สรุปความสำคัญ

ปติวัฒน์ หรือแบงค์ (สงวนนามสกุล) และภรณ์ทิพย์ หรือกอล์ฟ (สงวนนามสกุล) นักศึกษา/นักกิจกรรม/ศิลปิน ถูกจับกุมในเดือนสิงหาคม 2557 ตามหมายจับศาลอาญาในข้อหา หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีมีส่วนร่วมในละครเวทีเรื่อง "เจ้าสาวหมาป่า" ซึ่งกลุ่มประกายไฟการละครจัดแสดงในงานรำลึก 40 ปี 14 ตุลาฯ ในปี 2556 ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยเครือข่ายเฝ้าระวัง พิทักษ์และปกป้องสถาบัน นัดหมายกันเข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีผู้ที่เกี่ยวข้องกับละครดังกล่าวที่สถานีตำรวจหลายจังหวัด ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2556 หลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 57 กรณีนี้จึงถูกติดตามจากฝ่ายความมั่นคง และถูกเร่งรัดดำเนินคดี โดย คสช. ได้เรียกกลุ่มนักกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม "ประกายไฟ" หลายรายเข้ารายงานตัวในเดือนมิถุนายน 2557 และถูกสอบถามอย่างหนักถึงความเกี่ยวพันกับการแสดงดังกล่าว

กรณีนี้นับเป็นการนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาใช้ดำเนินคดีกับการแสดงออกผ่านงานศิลปะ ซึ่งสามารถตีความได้หลากหลาย และเป็นเพียงการใช้เสรีภาพในการแสดงออก อันถือเป็นการปิดกั้นการแสดงออกของประชาชน นอกจากนี้ ทั้งสองยังไม่ได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว แม้จะยื่นประกันหลายครั้ง ซึ่งถือเป็นการถูกละเมิดสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ทั้งนี้ การคุมขังอันมีเหตุมาจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออก ทำให้ UN แสดงความวิตกกังวล โดยถือว่าเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ


ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • ภรณ์ทิพย์
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ
 
  • ผู้ถูกละเมิด
    • ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม
    • ภรณ์ทิพย์
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • ข่มขู่ / คุกคาม / ติดตาม
  • ผู้ละเมิด
    • ทหาร
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

13 สิงหาคม 2557 พ.ท. พิทักษ์พล ชูศรี หัวหน้าชุดเฉพาะกิจ กองกำลังรักษาความสงบ (กกล.รส.) จังหวัดขอนแก่น เดินทางไปพบนายปติวัฒน์ หรือแบงค์ (สงวนนามสกุล) ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น แจ้งให้นายปติวัฒน์ไปพบเขาเพียงลำพังในวันรุ่งขึ้น พร้อมทั้งระบุว่า ต้องการช่วยเหลือนายปติวัฒน์ และจะไม่มีการตั้งข้อหาใดๆ

14 สิงหาคม 2557 นายปติวัฒน์เดินทางไปพบ พ.ท.พิทักษ์พล ตามที่นัดหมาย โดยมีอาจารย์ขอเดินทางไปด้วย เนื่องจากรู้สึกผิดสังเกต เมื่อไปถึงที่นัดหมาย กลับพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นาย ซึ่งเข้ามาแสดงภาพในหมายจับให้ปติวัฒน์ดูแล้วถามว่า เป็นภาพของเขาใช่หรือไม่ เมื่อปติวัฒน์รับว่าใช่ ตำรวจก็เข้าจับกุม โดยแสดงหมายจับศาลอาญา ถ.รัชดาฯ ที่ 988/2557 ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2557 ในข้อหา หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นำตัวปติวัฒน์ไปทำบันทึกจับกุมที่ สภ.เมืองขอนแก่น ก่อนควบคุมตัวไปที่ สน.ชนะสงคราม กรุงเทพฯ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.ชนะสงคราม

ขณะที่บันทึกการจับกุมของตำรวจระบุพฤติการณ์การจับกุมว่า เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้สืบสวนรูปภาพบุคคลตามหมายจับของศาลอาญาที่ จ. 988/2557 จนทราบว่าคือ นายปติวัฒน์ อายุ 23 ปี ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ 14 สิงหาคม 2557 จึงได้ประสานไปยังมหาวิทยาลัยขอนแก่น ขอเชิญตัวนายปติวัฒน์ โดยมีนายวิจิตร วินทะไชย รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น พามาพบเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมที่ สภ.เมืองขอนแก่น เพื่อดูหมายจับดังกล่าว เมื่อมาถึงเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้แสดงหมายจับให้นายปติวัฒน์ดู และนายปติวัฒน์รับว่า รูปภาพบุคคลตามหมายจับดังกล่าวเป็นตนเองจริง และไม่เคยถูกจับในคดีนี้มาก่อน เจ้าหน้าที่จึงควบคุมตัวนำส่งพนักงานสอบสวน (อ้างอิง : บันทึกการจับกุมโดยมีหมายจับ สภ.เมืองขอนแก่น ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2557)

