สรุปความสำคัญ

นายสกันต์ ถูกอายัดตัวไปดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ขณะได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำหลังพ้นโทษในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมในปี 53 โดยสกันต์ถูกตัวแทนของเรือนจำพิเศษกรุงเทพเข้าแจ้งความ หลังมีผู้ต้องขังทำหนังสือร้องเรียนว่า เขาพูดคุยในเรือนจำด้วยถ้อยคำที่ตีความได้ว่าพาดพิงรัชกาลที่ 9 และพระบรมราชินี ในช่วงเดือนตุลาคมและธันวาคม 2557

การถูกผู้ต้องขังร้องเรียน และเรือนจำแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาดังกล่าวจนทำให้สกันต์ถูกจำคุกจนครบโทษในคดีจากปี 53 โดยไม่ได้รับการลดโทษใดๆ รวมทั้งถูกขังต่อหลังพ้นโทษ สะท้อนปัญหาของมาตรา 112 ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้าม

ข้อมูลการละเมิด

  • ผู้ถูกละเมิด
    • นายสกันต์
  • ประเด็นการละเมิดสิทธิ
    • เสรีภาพการแสดงออก
    • สิทธิในกระบวนการยุติธรรม
  • รูปแบบการละเมิดสิทธิ
    • จับกุม / ควบคุมตัว
  • ผู้ละเมิด
    • ตำรวจ

พฤติการณ์การละเมิด

20 มีนาคม 2560 พนักงานสอบสวน สน.ประชาชื่น ได้เข้าพบนายสกันต์ (สงวนนามสกุล) ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ขณะนายสกันต์ถูกจำคุกอยู่ในคดีอาวุธจากเหตุการณ์ชุมนุมในปี 53 และแจ้งข้อกล่าวหาว่า กระทำความผิดฐาน "ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากพฤติการณ์พูดคุยขณะอยู่ในเรือนจำด้วยถ้อยคำที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ในช่วงเดือนตุลาคมและธันวาคม 2557 โดยไม่มีทนายความเข้าร่วม นายสกันต์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

11 ตุลาคม 2560 เวลาประมาณ 09.45 น. ขณะนายสกันต์ ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ หลังครบโทษในคดีที่ถูกจำคุก เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน สน.ประชาชื่น ได้เข้าแสดงหมายจับศาลอาญา ที่ 651/2560 ลงวันที่ 10 มีนาคม 2560 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และควบคุมตัวนายสกันต์นำตัวส่งพนักงานสอบสวน สน.ประชาชื่น

พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาและสอบคำให้การอีกครั้ง นายสกันต์ยืนยันให้การปฏิเสธ เขาถูกขังที่ สน.ประชาชื่น 1 คืน ก่อนถูกนำตัวไปขออำนาจศาลอาญาฝากขังในวันต่อมา และถูกส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพอีกครั้ง หลังศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว

(อ้างอิง: บันทึกการจับกุมและใบต่อคำให้การของผู้ต้องหา สน.ประชาชื่น ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2560)

สถานะของเรื่อง

วันที่ : 28-12-2017
พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5) เป็นโจทก์ฟ้องนายสกันต์ (จำเลย) ในความผิดฐาน หมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินีฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยคำฟ้องระบุว่า จำเลยได้กระทำความผิดรวม 3 กรรม ในเดือนตุลาคม 2557 และต้นเดือนธันวาคม 2557 ขณะจำเลยถูกจำคุกในเรือนจำพิเศษกรุงเทพในคดีอื่น จากการเอ่ยถ้อยคำที่ผู้ต้องขังด้วยกันตีความว่าพาดพิงถึงรัชกาลที่ 9 และพระบรมราชินี
 
วันที่ : 16-10-2018
นัดสืบพยานโจทก์ปากแรก สกันต์แถลงต่อศาลขอยกเลิกคำให้การเดิมที่ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และให้การใหม่เป็นรับสารภาพ ศาลให้จำเลยทำคำร้องประกอบคำรับสารภาพมายื่นภายใน 30 วัน และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2561
 
วันที่ : 14-11-2018
ศาลอาญา (รัชดา) มีคำพิพากษายกฟ้องนายสกันต์ โดยให้เหตุผลว่า ข้อความตามที่โจทก์บรรยายฟ้องเป็นการแปลความ ส่วนคำพูดของจำเลยไม่ได้กล่าวยืนยันข้อเท็จจริงถึงผู้ใดเฉพาะเจาะจง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง

ทั้งนี้ ศาลไม่ได้มีคำสั่งให้ขังจำเลยไว้ระหว่างรออัยการซึ่งเป็นฝ่ายโจทก์ว่าจะมีการอุทธรณ์คดีหรือไม่ จำเลยจึงไม่ถูกนำตัวไปขัง

ภูมิหลัง

  • นายสกันต์
    อดีตตำรวจ เคยถูกดำเนินคดีและถูกพิพากษาจำคุกอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพในคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมปี 53

ผลกระทบจากการละเมิดสิทธิ

  • นายสกันต์
    การถูกแจ้งความดำเนินคดีนี้ขณะถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ทำให้ตัวเขาที่กำลังจะได้รับการอภัยโทษ พ้นโทษจำคุกจากคดีแรกในปี 2558 เนื่องจากได้เลื่อนชั้นเป็นนักโทษชั้นดีแล้ว ต้องถูกลดชั้นนักโทษ และไม่ได้รับการอภัยโทษ ต้องติดคุกเต็มกำหนดโทษที่ศาลพิพากษาเป็นเวลานานถึง 4 ปีกว่า ก่อนจะพ้นโทษออกมาแล้วถูกตำรวจอายัดตัวในคดีนี้

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์