ผู้ถูกดำเนินคดี
ข้อหา
หมายเลขคดี
  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)
ดำ อ.3973/2560
แดง อ.3316/2561

ผู้กล่าวหา
  • นายสายันต์ ขุนปลาด (ฝ่ายปกครอง)
ผู้ถูกดำเนินคดี

ข้อหา

  • หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112)

หมายเลขคดี

ดำ อ.3973/2560
แดง อ.3316/2561
ผู้กล่าวหา
  • นายสายันต์ ขุนปลาด

ความสำคัญของคดี

นายสกันต์ ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการที่ตัวแทนของเรือนจำพิเศษกรุงเทพเข้าแจ้งความ หลังมีผู้ต้องขังทำหนังสือร้องเรียนว่า นายสกันต์พูดคุยในเรือนจำด้วยถ้อยคำที่ตีความได้ว่าพาดพิงรัชกาลที่ 9 และพระบรมราชินี ในช่วงเดือนตุลาคมและธันวาคม 2557 เขาถูกอายัดตัวไปดำเนินคดีนี้ขณะได้รับการปล่อยตัวหลังพ้นโทษในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมในปี 53 และถูกขังอีกกว่า 7 เดือน ก่อนได้รับการประกันตัว

อย่างไรก็ตาม ในปี 61 ศาลพิพากษายกฟ้อง แม้สกันต์จะเปลี่ยนคำให้การมารับสารภาพ ซึ่งสะท้อนให้เห็นสภาพการณ์ที่ไม่แน่นอนของการบังคับใช้มาตรา 112 ซึ่งแปรเปลี่ยนไปตามนโยบายของผู้มีอำนาจ

พฤติการณ์ของคดีตามเอกสารคดี

พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5) เป็นโจทก์ฟ้องนายสกันต์ ในความผิดฐาน หมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินีฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คำฟ้องโดยสรุปมีดังนี้

ข้อ 1 จำเลยได้กระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ

1.1 เมื่อวันใดไม่ปรากฏแน่ชัด เดือนตุลาคม 2557 เวลากลางวัน ขณะเป็นผู้ต้องขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ และกำลังรับชมรายการโทรทัศน์
ที่ถ่ายทอดภาพการปฏิบัติพระกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทางเรือนจำเปิดให้ดู จำเลยได้กล่าวถึงความตายและเมื่อผู้ต้องขังที่ชมโทรทัศน์อยู่ด้วยกันสอบถามว่ากล่าวถึงใคร จำเลยได้เอ่ยคำที่ผู้ฟังตีความว่าหมายถึงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ในขณะนั้น

1.2 เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2557 เวลากลางวัน ขณะที่จำเลยเป็นผู้ต้องขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ และทางเรือนจำจัดพิธีถวายความเคารพต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ในขณะนั้น และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เนื่องในวันพ่อแห่งชาติ โดยการร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี ขณะที่ผู้ต้องขังกำลังร้องเพลงดังกล่าว จำเลยได้พูดถ้อยคำที่ผู้ฟังตีความได้ว่าพาดพิงถึงรัชกาลที่ 9 และพระบรมราชินี อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ในขณะนั้น และพระบรมราชินี

1.3 เมื่อวันใดไม่ปรากฏชัด ต้นเดือนธันวาคม 2557 เวลากลางวัน ขณะที่จำเลยเป็นผู้ต้องขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ และผู้ต้องขังรอเคารพธงชาติ จำเลยได้พูดถ้อยคำที่ผู้ฟังตีความได้ว่าพาดพิงถึงรัชกาลที่ 9 และพระบรมราชินี อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ในขณะนั้น และพระบรมราชินี

ข้อ 2 ต่อมาวันที่ 11 ตุลาคม 2560 เวลากลางวัน เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยได้ตามหมายของศาลนี้ ในวันที่จำเลยพ้นโทษและถูกปล่อยตัวในคดีเดิม นำส่งพนักงานสอบสวน ทำการสอบสวนแล้ว โดยในชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ คดีมีมูล โดยจำเลยได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวแต่โจทก์ขอคัดค้าน เนื่องจากเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี

(อ้างอิง : คำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ อ.3973/2560 ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2560)