15 สิงหาคม 2557 เวลาประมาณ 02.00 น. ปติวัฒน์ถูกควบคุมตัวถึง สน.ชนะสงคราม พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยกล่าวหาว่า "เมื่อวันที่ 6 และ 13 ต.ค. 2556 ผู้ต้องหาได้ร่วมแสดงละครเวทีของกลุ่มประกายไฟ เรื่อง "เจ้าสาวหมาป่า" ในลักษณะเป็นการล้อเลียน ในเชิงดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ที่มีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในงานรำลึก 37 ปี 6 ตุลาฯ ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)" (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลอาญา ลงวันที่ 15 ส.ค. 57)

ชั้นสอบสวนซึ่งมีทนายความและผู้ไว้ใจเข้าร่วม นายปติวัฒน์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา แต่รับว่าได้ไปร่วมแสดงละครเรื่องดังกล่าวจริง หลังจากสอบปากคำเบื้องต้น พนักงานสอบสวนได้ควบคุมตัวปติวัฒน์ไว้ในห้องขัง ก่อนนำตัวส่งศาลอาญา รัชดาฯ เพื่อขออำนาจฝากขังในช่วงบ่ายวันเดียวกัน หลังศาลอนุญาตให้ฝากขัง ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้หลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 300,000 บาท แต่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตด้วยเหตุว่า คดีมีอัตราโทษสูง พฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง หากปล่อยชั่วคราวเกรงว่าจะหลบหนี ปติวัฒน์จึงถูกควบคุมตัวไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ และไม่ได้ประกันตัวอีกเลยจนศาลมีคำพิพากษา

วันเดียวกันนี้ เวลาประมาณ 12.30 น. น.ส.ภรณ์ทิพย์ หรือกอล์ฟ (สงวนนามสกุล) นักกิจกรรม ถูกจับกุมที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานหาดใหญ่ จ.สงขลา โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม (5 นาย) และเจ้าพนักงานด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานหาดใหญ่ (7 นาย) โดยขณะที่เจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมืองชุดจับกุมกำลังปฏิบัติหน้าที่ตรวจผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ ณ จุดตรวจหนังสือเดินทางผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ สายการบินแอร์เอเชีย เที่ยวบิน AK871 เดินทางไปที่ กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ได้พบผู้โดยสารมายื่นเอกสารแทนหนังสือเดินทางให้แก่เจ้าพนักงานที่ช่องตรวจ เพื่อเดินทางออกนอกราชอาณาจักร แต่เจ้าหน้าที่พบว่า ผู้โดยสารมีหมายจับของศาลอาญา ที่ 986/2557 ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2557 ซึ่งต้องหาว่า ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ เจ้าพนักงานจึงได้เข้าแสดงหมายและจับกุม (อ้างอิง: บันทึกการจับกุม ด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานหาดใหญ่ ลงวันที่ 15 ส.ค. 57)

จากนั้น เวลาประมาณ 21.50 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม ได้ควบคุมตัวภรณ์ทิพย์เดินทางด้วยเครื่องบินออกจากสนามบินหาดใหญ่

16 สิงหาคม 2557 เวลาประมาณ 01.30 น. ภรณ์ทิพย์ถูกควบคุมตัวถึง สน.ชนะสงคราม และถูกนำตัวเข้าห้องสืบสวนโดยมีทนายความอยู่ด้วย ตำรวจอนุญาตให้เพื่อนเข้าเยี่ยมครั้งละ 5 คน ครั้งละประมาณ 15 นาที แต่มีการบันทึกภาพผู้เข้าเยี่ยมทุกคนไว้ด้วย

