่ลงมติว่า การควบคุมตัวสิรภพเข้าข่ายเป็นการควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ ขัดต่อกติการะหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี และขัดต่อหลักการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม พร้อมเรียกร้องให้ปล่อยตัวเขาโดยทันที

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 83ก./2557 ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2562, https://www.tlhr2014.com/?p=12695, https://www.tlhr2014.com/?p=12740)
  • ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวสิรภพ ผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วยหลักทรัพย์ 500,000 บาท หลังจากสิรภพถูกคุมขังในเรือนจำมานานเกือบ 5 ปี และคดีมีการพิจารณาลับมาโดยตลอด สิรภพได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ในเวลาประมาณ 19.00 น.

    (อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=12740)
  • นัดสืบพยานโจทก์ปากที่ 4 พงศธร วรรณสุคนธ์ เจ้าหน้าที่จาก ปอท. พยานไม่มาศาล ศาลจึงให้เลื่อนการสืบพยานออกไปวันที่ 8 ก.ค. 2562 ตามที่ได้นัดไว้แล้ว

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 83ก./2557 ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2562)
  • สืบพยานโจทก์ปากที่ 4 พงศธร วรรณสุคนธ์ เจ้าหน้าที่จาก ปอท. ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบของกลางในคดี พยานเข้าเบิกความจนเสร็จสิ้น ศาลนัดสืบพยานครั้งต่อไปวันที่ 30 ต.ค. 2562

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 83ก./2557 ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2562)
  • ศาลทหารกรุงเทพนัดพร้อมคู่ความเพื่อฟังคำสั่ง ศาลแจ้งว่า เนื่องจากเมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2562 ได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 9/2562 เรื่อง ยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ บางฉบับที่หมดความจำเป็น ทำให้คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหารตามประกาศและคำสั่งดังกล่าว ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร ตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค. 2562 เป็นต้นไป

    ศาลทหารกรุงเทพจึงมีคำสั่งให้งดการสืบพยานโจทก์ในคดีนี้ไว้ก่อน กับให้โอนคดีไปยังศาลยุติธรรม และจำหน่ายคดีออกจากสารบบความในศาลนี้ โดยสัญญาประกันจำเลยมีผลต่อไป

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลทหารกรุงเทพ คดีดำที่ 83ก./2557 คดีแดงที่ 16ก./2562 ลงวันที่ 24 กรกฏาคม 2562)
  • ศาลอาญาได้นัดพร้อมเพื่อพิจารณาคดีต่อจากศาลทหาร โดยได้สอบถามคู่ความถึงแนวทางในการต่อสู้คดี สิรภพแถลงว่า ไม่มีเจตนากระทำผิดตามฟ้อง ศาลจึงนัดสืบพยานระหว่างวันที่ 24-26 พฤศจิกายน 2563 โดยเป็นการสืบพยานโจทก์ 5 ปาก จากเดิมซึ่งเหลือพยานโจทก์ที่จะต้องสืบอีก 7 ปาก เนื่องจากมีพยานที่รับกันได้ 2 ปาก คือ พยานตำรวจผู้จับกุมและพยานผู้ตรวจยึดคอมพิวเตอร์ ส่วนพยานจำเลยซึ่งเดิมเคยแถลงว่าจะสืบพยาน 2 ปาก คือ จำเลย และนายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ แต่นายสุธาชัยเสียชีวิต ทนายจำเลยจึงขอสืบพยานผู้เชี่ยวชาญเพิ่มอีก 2 ปาก รวมเป็นพยานจำเลย 3 ปาก ที่ทนายจำเลยจะนำเข้าสืบ
  • สืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นทั้งหมด 2 ปาก ได้แก่ 1) นางภัชรนาค ภูริบริบาล ข้าราชการบำนาญ พยานความเห็น และ 2) พ.ต.อ.สัณห์เพ็ชร หนูทอง พนักงานสอบสวน บก.ปอท. 3 ผู้รับมอบสำนวนจาก พ.ต.ท.โอฬาร สุขเกษม พนักงานสอบสวน บก.ปอท. 1
  • สืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นทั้งหมด 2 ปาก ได้แก่ พล.ต.ต.ชนะไชย ลิ้มประเสริฐ ผกก.กองคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง และ ร.ต.อ.อนุชิต พนักงานสอบสวน บก.ปอท. ผู้ทำสำนวนต่อจาก พ.ต.อ.สัณห์เพ็ชร และสอบคำให้การพยานความเห็นทั้ง 3 คน โดยมีผู้สังเกตการณ์จาก FIDH เข้าร่วมสังเกตการณ์การสืบพยานโจทก์ด้วย
  • สืบพยานจำเลย 1 ปาก คือ สิรภพ กรณ์อรุษ ทนายจำเลยแถลงหมดพยาน ศาลให้ส่งแถลงการณ์ปิดคดีภายในวันที่ 16 ธ.ค. 2563 และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 18 ม.ค. 2563 เวลา 09.00 น.

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายสิรภพ

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
ไม่อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายสิรภพ

ผลการพิพากษา
-
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์