ความคืบหน้าของคดี

  • พนักงานสอบสวน สน.ประชาชื่น ได้เข้าพบนายสกันต์ (สงวนนามสกุล) ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ขณะนายสกันต์ถูกจำคุกอยู่ในคดีอาวุธจากเหตุการณ์ชุมนุมในปี 53 และแจ้งข้อกล่าวหาโดยไม่มีทนายความเข้าร่วมว่า นายสกันต์กระทำความผิดฐาน "ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยเเจ้งพฤติการณ์ในการกระทำความผิดว่า ช่วงเดือนตุลาคมและต้นเดือนธันวาคม 2557 ผู้ต้องขังได้ยินนายสกันต์พูดจาอ้างอิงถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเเละสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในทางที่ไม่เหมาะสม จึงได้เขียนหนังสือร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ทางเรือนจำพิจารณาแล้วถือว่าการเป็นความผิด จึงได้แจ้งความเพื่อให้ดำเนินคดีกับนายสกันต์ตามกฏหมาย นายสกันต์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

    (อ้างอิง: บันทึกคำให้การของผู้ต้องหา สน.ประชาชื่น ลงวันที่ 20 มีนาคม 2560)
  • ขณะนายสกันต์ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ หลังครบโทษในคดีที่ถูกจำคุก เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน สน.ประชาชื่น ได้เข้าแสดงหมายจับศาลอาญา ที่ 651/2560 ลงวันที่ 10 มีนาคม 2560 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และควบคุมตัวนายสกันต์นำตัวส่งพนักงานสอบสวน สน.ประชาชื่น

    พนักงานสอบสวนสอบปากคำนายสกันต์อีกครั้งโดยมีทนายความและภรรยาเข้าร่วมฟังการสอบสวนครั้งนี้ด้วย นายสกันต์ยืนยันให้การปฏิเสธ และขอให้การในรายละเอียดในชั้นศาล เขาถูกขังที่ สน.ประชาชื่น 1 คืน

    (อ้างอิง: บันทึกการจับกุมและใบต่อคำให้การของผู้ต้องหา สน.ประชาชื่น ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2560)
  • พนักงานสอบสวนนำตัวนายสกันต์ไปยังศาลอาญา รัชดา และยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาผัดแรกมีกำหนด 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 12 - 23 ตุลาคม 2560 เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น โดยจะต้องสอบพยานอีก 7 ปาก นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนยังคัดค้านการฝากขัง อ้างเหตุว่า คดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าจะหลบหนี ทั้งนี้ ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง

    จากนั้น ทนายความของนายสกันต์ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด 400,000 บาท โดยอ้างเหตุผลประกอบว่านายสกันต์เป็นนักโทษที่มีความประพฤติดีเเละปฏิบัติตามกฎเเละระเบียบของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม นายสกันต์เคยรับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจมาก่อน ทำให้ถูกเพ่งเล็งจากผู้ต้องขังคนอื่นเเละมักถูกกลั่นแกล้งจากผู้ต้องขังอื่นเป็นประจำ เช่นมูลเหตุในการดำเนินคดีนี้ ซึ่งเหตุที่นำมาร้องทุกข์กล่าวโทษนั้นเกิดขึ้นตั้งเเต่ปี 2557 เเต่เพิ่งมาเริ่มกระบวนการสอบสวนเมื่อปี 2560 ซึ่งเป็นช่วงที่นายสกันต์กำหนดจะถูกจำคุกครบกำหนดโทษของคดีเดิมเเล้ว ทำให้นายสกันต์ต้องเข้ากระบวนการสอบสวนอีกครั้ง อีกทั้งยังถูกอายัดตัวหลังจากออกจากเรือนจำพิเศษในวันเดียวกัน นอกจากนี้ ทนายความของนายสกันต์ยังอ้างหลักการควบคุมคุมขังบุคคลไว้ในอำนาจรัฐตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองเเละสิทธิทางการเมือง ข้อบทที่ 9 (3) โดยระบุเพิ่มเติมว่านายสกันต์ไม่มีพฤติการณ์ที่ทำให้การพิจารณาคดีเสียหายหรือเป็นอุปสรรคต่อการพิจารณาคดี การปล่อยตัวผู้ร้องไปก็ยังทำให้กระบวนการดำเนินคดียังดำเนินต่อไปได้

    ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 และคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญา ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2560)
  • พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 2 มีกำหนด 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม - 4 พฤศจิกายน 2560 เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบปากคำพยานอีก 6 ปาก โดยศาลอนุญาตให้ฝากขัง

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 2 ศาลอาญา ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2560)
  • พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 3 มีกำหนด 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 5 - 16 พฤศจิกายน 2560 เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบปากคำพยานอีก 5 ปาก โดยศาลอนุญาตให้ฝากขัง

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 3 ศาลอาญา ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2560)
  • พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 4 มีกำหนด 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 17 - 28 พฤศจิกายน 2560 เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบปากคำพยานอีก 4 ปาก โดยศาลอนุญาตให้ฝากขัง