จากนั้นเวลาประมาณ 02.30 น. พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาภรณ์ทิพย์ ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยกล่าวหาว่า "เมื่อวันที่ 6 และ 13 ต.ค. 2556 ผู้ต้องหาซึ่งร่วมอยู่ในกลุ่มประกายไฟ ได้เขียนบทการแสดง กำกับเวที และจัดให้มีการแสดงละครเวที เรื่อง "เจ้าสาวหมาป่า" ในลักษณะเป็นการล้อเลียน ในเชิงดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ที่มีเนื้อหาเข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในงานรำลึก 37 ปี 6 ตุลาฯ ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)" (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ศาลอาญา ลงวันที่ 16 ส.ค. 57)

ชั้นสอบสวน ภรณ์ทิพย์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา หลังจากสอบปากคำเบื้องต้น พนักงานสอบสวนได้ควบคุมตัวภรณ์ทิพย์ไว้ในห้องขัง ก่อนนำตัวส่งศาลอาญา รัชดาฯ เพื่อขออำนาจฝากขังในเช้าวันเดียวกัน หลังศาลอนุญาตให้ฝากขัง ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้หลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 500,000 บาท แต่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตด้วยเหตุว่า การกระทำความผิดของผู้ต้องหากับพวกกระทบกระเทือนจิตใจของประชาชนที่จงรักภักดี ประกอบกับผู้ต้องหาถูกจับกุมตามหมายจับ เชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแล้วจะหลบหนี ภรณ์ทิพย์จึงถูกควบคุมตัวไปขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพ และไม่ได้ประกันตัวอีกเลยจนศาลมีคำพิพากษา (อ้างอิง: https://prachatai.com/journal/2014/08/55090)

20 สิงหาคม 2557 เวลา 10.00-11.00 น. ทหารและตำรวจในเครื่องแบบประมาณ 10 นาย อ้างว่ามาจากฝ่ายความมั่นคง โดยหนึ่งในนั้นเป็นพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม เข้าสอบสวนปติวัฒน์ที่เรือนจำ และบันทึกวีดิโอเอาไว้ตลอด วันเดียวกัน พนักงานสอบสวน อัยการ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่นๆ ยังเข้าสอบสวนภรณ์ทิพย์ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ตั้งแต่เวลา 14.00 - 20.00 น. โดยไม่มีทนายความเข้าร่วมทั้งสองกรณี

กรณีนี้เกี่ยวข้องกับละครเวทีเรื่อง "เจ้าสาวหมาป่า" จัดแสดงในงานรำลึก 40 ปี 14 ตุลาฯ ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 6 และ 13 ต.ค. 2556 โดยเป็นการรวมการเฉพาะกิจของอดีตนักแสดงจากกลุ่มประกายไฟการละคร ซึ่งปิดตัวไปเมื่อปลายปี 2555 และนักแสดงกลุ่มอื่นๆ ต่อมา วันที่ 30 ต.ค. 2556 เครือข่ายเฝ้าระวัง พิทักษ์และปกป้องสถาบัน มีการจัดประชุมสมาชิกเครือข่าย โดยมีผู้เข้าร่วมราว 200-300 คน ได้ประชุมร่วมกันเพื่อแจกจ่ายคลิปละครดังกล่าว และนัดแนะให้เครือข่ายฯ เข้าแจ้งความตามมาตรา 112 ที่สถานีตำรวจในพื้นที่ที่อยู่อาศัย (อ้างอิง: https://prachatai.com/journal/2014/08/55090)

เหตุที่ภรณ์ทิพย์ เดินทางไปต่างประเทศ เพราะได้รับการตอบรับจาก โครงการ Work and Holiday ให้ไปทำงานที่ประเทศออสเตรเลีย 1 ปี เป็นโครงการภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อ้างอิง: โครงการ Work and Holiday ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ใบอบรมวิชาชีพและใบอบรมภาษาอังกฤษ ในสำนวนคดี)

สถานะของเรื่อง

วันที่ : 18-08-2014
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียออกแถลงการณ์แสดงความ “เป็นห่วงอย่างสูง” ต่อการจับกุมและตั้งข้อหาตามมาตรา 112 ต่อภรณ์ทิพย์และปติวัฒน์ โดยกล่าวว่า การจับกุมดังกล่าว เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนต่อวิกฤติการทำให้เสรีภาพในการแสดงออกกลายเป็นอาชญากรรม โดยคณะรัฐประหาร ที่ทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย ยังได้พูดถึงข้อกังวลที่ทั้งสองคนไม่ได้รับการประกันตัว และเรียกร้องให้ภรณ์ทิพย์และปติวัฒน์ได้รับการปล่อยตัวทันที และให้ยกเลิกการตั้งข้อกล่าวหาภายใต้มาตรา 112 ต่อทั้งสองคน