    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 4 ศาลอาญา ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2560)

  • พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 5 มีกำหนด 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน - 10 ธันวาคม 2560 เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบปากคำพยานอีก 3 ปาก โดยศาลอนุญาตให้ฝากขัง

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 5 ศาลอาญา ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560)

  • พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 6 มีกำหนด 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 11 - 22 ธันวาคม 2560 เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบปากคำพยานอีก 1 ปาก โดยศาลอนุญาตให้ฝากขัง

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 6 ศาลอาญา ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2560)

  • พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 7 มีกำหนด 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2560 ถึง 3 มกราคม 2561 เนื่องจากอยู่ในระหว่างสรุปสำนวนการสอบสวนเสนอผู้บังคับบัญชาพิจารณาตามลำดับชั้น โดยศาลอนุญาตให้ฝากขัง

    (อ้างอิง: คำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 7 ศาลอาญา ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2560)
  • พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5) เป็นโจทก์ฟ้องนายสกันต์ (จำเลย) ในความผิดฐาน หมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินีฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยคำฟ้องระบุว่า จำเลยได้กระทำความผิดรวม 3 กรรม ในเดือนตุลาคม 2557 และต้นเดือนธันวาคม 2557 ขณะจำเลยถูกจำคุกในเรือนจำพิเศษกรุงเทพในคดีอื่น จากการเอ่ยถ้อยคำที่ผู้ต้องขังด้วยกันตีความว่าพาดพิงถึงรัชกาลที่ 9 และพระบรมราชินี

    (อ้างอิง: คำฟ้อง ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.3973/2560 ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2560)
  • ศาลอาญานัดพร้อมเพื่อประชุมคดี สอบคำให้การ ตรวจพยานหลักฐาน และกำหนดวันนัดสืบพยาน

    ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง และถามคำให้การของจำเลย จำเลยแถลงให้การปฏิเสธตามคำให้การเป็นเอกสารที่ได้ยื่นต่อศาล ศาลแจ้งว่า เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีสำคัญ ต้องนำสำนวนคดีเรียนปรึกษากับอธิบดีและรองอธิบดีตามระเบียบเสียก่อน ให้เลื่อนไปนัดพร้อมเพื่อประชุมคดี ตรวจพยานหลักฐาน และกำหนดวันนัดสืบพยานในวันที่ 26 มีนาคม 2561

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.3973/2560 ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2561)
  • โจทก์แถลงนำพยานบุคคลเข้าสืบรวม 20 ปาก ได้แก่ผู้กล่าวหา 1 ปาก, ประจักษ์พยานที่อยู่ในที่คุมขังเดียวกับจำเลยรวม 15 ปาก, นักวิชาการที่ตีความถ้อยคำของจำเลย 2 ปาก และพนักงานสอบสวน 2 ปาก ฝ่ายจำเลยยอมรับบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของพนักงานสอบสวน 1 ปาก ทำให้เหลือพยานโจทก์ที่จะนำเข้าสืบรวม 19 ปาก

    ฝ่ายจำเลยแถลงแนวทางการต่อสู้คดีว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง จำเลยมีสาเหตุโกรธเคืองกับบุคคลที่อยู่ในเรือนจำ จึงถูกใส่ร้ายว่าเป็นผู้กระทำความผิดคดีนี้ และประสงค์จะนำพยานบุคคลเข้าสืบรวม 2 ปาก ได้แก่ ตัวจำเลยที่อ้างตนเองเป็นพยาน และอีก 1 ปาก เป็นผู้ต้องขังที่อยู่กับจำเลยและเป็นคู่คดีของจำเลย หากโจทก์นำพยานปากนี้เข้าสืบ จำเลยจะขอใช้สิทธิถามค้านโดยไม่ติดใจสืบพยานจำเลยอีก

    ศาลนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 16-19 และ 24 ตุลาคม 2561 สืบพยานจำเลยในวันที่ 25 ตุลาคม 2561

    (อ้างอิง: รายงานกระบวนพิจารณา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.3973/2560 ลงวันที่ 26 มีนาคม 2561)
  • นัดสืบพยานโจทก์ปากแรก สกันต์แถลงต่อศาลขอยกเลิกคำให้การเดิมที่ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และให้การใหม่เป็นรับสารภาพ ศาลให้จำเลยทำคำร้องประกอบคำรับสารภาพมายื่นภายใน 30 วัน และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2561
  • ทนายความของนายสกันต์ยื่นคำร้องประกอบคำรับสารภาพ โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

    1.นายสกันต์มีความประพฤติดีเเละมีประวัติการทำงานราชการรับใช้ชาติมาตั้งเเต่เดือนมิถุนายน 2514 โดยเข้าร่วมปฏิบัติการป้องกันเเละปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์เเละได้รับพระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชนเเละเหรียญราชการชายเเดน
    2.ภายหลังที่นายสกันต์โอนงานสังกัดมารับราชการตำรวจ นายสกันต์ก็ยังปฏิบัติตนด้วยความเรียบร้อย ไม่บกพร่องในหน้าที่การงาน ไม่ทำให้งานราชการเสียหายเเต่อย่างใด
    3.นายสกันต์เป็นคนมีความมานะในการเเสวงหาความรู้อยู่เสมอ โดยศึกษาเพิ่มเติมในหลักสูตรเกษตรทฤษฎีใหม่ หลักสูตรคอมพิวเตอร์เพื่อพัฒนาอาชีพ เเละหลักสูตรอื่นเป็นประจำ
    4.นายสกันต์เป็นคนมีจิตใจดี ศรัทธาในพระพุทธศาสนาเเละสามารถสอบไล่จนได้ธรรมศึกษาชั้นตรี

    (อ้างอิง: คำร้องประกอบคำรับสารภาพ ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.3973/2560 ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2561)
  • ศาลอาญา (รัชดา) มีคำพิพากษายกฟ้องนายสกันต์ โดยให้เหตุผลว่า ข้อความตามที่โจทก์บรรยายฟ้องเป็นการแปลความ ส่วนคำพูดของจำเลยไม่ได้กล่าวยืนยันข้อเท็จจริงถึงผู้ใดเฉพาะเจาะจง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง

    ทั้งนี้ ศาลไม่ได้มีคำสั่งให้ขังจำเลยไว้ระหว่างรออัยการซึ่งเป็นฝ่ายโจทก์ว่าจะมีการอุทธรณ์คดีหรือไม่

    หลังเสร็จสิ้นกระบวนการศาล นายสกันต์ให้สัมภาษณ์ว่าคดีเกิดขึ้นในระหว่างที่เขาถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เขาถูกผู้ต้องขังด้วยกันเองแจ้งความดำเนินคดีนี้จนทำให้ตัวเขาเองที่กำลังจะพ้นโทษจำคุกจากคดีแรกในปี 2558 เนื่องจากได้เลื่อนชั้นเป็นนักโทษชั้นดีแล้วและกำลังจะได้รับการอภัยโทษต้องยุติไป

    จากเหตุดังกล่าว ทำให้นายสกันต์ต้องติดคุกเต็มจำนวนโทษที่ศาลพิพากษาเป็นเวลานานถึง 4 ปีกว่า ก่อนจะพ้นโทษออกมาแล้วถูกตำรวจจับกุมตัวมาดำเนินคดีในคดีที่สองนี้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2560 และเขาถูกขังระหว่างพิจารณาคดีอีก 7 เดือนจนกระทั่งศาลอนุญาตให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์เป็นเงินสด 500,000 บาท

    นายสกันต์เล่าถึงสาเหตุที่ทำให้ถูกเพื่อนร่วมคุกแจ้งความอาจจะเป็นเพราะผู้คุมได้ตั้งตนให้เป็นผู้ช่วยฝึกผู้ต้องขังเนื่องจากตนเคยเข้ารับการฝึกทางทหารตอนที่ยังเป็นทหารประจำการอยู่มาก่อน ทำให้ผู้ต้องขังคนอื่นๆ ไม่พอใจสถานะของตน แม้ว่าตัวนายสกันต์เองจะไม่ได้เต็มใจรับหน้าที่นี้สักเท่าไหร่ก็ตาม

    (อ้างอิง: คำพิพากษา ศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.3973/2560 คดีหมายเลขแดงที่ อ.3316/2561 ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2561 และ https://www.tlhr2014.com/?p=9612)

ชั้นสอบสวน

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายสกันต์

การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
ไม่อนุญาต

ศาลชั้นต้น

ผู้ถูกดำเนินคดี :
นายสกันต์

ชื่อองค์คณะผู้พิพากษา :
  1. นายจุมพล รัตธนภาส
  2. นายกิตติ โตมร

ผลการพิพากษา
ยกฟ้อง
การอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนุญาต
พิพากษาวันที่ : 14-11-2018

แหล่งที่มา : กรณีที่ศูนย์ทนายความฯ ติดตามสัมภาษณ์