(อ้างอิง: https://prachatai.com/journal/2014/08/55112)
 
วันที่ : 20-08-2014
ฮิวแมนไรท์วอทช์ออกแถลงการณ์เป็นห่วงเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทย หลังการรัฐประหาร หลังจากที่มีการจับกุมและตั้งข้อหาภรณ์ทิพย์และปติวัฒน์ ตามมาตรา 112 ซึ่งสองคดีนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคดีทั้งหมด 14 คดีที่รอการพิจารณาคดีอยู่ที่ศาลทหารกรุงเทพ และศาลอาญาในประเทศไทย และยังแสดงความเป็นห่วงที่ทั้งสองไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว

ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่า การจับกุมปติวัฒน์ และภรณ์ทิพย์ เป็นสิ่งที่แสดงถึงการตกต่ำลงของเสรีภาพในการแสดงออกในไทยตั้งแต่ วันที่ 22 พ.ค. 2557 “เป็นเวลาหลายปีแล้วที่ศาลไทยยกคำร้องขอประกันตัวของผู้ที่รอการไต่สวนในคดี ‘ดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์’ การปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวอย่างเป็นระบบต่อผู้ต้องหาคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์นี้ ดูเหมือนเป็นความตั้งใจที่จะลงโทษพวกเขาตั้งแต่ยังไม่ได้ไต่สวนด้วยซ้ำ” แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชีย ของฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าว

ฮิวแมนไรท์วอทช์ยังกล่าวว่า ได้เรียกร้องต่อทางการไทยมาเป็นเวลานานแล้ว ให้มีการแก้ไขมาตรา 112 เพื่อที่จะไม่ให้บุคคลหรือภาคเอกชนใดมาฟ้องร้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้ เพราะในหลายๆ ครั้งภาคเอกชนเป็นผู้ที่นำกฎหมายนี้ไปใช้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง “การใช้กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์อย่างเข้มข้นนี้มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทย"

(อ้างอิง: https://prachatai.com/journal/2014/08/55156)
 
วันที่ : 24-10-2014
หลังจากพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการฝากขังภรณ์ทิพย์และปติวัฒน์รวม 7 ผัด กว่า 70 วัน พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องปติวัฒน์ เป็นจำเลยที่ 1 และภรณ์ทิพย์ เป็นจำเลยที่ 2 ต่อศาลอาญา ในความผิดฐาน ร่วมกันดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในคำฟ้องโจทก์ไม่ได้ระบุว่า คัดค้านการให้ประกันตัว โดยหากจำเลยยื่นคำร้องขอประกันตัว ขอให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล

ทั้งนี้ ศาลไม่ได้เบิกตัวจำเลยทั้งสองมาศาลในวันนี้ แต่นัดสอบคำให้การในวันที่ 27 ต.ค. 57
 
วันที่ : 28-10-2014
ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวปติวัฒน์และภรณ์ทิพย์ โดยอาจารย์จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 3 คน ใช้ตำแหน่งวิชาการเป็นหลักทรัพย์ประกัน

เวลา 17.00 น. ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวจำเลยทั้งสอง โดยระบุเหตุผลว่า พิเคราะห์แล้ว ศาลอาญาเคยสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
 
วันที่ : 11-11-2014
หลังภรณ์ทิพย์และปติวัฒน์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัวในระหว่างพิจารณาของศาลอาญาต่อศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งสอง โดยระบุว่า พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชนและความมั่นคงของสถาบันหลักของประเทศจึงถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างพิจารณานั้นชอบแล้ว
 
วันที่ : 19-11-2014
คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการแห่งสหประชาชาติลงความเห็นว่า การควบคุมตัวปติวัฒน์เข้าข่ายเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ โดยระบุว่า ปติวัฒน์ถูกควบคุมตัวจากการใช้สิทธิในการแสดงออกโดยสันติภายใต้กรอบกติกาข้อ 19 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) และ ICCPR คณะทำงานฯ ยังพิจารณาว่าการควบคุมตัวก่อนการพิจารณาคดี โดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัว ซึ่งตามกฎหมายระหว่างประเทศควรจะเป็นมาตรการยกเว้นและเป็นไปโดยสั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตามหลัก ICCPR ข้อ 9 (3) ส่วนท้ายที่บัญญัติว่า ‘มิให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่าจะต้องควบคุมบุคคลระหว่างการพิจารณาคดี แต่ในการปล่อยตัวอาจกำหนดการประกันว่าบุคคลจะมาปรากฏตัวในการพิจารณาคดี ในขั้นตอนต่างๆ ของกระบวนการศาล และเมื่อมีคำพิพากษา’ ดังนั้น การควบคุมตัวในกรณีปติวัฒน์จึงเข้าข่ายเป็นการละเมิดต่อข้อ 9 (3) ของ ICCPR และละเมิดต่อมาตรา 87 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทยเองด้วย คณะทำงานฯ จึงเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวปติวัฒน์โดยทันทีพร้อมให้การชดเชยเยียวยาจากการควบคุมตัวโดยพลการอีกด้วย

(อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=3587)
 
วันที่ : 29-12-2014
ศาลนัดสอบคำให้การ และตรวจพยานหลักฐาน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ โดยยื่นคำร้องประกอบคำรับสารภาพ ระบุว่า ขอให้ศาลพิจารณาลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ เนื่องจากจำเลยไม่เคยกระทำผิดมาก่อน อายุยังน้อย และอยู่ระหว่างศึกษา การลงโทษด้วยการจำคุกนอกจากจะสร้างความเสียหายแล้วยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ จำเลยจึงขอให้ศาลให้โอกาสในการปรับตัวอยู่ในสภาพแวดล้อมของสถาบันการศึกษาอีกครั้ง ศาลจึงมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยมารายงานต่อศาลภายใน 15 วัน เพื่อให้ศาลพิจารณาเหตุบรรเทาโทษ โดยศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 13.30 น.
 
วันที่ : 23-02-2015
ศาลอ่านคำพิพากษา โดยพิพากษาให้จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ลงโทษจำคุกคนละ 5 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 2 ปี 6 เดือน พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะและพินิจของของจำเลยทั้งสอง ตลอดจนพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว แม้จำเลยทั้งสองจะไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน แต่จำเลยทั้งสองร่วมแสดงละครมีเนื้อหาล้อเลียนในลักษณะจาบจ้วง ดูหมิ่น หมิ่นประมาทองค์พระมหากษัตริย์ในหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อหน้าผู้ชมเป็นจำนวนมาก ทั้งมีการเผยแพร่ออกไปยังเว็บไซต์สาธารณะเป็นวงกว้าง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพของปวงชนชาวไทย พฤติการณ์แห่งคดีถือว่าร้ายแรง จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษจำคุก

หลังศาลมีคำพิพากษา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า การพิพากษาจำคุกปติวัฒน์และภรณ์ทิพย์ เป็นการปราบปรามและทำลายเสรีภาพในการแสดงออกอย่างต่อเนื่องโดยรัฐบาลทหาร และเป็นเรื่องน่าอดสูอย่างยิ่งที่ทั้งสองถูกคุมขังเพียงเพราะการเล่นละคร “นับตั้งแต่การยึดอำนาจเมื่อปีที่แล้ว ทางกองทัพไทยได้ใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมากมายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งนี้ เพื่อปราบปรามและพุ่งเป้าไปที่ผู้วิพากษ์วิจารณ์ ที่เพียงใช้สิทธิมนุษยชนของตนอย่างสงบ”

ในแถลงการณ์ยังกล่าวด้วยว่า ในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ผู้ต้องหามักไม่ได้รับการประกันตัวโดยอ้างว่าเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ “แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลถือว่าบุคคลที่ถูกคุมขังเพียงเพราะแสดงความเห็นอย่างสงบเป็นนักโทษทางความคิด ซึ่งควรได้รับการปล่อยตัวโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข” รวมทั้ง ระบุว่า ควรมีการแก้ไขกฎหมายหมิ่นฯ ให้มีเนื้อหาสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศของไทย รวมทั้งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองด้วย (อ้างอิง: https://prachatai.com/journal/2015/02/58063)
 
วันที่ : 24-02-2015
เว็บไซต์สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) รายงานถึงกรณีการตัดสินคดีนี้ โดยระบุว่าในขณะที่อีกซีกโลกหนึ่งกำลังมีการประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 87 ที่เป็นการให้รางวัลกับศิลปินและนักแสดง แต่ประเทศไทยกลับมีการลงโทษผู้ที่แสดงออกอย่างเสรีในทางศิลปะ

รายงานของ FIDH ระบุว่าทางการไทยไม่ได้อธิบายว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 2 คน ทำอะไรที่ถือเป็นความผิดตามกฎหมายมาตรา 112 ซึ่งในจุดนี้ทำให้ FIDH ชี้ให้เห็นว่ามาจากปัญหาที่มาตรา 112 ไม่มีการผ่อนปรน ทำให้ผู้ที่กล่าวถึงสาเหตุจะต้องกล่าว 'หมิ่น' ซ้ำทำให้อาจจะเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 ไปด้วย

FIDH ยังระบุอีกว่า การยอมรับสารภาพของผู้ต้องหาทั้ง 2 คน ไม่ได้หมายถึงการยอมรับว่าสิ่งที่พวกเขาทำถือเป็นความผิด การที่ไม่อนุญาตให้ประกันตัวทำให้กอล์ฟและแบงค์ ซึ่งกำลังเรียนหนังสืออยู่สูญเสียโอกาสทางการศึกษา นอกจากนี้เจ้าหน้าที่เรือนจำยังจำกัดกิจกรรมของผู้ต้องขังอย่างมาก เช่นการยึดหนังสือของพวกเขาและมีการเพ่งเล็งผู้เข้าเยี่ยมพวกเขาอย่างเข้มงวด

FIDH ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่าหลังจากที่ประเทศไทยถูกยึดอำนาจโดยเผด็จการทหารก็มีการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นฯ เป็นเรื่องหลัก โดยมีผู้ถูกจับกุมด้วยกฎหมาย 112 แล้วอย่างน้อย 40 คน มี 7 คนถูกตัดสินก่อนหน้านี้แล้วเป็นโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี

สำหรับ FIDH แล้วการดำเนินคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ส่วนมากมีความเกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและสิทธิในการมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรม โดยเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้รับการคุ้มครองจากกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) มาตราที่ 19 และสิทธิในการมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรมได้รับการคุ้มครองจากกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันในการคุ้มครองกติกาทั้ง 2 อย่างนี้ จึงควรมีการปฏิบัติตามสัตยาบันที่ให้ไว้ สภานิติบัญญัติของไทยควรบัญญัติกฎหมายให้มีการคุ้มครองที่ระบุไว้ในกติกาสากล และศาลไทยก็ควรพิจารณาคดีโดยคำนึงถึงกติกาของ ICCPR และ ICESCR ด้วย

รายงานขององค์กรสิทธิมนุษยชนยังเรียกร้องให้เผด็จการทหารเลิกนำกฎหมายมาตรา 112 มาใช้ในทางที่ผิด และในการพยายามสร้างความปรองดองของพวกเขาก็ควรรับรู้และปฏิบัติตามหลักกติกาสากล อีกทั้งเผด็จการทหารไทยยังต้องเล็งเห็นความสามารถของเยาวชนไทยผู้มีความคิดสร้างสรรค์ในการเปิดเผยปัญหาสังคมโดยที่ไม่มีการข่มขู่หรือคุกคาม พวกเขาควรยอมรับข้อเสนอของสหประชาชาติในการปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมาย 112 ให้เป็นไปตามพันธะต่อหลักการสิทธิมนุษยชนสากล ก่อนหน้านี้สหประชาชาติแสดงความกังวลต่อการลงโทษอย่างรุนแรงบุคคลทั่วไปด้วยข้อหา 112 มาหลายครั้งแล้ว

(อ้างอิง: https://prachatai.com/journal/2015/02/58084)
 
วันที่ : 26-02-2015
สมาคมนักเขียนสากล (PEN) ออกแถลงการณ์กรณีภรณ์ทิพย์และปติวัฒน์ สองนักแสดงเจ้าสาวหมาป่า ถูกตัดสินจำคุก 2 ปี 6 เดือน โดย PEN ชี้ว่า การตัดสินจำคุกทั้งสองคนถือเป็นการละเมิดมาตรา 9 (สิทธิในกระบวนการยุติธรรม) และมาตรา 19 (เสรีภาพในการแสดงความเห็น) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคี

ทั้งนี้ PEN ยังมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ประกอบด้วย
1. ปล่อยตัวนักแสดงทั้งสองโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข เนื่องจากการแสดงของพวกเขาถือเป็นการแสดงออกโดยสันติ ตามที่ได้รับการรับรองไว้ในมาตรา 9 และมาตรา 19 ของ ICCPR
2. ย้ำถึงความกังวลต่อความปลอดภัยของนักเขียน นักวิชาการ และนักกิจกรรมในประเทศไทย ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกคุกคามและคุมขังเพียงเพราะการแสดงความเห็นอย่างสันติ
3. เรียกร้องให้ทางการไทยแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา โดยเฉพาะมาตรา 112 เพื่อให้คุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกตามกติกาสากลที่ไทยมีพันธะผูกพัน

(อ้างอิง: https://prachatai.com/journal/2015/02/58114)
 
วันที่ : 27-03-2015
โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น คดีจึงถึงที่สุด
 
วันที่ : 02-12-2015
คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการแห่งสหประชาชาติลงความเห็นว่า การควบคุมตัวภรณ์ทิพย์เข้าข่ายเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ โดยระบุว่า ภรณ์ทิพย์ถูกควบคุมตัวจากการใช้สิทธิในการแสดงออกโดยสันติภายใต้กรอบกติกาข้อ 19 ของ UDHR และ ICCPR คณะทำงานฯ ยังพิจารณาว่าการควบคุมตัวก่อนการพิจารณาคดี โดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัว เข้าข่ายเป็นการละเมิดต่อข้อ 9 (3) ของ ICCPR และละเมิดต่อมาตรา 87 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทยเองด้วย คณะทำงานฯ จึงเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวภรณ์ทิพย์โดยทันทีพร้อมให้การชดเชยเยียวยาจากการควบคุมตัวโดยพลการอีกด้วย

(อ้างอิง: https://www.tlhr2014.com/?p=3587)
 
วันที่ : 04-02-2016
สหพันธ์นานาชาติเพื่อสิทธิมนุษยชน (FIDH) และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ออกใบแถลงข่าวร่วม ระบุว่า คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยไม่ชอบ แห่งองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เรียกร้องให้ประเทศไทยปล่อยตัวภรณ์ทิพย์ (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ทันที พร้อมจ่ายค่าสินไหมทดแทน

การิม ลาฮิดจี ประธาน FIDH ระบุว่า ภรณ์ทิพย์และนักโทษคดีหมิ่นฯ ทั้งหมดไม่ควรต้องอยู่ในคุกแม้แต่นาทีเดียว การลิดรอนเสรีภาพจากการใช้สิทธิเพียงเล็กน้อย โดยที่สิทธินั้นได้รับการประกันโดยกฎหมายระหว่างประเทศด้วยแล้ว ไม่เพียงเป็นเรื่องที่ไม่ชอบ แต่ยังน่ารังเกียจ

(อ้างอิง: https://prachatai.com/journal/2016/02/63884)
 
วันที่ : 12-08-2016
ปติวัฒน์ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ หลังจากมีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2558 และ 2559 ทำให้เขาได้รับการปล่อยตัวก่อนครบกำหนดโทษ รวมเวลาถูกคุมขัง 1 ปี 11 เดือน 27 วัน
 
วันที่ : 27-08-2016
ภรณ์ทิพย์ได้รับการปล่อยตัวจากทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพฯ หลังจากมีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2558 และ 2559 ทำให้ภรณ์ทิพย์ได้รับการปล่อยตัวก่อนครบกำหนดโทษ รวมเวลาถูกคุมขัง 2 ปี 12 วัน

ภูมิหลัง

  • ภรณ์ทิพย์
    นักกิจกรรม สนใจการเมืองตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง เธอและเพื่อนๆ ร่วมกันก่อตั้งกลุ่มละครเล็กๆ ชื่อว่า ประกายไฟการละครเมื่อปี 2553 มีวัตถุประสงค์เพื่อทำละครให้เข้าถึงประชาชนชั้นล่าง ที่ผ่านมาจะทำการแสดงละครในประเด็นสังคม ประเด็นการเมือง ตามท้องถนน ที่ชุมนุม และในต่างจังหวัด อย่างไรก็ตาม กลุ่มละครดังกล่าวได้ปิดตัวลงไปแล้วเมื่อ 8 ก.ค.2555 เนื่องจากความไม่ลงตัวของสมาชิกและความต้องการศึกษาทฤษฎีทางสังคม การเมือง เพิ่มเติมของสมาชิกในกลุ่ม ส่วนภรณ์ทิพย์ได้หันไปประกอบอาชีพเป็นลูกจ้างบริษัท

    (อ้างอิง: https://prachatai.com/journal/2014/09/55763)

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์